ความแตกต่างของ ธรรมยุติกนิกาย กับ มหานิกาย
ก่อนอื่นต้องอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจเสียก่อนว่า การแบ่งนิกายในพุทธศาสนานั้นไม่เหมือนกับการแตกแยกออกเป็นนิกายของศาสนาอื่นๆที่มีการอธิบายหลักธรรมของศาสดาแตกต่างกันในขั้นรุนแรงแตกหัก ลงรอยกันไม่ได้ จนกระทั่งมีการทำสงครามประหัตประหารกันแม้นับถือศาสดาองค์เดียวกัน แต่การแตกแยกนิกายในพุทธศาสนานั้นไม่ได้แตกต่างในด้านหลักธรรมใดใดเลยทุกนิกายล้วนแล้วแต่ต้องการขจัดขัดเกลากิเลสและประพฤติตนให้บริสุทธิ์และล้วนแล้วแต่มุ่งสู่พระนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่มีหลักวัตรประปฏิบัติเล็กๆน้อยและหลักการอธิบายธรรมะบางประการที่แตกต่างกันตามมติของคณาจารย์ต่างๆที่ตีความแตกต่างกัน เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญาชน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการอธิบายตีความตามความเข้าใจและสติปัญญาของตน อีกทั้งพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ลุ่มลึก การอธิบายหลักธรรมและการตีความก็อาจจะแตกต่างกันได้เป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว แม้แต่ในสมัยพุทธกาลเองก็มีภิกษุเข้าไปทูลบถามปัญหากับพระพุทธเจ้าเนืองๆในเรื่องการปฏิบัติและหลักธรรม
อย่างไรก็ตามการแยกเป็นนิกายของพุทธศาสนาก็มีเพียง 2 นิกายใหญ่ๆ คือ เถรวาท และมหายาน ซึ่งมหายานก็เพียงแต่เน้นหนักในเรื่องพุทธภูมิและเถรวาทก็เน้นหนักไปในเรื่อสาวกภูมิ(ภูมิของพระอรหันต์) หลักการทั้งสองนี้มิได้ขัดกันแต่อย่างใด เพราะพระเถระในฝ่ายเถรวาทก็มีจำนวนมากที่บำเพ็ญเพื่อปรารถนาพุทธภูมิ และพระเถระมหายานจำนวนมาก็บำเพ็ญเพื่อขัดเกลากิเลสเพื่อการบรรลุสู่พระนิพพานให้เร็วที่สุด สองนิกายนี้แตกต่างกันอย่างมากก็เพียงเรื่องวัตรปฏิบัติ สิกขาบทเล็กน้อยบางข้อเพื่ออนุโลมไปตามกาลสมัยหรือภูมิประเทศ และมหายานเองก็ไม่ได้ลดทอนสิกขาบทไปเสียทั้งหมดกลับเพิ่มเติมศีลสิกขาบทเข้ามาอีกนับสิบๆข้อ เช่นเรื่องการบำเพ็ญโพธิสัตว์จริยา การกินเจ ฯลฯ เป็นต้นและทั้งสองนิกายก็ถือศีลสิกขาบท พระปาฏิโมกข์ อันเดียวกัน พระสูตรพระวินัยอันเดียวกันเป็นส่วนมาก สงฆ์ทั้งสองฝ่ายก็เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันถือว่าเป็นพุทธบุตรเหมือนกัน เพียงแต่การทำสังฆกรรม การบวช หรือการทำวินัยกรรมอื่นๆจะไม่ทำร่วมกันเท่านั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแบ่งแยกนิกายในพุทธศาสนาก็เป็นไปตามจริตของสรรพสัตว์ และอนุวัตรไปตามสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัยในขณะนั้นๆ แต่หากนิกายใดที่แตกแยกออกไปโดยอธิบายหลักธรรมขัดกันแบบสุดโต่งสุดขั้ว นิกายนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้นาน เพราะธรรมวินัยในพระไตรปิฏก พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา ที่เป็นหลักฐานก็มีให้พิสูจน์และสอบทานได้ทุกเมื่อ เช่นนิกายของพระมหาเทวะ และนิกายมนตรยาน สุดท้ายก็ต้องเสื่อมสลายไป ยังคงมีหลงเหลือบ้างในบางภูมิประเทศก็เป็นส่วนน้อย
นิกายเถรวาทยุคแรก สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ก่อนที่จะอธิบายในเรื่องนิกายย่อยที่เป็นธรรมยุติกับมหานิกายในประเทศไทยนั้น เราต้องสืบค้นประวัติย้อนกลับไปในสมัยที่พุทธศาสนาผ่าเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิของเราก่อน สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ส่งสมณฑูตเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ในศรีลังกา ชวา เอเซียกลาง ฯลฯรวมถึงดินแดนสุวรรณภูมิที่เป็นประเทศไทยเราปัจจุบันนี้ ยุดนั้นเป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาททั้งหมด และลังกาได้รับพุทธศาสนาพร้อมๆกันกับดินแดนสุวรรณภูมิ (ไทย พม่า เขมร มอญ ลาว)
นิกายเถรวาทในลังกา
เมื่อพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆก็เจริญขึ้น และมีอายุกาลนานมากขึ้นก็เริ่มแตกแยกย่อยออกเป็นนิกายต่างๆ โดยเฉพาะในลังกาพุทธศาสนาเจริญขึ้นถึงขีดสุดมีพระเถระที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก และก็มีนิกายใหญ่ๆ สองนิกาย คือ คณะมหาวิหารที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากที่สุด และ คณะอภัยคีรีวิหาร ที่ประพฤติย่อหย่อนออกไปในแนวมหายานและ พราหมณ์ ผสมพุทธ ต่อมากษัตริย์ลังกาก็เห็นปัญหาข้อนี้ก็เลยสนับสนุน อุปัฏฐาก เฉพาะพระสงฆ์คณะมหาวิหารที่เคร่งครัด จนคณะอภัยคีรีวิหารต้องสลายตัวไปในที่สุด
พุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ
ลังกาวงศ์-นครศรีธรรมราช
ในช่วงต้นได้รับพุทธศาสนานิกายเถรวาทในสมัยพระเจ้าอโศก ในช่วงอาณาจักรทวาราวดี ศรีวิชัย และสืบศาสนาเรื่อยมาจนมีลัทธิมหายาน เข้ามาปะปน และความประพฤติสงฆ์ย่อหย่อนลงไป จนกระทั้งมีพระสงฆ์จากลังกาที่เคร่งครัดพระธรรมวินัยมาเผยแพร่ตั้งมั่นอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช จากหลักฐานพระธาตุเมืองนครมีลักษณะเป็นรูปทรงโอคว่ำตามอิทธิพลของศิลปกรรมของลังกา แสดงว่า อิทธิพลของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้ตั้งมั่นอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชแล้วในสมัยนั้น
ลังกาวงศ์-อาณาจักรพุกาม มอญ-พม่า
พระเจ้ารามาธิบดี แห่งเมืองหงสาวดี กษัตริย์มอญพระองค์หนึ่งในสมัยที่อาณาจักรมอญยังไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เห็นพระสงฆ์พระพฤติย่อหย่อนพระธรรมวินัย และพระองค์พบว่าลูกนิมิตอุโบสถทำสังฆกรรมของพระมีขนาดไม่ถูกต้องตามพระวินัย เป็นสีมาวิบัติ พระสงฆ์ในราชอานาจักรมอญอาจจะบวชไม่ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ จึงส่งพระสงฆ์ไปอุปสมบทใหม่กับพระสงฆ์คณะมหาวิหารที่เคร่งครัดที่เมืองลังกา และอุปสมบทโดยใช้นทีสีมา ที่แพกลางแม่น้ำ กัลยาณี เรียกว่ากัลยาณีสีมา ซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวลังกาเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเคยมาสรงน้ำที่สระแห่งนี้ และเพื่อเป็นการชำระวงศ์ของสงฆ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วน 3 คือ 1.บริษัทสมบัติ หมายถึง พระสงฆ์มีคุณสมบัติและจำนวนครบถ้วนตามพระวินัย 2.วาจาสมบัติ หมายถึงการเปล่งวาจาขออุปสมบท และการญัตติกรรม ให้ถูกต้องตามอักขระและสำเนียง (ตามภาษามคธ) 3.สีมาสมบัติ คือ เขตการทำสังฆกรรมถูกต้องตามพระวินัย ในที่นี้ใช้ นทีสีมา (สีมากลางน้ำ)เพราะเกรงว่าหากเป็นสีมาในแผ่นดิน นิมิตต่างๆอาจจะทำไม่ถูกต้องเหมือนเมืองมอญหรือก็ไม่อยากขุดลูกนิมิตออกมาดู ก็เลยตัดปัญหาใช้นทีสีมาแทน คณะสงฆ์ลังกาวงศ์คณะนี้ก็เลยได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าเป็นคณะสงฆ์ นิกายกัลยาณีสีมา ต่อมานิกายนี้ได้กลับมารื้อฟื้นพุทธศาสนาในเมืองพม่าและมอญให้บริสุทธิ์ดุจดังเดิม โดยการสึกพระนับหมื่นๆรูปแล้วบวชใหม่ตามลัทธิลังกาวงศ์สายนิกายกัลยาณีสีมา
ลังกาวงศ์ ผูกพัธสีมาใหม่-กัลยาณีสีมา ณ เมืองหงสาวดี
คณะสงฆ์มอญนิกายสีมากัลยาณี คือ พระภิกษุสงฆ์ผู้อุปสมบทในสีมาชื่อว่ากัลยาณี แห่งเมืองหงสาวดี ในรามัญประเทศ ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ในประเทศศรีลังกา กล่าวคือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 208 ปี หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งกรุงปาฏลีบุตร และพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์จากเดียรถีย์ที่ปลอมบวชเข้ามาและสังคายนา พระไตรปิฎกครั้งที่ 3 แล้วได้ทรงส่งพระเถระทั้งหลายไปประกาศพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ เช่นพระมหินทเถระ ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นหัวหน้านำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลังกา พระโสณะและพระอุตตระ เป็นหัวหน้านำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศสุวรรณภูมิ (คือบริเวณเมืองมอญ ประเทศพม่าและประเทศไทยในปัจจุบัน) พระพุทธศาสนาใน 2 ดินแดนนี้ จึงมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน เมื่อเจริญแล้วก็เสื่อมแล้วกลับเจริญอีกสลับกันไปมาอยู่อย่างนี้มาตลอด โดยเมื่อใดที่พุทธศาสนาในดินแดนใดเสื่อมก็จะไปนำพุทธศาสนาจากอีกดินแดนหนึ่ง กลับมาฟื้นฟูอีกสลับกันไปมา
พ.ศ.2018 พระเจ้ารามาธิบดี แห่งเมืองหงสาวดี รามัญประเทศ ทรงพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาในรามัญประเทศไม่บริสุทธิ์ เพราะสีมาที่ใช้อุปสมบทภิกษุทั้งหลายนั้นผูกอย่างไม่ถูกต้อง ภิกษุผู้ชำนาญพระไตรปิฎกวินิจฉัยว่าเป็นสีมาวิบัติ จึงทรงดำริถึงพระสงฆ์ในลังกาทวีป ซึ่งสืบมาแต่ภิกษุสงฆ์คณะมหาวิหาร อันเป็นคณะที่บริสุทธิ์ ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยและสืบมาแต่พระมหินทเถระ และทรงเห็นว่าควรส่งพระภิกษุผู้ฉลาดให้ไปนำอุปสมบทอันบริสุทธิ์ในลังกาทวีป มาประดิษฐานในรามัญประเทศ จึงทรงส่งพระภิกษุ 44 รูป ให้ไปรับอุปสมบทจากภิกษุคณะมหาวิหารในประเทศลังกา ขณะนั้นพระเจ้าภูวเนกพาหุ แห่งชัยวัฒนบุรี (อยู่ในเขตเมืองโคลัมโบปัจจุบัน) ทรงต้อนรับคณะภิกษุรามัญ และรับสั่งให้คัดภิกษุคณะมหาวิหาร 24 รูป ให้อุปสมบทแก่คณะภิกษุรามัญ ในอุทกุกเขปสีมา คือ บนเรือขนานผูกอยู่กลางแม่น้ำกัลยาณี โดยคณะภิกษุรามัญทั้งหมดต้องสึกก่อน แล้วจึงอุปสมบทใหม่เพื่อให้บริสุทธิ์แท้ เมื่อคณะภิกษุรามัญได้รับอุปสมบทใหม่แล้วก็เดินทางกลับเมืองหงสาวดี
พระ เจ้ารามาธิบดีโปรดให้ถางป่าด้านทิศตะวันตกของพระมหาเจดีย์มุเตากำหนดเป็นที่ ผูกสีมาใหม่ และโปรดให้คัดภิกษุรามัญผู้ไปรับอุปสมบทใหม่ในอุทกุกเขปสีมาในแม่น้ำกัลยาณี โดยคัดมาเฉพาะผู้ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ประกอบด้วยโทษเป็นที่ครหาจริงๆเป็น ผู้ทำพิธีผูกสีมานั้น และพระราชทานนามสีมานี้ว่า"กัลยาณีสีมา"ครั้นสมมติสีมาในปีพ.ศ.2019แล้ว ก็ทรงให้สืบหาพระภิกษุผู้รับอุปสมบทในคณะสงฆ์มหาวิหารแห่งลังกาซึ่งควรเป็น พระอุปัชฌาย์ได้ ก็ได้พระเถระองค์หนึ่งมีพรรษา 26 พรรษา ชื่อว่าสุวัณณโสภณ เป็นผู้ตั้งมั่นในธุดงควัตร อยู่ในป่าโดยปกติ จึงทรงตั้งให้เป็นพระกัลยาณีดิสสเถระ เพื่อเป็นอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทใหม่แก่ภิกษุรามัญทั้งหลาย และทรงขอให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติเหมือนอย่างภิกษุคณะมหาวิหาร เพื่อให้เป็นนิกายเดียวกัน นับแต่ พ.ศ.2019 ถึง พ.ศ.2022 มีพระรามัญบวชแปลงกันถึง 15,666 รูป จึงเกิดเป็นคณะสงฆ์นิกายสีมากัลยาณีขึ้นด้วยเหตุนี้
ลังกาวงศ์-สุโขทัย-เชียงใหม่
ในสมัยสุโขทัยนอกจากจะรับพุทธศาสนาสายเคร่งครัดมาจากลังกาวงศ์ผ่านนครศรีธรรมราชแล้ว นอกจากนี้ยังรับผ่านคณะสงฆ์มอญ(รามัญนิกาย) ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยนิมนต์มาทำการอุปสมบทพระสงฆ์สุโขทัยและเชียงใหม่อีกครั้งโดยการสึกแล้วบวชใหม่เหมือนกับพระสงฆ์มอญเพื่อชำระพระวินัยกรรมให้บริสุทธิ์ ตรงนี้เท่ากับว่าพระสงฆ์ไทยหรือพระสงฆ์สยามในอดีตก็คือพระสงฆ์ลังกาวงศ์นิกายมหาวิหาร สายกัลยาณีสีมาทั้งหมด
ลังกาวงศ์ นิกายธรรมยุติ รัชกาลที่๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงผนวชเป็นพระสงฆ์นามว่า พระวชิรญาณภิกขุ ได้ทรงเห็นว่าพระสงฆ์ย่อหย่อนในพระธรรมวินัยกันมาก อีกทั้งเป็นช่วงฟื้นฟูพุทธศาสนาในช่องหลังสงครามเสียกรุงได้ไม่นาน พระสงฆ์ที่ทรงศีล ทรงวินัยก็ถูกฆ่าตายไปเป็นส่วนมาก หรือก็สึกหาลาเพศกันไปหมด พระที่เหลือๆอยู่ก็สืบวงศ์กันมาอย่างไม่ค่อยจะชัดเจนในเรื่องที่มาที่ไป ทั้งประวัติพระอุปัชฌาอาจารย์ก็สืบสาวหาต้นตอกันไม่ค่อยจะได้ เมื่อได้ทรงพบกับพระมหาเถระชาวมอญชื่อ ซาย พุทธวํโส บวชมาจากเมืองมอญ ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสุเมธมุนี อยู่ที่วัดบวรมงคล(อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกันข้ามกับวัดสมอราย) เป็นผู้ชำนาญในพระวินัยปิฎก และประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเสด็จไปทรงศึกษาด้วย พระสุเมธมุนีได้ทูลอธิบายถึงวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณีที่ ท่านได้อุปสมบทมาให้ทรงทราบอย่างละเอียด ชี้ให้เห็นชัดว่าวงศ์บรรพชาอุปสมบทนี้มีเชื้อสายมาจากพระอนุรุทธเถระ (เป็นพระอรหัตสาวกในสมัยพุทธกาล ผู้เป็นเลิศด้านทิพยจักษุหรือตาทิพย์) เชื่อมโยงมาจนถึงพระอุปัชฌาย์ของพระสุเมธมุนีได้ ๘๘ ชั่วคนแล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่าถูกต้องตามพระพุทธพจน์ที่ทรงศึกษาจากพระไตรปิฎก จึงมีพระราชศรัทธาที่จะประพฤติตามแบบพระมอญ และเนื่องจากทรงพิจาณาเห็นว่าอุปสมบทวิธีตามแบบรามัญน่าจะถูกต้องตามพระพุทธ บัญญัติมากที่สุดในเวลานั้น จึงทรงทำทัฬหีกรรม คือ ทรงอุปสมบทซ้ำในคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณีอีกครั้งหนึ่ง ณ วัดสมอราย โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทธวํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ อันเป็นปีที่ทรงผนวชได้ ๒ พรรษา และเสด็จกลับไปประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุตามเดิม
เมื่อภิกษุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับ อุปสมบทในคณะสงฆ์รามัญและประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ไทย เป็นเหตุให้มีภิกษุอื่นเกิดความเลื่อมใสพากันมาถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและประพฤติปฏิบัติตามแนวพระราชดำริราว 5-6 รูป อาทิ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นต้น โดยทรงแนะนำให้ภิกษุเหล่านี้รับอุปสมบทในคณะสงฆ์รามัญเช่นเดียวกับพระองค์ ด้วย ต่อมาทรงเห็นว่าการที่จะทรงปฏิบัติตามพระธรรมวินัย แต่มีความแตกต่างกันในบางประการกับระเบียบแบบแผนของวัดมหาธาตุ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชนั้น ดูจะเป็นการไม่เหมาะสม จึงเสด็จไปประทับอยู่ที่วัดสมอราย อันเป็นวัดป่าอยู่นอกกำแพงพระนคร เมื่อ พ.ศ.2372 โดยสานุศิษย์บางส่วนก็ได้ตามไปอยู่ด้วย บางส่วนยังคงอยู่ที่วัดมหาธาตุ บางส่วนอยู่ที่วัดอื่นแต่ไปประชุมรวมกันที่วัดสมอรายก็มี จึงเกิดเป็นคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้นตั้งแต่นั้นมา
เมื่อเสด็จมาประทับวัดสมอ ราย วันหนึ่งทรงให้ขุดลูกนิมิตอุโบสถวัดสมอรายขึ้นมาตรวจ ก็ทรงพบว่าเป็นสีมาวิบัติ เพราะว่าลูกนิมิตเล็กไม่ได้ขนาด จึงทรงให้แสวงหาคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณีมา 18 รูป แล้วทรงทำทัฬheกรรม คือ อุปสมบทซ้ำอีกในอุทกุกเขปสีมา คือ แพกลางน้ำเจ้าพระยาหน้าวัดสมอรายนั้น เมื่อ พ.ศ.2373 เพื่อให้ได้ศาสนวงศ์ที่บริสุทธิ์ถูกต้องจริงๆ พร้อมกันนี้บรรดาศิษยานุศิษย์ของพระองค์ก็ได้ทำทัฬ้heกรรมพร้อมกับพระองค์ ด้วยเช่นกัน เมื่อทรงตั้งสำนักอยู่ที่วัดสมอรายก็มีภิกษุสามเณรมาถวายตัวเป็นศิษย์มาก ขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายคฤหัสถ์ก็พากันเลื่อมใส พากันไปฟังเทศน์ฟังธรรมมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งภิกษุพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชาคณะ
การแยกเป็นนิกายธรรมยุติ เป็น สังฆเภท หรือไม่
ข้อเท็จจริงทางประวิติศาสตร์ศาสนาพุทธในประเทศต่างๆ ก็คล้ายๆกัน เมื่อใดพระสงฆ์ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ความประพฤติผิดแปลกแหวกแนว หรือวิปริต เจ้าผู้ครองเมืองก็ประสงค์จะชำระพระศาสนาให้บริสุทธ์ก็จะมีการ จับพระสึกบ้าง ทำการสอบวินัยบ้าง หรือ เชิญสมณวงศ์ที่บริสุทธิ์จากดินแดนอื่นมาช่วยทำการสืบพระศาสนา เช่น ไทย เขมร ลาว พม่า มอญเองก็ต้องไปเชิญสมณวงศ์จากลังกามาชำระพุทธศาสนาของประเทศของตนให้บริสุทธิ์และเมื่อลังกาเองคราวที่พุทธศาสนาเสื่อมสูญวงศ์ไป แทบไม่เหลือพระสงฆ์ทำการอุปสมบทให้กุลบุตรของตนเองได้ ก็ต้องกลับมาอัญเชิญสมณะวงศ์จากประเทศสยาม มอญ พม่ากลับไปสืบสายสมณวงศ์ให้ประเทศตนเหมือนเดิม จนกลายเป็นนิกายสยามวงศ์ที่เป็นนิกายใหญ่และเจริญรุ่งเรืองที่สุดในลังกา และยังมีรามัญนิกายของมอญ และ อมรปุระนิกายของพม่า ทำการสืบสายสมณวงศ์มาจนถึงปัจจุบัน หากการก่อตั้งธรรมยุติกนิกายเป็นสังฆเภทแล้ว กษัตริย์ของประเทศต่างๆเช่น ลังกา มอญ พม่า เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ฯลฯที่ต้องการจะชำระสมณวงศ์ให้บริสุทธิ์โดยการตั้งนิกายใหม่เพื่อให้สงฆ์กลับไปบริสุทธิ์เหมือนเดิมก็คงต้องตกนรกกันเป็นแถวๆ และพระสงฆ์มอญ พม่า รามัญ ลังกาสิงหล ที่สืบพระศาสนาต่อๆมาใครเล่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็คงจะเหลืออยู่แต่พระผู้ปฏิบัติย่อหย่อนในพระวินัย ต่อไปศาสนานี้ก็คงไม่เหลือวงศ์จะให้สืบต่อไป
ความเข้าใจเรื่องสังฆเภท
การที่จะทำให้เกิดสังฆเภทนั้นต้องเข้าใจว่าคนที่จะสังฆเภทได้นั้นจะต้องเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในอาวาสเดียวกันเท่านั้นและวัดนั้นก็ต้องมีภิกษุสงฆ์ที่แตกแยกออกไปเกิน 4 องค์ไม่รวมผู้กระทำสังฆเภท ซึ่งฆราวาสไม่สามารถทำสังฆเภทได้เลย เพราะไม่ใช่พระนอกจากนี้แม้จะเป็นนางภิกษุณี สามเณร อุบาสก อุบาสิกาก็ทำสังฆเภทไม่ได้เพราะไม่เข้าองค์ประกอบ ถึงจะยุให้พระแตกกันก็ไม่เป็นสังฆเภทแต่ก็เป็นกรรมหนักเรียกว่า"สังฆราชี"
องค์ของสังฆเภทก็คือ
- ทิฏฐิสามัญญตาไม่เสมอกัน มีทิฐิคือความเห็นขัดแย้งกันในพระธรรมจนสงฆ์ เหล่านั้นไม่ยอมทำอุโบสถกรรม ปวารณากรรม หรือสังฆกรรรมอย่างอื่น ๆ ร่วมกัน เพราะเกิดความแตกแยก ความรังเกียจ หรือความอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน
- สีลสามัญญตาไม่เสมอกัน มีศีลคือความประพฤติย่อหย่อยในวินัย ต่างฝ่ายก็รังเกียจซึ่งกันและกันจนสงฆ์ เหล่านั้นไม่ยอมทำอุโบสถกรรม ปวารณากรรม หรือสังฆกรรรมอย่างอื่น ๆ ร่วมกัน เพราะเกิดความแตกแยก ความรังเกียจ หรือความอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน
ดังนั้นการสถาปนาตั้งนิกายใหม่ที่ต้องการจะชำระพระวินัยและทำวงศ์พระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับสังฆเภทแต่อย่างใดกลับเป็นบุญเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่เพื่อการสืบพระศาสนา
สรุปเรื่องการสืบสมณวงศ์
พุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังวงศ์ในประเทศไทยนั้นมีการสืบสมณวงศ์มาจากแหล่งกำเนิดแห่งเดียวกันตลอดช่วงระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมานับตั้งแต่กรุงสุโขทัย และมีการสืบเนื่องจากไม่ขาดสาย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนิกายธรรมยุติและมหานิกายก็คือวงศ์ๆเดียวกัน จากต้นตอคือนิกายมหาวิหารที่เคร่งครัดที่สุดของลังกา ไม่มีปรากฏว่าได้มีการผสมปนเปจากสมณวงศ์จากวงศ์อื่นๆเลย เพียงแต่ในบางช่วงของกาลเวลาในประวัติศาสตร์ปรากฏว่าการประพฤติปฏิบัติของพระย่อหย่อนลงไปหรือมีภัยจากสงคราม หรือมีเดียรถีย์ปลอมบวชเข้ามา ก็มีการนำวงศ์เดิมที่มีสายบริสุทธิ์กว่าจากดินแดนอื่นๆใกล้เคียงกันมาช่วยสืบวงศ์และช่วยจรรโลงบวรพุทธศาสนาให้ยังคงบริสุทธิ์เหมือนครั้งในอดีต
เปรียบเทียบความแตกต่างของ พระมหานิกาย กับ พระธรรมยุติกนิกาย
- สมณวงศ์ อย่างที่ได้อธิบายในเบื้องต้นแล้ว เป็นวงศ์เถรวาทเดียวกันจากลังกา และก็เป็นนิกายมหาวิหารของลังกาเหมือนกัน ข้อนี้ไม่มีความแตกต่างกัน
- จำนวนพระสงฆ์ โดยคณะสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทยนั้น แบ่งย่อยเป็น ๒ นิกายด้วยกัน คือ มหานิกาย ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่จำนวน ๘๐ กว่าเปอร์เซนต์ ของพระสงฆ์ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก ๑๐ กว่าเปอร์เซนต์ คือพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย
- พัทธสีมา ในกรณีของพระสงฆ์ธรรมยุติจะมีการผูกพัทธสีมาโดยพระสงฆ์ธรรมยุติเอง ไม่สามารถไปใช้พัทธสีมาลงอุโบสถ ทำสังฆกรรม อุปสมบทพระในพระอุโบสถที่เป็นพัทธสีมาของพระมหานิกายได้
- การทำสังฆกรรม ลงอุโบสถ สวดปาฏิโมข์ร่วมกันไม่ได้ ต้องแยกกันทำคนละวัด ต่างก็ต้องมีพัทธสีมาของตนของตน
- การออกเสียงในภาษาบาลีในการทำสังฆกรรม คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เกรงว่า กรรมวาจาจะวิบัติ ก็เลยต้องสวดออกเสียงบาลีให้ถูกต้องตามสำเนียงภาษามคธ แต่พระสงฆ์มหานิกายออกเสียงบาลีตามสำนียงภาษาไทย
- ปฏิทินจันทรคติในการทำสังฆกรรม โดยวันพระของวัดธรรมยุติกนิกายจะแตกต่างจากวันพระทั่วๆไปซึ่งเป็นวันพระมหานิกาย และวันลงอุโบสถทำสังฆกรรมก็อาจจะต่างวันกัน อันเนื่องมาการการคำนวณปฏิทินแตกต่างกัน เรียกว่า ปฏิทินปักขคณนา กรุณาอ่านเพิ่มเติมเรื่อง ปฏิทินปักขคณนา ปฏิทินวันพระของนิกายธรรมยุติ
- วิธีการบวช แตกต่างกันเรื่องปลีกย่อยเล็กน้อย โดยการบวชแบบธรรมยุติกนิกายเรียกว่า การบวชแบบเอสาหัง ส่วนการบวชแบบมหานิกายเรียก การบวชแบบอุกาสะ
- การับปัจจัยเงินทอง ปกติพระทั้งหลายย่อมไม่รับปัจจัยอยู่แล้วโดยพระวินัย แต่พระธรรมยุติก็จะเปลี่ยนวิธีการรับโดยใช้ใบ ปวารณาแทน ไม่ได้รับโดยตรง แต่บางรูปก็ไม่รับเลยก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ
- สีผ้า ส่วนมากมหานิกายครองผ้าสีเหลืองส้มสด พระนิกายธรรมยุติจะครองสีหม่นกว่า แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป แล้วแต่ว่าจะเป็นวัดป่าหรือวัดบ้านก็จะครองสีกรัก หรือสีแก่นขนุน ซึ่งก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ
- การครองจีวร ปัจจุบันนี้แยกค่อนข้างยาก ในเรื่องการห่มดองหุ่มคลุม ห่มมังกร ก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ แต่เวลาทำสังฆกรรมพระสงฆ์มหานิกายก็จะมีผ้ารัดอกซึ่งเป็นแบบแผนของมหานิกายที่เห็นได้ชัดเจน
- การฉัน ส่วนจริยาวัตรอื่นๆ เช่นการฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว ฯลฯก็เป็นวัตรปฏิบัติของทั้งธรรมยุติและมหานิกายแต่ธรรมยุติจะไม่ฉันนมในเวลาหลังเพล หรือ น้ำผลไม้ที่มีกากปนลงไป ถือว่าเป็นอาหารไม่ใช่น้ำปานะหรือน้ำอัฐบาล