บทสวดพุทธัง
๑ สิงหาคม ๒๕๒๔
วันนี้จะแสดงอธิบาย บทสวดพุทธัง ก็คือบทสวดที่เรียกว่า สรณคมนปาฐะ ปาฐะ (คือบาลี) ที่ถึง สรณะ ที่เราทั้งหลายสวดกันมากและมักจะสวดต่อจากนโมว่า
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ผู้นับถือพุทธศาสนาย่อมจะจำ นโม และ พุทฺธํ นี้กันได้เป็นส่วนมาก และก็ควรจะทำความเข้าใจในบทว่า พุทฺธํ คือ สรณคมนปาฐะ เราสวดใช้คำบาลีกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้า พุทฺธ ก็บาลี ธมฺม หรือธรรม ก็บาลี พระสงฆ์ สงฺฆ ก็บาลี สรณํ คือสรณะ ก็บาลีเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงควรจะต้องศึกษาให้รู้จักพระพุทธะ พระธรรมะ และพระสังฆะ หรือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยประวัติ โดยพระคุณ และโดยการเข้าถึง
พระพุทธเจ้านั้นโดยประวัติก็ดังที่แสดงในพุทธประวัติว่า ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ประสูติเมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ได้เสด็จออกทรงผนวชเมื่อพระชนมายุถึง ๒๙ และได้ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้ และเมื่อตรัสรู้แล้วได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาอยู่ถึง ๔๕ ปี ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุ ๘๐
พระธรรมนั้นก็คือคำสั่งสอนของพระองค์ แต่ก็มีความหมายตั้งแต่พระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ เพราะพระพุทธเจ้าที่แปลว่า พระผู้ตรัสรู้ คือตรัสรู้พระธรรม พระธรรมก็คือธรรมที่ได้ตรัสรู้ ได้แก่สัจจะคือความจริงที่ได้ตรัสรู้ และก็หมายถึงคำสั่งสอน คือทรงแสดงธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นสั่งสอน คำสั่งสอนของพระองค์ก็เรียกว่า พระธรรมทีแรกก็จำแนกออกเป็นธรรมที่เป็นคำสอน วินัยที่เป็นคำสั่ง ดังที่เรียกกันว่า พระธรรมวินัย และต่อมาก็แยกออกเป็นปิฎกทั้ง ๓ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ก็เรียกกันว่าพระไตรปิฎก บัดนี้ก็มีอักษรจารึกพระไตรปิฎกพิมพ์เป็นเล่ม และก็ใช้ภาษามคธและเรียกกันว่าภาษาบาลี เป็นหลักในพระพุทธศาสนาสายเถรวาทนี้ตลอดมา และก็จำแนกธรรมออกได้ทั่วไปก็เป็น ๓ คือ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม ดังที่ได้แสดงแล้วในวันแรก หรือว่าแยกออกเป็น ๑๐ ดังที่แสดงในบทสวดทำวัตรของเรา ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็น ๙ และปริยัติอีก ๑ ก็เป็น ๑๐
พระสงฆ์นั้นก็ได้แก่หมู่แห่งผู้ฟังซึ่งเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าซึ่งได้รู้ธรรมตามพระองค์ อย่างสูงก็หมายถึงอริยสงฆ์ คือหมู่แห่งผู้ฟังซึ่งเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าซึ่งบรรลุมรรคผล ตั้งแต่ขั้นต้นขึ้นไป จนถึงขั้นสูงสุด คือ อรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ และอย่างสามัญก็รวมถึงสมมติสงฆ์ อันได้แก่หมู่แห่งภิกษุที่อุปสมบทเป็นภิกษุขึ้นตามพระวินัย เรียกว่าเป็นสมมติสงฆ์ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ประชุมกันประกอบสังฆกรรม ก็เรียกว่าพระสงฆ์ และแม้ภิกษุณีสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน แต่เวลานี้ภิกษุณีในฝ่ายเถรวาทนี้ไม่มีแล้ว นี้คือพระพุทธะ พระธรรม พระสังฆะ หรือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ตามประวัติ
อนึ่ง ก็พึงรู้จักพระพุทธะ พระธรรม พระสังฆะ โดยพระคุณ สำหรับพระพุทธะโดยรพระคุณนั้น ก็ดังที่ได้แสดงไว้ในบทพุทธคุณที่สวดกัน ที่เป็นหลักก็คือ บทอิติปิโส ภควา ที่แปลว่า แม้เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ คือทรงเป็นผู้ไกลกิเลส ควรไหว้ควรบูชา สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ซึ่งมี ๙ บท หรือนับกันเป็น ๙ บท
พระธรรมโดยพระคุณนั้นก็ดังบทที่สวดกันว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ที่แปลว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วเป็นต้น ซึ่งมี ๖ บท
พระสงฆ์นั้นโดยพระคุณก็ได้แก่ที่แสดงไว้ในพระสังฆคุณ ดังที่สวดกันว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่แห่งสาวกคือผู้ฟังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดั่งนี้เป็นต้น
บทสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทั้ง ๓ นี้เป็นหลักใหญ่แห่งบทพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั่วไปย่อมจะจำกันได้ เพราะฉะนั้น บทสวด นโม บทสวด พุทฺธํ บทสวด อิติปิโส สฺวากฺขาโต สุปฏิปนฺโน นับว่าเป็นบทสวดสำคัญที่ควรจะต้องจำได้และสวดได้ และทำความเข้าใจตามสมควร และโดยเฉพาะก็ทำความเข้าใจตามอรรถคือเนื้อความของบทที่สวดนั้นอย่างย่อ ๆ ก่อน ก็จะทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยพระคุณ
คราวนี้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยการถึง ซึ่งเป็นขั้นที่ลึกซึ้งเข้ามาอีก อันจะพึงถึงได้ด้วยการปฏิบัติให้เข้าถึงธรรม แต่ว่าจะยังไม่ว่าถึงก่อน จะว่าถึงอีกบทหนึ่ง คือบทว่า สรณะ ที่แปลว่าที่พึ่ง อีกอย่าหนึ่งก็มักจะแปลกันว่าที่ระลึกถึง สำหรับการระลึกถึงนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติทางจิตอย่างหนึ่ง ระลึกถีงพระพุทธเจ้าเรียกว่า พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระธรรมเรียกว่า ธรรมานุสสติ ระลึกถึงพระสงฆ์เรียกว่า สังฆานุสสติ เป็นอนุสสติ การระลึกถึงที่เป็นอนุสสตินี้ จะระลึกถึงโดยประวัติหรือพระคุณก็ได้ แต่การระลึกถึงโดยพระคุณนั้นย่อมเข้าถึงจิตใจได้ยิ่งกว่าโดยประวัติธรรมดา แม้แต่การระลึกถึงโดยประวัติ ก็เป็นปัจจัยให้ระลึกถึงโดยพระคุณต่อไป เพราะฉะนั้น สรณะ หากจะแปลว่าที่ระลึกก็พึงเข้าใจว่าก็หมายถึงอนุสสติดังกล่าว แต่ว่าท่านนิยมให้แปลกันว่า ที่พึ่ง และสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนานั้นจะชื่อว่าได้เข้านับถือพระพุทธศาสนา ก็ด้วยการที่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะคือที่พึ่ง ดังบท พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นต้นนี้เอง อันจะทำให้ผู้ที่ตั้งใจถึงดั่งนี้เป็นพุทธมามกะ พุทธมามิกา คือผู้ที่นับถือพระพุทธเจ้าเป็นของเรา หรือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกา ที่แปลว่า ผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย ซึ่งมีความหมายเข้ามาถึงจิตใจ ก็คือเข้านั่งใกล้พระรัตนตรัยด้วยใจของตน หรือแม้เป็นสามเณรเป็นภิกษุก็ด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ดังที่ได้ประกอบกระทำในการบรรพชา อุปสมบทนั้น
ฉะนั้น บทพุทฺธํนี้จึงเป็นบทสำคัญอันจะนำให้เข้าเป็นพุทธศาสนิก คือเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา แต่ว่าการเข้านับถือพระพุทธศาสนานั้นก็มีหลายระดับ ที่เป็นภายนอกก็คือ การเข้านับถือพุทธศาสนาทางกาย คือแสดงการนับถือทางกาย ดังแสดงถึงเรื่องการบวชเช่นเดียวกัน ว่าการบวชก็มี ๒ อย่าง คือว่า บวชกาย บวชใจ บวชกายนั้นก็คือว่า การบวชตามพระวินัยที่เป็นการแสดงขอบรรพชาอุปสมบท และพระสงฆ์ก็รับเข้าหมู่ตามพิธีอุปสมบทที่ได้ปฏิบัติกันนั้น ครองผ้ากาสาวพัสตร์ โกนผมเป็นต้น ก็ปรากฏว่าเป็นภิกษุเป็นสามเณรขึ้นทางกาย ซึ่งก็แสดงว่าเป็นการบวชทางกาย ซึ่งท่านก็สอนว่าให้มีการบวชทางใจอีกด้วย คือทำใจให้ประกอบด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญาให้สงบ สมเป็นสมณะ ที่แปลว่าผู้สงบ สงบกาย สงบวาจา สงบใจ แม้การถึงสรณะก็เช่นเดียวกัน ถึงทางกายคือการเปล่งวาจาถึง และที่แสดงตนเป็นพุทธศาสนิก ผู้นับถือพุทธศาสนาแสดงออกทางกายด้วยการนับถือ นี้เป็นทางกาย เพราะฉะนั้น ก็ต้องถึงสรณะทางจิตใจอีกด้วยคือให้ใจถึง ให้ใจถึงด้วยระลึกเป็นอนุสสติตามพระประวัติ หรือตามพระคุณก็ยังไปได้ แต่ให้ซึ้งขึ้นไปกว่านั้น ก็ด้วยการปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงธรรม และในเรื่องการถึงสรณะนี้ ก็มิใช่ว่าได้มีขึเนเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว และได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอน จึงมีผู้มาถึงพระองค์เป็นสรณะ พร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์ แต่ว่าได้มีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้น ซึ่งได้มีแสดงไว้ในทางพุทธศาสนาในบท พหุ เว สรณํ ยนฺติ ที่แปลว่า มนุษย์ทั้งหลายถูกความกลัวคุกคามแล้ว พากันถึงสรณะคือที่พึ่งเป็นอันมาก ถึงต้นไม้ ถึงภูเขา เป็นต้น เป็นที่พึ่งก็มี ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะได้บังเกิดขึ้น ซึ่งตามคาถานี้ก็ได้แสดงว่า บุคคลเมื่อเกิดความกลัวขึ้นมาก็ย่อมจะต้องหาที่พึ่งเพื่อหลบภัยอันตราย และในการหาที่พึ่งนั้นก็สุดแต่จะเห็นว่าจะพึงอะไรได้ ก็ไปหาสิ่งนั้นให้เป็นที่พึ่งสำหรับที่จะช่วยให้พ้นภัยอันตราย และนอกจากนี้แล้ว เมื่อมีความต้องการอะไรก็ย่อมจะหาที่พึ่งนั้นอีกเหมือนกันให้ช่วยประสิทธิ์ประสาทให้สำเร็จ เช่นต้องการลาภ ก็ต้องการให้ประสิทธิ์ประสาทให้ได้ประสบลาภ ไข้เจ็บ ก็ต้องการประสิทธิ์ประสาทให้หายไข้เจ็บดังนี้เป็นต้น ซึ่งคนสามัญทั่วไปก็ปฏิบัติกันอยู่ดังนี้ และก็ทำกันไปด้วยความเชื่อถือก็มี ด้วยการใช้ปัญญาก็มี แม้เมื่อพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัจธรรม ธรรมที่เป็นสัจจะคือ ความจริงด้วยปัญญา ทรงแสดงธรรมสั่งสอนก็ต้องการให้ใช้ปัญญาจากเหตุจากผล เพราะธรรมที่เป็นสัจธรรมคือความจริงนั้นต้องใช้ปัญญาจากเหตุจากผล และปฏิบัติไปตามเหตุตามผล เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงประกอบด้วยเหตุและผลตั้งต้นแต่เหตุผลในขั้นกรรม คือการงานที่กระทำ ซึ่งสรุปดังที่เราทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็คือการตามเหตุและตามผล เมื่อต้องการผลที่ดีก็ต้องทำดีอันเป็นส่วนเหตุ ต้องการผลที่ชั่วก็ต้องทำชั่วอันเป็นส่วนเหตุ และก็ได้ทรงแสดงธรรมชี้แจงไว้เป็นอันมากว่าอะไรเป็นดีอะไรเป็นชั่ว แล้วก็ผลดีผลชั่วนั้นเป็นอย่างไรบ้าง อันเป็นเหตุผลในขั้นกรรม และยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ยังสั่งสอนถึงเหตุผลที่สูงขึ้น คือเหตุผลในขั้นที่พ้นทุกข์ ก็คืออริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ และก็ทรงชี้ไว้เสร็จว่า ที่ขึ้นชื่อว่าทุกข์นั้นคืออะไรบ้าง และทรงชี้เหตุว่า ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ นี้ในด้านทุกข์ และก็ทรงแสดงเหตุผลในด้านดับทุกข์ ว่าความดับทุกข์นั้นก็ต้องดับตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก แต่ว่าจะดับตัณหาเป็นนิโรธได้ ก็จะต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ หรือรวมเข้าก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนานี้ทั้งสิ้นที่เรียกว่ากุศลธรรมนั้น รวมเข้าในมรรคมีองค์ ๘ รวมเข้าอีกก็ในศีล สมาธิ ปัญญานี้ทั้งนั้น หรือว่ารวมเข้าอีกในโอวาทปาฏิโมกข์ ก็คือไม่ให้ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นพุทธศาสนาดังที่ได้กล่าวแล้ว ซึ่งการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นก็คือการปฏิบัติในกิจทั้ง ๔ คือกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งนิโรธ ปฏิบัติอบรมมรรค เพราะฉะนั้นพุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาที่ยุติด้วยเหตุและผลตามสัจจะคือตามความเป็นจริง แต่ว่าแม้เช่นนั้น บุคคลก็ยังมิได้ปฏิบัติไปตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน แม้ว่าจะแสดงตนว่าเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา ก็มีเป็นอันมากที่มิได้ปฏิบัติไปตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน ดังคนไทยเรานี้เองเป็นอันมากก็กล่าวได้ว่าเป็นผู้นับถือพุทธศาสนากันเป็นส่วนมาก แต่ว่าการนับถือศาสนาของคนไทยเรานี้ มีเป็นอันมากที่นับถือกันตามตระกูลคือ ตามบรรพบุรุษที่นับถือกันมา พ่อแม่เป็นผู้นับถือพุทธศาสนา ลูกเกิดมาก็พลอยนับถือพุทธศาสนาไปด้วย ตั้งแต่จำความได้เห็นพ่อแม่ไหว้พระก็ไหว้พระ เห็นพ่อแม่ทำบุญก็ทำบุญ พ่อแม่ไปวัดก็ไปวัด ดั่งนี้เป็นต้น ก็เป็นไปตามตระกูล และแม้ว่าจะได้เข้าศึกษาพุทธศาสนา รู้พุทธศาสนาไปโดยลำดับ แต่ก็ยังทิ้งสันดานเดิมไม่ได้ จึงยังมิได้ปฏิบัติพุทธศาสนากันตามสมควร ดั่งเช่นในการถึงสรณะนี้ ก็ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ แต่ก็อดมิได้ที่จะนับถือไปในด้านศักสิทธิ์ที่จะช่วยคุ้มครองป้องกันอันตรายอะไรต่างๆ ในด้านศักสิทธิ์ ตลอดจนถึงในด้านอำนวยลาภผล อะไรต่างๆ จึงได้เกิดการนับถือพระเครื่องเป็นต้น ในด้านมีคุณภาพต่างๆ อำนวยป้องกันอันตราย อำนวยลาภผล และเมื่อได้สร้างพระพุทธปฏิมาขึ้น แม้ในขั้นแรกก็เพื่อเคารพบูชา เพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ เพราะว่าการเคารพบูชาโดยไม่มีวัตถุอะไร หรือการระลึกถึงโดยไม่มีวัตถุอะไรให้มองเห็นได้ ก็รู้สึกว่าโปร่ง ๆ โล่ง ๆ และเมื่อมีวัตถุให้ตาเห็นอยู่บ้าง วัตถุที่ตาเห็นนี้ก็จะส่งเข้าไปถึงใจทำนองเป็นกสิณ ที่เป็นวัตถุอันจะนำให้จิตเป็นสมาธิ บุคคลในโลกนี้จึงพอใจในการสร้างวัตถุที่เคารพขึ้นสำหรับสักการบูชาเป็นอันมาก แม้ในทางพุทธศาสนาเอง ในขั้นแรกจะไม่นิยมสร้างเป็นรูปบุคคล ก็สร้างเป็นเพียงที่สำหรับประทับของพระพุทธเจ้าว่าง ๆ เอาไว้ ให้รู้สึกว่าเป็นพุทธอาสนะ คือเป็นอาสนะที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้า ก็ทิ้งไว้ว่าง ๆ เท่านั้น ให้นึกเอาเองว่าพระพุทธเจ้าประทับที่นั่น โดยยังไม่สร้างองค์พระพุทธเจ้าลงไป ต่อมาจึงมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น จนถึงสร้างเป็นองค์เล็ก ๆ ที่จะนำติดตนไปสำหรับสักการบูชา แม้เช่นนั้นคนสามัญทั่วไปก็อดมิได้ที่จะนับถือในด้านศักดิ์สิทธิ์หรือขลังต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าคนเรายังมีสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการอยู่ด้วยกัน เป็นต้นว่า สักกายทิฏฐิ ความเห็นยึดถือว่ากายของตน วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย สีลัพพตปรามาส ความยึดถือศีลและวัตร เช่นความยึดถือในด้านขลัง หรือในด้านศักดิ์สิทธิ์ที่จะอำนวยให้เกิดผลต่าง ๆ ตามต้องการ ตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ เสียได้ จึงจะเป็นโสดาบัน บุคคลที่เป็นอริยบุคคลขั้นที่ ๑ เมื่อยังตัดไม่ได้ก็ยังเป็นสามัญชนทั่วไปเรียกว่า ปุถุชน คนที่ยังมีกิเลสหนา เพราะฉะนั้น อดไม่ได้เพราะยังมีความเห็นยึดถือว่ากายของเรา ยังมีความสงสัยลังเล ยังมีความยึดถือในศีลและวัตรที่ปฏิบัติในด้านขลังในด้านศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ดั่งนั้นเมื่อมานับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็อดไม่ได้ที่จะนับถือเหมือนอย่างว่าพระพุทธเจ้าเป็นเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ หรือว่าได้ศึกษามีความรู้ว่าพระองค์ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วไม่มีวิญญาณ ความเป็นเทพของพระองค์เหมือนอย่างเทวดานั้นไม่มีเพราะสิ้นกิเลสแล้ว นิพพานแล้วก็ยังนับถือว่ามีเทพเข้าสิง คือมีอารักขเทพต่าง ๆ ซึ่งรักษาพระพุทธรูปอาจจะอำนวยได้ ก็นับถือกันไปอย่างนั้นอีก อันเป็นมูลให้นิยมในเรื่องเครื่องรางของขลังต่าง ๆ อันนี้เป็นสันดานของคน เมื่อยังมีสังโยชน์อยู่ก็ต้องมีสันดานอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บรรดาพระอาจารย์ทั้งหลายเองซึ่งเป็นพระภิกษุ จึงได้ถูกหาว่าได้อำนายให้มีเครื่องรางของขลังต่าง ๆ นี้ขึ้นเป็นอันมาก ก็เป็นการปฏิบัติผิดในพุทธศาสนา ซึ่งในข้อนี้ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านามุ่งทำด้วยจิตบริสุทธิ์ มุ่งที่จะช่วยเหลือบุคคล หรือมุ่งที่จะสร้างสรรค์พระพุทธศาสนา สร้างสรรค์วัดวาอารามก็มีอยู่เป็นอันมาก บรรดาท่านที่มุ่งผิดก็มีอยู่ สำหรับท่านที่มุ่งผิดก็ยกไว้ก็เป็นอันว่าผิด แต่สำหรับท่านที่มุ่งถูก ก็โดยที่มุ่งว่า การมานับถือเครื่องรางของขลังที่เป็นพระพุทธปฏิมา หรือที่เป็นพระธรรม ก็ยังดีกว่าไปเอาสิ่งอะไรต่ออะไรอย่างอื่นมาถือเป็นเครื่องศักดิ์สิทธิ์ คือเอาพระมาห้อยคอก็ยังดีกว่าเอาสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระมาห้อยคอ คือไม่ใช่เป็นพระพุทธรูป ไม่ใช่เป็นพระธรรม เพราะว่าก็ยังน้อมจิตใจให้เข้ามาสู่พระพุทธศาสนา และเมื่อเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม ได้ศึกษาอบรมขึ้น ก็จะได้ปัญญาที่ละเอียดขึ้น ได้ศรัทธาที่ละเอียดขึ้น ก็จะชักนำให้การปฏิบัติถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะว่าในขั้นที่ยังละสังโยชน์ไม่ได้นั้น ก็เป็นเหมือนอย่างในขั้นเป็นเด็กเล็ก ๆ โดยความรู้คือโดยปัญญา เมื่อเป็นเด็กเล็ก ๆ ซึ่งมีความรู้ในขั้นเด็กเล็ก ๆ จะเอาความรู้ในขั้นผู้ใหญ่มาใส่ให้นั้นก็ย่อมไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการที่สอนเด็ก ก็ต้องสอนกันอย่างหนึ่ง สอนผู้ใหญ่ขึ้นมา ก็ต้องสอนกันอีกอย่างหนึ่ง ดังจะพึงเห็นได้ว่า หนังสือที่สอนเด็กเล็ก ๆ นั้น สอนให้เด็กเขียน ก ข ก ก็คือเขียนตัว ก แล้วก็มี ไก่ ข ก็มีไข่ ซึ่งเราก็เป็นเด็กกันมาทั้งนั้น ก็จำกันมาได้ว่า ก ไก่ ข ไข่ แม้ว่าจะไม่ได้เขียนรูปก็ตาม ผู้ใหญ่หรือครูก็สอนว่า ก ไก่ ข ไข่ เด็กหัดเขียน ก ก็ดูไก่ไปด้วย หัดเขียน ข ก็ดูไข่ไปด้วย อันที่จริง ไก่ กับ ไข่ นั้น คนละเรื่องกับ ก ข แต่ว่าครูก็เอามาสอนเด็ก จะหาว่าครูหลอกเด็ก ครูใช้ไม่ได้อย่างนั้นหรือ ก็อาจจะมีคนหาอย่างนั้นว่าครูใช้ไม่ได้หลอกเด็ก ให้เด็กเรียนตัว ก แล้วเอาไก่มาเขียนให้เด็กดู ให้เด็กนึกว่า ก นี้เอง คือไก่ ข นี้คือไข่ ครูก็หลอกเด็ก แต่เราก็ไม่หากันอย่างนั้น วิญญูชนย่อมไม่หากันอย่างนั้น เพราะเป็นเด็กก็ต้องสอนกันอย่างนี้ เพราะเป็นอุบายที่จะให้จำได้ ชวนใจที่จะให้เขียน ก ข เราก็เรียนอย่างนี้มาแต่เด็กจนโตป่านนี้ก็อ่านหนังสือออกเข้าใจ และเราก็เข้าใจว่านั่นเป็นวิธีสอน ไม่ชาครูหลอกเด็ก แต่ครูช่วยเด็กต่างหากที่จะให้เด็กหัดอ่านหนังสือออก เพราะฉะนั้น ขณะที่คนที่เป็นปุถุชนหรือสามัญชนทั่วไปที่ยังมีสังโยชน์อยู่ เรียกว่าสันดานยังอยู่ในขั้นนั้น ยังเป็นโสดาบันไม่ได้ ยังเป็นปุถุชนอยู่ ถึงอย่างไรๆ ก็ยังต้องมีความยึดถือในด้านขลัง ฉะนั้นพระอาจารย์ที่มุ่งถูก ท่านปฏิบัติกันมาเพื่อรักษาศาสนา และเพื่อบำรุงศาสนานั้น ท่านก็ทำไม่ผิด จะหาว่าไปนั่งหลับตาภาวนาเป็นการหลอกลวงนั้น ก็เหมือนกับการที่หาว่าแต่งหนังสือสอนเด็กเขียน ก ไก่ ข ไข่ หลอกเด็กทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติเป็นวิญญูชนแล้ว ถ้าเป็นพระอาจารย์ที่มุ่งดีแล้ว ก็จะไม่ว่าท่าน และจะเข้าใจว่านั่นเป็นวิธีสอนอย่างหนึ่งในขั้นนั้น และเมื่อถึงขั้นที่ผู้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติจนเห็นธรรมเข้าขั้นพระโสดาบันขึ้นมาแล้วก็เลิกละไปเอง เหมือนอย่างเราทั้งหลายนั้น เมื่อโตขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ได้คำนึงถึง ก ข ไม่ได้นึกว่า ก เป็นไก่ ข เป็นไข่ เราเข้าใจว่านั่นเราได้รับการสอนมาจาก ก ไก่ ข ไข่ นี้แหละ จึงมาถึงได้ความรู้ขั้นนี้ ถ้าไม่มี ก ไก่ ข ไข่ ในขั้นนั้นแล้ว เราจะมีความรู้ในขั้นนี้ไม่ได้ เราจะมีความเข้าใจถูก ดั่งนี้
วันนี้ยุติเท่านี้