ติดต่อสอบถาม กรุณาแอด Line @astroneemo

  • Slider 1
  • Slider 2
  • Slider 3
  • Slider 4
  • Slider 5
  • Slider 6
  • Slider 7
  • Slider 8

Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

หน้า 113

ตอนที่ 4

ประเกือมสุรินทร์

หนังสือ :สุรินทร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย
แต่งโดย: อาจารย์ศิริ ผาสุก,อาจารย์อัจฉรา ภาณุรัตน์,อาจารย์เครือจิต ศรีบุญนาค
ผู้จัดพิมพ์ :ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ชมรมหัตถกรรมพื้นบ้านไทย พศ.2536

นอกจากศิลปวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นได้จากโบราณวัตถุ ศิลปะการทอผ้าไหมตามที่กล่าวแล้ว การทำเครื่องประดับเงินของชาวสุรินทร์ นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกต่างจากที่อื่นมากทีเดียว เครื่องประดับเงินของชาวสุรินทร์ นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกต่างจากที่อื่นมากทีเดียว   เครื่องประดับเงินของชาวสุรินทร์มีทั้งที่เป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน เข็มขัด ต่างหู แต่ที่ไม่เหมือนใครเลยในประเทศไทย และดูเหมือนจะมีแห่งเดียวในโลกก็คือการทำประเกือม( Silver bead )

การทำลูกประเกือมจากโลหะเงินเป็นศิลปะการทำเครื่องประดับเงินที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย และทำสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้  ซึ่งครั้งแรกมีเฉพาะที่บ้านโชค ตำบลเขวาสินรินทร์  อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์  แต่ปัจจุบัน แทบทุกหมู่บ้านในตำบลเขวาสินรินทร์มีการทำประเกือม

จากบันทึกของจูต้ากวน  พ่อค้าจีนที่เคยเดินทางมายังดินแดนแถบนี้  เมื่อปี พ.ศ. 1058  นอกจากกล่าวไว้ดังที่บันทึกในตอนต้นแล้ว  อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า  “ดินแดนแถบนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมากแล้ว เพราะชาวบ้านและชาวเมืองของอาณาจักรฟูนาน  ต่างก็มีเสื้อผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับใช้กันแล้ว พวกชนชั้นสูงของฟูนาน  มีเครื่องนุ่งห่มที่ทอด้วยไหมเงิน  ไหมทอง  พวกผู้หญิงใช้ผ้าคลุมชนิดหนึ่ง  รูปทรงคล้ายหมวกแขก  ผู้คนส่วนใหญ่มีเครื่องนุ่งห่ม   ลูกผู้ดีมีตระกูลจะสวมโสร่งและนิยมใส่เครื่องประดับที่เป็นสร้อยเงิน  ทองคำและแหวน  และเครื่องใช้ที่ทำด้วยเงิน”

ลูกประเกือม

หลักฐานที่ค่อนข้างจะเชื่อได้ว่า  เมืองสุรินทร์เจริญมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนาน  ก็คือ  ลักษณะของประเกือม  ที่คล้ายคลึงกับเม็ดประคำเงินของประเทศเนปาล  ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมสมัยนั้น  เนื่องจากบันทึกของชาวจีนว่า  ในสมัยฟูนานนั้น  มีการนำเครื่องประดับเงินจากอินเดียผ่านฟูนานไปยังประเทศจีน  ดังนั้น  จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า ประเกือมจะเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีการนำเข้าจากอินเดียในสมัยนั้น  มายังฟูนาน  โดยส่วนหนึ่งใช้เป็นเครื่องประดับในอาณาจักรฟูนานเอง  และอีกส่วนหนึ่งก็ส่งไปยังจีน

หน้า 114

ความแตกต่างของลูกประคำเนปาล  กับประเกือมสุรินทร์  อยู่ที่การอัดครั่งข้างใน  เพราะของเนปาลนั้นไม่มีการอัดครั่ง  อีกด้านหนึ่งได้แก่ลวดลาย  เพราะของเนปาลนั้นไม่มีลวดลายมากนัก  แต่ของสุรินทร์จะมีลวดลายมากกว่า  จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า  จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า  ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่โลหะเงิน หรือทองเกิดขาดแคลน  แต่ความต้องการเครื่องประดับชนิดนี้ยังมีมาก  ดังนั้นจึงมีการพัฒนารูปแบบจากเดิมซึ่งไม่อัดครั่ง  มาเป็นใช้เงินปริมาณน้อยลงโดยการตีรูปทรงอย่างบางแล้วอัดครั่งข้างใน ซึ่งได้ผลที่สำคัญ 2 ประการคือ

ประการแรก  ใช้โลหะเงินน้อยลงแต่ได้ปริมาณเครื่องประดับที่ต้องการเท่าเดิม

ประการที่สอง  การอัดครั่งข้างในโดยใช้โลหะเงินบางๆ นั้นสามารถแกะลายได้ง่ายกว่า และสวยงามกว่าเดิม  ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ  เนื้อเงินนั้นต้องบริสุทธิ์แท้มิเช่นนั้นจะไม่สามารถตีรูปทรงได้  นับว่าเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของการทำเครื่องประดับเงิน  จากรูปแบบเดิมของเนปาล มาเป็นเอกลักษณ์ของสุรินทร์โดยเฉพาะ  เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมของนครวัต-นครธม ซึ่งรูปแบบนั้นก็มาจากอินเดีย  แต่ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรขอมโบราณในระยะหลัง จึงได้ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมอันล้ำค่าชิ้นใหม่เกิดขึ้นมาในโลก

ประเกือมสุรินทร์ก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนไม่เจาะจงว่า หัตถกรรมพื้นบ้านชิ้นนี้ได้พัฒนามาตั้งแต่สมัยของอาณาจักรฟูนาน หรือสมัยเมืองพระนคร แต่ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ขอมนั้น จะต้องมีช่วงหนึ่งที่การพัฒนารูปแบบจากเดิมมาเป็นประเกือมสุรินทร์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้  มันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนโบราณชิ้นหนึ่งที่หลงเหลืออยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์  ขณะที่ดินแดนประเทศเขมรถูกทำลายไปหมดแล้ว จะด้วยสงครามหรืออย่างอื่นใดก็ตาม แต่ในปัจจุบันนี้มรดกทางวัฒนธรรมของคนโบราณประเภทนี้มีอยู่แห่งเดียวเท่านั้นในโลก ซึ่งเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์มรดกโลกชิ้นนี้เอาไว้

เส้นทางสู่หมู่บ้านเครื่องเงิน

บ้านโชค  ต.เขวาสินรินทร์  อ.เมือง  จ.สุรินทร์ เป็นหมู่บ้านแรกที่ทำลูกประเกือม  แต่ต่อมาความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น  การผลิตก็ขยายตัวเกือบทั่วทั้งตำบลเขวาสินรินทร์

ถ้าหากเราเดินทางจากเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ข้ามทางรถไฟไปตามถนนสายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด  ถึงหลัก กม.14 ก็มีทางลาดยางเลี้ยวขวา จะมีป้ายบอกบ้านเขวาสินรินทร์  “หมู่บ้านทอผ้าไหม”  อีกป้ายหนึ่ง “หมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องเงิน”  พอเข้าไปได้ 2 กม. จะถึงบ้านสดอ  ทั้งหมดนี้คือหมู่บ้านเครื่องเงิน

หน้า 115

ความหมายประเกือม

คำว่า “ประเกือม”  เป็นภาษาเขมร ตรงกับภาษาไทยว่า ประคำ  เป็นการใช้เรียกเม็ดเงิน  เม็ดทอง ชนิดกลมที่นำมาใช้ร้อยเป็นเครื่องประดับ  ถ้าเป็นหินกลม  เขาเรียกว่า ลูกปัด  ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ  beads ถ้าทำด้วยเงินเขาเรียกว่าประคำเงิน  (Silver beads)  ถ้าทำด้วยทองเขาเรียกว่าประคำทอง (Gold beads) ดังนั้นประเกือมจึงใช้เฉพาะเม็ดกลมที่ทำด้วยเงินหรือทองเท่านั้น

ประเกือมสุรินทร์ (Surin’s Silver beads)  ก็เป็นลูกกลมที่ทำด้วยเงินเช่นเดียวกับที่ทำที่อื่น  แต่สิ่งที่แตกต่างจากที่อื่นนั้นก็อยู่ตรงที่

ประการแรก  มีการทำหลากหลายรูปแบบมากกว่าที่เป็นลูกกลมอย่างเดียวเหมือนที่อื่น

ประการที่สอง  มีการเน้นศิลปะลวดลายต่าง ๆมากมาย  ในขณะเดียวกันประเกือมสุรินทร์นั้นจะต้องมีการอัดครั่งข้างใน  เพื่อให้มีโลหะเงินหุ้มแต่เพียงเปลือกนอก  การมีโลหะเงินบางหุ้มเฉพาะเปลือกนอกนี้เอง  ทำให้สะดวกในการแกะลาย  เพราะโดยธรรมชาติของโลหะเงินนั้นอ่อนจึงแกะลายได้ง่าย  แต่ถ้าหากผสมโลหะอื่น จะแข็งและแกะลายไม่ได้  ประเกือมสุรินทร์จึงสามารถคงลักษณะของความบริสุทธิ์ของเงินแท้ได้  ความจริงการทำเครื่องประดับเงิน  เครื่องประดับทองในหมู่บ้านนี้  มีทำทุกแบบตั้งแต่การทำสร้อยคอธรรมดา  สร้อยข้อมือ  กำไล  เข็มขัด  แต่สิ่งที่เด่นและมีความแตกต่างจากท้องที่นั้น  มีเพียงสองอย่างคือ  ต่างหู  ที่ชาวสุรินทร์นิยมใส่  มีลักษณะเป็นชั้น ๆ คล้ายของอินเดียมากเรียกว่า  ละเวง  หรือตีนตุ๊กแก  ซึ่งมีลักษณะสวยงามเป็นพิเศษ และมีลักษณะเฉพาะตัวของสุรินทร์เท่านั้น  และอีกประเภทหนึ่งก็คือ  ประเกือมนี่เอง ในอดีตหมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงในด้านฝีมือ 3 ประเภทด้วยกันคือ

ช่างทำเฟอร์นิเจอร์หวาย  ซึ่งโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ในกรุงเทพมหานครหลายแห่งที่ทำเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออก  ได้จ้างช่างที่ทำหน้าที่หัวหน้าช่าง  จากหมู่บ้านนี้เป็นส่วนใหญ่

หน้า 116

การทอผ้าไหมมัดหมี่  ผ้าไหมมัดหมี่โฮล  อันเป็นผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียงที่สุด  และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์นั้น  หมู่บ้านนาตัง  หมู่บ้านทนงรัตน์  หมู่บ้านสดอ  ต.เขวาสินรินทร์  นั้น  เป็นหมู่บ้านที่ทอผ้าไหมมัดหมี่ชนิดนี้ได้สวยที่สุด

ช่างเงินและช่างทอง  แต่ก่อนหมู่บ้านนี้มีชื่อว่าหมู่บ้านช่างทอง  เพราะร้านทองในเมืองสุรินทร์นิยมจ้างช่างทองจากหมู่บ้านนี้ไปทำทองรูปพรรณให้

การทำประเกือม

สมัยเมื่อประมาณ 20  ปีที่แล้ว  มีช่างทำเครื่องเงินของบ้านโชคอยู่ไม่ถึง 20    หลังคาเรือน  แต่ในปี 2526 ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เดินทางไปพบ  จึงสั่งทำขึ้นและออกเผยแพร่ทางวารสารและสื่อมวลชนต่าง ๆ ทำให้ประเกือมเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงต้นปี 2532 ปรากฏว่ามีครอบครัวทำเครื่องเงินมากกว่า 50 หลังคาเรือนแล้ว  ซึ่งทั้งหมดทำอยู่ที่บ้านโชคทั้งสิ้น

ระหว่างวันที่ 4-15 พฤษภาคม  2532  สมาคมหัตถอุตสาหกรรมอีสานใต้  ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดแสดงสินค้า “เครื่องเงิน  ตระกร้า  ผ้าสุรินทร์”  ขึ้นที่ห้องแกรนด์  ฮอลล์  ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้  กรุงเทพมหานคร  ในการจัดงานครั้งนี้  ได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนต่าง ๆ เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ได้ตีพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ  ทำให้เครื่องเงินสุรินทร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ภายหลังการจัดงานเสร็จแล้ว  ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยว  ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไปเยี่ยมชมการทำเครื่องเงินหมู่บ้านนี้มากขึ้น   การทำประเกือมจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว  ในปัจจุบันนี้ชาวตำบลเขวาสินรินทร์เกือบทั้งตำบล  มีรายได้หลักจากการผลิตและจำหน่ายประเกือม   การทำประเกือมนี้จะมีการจับกลุ่มกัน  แต่ละกลุ่มประกอบด้วย ช่างที่มีความชำนาญ 1 คน  และลูกมือที่มีความชำนาญรองลงไปตามลำดับ  จนถึงเด็กฝึกงานอีก 4 คน  รวมเป็น 5 คน  แต่ละคนจะทำหน้าที่แต่ละอย่างตามความชำนาญมากน้อยต่างกันไป (ดูภาพประกอบ)

หน้า 117

ลูกประเกือม  ที่มีทำในหมู่บ้านนี้   ถ้าพิจารณาตามรูปแบบแล้วจะมีอยู่ประมาณ 13 แบบ  คือถุงเงิน  หมอน  แปดเหลี่ยม  หกเหลี่ยม  กรวย  แมงดา  กะดุม  โอ่ง  มะเฟือง  ตะโพน  ฟักทอง  จารย์ (ตะกรุด)  ประเกือม  แต่ละแบบจะมีขนาดที่แตกต่างกันไป  ซึ่งขนาดเล็กที่สุดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร  จนถึงขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร  ส่วนลักษณะที่ทำนั้น  ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่ความต้องการของผู้สั่งหรือผู้ทำที่เห็นว่าควรจะมีการดัดแปลงจากเดิมอย่างไรบ้าง (แบบลายเส้น)  แต่ทั้งหมดนี้ได้มาจากจินตนาการจากธรรมชาติรอบตัวของเขาในสมัยนั้นนั่นเอง

ในการทำประเกือมนี้  โดยวัตถุประสงค์ในการทำนั้นเพื่อสร้างความสวยงามเป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็นยิ่งขึ้นนั่นเอง  ดังนั้นเนื้อเงินจึงอยู่เฉพาะด้านนอกบาง ๆ เท่านั้น  ส่วนด้านในเป็นครั่ง  การที่มีเนื้อเงินอยู่ด้านนอกบาง ๆ ทำให้สะดวกในการแกะลาย  เนื้อเงินนี้จึงมีความบริสุทธิ์มาก  เพราะถ้าหากมีโลหะอื่นผสมแล้ว  จะทำให้เนื้อเงินแข็งไม่สามารถแกะลายได้  จึงเป็นเครื่องป้องกันความบริสุทธิ์ในตัวของประเกือมสุรินทร์  เพราะถ้าหากมีการผสมโลหะอื่นแล้วจะทำไม่ได้  ในด้านลายก็เช่นเดียวกัน  ตามปกติก็จะแกะลายที่เห็นจากธรรมชาตินั่นเอง  เช่นลายตรง = ลายตาราง  ลายกลีบบัว  ลายดอกพิกุล  ลายดอกจันทน์  ลายพระอาทิตย์  ลายดอกทานตะวัน  ลายตากบ  ฯลฯ  ซึ่งลายต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมาจากธรรมชาติรอบตัวเขาทั้งสิ้น

ประเกือมที่พบ  จะเป็นสีดำเป็นส่วนใหญ่  ทั้งนี้เพราะหลังจากทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ช่างจะต้องเอาไปรงดำ  เพื่อให้ลายที่แกะนั้นเด่นชัดขึ้นกว่าเดิม  ความสวยงามของประเกือมสุรินทร์นั้น  อยู่ที่ลายที่แกะด้านนอก  กับความแวววาวของเนื้อโลหะเงิน

หน้า 127

การเรียงร้อยสร้อยประคำ

โดยธรรมชาติของโลหะเงินนั้น  มีความงามอยู่ในตัวอยู่แล้ว  เพราะเป็นโลหะที่มีความแวววาว  ทำให้เป็นที่นิยมใช้ทำเครื่องประดับ  แต่การทำประเกือมนั้น  เป็นการเพิ่มสีสรรให้แก่โลหะเงิน  ในรูปของศิลปะเพิ่มขึ้นอีก  ดังนั้นจึงทำให้มีผู้นิยมเอาประเกือมเหล่านี้มาเรียงร้อยทำสร้อยคอ  สร้อยข้อมือ  ต่างหู  และผสมกับวัตถุชนิดอื่น  เช่นมุก  ลูกปัดหิน  นิล  โกเมน  คริสตัล  และเงินในรูปอื่น  เช่นเม็ดข้าว  เม็ดทราย  การนำเอาประเกือมไปผสมกับสิ่งดังกล่าวนี้  เป็นการเพิ่มความสวยงามในรูปของศิลปะและคุณค่าของสร้อยชนิดต่าง ๆ เหล่านั้นมากขึ้น