การปฏิบัติสมาธิภาวนา โดยเฉพาะสมถะภาวนามีการปฏิบัติแพร่หลายมากในสำนักต่าง ๆทั่วประเทศ มีทั้งแบบมีครูอาจารย์คอยแนะนำหรือแม้กระทั่งปฏิบัติเองที่บ้านหลายท่านคงมีประสบการณ์เช่นว่านี้ คือพยายามเพียรปฏิบัติสมาธิอย่างไรก็ไม่มีผลคือจิตไม่สงบ ไม่ก้าวหน้า นั่งมานับสิบปียังไงก็อย่างนั้น บางทีก็แค่อย่างมากตัวโยกโคลงเคลง ตัวเบาๆ ฯลฯ แต่ไม่เห็นจิตใจมันสงบลงได้สักที กำหราบจิตไม่อยู่สักที ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
และไปสำนักปฏิบัติๆที่ไหน ๆ ครูอาจารย์ก็แก้ให้ไม่ได้ สอบอารมณ์ก็ไม่ผ่าน ทั้งนี้ก็เพราะคุณไม่เข้าใจเรื่องจิต พลังของจิต และลำดับการปฏิบัติที่ต้องเป็นขั้นเป็นตอน หรือไม่ก็คุณปฏิบัติฝึกฝนจิตที่ดำเนินไปผิดทางดังนั้นการทำสมาธิภาวนาแม้ทำมาทั้งชีวิตก็ไร้ผล ก็เหมือนคนแค่มานั่งหายใจทิ้งก็แค่นั้น เมื่อยเปล่าๆ ไร้ประโยชน์ และบางทีกลับเป็นโทษอย่างมหันต์เสียด้วยซ้ำ หากตั้งจิตไว้ผิดทาง
อย่างแรกเพื่อให้เข้าใจง่าย จึงขอสมมุติว่าจิตก็คล้ายแบตเตอรี่ก้อนหนึ่ง ที่ไม่มีประจุไฟฟ้าเลย และไม่เคยชาร์จไฟเลย ซึ่งประจุไฟที่เก็บในแบตเตอรี่นี้ก็สมมุติว่าเป็นเสมือนพลังของจิต ซึ่งก็เพื่อประโยชน์ในการทำงานต่างๆและกำหนด ควบคุมจิตใจของเรา หากจิตใจไม่ได้ถูกอบรมมาทีละเล็กละน้อย จิตย่อมไม่มีพลัง การบำเพ็ญเพียรทางจิตก็ย่อมไม่ได้ผล
ดังนั้นจะได้อธิบายวิธีการ”ชาร์จไฟ”และสะสมไฟให้กับแบตเตอร์รี่(จิต)ของคุณให้มีพลัง และเมื่อประจุไฟฟ้าเต็มแล้วพลังของสมาธิก็ช่วยให้การบำเพ็ญสมาธิได้เข้าสู่ระดับ อัปปนาสมาธิหรือเข้าฌานได้อย่างรวดเร็วแม้เพียงเริ่มปฏิบัติไปได้เพียง 5นาที และสามารถนำพลังจิตนี้ไปพัฒนาและใช้งานได้ในทุก ๆ เรื่อง เช่น ในชีวิตประจำวันหรือช่วยในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้เจริญยิ่งขึ้น ๆ ซึ่งวิธีการชาร์จไฟนี้ก็คือการเจริญสติซึ่งประกอบด้วยสัมมาทิฐินั่นเอง
วิธีการ”ชาร์จไฟ”แห่งพลังจิตจะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนดังนี้
1.เบญจศีล นี่คือการชาร์จประจุไฟในระดับแรก ได้พลังไฟฟ้า 10 เปอร์เซ็นต์ และเป็นรากฐานเบื้องต้นของสมาธิ หากคุณไม่เคยรักษาศีลเลย ศีลด่างพร้อย หรือรักษาแค่วันพระวันโกน พลังชาร์จไฟก็น้อย กำลังสมาธิก็ไม่เกิด ถ้าเป็นศีลก็ต้องเป็นระดับที่ละเอียดและต้องทำเป็นกิจวัตรเพราะศีลเป็นตัวควบคุมกาย วาจา ใจ โดยมีสติเป็นตัวควบคุม ไม่ให้กระทำชั่วทางกาย วาจา ใจ ทั้งนี้ศีล 5 ย่อมมีกำลังน้อยกว่าศีล 8 ศีลยิ่งมากข้อเท่าไหร่กำลังของจิตที่ประด้วยสติ ก็ย่อมกำลังไฟมากขึ้น แบตเตอร์รี่จิตก็จะเก็บประจุไฟมากขึ้น หากเราไม่มีศีลเป็นปกติและรักษาอย่างต่อเนื่องแล้ว การเจริญสมาธิภาวนาย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย
2.เบญจธรรม นี้คือวิธีการอบรมจิตซึ่งควบคู่ไปกับการรักษาศีล 5 เพื่อให้ศีลบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้พลังประจุไฟอีก 20 เปอร์เซ็นต์ คือประกอบด้วย
(1) เมตตากรุณา คือความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีจิตคิดอาฆาต พยาบาทเบียดเบียน ไม่มีความโกรธแค้นเคือง
(2)สัมมาอาชีวะ คือการประกอบสัมมาอาชีวะ ไม่ทรยศคดโกงผู้อื่น ไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะ ฯลฯ
(3)กามสังวร คือการสำรวมในกาม หรือ กามคุณ 5 หมายถึงสิ่งที่น่าปรารถนา ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดยินดี มี 5 ชนิด คือ รูป (สิ่งที่ตามองเห็น) เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กายสัมผัส) ทั้งจะต้องสำรวม ควบคุม และไม่พยายามไปแสวงหาเหตุให้กามคุณ 5 นั้นให้เจริญขึ้น
(4)สัจจะคือการพูดความจริง รักษาสัจจะคำพูด รวมทั้งการตกปากรับคำ ไม่พูดรับปากอย่างพล่อยๆ (5)สติสัมปชัญญะ คือความระลึกได้และความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้มเหม่อลอยไปกับจิตนาการที่สร้างขึ้น และให้มีสติอยู่กับความจริงและเหตุการณ์เฉพาะหน้าตลอดเวลา และหากเราปฏิบัติเบญจศีลแต่ไม่เจริญเบญจธรรมร่วมด้วย การบำเพ็ญศีลเพื่อให้เกิดสมาธิก็ไม่สมบูรณ์
3.สัมมาทิฐิ เป็นการทำความเห็นให้ตรงนี้คือข้อใหญ่และเป็นรากฐานที่ใหญ่แล้วที่สุดในการเจริญสมาธิภาวนา ทั้งสมถะและวิปัสสนา ให้พลังประจุไฟฟ้าถึงแก่แบตเตอรี่จิตของคุณถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หากมีสัมมาทิฐิตั้งมั่นแล้วไม่คลอนแคลนแล้ว ไม่หลงผิดแล้ว การเจริญสมาธิในทางพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดปัญญาย่อมเจริญขึ้นเป็นลำดับ
ซึ่งสัมมาทิฐินี้เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง กว้างขวางมาก แต่ในกรณีนี้จะเน้นในเรื่องคติและจุดมุ่งหมายในการบำเพ็ญสมาธิภาวนาเป็นหลักและข้อนี้กลับยากที่สุดของผู้ที่กำลังเจริญสมถะและวิปัสนาเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทิฐิซึ่งแก้ได้ยาก หรือบางคนต้องการนั่งสมาธิเพื่ออยากเห็นนรกสวรรค์ มีฤทธิ์มีเดช มีตบะเดชะ และบางคนต้องการอยากอยู่เหนือผู้อื่นทางด้านภูมิรู้ภูมิธรรม หรือมีความลังเลสงสัยในเรื่องผลของทาน ผลของกรรม ผลในเหตุปัจจัย สงสัยในปาปบุญ คุณโทษ สงสัยว่านรกสวรรค์ เทวดา เปรต สัตว์นรก ว่ามีจริงๆไหม สงสัยในคุณของบิดา มารดา ว่ามีคุณต่อเราไหม มีความสงสัยหรือไม่เชื่อว่ามีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนสามารถหลุดพ้นแห่งกองทุกข์ได้ หรือแม้กระทั่งสงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่
เมื่อเกิดความไม่เชื่อหรือลังเลสงสัย ก็ไม่เกิดความศรัทธาแบบแท้จริง ไม่เกิดความกตัญญูรู้คุณในบิดามารดา ไม่ศรัทธายำเกรงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่รู้ดีรู้ชั่วในระดับลึกลงไปในสันดาน มีความประมาทในกรรมความประพฤติก็ไม่มีหิริโอตัปปะในระดับที่สามารถยกระดับภูมิจิตภูมิธรรมของตนได้ หรือมีศีลและธรรมด่างพร้อยไม่สมบูรณ์
ก็ให้พิจารณาตัวเราเองว่ามีคุณสมบัติเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน และประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องแค่ไหน ซึ่งหากเราไม่ทำต่อเนื่องและกระทำคุณธรรมเหล่านี้ในกิจวัตรประจำวัน ให้เกิดตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนสืบเนื่องกันไปการประจุพลังไฟฟ้าก็ไม่เกิด หรือหากเกิดในบางข้อ แต่ในบางข้อไม่ปฏิบัติก็เท่ากับทำลายพลังประจุไฟฟ้าที่เก็บกักไว้ให้หมดสิ้นไป จนแบตเตอร์รี่(พลังจิต)ก็ไม่มีวันเต็มสักที แล้วสัมมาสมาธิก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ แม้แต่การทำสมาธิเพื่อจิตสงบแค่ในระดับอุปจารสมาธิก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
หากใครคนใดคนหนึ่งมาบอกท่านว่า เขาสามารถบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน และสามารถสอนให้ท่านได้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วเขาคนนี้ขาดคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น แม้เพียงข้อเดียว ก็แสดงว่าเขากำลังโกหกหลอกลวง คำพูดนี้ย่อมไม่เป็นความจริง