ติดต่อสอบถาม กรุณาแอด Line @astroneemo

  • Slider 1
  • Slider 2
  • Slider 3
  • Slider 4
  • Slider 5
  • Slider 6
  • Slider 7
  • Slider 8

Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

เรื่องการสวดมนต์และบทสวดนโม

๒๙  กรกฎาคม   ๒๕๒๔

วันนี้  จะว่าถึงเรื่องสวดมนต์  ซึ่งได้เริ่มกล่าวถึงธรรมเนียมสวดมนต์มาแล้ว  คำว่า “มนต์” นั้น  ถ้าแปลตามศัพท์ที่ใช้เป็นภาษาพูดทั่วไป  แปลว่า  ปรึกษาหารือ  แต่ว่านำมาใช้เป็นบทสวดก็หมายความว่า  เป็นบทสวดที่บริสุทธิ์  หรือที่ศักดิ์สิทธิ์  เราใช้กันในภาษาไทยเป็นที่เข้าใจกัน ธรรมเนียมสวดมนต์ของพระสงฆ์  ได้มีธรรมเนียมสวดในเวลาเช้ากับในเวลาเย็นหรือค่ำ  บทสวดนั้นที่เป็นบทสวดประจำก็เรียกว่า ทำวัตรเช้า  ทำวัตรเย็น  หรือทำวัตรค่ำ  สำหรับสวดมนต์ตอนเช้า หรือทำวัตรเช้านั้นก็กำหนดเวลาต่าง ๆ กัน   โบราณพระตื่นสวดมนต์กันตั้งแต่ตีสี่  และในบัดนี้ยังใช้สวดกันเช้ามืดตีสี่ก็มี  แต่มีน้อย  สวดเช้าก่อนออกบิณฑบาตก็มี  บิณฑบาตกลับมาแล้วสวดมนต์ก่อนแล้วจึงฉันก็มี  ฉันแล้วสวดเช่นว่าเวลาสองโมงเช้าอย่างวัดนี้ก็มี   สวดมนต์ตอนเย็นหรือตอนค่ำนั้น  ใช้สวดกันเวลาห้าโมงเย็นก็มี  หกโมงเย็นก็มี  ทุ่มหนึ่งก็มี  สองทุ่มก็มีอย่างวัดนี้   แม้ว่าจะกำหนดเวลาต่างกัน  ก็คงใช้ประชุมกันสวดมนต์เวลาเช้า  เวลาหนึ่ง  เวลาเย็นหรือค่ำ  อีกเวลาหนึ่ง

บทสวดประจำทุกวันที่เรียกว่าทำวัตร  คือทำวัตรเช้า  ทำวัตรค่ำนั้น  ก็เป็นธรรมเนียมที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งพุทธกาล  เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่  พระสงฆ์สาวกก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  ในเวลาเช้าก็ทำวัตร  ทำวัตรก็คือทำการปฏิบัติ  เช่นถวายน้ำสำหรับที่จะบ้วนพระโอษฐ์  สรงพระพักตร์  อย่างที่ทุกคนก็ต้องมีการแปรงฟันล้างหน้าบ้วนปากและกิจอื่น ๆ  ทำวัตรก็คือการปฏิบัติอย่างสัทธิวิหาริกก็ทำอุปัชฌยวัตร  อันเตวาสิกก็ทำอาจริยวัตร   คือศิษย์ทำการปฏิบัติอุปัชฌชาย์อาจารย์  ดังที่วัดนี้มีธรรมเนียมทำสักแต่ว่าเป็นประเพณี  คือเมื่อพระภิกษุบวชใหม่แล้ว  ก็นำเอาน้ำ  แปรงสีฟัน  ยาสีฟัน เป็นต้น  มาถวายพระอุปัชฌาย์หรืออาจารย์  ก็เป็นการไปแสดงทำอุปัชฌยวัตร  คือทำการปฏิบัติพระอุปัชฌาย์  หรือว่าอาจริยวัตร  ทำการปฏิบัติพระอาจารย์  อันที่จริงนั้นก็ไปทำกันทุกวัน  แต่ว่าในวัดนี้เป็นธรรมเนียมที่ให้ทำเพียงครั้งเดียว  แล้วอนุญาตว่าไม่ต้องไปทำอีก  เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนกัน  ในครั้งพุทธกาลนั้นพระภิกษุสงฆ์ก็มีธรรมเนียมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  ทำวัตรคือทำการปฏิบัติพระองค์ในเวลาเช้า  แต่ว่าก็ปรากฏว่าได้มีพระภิกษุที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระองค์  มักจะองค์หนึ่ง แต่ว่าในตอนแรกนั้นก็คงจะมีการผลัดเปลี่ยนกัน  ไม่มีองค์ไหนอยู่ประจำตลอดเวลานาน  จนถึงท่านพระอานนท์เถระได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก  คือพระภิกษุผู้บำรุงพระพุทธเจ้า  พระอานนท์ท่านก็ได้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระองค์มาจนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ท่านก็ได้ทำการปฏิบัติบำรุงพระพุทธเจ้า  เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระองค์ตลอดมา

กิจของพระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้ในการบอกวัตรของโบราณ  วันหนึ่ง ๆ ที่เป็นกิจประจำว่ามี  ๕ อย่าง คือ

หนึ่ง  เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต

สอง  เวลาเย็นทรงแสดงธรรม  ก็คือทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนที่มาเฝ้าเป็นประจำทุกวัน

สาม  เวลาย่ำค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ

สี่     เวลาเที่ยงคืนทรงแสดงธรรมแก้ปัญหาเทวดาที่มาเฝ้า

ห้า  เวลาย่ำรุ่งทรงพิจารณาหมู่สัตว์  คือหมู่ของบุคคลที่สมควรและไม่สมควรที่จะเสด็จไปทรงแสดงธรรมโปรด

อันแสดงว่ากิจ ๕ อย่างนี้  ได้ทรงปฏิบัติอยู่เป็นประจำ  และการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาเช้าทำวัตร  คือทำการปฏิบัติอุปัฏฐากบำรุง  จึงเป็นกิจของพระภิกษุสงฆ์องค์หนึ่งบ้าง  หลายองค์บ้าง   ที่ไปเฝ้าทำพุทธอุปัฏฐาก  เมื่อมีพระภิกษุที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ  การที่พระภิกษุทั่วไปจะเข้าเฝ้าเป็นพุทธอุปัฏฐาก  จึงเป็นอันไม่ต้องไปทำ  แต่ก็ชื่อว่าเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์อย่างน้อยก็องค์ใดองค์หนึ่งผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปเฝ้าทำพุทธอุปัฏฐาก  เพราะฉะนั้น  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว  จึงได้มีธรรมเนียมที่พระภิกษุที่อยู่ในวัดหนึ่ง ๆ ประชุมกันในอุโบสถคือในโบสถ์  ในวิหาร  หรือในหอสวดมนต์ที่กำหนดขึ้น  ทำการสักการบูชาพระพุทธปฏิมาซึ่งประดิษฐานอยู่ในที่นั้นแทนการที่เข้าไปเฝ้าอุปัฏฐากบำรุงพระพุทธเจ้าในเวลาเช้า  จึงสวดมนต์และบทสวดนั้นก็เป็นบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย  คือพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์ เป็นหลัก  จึงได้เรียกบทสวดมนต์นี้ว่า  สวดทำวัตร  แปลตามศัพท์ก็คือว่า  สวดทำการปฏิบัติบำรุง  แต่เมื่อไม่มีองค์พระพุทธเจ้าที่จะปฏิบัติบำรุง  จึงสวดสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า  พร้อมทั้งพระธรรม  พระสงฆ์ แทน  จึงได้เรียกว่า  สวดทำวัตร

ส่วนในเวลาเย็นนั้น  ได้มีปรากฏอยู่ในพุทธกิจทั้ง ๕  ดังที่กล่าวมาแล้วว่า  เวลาย่ำค่ำทรงแสดงโอวาทแก่ภิกษุ  จึงได้มีธรรมเนียมที่พระภิกษุประชุมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาย่ำค่ำถัดจากเวลาเย็นที่ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนทั่วไป  เพราะฉะนั้น  ในการเข้าเฝ้าในเวลาค่ำนั้น  ก็จะมีธรรมเนียมการทำวัตรปฏิบัติอุปัฏฐากบำรุงพระพุทธเจ้า  เช่นตั้งน้ำฉันน้ำใช้อะไรไว้ในกุฏิที่ทรงประทับ  เช่นเดียวกัน  ก็เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์จะจัดสับเปลี่ยนกันไป  หรือมีประจำแล้วก็ไปเข้าเฝ้าฟังพระพุทธโอวาท  และเมื่อไม่มีพระองค์ที่จะปฏิบัติบำรุง  การประชุมกันในเวลาค่ำหรือในเวลาเย็น  จึงได้มีการสวดบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย  จึงได้เรียกบทสวดแม้ในเวลาค่ำว่าสวดทำวัตร  อันเป็นการแสดงถึงการทำวัตรปฏิบัติ

อนึ่ง  ในเวลาเย็นเวลาค่ำนั้นเป็นเวลาที่ทรงแสดงธรรมด้วย  ดังปรากฏในพระพุทธกิจประจำวันดังกล่าวมา  เมื่อบทสวดทำวัตรแล้วจึงได้มีการสวดบทพระพุทธพจน์อันเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระสูตรใดพระสูตรหนึ่ง  หรือบทใดบทหนึ่งต่อจากทำวัตรค่ำ  เท่ากับว่าเป็นการฟังธรรมคำสั่งสอนที่ทรงแสดง  หรือว่าฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าในเวลาเย็น  ในเวลาค่ำตามพุทธกิจที่ปรากฏนั้น  การสวดมนต์ก็คือสวดพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งดังกล่าวนั้น  จึงเท่ากับว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมหรือประธานพระโอวาทฟังกัน  เพราะฉะนั้น  หลังการทำวัตรเย็นทำวัตรค่ำแล้ว  จึงมีการสวดมนต์ต่อ  ก็เท่ากับว่าเป็นการฟังธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงหรือที่ทรงประทานเป็นพระพุทธโอวาท  นี้เป็นธรรมเนียมการสวดมนต์ทำวัตรเช้าทำวัตรค่ำ  และเมื่อทำวัตรค่ำแล้วก็มีธรรมเนียมสวดมนต์ คือสวดพระสูตรเป็นต้น  อันเป็นคำสั่งสอนต่อไป  เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติเนื่องมาจากครั้งพุทธกาลดังกล่าว  สำหรับเรื่องการสวดมนต์นั้นยังมีการสวดมนต์ในงานต่าง ๆสืบไปอีก  แต่วันนี้จะว่าเพียงเท่านี้ก่อน  และก็จะแสดงอธิบายถึงบทสวดมนต์ที่ต้องใช้เป็นประจำเนืองนิตย์ในที่ทั้งปวงก็คือ  บทสวดนโม  กับบทสวดพุทธัง

บทสวดนโม  ก็คือ นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส  ๓  ครั้ง  ก่อนที่จะสวดนโม  พระเถระก็จะกล่าวคำชักชวนให้สวดด้วยบท หนฺท  มยํ  ดังที่พระเถระแนะนำชักชวนว่า  หนฺท  มยํ  พุทฺธสฺส  ภควโต  ปพฺพภาคนมการํ  กโรม  เส  ที่แปลความว่า “ขอชักชวนให้เราทั้งหลายกล่าวคำแสดงการกระทำนอบน้อมอันเป็นบุพพภาคคือ  เป็นส่วนเบื้องต้นแด่พระพุทธเจ้า  ผู้มีโชคหรือผู้จำแนกแจกธรรม”   ดั่งนี้แล้ว  พระสงฆ์ทั้งปวงก็สวดนโม ๓ จบพร้อมกัน

คำว่า นโม ตสฺส  เป็นต้นนี้แปลว่า นโม  ขอนอบน้อมด้วยกายวาจาใจ  ภควโต  แด่พระผู้มีพระภาค คือพระองค์ผู้ซึ่งจำแนกแจกธรรม  อรหโต   ผู้เป็นอรหันต์คือ  ผู้ไกลกิเลส  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส  ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ  ตสฺส  พระองค์นั้น  ถือว่าเป็นบทสำคัญมาแต่โบราณกาลและก็ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่งคำว่า  นโม  นี้ขึ้น  เป็นแต่มีเล่าไว้ในพระคัมภีร์พระสูตรต่าง ๆ ว่า ได้มีเทพบ้างมนุษย์บ้าง  หลายท่านได้เกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า  ได้เปล่งวาจานี้ขึ้นว่า  นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส   ๓  ครั้ง  ดั่งนี้  จึงเป็นอันทำให้สรุปว่า  เป็นถ้อยคำที่บังเกิดขึ้นจากศรัทธาปสาทะในใจของบุคคลเอง  จึงได้เปล่งออกมา  แต่ก็ได้แสดงว่า  ผู้ที่เปล่งวาจาออกมานี้  ได้ซาบซึ้งในพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี  เพราะว่าบทนโมนี้ประกอบด้วยบทพระพุทธคุณสำคัญอยู่ถึง  ๓ บท

บทที่ ๑  ก็คือ ภควโต  แค่พระผู้มีพระภาค  แปลมาจากคำว่าภควา  เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า  ในอรรถคือความหมายยกย่องว่าเป็นผู้จำแนกแจกธรรมบ้าง  ว่าเป็นผู้มีโชคบ้าง  ว่าเป็นผู้หักกิเลสกองราคะโทสะโมหะเป็นต้นบ้าง  แต่ว่าในภาษาไทยเรานั้น  คำนี้นิยมแปลในความหมายว่าพระผู้จำแนกแจกธรรม หรือพระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน

คำว่า  อรหโต  มาจากคำว่า  อรหํ  หรือ  อรหันต์  ที่มีความหมายว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลส  เป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส  เป็นผู้หักซี่แห่งสังสารจักร  เป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา  เป็นผู้ไม่มีที่ลี้ลับในอันที่จะกระทำความชั่วต่าง ๆ  แต่ว่าในทางไทยเรานั้น  นิยมคำแปลว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลส

คำว่า สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส  มาจากคำว่า  สัมมาสัมพุทโธ  หรือ  สัมมาสัมพุทธะ  แปลว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ  สัมมา  แปลว่าโดยชอบ  สมฺ  แปลว่าเอง  พุทธฺ  แปลว่าตรัสรู้  ซึ่งมีอธิบายโดยย่อว่า   ตรัสรู้นั้นก็คือ  ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔  อันได้แก่ทุกข์  เหตุเกิดทุกข์  ความดับทุกข์  ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  คำว่า  เอง  นั้นก็คือ  พระญาณที่ตรัสรู้ในอริยสัจ   ๔  เหล่านี้  ผุดขึ้นเอง  คือผุดขึ้นในสัจธรรมเหล่านี้ที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อน  คำว่า  โดยชอบ  นั้นก็คือโดยสัมมัตตะ  คือความเป็นชอบ  นับตั้งแต่โดยมรรคมีองค์ ๘  อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา  ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลางที่พระองค์ได้ทรงค้นพบตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้  และก็ได้ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้มาโดยสมบูรณ์  จึงได้ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔  เพราะฉะนั้น  ความตรัสรู้เองนี้จึงมาจากสัมมัตตะ  คือความเป็นชอบ  อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘  นี้ที่ทรงปฏิบัติมา  และก็เป็นความตรัสรู้ที่ถูกต้องไม่ผิดจึงเรียกว่า  สัมมา  คือชอบ  และก็มีความหมายว่า  เมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สั่งสอนตั้งเป็นพุทธศาสนา  ตั้งพุทธบริษัททั้ง  ๔  ขึ้น  อีกด้วย  เพราะฉะนั้นจึงได้พระนามว่า  สัมมาสัมพุทธะ  และในข้อนี้ก็ได้มีอธิบายประกอบอีกว่า  ท่านผู้ตรัสรู้เองนั้น  ถ้าตรัสรู้เองได้แล้วไม่ได้สั่งสอนใครอันนี้หมายความว่าไม่ได้ตั้งพุทธศาสนา  ไม่ได้ตั้งพุทธบริษัทขึ้น  ก็เรียกว่า  พระปัจเจกพุทธะ  แปลว่า  พระพุทธะผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์  ต่อเมื่อได้สั่งสอนผู้อื่น  ตั้งพุทธศาสนาตั้งพุทธบริษัทขึ้น  จึงเรียกว่า  พระสัมมาสัมพุทธะ  พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ  ฉะนั้น  สัมมาสัมพุทโธ  นี้  จึงมีความหมายว่าพระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบดังกล่าวนี้ด้วย  และก็มีความหมายว่า  เป็นพระผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ  แล้วได้ตั้งพุทธศาสนาและพุทธบริษัทขึ้นด้วย  จึงมิใช่เป็นพระปัจเจกพุทธะดังกล่าว  และบรรดาหมู่ชนผู้ฟังคำสั่งสองของพระพุทธเจ้าแล้วได้ตรัสรู้ตาม  ได้แก่หมู่แห่งพระสาวกซึ่งได้ตรัสรู้ตามเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายก็เรียกว่า  พระอนุพุทธะ  แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ตาม  จึงได้มีพระพุทธะเป็น  ๓   จำพวก  คือ  หนึ่ง  พระสัมมาสัมพุทธะ  สอง  พระปัจเจกพุทธ  สาม  พระอนุพุทธะ  ดังนี้

บทสวด  นโม  ย่อมบรรจุพระพุทธคุณสำคัญทั้ง  ๓  บทไว้ดั่งนี้  และพระพุทธคุณทั้ง  ๓  บท ก็ย่อมบรรจุอยู่ด้วยพระปัญญาคุณ  คุณคือความรู้จริง  พระวิสุทธิคุณ  คุณคือความบริสุทธิ์จริง  พระกรุณาคุณ  คุณคือพระกรุณาจริง  อันเป็นบทสรุปของพระพุทธคุณทั้งปวง  แต่แม้เช่นนั้น  ความหมายของบทพระพุทธคุณทั้ง ๓  บทในบทสวดนโมนี้  ย่อมมีพระพุทธคุณบทใดบทหนึ่งที่เด่นอยู่กว่าพระพุทธคุณบทอื่น  ก็คือบทว่า  ภควโต  แด่พระผู้มีพระภาค  อันเป็นบทที่  ๑  นั้น  เด่นอยู่ด้วยพระกรุณาคุณ  ในความหมายที่ใช้กันว่าพระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน  หมายถึงพระกรุณาคุณที่ทรงจำแนกแจกธรรม  คือทรงแสดงธรรมสั่งสอน  บทว่า  อรหโต  เป็นพระอรหันต์  เด่นอยู่ด้วยพระวิสุทธิคุณ  คุณคือความบริสุทธิ์  ในความหมายว่า  เป็นผู้ไกลกิเลส  เพราะความเป็นผู้ไกลกิเลสนั้น  แสดงถึงความบริสุทธิ์  จึงเด่นด้วยพระวิสุทธิคุณ  บทว่า  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส  ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าเด่นด้วยพระปัญญาคุณ  ดั่งนี้  เพราะฉะนั้น บทสวดนโมนั้นจึงเป็นบทที่ประกอบด้วยพระพุทธคุณสำคัญ  ๓  บท  สมบูรณ์ด้วยพระคุณทั้ง ๓  นำหน้าด้วยพระกรุณาคุณ  และต่อไปด้วยพระวิสุทธิคุณ  หนุนท้ายด้วยพระปัญญาคุณ  ในข้อนี้ก็น่าที่จะพิจารณาว่า  ทำไมท่านจึงเอาบทภควโต  นำหน้า   อรหโต  มาเป็นที่ ๒  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส  เป็นที่ ๓  เพราะเมื่อเรียงพระคุณโดยทั่วไป ย่อมเรียงพระปัญญาคุณไว้เป็นที่ ๑  พระวิสุทธิคุณเป็นที่  ๒  พระกรุณาคุณเป็นที่ ๓   สำหรับบทสวดที่แสดงพระคุณทั้ง ๓ นี้ ด้วยเรียงพระปัญญาไว้หน้าก็มีอยู่  แต่ว่าจะกล่าวต่อไปสำหรับในที่นี้กลับกันเอาพระกรุณาคุณไว้หน้า  เอาพระปัญญาคุณไว้หลัง  ก็น่าคิดว่า  เพราะเหตุว่าบทสวดนโมนี้  บังเกิดขึ้นจากจิตใจของเทพบ้าง  มนุษย์บ้าง  ซึ่งเกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า  จึงได้เปล่งวาจานี้ขึ้นนั้น  ก็น่าคิดว่า  เพราะได้มีความสำนึกในพระกรุณาคุณ  คือได้รับพระกรุณาจากพระพุทธเจ้า  ที่ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนจนได้ความรู้ความเข้าใจจนถึงได้ดวงตาเห็นธรรมก็มีเป็นอันมาก  เพราะฉะนั้น  จึงบังเกิดขึ้นจากความสำนึกในพระกรุณาคุณที่ตนได้รับจากพระพุทธเจ้า  ได้รับความรู้ความเห็นธรรม  ความรู้ความเข้าใจในธรรม  จึงได้ยกเอาบทที่แสดงพระกรุณาคือ  ภควโต  พระผู้มีพระภาค  คือพระจำแนกแจกธรรมขึ้นเป็นบทที่ ๑  และก็มาถึงบทที่  ๒  อันแสดงถึงพระวิสุทธิคุณ  เด่นด้วยพระวิสุทธิคุณคือ  อรหโต  ก็เป็นธรรมดาบทนี้ก็เป็นที่ ๒  อยู่โดยปกติ  และก็เกิดจากจิตใจของผู้ที่เปล่งถ้อยคำนี้  อันประกอบด้วยความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วทางจิตตลอดจนถึงทางกาย  ทางวาจา  แล้วจึงมาถึงปัญญาคุณหนุนท้าย  อันส่องถึงว่าก็เพราะพระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธะ  ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเป็นหลักเป็นแกนสำคัญ  ดังนี้พิจารณาดูจิตใจของผู้ที่เปล่งถ้อยคำนี้ออกมาก็น่าจะเป็นดั่งนี้  คือบังเกิดด้วจความสำนึกรู้อย่างลึกซึ้งในพระกรุณาคุณที่ได้รับจากพระพุทธเจ้า  จึงได้ยกเอาพระพุทธคุณประกอบด้วยมหากรุณานี้เป็นบทที่ ๑ คือภควโต  ก็คือผู้จำแนกแจกธรรม  ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น  ผู้ที่เปล่งคำว่า  นโม  นี้ขึ้นมา  จะต้องมีความรู้ซาบซึ้งในพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง  แสดงว่าได้สดับตรับฟังธรรมที่ทรงแสดง  มีความรู้ความเข้าใจ  บังเกิดศรัทธาปสาทะคือ  ความรู้ความเลื่อมใส  ได้ปัญญา  จึงได้เปล่งขึ้นมา  จับเอาพระพุทธคุณบทสำคัญขึ้นมา  เพราะฉะนั้นจึงได้นับถือว่าเป็นบทสำคัญ  ซึ่งจะสวดมนต์อะไรก็ต้องนำด้วย  นโม  จะประกอบพิธีสำคัญอะไร  ก็จะต้องตั้ง นโม ขึ้นก่อนอยู่เป็นปกติ  และยังมีบทสวดที่สรุปพระพุทธคุณทั้ง ๓  ไว้อย่างสมบูรณ์  ที่เราทั้งหลายสวดอยู่ในเวลาที่ทำวัตรเช้าทุกวันก็คือ  พุทโธ  สุสุทฺโธ  กรุณามหณฺณโว  บรรทัดแรกนี้บรรทัดเดียวก็บรรจุด้วยพระพุทธคุณทั้ง ๓  จำไว้เพียงบรรทัดเดียวก็จำพระพุทธคุณได้ทั้ง  ๓  พระผู้ตรัสรู้  แสดงถึงพระปัญญาคุณ  สุสุทฺโธ  พระผู้บริสุทธิ์ดี  แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ  กรุณามหณฺณโว  มีพระกรุณาดุจห้วงทะเลหลวง  แสดงถึงพระกรุณาคุณ  เพราะฉะนั้น  บรรทัดเดียวเท่านี้  พุทฺโธ  สุสุทฺโธ  กรุณามหณฺณโว  ประกอบด้วยพระพุทธคุณอย่างสมบูรณ์  คือพระปัญญาคุณ  พระวิสุทธิคุณ  พระกรุณาคุณ   ฉะนั้น  เมื่อเราทั้งหลายได้สวดบทนโม  ตั้ง  นโม  ก็ขอให้ตั้งใจกำหนดในพระพุทธคุณทั้ง ๓  ให้รู้ในพระพุทธคุณทั้ง  ๓  ไปด้วย  และเมื่อสวด  พุทฺโธ  สุสุทฺโธ  กรุณามหณฺณโว  ก็ขอให้ทำความเข้าใจในพระพุทธคุณทั้ง  ๓  ไปด้วยจะเป็นประโยชน์มาก

วันนี้ยุติเท่านี้.

-----------------------------------------------------------------------