จากเรื่องของอาหลงที่ผมเล่าให้ฟังไปเมื่อตอนที่แล้ว มันอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ แต่เราสามารถอธิบายทางทฤษฎีทางจิตได้ว่า อาจจะเป็นพลังจิต ที่เราสื่อออกไปโดยใช้วัตถุที่แสดงถึงความหมายในการอุทิศ เช่น กระดาษเงินทอง ธูปเทียนที่จุดไหว้ เทพเจ้าที่เรายึดเหนี่ยว พิธีกรรมการ”เหี่ยม” หรือการตั้งจิตอธิษฐาน แล้วใช้ไฟหรืออัคคีใช้เป็นพลังในการสื่อออกไป ก็จะทำให้ผู้ที่รับได้รับรู้ทางมโนทวาร หรือทางนิมิตอื่น ๆได้ และเป็นเรื่องจริงแท้ไม่ได้แต่งเติมอะไรเลย ตอนนั้นทำให้ผมเริ่มคิดได้ว่าพลังของพิธีกรรมได้ผลจริง เพราะประสบมากับตัวเอง
สำหรับเรื่องของการไหว้เจ้าไหว้บรรพชนของคนจีนด้วยการเผาเครื่องกระดาษนั้น มันก็ไม่ต่างกับคนไทยที่ใช้วิธีการกรวดน้ำอุทิศกุศลเท่าใดนัก ซึ่งการกรวดน้ำอุทิศกุศลดูเหมือนจะมีที่เมืองไทยที่เดียวเท่านั้นที่ทำเป็นหลัก หากไม่น้ำกรวดดูเหมือนจะไม่ขลังหรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ หรือกลัวจะสื่อไปไม่ถึงญาติที่ล่วงลับ ซึ่งเป็นแค่ความเชื่อของคนบางกลุ่ม
ความจริงการอุทิศกุศลเพียงแต่การตั้งจิตให้สงบแล้วอธิษฐานอุทิศให้ทางใจเท่านั้นก็ถือว่าสำเร็จแล้ว คนไทยโบราณก็ทำแบบนี้ แต่ปัจจุบันต้องกรวดน้ำจึงจะขลัง ก็ไม่ต่างกับการเผากระดาษของคนจีนในบางแง่บางมุม
วัฒนธรรมของจีนมีการหล่อหลอมร่วมกันของ 3 ลัทธิหลักก็คือ พุทธ(มหายาน) เต๋า และขงจื้อ ซึ่งก็ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันโดยมาก ไม่ค่อยจะขัดแย้งกันเท่าใด ดังนั้นการเผากระดาษอุทิศให้ผู้ตายก็คือผลผลิตทางวัฒนธรรมจากความเชื่อร่วมลัทธิทั้ง 3 นี้ โดยถือความกตัญญูกตเวทีเป็นใหญ่ โดยมีคำจีนว่า百善孝為先 อ่านว่า ไป่ซ่านเซี่ยวเหวยเซียน แปลว่า บรรดาบุญกุศลทั้งหลาย ความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นที่หนึ่ง ความหมายก็คือ ความกตัญญูกตเวทีนั้นสำคัญกว่าการกุศลอื่นใดทั้งหมด ซึ่งหลักคำสอนนี้มากจากคติของลัทธิขงจื้อ แต่ก็สอดคล้องกับคติพุทธ(มหายาน)และเต๋า การที่คนจีนเผากระดาษก็เป็นเครื่องหมายของแสดงความกตัญญูอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่ควรมองข้าม
ที่มาของการเผากระดาษเงิน-ทอง ก็มีตำนานที่มาที่แตกต่างกัน บ้างก็ว่าพระเจ้าถังไท่จงปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ถัง ขณะนั้นบ้านเมืองไม่ค่อยสงบสุข มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ชาวบ้านไม่เชื่อปาปบุญคุณโทษ ทำให้ปกครองยาก
ขณะนั้นฮ่องเต้ป่วยหนัก จนสิ้นประชนม์ แล้วก็ต้องเสด็จไปยังยมโลม แต่โชคช่วยด้วยอำมาตย์ ขุนนางผู้ภักดีของฮ่องเต้มีเพื่อนรักที่ตายไปแล้วชื่อ”อวยซีจง”ไปเกิดเป็นผู้ช่วยยมบาลในการจดบัญชีอายุขัยของมนุษย์ ซึ่งก็มีการติดต่อกับเพื่อนคนนี้โดยเขียนจดหมายคุยกันเสมอ โดยการเผาจดหมายเพื่อติดต่อสื่อสารกัน
และเมื่อฮ่องเต้สิ้นพระชนม์แล้ว ก็เลยเผาจดหมายกระดาษส่งให้เพื่อขอร้องให้เพื่อนช่วยแก้บัญชีอายุของฮ่องเต้ให้เพิ่มขึ้นมาอีก ทำให้ยมบาลเปิดดูแล้วหลงเชื่อว่ายังไม่สิ้นอายุขัย ก็เลยปล่อยฮ่องเต้กลับมา
ในระหว่างเดินทางกลับ ก็เจอภูตผีปิศาจมากมายมาขัดขวาง ว่าอดอยากยากแค้น ต้องการเงินทองของกินของใช้ ฮ่องเต้รับปากว่าจะส่งเงินทองของใช้มาให้ใช้ แต่ไม่รู้จะส่งยังไง พวกหัวหน้าปิศาจก็บอกว่า ต้องเผาส่งมาพวกเขาจึงจะได้รับ ฮ่องเต้รับปาก และเมื่อกลับมาถึงโลกมนุษย์และฟื้นขึ้นมา ก็ปรึกษาอำมาตย์ว่าจะส่งเงินทองเครื่องกินของใช้ไปให้พวกปิศาจอย่างไร อำมาตย์ก็บอกว่าให้ทำเป็นกระดาษเลียนแบบเงินทองของใช้บนโลกมนุษย์ แล้วเผาส่งไปก็ใช้ได้แล้ว
ในกรณีนี้บางท่านก็บอกว่าเป็นกุศโลบายในทางการปกครอง ทำให้ประชาชนเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ปาปบุญคุณโทษมีจริง ไม่กล้าทำปาป ฉกชิงวิ่งราว บ้านเมืองก็สงบสุข
บางตำนานก็เล่าว่ามีบัณฑิตซิ่วไฉคนหนึ่ง มีร้านค้ากระดาษแต่ขายไม่ออก ทำให้ธุรกิจใกล้ล้มละลาย จึงออกอุบายว่าตนตายไปแล้ว ให้ภรรยาจัดพิธีศพแล้วตนก็ไปนอนในโลงศพ ทำแกล้งว่าตาย ต่อมา 3 วันจึงฟื้นขึ้น บอกว่าที่ตนเองรอดตายมาได้ก็เพราะภรรยาเผากระดาษตัดเป็นรูปเงินทองไปให้ใช้ ตนก็เอาเงินนี้ไปซื้ออายุกับยมบาล ยมบาลก็ปล่อยตัวกลับมา ผู้คนก็หลงเชื่อ ทำให้เกิดประเพณีนี้ขึ้นมา ร้านค้ากระดาษของบัณฑิตซิวไฉคนนี้ ก็ค้าขายดีจนผลิตแทบไม่ทัน
จากตำนานข้างต้น ใครจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ประเพณีจีนสมัยโบราณจริงๆนั้นเมื่อมีคนตายก็กลัวจะไม่มีเงินใช้ก็เลยเอาเงินทองของมีค่า(ของจริง) ของกินของใช้ของผู้ตายเอาไปฝังไว้ร่วมกับคนตาย หรือเอาใส่โลงเพื่อให้คนตายนำไปใช้ในปรโลก เช่น การขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีของจีน หลุมศพของกษัตริย์เจ้านายสมัยก่อน ใส่เงินทองของมีค่าลงไปจริงๆ ต่อมาพ่อค้าคหบดีตลอดจนถึงชาวบ้านก็เอาอย่างบ้าง
เมื่อหลุมศพอยู่ในที่เปล่าเปลี่ยว แถมยังมีขุมทรัพย์พวกเงินทองอีก ก็เป็นเหตุให้พวกโจรพากันไปขุดหลุมศพเพื่อหาของมีค่ากัน หรือทำลายทิ้ง ซึ่งทำให้ลูกหลานรู้สึกสะเทือนใจเมื่อพบเห็นในตอนไปไหว้ฮวงซุ้ยในเทศกาลเช็งเม้ง และก็ทำให้เชื่อว่า หากฮวงซุ้ยบรรพบุรุษถูกทำลายก็จะส่งผลร้ายต่อลูกหลานและวงศ์ตระกูล
ต่อมาเมื่อเกิดปัญหานี้บ่อย ๆเข้า นักพรตเต๋าก็เลยใช้แนวคิดใหม่โดยใช้ทฤษฎีของลัทธิเต๋า ซึ่งปกติก็มีการเผายันต์กระดาษเพื่อทำพิธีต่าง ๆอยู่แล้ว ก็เลยแนะนำชาวบ้านให้ใช้กระดาษตัดเป็นรูปเงินทองของใช้ไปฝังไว้แทนของจริง นอกจากนี้ก็ร่ายมนต์คาถา ลงยันต์กำกับพวกเงินทองของใช้กระดาษเพื่อให้แปลงสภาพให้กลายเป็นของจริงสำหรับโลกวิญญาณ แล้วเผากระดาษนั้นส่งไปให้ญาติที่อยู่ปรโลกแทน
คราวนี้ได้ผลดีเพราะไม่ต้องเสียเงินทองจริงๆไปฝังเอาไว้ และก็ไม่ใครจะมาขุดศพเพื่อหาของมีค่าอีก ลูกหลานก็เลยสบายใจว่าฮวงซุ้ยก็จะคงจะไม่ถูกทำลายอีกและจะอยู่มั่นคงไปตลอดกาลนาน บรรพบุรุษก็จะได้อยู่อย่างสงบสุขเสียที
พิจารณาการเผากระดาษแบบพุทธเถรวาท
หากพิจารณาด้วยหลักของพุทธเถรวาทของเรา ว่าด้วยการเผาเครื่องกระดาษนั้นมีเหตุผลทางทฤษฎีด้านธรรมะของพุทธศาสนา(เถรวาท)รองรับไว้หรือไม่
ก่อนที่จะอธิบายเรื่องนี้จะต้องขอปรับความเข้าใจ และปรับพื้นฐานทางด้านธรรมะไปพร้อม ๆ กันกับการอธิบายขยายความ โดยเป็นการถามตอบเฉพาะเรื่องเผากระดาษเท่านั้น เช่นหากมีคนมาถามว่า ความเชื่อเรื่องเผากระดาษอุทิศให้คนตายนั้นผิดหลักพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฐิหรือไม่
เราควรจะตอบอย่างไรในเรื่องนี้ อ้างถึงพระไตรปิฎกภาษาบาลี ท่านได้แบ่งหมวดมิจฉาทิฏฐิไว้หลายแบบ แต่หลักๆที่ผมจะกล่าวก็คือ นิยตมิจฉาทิฐิ 3 ได้แก่
(1) นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าไม่มี ได้แก่
1.1 นตฺถิ ทินฺนํ การให้ไม่มีผล
1.2 นตฺถิ ยิฏฺฐํ การบูชาไม่มีผล
1.3 นตฺถิ หุตํ การเซ่นสรวงไม่มีผล
1.4 นตฺถิ สุกตทุกฺกฏานํ กม์มานํ ผลํ วิปาโก ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี
1.5 นตฺถิ อยํ โลโก โลกนี้ไม่มี
1.6 นตฺถิ ปโร โลโก โลกหน้าไม่มี
1.7 นตฺถิ มาตา มารดาไม่มีคุณ
1.8 นตฺถิ ปิตา บิดาไม่มีคุณ
1.9 นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นไม่มี
1.10นตฺถิ โลเก สมณพฺราหฺมณา สมฺมคฺคตา สมฺมาปฏิปนฺนา เย อิมญฺจ โลกํ ปรญฺจ โลกํ สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺติ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลกไม่มี
(2) อเหตุกทิฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ
(3)อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ
ดังนั้นสิ่งที่ชาวจีนเผากระดาษ เซ่นสรวง บูชา อุทิศให้กับบรรพชนย่อมไม่ใช่มิจฉาทิฐิ แต่กลับเป็นการส่งเสริมคนให้เกิดสัมมาทิฐิเสียด้วยซ้ำ (ข้อ 1.2 และข้อ 1.3) เพราะทำให้คนเชื่อว่านรกมีจริง บาปบุญคุณโทษมีจริง ชีวิตหลังการตายมีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง บุญคุณของบิดา-มารดามีจริง (ข้อ 1.4 ถึงข้อ 1.9)
ส่วนข้อ 1.10 เมื่อมีพื้นฐาน 1.1-1.9แล้ว การปรับทิฐิก็ไม่ยาก เพราะคนจีนที่นับถือพุทธและเต๋าก็เชื่อว่า คนธรรมดาหากประกอบคุณงามความดี บำเพ็ญพรต ก็สามารถบรรลุเป็นเซียนได้(เต๋า) หรือจนกระทั่งปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าได้ (พุทธ) นั้นมีอยู่จริง
ส่วนหากข้อ(1) นัตถิกทิฏฐิ ผ่านแล้ว ข้อ (2) อเหตุกทิฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ (3)อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ ก็แก้ได้ไม่ยากถ้ามีการปรับทิฐิ
สรุปว่าการกระทำอันนี้เป็นสัมมาทิฐิโดยชอบ ซึ่งทั้งพุทธมหายาน-เถรวาทมีหลักการและทฤษฎีเดียวกัน แล้วก็มีการสั่งสอนให้ลูกหลานประพฤติปฏิบัติตามสืบทอดกันมา ก็นับว่าเป็นการสั่งสอนธรรมะที่เป็นรูปธรรม ซึ่งก็นับว่าเป็นธรรมทานอย่างหนึ่ง
อีกทั้งเป็นการเตือนสติไม่ให้ชาวบ้านทำชั่ว หรือกระทำผิดกฎหมาย ชาวบ้านจึงไม่กล้าทำบาปทำชั่ว บ้านเมืองและสังคมจึงเกิดความร่มเย็นสงบสุข เพราะชาวบ้านเชื่อเรื่องปาปบุญคุณโทษ นอกจากนี้การเผากระดาษก็ยังแสfงถึงการประกอบกุศลกรรมต่าง ดังนี้
1.การแสดงความกตัญญู
เมื่อพ้นจากเรื่องทิฐิแล้วการเผากระดาษเงินทองก็ยังเป็นการแสดงความกตัญญูอย่างหนึ่ง ตามพุทธพจน์ว่า "นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี" คนดี ย่อมเป็นที่ยกย่องนับถือของคนทั่วไป เพราะอำนาจของความกตัญญูกตเวที
กตัญญู หมายถึง บุคคลผู้รู้คุณของคนอื่น กตเวที หมายถึง บุคคลที่ตอบแทนผู้มีคุณแก่ตน ดังนั้น คำว่า กตัญญูกตเวที จึงหมายถึง บุคคลผู้รู้คุณที่คนอื่นกระทำแล้วและทำตอบแทน เป็นมหากุศลจิต กรุณาศึกษา ติรีติวัจฉชาดก ,พญาช้างยอดกตัญญู มาตุโปสกชาดก
2.อปจายนมัย
การเผากระดาษก็นับว่าเป็นการ อปจายนมัย เป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า แปลว่า บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ อปจายนมัย ย่อมส่งผลให้ผู้ปฏิบัติได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนทั่วไป ได้รับความรักความเอ็นดูจากผู้ใหญ่
เช่น การเซ่นไหว้บรรพชน หรือไหว้อุทิศแก่เทพเทวดา การไหว้พระไหว้เจ้าก็เป็นการแสดงความย่อมอ่อนน้อมถ่อมตนทั้งกาย วาจา ใจ ก็นับเป็นบุญกิริยาวัตถุอย่างหนึ่ง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็นับเป็นมหากุศลจิต
3.เจริญเมตตา
การเผากระดาษก็นับว่าเป็นการเจริญเมตตา หรือแผ่เมตตา ให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปและเทพเจ้าทั้งหลาย ให้ได้สิ่งที่เราถวาย ให้ได้ความสุข ให้ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราคิด(โดยการเผากระดาษแสดงเจตนา)
เมตตาจึงเป็นพรหมวิหารหมายความว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่ที่ประเสริฐ ก็เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่ง ก็นับเป็นมหากุศลจิต
4.ทิฏฐิชุกรรม
หมายถึง การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญามีความเห็นตรง เห็นถูกตามความเป็นจริง เช่น เชื่อกรรมและผลของกรรม เชื่อว่าชาตินี้มีจริง ชาติหน้ามีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
คนที่ไหว้เจ้าเผากระดาษก็นับเนื่องว่าเป็นคนมี ทิฏฐิชุกรรมอย่างหนึ่งเหมือนกันและก็นับเป็นบุญกิริยาวัตถุอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ และเป็นมหากุศลจิต
5.ปัตติทานมัย
หรือบุญอันเกิดจากการอุทิศ และร่วมอุทิศ ปัตติทานมัยนี้เป็นหนึ่งบุญกิริยาวัตถุ 10 คือ บุญที่เกิดจากการตั้งจิตอุทิศส่วนบุญหรือผลกรรมที่ตนได้ทำมาให้แก่ผู้อื่น ผู้ที่มีบุพการี ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือ เทวดา สรรพสัตว์ ทั้งปวง
และยังรวมหมายถึงจิตที่เกิดจากการยินดีที่ผู้อื่นที่ได้ร่วมทำกุศลหรืออุทิศกุศลนั้นๆ จิตที่เต็มเปี่ยมด้วยการตั้งมั่นในการอุทิศนี้ ย่อมมาจากจิตอันบริสุทธิ์ และเป็นจิตที่เกิดจากกุศล ดังนั้น บุญกุศลที่เกิดแต่จิตแห่งการอุทิศนี้จึงยังผลมาสู่ตนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๔๓๐ ท่านได้กล่าวถึง”ปัตติทานมัย” ว่าดังนี้ “เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ”
ดังนั้นการไหว้เจ้าเผากระดาษ แม้การบูชาเพียงด้วยของหอม เช่น จุดธูปเทียนบูชา หรือดอกไม้ ฯลฯ ก็คือการอุทิศส่วนกุศลอีกแบบหนึ่ง โดยอ้างกุศลข้อที่ได้กล่าวมาแล้วที่ตนได้กระทำซึ่งเป็นเหตุแห่งบุญเพื่อการอุทิศ คล้ายๆกับการกรวดน้ำของไทยแบบกลายๆ กรุณาศึกษาคำแปลของ “สัพพปัตติทานคาถา” ซึ่งก็สอดคล้องกันกับข้อนี้
5.ปัตตานุโมทนามัย
บุญอันเกิดจากการอนุโมทนา ปัตตานุโมทนามัย เป็นหนึ่งบุญกิริยาวัตถุ 10 คือ บุญที่เกิดจากการตั้งจิตอนุโมทนาต่อความดีที่ผู้อื่นได้กระทำ จิตที่มีจิตอนุโมทนานี้ ย่อมเกิดจากจิตที่บริสุทธิ์ และเห็นชอบกับความดีของผู้อื่น จึงยังจิตให้เกิดแต่ความสงบ และความยินดีในกุศลนั้น ๆ กุศลนั้นจึงเกิดแก่ตนด้วยเช่นกัน
ดังนั้นบุญกุศลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ผู้ได้ร่วมกระทำ ได้ฟังได้เห็นได้ยินดีในการกระทำข้างต้น ก็เกิดอนุโมทนาจิต ก็เป็นกุศลอีกเช่นกัน
สรุปว่าการกระทำบุญกุศลไม่ว่าจะเป็นลักษณะอย่างไรก็ตาม ก็ถือเจตนาเป็นสำคัญ ซึ่งจะอ้างอิงวัตถุหรือไม่ก็ได้ เพราะหากจิตกอปรด้วยมหากุศลจิตแล้ว จิตก็ย่อมมีกำลังแห่งกุศลกรรม
อันธรรมเนียมแต่ละชนชาติแต่ละภาษา ต่างลัทธิก็ย่อมมีขนบประเพณีต่างกัน การที่เราเห็นชาวจีนเผากระดาษทิ้งไม่เกิดประโยชน์นั้น กลับเป็นการสืบสานวัฒนธรรมที่แฝงคติธรรม แฝงกุศโลบายในความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิด สอนให้คนมีความกตัญญูต่อบิดา มารดา และบรรพชน อีกทั้งเป็นการสอนให้คนรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รู้ดีรู้ชั่ว เจริญเมตตาจิต ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมานับพันปีอย่างไม่ขาดสาย
แล้วกระดาษเงินทองก็จะมีคุณค่าในตัวของมันเองที่ไม่สามารถประมาณค่าได้ ซึ่งกลับมีค่ามากกว่าเงินทองของจริงเสียอีก