โศลกที่ ๒๒
- ราศีมังกรและธนูซึ่งทั้งสองราศีมีเครื่องหมายเป็นสัตว์ ๒ ประเภทในราศีเดียวกัน นับว่าเป็นราศีพิการ โดยมากขาพิการ ในสองราศีนี้ถ้าเป็นเวลาย่ำรุ่งหรือย่ำค่ำด้วยแล้ว ถือว่าเป็นเวลาสำหรับการตายมิใช่การเกิด ในนวางค์สุดท้ายของราศีกรกฏ พิจิก และมีน เรียกว่า ฤกษ์สนธิ เป็นนวางศ์พิษมีชื่อพิเศษเรียกว่า ปริคัณฑานตะนวางศ์ ฯ
หมายเหตุ
คำว่าสันธิทวะเย หมายความว่าในเวลาย่ำรุ่งหรือย่ำค่ำ คือเป็นระยะเวลาที่จะเปลี่ยนกลางคืนเป็นกลางวัน และกลางวันเป็นกลางคืนในคัมภีร์มุหุรตะ ซึ่งเป็นคัมภีร์เกี่ยวกับการยกฤกษ์ และในคัมภีร์สุริยาตร์กล่าวตรงกันสำหรับเวลาย่ำรุ่งและย่ำค่ำ คือถือเอาเวลาจำนวนหนึ่งมุหูรตะหรือสองมหานาที ประมาณ ๔๘ นาทีก่อนอาทิตย์อุทัย และ ๔๘ นาทีภายหลังอาทิตย์อัสดงคต ในเวลาที่กล่าวนี้ถ้าบังเอิญลัคนาอยู่ในราศีมังกรหรือธนูด้วยนับว่าเป็นเวลาวิบัติเกี่ยวกับการตาย คำว่าปริคัณฑานคะ แปลว่าข้อพับ เช่น ข้อศอก เป็นต้น ในการแบ่งราศีออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น นวางศ์ ตรียางศ์ และนักษัตร ฯลฯ เราจะเห็นได้ว่านวางศ์สุดท้ายของราศีกรกฏ พิจิก และมิน สามนวางศ์นี้เป็นที่สิ้นสุดพอดีของการแบ่งราศี นักษัตร ตรียางศ์และนวางศ์ จึงเปรียบเสมือนข้อพับที่สำคัญทั้ง ๓ แห่ง บางทีจึงเรียกว่า ฤกษ์สนธิ ทางไทยเรามักจะเรียกว่า นวางศ์ขาด โหรส่วนมากพากันถือว่า ลัคนาหรือพระจันทร์ถ้าสถิตย์อยู่ในนวางศ์ใดในสามนวางศ์นี้ จะมีความวิบัติอย่างหนัก และยังถือต่อไปด้วยอีกว่า แม้ดาวพระเคราะห์ใด ๆ ในดวงชาตาถ้าบังเอิญไปอยู่ในนวางศ์เหล่านี้ ดาวพระเคราะห์นั้นจะให้โทษแก่เจ้าชะตามากกว่าให้คุณ
โศลกที่ ๒๓
- การแบ่งราศีเกี่ยวกับสีต่าง ๆ ท่านกำหนดไว้ดังนี้ ราศีเมษ รักตะ ได้แก่สีแดง ราศีพฤศภ เคาระได้แก่สีขาว ราศีเมถุน ศุกะได้แก่สีเขียวใบไม้แก่ ราศีกรกฏ ปาฏะละได้แก่สีชมพู ราศีสิงห์ ปาณฑุได้แก่สีนวล ราศีกันย์ จิตระ ได้แก่สีเหลือบคือลายสลับหลายสี ราศีตุลย์ นิละได้แก่สีครามหม่นหรือสีดำ ราศีพิจิก กาญจนะได้แก่สีทองคำ ราศีธนู ปิงคละ ได้แก่สีทองเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ราศีมังกร กรพุระ ได้แก่ลายต่างหลายสี ราศีกุมภ์ พรภรุได้แก่สีน้ำตาลแก่ ราศีมิน ปาณฑุ ได้แก่สีขาวเหลืองหรือเหลืองอ่อน ฯ
โศลกที่ ๒๔
- ท่านบังคับไว้เกี่ยวกับราศีต่าง ๆ อีกว่า ราศีเมษเกี่ยวกับเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับต่าง ๆ ราศีพฤษภเกี่ยวกับข้าวอย่างดีที่สุด ราศีเมถุนเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้มาจากป่า ราศีกรกฏเกี่ยวกับพืชต่าง ๆ ที่ใช้ทำยา ราศีสิงห์เกี่ยวกับไม้ไผ่ ราศีกันย์เกี่ยวกับเมล็ดถั่วต่าง ๆ ราศีตุลย์เกี่ยวกับต้นอ้อย ราศีพิจิกเกี่ยวกับแร่เหล็ก ราศีธนูเกี่ยวกับม้าและอาวุธต่าง ๆ ราศีมังกรเกี่ยวกับทองคำ ราศีกุมภ์เกี่ยวกับดอกไม้ต่าง ๆ ที่ขึ้นในน้ำ ราศีมีนเกี่ยวกับวัตถุทุกประเภทที่ได้มาจากทะเลและน้ำ ถ้าราศีใดในดวงชะตาเข้มแข้งมากสิ่งเกี่ยวกับราศีนั้นก็มีอิทธิพลแก่เจ้าชะตามากด้วย ฯ
โศลกที่ ๒๕
- ในการจัดดาวพระเคราะห์เข้าครองราศีต่าง ๆ มีดังนี้คือ ราศีเมษครองด้วยอังคาร ราศีพฤษภครองด้วยศุกร์ ราศีเมถุนครองด้วยพุธ ราศีตุลย์ครองด้วยศุกร์ ราศีพิจิกครองด้วยอังคาร ราศีธนูครองด้วยพฤหัสบดี ราศีมังกรและราศีกุมภ์ครองด้วยเสาร์ ราศีมีนกรองด้วยพฤหัสบดี ในการแบ่งราศีต่าง ๆ ออกเป็น ๙ นวางศ์ และใน ๑๐๘ นวางศ์ การจัดดาวพระเคราะห์เข้าครองทุก ๆ นวางศ์ มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับการจัดพระเคราะห์เข้าครองในราศีต่าง ๆ ฯ
โศลกที่ ๒๖-๒๗
- การกำหนดตำแหน่งมูละตรีโกณของพระเคราะห์ต่าง ๆ มีดังนี้คือ อาทิตย์ราศีสิงห์ตั้งแต่ ๐-๒๐ องศา ที่เหลือเป็นตำแหน่งสวะเกษตร์ของอาทิตย์ จันทร์ราศีพฤษภตั้งแต่องศาที่ ๓-๓๐ อังคารราศีเมษตั้งแต่องศา ๐-๑๒ ที่เหลือเป็นตำแหน่งสวะเกษตร์ของอังคาร พุธราศีกันย์ตั้งแต่องศาที่ ๑๕-๒๕ ที่เหลือคือตั้งแต่ ๒๕-๓๐ เป็นตำแหน่งสวะเกษตร์ของพุธ พฤหัสบดีราศีธนูตั้งแต่องศา ๐-๒๐ ที่เหลือเป็นตำแหน่งสวะเกษตร์ของพฤหัสบดี ศุกร์ราศีตุลย์ตั้งแต่องศา ๐-๒๐ ที่เหลือเป็นตำแหน่งสวะเกษตร์ของศุกร์ เสาร์ราศีกุมภ์ตั้งแต่องศา ๐-๒๐ ที่เหลือเป็นตำแหน่งสวะเกษตร์ของเสาร์ สำหรับราหูมีตำแหน่งมูละตรีโกณในราศีกุมภ์ มีตำแหน่งอุจในราศีเมถุนและมีตำแหน่งสวะเกษตร์ในราศีกันย์ ฯ
หมายเหตุ
ในโศลกที่ ๒๔ เป็นกฎเกณฑ์แห่งการจัดการดาวพระเคราะห์เข้าคองเรียนต่างๆ เรียกว่าตำแหน่งสวะเกษตร์ของพระเคราะห์ต่างๆ เรามักเรียกกันว่าเกษตร์ในโศลกต่อมาเป็นการกำหนดแหล่งมูละตรีโกณหรือมูละตรีโกณของพระเคราะห์ต่างๆ รวมทั้งกำหนดองศาเอาไว้เป็นการตายตัวอีกด้วย ตำแหน่งมูละตรีโกณของพระองค์ต่างๆ นี้ ถือว่าเป็นตำแหน่งที่เข้มแข็งกว่าเกษตร์ แต่ก็เป็นตำแหน่งที่ด้อยกว่าตำแหน่งอุจจ์ ซึ่งจะกล่าวในโศลกต่อไป สำหรับตำแหน่งมูละตรีโกณดูจะเป็นคำใหม่สำหรับเรา ข้าพระเจ้าจึงใคร่ขอแสดงความเห็นไว้เพื่อความเข้าใจซักเล็กน้อย คำว่ามูละสตรีโกณหมายความว่าเรือนมุมที่สำคัญ ๓ เรือนซึ่งเป็น๕ แก่กันเอง ราศีทั้ง ๑๒ ราศีถ้าแบ่งเป็น ๒ ประเภทและเรียกง่าย ๆ ว่าราศีบวกและราศีลบ โดยเอาราศีเมษเป็นราศีบวก ราศีพฤศภเป็นราศีลบ และนับสลับกันไป ราศีบวกจะได้แก่ เมษ เมถุน ตุลย์ ธนู และกุมภ์ ราศีลบจะได้แก่ พฤศภ กรกฏ กันย์ พิจิก มังกร และมีน ท่านจะเห็นได้ว่าราศีทั้งบวกและลบสองประเภทนี้อยู้ในตำแหน่งตรีโกณกันทั้งสิ้น เมื่อท่านเอาพระเคราะห์ในตำแหน่งมูละตรีโกณมาบรรจุลงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในราศีต่าง ๆ ท่านจะเห็นได้ว่ามีจันทร์ กับพุธเท่านั้นที่อยู่ในราศีประเภทลบ ส่วนพระเคราะห์อื่น ๆ อยู่ในราศีประเภทบวกทั้งสิ้น ตามมิติทั่วไปถือว่าราศีบากเข้มแข็งกว่าราศีลบเพราะฉะนั้นพระเคราะห์ซึ่งครอง ๒ ราศีคือทั้งบวกละลบ จึงจัดตำแหน่งมูละตรีโกณอยู่ในราศีบวกทั้งสิ้น
ในการจัดพระเคราะห์เข้าครองเรือนเกษตร์ ท่านถือตำแหน่งพระอาทิตย์ในราศีสิงห์เป็นหลัก เพราะในคัมภีร์สุริยาตร์ได้กล่าวว่า อาทิตย์โคจรผ่านดาวที่สุกใสที่สุดในราศีสิงห์ราศีเดียวเท่านั้น ในราศีอื่น ๆ อาทิตย์ไม่ได้โคจรผ่านดาวที่สุกใสที่สุดในราศีเหล่านั้นไม่ ท่านจึงวางอาทิตย์ให้ครองราสีสิงห์ ส่วนที่ว่าอาทิตย์กับจันทร์ครองราศีเดียวแต่ดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ครองถึง ๒ ราศีนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าดาวเคราะห์อื่น ๆ เท่าที่มองเห็นจากโลกเรา มีพักร์คือเดินถอยหลังได้ แต่อาทิตย์และจันทร์ไม่พักร์เลย ในตำแหน่งมูละตรีโกณการที่ท่านวางดาวพุธไว้ในราศีกันย์เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งที่เป็นไปได้ถูกต้องตามคัมภีร์สุริยาตร์ คือทางคำนวณรู้ว่าพุธจะห่างจากอาทิตย์มีระยะเชิงมุมเกิน ๒๘ องศาไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อวางอาทิตย์ไว้ในราศีสิงห์พุธควรจะอยู่ในราศีกันย์มากกว่าอยู่กับราศีเมถุน สำหรับตำแหน่งของพระจันทร์ถ้าวางไว้ราศีกรกฏก็เป็นข้างแรมเกินไปพระจันทร์อาจมีแสงน้อยมาก จึงย้ายไปวางในราศีพฤษภซึ่งมีแสงมากพอสมควรในเมื่ออาทิตย์อยู่ราศีสิงห์ นอกจากนั้นในราศีพฤษภยังเป็นตำแหน่งอุจจ์ของจันทร์อีกด้วย
ถ้าท่านเข้าใจในคัมภีร์สุริยาตร์ดีท่านจะรู้ว่า อาทิตย์กับพุธห่างกันอย่างมากที่สุดไม่เกิน ๒๘ องศา ส่วนอาทิตย์กับศุกร์ห่างกันอย่างมากที่สุดก็ไม่เกิน ๔๘ องศา เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ถ้าเราวางอาทิตย์ไว้ในราศีสิงห์ ๒๐ องศาซึ่งเป็นตำแหน่งมูละตรีโกณของอาทิตย์ ดาวพุธจะอยู่ในราศีกันย์ได้อย่างมากไม่เกิน ๑๘ องศา ซึ่งก็เป็นตำแหน่งมูละตรีโกณของพุธได้ในทำนองเดียวกันดาวศุกร์ก็จะอยู่ราศีตุลย์ได้อย่างมากไม่เกิน ๘ องศา ซึ่งก็เป็นตำแหน่งมูละตรีโกณของดาวศุกร์ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นได่ว่าตำแหน่งมูละตรีโกณนั้นเป็นตำแหน่งที่ดารพระเคราะห์ทุกดวงทั้ง ๗ ดวงอาจเป็นได้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน ถ้าท่านคิดต่อไปอีกคือองศาอาทิตย์ ในราศีสิงห์ถ้ามีเพียง ๑๖ องศา ดาวพุธในราศีกันย์จะมีองศาอย่างมากเพียง ๑๔ องศาเท่านั้น ดังนั้นพุธไม่มีโอกาสเป็นมูละตรีโกณได้เลย แต่ดาวศุกร์สามารถอยู่ราศีตุลย์ได้ไม่เกิน ๔ องศา ฉะนั้นดาวศุกร์ยังคงอาจมีตำแหน่งมูละตรีโกณได้ ในทำนองเดียวกันถ้าองศาของอาทิตย์ในราศีสิงห์มี ๑๑ องศา ตำแหน่งมูละตรีโกณของพุธและศุกร์จะมีไม่ได้เลย สำหรับการกำหนดองศามูละตรีโกณของพระเคราะห์ต่าง ๆ นี้อาจผิดกันบ้างในคัมภีร์ต่าง ๆ แต่โดยตำแหน่งราศีแล้วตรงกันหมด ในโศลกนี้ได้กล่าวถึงตำแหน่งต่าง ๆ ของราหูไว้ด้วย ซึ่งตำแหน่งราหูนี้ทุกคัมภีร์โดยมากไม่ค่อยตรงกัน