เพื่อที่จะได้เข้าใจในปฏิสัมพันธ์ของปฏิกิริยา 5 ธาตุ(แบบจีน) ที่ลึกซึ้งมากขึ้น จึงจะขออธิบายปรากฏการณ์ของ ปฏิกิริยา 5 ธาตุในอีกอารยธรรมหนึ่ง ซึ่งก็คือ อารยธรรมของฮินดู ซึ่งมี สำนัก อภิปรัชญาที่ลึกซึ้งอยู่เป็นจำนวนมาก โดยฮินดูอธิบายปรากฏการณ์ของโลกและจักรวาลไปในแนวทางจิตนิยม ที่สัมพันธ์กับ วัตถุนิยม ได้อย่างกลมกลืน และอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ก่อเกิดส่งเสริมและควบคุมซึ่งกันและกันจนเกิดสรรพสิ่ง ทั้งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และการถูกทำลายกลายเป็นเป็นวัฏฏจักรของกาลเวลา
ปฏิกิริยา 5 ธาตุแบบฮินดู
ปฏิกิริยา 5ธาตุ - กับธาตุทั้ง 5 (ตัตตะวะ)
คำว่า "ตัตตะวะ" เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงความจริงแท้ในขั้นสุดท้าย ซึ่งในที่นี้หมายถึงธาตุ(แท้)ที่เป็นส่วนประกอบของทุกสรรพสิ่ง สำนักปรัชญาของฮินดูเช่้น สำนัก สางขยะ ใช้ระบบ 25 ตัตตวะ หรือ สำนักไวเศษิกะใช้ระบบ 36 ตัตตวะ แต่โดยรวมแล้วจะเรียกว่า "ตัตตวะ มหาภูติ" ซึ่งมีการอธิบายในทุกสำนักปรัชญาของฮินดู พุทธ และ เชน (สำนักอภิปรัชญาอินเดียที่มีชื่อเสียง มีอยู่ 6 สำนักคือ 1.นยายะ 2.ไวเศษิกะ 3.สางขยะ 4.โยคะ 5.มีมางสา 6.เวทานตะ)
แต่ทั้งหมดสรุปความว่ามีอยู่ 5 ธาตุ
"ปัญจตัตตวะ" ธาตุทั้ง 5ในอภิปรัชญาของฮินดู มีดังนี้
1.อากาสะ (อากาศ-จิตวิญญาณ) – สัญญลักษณ์เป็นวงกลมสีดำ
2.วายุ (ธาตุลม) – สัญญลักษณ์เป็นวงกลมสีน้ำเงิน
3.เตชะ (ธาตุไฟ) – สัญญลักษณ์เป็นสามเหลี่ยมสีแดง
4.อาปะ (ธาตุน้ำ) – สัญญลักษณ์เป็นจันทร์เสี้ยวสีขาว
5.ปฐวี (ธาตุดิน) – สัญญลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยมสีเหลือง
นอกจากนี้ยังมี ธาตุ 4 (มหาภูติ4) และธาตุ 6
กรุณาอ่านบทความเรืองธาตุเพิ่มเติมในความแตกต่างเรื่อง “ธาตุ” ทั้ง 5 ของจีน กับ ธาตุ 4 แบบไทยและฮินดู
การผสมธาตุ
อธิบายมูลการณ์ของสรรพสิ่งจากระบบปรัชญาสางขยะ
สางขยะ หรือสัมขยะ เป็นปรัชญาหนึ่งในศาสนาฮินดู ที่เก่าแก่กว่าลัทธิอื่นๆ มีมาก่อนพุทธกาล คำว่าสางขยะมาจากคำว่าสังขยาแปลว่าจำนวนหรือการนับ สำนักปรัชญาสายนี้ถือว่าความจริงแท้มีสองอย่างคือปุรุษะกับประกฤติ ทำให้สาขานี้เป็นปรัชญาสายที่เน้นทวินิยม ซึ่งต่างจากปรัชญาสายเวทานตะ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปรัชญาโยคะมาก จนถือกันว่าปรัชญาสางขยะเป็นภาคทฤษฎี ส่วนโยคะเป็นภาคปฏิบัติ
ปุรุษะนี้คือผู้รับรู้ ประกฤติคือมูลเหตุของโลก เป็นรากเหง้าที่มองไม่เห็นของสรรพสิ่ง วิวัฒนาการของสิ่งต่างๆเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างปุรุษะกับประกฤติ โมกษะเป็นเป้าหมายของชีวิตที่พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง โดยการพิจารณาให้เห็นความแตกต่างระหว่างปุรุษะกับประกฤติ แล้วแยกทั้งสองสิ่งนี้ออกจากกันเมื่อแยกได้เด็ดขาดก็เป็นอันถึงซึ่งโมกษะ ปัญญาคือเครื่องสลัดพันธะ เมื่อปุรุษะรู้ด้วยปัญญาว่าพันธะและโมกษะผิดพลาดไปเพราะอวิชชาจึงติดอยู่กับพันธะเมื่อปุรุษะรู้ธรรมชาติแท้จริงของตนก็จะบรรลุโมกษะ
ประกฤติ เป็นมูลการณะของโลกและจักรวาล ตัวมันเองเป็นวัตถุธาตุมีความละเอียดประณีตมาก มันเป็นแหล่งกำเนิดของโลก และจักรวาลจากสิ่งที่หยาบที่สุดจนถึงสิ่งที่ละเอียดที่สุด
ปุรุษะมีจำนวนมากมายไม่สามารถนับจำนวนได้ มันมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งคุณสมบัติอันเดียวกัน คือ เป็นวิญญาณบริสุทธิ์เป็นธาตุรู้ที่เป็นพื้นฐานความรู้ของสิ่งทั้งปวง
ความสัมพันธ์ของปัญจธาตุ-ไตรคุณะ
ประกฤติประกอบด้วย คุณ3ชนิด คือ ไตรคุณ
1. สัตตวะคุณะ ความดี ความสุข แจ่มใส เบาสบาย สว่าง แทนค่าด้วย สีขาว
2. รชัสคุณะ ความชั่ว ความทุกข์ เร่งเร้า เคลื่อนไหว แทนค่าด้วย สีแดง
3. ตมัสคุณะ ความมืด มัวเมา โง่ เขลา หลง เฉย ยุ่งสับสน แทนค่าด้วย สีดำ
ไตรคุณะเป็นธาตุแท้ เป็นเนื้อหาสาระของประกฤติ มีลักษณะขัดแย้งกัน แต่ทำงานร่วมกันร่วมกับวัตถุของโลก เพราะสรรพสิ่งทั้งปวงประกอบด้วยไตรคุณะ เพราะเกิดมาจากประกฤติ และไตรคุณะจะเปลื่ยนแปลงเสมอ ไม่คงที่ตลอดกาล เกิดการเปลื่ยนแปลงเป็นอนันต์ ไม่มีที่สิ้นสุด ไตรคุณไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยอายตนะ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย แต่สามารถอนุมานได้ด้วยความรู้สึก มนัส(หรือใจโดยใช้อนุมานญาณ) ไตรคุณจะเปลื่ยนแปลงรูปแบบไปเสมอตลอดเวลา เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. สวรูป= การเปลื่ยนเปลงภายในตัวเอง ซึ่งจะไม่สามารถสร้างหรือผลิตสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาได้ เพราะมันไม่ได้ขัดแย้งกัน จึงไม่มีสิ่งใดเกิดได้
2. วิรูป =การเปลื่ยนเปลงในสภาวะที่ต่างกัน นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดสรรพสิ่ง
(ซ้าย)ยันตระกับความสัมพันธ์ของธาตุทั้ง 36 (ตัตตวะ)
(ขวา) 太極三圖 ความสัมพันธ์ของพลังทั้ง 3( ฟ้า-ดิน-มนุษย์)ในคติแบบจีน
ประกฤติและปุรุษะสัมพันธ์กัน
สัมพันธ์กันทางแรงสะท้อน (Reflectlon) คือ ปุรุษะสะท้อนเข้าหาประกฤติ เมื่อคุณะทั้ง 3 ของประกฤติได้รับแรงสั่นสะเทือนจากปุรุษะ รชัสคุณะ ซึ่งมีจลนภาพอยู่ภายในก็จะเกิดการสั่นไหว และเมื่อรชัสคุณะ สั่นไหว คุณะทั้งสองที่เหลือก็จะเกิดการเสียดุลและสั่นไหวตามไปด้วย ผลของการสั่นไหวของคุณะทั้ง 3 เป็นเหตุเกิดการผสมกันเองในรูปต่างๆ ในที่สุดก็เกิดโลกและสิ่งต่างๆ พร้อมทั้งจักรวาล
แผนผังแสดงการก่อเกิดจักรวาล 1. สุทธิปัญญาญาณ 2.ประกฤติ 3.ปัญญาญาณ 4.การเคลือนที่+แรงเฉื่อย 5.อากาสธาตุ 6.วาโยธาตุ 7.เตโชธาตุ8.อาโปธาตุ 9.ปฐวีธาตุ
ผลของการสัมพันธ์ก่อให้เกิดธาตุทั้ง 5
สิ่งที่แรกที่เกิดขึ้นจากการสัมพันธ์กันนั้นเกิดจะปรากฏการณ์ขึ้น 5 ลักษณะเป็นเหตุปัจจัยกันตามลำดับดังนี้
( 1.)เกิดมหัต หรือ พุทธิ หรือปัญญาญาณ
(2.)เกิดอหังการมนัส หรือจิตใจ (ที่มีความยึดมั่นในอัตตา) ก่อให้เกิด ปัญจะญาณเณนทรีย์ทั้ง 5
(3.)ปัญจะญาณเณนทรีย์ทั้ง 5 คือ อวัยวะเพื่อการรับรู้ของใจ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก่อให้เกิด เกิดปัญจะกรรเมนทรีย์ 5
(4.)ปัญจะกรรเมนทรีย์ 5 คือ อวัยวะเพื่อการเคลื่อนไหว หรือกระทำการต่างๆ คือ ปาก มือ เท้า ทวาร และอวัยวะสืบพันธ์ ก่อให่เกิด ปัญจะตันมาตระ 5
(5.)ปัญจะตันมาตระ 5หรือสุขุมรูป5 คือ สี เสียง กลิ่น รสและผัสสะ ก่อให้เกิด ปัญจะมหาภูตรูป 5
(6.)ปัญจะมหาภูตรูป 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ จนกลายเป็น จักรวาลและสรรพสิ่งโดยคันธะ(กลิ่น) ก่อให้เกิดธาตุดิน -ระสะ(รส) ก่อให้เกิดธาตุน้ำ -รูปปะ(รูป)ก่อให้เกิดธาตุไฟ สัมผัสสะ(สัมผัส)ก่อให้เกิดธาตุลม -สัทธา(เสียง)ก่อให้เกิดอากาศธาตุ
ความสัมพันธ์ของธาตุทั้ง 5 กับกาลเวลา
สรุปความเรื่องทฤษฏีธาตุทั้ง 5 ของฮินดู มาจากรากฐานทางอภิปรัชญาอันลึกซึ้ง ซึ่งการอธิบายความน่าจะไม่แปลกแยกแตกต่างกับของกรีก โรมัน เท่าใดนักและแม้แต่อายธรรมจีนเองก็ตาม ซึ่งมูลการณ์หรือปฐมเหตุแห่งจักรวาลและสรรพสิ่งแล้วมาจากจิตใจ(มโน)เป็นหลัก ซึ่งอาจจะกล่าวได้แบบง่ายๆว่าเพราะมีตัวเรา(อัตตา)จึงมีสิ่งนี้(จักรวาล)เกิดขึ้น และเราก็คือจักรวาลและจักรวาลก็คือตัวเรา หมือนกับทฤษฏีของจีนที่กล่าวว่า “ฟ้า-ดิน-มนุษย์ คือสิ่งที่แบ่งแยกกันไม่ได้” และจุดเด่นของปรัชญาสางขยะนี้ คือ เน้นเรื่อง ทวินิยม คล้ายกับ ปรัชญา หยิน-หยางแบบจีน