เรื่องมงคลสูตร (ต่อ)
๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๔
จะแสดงมงคลสูตรต่อ
มงคลที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงตั้งแต่คาถาต้นมาโดยลำดับ เป็นการแสดงมงคลที่บุคคลทั่วไปพึงปฏิบัติ แม้ผู้อยู่ครองเรือนในโลกก็พึงประพฤติปฏิบัติ และได้ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่เป็นมงคลสูงขึ้นมาโดยลำดับ ตั้งต้นที่พึงปฏิบัติทั่วไปดังกล่าว จนถึงข้อปฏิบัติที่ละเอียดขึ้น และเป็นไปทางปัญญามากขึ้น ซึ่งรวมความว่า เป็นข้อปฏิบัติขึ้นศีล ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ด้วยความตั้งใจ ในขั้นสมาธิคือความปฏิบัติอบรมทางจิตใจ ตลอดจนถึงในขั้นเป็นไปทางปัญญา และสืบต่อไปถึงวิมุตติ ความหลุดพ้น
ในคาถาที่เก้า ได้ทรงแสดงมงคลอันเป็นข้อปฏิบัติเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นอันจะกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติทางศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ แต่ก็เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ในคาถาที่เก้าได้ตรัสว่า
ตโป จ ความเพียรเผากิเลส ๑
พฺรหฺมจริยญฺจ ความประพฤติอย่างพรหม หรือความประพฤติอันประเสริฐ ๑
อริยสจฺจาน ทสฺสนํ ความเห็นซึ่งอริยสัจทั้งหลาย ๑
นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ ความทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ๑
อตมฺมงฺคเลมุตฺตมํ ข้อนี้เป็นมงคลอันอุดม คือสูงสุด
อธิบายสังเขป ตโป แปลทับศัพท์ว่า ตบะ คำว่าตบะนั้น แปลว่าเครื่องเผาหรือการเผาให้เร่าร้อน ในทางลัทธิปฏิบัติก่อนแต่พุทธกาลบังเกิดขึ้น ฤาษีบำเพ็ญตบะบางลัทธิก็คือ นำไม้มากองและจุดไฟเผาและก็เพ่งดูไฟ ถือว่าเป็นการบำเพ็ญตบะ และยังมีลัทธิปฏิบัติเกี่ยวกับการเผาที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ตลอดจนถึงนำเอาสัตว์เดียรัจฉานจนถึงมนุษย์มาเผาก็มี ต้องการที่จะให้เป็นที่โปรดปรานของพระเป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่เชื่อถือ แต่ว่าในทางพุทธศาสนานั้น นำเอาคำว่าตบะมาใช้ให้หมายถึงวิริยะคือความเพียร ซึ่งหมายความว่า เพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน เพราะโดยปกตินั้น กิเลสที่บังเกิดขึ้นก็เผาใจของบุคคลให้เร่าร้อน ดังที่เทียบกิเลสกับไฟ อัคคิคือไฟ ๓ กอง ได้แก่ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ บังเกิดขึ้นก็เผาใจของบุคคล เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้บำเพ็ญเพียรเผากิเลสเสีย ให้กิเลสร้อนไปเองสิ้นไปเอง เพราะถ้าไม่เผากิเลส กิเลสก็เผาใจของบุคคลให้ร้อน เพราะฉะนั้น ให้เพียรเผากิเลสเสีย ให้กิเลสร้อนให้หมดสิ้นไป เพราะฉะนั้น จึงหมายถึงความเพียรเผากิเลส
อีกอย่างหนึ่งหมายถึงอินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ ได้แก่ความสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ โดยที่มีสติความระลึกได้ พร้อมทั้งญาณคือความหยั่งรู้หรือปัญญา ป้องกันปิดกั้นมิให้เกิดความยินดีความยินร้ายในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้อง และมนะคือใจ ได้รู้ธรรมคือเรื่องราวที่บังเกิดขึ้นทางมโนคือใจ ความที่มีสติกับทั้งญาณคือปัญญาคอยป้องกันปิดกั้นมิให้เกิดความยินดีความยินร้ายในรูปเสียงเป็นต้น ที่ประสบพบพาน คือโดยที่มิให้บังเกิดเป็นกระแสกิเลสคือกระแสของความยินดียินร้าย หรือเรียกว่ากระแสของตัณหาบังเกิดขึ้น อาศัยอายตนะภายในภายนอกที่มาประจวบกันนั้นไหลเข้ามาสู่ใจท่วมทับใจ คอยระงับเสีย ดั่งนี้เรียกว่าอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ก็เป็นตบะอย่างหนึ่งทางพุทธศาสนา และก็มีความหมายถึงธรรมปฏิบัติข้ออื่นอีกได้ เพราะธรรมปฏิบัติแม้ข้ออื่นก็เป็นเครื่องเผากิเลสด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าก็ยกเอาความเพียรเผากิเลสนี่แหละขึ้นมาเป็นที่ตั้งอธิบายตบะ
พฺรหฺมจริยญฺจ ความประพฤติอย่างพรหม หรือความประพฤติประเสริฐ์ พรหมจริยาหรือพรหมจรรย์ ที่เรียกกันในภาษาไทยก็มักจะใช้หมายถึง เมถุนวิรัติ ความงดเว้นจากเมถุนธรรม ธรรมของคนคู่บ้าง ใช้หมายคลุมถึงสมณะธรรม คือธรรมที่เป็นเหตุทำใจให้สงบระงับ หรือว่าคลุมถึงศาสนาคือคำสั่งสอนโดยส่วนรวมบ้าง ใช้หมายถึงมรรคมีองค์แปด มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบเป็นที่สุดบ้าง ก็รวมความว่าบรรดาความประพฤติที่ประเสริฐก็เรียกว่าพรหมจรรย์ได้
อริยสจฺจาน ทสฺสนํ ความเห็นซึ่งอริยสัจทั้งหลาย อริยสัจก็คือสัจจะ ความจริงหรือของจริง ของแท้ที่ทำให้ผู้เห็นเป็นอริยะ คือผู้ประเสริฐผู้เจริญ หรือว่าสัจจะที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐได้ทรงเห็นและทรงแสดง อันได้แก่ทุกข์ ๑ ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ๑ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ๑ ทุกขนิโรธคามิมีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๑ เรียกว่าอริยสัจ ๔ อันเป็นสัจจะที่เป็นหลักในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม คือคำว่าพุทธะ พระผู้ตรัสรู้ หรือสัมมาสัมพุทธะ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หากจะถามว่าตรัสรู้อะไร ก็ตอบกันกว้าง ๆ ว่า ก็ตรัสรู้พระธรรม หากจะถามว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นคืออะไร ก็ตอบตามปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าเองว่า คืออริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าว เพราะฉะนั้น จึงมีคำอธิบายคำว่าธรรม หรือธรรมะอย่างหนึ่งว่า ได้แก่สัจธรรม ธรรมคือสัจจะ และศาสนธรรม ธรรมคือคำสั่งสอน สำหรับธรรมคือสัจจะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็คืออริยสัจทั้ง ๔ ฉะนั้นก็ตอบได้ว่า หากจะถามว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ก็ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ และพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร ก็กล่าวได้อีกว่า ก็ทรงสั่งสอนอริยสัจทั้ง ๔ นี้นั้นเอง ทรงนำเอาอริยสัจทั้ง ๔ ที่ได้ตรัสรู้มาทรงแสดงสั่งสอน แม้จะทรงยกเอาข้อธรรมที่มีชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งมาทรงแสดง และตรัสแสดงธรรมนั้น โดยปริยาย คือทางแสดงอันใดอันหนึ่งก็ตาม ก็สงเคราะห์เข้าในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น อริยสัจทั้ง ๔ จึงเป็ฯที่สรุปรวมของธรรมที่เป้นพุทธศาสนาทั้งหมด ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ ได้ตรัสอุปมาไว้ว่า เหมือนอย่างรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายในโลก รอยเท้าช้างนั้นใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่เดินดินด้วยกันทั้งหมด รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่เดินดินด้วยกันทั้งหมดนั้น ก็รวมได้ในรอยเท้าช้าง ฉันใดก็ดี ธรรมที่ทรงสั่งสอนก็รวมเข้าในอริยสัจทั้ง ๔ ดั่งนี้ เพราะ ฉะนั้น จึงเป็นหลักธรรมสำคัญในพุทธศาสนา
การเห็นอริยสัจก็คือความที่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรมจนรู้เห็นในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ด้วยปัญญาของตน เป็นเครื่องกำจัดกิเลสและกองทุกข์ในสันดานให้สิ้นไปบางส่วนบ้าง สิ้นเชิงบ้าง แต่แม้ว่ายังไม่รู้เห็นด้วยปัญญาของตน แต่ว่าศึกษาให้มีความรู้จำได้แม้ด้วยสัญญา และพยายามที่จะทำความเข้าใจในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ และก็ปฏิบัติละสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ และปฏิบัติมรรคมีองค์แปด รวมเข้าในศีล สมาธิ ปัญญา ให้ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ก็ย่อมจะทำให้ได้ปัญญารู้เห็นในอริยสัจทั้ง ๔ นี้โดยลำดับ แม้แต่ในขั้นตั้งแต่เห็นราง ๆ แล้วก็จะแจ่มแจ้งขึ้นมาเรื่อย ๆ
นิพฺพานสจฺฉิกิริยา ความกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เป็นอันว่าได้แสดงถึงเป้าหมายที่พึงบรรลุในพุทธศาสนา คือนิพพาน และธรรมที่แสดงในพุทธศาสนานั้นก็สรุปลงได้ว่า เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ คือประโยชน์ปัจจุบัน ๑ เป็นสัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า ๑ ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง ๑ สำหรับที่เป็น ทิฏฐธัมมิกัตถะและสัมปรายิกัตถะนั้นเป็นโลกียะ เกี่ยวด้วยโลก คือยังเกี่ยวแก่ความที่อยู่ในโลก ครองตัวอยู่ในโลกอันหมายถึงจิตใจ จิตใจที่ยังข้องติดอยู่ในโลก โดยตรงก็คือยังมีกิเลสอันเป็นเหตุให้ยึดถือ และยังมีความทุกข์ต่าง ๆ อันเป็นความทุกข์ของโลก รวมเข้าในความเกิดแก่เจ็บตาย แต่ว่าก็เกิดมาดี มีความสุขทั้งในปัจจุบันและทั้งในภายหน้า แก่ก็แก่ดี เจ็บก็เจ็บดี ตายก็ตายดี คือว่าไปดีเป็นสุคติ ดั่งนี้เรียกว่าเป็น ทิษฐธัมกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า ก็เป็นโลกียะเกี่ยวอยู่กับโลก คือจิตใจยังมีผูกพันเป็นไปอยู่ในโลก ต้องแก่เจ็บตายอยู่ในโลก ก็เป็นสุคติคือไปดี คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นโลกียะ คือเกี่ยวกับโลก สำหรับจิตใจที่ยังมีกิเลสผูกพันอยู่กับโลก ยังละกิเลสไม่ได้ดั่งนี้ส่วนหนึ่ง และที่เป็นปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่งคือนิพพาน ก็เป็นคำสั่งสอนที่ปฏิบัติให้พ้นโลก อันหมายความว่าจิตใจนั้นพ้นจากความติดความผูกยึดถือติดพันอยู่ในโลก ก็คือละกิเลสอันเป็นเหตุให้ติดพัน ยึดถืออยู่กับโลกนี้เสีย ได้บางส่วนบ้าง สิ้นเชิงบ้าง คือว่าละสังโยชน์ ๑๐ นั่นแหละ ได้บางส่วนบ้างสิ้นเชิงบ้าง โดยที่การปฏิบัตินั้นเข้าขั้นตัดกิเลสได้เป็นมรรคเป็นผล และเมื่อเป็นมรรคเป็นผลก็เป็นนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงได้มีแสดงว่ามรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นโลกุตรธรรม ธรรมที่อยู่เหนือโลกพ้นโลกก็คือพ้นกิเลสตามทางแห่งพุทธศาสนา และมรรค ๔ ผล ๔ นั้น ได้มีแสดงไว้ในวินัยมุข เล่ม ๑ ในสิขาบทที่ ๔ ที่ว่าด้วยการอวดอุตริมนุสธรรม โดยที่มรรคผลนี้เป็นอุตริมนุสธรรม ธรรมที่ยิ่งของมนุษย์ หรือธรรมของมนุษย์ผู้ยิ่ง และนิพพานนั้นก็บรรลุสืบต่อจากมรรคและผล โดยที่มีเปรียบไว้เหมือนอย่างคนที่มีโรค จึงบริโภคยาแก้โรค ยานั้นที่เป็นเครื่องกำจัดโรคระงับโรคก็เหมือนอย่างมรรค โรคที่หายไประงับไปก็เปรียบกับผล และความที่ร่างกายหายโรคก็เป็นร่างกายที่มีสุขภาพอนามัย มีอำนาจมีเสรีในอันที่จะประกอบกิจการงานค่าง ๆ เป็นต้น ดั่งนี้ก็เทียบกับนิพพาน จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจมีโรคก็คือมีกิเลส กิเลสต่าง ๆ เหมือนอย่างโรคของร่างกาย จึงต้องบริโภคยา ก็คือปฏิบัติธรรม และเมื่อปฏิบัติธรรมจนถึงธรรมที่ปฏิบัตินั้นกำจัดกิเลสได้ นั่นก็เป็นมรรค การกำจัดกิเลสได้คือกิเลสหายไปก็เป็นผล จิตใจก็สู่สภาพที่ไม่มีโรค ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหมดก็เป็นนิพพาน เพราะฉะนั้น มรรคผลนิพพานนั้นจึงเนื่องกัน แต่ก็แจกเป็นมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
การกระทำให้แจ้งนิพพาน ก็คือการปฏิบัติจนถึงละกิเลสได้ บางส่วนหรือสิ้นเชิงเป็นมรรคเป็นผล จิตใจก็สู่สภาพที่ไม่มีกิเลสบางส่วนหรือสิ้นเชิง ก็เป็นนิพพานไปโดยลำดับ ดั่งนี้ชื่อว่ากระทำให้แจ้งนิพพาน และแม้นิพพานจะมีความหมายที่สูงดั่งนั้น แต่ก็มีการแสดงนิพพานที่เรียกว่า ตทังคนิพพาน คือนิพพานด้วยองค์นั้น หมายความว่า การปฏิบัติในขั้นธรรมดาสามัญนี้แหละ เมื่อปฏิบัติธรรมทีหนึ่ง ก็ระงับกิเลสกันได้ทีหนึ่ง ก็เป็นนิพพานกันทีหนึ่ง เช่นว่าความโกรธบังเกิดขึ้น ก็ทำเมตตาภาวนาหรือว่าอบรมปัญญา เมื่อเมตตาภาวนาและปัญญาแรงก็ระงับความโกรธได้ ก็เป็นมรรคเป็นผลกันทีหนึ่ง และจิตใจที่หายโกรธก็เป็นนิพพานกันทีหนึ่ง แม้เมื่อราคะบังเกิดขึ้น โมหะบังเกิดขึ้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อปฏิบัติธรรมระงับ ก็เป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานกันทีหนึ่ง ๆ ดั่งนี้เรียกว่า ตทังคนิพพาน เป็นนิพพานที่ได้ด้วยการปฏิบัติในเมตตา ในปัญญา หรือในธรรมข้อนั้น ๆ กันคราวหนึ่ง ๆ ดังนี้ก็เป็นตทังคนิพพาน ก็นิพพานได้ดั่งนี้ และเมื่อได้ปฏิบัติจนได้ดับกิเลสกันคราวหนึ่ง ๆ จิตใจก็ได้พบกับภาวะที่สงบจากกิเลสกันคราวหนึ่ง ๆ ก็ให้สงบดูใจที่สงบนี้ให้แจ่มแจ้งว่า ใจที่สงบกิเลสนี้ดีอย่างนี้ ๆ สงบอย่างนี้ ๆ ให้เข้าใจแล้ว ก็จะทำให้บังเกิดฉันทะคือความพอใจ ใคร่ที่จะปฏิบัติให้พบกับภาวะในจิตของตนที่สงบระงับดังกล่าวนั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสมงคลเป็นคาถาสุดท้าย อันเป็นคาถาที่สิบ ที่แสดงมงคลว่า
ผฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลาย
จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว
อโสกํ ไม่มีโศก
วิรชํ มีธุลีไปปราศแล้ว
เขมํ เกษม
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
มงคลที่ตรัสแสดงในคาถานี้เป็นการตรัสแสดงถึงจิตที่ได้อบรมปฏิบัติในมงคลต่างๆ ที่ตรัสแสดงมาข้างต้นโดยลำดับว่า จิตที่ไม่หวั่นไหวในเมื่อได้กระทบถูกโลกธรรม และก็วางเป็นหลักสำหรับปฏิบัติทั่วไปด้วยว่า จิตที่ไม่หวั่นไหวได้เช่นนี้เป็นมงคลอันสูงสุด โลกธรรมนั้นแปลว่าธรรมของโลกหรือธรรมสำหรับโลก ได้แก่ ลาโภ ลาภ อลาโภ ไม่ได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ยโส ยศ อยโส ไม่ได้ยศหรือเสื่อมยศ นินฺทา ความถูกนินา ปสํสา ความได้รับการสรรเสริญ สุขํ คือความสุข ทุกฺขํ คือความทุกข์ต่างๆ ทางกายทางใจ ทั้ง ๘ ประการ ชื่อว่าโลกธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นแก่บุคคลทั้งหลายในโลกไม่มียกเว้น เกิดขึ้นทั้งแก่สามัญชนทั่วไปทั้งแก่อริยบุคคล เกิดขึ้นทั้งแก่พระพุทธเจ้าเองและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย แต่ว่าสำหรับสามัญชนทั่วไปนั้นมีความยินดีในเมื่อได้ลาภได้ยศได้สรรเสริญได้สุข ย่อมมีความยินร้ายในเมื่อพบกับความไม่ได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ความไม่ได้ยศหรือเสื่อมยศ ความที่ต้องถูกนินทา และความทุกข์ทางกายทางใจต่างๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสามัญชนทั่วไปนั้นเมื่อได้รับโลกธรรมแล้วไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่าโลกธรรมนี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา แต่อริยบุคคลทั้งหลายนั้นเมื่อได้รับโลกธรรม ก็ย่อมพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น โลกธรรมเหล่านี้จึงครอบงำจิตใจของปุถุชนหรือสามัญชนทั้งหลายได้ แต่ว่าไม่ครอบงำจิตใจของพระอริยบุคคลทั้งหลายได้ สำหรับบุคคลที่มีโลกธรรมครอบงำจิตใจได้ เพราะมิได้มีปัญญาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง ย่อมมีความยินดีความยินร้าย ดั่งนี้มีชื่อว่ามีจิตใจที่หวั่นไหว แต่ว่าพระอริยบุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจไม่ยินดียินร้าย หรือวางใจเป็นกลาง ไม่สะดุ้งสะเทือนหวั่นไหว ได้ชื่อว่าไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น การที่มีจิตยังหวั่นไหวอยู่ ก็ชื่อว่าเสียมงคลไปหรือไม่ได้มงคล แต่ว่าถ้ามีจิตใจไม่หวั่นไหว พยายามรักษาจิตให้คงที่ได้ ก็ได้ชื่อว่าพยายามรักษามงคลไว้ได้ หรือมีมงคลอันสูงสุดสำหรับตัวเอง
ได้ตรัสแสดงต่อไปว่าจิตที่ไม่หวั่นไหวนี้ย่อมเป็นจิตที่ อโสกํ คือว่าไม่มีโศก คือไม่มีทุกข์ที่จะทำให้จิตใจเหือดแห้ง ไม่สบายปั่นป่วนเดือดร้อน วิรชํ เป็นจิตใจที่ไม่มีธุลีละอองมาจับต้อง ธุลีละอองก็คือกิเลส ไม่มีกิเลสคือความยินดีความยินร้ายเข้ามาจับต้อง เขมํ เป็นจิตใจที่เกษมคือปลอดโปร่งสวัสดี ความเกษมก็คือความปลอดโปร่งสวัสดี ยอดของความสวัสดีก็คือจิตใจที่ไม่มีโศก ไม่มีผงธุลีคือกิเลสเข้าจับต้อง ก็คือจิตใจที่ไม่หวั่นไหวในเมื่อกระทบกับโลกธรรมทั้งหลาย แต่ว่าการที่จะมีจิตใจบรรลุถึงความไม่กระทบหวั่นไหวดังที่ได้กล่าวแล้ว ถ้าว่าอย่างอุกฤษฎ์ คือสูงสุด ก็ต้องปฏิบัติจนเห็นอริยสัจ ทำให้เห็นนิพพานแจ่มแจ้งดังกล่าว แต่ว่าแม้ว่าจะปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา มาโดยลำดับในขั้นที่เป็นสามัญ เมื่อได้ปัญญาพิจารณาเห็นเกิดดับ เห็นทุกข์คือความที่ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปของสิ่งทั้งหลายตามสมควร ก็ย่อมจะไม่หลงติดยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้งหลายจนเกินไป จะมีความหลงติดอยู่บ้างก็เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังละไม่ได้หมด แต่ไม่ถึงกับหลงกันอยู่จนถึงกับล่มจมหมดเนื้อหมดตัว เพราะยังตั้งตัวไว้ได้ในธรรมตามสมควร แม้ดั่งนี้ก็ได้ชื่อว่าได้ประคองจิตไว้เพื่อไม่หวั่นไหวตามสมควร และโดยเฉพาะก็คือว่า ไม่หวั่นไหวไปจนถึงกับทำชั่ว รักษาตนรักษาจิตไว้ได้ ยั้งตนไว้ได้ยั้งจิตไว้ได้ ห้ามตนไว้ได้ห้ามจิตไว้ได้จากการกระทำชั่วทั้งหลาย แม้ว่าจะประสบโลกธรรมทั้งหลายที่ไม่ปรารถนา และแม้ปรารถนาและได้มาก็ตาม ก็ไม่หลงไปจนถึงหมดเนื้อหมดตัวหลงไปจนหมดสิ้น จะทำให้เกิดความลำพอง ชักนำให้ทำความชั่วเพื่อจะให้ได้มายิ่งขึ้น เพราะจะยังมีสติปัญญาที่จะยับยั้งชั่งใจห้ามปรามตัวเองจากการที่จะปฏิบัติไปในทางที่ชั่ว ประคองให้ไปในทางที่ดี อันเป็นไปในทางที่เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้โดยชอบเป็นต้น ทำให้สามารถปฏิบัติในข้อปฏิบัติที่เป็นมงคลทั้งหลายแม้ที่ตรัสไว้อย่างสามัญสำหรับคนทั่วไปได้โดยลำดับ แม้ดั่งนี้ก็ยังเป็นการดี ก็ชื่อว่าเป็นการรักษาจิตใจไม่ให้หวั่นไหวได้ตามสมควร
สำหรับในคาถาที่ ๑๐ นี้ก็แยกออกเป็นมงคลได้ คือ ข้อที่จิตไม่หวั่นไหวในเมื่อถูกโลกธรรมทั้งหลายถูกต้อง ก็นับเป็นมงคลข้อหนึ่ง อโสกํ ไม่มีโศก ความที่รักษาจิตไม่ไห้มีความโศกก็เป็นมงคลข้อหนึ่ง วิรชํ ความรักษาจิตไว้ไม่ให้มีกิเลสธุลีเข้ามาจับบังเกิดขึ้นแปดเปื้อน คอยปัดเป่าผงกิเลสธุลีออกไปจากจิตใจอยู่เสมอ เหมือนดังทำความสะอาดปัดกวาดห้องของเราเอง คอยกวาดคอยถูให้มีความสะอาดอยู่ก็เป็นมงคลข้อหนึ่ง เขมํ เกษมคือปลอดโปร่งสวัสดีก็เป็นมงคลอีกข้อหนึ่ง ก็นับเป็นมงคลในคาถานี้ได้ ๔ ข้อ
วันนี้ยุติเท่านี้