คิหิปฏิบัติ
จตุกกะ
กรรมกิเลส คือ กรรมเครื่องเศร้าหมอง ๔ อย่าง
๑. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาท พูดเท็จ
กรรม ๔ อย่างนี้ นักปราชญ์ไม่สรรเสริญเลย
อบายมุข คือ เหตุเครื่องฉิบหาย ๔ อย่าง
๑. ความเป็นนักเลงหญิง
๒. ความเป็นนักเลงสุรา
๓. ความเป็นนักเลงเล่ยการพนัน
๔. ความคบคนชั่วเป็นมิตร
โทษ ๔ ประการนี้ไม่ควรประกอบ
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง
๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำธุระหน้าที่ของตนก็ดี
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตัว ไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี
๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดีไม่คบคนชั่ว
๔. สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟูมฟายนัก
สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่าง
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากายวาจาเรียบร้อยดี ไม่มีโทษ
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รูจัก บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น
มิตตปฏิรูป คือ คนเทียมมิตร ๔ จำพวก
๑. คนปอกลอก
๒. คนดีแต่พูด
๓. คนหัวประจบ
๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย
คน ๔ จำพวกนี้ ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ไม่ควรคบ
๑. คนปอกลอก มีลักษณะ ๔
๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก
๓. เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรับเอากิจของเพื่อน
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว
๒. คนยดีแต่พูด มีลักษณะ ๔
๑. เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
๔. ออกปากพึ่งมิได้
๓. คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔
๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม
๒. จะทำดีก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ
๔. ลับหลังตั้งนินทา
๔. คนชักนำในทางฉิบหาย มีลักษณะ ๔
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น
๔. ชักชวนเล่นการพนัน