ต้นแบบของการตัดเย็บจีวร
ในสมัยพุทธกาล วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จถึงทักขิณาคิรีชนบท พร้อมด้วยพระภิกษุจำนวนหนึ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นท้องนา (แปลงนา) ของชาวมคธ
เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้นๆ คั่นในระหว่าง แล้วมีรับสั่งกับ พระอานนท์ ว่า
“อานนท์ เธอสามารถออกแบบตัดเย็บจีวรให้มีรูปร่างอย่างนี้ได้หรือไม่” พระอานนท์กราบทูลว่า “สามารถทำได้พระเจ้าข้า”
หลังจากนั้นพระอานนท์ได้ออกแบบทำจีวรให้มีรูปร่างตามพุทธประสงค์ถวาย คือ มีลักษณะคล้ายผืนนาที่มีคันนาคั่นเป็นระยะๆ เมื่อนำถวายให้พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตร
ทรงตรัสสรรเสรญพระอานนท์ท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้ ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้าวิวัฏฏะ ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้”
พระพุทธประสงค์ ๓ ประการ
ที่พระพุทธองค์มีรับสั่งให้ออกแบบจีวรเช่นนั้น เพราะมีพระประสงค์ ๓ ประการ คือ
๑.) ผ้าที่มีราคาแพงๆ หากตัดเป็นชิ้นๆ จะทำให้ผ้าราคาตก แทบไม่มีใครต้องการ
๒.) เมื่อนำเศษผ้าที่ตัดแล้วมาเย็บติดกัน จะทำให้เกิดรอยตะเข็บ มีตำหนิขาดความสวยงาม
๓.) ยิ่งนำไปย้อมเปลี่ยนสีพร้อมทั้งทำเครื่องหมาย (ทำพินทุ ใช้ปากกาหรือดินสอทำเป็นจุดที่ผ้าจีวร) ทำให้สีของผ้าเศร้าหมอง ไม่มีค่าไม่มีราคา ไม่เป็นที่ต้องการของใคร
ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าสนใจ ไม่มีประโยชน์สำหรับใครๆ โจรผู้ร้ายไม่แย่งชิง แบบจีวรที่ถูกกำหนดตัดเย็บมาแต่โบราณ จึงถือเป็นแบบอย่างใช้มาจนถึงปัจจุบัน
สีของจีวร
สีจีวรที่ต้องห้าม
คือ ๑.) สีเขียวคราม สีเหมือนดอกผักตบชวา
๒.) สีเหลือง สีเหมือนดอกกรรณิการ์
๓.) สีแดง สีเหมือนชบา
๔.) สีหงสบาท (สีเหมือนเท้าหงส์) สีแดงกับเหลืองปนกัน
๕.) สีดำ สีเหมือนลูกประคำดีควาย
๖.) สีแดงเข้ม สีเหมือนหลังตะขาบ
๗.) สีแดงกลายๆ แดงผสมคล้ายใบไม้แก่ๆ ใกล้ร่วง (เหมือนสีดอกบัว)
มีบางแห่งระบุว่าสีต้องห้าม คือ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด และ สีชมพู ถ้าจีวรมีสีตรงตามนี้ให้ภิกษุย้อมใหม่ ถ้าทำลายสีเดิมไม่ออกก็ให้นำไปใช้เป็นผ้าปูลาดสำหรับรองนั่ง หรือใช้งานอื่นๆ หรือใช้ซับในระหว่างจีวรสองชั้นก็ได้
สีจีวรที่พระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกใช้
การที่จะยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้จีวรสีใดย่อมเป็นการยากที่จะระบุให้ชัดเจนได้ เนื่องจากไม่เคยมีใครได้พบเห็นพระพุทธองค์ด้วยตัวเอง แต่สามารถประเมินได้จากหลักฐานพระคัมภีร์ในหลายแห่งที่พอเปรียบเทียบได้ คือ
๑.) พระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธเจ้า) ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งมีสีดุจทองออกจากระหว่างบังสุกุลจีวรอันมีสีแดง
๒.) พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่ย้อมดีแล้ว ทรงห่มจีวรมหาบังสุกุล ได้ขนาดสุตตประมาณปานผ้ารัตตกัมพล (ผ้าสีแดง)
๓.)พระผู้มีพระภาค ทรงห่มบังสุกุลจีวรอันประเสริฐสีแดง มีสีคล้ายสียอดอ่อนของต้นไทร
สีจีวรของพระอัครสาวก มีหลักฐานปรากฏว่า
๑.) แม้พระมหาเถระทั้งหลาย มีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น ห่มบังสุกุลจีวรมีสีแดงเหมือนเมฆ
๒.) พระมหาเถระทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะ เป็นต้น ห่มบังสุกุลจีวรมีสีแดงเหมือนเมฆ
สีจีวรของพระเถระผู้ใหญ่ในสมัยพุทธกาล ก็เหมือนกับสีจีวรของพระพุทธเจ้า คือ สีแดง ตรงตามพระบรมพุทธานุญาต คือ สีเหลืองเจือแดงเข้ม ที่ใช้ย้อมด้วยแก่นขนุน คือ สีกรักนั่นเอง
สีจีวรของพระสงฆ์ไทยปัจจุบัน
ในสมัยพุทธกาลแม้พระภิกษุสงฆ์จะย้อมจีวรด้วยสีธรรมชาติแท้ๆแต่ก็เชื่อว่าสีคงจะไม่ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดแน่นอน คงจะมีผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง แม้ในยุคปัจจุบันก็มีการใช้สีจีวรต่างๆแต่พอแยกออกได้ ๒ สี คือ
สีเหลืองเจือแดงเข้ม และ สีกรักสีเหลืองหม่น
วัดใดจะใช้จีวรสีไหนก็ได้ ไม่มีข้อห้าม เพราะถือว่าถูกต้องตรงตามพระบรมพุทธานุญาตทั้ง ๒ สี แต่ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรที่ยู่ในวัดเดียวกัน ก็น่าจะใช้จีวรสีเดียวกัน
ส่วนสีที่นิยมในพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) นิยมใช้สีกรัก หรือสีเหลืองหม่น เป็นมาตรฐานเดียวกันตลอดจนผ้าไตรที่ทางฝ่ายพระราชพิธีจัดเตรียมไว้ถวายพระด้วยทั้งนี้ เพื่อความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย และปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
สาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านครองจีวรเศร้าหมอง
พระโมฆราช นั้น เมื่ออุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษยินดีเฉพาะการใช้สอยจีวรที่เศร้าหมอง ๓ ประการ
คือ ๑.) ผ้าเศร้าหมอง
๒.) ด้ายเย็บผ้าเศร้าหมอง
๓.) น้ำย้อมผ้าเศร้าหมอง
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง