ติดต่อสอบถาม กรุณาแอด Line @astroneemo

  • Slider 1
  • Slider 2
  • Slider 3
  • Slider 4
  • Slider 5
  • Slider 6
  • Slider 7
  • Slider 8

Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

เรื่องมงคลสูตร   (ต่อ)

๑๐    สิงหาคม  ๒๕๒๔


จะแสดงมงคลสูตรต่อ  เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงมงคลด้วยคาถาที่หนึ่งแล้ว  ก็ได้ตรัสแสดงมงคลคาถาที่สองต่อไปว่า

ปฏิรูปเทสวาโส  จ                   ความอยู่ในประเทศอันสมควร  ๑

ปุพฺเพ   จ  กตปุญฺญตา          ความเป็นผู้มีบุญอันทำแล้วในก่อน  ๑

อตฺตสมฺมาปณิธิ  จ                  ความตั้งตนไว้ชอบ  ๑

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ                    ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด


อธิบายสังเขป  ประเทศอันสมควรหมายถึงถิ่นที่อยู่อันสมควร  โดยความทั่วไปก็ได้แก่อยู่ในถิ่นอันใดให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ  ถิ่นอันนั้นก็ได้ชื่อว่าประเทศอันสมควร  ถิ่นอันสมควรสำหรับประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น  เช่น  ต้องการศึกษา  มีโรงเรียน  มีครูบาอาจารย์จะให้การศึกษาได้ในถิ่นอันใด  ถิ่นอันนั้นก็เป็นถิ่นอันสมควร  เป็นปฏิรูปเทสสำหรับการศึกษา  การประกอบการงานก็เช่นเดียวกัน  อยู่ในที่ใดจะได้การได้งานให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ  ถิ่นหรือที่นั้นก็เป็นปฏิรูปเทสสำหรับการงานที่จะประกอบกระทำนั้น  อยู่ในถิ่นอันใดให้บังเกิดความสุขความเจริญต่อตน  ถิ่นอันนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นปฏิรูปเทส

อีกอย่างหนึ่ง  เมื่อแสดงเชื่อมความกับมงคลที่ตรัสไว้ในคาถาที่หนึ่ง  ประเทศถิ่นซึ่งเป็นที่อยู่ของบัณฑิตทั้งหลาย  ของสัตบุรุษคือคนดีทั้งหลาย  เป็นประเทศถิ่นที่มีความร่มเย็นเป็นสุข  มีผู้ปกครองที่ตั้งอยู่ในธรรม  มีศาสนาที่ดีเช่นพุทธศาสนาที่นับถือ  และมีที่ประกอบอาชีพการงานให้ได้รับประโยชน์สำหรับดำรงชีวิต  มีเครื่องแวดล้อมที่ทำให้เกิดความสุขความสงบ  เหล่านี้เป็นต้น  ก็รวมเรียกว่าเป็นปฏิรูปเทส  ถิ่นอันสมควร

ความเป็นผู้มีบุญอันทำแล้วในก่อน  ก็หมายถึงว่าบุญคือความดีต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำแล้วในกาลก่อน  ย่อมเป็นเครื่องอุปถัมภ์ให้บังเกิดความสุขความเจริญในปัจจุบัน  และในข้อนี้ก็ต้องทำความเข้าใจว่า   แม้บุญคือความดีต่าง ๆ ที่ได้กระทำไว้แล้วในวันนี้ก็ย่อมจะเป็น  ปุพฺเพ  จ  กตปุญฺญตา  สำหรับวันพรุ่งนี้  เหมือนอย่างความดีที่ได้กระทำไว้แล้วเมื่อวานนี้  ก็เป็น  ปุพฺเพ   จ  กตปุญฺญตา   สำหรับวันนี้  ความดีที่ได้กระทำไว้แล้วในปีนี้ก็เป็น  ปุพฺเพ  จ  กตปุญฺญตา  สำหรับในปีหน้า  หรือว่าความดีที่ได้กระทำไว้แล้วในปีที่แล้วก็ได้เป็น  ปุพฺเพ  จ  กตปุญฺญตา  สำหรับในปีนี้  เพราะฉะนั้น  ในข้อนี้จึงมิได้หมายความว่าให้พึ่งบุญเก่าก็แล้วกัน  ถ้าบุญเก่าไม่มีก็เป็นอันว่าไม่มีโอกาสที่จะได้ความสุขความเจริญ  ไม่ใช่หมายความอย่างนั้น   หมายความว่าในวันนี้ก็ให้ทำความดีซึ่งเป็นความดีในปัจจุบัน  และความดีในปัจจุบันนี้เองก็จะเป็นปัจจัยอุดหนุนให้เกิดความสุขความเจริญในวันพรุ่งนี้  วันมะรืนนี้  ดังนี้เป็นต้น  เพราะว่าเราก็จะต้องถึงวันพรุ่งนี้วันมะรืนนี้ในเมื่อชีวิตยังดำรงอยู่  และแม้วันนี้เองก็เป็นวันพรุ่งนี้  วันมะรืนนี้สำหรับวันที่ล่วงมาแล้ว  เพราะฉะนั้น  จึงต้องทำความดีในวันนี้  และทำความดีอยู่เสมอ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ไป  และในข้อนี้จะเห็นได้ว่า  ทุก ๆ คนนั้นต้องอาศัยความดีเก่ากันอยู่ด้วยกันทั้งนั้น  เช่นว่าการสอบไล่ในปลายปี  เมื่อเรียนมาครบปีหนึ่งก็มีการสอบไล่เลื่อนชั้น  การสอบไล่เลื่อนชั้นนั้นก็เป็นผลของความดี  คือการศึกษาเล่าเรียนที่ได้กระทำมาแล้วตั้งแต่ต้นปีโดยลำดับ  และเมื่อมาถึงปลายปีถึงคราวสอบไล่ก็เป็นความดีเก่า  คือเป็น  ปุพฺเพ  จ  กตปุญฺญตา  ใครที่มี  ปุพฺเพ  จ  กตปุญฺญตา  ดี  คือตั้งใจศึกษาเล่าเรียนมาดี  การสอบไล่ในปลายปีก็ย่อมจะได้ผลตามที่ต้องการมากกว่าคนที่เกียจคร้าน  เพราะฉะนั้น  แม้ในปัจจุบันนี้เอง  ทุกคนก็ต้องอาศัยความดีเก่า  คือต้องทำความดีกันเรื่อย ๆ มา  แล้วจึงจะให้ผลกันคราวหนึ่ง ๆ ในการเลื่อนขั้นของการงานก็เช่นเดียวกัน  ก็ต้องอาศัยความดีเก่าที่ได้ปฏิบัติกระทำมาในปีหนึ่ง ๆ แล้วก็เลื่อนขั้นกันครั้งหนึ่ง ๆ เหล่านี้เป็นต้น

ความตั้งตนไว้ชอบ  ก็หมายความว่าความตั้งตนไว้ในความที่ถูกที่ควร  ทำตนที่ไม่ศรัทธาขึ้น  ที่ไม่มีศีลให้มีศีลขึ้น  ที่ไม่มีจาคะไม่มีปัญญา  ให้มีจาคะมีปัญญาขึ้น  เรียกว่าเป็นความตั้งตนไว้ชอบ  ทั้ง  ๓  นี้ก็เป็นมงคลอันสูงสุด

และต่อจากนั้น  พระบรมศาสดาก็ได้ตรัสมงคลเป็นคาถาที่  ๓   ว่า

พาหุสจฺจญฺจ                               ความได้สดับแล้วมาก  ๑

สิปฺปญฺจ                                         ศิลปศาสตร์    ๑

วินโย  จ  สุสิกฺขิโต                   วินัยอันศึกษาดีแล้ว  ๑

สุภาสิตา  จ  ยา  วาจา           วาจาใดที่กล่าวดีแล้ว  ๑

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ                    ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

อธิบายสังเขป  ความได้สดับแล้วมากก็หมายความว่า  ความที่ได้สดับศึกษาทรงจำวิทยาการต่าง ๆ ไว้ได้มาก  สำหรับในทางพุทธศาสนาก็คือทรงจำพระพุทธวัจนะไว้ได้มาก  เรียนมากจำไว้ได้มาก

สิปฺปญฺจ    ศิลปะนั้น  ความหมายหมายถึงความฉลาดในหัตถกรรม  หรือหัตถกิจ  คือกิจที่จะพึงกระทำด้วยมือ  ได้แก่การช่างต่าง ๆ หรือแม้ที่เรียกว่าศิลปะในความหมายปัจจุบัน

วินัยที่ศึกษาดีแล้ว  ก็หมายถึงว่าได้ปฏิบัติศึกษาวินัย  ทำตนให้เป็นผู้มีวินัย  คือปฏิบัติฝึกหัดกายหัดวาจาด้วยความตั้งใจให้เป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม  ปฏิบัติตนอยู่ในวินัยของหมู่ของคณะ  เช่นเป็นภิกษุก็ปฏิบัติตามวินัยของภิกษุ  เป็นสามเณร  ก็ปฏิบัติตามวินัยของสามเณร  ในฝ่ายคฤหัสถ์  เมื่อเป็นทหารก็ปฏิบัติตามวินัยของทหาร  เป็นข้าราชการก็ปฏิบัติตามวินัยของราชการ  แม้เป็นประชาชนทั่วไป  ก็ปฏิบัติตามวินัยของบ้านเมือง  คือกฎหมาย  และระเบียบจารีตประเพณีที่ดีงามต่าง ๆ  อันเป็นความประพฤติทางกายทางวาจา  รวมความก็คือ  การที่ปฏิบัติฝึกหัดดัดกาย  ดัดวาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม

วาจาที่เป็นสุภาษิต  คือวาจาที่กล่าวดี  หมายความว่าให้พูดดี  ที่เรียกว่าวาจาเป็นสุภาษิต  คือพูดดีนั้น ก็คือพูดถูกกาละ  พูดถูกกาลเวลา  พูดวาจาที่เป็นความจริง  พูดวาจาที่อ่อนหวานที่สุภาพ  พูดวาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์  และพูดวาจาประกอบด้วยจิตมีเมตตา  คือมุ่งดีปรารถนาดี

ทั้งหมดนี้เป็นมงคลอันสูงสุด  เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสมงคลด้วยคาถานี้แล้ว  ก็ได้ตรัสมงคลเป็นคาถาที่สี่ต่อไปว่า

มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ                       ความบำรุงซึ่งมารดาและบิดา  ๑

ปุตฺตทารสฺส   สงฺคโห                ความสงเคราะห์บุตรและภรรยา  ๑

อนากุลา  จ  กมฺมนฺตา                การงานไม่อากูล  ๑

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ                        ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

อธิบายสังเขป  ความบำรุงบิดามารดาก็คือ  ความที่บำรุงบิดามารดาด้วยการที่เอาใจใส่ดูแลท่าน  ปฏิบัติในสิ่งที่ท่านต้องการให้ช่วยเหลือต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น  ตามหน้าที่ที่บุตรธิดาที่ดีพึงปฏิบัติต่อมารดาบิดา  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้วในทิศ ๖  และอีกอย่างหนึ่งคือ การที่มาปฏิบัติรักษาจิตใจของท่านให้มีความสุข  และส่งเสริมให้ท่านเจริญในธรรมปฏิบัติ  ส่งเสริมให้ท่านปฏิบัติในการที่เพิ่มพูนความดีต่าง ๆ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน  เช่น  ทำให้ท่านเจริญด้วยศรัทธา  เจริญด้วยศีล  เจริญด้วยจาคะ เจริญด้วยปัญญาดั่งนี้เป็นต้น  รวมความว่าปฏิบัติให้ท่านได้มีความสุขทั้งทางกาย  ทั้งทางใจ  และให้ท่านเจริญด้วยสัมมาปฏิบัติต่าง ๆ  ดั่งนี้เรียกว่าเป็นการบำรุงซึ่งมารดาบิดา

การสงเคราะห์บุตรและภรรยา  ถ้าเป็นสตรี   ก็เป็นการสงเคราะห์บุตรและสามี  ก็หมายความว่าการที่ปฏิบัติต่อบุตรภริยา  หรือบุตรหรือสามีด้วยดีตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ในทิศ  ๖  และรวมความก็คือปฏิบัติอันประกอบด้วยทาง  คือการสละให้แก่กันได้  ปิยวาจา  เจรจาถ้อยคำอันเป็นที่รัก  อัตถะจริยา  ประพฤติประโยชน์ต่อกัน  และสมานัตตตา  คือความที่วางตนสม่ำเสมอ  เพื่อที่จะให้มีความสุขและมีความเจริญ  ข้อนี้จึงแยกได้เป็น ๒  คือ  สงเคราะห์บุตรรวมทั้งบุตรธิดาข้อหนึ่ง  สงเคราะห์ภริยาข้อหนึ่ง

ข้อว่าการงานทั่งหลายไม่อากูล  คำว่าไม่อากูลนั้นก็คือว่า  การงานที่ไม่ล่วงเวลา  หมายความว่าการงานอันใดควรจะกระทำเวลาไหนก็กระทำในเวลานั้นให้เสร็จสิ้น  ไม่ทำให้ล่วงกาลล่วงเวลาที่เรียกว่าสายเสียแล้ว กระทำการงานที่สมควร  คือมิใช่การงานที่ไม่สมควร  และการงานอันใดที่ควรกระทำก็ต้องกระทำ  ไม่ใช่ทอดทิ้งเสียไม่ใช่กระทำ  และเมื่อจับกระทำแล้ว  ก็ทำให้จริงจัง  ไม่ใช่กระทำให้ย่อหย่อน  เหล่านี้รวมเรียกว่า  การงานที่ไม่อากูล

ทั้งหมดนี้เป็นมงคลอันสูงสุด   ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสมงคลคาถานี้แล้ว  ก็ได้ตรัสมงคลด้วยคาถาที่ห้าต่อไปว่า

ทานญฺจ                                               การให้  ๑

ธมฺมจริยา   จ                                   ความประพฤติซึ่งธรรม  ๑

ญาตกานญฺจ  สงฺคโห                  ความสงเคราะห์ซึ่งญาติทั้งหลาย   ๑

อนวชฺชานิ  กมฺมานิ                     กรรมทั้งหลายไม่มีโทษ  ๑

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ                       ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

อธิบายสังเขป  ทาน  การให้ก็หมายถึงว่า   การให้แก่บุคคลที่ควรให้  ให้สิ่งที่ควรให้เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์บูชาต่าง  ๆ  เป็นการเฉลี่ยความสุขของตนให้แก่ผู้อื่น

ธมฺมจริยา  จ     ความประพฤติซึ่งธรรม  ก็หมายถึงความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจตามคลองธรรม   ความประพฤติที่เป็นธรรมจริยาคือความประพฤติตามคลองธรรมนี้  ทางกายก็คือ  ความประพฤติเว้นจากการฆ่า  แต่ประพฤติประกอบด้วยความเกื้อกูลแก่ชีวิตและร่างกายของผู้อื่น  ความประพฤติเว้นจากลักทรัพย์  แต่ว่าประพฤติประกอบสัมมาอาชีวะ  คือเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบต่าง ๆ   ความประพฤติเว้นจากประพฤติผิดในกามทั้งหลาย  แต่ว่าประพฤติชอบในกามทั้งหลาย  มีความสันโดษยินดีด้วยคู่ครองของตัวไม่นอกใจ  นี้เป็นธรรมจริยา  ความประพฤติธรรมทางกาย  ความประพฤติธรรมทางวาจานั้นก็คือไม่พูดเท็จ  แต่พูดถ้อยคำที่เป็นจริง  ประกอบด้วยประโยชน์และถูกกาลเวลา  ไม่พูดส่อเสียดยุแยงให้เขาแตกกัน   แต่พูดประสานสามัคคี  ไม่พูดคำหยาบ  แต่พูดคำที่สุภาพอ่อนโยน  ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล  แต่พูดถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรม  ประกอบด้วยวินัย  ยุติด้วยหลักฐาน   ทั้ง ๔  นี้  เป็นความประพฤติธรรมทางวาจา  ประพฤติธรรมทางใจนั้นก็คือ  ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน  แต่ประกอบด้วยความสันโดษคือความยินดีด้วยสิ่งของของตน  ไม่พยาบาทปองร้าย  แต่ว่าประกอบด้วยความเมตตา  ความกรุณาแผ่ออกไป  ไม่มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม  แต่มีความเห็นชอบเช่น  เห็นว่าบาปบุญมี  และทำบุญได้บุญ  ทำบาปได้บาป  มารดาบิดาเป็นผู้มีพระคุณ  ครูบาอาจารย์มีพระคุณ  ทานศีล  เป็นต้น  ที่ได้ปฏิบัติกระทำเป็นสิ่งมีผล  เหล่านี้เป็นต้น  เป็นความประพฤติธรรมทางใจ

สงเคราะห์ซึ่งญาติทั้งหลาย  ก็คือความสงเคราะห์ญาติทั้งหลายตามสมควร  ไม่ดูหมิ่นญาติของตนเอง  และให้ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลตามที่จะพึงกระทำได้

กรรมทั้งหลายที่ไม่มีโทษ  หมายความว่า   กรรม  คือการงานทั้งหมดที่ไม่มีโทษ  ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ  เช่นว่าการสมาทานองค์ของอุโบสถ   การกระทำเป็นการช่วยขวนขวายในกิจการที่ควรทำทั้งหลายของหมู่คณะและของบุคคลอื่น  และแม้การอื่นเช่นว่า  การปลูกต้นไม้  การสร้างสะพาน  หรือการสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ  เหล่านี้เรียกว่าเป็นการงานที่ไม่มีโทษ  เป็นสิ่งที่ควรกระทำ  ทั้งหมดนี้ก็เป็นมงคลอันสูงสุด

พระบรมศาสดา  ได้ตรัสมงคลในคาถาที่หกต่อไปว่า

อารตี  วิรตี  ปาปา                           ความงดเว้นจากบาป  ๑

มชฺชปานา  จ  สญฺญโม               ความสำรวมจากการดื่มซึ่งน้ำเมา  ๑

อปฺปมาโท  จ  ธมฺเมสุ                  ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย  ๑

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ                           ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

ข้อว่า อารดี  วิรตี  ปาปา  ความงดเว้นจากบาป  คือความงดจากบาปและความเว้นจากบาป  โดยอธิบายแยกว่า  ความงดจากบาปคือการที่งดด้วยใจ  อันหมายความว่า  ความไม่ยินดีที่จะกระทำบาปด้วยใจ  จึงมีความงดด้วยใจจากเจตนา  ที่จะกระทำบาป  โดยที่มีความเห็นโทษในบาป เรียกว่าความงดจากบาป  ความเว้นจากบาปก็คือความเว้นได้ทางกายทางวาจา

มชฺชปานา  จ  สญฺญโม    ความสำรวมจากการดื่มซึ่งน้ำเมา  ไม่ได้หมายความว่าดื่มได้บ้าง  คือให้สำรวมดื่ม  ไม่ได้หมายความว่าให้สำรวมดื่มพอดิบพอดี  ไม่ใช่อย่างนั้น  ความสำรวมจากการดื่มในที่นี้  หมายความว่า  ความเว้นจากการดื่มซึ่งน้ำเมา  ชื่อว่าความสำรวมจากการดื่มซึ่งน้ำเมา  อันรวมถึงเครื่องมึนเมาต่าง ๆ  ซึ่งมีในสมัยก่อนกับทั้งในสมัยปัจจุบันทั้งหมด

ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย  ก็คือความไม่ประมาทในการที่จะเว้นจากอกุศลธรรมทั้งหลาย  และที่จะอบรมกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น  รวมความว่าไม่ประมาททั้งในการเว้นในการละ  ทั้งในการกระทำ  เพราะถ้ามีความประมาทเสียแล้ว  ก็จะทำให้เว้นไม่ได้  และทำให้กระทำไม่ได้  เมื่อมีความไม่ประมาทคือ  มีความไม่มัวเมาเลินเล่อ  เผลอ เพลิน  มีสติรักษาตน  รักษาจิตใจอยู่  จึงจะทำให้ละอกุศลธรรมทั้งหลาย  และประกอบกระทำกุศลธรรมทั้งหลายให้บังเกิดขึ้นได้อย่างดี  ดั่งนี้ชื่อว่าไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย  ทั้งหมดนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

ครั้นแล้ว   พระพุทธเจ้าได้ตรัสคาถาที่เจ็ดต่อไปว่า

คารโว  จ                                           ความเคารพต่อบุคคลที่ควรเคารพ  ๑

นิวาโต  จ                                          ความไม่จองหอง  ๑

สนฺตุฏฺฐี  จ                                       ความยินดีด้วยของอันมีอยู่   ๑

กตญฺญุตา                                         ความเป็นผู้รู้อุปการะอันชนอื่นทำแล้วแก่ตน  ๑

กาเลน  ธมฺมสฺสวนํ                   ความฟังธรรมโดยกาล  ๑

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ                     ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด


อธิบายสังเขป   ความเคารพรวมทั้งความแสดงความกราบไหว้บูชา  ความแสดงความนับถืออันทุก ๆ คนพึงกระทำต่อบุคคลที่ควรเคารพควรแสดงความนับถือทั้งหลาย  อันหมายความว่าไม่เป็นคนที่กระด้าง  ถือตัว  เมื่อเป็นบุคคลที่ควรเคารพก็ให้แสดงความเคารพ  เช่นมีความเคารพต่อพระรัตนตรัย  ต่อพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  ตลอดจนถึงวัตถุที่นับเนื่องในพระรัตนตรัย  เช่นพระพุทธปฏิมา  มีความเคารพต่อบิดามารดา  ต่อครูบาอาจารย์  เหล่านี้เป็นต้น

ความไม่จองหอง  ก็คือความที่ไม่ทะนงตน  ความทะนงตนคือความพองตน  ดังที่ในบัดนี้เรียกว่า  เบ่ง  เป็นสิ่งที่ไม่ดี  เพราะว่าความเบ่งก็ดี  ความทะนงตนก็ดี  ย่อมทำให้ไม่เป็นมงคลต่อตนเอง  ทำให้เป็นที่ตำหนิติเตียนแก่ผู้ที่เห็นทั้งหลาย  แม้เขาจะไม่พูดเขาก็ต้องนึกอยู่ในใจว่าบุคคลคนนี้ไม่ดี  เพราะฉะนั้น  ก็ต้องระมัดระวังที่จะปฏิบัติตน  ไม่เป็นคนที่เบ่งหรือทะนงตน

สันโดษ  คือความยินดีด้วยของอันมีอยู่  ก็รวมถึงความยินดีตามกำลัง  ความยินดีตามสมควรด้วย  อันเป็นเหตุให้จิตใจมีความอิ่ม  มีความเป็น  มีความพอ  ที่ท่านแสดงว่าเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง  เพราะว่าไม่ว่าจะมีทรัพย์เท่าใด  ถ้าไม่มีสันโดษแล้วก็ยังจนอยู่ร่ำไปไม่รู้จักพอ  แต่ว่าถ้ามีสันโดษแล้ว  แม้จะมีทรัพย์ที่เป็นวัตถุอยู่ไม่มากนัก  ก็รู้สึกว่ามั่งมี  อิ่มเต็มพอ  เพราะฉะนั้น  ก็ต้องรู้จักปฏิบัติให้มีสันโดษอยู่ตามสมควร

กตญฺญุตา   หรือความกตัญญูรู้อุปการะอันคนอื่นทำแล้ว  เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์  และเป็นสิ่งที่มีอุปการะมาก  เพราะความกตัญญูจะทำให้เป็นผู้รู้จักคุณคน  และรู้จักที่จะปฏิบัติตอบแทนคุณของท่านในทางที่ชอบ  ไม่ลบหลู่คุณท่าน  ทำให้บังเกิดความเจริญต่อตนเอง  เพราะจะทำให้ตนเองปฏิบัติตนอยู่ในทางที่ดีที่ชอบ  รักษาความดีความชอบยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ด้วย

ความฟังธรรมโดยกาลนั้น  ก็คือความฟังหรืออ่านธรรม  ดังธรรมที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามกาลเวลาอันสมควร  ก็จะเป็นการเพิ่มพูนสติปัญญาและสัมมาปฏิบัติให้แก่ตน  เหล่านี้เป็นมงคลอันสูงสุด

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัสมงคลเป็นคาถาที่แปด  ต่อไปว่า

ขนฺตี   จ                                              ความอดทน  ๑

โสวจสฺสตา                              ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑

สมณานญฺจ  ทสฺสนํ                 ความเห็นท่านผู้ระงับบาปทั้งหลาย ๑

กาเลน  ธมฺมสากจฺฉา                ความเจรจาซึ่งธรรมโดยกาล  ๑

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ                     ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

อธิบายสังเขป  ขันติ  ความอดทน   หมายความว่าอดทนต่อความตรากตรำ  เช่นอดทนต่อหนาวร้อน  หิวกระหาย  ทำการทำงานอดทนต่อความลำบาก  เช่นอดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดในเวลาป่วยไข้  และอดทนต่อความเจ็บใจ  อันหมายความว่าอดทนต่อถ้อยคำอันมีผู้กล่าวจาบจ้วงอันทำให้เกิดโทสะ  ก็ทำความอดทนไว้  ความความก็คือว่าอดทนต่อรูป  ต่อเสียง  ต่อกลิ่น  ต่อรส  ต่อโผฏฐัพพะ  และต่อธรรม  คือเรื่องราวทางใจอันเป็นที่ตั้งแห่งโลภโกรธหลงทั้งหลาย  หรือเป็นที่ตั้งแห่งราคะโทสะโมหะนั้นเอง  เหล่านี้เป็นขันติคือความอดทน

โสวจสฺสตา    ความเป็นผู้ว่าง่าย  หมายความว่าเป็นผู้ไม่ดื้อดึงถือรั้น  เมื่อมีผู้ว่ากล่าวอันถูกต้อง  พิจารณาเห็นว่าถูกต้องก็ยอมรับและยอมปฏิบัติ  แต่ทว่าถ้าไม่ถูกต้อง  ก็ไม่รับไม่ปฏิบัติ  แต่ก็ไม่ควรจะโกรธต่อผู้ที่ว่ากล่าว  เป็นแต่เพียงว่าเมื่อถูกเมื่อชอบก็รับปฏิบัติ  เมื่อไม่ถูกไม่ชอบก็ไม่รับไม่ปฏิบัติ  ไม่ดื้อดึงถือรั้นต่อสิ่งที่ถูกต่อสิ่งที่ชอบ  มีความรู้สึกในผู้ที่กล่าวแนะนำตักเตือนในสิ่งที่ถูกที่ชอบ  เหมือนอย่างผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้  บรรดาผู้ที่ต้องการทรัพย์  เมื่อมีผู้มาชี้ขุมทรัพย์ให้ก็ย่อมมีความยินดีฉันใด   ผู้ที่มุ่งถูกมุ่งต้องเมื่อมีผู้มาว่ากล่าวตักเตือนในทางที่ถูกที่ชอบก็มีความยินดีรับฟัง  เหมือนอย่างเขามาชี้ขุมทรัพย์ให้ฉะนั้น

ความเห็นสมณะ  คือผู้ระงับบาปทั้งหลายย่อมจะทำให้มีจิตใจสงบระงับ  และจะนำให้เกิดศรัทธา  ความเชื่อ  ปสาทะ  ความเลื่อมใสในท่านผู้ที่สงบระงับนั้น  นำให้เข้านั่งใกล้และให้สดับฟังคำสั่งสอน  และจะได้สติปัญญา  ได้ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง    นำไปปฏิบัติให้เกิดความสุขความเจริญแก่ตน

การเจรจาธรรมโดยกาล  ก็คือว่าสนทนาธรรมกันโดยกาล  อันหมายความว่า  ให้สนทนาธรรมกันโดยกาลเวลาอันสมควรด้วย  ไม่ควรจะสนทนากันในเรื่องอื่น ๆแต่เพียงอย่างเดียว  ควรจะนึกถึงธรรมและสนทนาธรรมกันบ้าง  เพราะการสนทนาธรรมกันบ้างนั้น ก็จะทำให้ได้ปัญญาในธรรม  ได้สติปัญญาในธรรมกันยิ่งขึ้น  นำให้มีความเจริญด้วยสัมมาปฏิบัติ  คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

วันนี้ยุติเท่านี้