บทที่ ๒ ธรรมชาติและความหมายของพระเคราะห์
โศลกที่ ๑
พระอาทิตย์เป็นวิญญาณของร่างกาย พระจันทร์เป็นจิตใจ พระอังคารเป็นสุขภาพและกำลังกาย พระพุธเป็นท่วงทีวาจา พฤหัสบดีเป็นความรู้และความสุข พระศุกร์เป็นความรักและความใคร่ พระเสาร์เป็นความทุกข์
หมายเหตุ
ความหมายของพระเคราะห์เกี่ยวกับร่างกาย ตามที่กล่าวมานี้จะมากหรือน้อยแล้วแต่ความเข้มแข็งของพระเคราะห์ สำหรับเสาร์มักจะตรงกันข้ามคือถ้าเสาร์เข้มแข็งความทุกข์หรือความวิบัติมีน้อย แต่ถ้าเสาร์ไม่เข้มแข็งความทุกข์ความวิบัติมีมาก อินเดียโบราณถือว่าความผาสุขที่ใหญ่ยิ่งคือการที่เจ้าชะตามีบุตร และความโทมนัสอย่างสาหัสคือการไม่มีบุตรหรือการที่บุตรตาย ด้วยเหตุที่ดาวพฤหัสบดีเป็นพระเคราะห์ที่บันดาล เสาชัยคือทำให้เกิดความผาสุขมั่งคั่ง ความรุ่งเรืองและรื่นรมย์ ท่านจึงนิยมว่าถ้าดาวพฤหัสบดีให้แสงถึงลัคนาและพระจันทร์ในชะตาจึงเป็นการให้คุณแก่เจ้าชะตา ท่านยังให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้อีกว่าในชะตาถ้าตำแหน่งของอาทิตย์และจันทร์ไม่เข้มแข็งแล้ว เจ้าชะตาจะไม่บรรลุถึงความสุขสม ความปรารถนาเลย และพระเคราะห์ที่สำคัญที่สุดคือพระจันทร์ ไม่ใช่พระอาทิตย์หรือลัคนา
โศลกที่ ๒
อาทิตย์เปรียบเหมือนพระราชา จันทร์เปรียบเหมือนพระราชินี พฤหัสบดีเปรียบเหมือนมนตรีฝ่ายชาย ศุกร์เปรียบเหมือนมนตรีฝ่ายหญิง พุธเปรียบเหมือนรัชทายาท อังคารเป็นแม่ทัพหรือยอดขุนพล เสาร์เป็นบริวารข้าทาสหญิงชาย ที่แสดงการเปรียบเทียบมานี้ท่านเปรียบเอาดวงชะตาเป็นเมืองและพระเคราะห์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชะตาจะได้ตำแหน่งตามที่ให้ไว้ ฯ
โศลกที่ ๓
เหลิ สุรยะ ตะปะนะ ทินกฤท ภานุ ปูษา อรุณ และอรกา เป็นชื่อของพระอาทิตย์ โสมะ คีตะทยุติ อุฑุปติ คเลา มฤคังกะ อินทุ และจันทระ เป็นชื่อของพระจันทร์ อะระ วักระ กษิติชะ รุธิรา อังคาระกะ และกรูระเนตระ เป็นชื่อของพระอังคาร เสามยะ ตาราคะนะ พุธะ วิทะ โภธนะ และอินทระปุตระเป็นชื่อของพระพุธ
โศลกที่ ๔
มนตรี วาจะสปะติ คุรุ สุราจารยะ เทเวชยะ และชีวะเป็นชื่อของพฤหัสบดี ศุกระ กาวยะ สิตะ ภฤคุสุตา อัจฉะ อัสผุขิท และทานะเวชยะ เป็นชื่อของพระศุกร์ สูนุ คะระนิตะตะนะยะ โกณะ สะนิ ยะระกิ และมันทะ เป็นชื่อของพระเสาร์ สรรปะ ผะณิ ตะมะสะ ไสมะหิเกยะ และอคุเป็นชื่อของพระราหู ฯ
โศลกที่ ๕
ธวัช ศิริ เกตุ เป็นชื่อของพระเกตุ ลูกชายของพระเสาร์มีชื่อว่า คุลิกะ สำหรับอุปเคราะห์ของดาวอื่นๆซึ่งจะได้พูดในโศลกต่อไป เป็นตำแหน่งที่ให้ร้ายแก่เจ้าชะตาทั้งสิ้น ฯ
โศลกที่ ๖
อุปเคราะห์ของพระอาทิตย์มีชื่อว่า กาละ อุปเคราะห์ของพระจันทร์มีชื่อว่า ปะริถิ อุปเคราะห์ของพระจันทร์มีชื่อว่า ธูมะ อุปเคราะห์ของพระพุธมีชื่อว่า อรรทประหะระ อุปเคราะห์ของพฤหัสบดีมีชื่อว่า ยะมะ กัณฏะกะ อุปเคราห์ของพระศุกร์มีชื่อว่า โกฑัณฑะ อินทระจาปะ หรือ การะมุกะ อุปเคราะห์ของพระเสาร์มีชื่อว่า มานทิ หรือ คุลิกะ อุปเคราะห์ของพระราหูมีชื่อว่าปาตะหรือวัยตีปาตะ อุปเคราะห์ของพระเกตุมีชื่อว่าอุปเกตุ ฯ
หมายเหตุ
ท่านจะเห็นได้ว่า ชื่อของดาวพระเคราะห์มีมากมายหลายชื่อด้วยกันและแต่ละคัมภีร์ก็มักมีชื่อเรียกแปลกออกไปอีกเฉพาะพระอาทิตย์มีชื่อเรียก ๖๐ชื่อซึ่งไม่ได้นำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ เพราะเกินความจำเป็น เมื่อกล่าวถึงชื่อของดาวพระเคราะห์ต่างๆเสร็จสิ้นไปแล้ว ในโศลกนี้ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงอุปเคราะห์ของพระเคราะห์ต่างๆไว้ด้วย สำหรับเรื่องราวของอุปเคราะห์ต่างๆนี้เป็นผลของการคำนวณทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นดาวบริวารหรือดาวอื่นๆอะไรเลยอย่างที่บางท่านเข้าใจกัน ฉะนั้นพวกอุปเคราะห์ทั้งหลายจึงเป็นจุดสมมุติขึ้นทั้งสิ้นและมองแลเห็นไม่ได้ ทำนองเดียวกับพระราหูและพระเกตุ
ในเรื่องอุปเคราะห์นี้ที่สำคัญที่สุด มีกล่าวอยู่ทั่วไปทุกคัมภีร์คือมานทิ และ คุลิกะ ซึ่งตามตำนานว่าเป็นลูกชายของพระเสาร์ทั้งคู่ คนที่ชื่อมานทิเป็นพี่ชาย คนที่ชื่อคุลิกะเป็นน้องชาย พระเสาร์มีลูกชายหญิงหลายคนด้วยกัน แต่คนที่เอานิสสัยพ่อไว้เต็มที่และเป็นที่รักยิ่งของพ่อได้แก่ มานทิและคุลิกะ ๒ คนนี้เท่านั้น ซึ่งมีนิสสัยหยาบคายดุร้ายที่สุด คำว่ามานทิแปลว่า ชั่วร้ายหรือความทุกข์ต่างๆ คำว่าคุลิกะแปลว่านายพรานที่จ้องยิงสัตว์อยู่ทุกขณะ อุปเคราะห์ของพระเสาร์ทั้งคู่นี้ ถือว่าให้ร้ายมากที่สุดในกระบวนอุปเคราะห์ต่างๆ
ในการหาตำแหน่งของอุปเคราะห์ ๒ อย่างนี้ไม่เป็นการตายตัวเสมอไป เพราะในความเห็นของบางท่านว่า มานทิและคุลิกะนี้หมายความและมีวิธีหาอย่างเดียวกัน บางท่านว่าไม่เหมือนกัน ทั้งนี้แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะเชื่อว่าใครผิดใครถูก เพราะเท่าที่เถียงกันอยู่ขณะนี้ก็ล้วนแล้วแต่ท่านผู้รู้ด้วยกันทั้งสิ้น การจำกัดเวลาหรือยามสำหรับมานทิและคุลิกะนี้ เขากำหนดไว้ตายตัวเฉพาะเป็นวันๆคือในวันต่างๆตั้งแต่วันอาทิตย์จนถึงวันเสาร์ไม่เหมือนกัน และทุกๆวันในเวลากลางคืนและกลางวันยังผิดกันไปอีกด้วย เมื่อรู้เวลาของมานทิและคุลิกะตามวันดังกล่าวแล้ว การหาตำแหน่งของมานทิและคุลิกะนี้ คิดหาสมผุสตามระบบของการหาลัคนาทุกประการ
กฎเกณฑ์ของเวลามานทิในวาระต่างๆ
วันอาทิตย์ กลางวัน = ๑๖.๒๔ น. กลางคืน = ๒๒.๐๐ น.
วันจันทร์ “ = ๑๔.๔๘ น. “ = ๒๐.๒๔ น.
วันอังคาร “ = ๑๓.๑๒ น. “ = ๑๘.๔๘ น.
๓๕
วันพุธ กลางวัน = ๑๑.๓๖ น. กลางคืน = ๐๔.๒๔ น.
วันพฤหัสบดี “ = ๑๐.๐๐ น. “ = ๐๒.๔๘ น.
วันศุกร์ “ = ๐๘.๒๔ น. “ = ๐๑.๑๒ น.
วันเสาร์ “ = ๐๖.๔๘ น. “ = ๒๓.๓๖ น.
กฎเกณฑ์ของเวลาคุลิกะในวาระต่างๆ
วันอาทิตย์ กลางวัน = ๑๖.๓๐ น. กลางคืน = ๒๒.๓๐ น.
วันจันทร์ “ = ๑๕.๐๐ น. “ = ๒๑.๐๐ น.
วันอังคาร “ = ๑๓.๒๐ น. “ = ๑๙.๓๐ น.
วันพุธ “ = ๑๒.๐๐ น. “ = ๐๔.๓๐ น.
วันพฤหัสบดี “ = ๑๐.๐๐ น. “ = ๐๓.๐๐ น.
วันศุกร์ “ = ๐๘.๐๐ น. “ = ๐๑.๓๐ น.
วันเสาร์ “ = ๐๗.๓๐ น. “ = ๒๔.๐๐ น.
การนับเวลาขึ้นวันใหม่ใช้อาทิตย์อุทัยในวันนั้นเป็นการขึ้นวันใหม่ ไม่ใช่นับ ๒๔.๐๐ น.เป็นการขึ้นวันใหม่ กฏเกณฑ์การหาเวลาของมานทิและคุลิกะที่อ้างมานี้เป็นกฏเกณฑ์ที่ใช้กันมากที่สุด ท่านจะเห็นว่าในบางเวลามานทิและคุลิกะก็ผิดกันเพียงไม่กี่นาทีแต่บางเวลาก็ผิดกันมา
โศลกที่ ๗
ท่านจำแนกสีเกี่ยวกับดาวพระเคราะห์ต่างๆไว้ดังนี้ อาทิตย์ได้แก่สีแดงเข้ม จันทร์ได้แก่สีขาวนวล พุธซึ่งเป็นลูกชายของจันทร์ได้แก่สีเขียวใบไม้แก่ อังคารได้แก่สีแดง พฤหัสบดีได้แก่
สีเหลือง ศุกร์ได้แก่สีขาว เสาร์ได้แก่สีดำสลัวหรือสีเทา ราหูได้แก่สีดำ เกตุได้แก่สีลายสลับหลายสีหรือสีต่างๆเป็นจุด ฯ
โศลกที่ ๘
ในทางโหราศาสตร์ ถือว่าพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้แสงแก่เรามากที่สุด ส่วนดาวอังคารและที่เหลือเป็นดาวที่ให้แสงน้อยมาก พระราหูและพระเกตุเป็นดาวแห่งความมืดหรือดาวไม่มีแสง เพราะมองไม่เห็น พระจันทร์ พุธ พฤหัสบดี และศุกร์เป็นดาวประเภทที่ให้คุณมากกว่าให้โทษและถือเป็นศุภเคราะห์ ฯ
โศลกที่ ๙
ท่านกำหนดเอาไว้ว่าจันทร์ข้างแรม เสาร์ อาทิตย์ ราหู เกตุ และอังคารเป็นบาปเคราะห์ คือดาวที่ให้โทษมากกว่าคุณ สำหรับพุธถ้าร่วมกับบาปเคราะห์ก็กลายเป็นบาปเคราะห์ไปด้วย พฤหัสบดีและศุกร์เป็นศุภเคราะห์ที่ให้คุณมากที่สุด อังคารและเสาร์เป็นบาปเคราะห์ที่ให้โทษมากที่สุด จันทร์ข้างแรมในที่นี้ถือว่า แรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ฯ
โศลกที่ ๑๐
การนับข้างขึ้นข้างแรมในทางอินเดียเขาใช้นับข้างขึ้น ๑ ค่ำจนถึงขึ้น ๓๐ ค่ำ โดยไม่มีข้างแรม แต่โดยเข้าใจกันทั่วไปเมื่อขึ้น ๑๕ ค่ำไปแล้วก็เป็นข้างแรม ท่านกำหนดไว้ว่าตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำถึงขึ้น ๑๐ ค่ำ พระจันทร์มีความเข้มแข็งปานกลาง ตั้งแต่ ๑๑ ถึง ๒๐ ค่ำ หรือตั้งแต่ขึ้น ๑๐ ค่ำถึงแรม ๕ ค่ำ พระจันทร์มีความเข้มแข็งมากและให้คุณแก่เจ้าชะตามากด้วย ตั้งแต่ ๒๐ ค่ำถึง ๓๐ ค่ำหรือตั้งแต่แรม ๖ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำ พระจันทร์จะไม่เข้มแข็งและไม่ให้คุณแก่เจ้าชะตา แต่ถ้าพระจันทร์ในขณะที่ไม่เข้มแข็งนั้นได้รับแสงจากศุภเคราะห์อื่นๆ เช่นพฤหัสบดีหรือศุกร์ จันทร์นั้นก็อาจให้คุณแก่เจ้าชะตาได้ ฯ
โศลกที่ ๑๑
ท่านบังคับเกี่ยวกับส่วนต่างๆของดาวพระเคราะห์ไว้ดังนี้ อาทิตย์ อังคาร ราหูและเสาร์ มีส่วนหลังสูงกว่าส่วนอื่นๆ และส่วนหลังจะเป็นส่วนที่ปรากฏให้เห็นก่อนเสมอ ศุกร์ จันทร์ และพุธ มีส่วนศรีษะสูงกว่าส่วนอื่นๆ สำหรับพฤหัสบดีส่วนทั้งสองคือศรีษะและหลังเห็นพร้อมๆกัน
โศลกที่ ๑๒
อาทิตย์และพุธมีรูปร่างเป็นนก จันทร์มีรูปร่างเป็นสัตว์เลื้อยคลาน พฤหัสบดีและศุกร์มีรูปร่างเป็นมนุษย์ คือสัตว์ ๒ เท้า เสาร์และอังคารมีรูปร่างเป็นสัตว์ ๔ เท้า ฯ
โศลกที่ ๑๓
จันทร์และศุกร์เป็นพระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในน้ำ พฤหัสบดีและพุธเป็นพระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในที่ชุมนุมชน และเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาหาความรู้ อังคาร ราหู เสาร์ เกตุ และอาทิตย์เป็นพระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในป่าและบนภูเขา ฯ
โศลกที่ ๑๔
อังคารเป็นพระเคราะห์ที่แสดงว่าเป็นเด็กไร้เดียงสา พุธแสดงว่าเป็นเด็กที่โตแล้ว พฤหัสบดีแสดงว่าเป็นผู้ใหญ่อายุประมาณ ๓๐ ปี ศุกร์แสดงว่าเด็กกำลังรุ่นหนุ่มสาว อาทิตย์แสดงว่าคนผู้ใหญ่เต็มที่แล้วคืออายุ ๕๐ ปี จันทร์แสดงว่าคนแก่แล้วคืออายุ ๗๐ ปี เสาร์ ราหูและเกตุ แสดงความชราภาพมากคืออายุตั้งแต่ ๘๐ ปีขึ้นไป ฯ
โศลกที่ ๑๕
พฤหัสบดี ศุกร์ อังคารและพุธเป็นดาวประจำพระเวททั้ง ๔ ตามลำดับคือ ฤคเวท อชุรเวท สามนะเวท และอาถรรวะนะเวท นอกจากนี้อังคารและอาทิตย์ยังมีความหมายเกี่ยวกับแร่ธาตุต่างๆ จันทร์และเสาร์หมายถึงรากไม้และหัวเผือกมันหัวว่านต่างๆ ศุกร์และพฤหัสบดีหมายถึงสัตว์น้ำและสัตว์บกทุกชนิด ส่วนพุธหมายถึงทั้งสัตว์และต้นไม้ ฯ
โศลกที่ ๑๖-๑๗-๑๘
ความเข้มแข็งหรือการให้คุณของดาวพระเคราะห์ต่างๆท่านจัดไว้ ๑๐ ประการดังนี้คือทีปตะคือดาวที่ได้ตำแหน่งอุจจ์หรือมูละตรีโกณยังผลให้เจ้าชะตาเด่น มีชื่อเสียงโด่งดัง มีอำนาจวาสนา สวะสถะคือดาวที่ได้ตำแหน่งสวะเกษตร์ ยังผลให้เจ้าชะตามั่งคั่ง สมบูรณทรัพย์ มีหลักฐานดี ปรมุฑิตะคือดาวอยู่ในเรือนมิตร ยังผลให้เจ้าชะตามีเพื่อนฝูง มีบริวารมาก มีความผาสุขรื่นรมย์ ศามตะคือดาวอยู่ในเรือนของวักระต่างๆที่ครองด้วยศุภเคราะห์ ยังผลให้เจ้าชะตามีความสงบ ไม่มีเรื่องเดือดร้อนใจ ศักตะคือดาวอยู่ห่างจากอาทิตย์มากมีแสงสุกใสสว่างมาก ยังผลให้เจ้าชะตามีความสง่างาม มีศักดิ์ศรี มีโชคดี ปรบีฑิอตะคือดาวอยู่ร่วมกับบาปเคราะห์ ซึ่งบาปเคราะห์มีกำลังเข้มแข็งหรือการที่ดาวถูกกระหนาบหน้าหลังด้วยบาปเคราะห์ ยังผลให้เจ้าชะตาถูกทรมานทางจิตใจถูกกลั่นแกล้งถูกใส่ความ ทีนะคือดาวอยู่ในเรือนหรือวักระต่างๆที่ครองด้วยดาวที่เป็นศัตรู ยังผลให้เจ้าชะตาเห็นผิดเป็นชอบ วิกะละคือดาวที่ไม่มีแสงเช่นอยู่ใกล้อาทิตย์จนเกินไปเป็นต้น ยังผลให้เจ้าชะตาเป็นคนอาภัพ ทำคุณบูชาโทษ ปิดทองหลังพระ ภีตะคือดาวที่ได้ตำแหน่งนิจยังผลให้เจ้าชะตาเป็นคนขี้ขลาด ตื่นเต้นตกใจง่าย ไม่เชื่อตัวเอง เป็นผู้นำไม่ได้ ฯ
โศลกที่ ๑๙
ในการเทียบสีต่างๆ เกี่ยวกับพระเคราะห์ทั้งในการทายเกี่ยวกับชะตาเดิมหรือดาวจร ท่านวางหลักไว้ดังนี้ สีต่างๆของดาวนับแต่อาทิตย์ถึงเสาร์เรียงลำดับกันไปคือสีแดง สีขาว สีชมพู สีเขียวใบไม้ สีเหลือง สีหลายสีหรือด่าง และสีดำ ฯ
โศลกที่ ๒๐
แร่ธาตุต่างๆที่มีความหมายเกี่ยวกับดาวพระเคราะห์ ตั้งแต่อาทิตย์ถึงเสาร์เรียงลำดับกันดังนี้คือทองแดง แก้วมณีต่างๆ ทองคำ ธาตุผสมด่างๆ ธาตุเงิน ไข่มุก และเหล็ก สำหรับความหมายเกี่ยวกับเทวดาหรือธาตุที่สำคัญต่างๆท่านจัดเรียงลำดับแต่อาทิตย์เป็นต้นไปคือไฟ น้ำ กุมาร วิษณุ อินทระ อินทรานี คือมเหสีของพระอินทร์และพระพรหม ฯ
โศลกที่ ๒๑
การจัดนพเคราะห์เทียบกับนวรัตน์ ท่านกำหนดไว้ดังนี้ คือ มานิกยำ ได้แก่ มณีกัยหรือทับทิมเป็นรัตนของพระอาทิตย์ มุกดาผะลำคือไข่มุกที่ขาวบริสุทธิ์ปราศจากตำหนิเป็นรัตนของจันทร์ วิทรุมำหรือวิทรุมได้แก่พวกหินปะการัง แก้วประวาล เป็นรัตนของอังคาร มาระกะตำ หรือมรกตเป็นรัตนของพุธ ปุษปะราคะมะหรือปุษราคัม เป็นรัตนของพฤหัสบดี วัชรำหรือวัชระได้แก่เพชรเป็นรัตนของศุกร์ นิรลำหรือนิลเป็นรัตนของเสาร์ โคเมทะหรือโกเมนเป็นรัตนของราหู ไวฑูรยะหรือไพฑูรย์ได้แก่เพชรตาแมวเป็นรัตนของเกตุ ฯ
โศลกที่ ๒๒
ผู้รู้โหราศาสตร์ทั้งหลายให้ความเห็นว่า อาทิตย์หมายถึงเสื้อผ้าหนาๆ พระจันทร์หมายถึงเส้นด้าย อังคารหมายถึงพวกขับร้องเกี่ยวกับไฟ พุธหมายถึงเสื้อผ้าที่เปียกน้ำหรือกำลังซักฟอกอยู่ พฤหัสบดีหมายถึงเครื่องนุ่งห่มธรรมดา ศุกร์หมายถึงผ้าห่มหรือเสื้อคุม เสาร์หมายถึงผ้าขี้ริ้วหรือผ้าเช็ดพื้น ฯ
โศลกที่ ๒๓
การจัดพระเคราะห์ประจำทิศต่างๆท่านจัดให้พระอาทิตย์ครองทิศตะวันออก ศุกร์ครองทิศตะวันออกเฉียงใต้ อังคารครองทิศใต้ ราหูครองทิศตะวันตกเฉียงใต้ เสาร์ครองทิศตะวันตก จันทร์ครองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พุธครองทิศเหนือ พฤหัสบดีครองทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับระดูกาลทั้ง ๖ ท่านจัดพระเคราะห์เข้าครองไว้ดังนี้ วะสันตะระหว่าง ๒๐ มีนาคม ถึง ๑๙ พฤษภาคม ครองด้วยศุกร์ ครีษมะ ระหว่าง ๒๐ พฤษภาคม ถึง ๑๙ กรกฎาคม ครองด้วยอังคาร วรรษะ ระหว่าง ๒๐ กรกฎาคม ถึง ๑๙ กันยายนครองด้วยจันทร์ ศะระทะ ระหว่าง ๒๐ กันยายนถึง ๑๙ พฤศจิกายนครองด้วยครองด้วยพุธ เหมันตะ ระหว่าง ๒๐ พฤศจิกายน ถึง ๑๙ มกราคมครองด้วยพฤหัสบดี ศิศิระ ระหว่าง ๒๐ มกราคมถึง ๑๙ มีนาคมครองด้วยเสาร์ ฯ
โศลกที่ ๒๔
อาทิตย์หมายถึงโบสถ์ วิหารหรือเทวะสถานต่างๆ จันทร์หมายถึงริมฝั่งน้ำหาดทรายหรือที่ชื้นแฉะ อังคารหมายถึงที่ๆมีความร้อน ครัวไฟ โรงหุงต้ม ห้องเครื่องจักรต่างๆ พุธหมายถึงสนามเด็กเล่น กรีฑาสถาน พฤหัสบดีหมายถึงห้องเก็บของ คลังที่มีทรัพย์สมบัติมากมาย ศุกร์หมายถึงห้องนอน ห้องที่หาความสุขสำราญ ฮาเร็ม เสาร์หมายถึงเนินเขาที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย ส่วนราหูและเกตุหมายถึงมุมห้องที่มืดๆ ฯ
โศลกที่ ๒๕
อาณาเขตที่อังคารครองตั้งต้นจากลังกาถึงแม่น้ำกฤษณา ศุกร์ของตั้งแต่แม่น้ำเคาตะมิกะ พฤหัสบดีครองตั้งแต่แม่น้ำเคาตะมิกะถึงวินธยะ พุธครองตั้งแต่วินธยะถึงแกงยี เสาร์ครองตั้งแต่แกงยีถึงภูเขาหิมาลัย ที่กล่าวมานี้เป็นอาณาเขตของอินเดียโบราณซึ่งครองด้วยนพเคราะห์ต่างๆ ฯ
โศลกที่ ๒๖
พฤหัสบดีและศุกร์หมายถึงพวกพราหมณ์ อาทิตย์และอังคารหมายถึงกษัตริย์ จันทร์หมายถึงพ่อค้า พุธหมายถึงศูทรหรือคนชั้นต่ำ เสาร์หมายถึงหัวหน้าโจร อาทิตย์ พฤหัสบดีและจันทร์หมายถึงสัตวะ คือมีความบริสุทธิ์ คุณงามความดี ศุกร์และพุธหมายถึงตัณหาราคะต่างๆ เสาร์และอังคารหมายถึงตะมะสะคือความมืดมนต่างๆ ฯ
โศลกที่ ๒๗
อาทิตย์ อังคาร พฤหัสบดีเป็นเพศชาย ศุกร์และจันทร์เป็นเพศหญิง เสาร์และพุธ เป็น ขุนุตหรือขันที พฤหัสบดีหมายถึงอวกาศ พุธหมายถึงแผ่นดินในโลก อังคารหมายถึงไฟ เสาร์หมายถึงลม ศุกร์หมายถึงน้ำ ฯ
โศลกที่ ๒๘
ในระบบโหราศาสตร์ถือว่าโลกที่เราอยู่เป็นศูนย์กลางของสุริยะจักรวาล โดยถือถือว่านพเคราะห์ทั้งหลายโคจรอยู่รอบๆโลกทั้งสิ้น และได้แบ่งพระเคราะห์ตามเวลาโคจรรอบโลกตั้งแต่ช้าที่สุดถึงเร็วที่สุดไว้ตามลำดับดังนี้ เสาร์ พฤหัสบดี อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ เกี่ยวกับร่างกายได้จัดให้อังคารหมายถึงเยื่อในกระดูก เสาร์หมายถึงกล้ามเนื้อ พฤหัสบดีหมายถึงไขมัน อาทิตย์หมายถึงกระดูก ศุกร์หมายถึงน้ำกาม จันทร์หมายถึงโลหิตและพุธหมายถึงผิวหนัง ฯ
โศลกที่ ๒๙
เกี่ยวกับรสต่างๆท่านจัดพระเคราะห์ไว้ดังนี้ จันทร์รสเค็ม อาทิตย์รสฉุนแก่เครื่องเทศ เสาร์รสฝาด พฤหัสบดีรสหวาน อังคารรสขม ศุกร์รสเปรี้ยว และพุธรสรวมกันหลายประการ เกี่ยวกับการแสดงผลของพระเคราะห์ต่างๆท่านจัดไว้ดังนี้ อาทิตย์ ๖ เดือน จันทร์ ๔๘ นาที อังคาร ๑ วัน พุธ ๒ เดือน พฤหัสบดี ๑ เดือน ศุกร์ ๑๕ วัน เสาร์ ๑ ปี ฯ
โศลกที่ ๓๐-๓๑
เกี่ยวกับที่พระเคราะห์ต่างๆมีอิทธิพลถึงภพต่างๆ จากที่พระเคราะห์นั้นสถิตอยู่ทางอินเดียเรียกว่า ทฤษฎี หรือการให้แสงถึงโดยปกติพระเคราะห์ต่างๆเมื่อนับจากภพที่พระเคราะห์นั้นๆสถิตอยู่จะมีกำลังให้แสงถึงภพอื่นๆดังกฎเกณฑ์ต่อไปนี้
ให้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในภพที่ ๗
“ ๕๐ “ ในภพที่ ๕ และ ๙
“ ๗๕ “ ในภพที่ ๔ และ ๘
“ ๒๕ “ ในภพที่ ๓ และ ๑๐
๔๒
สำหรับอังคาร พฤหัสบดีและเสาร์ นอกจากจะมีทฤษฎีตามที่กล่าวมาแล้วยังมีทฤษฎีพิเศษซึ่งถือว่าให้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน เพิ่มจากกฎธรรมดาอีกเรียกว่าทฤษฎีพิเศษคืออังคารให้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ในภพที่ ๔ และ ๘ จากที่ๆอังคารสถิต พฤหัสบดีให้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ในภพที่ ๕ และ ๙ จากที่ๆพฤหัสบดีสถิต เสาร์ให้ผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ในภพที่ ๓ และ ๑๐ จากที่ๆเสาร์สถิต ฯ
โศลกที่ ๓๒
เกี่ยวกับอริยาบทหรืออาการของพระเคราะห์ ท่านจัดไว้ดังนี้ อาทิตย์และอังคารมองขึ้นสูงหรือมองดูฟ้า ศุกร์และพุธมองไปข้างๆคือมองไปทางขวาและทางซ้าย จันทร์และพฤหัสบดีมองไปข้างหน้า ราหูและเสาร์มองต่ำก็คือมองดูแผ่นดินอยู่ตลอดเวลา ฯ
โศลกที่ ๓๓-๓๔
ในบทที่ ๑ โศลกที่ ๔๔ ได้กล่าวถึงการแบ่งราศีออกเป็นส่วนๆลงไปอีกหลายระบบ และจัดดาวพระเคราะห์เข้าครองในระบบเหล่านั้น การแบ่งราศีออกเป็นย่อยๆลงไปเช่นนี้ แต่ละระบบเรียกว่าวรรค ท่านกล่าวว่าดาวพระเคราะห์ต่างๆที่สถิตอยู่ในราศีใดๆต้องตรวจดูว่าอยู่ในวรรคของดาวอะไรด้วย ทางโหราศาสตร์ถือว่าตำแหน่งพระเคราะห์ที่เข้มแข็งเรียกว่ามีสถานะพละเข้มแข็งคือได้ตำแหน่งของวรรคต่างๆซึ่งครองด้วยพระเคราะห์ดวงเดียวกันหมดพระเคราะห์ใดได้ตำแหน่งนี้ถือว่าให้คุณแก่เจ้าชะตาในกระบวนวรรคต่างๆทั้งหมดมีที่สำคัญและใช้ในการวินิจฉัยแก่ดวงชะตามากที่สุดได้แก่วรรคต่อไปนี้ สโวจจะ สวะอุจจะ คือตำแหน่งอุจจ์ของพระเคราะห์ สวะตรีโกณะคือตำแหน่งมูละตรีโกณของพระเคราะห์ สวะสุหฤทคือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ในวรรคของคู่มิตร สวะทเรกกาณะคือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ใดๆที่อยู่ในตรียางค์ที่ครองด้วยพระเคราะห์นั้นเอง สวะราศี สวะเกษตร์คือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์อยู่ในเรือนเกษตร์ สวะอำศะคือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ที่เป็นเกษตร์ในนวางค์ ถ้าพระเคราะห์ใดๆได้ตำแหน่งตามที่กล่าวมานี้และดาวพระเคราะห์นั้นกุมลัคนาด้วย พระเคราะห์นั้นจะให้คุณแก่เจ้าชะตามากขึ้นอีก
ตำแหน่งของพระเคราะห์ต่างๆที่ไม่เข้มแข็งและไม่ให้คุณแก่เจ้าชะตามีดังต่อไปนี้คือพระเคราะห์ที่ไม่ได้ตำแหน่งของสถานะพละต่างๆ พระเคราะห์ที่ไม่ได้ร่วมหรือรับแสงจากศุภเคราะห์ พระเคราะห์ที่เป็นนิจจะ พระเคราะห์ที่ร่วมหรือรับแสงจากบาปเคราะห์ พระเคราะห์ที่ร่วมหรือรับแสงจากพระเคราะห์ที่เป็นศัตรู พระเคราะห์ที่สถิตอยู่ในวรรคของคู่ศัตรู พระเคราะห์ที่สถิตอยู่ในวรรคของบาปเคราะห์ พระเคราะห์ที่สถิตอยู่ตรงจุดแบ่งของราศีหรือนักษัตร พระเคราะห์ที่สถิตอยู่ในมฤตยูองศา พระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในปริคัณฑานตะนวางค์หรือนวางค์ชาด พระเคราะห์ที่อัสตะคืออยู่ชิดกับพระอาทิตย์จนเกินไป และพระเคราะห์ที่ถูกกระหนาบหน้าหลังด้วยบาปเคราะห์ ฯ
โศลกที่ ๓๕
ดาวพระเคราะห์ต่างๆย่อมความเข้มแข็งไม่เท่ากันในภพต่างๆที่นับจากลัคนา ความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในภพต่างๆนี้เรียกว่าทิตพละ ของพระเคราะห์ พุธและพฤหัสบดีมีทิตพละคือเข้มแข็งมากในทางทิศตะวันออกหรือในภพที่กุมลัคนา ศุกร์และจันทร์มีทิตพละในทางทิศเหนือหรือในภพที่ ๔ จากลัคนา เสาร์มีทิตพละในทางทิศตะวันตกหรือในภพที่ ๗ จากลัคนา อาทิตย์และอังคารมีทิตพละในทางทิศใต้หรือในทางภพที่ ๑๐ จากลัคนา ฯ
โศลกที่ ๓๖
สำหรับกาลพละคือความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในเวลากลางวันและกลางคืน ท่านจัดให้จันทร์ เสาร์ และอังคารมีกาลพละในเวลากลางคืน ดาวพระเคราะห์อื่นๆมีกาลพละในเวลากลางวัน ในทางโหราศาสตร์ได้แบ่ง ชั่วโมง วัน เดือนและปีออกไว้หลายประเภทและได้จัดดาวพระเคราะห์ต่างๆเข้าประจำทุกประเภท ถือกันว่าดาวพระเคราะห์ใดอยู่ในชั่วโมง วัน เดือน ปีตรงกับดาวที่ครองถือว่าพระเคราะห์นั้นเข้มแข็งมากในเวลานั้น เกี่ยวกับข้างขึ้นข้างแรม เขาจัดให้ศุภเคราะห์มีความเข้มแข็งในเวลาข้างขึ้น ส่วนบาปเคราะห์มีความเข้มแข็งในเวลาข้างแรม สำหรับพุธท่านว่ามีความเข้มแข็งตลอดมาคือทั้งข้างขึ้นข้างแรม ฯ
หมายเหตุ
เกี่ยวกับคำที่ว่ากาลพละในบางคัมภีร์หมายความไปอีกอย่างหนึ่ง คือหมายความว่ากำลังของพระเคราะห์ที่เข้มแข็งชั่วคราวในกฎ ๖ ประการดังต่อไปนี้ และแต่ละประการมีชื่อเรียกโดยเฉพาะ นะโคนนะตะพละคือความเข้มแข็งของพระเคราะห์ที่เกี่ยวกับการโคจรก่อนจะถึงหรือภายหลังจุดเหนือศรีษะของเราซึ่งเรียกว่าศิโรพินทุ โหราพละคือเกี่ยวกับการแบ่งวันหนึ่งเป็นชั่วโมงหรือยามและจัดพระเคราะห์เข้าครองทุกยาม ทินะปะพละเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในเวลากลางวันและกลางคืน ปักษะพละเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในเวลาข้างขึ้นหรือข้างแรม มาสะพละเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในเดือนต่างๆ และวรรษะพละเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในปีต่างๆ ฯ
โศลกที่ ๓๗
ศุกร์ พุธ อังคาร พฤหัสบดีและเสาร์ ในขณะที่โคจรถอยหลังหรือพักหรือในขณะที่โคจรร่วมกับจันทร์ย่อมมีกำลังเข้มแข็ง สำหรับอาทิตย์และจันทร์ย่อมไม่มีการโคจรถอยหลังจะมีกำลังเข้มแข็งในเมื่อโคจรไปทางทิศเหนือของเส้นศูนย์สูตรในท้องฟ้า อังคาร พุธ พฤหัสบดีและเสาร์ยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับในเมื่อโคจรขึ้นไปทางทิศเหนือของเส้นรวิมรรค ในสภาพปกติความเข้มแข็งของพระเคราะห์มีลำดับแต่มากไปหาน้อยดังนี้ อาทิตย์ จันทร์ ศุกร์ พฤหัสบดี พุธ อังคาร และเสาร์ ฯ
โศลกที่ ๓๘
ผู้คงแก่การเรียนทางโหราศาสตร์ ให้คะแนนความเข้มแข็งของพระเคราะห์ ๖ ประการเรียงลำดับกันคือ ๑-๕-๑-๕-๑ และ ๗ ความเข้มแข็งของพระเคราะห์ ๖ ประการนี้ชื่อรวมเรียกว่า ษัฑพละ และมีชื่อเรียงลำดับกันต่อไปนี้ ทฤคพละคือกำลังที่ได้รับแสงจากพระเคราะห์อื่นๆ สถานะพละคือกำลังตามวรรคต่างๆที่พระเคราะห์นั้นสถิต ไนสรรคิกะพละ คือกำลังตามธรรมชาติของพระเคราะห์ เจษฎาพละคือกำลังเกี่ยวกับการโคจรเช่นเหนือหรือใต้เส้นระวิมรรคหรือในการพักเป็นต้น ทิดพละคือกำลังที่ดาวพระเคราะห์อยู่ทางทิศใดโดยคิดจากตำแหน่งของ ลัคนา กาละพละคือกำลังชั่วคราวของพระเคราะห์ซึ่งเกี่ยวกับชั่วโมง วัน เดือน ปี หรือเกี่ยวกับยามต่างๆ ฯ
หมายเหตุ
เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ต่างๆซึ่งเรียกว่าพละ ถ้าจะแบ่งกันหยาบๆมี ๖ ประเภทดังนี้
๑.ทฤคพละ
๒.สถานะพละ โดยปกติมี ๕ ประการคืออุจจะพละ สัปตะวรรคชะพละ ยุคมายุคมะพละ เกนทระทิพละ และทเรกกาณะพละ
๓.นิสรรคพละ หรือ ไนสรรคิกะพละ
๔.เจษฎาพละ โดยปกติมี ๕ ประการคือ วักระ สมาคะมะ อุทะคะยะนะพละ อะยะนะพละ
๕.ทิดพละ
๖.กาละพละ โดยปกติมี ๗ ประการ คือนะโตนนะตะพละ ปักษะพละ ทินะราตรีภาคะพละ วรรษปะพละ มาสะปะพละ ทินะปะพละ โหราปะพละ
โศลกที่ ๓๙
ในการคิดให้คะแนนหรือกำลังของพระเคราะห์ตามกฎเกณฑ์ของษัฑพละ มีหลายประการด้วยกัน บางทีท่านให้คะแนนเต็ม ๖๐ และบางทีก็ให้คะแนนเต็มถึง ๓๖๐ แล้วแต่การคิดหรือแล้วแต่ระบบต่างๆที่เลือกเอามาใช้ ทั้งนี้การให้คะแนนไม่เป็นการตายตัวเสมอไป อาจใช้จำนวนใดเป็นหลักก็ได้ ฯ
โศลกที่ ๔๐
ในการคิดกำลังของพระเคราะห์เพื่อความสะดวก ท่านกำหนดไว้ดังนี้ ซึ่งก็ไม่เป็นการตายตัวเสมอไป อาทิตย์และพฤหัสบดีมีกำลังแต่ละดวง หกเศษหนึ่งส่วนสองรูปะ ศุกร์มีกำลังห้าเศษหนึ่งส่วนสองรูปะ พุธมีกำลังเจ็ดรูปะ จันทร์มีกำลังหกรูปะ เสาร์และอังคารแต่ละดวงมีกำลังห้ารูปะ รวมทั้งสิ้นได้กำลังสี่สิบเอ็ดเศษหนึ่งส่วนสองรูปะ เป็นปูรณะพละของพระเคราะห์ทั้งเจ็ดดวง ฯ
โศลกที่ ๔๑
ในการที่พระเคราะห์ต่างๆซึ่งอยู่ในราศีต่างๆกันย่อมเป็นมิตรและศัตรูกันได้เมื่อคิดจากราศีต่างๆระหว่างพระเคราะห์นั้นๆโดยไม่เกี่ยวกับตำแหน่งของลัคนา ท่านตั้งกฏไว้ว่าพระเคราะห์ที่เป็นมิตรแก่กันมี ๓ ประการคือพระเคราะห์ที่เป็น ๒ และ ๑๒ แก่กันเช่นอาทิตย์อยู่เมษ อังคารอยู่มีนหรือพฤษภ ย่อมเป็นมิตรกัน พระเคราะห์ที่เป็น ๓ และ ๑๑ แก่กันเช่นอาทิตย์อยู่เมษ อังคารอยู่กุมภ์หรือเมถุนย่อมเป็นมิตรแก่กัน พระเคราะห์ที่เป็น ๔ และ ๑๐ แก่กันเช่นอาทิตย์อยู่เมษ อังคารอยู่มังกรหรือกรกฏย่อมเป็นมิตรแก่กัน ทั้งนี้ไม่ว่าพระเคราะห์ใดๆทั้งสิ้นถึงแม้จะเป็นคู่ศัตรูก็ตาม ถ้ามาอยู่ในภพดังกล่าวนี้ย่อมไม่ให้โทษแก่กันมากนัก สำหรับการอยู่ในราศีอื่นๆซึ่งไม่เป็นไปตามกฎอันนี้ ท่านว่าเป็นศัตรูแก่กัน ฯ
โศลกที่ ๔๒-๔๓-๔๔-๔๕
เกี่ยวกับคู่มิตรและคู่ศัตรูของพระเคราะห์ต่างๆท่านกำหนดตายตัวไว้ดังนี้ พระอาทิตย์มีดาวที่เป็นมิตรคือจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี ดาวที่เป็นศัตรูกับอาทิตย์คือศุกร์และเสาร์ ดาวที่เป็นกลางกับอาทิตย์คือพุธ พระจันทร์มีดาวที่เป็นมิตรคืออาทิตย์และพุธ ดาวที่เป็นกลางกับจันทร์คืออังคาร พฤหัสบดี ศุกร์และเสาร์ พระอังคารมีดาวที่เป็นมิตรคืออาทิตย์ จันทร์และพฤหัสบดี ดาวที่เป็นศัตรูกับอังคารคือพุธ ดาวที่เป็นกลางกับอังคารคือศุกร์และเสาร์ อาทิตย์กับศุกร์เป็นมิตรของพุธ อังคาร พฤหัสบดีและเสาร์เป็นกลางกับพุธ จันทร์เป็นศัตรูกับพุธ อาทิตย์ จันทร์และอังคารเป็นมิตรกับพฤหัสบดี พุธและศุกร์เป็นศัตรูกับพฤหัสบดี เสาร์เป็นกลางกับพฤหัสบดี พุธและศุกร์เป็นศัตรูกับพฤหัสบดี เสาร์เป็นกลางกับพฤหัสบดี พุธและเสาร์เป็นมิตรกับศุกร์ อาทิตย์และจันทร์เป็นศัตรูกับศุกร์ อังคารและพฤหัสบดีเป็นกลางกับศุกร์ อาทิตย์ จันทร์และอังคารเป็นศัตรูกับเสาร์ พฤหัสบดีเป็นกลางกับเสาร์ พุธและศุกร์เป็นมิตรกับเสาร์ การที่จะพิจารณาว่าดาวใดๆเป็นมิตรหรือศัตรูแก่กันมากน้อยเพียงใด จำเป็นจะต้องใช้กฎเกณฑ์อย่างอื่นๆมาประกอบด้วย มิตรหรือศัตรูของดาวต่างๆแบ่งออกไว้ ๕ ประการด้วยกันคือมิตระ หมายความว่าเป็นมิตรแก่กัน อธิมิตระหมายความว่าเป็นมิตรแก่กันมากโดยใช้หลักอย่างอื่นประกอบด้วย ศัตรูหมายความว่าเป็นศัตรูแก่กัน อธิศัตรูหมายความว่าเป็นศัตรูกันอย่างร้ายกาจโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์อื่นๆประกอบด้วย สะมะหมายความว่าเป็นกลางคือดาวที่เป็นมิตรหรือศัตรูก็ได้แต่ไม่ให้คุณหรือโทษมากนัก ฯ
หมายเหตุ
เกี่ยวกับคู่มิตรคู่ศัตรูของพระเคราะห์ต่างๆดังที่ได้กล่าวมาแล้ว รู้สึกว่ายุ่งยากสักหน่อย เพราะข้าพเจ้าแปลตามโศลกเป็นลำดับมาและอีกประการหนึ่งรู้สึกว่าการจัดคู่มิตรคู่ศัตรู ดูจะตรงกันข้ามกับของเรามาก จึงทำให้ฟังขัดหูไปหมด อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะได้ชี้แจงให้ท่านทราบอย่างละเอียดว่า เขาใช้หลักเกณฑ์อย่างไรกันในการจัดพระเคราะห์ต่างๆเป็นมิตรและศัตรูแก่กัน สำหรับคู่มิตรคู่ศัตรูและเป็นกลางของพระเคราะห์ถ้าเขียนย่อๆจะได้ดังนี้
พระเคราะห์ ดาวที่เป็นมิตร ดาวที่เป็นกลาง ดาวที่เป็นศัตรู
อาทิตย์ จันทร์,อังคาร,พฤหัสบดี พุธ ศุกร์,เสาร์
จันทร์ อาทิตย์,พุธ อังคาร,พฤหัสฯ,ศุกร์,เสาร์ ไม่มี
อังคาร อาทิตย์,จันทร์,พฤหัสฯ ศุกร์,เสาร์ พุธ
พุธ อาทิตย์,ศุกร์ อังคาร,พฤหัสบดี,เสาร์ จันทร์
พฤหัสบดี อาทิตย์,จันทร์,อังคาร เสาร์ พุธ,ศุกร์
๔๘
พระเคราะห์ ดาวที่เป็นมิตร ดาวที่เป็นกลาง ดาวที่เป็นศัตรู
ศุกร์ พุธ,เสาร์ อังคาร,พฤหัสบดี อาทิตย์,จันทร์
เสาร์ ศุกร์,พุธ พฤหัสบดี อาทิตย์,จันทร์,อังคาร
เมื่อเขียนดังนี้แล้วท่านจะเข้าใจดีขึ้นและจำง่ายด้วย ท่านจะเห็นได้ว่าพระเคราะห์ต่างๆไม่ได้เป็นศัตรูและมิตรแก่กันเสมอไป บางนพเคราะห์เป็นมิตรกับพระเคราะห์อื่น แต่พระเคราะห์นั้นกลับเป็นศัตรูแก่ตนก็มีดังจะเห็นได้คือ อาทิตย์และเสาร์ต่างก็เป็นศัตรูแก่กันตลอดกาล อาทิตย์และอังคารก็เป็นมิตรแก่กันตลอดเวลา สำหรับจันทร์ไม่มีพระเคราะห์ใดๆเป็นศัตรูด้วยเลยแต่จันทร์กลับไปเป็นศัตรูกับศุกร์และเสาร์ พุธเป็นมิตรกับจันทร์แต่ในเวลาเดียวกันจันทร์กลับเป็นศัตรูกับพุธ นอกจากนี้ท่านจะเห็นอีกว่าพฤหัสบดีไม่ได้เป็นศัตรูกับพระเคราะห์ใดๆเลย แต่พุธกับศุกร์กลับเป็นศัตรูต่อพฤหัสบดี ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงที่มาของคู่มิตรคู่ศัตรูของพระเคราะห์ต่างๆอย่างสมบูรณ์แบบ
ก่อนอื่นท่านต้องตั้งดวงชะตาที่เรียกว่ามูละตรีโกณ ขึ้นก่อนดังที่ได้อธิบายไว้แล้วในโศลกที่ ๒๖ ของบทที่ ๑ คืออาทิตย์อยู่ราศีสิงห์ จันทร์อยู่ราศีพฤษภ อังคารอยู่ราศีเมษ พุธอยู่ราศีกันย์ พฤหัสบดีอยู่ราศีธนู ศุกร์อยู่ราศีตุลย์ เสาร์อยู่กุมภ์เมื่อตั้งดวงมูละตรีโกณขึ้นแล้วท่านวางหลักเกณฑ์ในการคิดคู่มิตรคู่ศัตรูไว้ดังนี้ เข้าเรือนเกษตร์ของภพที่๒-๔-๕-๘-๙และ๑๒และเข้าเรือนอุจจ์ของดาวในดวงมูละตรีโกณจะเป็นมิตรกับดาวนั้นนอกนั้นจะเป็นศัตรูทั้งสิ้น สำหรับดาวที่ครองสองราศีถ้าเป็นมิตรทั้งสองราศีนับเป็นมหามิตรหรืออธิมิตร ถ้าเป็นศัตรูทั้งสองราศีนับเป็นมหาศัตรูหรืออธิศัตรู ถ้าราศีหนึ่งเป็นมิตรราศีหนึ่งเป็นศัตรูนับเป็นกลางคืออาจให้ผลได้ทั้งร้ายและดีแล้วแต่กรณีซึ่งต้องคิดกฏเกณฑ์อย่างอื่นประกอบด้วย ต่อไปนี้จะชี้แจงให้เห็นคู่มิตรคู่ศัตรูของพระเคราะห์ทุกดวงซึ่งคิดจากดาวมูละตรีโกณ
พระอาทิตย์อยู่ราศีสิงห์ จันทร์เป็นเจ้าเรือนกรกฏเป็นภพที่ ๑๒ จากอาทิตย์ จันทร์จึงเป็นมิตรกับอาทิตย์ อังคารเป็นเจ้าเรือนของพิจิกและเมษเป็นภพที่ ๔และ๙ จากอาทิตย์ อังคารจึงเป็นมหามิตรของอาทิตย์ นอกจากนั้นตำแหน่งอุจจ์ของอาทิตย์ยังอยู่ในเรือนของอังคารอีกด้วย อังคารจึงเป็นมหามิตรคู่ใจของอาทิตย์ยิ่งกว่าพระเคราะห์ใดๆ พุธเป็นเจ้าเรือนของกันย์และเมถุนเป็นภพที่ ๒ และ ๑๑ จากอาทิตย์ พุธจึงเป็นกลางกับอาทิตย์คืออาจให้คุณหรือโทษก็ได้ พฤหัสบดีเป็นเจ้าเรือนของธนูและมีนเป็นภพที่ ๕ และ ๘ จากอาทิตย์ พฤหัสบดีจึงเป็นมหามิตรกับอาทิตย์ ศุกร์เป็นเจ้าเรือนของพฤษภและตุลย์เป็นภพที่ ๓ และ ๑๐ จากอาทิตย์ จึงเป็นมหาศัตรูของอาทิตย์ เสาร์เป็นเจ้าเรือนของมังกรและกุมภ์เป็นเจ้าเรือนของภพที่ ๖ และ ๗ จากอาทิตย์ เสาร์จึงเป็นมหาศัตรูของอาทิตย์
พระจันทร์อยู่ราศีพฤษภ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ จากจันทร์ อาทิตย์จึงเป็นมิตรกับจันทร์ อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๗ และ ๑๒ จากจันทร์ อังคารจึงเป็นกลางกับจันทร์ พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๕ จากจันทร์ พุธจึงเป็นมหามิตรของจันทร์ พฤหัสฯเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๘ และ ๑๑ จากจันทร์ พฤหัสฯจึงเป็นกลางกับจันทร์ ศุกร์เป็นเจ้าเรือนที่ ๑ และ ๖ จากจันทร์แต่จันทร์เป็นอุจจ์ในเรือนของศุกร์ ฉะนั้นศุกร์จึงเป็นกลางกับจันทร์ เสาร์เป็นเจ้าเรือนที่ ๙ และ ๑๐ จากจันทร์ เสาร์จึงเป็นกลางกับจันทร์ เมื่อวางจันทร์เป็นอุจจ์ในราศีพฤษภ ท่านจะเห็นว่าไม่มีดาวอะไรเลยเป็นศัตรูกับจันทร์ และถ้าจันทร์ในตำแหน่งนี้เป็นปูรณะจันทร์หรือเพ็ญจันทร์อีกด้วยซึ่งมี ๑ วันใน ๑ ปีเท่านั้น ท่านจึงถือว่าเป็นปูรณะจันทร์ที่เข้มแข็งที่สุดกว่าปูรณะจันทร์ในราศีอื่นๆ
พระอังคารอยู่ราศีเมษ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๕ อาทิตย์จึงเป็นมิตรกับอังคาร จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ จันทร์จึงเป็นมิตรกับอังคาร พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๓ และ ๖ พุธจึงเป็นมหาศัตรูของอังคาร พฤหัสบดีเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๙ และ ๑๒ พฤหัสฯจึงเป็นมหามิตรของอังคาร ศุกร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๗ ศุกร์จึงเป็นกลางกับอังคาร เสาร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๐ และ ๑๑ แต่อังคารเป็นอุจจ์ในเรือนเสาร์ ฉะนั้นเสาร์จึงเป็นกลางกับอังคาร
พระพุธอยู่ราศีกันย์ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๒ อาทิตย์จึงเป็นมิตรกับพุธ จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๑ จันทร์จึงเป็นศัตรูกับพุธ อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๓ และ ๘ อังคารจึงเป็นกลางกับพุธ พฤหัสบดีเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ และ ๗ พฤหัสบดีจึงเป็นกลางกับพุธ ศุกร์เป็น เรือนภพที่ ๒ และ ๙ ศุกร์จึงเป็นมหามิตรกับพุธ เสาร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๕ และ ๖ จากพุธ เสาร์จึงเป็นกลางกับพุธ
พฤหัสฯอยู่ราศีธนู อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๙ อาทิตย์จึงเป็นมิตรกับพฤหัสฯ จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๘ และพฤหัสฯเป็นอุจจ์ในเรือนจันทร์ จันทร์จึงเป็นมหามิตรของพฤหัสฯ อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๕ และ ๑๒ อังคารจึงเป็นมหามิตรกับพฤหัสฯ พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๗ และ ๑๐ พุธจึงเป็นมหาศัตรูของพฤหัสฯ ศุกร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๖ และ ๑๑ ศุกร์จึงเป็นมหาศัตรูของพฤหัสฯ เสาร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๓ เสาร์จึงเป็นกลางกับพฤหัสฯ
พระศุกร์อยู่ราศีตุลย์ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๑ อาทิตย์จึงเป็นศัตรูกับศุกร์ จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๐ จันทร์จึงเป็นศัตรูกับศุกร์ อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๗ อังคารจึงเป็นกลางกับศุกร์ พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๙ และ ๑๒ พุธจึงเป็นมหามิตรกับศุกร์ พฤหัสฯเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๓ และ ๖ แต่ศุกร์เป็นอุจจ์ในเรือนพฤหัสบดี พฤหัสบดีจึงเป็นกลางกับศุกร์ เสาร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ และ ๕ เสาร์จึงเป็นมหามิตรของศุกร์
พระเสาร์อยู่ราศีกุมภ์ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๗ อาทิตย์จึงเป็นศัตรูของเสาร์ จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๖ จันทร์จึงเป็นศัตรูของเสาร์ อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๓ และ ๑๐ อังคารจึงเป็นมหาศัตรูของเสาร์ พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๕ และ ๘ พุธจึงเป็นมหามิตรของเสาร์ พฤหัสฯเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๑๑ พฤหัสฯจึงเป็นกลางกับเสาร์ ศุกร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ และ ๙ และเสาร์เป็นอุจจ์ในเรือนศุกร์ ฉะนั้นศุกร์จึงเป็นมหามิตรที่สำคัญยิ่งของเสาร์
โศลกที่ ๔๖
ในการพิจารณาการเป็นมิตร การเป็นศัตรู หรือการเป็นกลางของพระเคราะห์ต่างๆต้องพิจารณาด้วยกฏเกณฑ์หลายประการ ถ้าทุกประการส่อว่าเป็นศัตรูจะให้ร้ายแก่เจ้าชะตาอย่างหนัก ถ้าทุกประการส่อว่าเป็นมิตรจะให้คุณแก่เจ้าชะตาอย่างมหาศาล สำหรับพระเคราะห์ที่เป็นกลางยิ่งต้องพิจารณาให้มากและละเอียดสุขุมที่สุดเพราะอาจให้คุณและโทษได้ในเวลาเดียวกัน ฯ
โศลกที่ ๔๗
อาทิตย์แสดงถึงการมีเสถียรภาพที่มั่นคงและแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง จันทร์แสดงถึงความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อังคารแสดงถึงความฉุนเฉียวเจ้าโทสะ ความฉับพลันทันที ไม่รู้ตัวมาก่อนและไม่ได้คิดเอาไว้ว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น พุธแสดงว่าเป็นไปได้ทุกประการ แล้วแต่ว่าจะได้รับแสงจากพระเคราะห์ใด ไม่มีจิตใจที่เป็นตัวของตัวเอง พฤหัสฯแสดงว่าเป็นผู้ที่สุขุมเยือกเย็น สุภาพอ่อนโยนและเจ้าระเบียบ ศุกร์แสดงถึงความรื่นรมย์ต่างๆ การหาความสุขใส่ตน เจ้าสำราญ เสาร์แสดงถึงความหยาบคาย การเห็นผิดเป็นชอบ ฯ
โศลกที่ ๔๘
เกี่ยวกับพระเคราะห์ที่ให้โทษในดวงชะตา ท่านตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่าลัคนาในจรราศี พระเคราะห์อยู่ในภพที่ ๑๑ จากลัคนา หรืออยู่ในภพที่ ๑๑ จากเจ้าเรือนของภพที่ ๑๑ ลัคนาอยู่ในสถิระราศี พระเคราะห์อยู่ในภพที่ ๙ จากลัคนาหรืออยู่ในภพที่ ๙ จากเจ้าเรือนของภพที่ ๙ ลัคนาอยู่ในทวิสวะภาวะราศี พระเคราะห์อยู่ในภพที่ ๗ จากลัคนา หรืออยู่ในภพที่ ๗ จากเจ้าเรือนของภพที่ ๗ พระเคราะห์ที่อยู่ตามตำแหน่งนี้เป็นพระเคราะห์ที่ให้โทษแก่ลัคนาทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าพระเคราะห์ที่กล่าวนี้ยังบังเอิญไปร่วมกับเจ้าเรือนของขะระหรือมานทิเข้าอีกด้วย ท่านว่าพระเคราะห์นั้นเป็นดาวฆาตที่สำคัญที่สุด ฯ
หมายเหตุ
คำว่าขะระหรือขร ทางเรามักเรียกว่าขนอน คือเป็นนวางค์ที่ ๖๔ จากนวางค์ของจันทร์ในชะตา และเป็นตรียางค์ที่ ๒๒ จากตรียางค์ของลัคนา
โศลกที่ ๔๙
อิทธิพลของพระเคราะห์ต่างๆที่มีต่อเจ้าชะตา ท่านจัดไว้ดังต่อไปนี้ อาทิตย์เกี่ยวกับตัวของเจ้าชะตา เกี่ยวกับบิดาของเจ้าชะตา เกี่ยวกับอิทธิพลและอำนาจ ความสุขทางกาย สุขภาพอนามัย การรักศักดิ์ศรี การรักษาเกียรติและโชควาสนา จันทร์หมายถึงจิตใจ การเข้าใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ความพอใจจากผู้ใหญ่ ความไว้วางใจจากผู้มีอำนาจ ความมั่งคั่งและมารดาของเจ้าชะตา อังคารหมายถึงความกล้าหาญ โรคภัยไข้เจ็บ บุคลิกลักษณะ น้องชายของเจ้าชะตา ที่ดินและทรัพย์สิน ข้าศึกศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม และญาติพี่น้องทางบิดา พุธหมายถึงการศึกษาเล่าเรียน ความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ ญาติพี่น้องต่างๆ ความรู้สึกทางประสาททั่วไป ญาติผู้ใหญ่ทางมารดา เพื่อนชายเพื่อนหญิง การพูดจาปราศัย และท่วงทีวาจา
โศลกที่ ๕๐
พฤหัสฯหมายถึงความฉลาดรอบรู้ อัจฉริยะ ความมั่งคั่ง การเจริญเติบโตของร่างกาย ความรู้เกี่ยวกับหลักวิชา และบุตรชาย ศุกร์หมายถึงความสำราญ ความผาสุขส่วนตัว คู่ครอง ยานพาหนะต่างๆ เครื่องประดับ เครื่องเสริมสวย ความรักเกี่ยวกับเพศตรงข้าม เสาร์หมายถึงการมีอายุสั้น อายุยืน ความเป็นไปของชีวิต การเลี้ยงชีพ ความวิบัติต่างๆ ความตาย ความเจริญรุ่งเรือง ราหูหมายถึงญาติผู้ใหญ่ทางบิดา เกตุหมายถึงญาติผู้ใหญ่ทางมารดา ฯ
โศลกที่ ๕๑
ท่านผู้รู้ได้จัดพระเคราะห์ต่างๆเทียบกับภพต่างๆ จากตำแหน่งของลัคนาดังต่อไปนี้ ภพที่ ๑ ได้แก่อาทิตย์ ภพที่ ๒ ได้แก่พฤหัสบดี ภพที่ ๓ ได้แก่อังคาร ภพที่ ๔ ได้แก่จันทร์และพุธ ภพที่ ๕ ได้แก่พฤหัสบดี ภพที่ ๖ ได้แก่อังคารและเสาร์ ภพที่ ๗ ได้แก่ศุกร์ ภพที่ ๘ ได้แก่เสาร์ ภพที่ ๙ ได้แก่อาทิตย์และพฤหัสบดี ภพที่ ๑๐ ได้แก่อาทิตย์ พุธ พฤหัสบดี เสาร์ ภพที่ ๑๑ ได้แก่พฤหัสบดี และภพที่ ๑๒ ได้แก่เสาร์ ลักษณะที่กำหนดให้พระเคราะห์ต่างๆแทนภพต่างๆที่กล่าวมานี้ ท่านเรียกพระเคราะห์นั้นๆว่าการกะของภพหรือภาวะการกะ ฯ
โศลกที่ ๕๒
ท่านผู้รู้ได้ให้ความเห็นไว้ว่าในชะตาผู้ใดก็ตาม ถ้าพระเคราะห์อยู่เรียงลำดับกันจากลัคนาดังนี้ นับว่าเจ้าชะตาจะเคราะห์ดีที่สุดคือ ศุกร์อยู่ในภพที่ ๗ พุธอยู่ในภพที่ ๔ พฤหัสบดีอยู่ในภพที่ ๕ สำหรับเสาร์ถ้าอยู่ภพที่ ๘ จากลัคนา ท่านว่าชะตาผู้นั้นจะอายุยืนและสุขภาพดีมาก
หมายเหตุ
ตามกฎเกณฑ์ของดาราศาสตร์ พุธอยู่ห่างจากอาทิตย์ได้อย่างมากไม่เกิน ๒๘ องศาและศุกร์อยู่ห่างจากอาทิตย์ได้อย่างมากไม่เกิน ๔๘ องศา ฉะนั้นถ้าพุธและศุกร์อยู่ห่างจาก อาทิตย์มากที่สุดและอยู่คนละข้างคือหน้าหลังอาทิตย์ พุธและศุกร์จะอยู่ห่างกันได้ไม่เกิน ๗๖ องศา ดังนั้นในโยคที่ให้ไว้ในโศลกนี้ก็เป็นการบังคับไปในตัวแล้วว่าอาทิตย์จะต้องอยู่ร่วมกับพฤหัสบดีในภพที่ ๕ จากลัคนาด้วย และถ้าจะคิดให้ละเอียดลงไปอีกจะเห็นได้ว่าการที่พุธในภพที่ ๔ จากลัคนานั้น พุธจะมีองศาน้อยกว่า ๑๔ องศาในภพที่ ๔ ไม่ได้ ในทำนองเดียวกันศุกร์ที่เล็งลัคนาจะมีในภพที่ ๗ เกิน ๑๖ องศาไม่ได้
โศลกที่ ๕๓
อาทิตย์แสดงถึงความมีสมรรถภาพ ความเข้มแข็ง อกผายไหล่ผึ่งมีสง่าน่าเกรงขาม ผิวเนื้อดำแดง ตาสุกใสเป็นประกาย อารมณ์ร้ายมักเอาใจตัวเองเป็นใหญ่ มีเสน่ห์ ผมบาง บูชาความยุติธรรม เต็มไปด้วยความงาม ความดี ฯ
โศลกที่ ๕๔
จันทร์หมายถึงเสมหะ เคลษม์ สม การท่องเที่ยว การวนเวียนโดยไร้ความหมาย เสียงอ่อนหวานไพเราะ มีความพินิจพิเคราะห์ละเอียดละออ มีตาคมและสายตาดี ขาแขนแข็งแรงและสวยงามน่ารัก ไวต่อความรู้สึก ขี้ระแวงสงสัย ไหวจัด งอนจัด รูปร่างสูงโปร่งระหง แบบบางสะโอดสะอง แต่มีส่วนโค้งที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ฯ
โศลกที่ ๕๕
อังคารแสดงถึงการมีแววตาดุร้าย มีลักษณะเป็นหนุ่มกว่าอายุ กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉงว่องไว อารมณ์ฉุนเฉียว ท่าทางไว้ตัว ผิวเนื้อค่อนข้างดำ มักไม่ซื่อตรง ไม่มีความแน่นอน เอวคอดอกใหญ่ แขนขางามได้สัดส่วน เลือดฝาดดี เข้มแข็ง เอาการเอางาน ชอบเอาแต่ใจตัว มักเห็นผิดเป็นชอบ ฯ
โศลกที่ ๕๖
พุธแสดงถึงการมีผิวเนื้อเขียว มีข้อลำแข็งแรงและค่อนข้างใหญ่โต รูปร่างสะโอดสะอง มีความรู้สึกในเรื่องรักรุนแรง แต่มักหักห้ามใจได้ ชอบสนุกสนานเฮฮา ร่าเริงตลกขบขัน ชอบสร้างความพินาศให้กับผู้อื่น มีน้ำดีมาก มีเสมหะมาก เจ้าคารม มั่งคั่ง มักเสียสละและถือบวชเมื่ออายุมาก ฯ
โศลกที่ ๕๗
พฤหัสบดีแสดงถึงการอ้วนชนิดลงพุง ผิวเนื้อขาวเหลือง ใจคอสุขุมเยือกเย็น มีคุณงามความดี เป็นที่นับถือของคนทั่วไป รอบรู้คงแก่เรียน ชอบศึกษา ตาและผมมักจะเป็นสีน้ำตาล บูชาความบริสุทธิ์ เที่ยงตรงและยุติธรรม ฉลาดหลักแหลมลึกซึ้ง ฯ
โศลกที่ ๕๘
ศุกร์แสดงถึงการมีผมดกดำและหยิก ผิวเนื้อสีน้ำตาลรูปร่างสะดุดตา แขนขาได้สัดส่วน งามน่ารักมีเสน่ห์ในตัว เจ้าชู้ ชอบเอาใจใส่ต่อเพศตรงข้าม มีศิลปะในการเข้าพระเข้านาง มีคุณสมบัติทุกประการในการชักจูงใจผู้อื่นเกี่ยวกับความรัก เป็นที่นิยมนับถือของผู้อื่น ร่าเริงสนุกสนาน เจ้าสำราญ และกล้าหาญ ฯ
โศลกที่ ๕๙
เสาร์แสดงถึงการมีเส้นผมหยาบและแข็ง มือเท้าใหญ่ไม่งดงามน่ารัก รูปร่างสูงโปร่งผิวเนื้อดำ กระดูกใหญ่ ฟันโตและไม่เป็นระเบียบ ตาโตและค่อนข้างแดงแสดงถึงความทุกข์ใจอยู่ตลอดเวลา ไม่กระฉับกระเฉง เฉื่อยชา เยือกเย็นและมักจะเกียจคร้าน ไม่ชอบเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้เกี่ยวกับเรื่องของตัว ฯ