ติดต่อสอบถาม กรุณาแอด Line @astroneemo

  • Slider 1
  • Slider 2
  • Slider 3
  • Slider 4
  • Slider 5
  • Slider 6
  • Slider 7
  • Slider 8

Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

เรื่องบทสวดพุทธัง (ต่อ)

๔  สิงหาคม   ๒๕๒๔

วันนี้จะอธิบายพุทธังต่ออีกวันหนึ่ง  ได้แสดงแล้วว่า  ความกลัวคือภัย ภัยนั้นได้แก่ความกลัว  รวมถึงสิ่งที่กลัว  เป็นเหตุให้คนเราแสวงหาที่พึ่ง  พิจารณาดูก็จะพึงเห็นว่าเป็นเช่นนั้นเอง  เพราะไม่ว่าบุคคลหรือสัตว์เดรัจฉานย่อมมีความกลัวอยู่เป็นประจำ  เพราะเหตุว่ามีความรักชีวิต  รักตน  จึงมีความกลัวต่อสิ่งที่จะมาทำอันตรายแก่ชีวิตหรือแก่ตน  เช่นว่ากลัวตาย  กลัวเจ็บ  และกลัวสิ่งที่รักต่าง ๆ เป็นอันตราย  เมื่อเป็นดั่งนี้  จึงต้องแสวงหาที่พึ่งในเมื่อประสบสิ่งที่กลัวที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตเป็นต้น  และการแสวงหาที่พึ่งนั้นก็แสวงหาตามที่เชื่อหรือตามที่รู้ว่าจะเป็นที่พึ่งได้  ดังจะพึงเห็นได้ว่า  เมื่อเป็นเด็ก  เวลามีภัยหรืออันตรายก็พากันแสวงหาพี่พึ่งไปตามความรู้ของเด็ก  เช่นว่าเด็กวิ่งหนีผู้ใหญ่หรือวิ่งหนีคนที่โตกว่า  ก็วิ่งหนีไปเอาหน้าซุก  ก็เพราะเด็กนั้นมีปัญญาเพียงแต่เข้าใจว่า  เมื่อตาไม่เห็นสิ่งที่รู้สึกว่าจะเป็นอันตรายแล้ว  ก็รู้สึกว่าพ้นอันตราย  ผู้ใหญ่หรือคนที่โตกว่าตามหลังไปก็อาจจะเฆี่ยนตีเด็กได้  เพราะเอาหลังออกเอาหน้าซุกไว้พอให้ตามองไม่เห็นเท่านั้น  เหล่านี้ก็เป็นปัญญาหรือสิ่งที่จะหนีภัยหรือที่กลัวของเด็ก  เพราะฉะนั้น  แม้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่  ความรู้สึกกลัวต่อภัยก็มีมากขึ้นกว่าเด็กตลอดถึงกลัวไปตามที่เชื่อต่าง ๆ ต่อสิ่งที่มองเห็นบ้าง  ต่อสิ่งที่มองไม่เห็นบ้าง  ก็พากันแสวงหาที่พึ่งจากการไตร่ถามผู้ที่คิดว่าจะรู้  จะบอกให้ได้บ้าง  หรือจากลัทธิศาสนาที่เชื่อถือบ้าง  แล้วก็พากันปฏิบัติไปตามที่เชื่อตามที่รู้ตามที่เห็น  จึงได้มีการถึงภูเขาบ้าง  ต้นไม้บ้างเป็นที่พึ่ง  และเมื่อมานับถือพุทธศาสนาที่สอนให้ถึงพระพุทธเจ้า  ถึงพระธรรม  ถึงพระสงฆ์  เป็นสรณะคือที่พึ่ง  ก็สามารถที่จะถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะคือที่พึ่งได้  ตามที่เชื่อตามที่รู้ตามที่เห็นเท่านั้น  เพราะฉะนั้น  แม้มานับถือพุทธศาสนาแล้ว  การถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓  เป็นสรณะคือที่พึ่ง  ก็ยังมีระดับต่าง ๆ กัน  ถ้าจะเทียบอย่างเด็ก  ผู้ใหญ่ ก็เรียกว่าจะมีตั้งแต่ระดับเป็นเด็กจนถึงระดับเป็นผู้ใหญ่  ระดับเป็นเด็กนั้นไม่ใช่หมายความว่าบุคคลมีวัยเป็นเด็ก  แต่หมายความว่าระดับของการปฏิบัติถึงสรณะเป็นอย่างคล้าย ๆ เด็ก  คือยังไม่ประกอบด้วยปัญญามากนัก  และแม้ความเชื่อก็ยังไม่ประกอบด้วยความเชื่อที่ถูกต้องมากนัก  เพราะยังประกอบด้วยสังโยชน์  เป็นปุถุชนหรือเป็นสามัญชน   จึงยังอดมิได้ที่จะถือพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์เป็นสรณะ  คือที่พึ่งในทางเป็นของศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นของขลัง  และถือสิ่งที่สร้างขึ้นเป็นปฏิมา  คือเป็นรูปเปรียบแห่งพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า  พระพุทธปฏิมา  ทั้งใหญ่ทั้งเล็กว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์  ว่าเป็นของขลังที่สามารถคุ้มครองป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้  นับถือพระธรรมที่จำได้  หรือที่จารึกลง  แล้วก็มาม้วนเป็นตะกรุดพิสมรอะไรต่าง ๆ หรือเป็นยันต์ต่าง ๆ ว่าเป็นของขลังเป็นของศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน  นับถือพระสงฆ์แม้ที่สร้างเป็นปฏิมาคือรูปเปรียบของพระอาจารย์ต่าง ๆ  หรือสร้างเป็นรูปเปรียบของพระสาวก  พระพุทธสาวกเช่นพระสารีบุตร  พระโมคคัลลานะ  พระอานนท์  พระมหากัจจายนะ  หรือพระสิวลีเป็นต้น  ในทางเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นของขลังเพื่อป้องกันอันตราย  หรือเพื่อประสิทธิ์ประสาทคุณต่าง ๆ มีลาภผลเป็นต้น  เมื่อเป็นปุถุชนหรือเป็นสามัญชนก็อดไม่ได้ที่จะมีความนับถือโน้มน้าวจิตไปด้านขลังในด้านศักดิ์สิทธิ์ดั่งนั้น  และก็อาศัยความที่มีศรัทธาเชื่อถือดั่งนี้  จึงได้มีการสร้างพระปฏิมาแห่งพระพุทธเจ้าจารึกพระธรรมลงเป็นตะกรุดพิสมรเป็นต้น  หรือว่าเป็นยันต์ต่าง ๆ   และมีปฏิมาของพระสงฆ์ตลอดถึงพระอาจารย์ต่าง ๆ มีการประกอบกระทำกัน และก็รับบูชากันไปสักการะเพื่อเหตุดังกล่าวนั้นอยู่เป็นอันมาก

ดังได้กล่าวแล้วว่า  สามัญชนหรือที่เป็นปุถุชนทั่วไปยังไม่เป็นอริยบุคคลนั้นย่อมมีสังโยชน์อยู่  และก็ย่อมจะมีความนับถือกันอยู่ดั่งนี้  แม้ว่าจะไม่ได้นับถือพุทธศาสนา  นับถืออย่างอื่น  ก็จะต้องมีความเป็นไปในด้านนี้  และเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา  แม้ว่าพุทธศาสนาจะไม่มีวัตถุอย่างนี้  ก็ไปแสวงหาวัตถุอย่างอื่นมาแทน  เพราะฉะนั้น  ท่านที่ได้มีความพิจารณาเห็นว่า  ถึงอย่างไรเขาก็ต้องมีความเชื่อนับถือกันอยู่อย่างนี้  จึงได้อำนวยตาม  เพราะพิจารณาว่า  ถึงอย่างไรก็ยังเป็นวัตถุที่เป็นเครื่องหมายหรือที่แสดงถึงพระรัตนตรัย  คือพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  ก็อย่างที่เปรียบเหมือนว่า  ในการสอนเด็กเล็ก ๆ ให้เรียน  ก  ไก่  ข  ไข่  ก็เขียนรูปไก่ รูปไข่  เป็นต้น  อย่างนั้นนั่นแหละ  เพราะถึงอย่างไรก็ยังทำให้เด็กมีความรู้ในหนังสือ  แม้ในข้อนี้ก็เหมือนกัน  ถึงอย่างไรก็ยังทำให้ผู้นับถือในวัตถุที่นับเนื่องเข้าในพระรัตนตรัยมีความรู้จักในพระรัตนตรัยขึ้นในเมื่อได้ศึกษาแสวงหาความรู้

คราวนี้เมื่อได้ศึกษาแสวงหาความรู้ในพระรัตนตรัย  คือพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์   จากวัตถุที่นับเนื่องในพระรัตนตรัยนั้น  คือจากพระพุทธปฏิมาแห่งพระพุทธเจ้า  จากข้อที่จารึกอยู่ในตะกรุดพิสมรในยันต์ก็ตามอันเป็นพระธรรมเป็นหัวใจของพระธรรม  ตลอดจนถึงเป็นพระปฏิมาแห่งพระสงฆ์หรือในพระอาจารย์ต่าง ๆ ก็ตาม  ศึกษาให้รู้จักขึ้นไปโดยลำดับว่าพระพุทธเจ้านั้นคือใครดังที่ได้เรียนพุทธประวัติ  ศึกษาให้รู้จักพระธรรมแม้ที่จารึกนั้นว่าคืออะไร  ศึกษาให้รู้จักพระสงฆ์คือให้รู้จักพระเถระต่าง ๆ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล  เช่นพระสารีบุตร  พระโมคคัลลานะ  พระอานนท์  ตลอดจนถึงพระอาจารย์ต่าง ๆ ว่าคือใครดั่งนี้  ก็จะทำให้รู้จักประวัติของท่าน  ก็จะทำให้รู้จักพระธรรมขึ้นและเมื่อยิ่งมาศึกษาให้รู้จักพุทธศาสนา  ให้รู้จักพระธรรมวินัยดังที่ท่านทั้งหลายได้เข้ามาบวชศึกษาอยู่นี้  ก็ย่อมจะทำให้รู้จักพุทธคุณ  ธรรมคุณ  สังฆคุณละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น  และจะทำให้ได้รู้จักพระธรรมอันนับว่าเป็นหัวใจของพระคุณทั้งปวงเหล่านั้น  เพราะพระพุทธคุณนั้นก็ประกอบด้วยพระธรรม  พระธรรมคุณนั้นก็คือตัวพระธรรมนั้นเอง  พระสังฆคุณนั้นก็ประกอบด้วยพระธรรม  ความสำคัญจึงอยู่ที่พระธรรม  ตั้งแต่พระธรรมวินัยคือคำสอนคำสั่งของพระพุทธเจ้าดังที่ได้ศึกษากันอยู่นี้ในหลักสูตรของนวกภูมิ  ก็ศึกษาให้รู้จักพระธรรม  ตั้งต้นแต่ทุกะหมวด ๒  ธรรมที่เป็นอุปการะมาก ๒ อย่าง  สติ  ความระลึกได้  และสัมปชัญญะ  ความรู้ตัว  และให้รู้จักพระวินัย  ตั้งต้นแต่พระวินัยคือพระพุทธบัญญัติที่มาในพระปาฏิโมกข์  ซึ่งสรุปเข้าในสิกขาทั้ง ๓  คือสีลสิกขา  จิตตสิกขา  และปัญญาสิกขา  และศึกษาให้รู้จักพุทธประวัติคือประวัติของพระพุทธเจ้า  และก็มีประวัติของพระสงฆ์ปนอยู่บ้าง  ตลอดจนถึงศึกษาในเรียงความแก้กระทู้ธรรม  เหล่านี้ก็เป็นการศึกษาให้รู้จักพุทธศาสนา  รู้จักพระธรรมนั่นแหละอันเป็นหัวใจ  และเมื่อศึกษาให้รู้จักพระธรรมดั่งนี้  ก็จะทำให้ซาบซึ่งในพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณยิ่งขึ้น

ความนับถือพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์เป็นสรณะ  ก็จะละเอียดเข้าหรือเป็นผู้ใหญ่เข้ามา  มาเป็นรู้จักพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  โดยพระคุณ  ว่าพระพุทธเจ้าทรงพระคุณอย่างนี้ๆ  อย่างบทอิติปิโสที่สวดกัน  พระธรรมทรงพระคุณอย่างนี้ๆ สฺวากฺขาโต  ที่สวดกัน  พระสงฆ์ทรงพระคุณอย่างนี้ ๆ อย่างบท   สุปฏิปนฺโน  ที่สวดกัน  และในบทสวดทำวัตรนั้น  ยังได้แสดงพระคุณของพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ที่ละเอียดขึ้นไปอีก  ดังเช่นที่แสดงถึงคุณของพระพุทธเจ้า  ก็รวมเข้าในพระปัญญาคุณ  พระวิสุทธิคุณ  และพระกรุณาคุณดังกล่าวแล้ว  แสดงถึงคุณพระธรรมก็ชี้ชัดถึงคุณของพระธรรมมากขึ้นว่า  ที่เรียกว่าพระธรรมอันเป็นรัตนตรัยข้อที่ ๒ อันเป็นสรณะนั้น ก็ได้แก่พระธรรม ๑๐ ประการ คือ  มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็น ๙ กับปริยัติธรรม ธรรมที่เป็นคำสั่งสอน  ก็รวมเป็น ๑๐ หรือย่อเข้าก็เป็นปริยัติธรรม ปฎิบัติธธรรม ปฏิเวธธรรม หรือปริยัติสัทธรรม  ปฏิบัติสัทธรรม  ปฏิเวธสัทธรรม  ปริยัติปฏิบัติ ปฏิเวธธรรมนี้  ย่อมรักษาผู้ที่รักษาพระธรรมนั้นมิให้ตกไปสู่โลกที่ชั่ว  คือธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม  เน้นลงไปชัดเจนดั่งนี้  และมาถึงพระสงฆ์  ชี้ลงไปถึงพระอริยสงฆ์คือหมู่แห่งสาวกผู้ฟังของพระพุทธเจ้าที่เป็นคู่แห่งบุรุษบุคคล ๔ นับเรียงบุคคลเป็น ๘  คู่แห่งพระอริยบุคคลทั้ง ๔ นั้นก็คือ  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัติมรรค  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัติผลคู่หนึ่ง  คู่ที่สอง  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล  คู่ที่สาม  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล  คู่ที่สี่  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค  บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล  นับเรียงบุคคลก็เป็น ๘  และบุคคลคู่ที่หนึ่งนั้นก็เป็นโสดาบันบุคคล  บุคคลคู่ที่สองนั้นก็เป็นสกทาคามีบุคคล  บุคคลคู่ที่สามนั้นก็เป็นอนาคามีบุคคล  บุคคลคู่ที่สี่นั้นก็เป็นอรหัตตบุคคล  เป็นบุคคลก็เป็น ๔ ดั่งนี้  ก็ดังอธิบายไว้โดยย่อในวินัยมุขในสิกขาบทที่ ๔  และอธิบายถึงสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ด้วย  อริยบุคคล ๔ คู่  ๘ จำพวก  หรือนับบุคคลเป็น ๔ นี้  ท่านละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ได้  ตั้งแต่บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง  เพราะฉะนั้น  ก็ทำให้ได้ทราบเรื่องของพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  ได้ทราบพระคุณของพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์ละเอียดยิ่งขึ้นกว่าบทสวดทำวัตรที่สวดกันอยู่ทุกวันนี้  ซึ่งมีคำแปลประกอบอยู่แล้ว  เพราะฉะนั้น  ก็เป็นอันว่าทำให้น้อมจิตเข้ามารู้จักพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์มากยิ่งขึ้น  คือรู้จักโดยพระคุณ

ความระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยพระคุณเป็นพุทธานุสสติ ความระลึกถึงพระธรรมโดยพระคุณเป็นธรรมานุสสติ  ความระลึกถึงพระสงฆ์โดยพระคุณเป็นสังฆานุสสติก็กรรมฐานอันทำจิตใจให้ได้สมาธิ  ระงับนิวรณ์ทั้งหลายได้เป็นอย่างดี  และโดยเฉพาะระงับถีนมิทธะ  ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้  เพราะจะทำจิตใจให้มีความเลื่อมใสผ่องใสสว่าง  เมื่อใจเลื่อมใสผ่องใสก็หายง่วง  นอกจากนี้ยังกำจัดภัยคือความกลัวเช่นเวลาที่เข้าป่าหรือว่าเข้าอยู่เรือนว่างหรืออยู่โคนไม้  หรือเข้าไปในที่ใดที่หนึ่ง  เกิดความกลัวเช่นว่ากลัวผีสางเทวดาต่าง ๆ ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า   พระธรรม  พระสงฆ์โดยพระคุณเช่นที่สวดกัน  ระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยพระคุณดังบท  อิติปิโส  ภควา  อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ  เป็นต้น  ระลึกถึงพระธรรมโดยพระคุณก็เช่นบท  สฺวากฺขาโต  ภวตาธมฺโม  เป็นต้น  ระลึกถึงพระสงฆ์โดยพระคุณก็เช่นบท  สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  เป็นต้น  และเมื่อระลึกถึงดังนี้   ก็จะทำให้หายกลัวหายหวาดเสียว  ทำให้มีความกล้า  สามารถที่จะอยู่ในสถานที่ ๆ น่ากลัวนั้นได้  และแม้เพราะเหตุนี้  พุทธานุสสติ  ธรรมานุสสติ  สังฆานุสสติ จึงเป็นสรณะคือเป็นที่พึ่งได้ทำให้หายกลัวได้  พิจารณาดูแล้วผู้ที่นับถือพุทธศาสนาก็ควรจะใช้อย่างนี้  ดีกว่าที่จะไปหาที่พึ่งที่เป็นผีสางเทวดา  ระงับความกลัววิธีอื่น  เพราะความกลัวผีสางเทวดาในเมื่อเข้าไปสู่ป่าช้าสู่ป่าต่าง ๆ สู่เรือนว่าง  หรือไปในที่มืดคนเดียวเกิดความกลัวขึ้นมา  เพราะพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า  เพราะจิตใจเกิดความปรุงแต่ง  แต่งผีขึ้นมาในใจ  แต่งเทวดาที่น่ากลัวขึ้นมาในใจ  เมื่อปรุงแต่งขึ้นมาก็กลัวสิ่งที่ใจนี้ปรุงแต่งเอง  ถ้าใจไม่ปรุงแต่งแล้วก็จะไมกลัว  เหมือนดังว่าเดินไปในป่าช้าในเวลากลางคืน  ถ้าหากไม่รู้ว่าเป็นป่าช้าก็ไม่กลัว แต่ครั้นรู้ว่าเป็นป่าช้าแล้วก็กลัวขึ้นมาทันที  ก็เพราะใจไปปรุง  ปรุงว่าเป็นป่าช้า  ปรุงว่ามีผีสางเทวดาที่น่ากลัว  เพราะฉะนั้น  จึงได้เกิดความกลัวขึ้นมา  อยู่ที่ใจปรุง

คราวนี้เราจึงเปลี่ยนใจเสียใหม่  แทนที่จะไปปรุงถึงผีสางเทวดาที่น่ากลัวนั้น  ก็ให้มาปรุงถึงพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ  ปรุงความคิดถึงพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ  ให้เป็นพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ พระสังฆคุณขึ้นมาแทน  และโดยที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่ปราศจากราคะ  ปราศจากโทสะ  ปราศจากโมหะ  คือสิ้นกิเลสทั้งหมด  เป็นผู้ที่ไม่มีความกลัว  ไม่มีความหวาดเสียว  ไม่หนี  เมื่อเป็นดั่งนี้  เมื่อได้พระพุทธเจ้า พระธรรม  พระสงฆ์มาตั้งอยู่ในใจ  ได้ท่านที่เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสทั้งหมดมาตั้งอยู่ในใจ  ได้ท่านที่ไม่มีความกลัว  ไม่มีความหวาดเสียว  ไม่หนีแล้วเพราะสิ้นกิเลสทั้งหมดที่จะทำให้กลัวให้หนีแล้วมาตั้งอยู่ในใจ  ก็จะทำให้จิตใจนี้กล้าหาญ  อาจหาญรื่นเริงไม่กลัว  เพราะว่าได้บุคคลที่กล้าที่สุดที่เก่งที่สุดมาอยู่ด้วยแล้ว   ท่านเก่งกว่าผีสางเทวดาทั้งหมด  ผีสางเทวดาทั้งหมดนั้นยังมีกลัวมีหนี  ยังมีราคะ  มีโทสะ  มีโมหะ  แต่ว่าพระพุทธเจ้านั้นไม่มีทั้งหมด  พระธรรมก็เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ทั้งหมด  เป็นสัจจะ คือความจริงทั้งหมด  พระสงฆ์เองซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน  เพราะฉะนั้น  เมื่อได้คนเก่งที่สุด  คนดีที่สุดมาอยู่กับใจแล้วจะกลัวอะไร ความกลัวก็หายไป  ก็ปรุงขึ้นมาดั่งนี้แทน  เพราะฉะนั้น  ความกลัวผีสางเทวดาก็เป็นอันว่าหมดไม่มี  เพราะฉะนั้น  เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็มาปฏิบัติกันดั่งนี้  หัดปฏิบัติกันดั่งนี้แล้วก็จะได้ความไม่กลัว  และก็จะเป็นการเริ่มเข้าถึงรัตนะกันอย่างจริงจัง  และเมื่อได้ศึกษาในด้านปริยัติดั่งที่ศึกษากันอยู่นี้  ให้รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม  พระสงฆ์  และโดยเฉพาะให้รู้จักพระธรรมยิ่งขึ้น  และก็ย่อมจะรู้ว่าพระธรรมนี้เองเป็นสาระแก่นสารอยู่ในพระคุณทั้งหมด  ธรรมนี้เองเป็นสาระแก่นสารอยู่ในพุทธคุณ  ธรรมคุณ  และสังฆคุณทั้งหมด  ไม่ใช่อะไรอื่น  ก็จะทำให้ได้ปัญญา  ได้ศรัทธาน้อมน้าวเข้ามาสู่สัจธรรม  ธรรมที่เป็นตัวจริงอันเป็นที่ตั้งแห่งพุทธคุณ  ธรรมคุณ  และสังฆคุณทั้งหมด  ก็เป็นอันว่าทำให้รู้จักว่าจะถึงสรณะที่แท้จริงนั้น  จะถึงโดยการปฏิบัติในพระธรรม  และในการปฏิบัติในพระธรรมนั้นก็หัดปฏิบัติดังนี้แหละ  ตั้งพุทธานุสสติ  ธรรมานุสสติ  สังฆานุสสตินี้ก่อน  ในเวลาที่ไปไหนเกิดกลัวขึ้นมาละก็  หัดนำเอาเรียกเอาพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์เข้ามาตั้งอยู่ในใจของตน  โดยพระคุณ  แม้ว่าจะมีวัตถุที่เป็นปฏิมาหรือเป็นเครื่องจารึกแห่งพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ประจำตัวตามที่เชื่อถืออยู่ก็มีไป  และก็ให้หัดที่จะนำจิตเข้าสู่พระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ  ก็เป็นอันว่าได้สร้างพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์ขึ้นไว้ในใจ  เป็นพุทธานุสสติ  ธรรมานุสสติ  สังฆานุสสติ  ก็เป็นอันว่าได้ถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะคือที่พึ่งที่ถูกต้องและที่ตรงมากขึ้นคือว่าที่จิตใจ  ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติธรรมด้วย  เพราะพุทธานุสสติ  ธรรมานุสสติ  สังฆานุสสติก็เป็นกรรมฐาน  เป็นปฏิบัติธรรมอันเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ  และเมื่อได้ปฏิบัติธรรมก็จะทำให้มีความสำนึกรู้สึกในพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์ยิ่งขึ้น จนถึงเมื่อปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘  คือในศีล  ในสมาธิ  ในปัญญาแล้วก็ย่อมจะเข้าถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะโดยศีล  โดยสมาธิ  โดยปัญญา  ศีลนั้นเองก็จะทำให้ถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์เป็นสรณะโดยศีล  สมาธินั้นเองก็จะทำให้ถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์เป็นสรณะโดยสมาธิ  ปัญญานั้นเองก็จะทำให้ถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์เป็นสรณะโดยปัญญา จนถึงปฏิบัติทางปัญญานี้แหละ  ให้รู้จักทุกข์  เหตุเกิดทุกข์  ความดับทุกข์  และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  คือปฏิบัติในกิจทั้ง ๔ อย่างที่ได้อธิบายมาแล้วในอริยสัจคือ  ปริญญา กำหนดรู้ทุกข์  ปหานะ  ละสมุทัย  คือเหตุให้เกิดทุกข์  คือละตัณหา  ความดิ้นรนทะยานอยาก   ทุจริตทั้งหลาย  สัจฉิกรณะ  กระทำให้แจ้งนิโรธคือความดับทุกข์  คือดับตัณหาดับกิเลส  และมรรคก็คือ  ภาวนา  ปฏิบัติธรรมะมีองค์ ๘  ย่นย่อลงเป็นศีล  สมาธิ  ปัญญา  ให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นดั่งนี้  ปฏิบัติในกิจทั้ง ๔  นี้แหละ  คือ  ปริญญา  ปหานะ  สัจฉิกรณะ  และภาวนา  อันเป็นกิจของผู้ปฏิบัติ  ก็มี ๔ อย่างนี้แหละ  ในอริยสัจ ๔ ดังนี้  ก็จะเป็นการปฏิบัติละภัยคือความกลัว  ทำให้ไม่กลัว  เพราะเมื่อได้ปฏิบัติในอริยสัจทั้ง ๔  ตามกิจทั้ง ๔ นี้แล้ว  ก็จะเป็นเครื่องบรรเทาความรักยึดถือในชีวิตร่างกายเป็นต้น  เพราะจะมองเห็นว่าเป็นอนิจจะ  ทุกขะ  อนัตตา  ไม่ใช่สิ่งที่จะพึงรักพึงยึดถือ   เพราะยึดถือไว้ไม่ได้  ต้องเป็นสิ่งที่เกิดดับ  ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป  มิใช่อัตตาตัวตนอะไร  เมื่อปฏิบัติละกิเลสดั่งนี้  ก็เป็นการละภัยคือความกลัวไปด้วย   ก็จะทำให้ไม่กลัวให้หมดความกลัวมากยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ  และปัญญาที่เข้าถึงอริยสัจนี้แหละ  ก็จะทำให้เข้าถึงพระพุทธเจ้า  เข้าถึงพระธรรม  เข้าถึงพระสงฆ์  เพราะเมื่อได้ปัญญาเข้าถึงอริยสัจมากขึ้นเท่าใด  ก็จะทำให้รู้จักพระพุทธเจ้ามากขึ้นเท่านั้น  เพราะพระพุทธเจ้าก็คือผู้ตรัสรู้พระธรรม  รวมเข้าก็คือตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ นี้เอง  เพราะฉะนั้น  เมื่อปฏิบัติให้รู้จักอริยสัจทั้ง ๔ มากขึ้นเท่าใด  ก็จะทำให้รู้จักพระพุทธเจ้ามากขึ้นเท่านั้น  เพราะพระพุทธเจ้าก็คือผู้ตรัสรู้พระธรรม  รวมเข้าก็คือตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ นี้เอง เพราะฉะนั้น  เมื่อปฏิบัติให้รู้จักอริยสัจทั้ง ๔ มากขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้รู้จักพระพุทธเจ้ามากขึ้นเท่านั้น  จะทำให้รู้จักพระธรรมมากขึ้นเท่านั้น  เพราะพระธรรมก็รวมอยู่ในอริยสัจทั้ง ๔ นี้แหละไม่ใช่ที่ไหน  และจะทำให้รู้จักพระสงฆ์  เพราะพระสงฆ์นั้นก็คือท่านผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ก็สอนอริยสัจทั้ง ๔ นี้แหละ  จะสอนอะไร ๆ ก็ตาม  ก็รวมเข้าในอริยสัจทั้ง ๔ นี้แหละ  และก็ได้รู้ธรรมตามพระพุทธเจ้าไม่ใช่ใครอื่น  จึงทำให้รู้จักพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์ขึ้นโดยลำดับ  เพราะฉะนั้น  เมื่อปฏิบัติจนได้ดวงตาเห็นธรรมขึ้นแล้ว  ท่านจึงแสดงว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นเห็นเรา  ผู้ใดเห็นเรา  ผู้นั้นเห็นธรรม”  ดั่งนี้

ฉะนั้น  การเห็นพระพุทธเจ้า  พระธรรม   พระสงฆ์ ดั่งนี้  จึงอาจเห็นได้ทุกกาลทุกสมัย  ถ้าไม่เห็นดั่งนี้แล้ว  ก็ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าทุกกาลสมัย  จะเกิดทันพระพุทธเจ้าซึ่งยังดำรงพระชนม์อยู่  แต่ว่าถ้าไม่ได้เห็นธรรม  ก็ไม่ได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า  ไม่ได้ชื่อว่าเห็นพระธรรม  ไม่ได้ชื่อว่าเห็นพระสงฆ์  เห็นแต่สังขารของท่าน  ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับ  แม้มาในสมัยนี้ในปัจจุบันนี้เอง  ถ้าไม่ได้เห็นธรรม  ถึงจะเห็นพระพุทธปฏิมาแม้ที่งดงามเพียงไรก็ตาม  ใหญ่โตเพียงไรก็ตาม  ได้เห็นพระธรรมทั้งอยู่เป็นตู้ ๆ ได้เห็นพระสงฆ์มากมายที่เป็นพระสมมติสงฆ์อยู่ก็ตาม  ก็ยังไม่ชื่อว่าได้เห็นเช่นเดียวกัน  ต่อเมื่อได้เห็นธรรมจึงจะได้ชื่อว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  เพราะฉะนั้น  การที่มาปฏิบัติพระธรรม  จนถึงได้เห็นพระธรรม  คือได้เห็นด้วยปัญญา  เห็นพระธรรมซึ่งเป็นการเห็นด้วยปัญญานั้นก็คือเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ตามกิจทั้ง ๔  ที่ปฏิบัตินั้นแหละ  เพราะฉะนั้น  ท่านจึงแสดงธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม  ตั้งแต่ในปฐมเทศนาว่า  ท่านพระโกณฑัญญะ   ได้ฟังปฐมเทศนาในอริยสัจทั้ง ๔  ที่พระองค์ได้ตรัสรู้  ท่านพระโกณฑัญญะก็ได้บังเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นว่า  ยงฺกิญฺจิ  สมุทยธมฺมํ  สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา  สพฺพนฺตํ  นิโรธธมฺมํ สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา   ท่านเห็นของท่านขึ้นมาดั่งนี้  นี้แหละเรียกว่าดวงตาเห็นธรรม  เป็นตัวปัญญา  ก็เป็นการปลงใจลงไปนั่นเองในสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย  ทั้งที่เป็นร่างกายตนร่ายกายผู้อื่น ทุก ๆ สิ่งในโลกที่มีความเกิดแล้วย่อมมีความดับเป็นธรรมดาทั้งหมด  ไม่มีอะไรที่จะตั้งอยู่ค้ำโลกไม่ดับ  ก็เห็นธรรมดานี่แหละ  ไม่ใช่เห็นอะไรอื่น  โดยสัจจะคือความจริง  ดั่งนี้นี่แหละเป็นดวงตาเห็นธรรม  ในเมื่อเกิดดวงตาเห็นธรรมแล้วก็รู้ขึ้นมาทันที  พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นดั่งนี้แหละ  พระธรรมก็สอนดั่งนี้  พระสงฆ์ก็ปฏิบัติให้เห็นดั่งนี้  ก็เป็นอันว่าได้เห็นพระพุทธเจ้า  เห็นพระธรรม  เห็นพระสงฆ์  และก็ได้ชื่อว่า  ถึงพระพุทธเจ้า  ถึงพระธรรม  ถึงพระสงฆ์สรณะก็เข้ามาสู่ใจทันที  เป็นที่พึ่งอันแน่นอนไม่มีเปลี่ยนแปลง  ก็ดับกิเลส  ดับราคะโทสะโมหะได้  ดับความกลัวอะไรต่าง ๆ ได้หมดสิ้น  ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติเข้าถึงสรณะกัน  แม้รู้ทางปฏิบัติแล้วไม่เข้าถึงสรณะจริงก็ยังเป็นการดี  เพราะยังรู้ว่าจะต้องทำอย่างนี้  จะต้องปฏิบัติอย่างนี้  แล้วก็จะได้ถึงกันจริง ๆ ก็เป็นอันว่าใช้ได้  เพราะฉะนั้น  แม้ยังไม่ถึงจริง ๆ แต่ว่าได้รู้ได้เห็นก็ยังใช้ได้  ท่านจึงมีแสดงเปรียบเหมือนว่า  มาถึงปากบ่อน้ำมองลงไปเห็นน้ำก้นบ่อ  ก็ยังไม่ถึงน้ำดอก  แต่ว่าถึงปากบ่อเห็นน้ำในบ่อแล้ว  ก็รู้ว่าบ่อนี้มีน้ำจริง  อย่างนี้ก็ใช้ได้  เพราะจะทำให้ขวนขวายตักน้ำมาดื่มต่อไป  แม้ความรู้เป็นขั้นปริยัติก็ยังใช้ได้เพราะจะทำให้ได้ปฏิบัติ  และเมื่อเริ่มปฏิบัติแล้ว  ก็เหมือนดังว่าจะพยายามตักน้ำในบ่อขึ้นมาดื่มกัน  แล้วก็จะได้ดื่มจริง  เมื่อได้ดื่มจริง ๆ ก็จะได้ความสุขจริง ๆ  เป็นอันว่าพ้นภัยแล้ว  เป็นอันว่าสรณะเป็นพุทฺธํ  ธมฺมํ  สงฺฆํ กันจริง ๆ  คือถึงพระพุทธเจ้ากันจริง ๆ

วันนี้ยุติเท่านี้