โศลกที่ ๑๑
ท่านบังคับเกี่ยวกับส่วนต่างๆของดาวพระเคราะห์ไว้ดังนี้ อาทิตย์ อังคาร ราหูและเสาร์ มีส่วนหลังสูงกว่าส่วนอื่นๆ และส่วนหลังจะเป็นส่วนที่ปรากฏให้เห็นก่อนเสมอ ศุกร์ จันทร์ และพุธ มีส่วนศรีษะสูงกว่าส่วนอื่นๆ สำหรับพฤหัสบดีส่วนทั้งสองคือศรีษะและหลังเห็นพร้อมๆกัน
โศลกที่ ๑๒
อาทิตย์และพุธมีรูปร่างเป็นนก จันทร์มีรูปร่างเป็นสัตว์เลื้อยคลาน พฤหัสบดีและศุกร์มีรูปร่างเป็นมนุษย์ คือสัตว์ ๒ เท้า เสาร์และอังคารมีรูปร่างเป็นสัตว์ ๔ เท้า ฯ
โศลกที่ ๑๓
จันทร์และศุกร์เป็นพระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในน้ำ พฤหัสบดีและพุธเป็นพระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในที่ชุมนุมชน และเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาหาความรู้ อังคาร ราหู เสาร์ เกตุ และอาทิตย์เป็นพระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในป่าและบนภูเขา ฯ
โศลกที่ ๑๔
อังคารเป็นพระเคราะห์ที่แสดงว่าเป็นเด็กไร้เดียงสา พุธแสดงว่าเป็นเด็กที่โตแล้ว พฤหัสบดีแสดงว่าเป็นผู้ใหญ่อายุประมาณ ๓๐ ปี ศุกร์แสดงว่าเด็กกำลังรุ่นหนุ่มสาว อาทิตย์แสดงว่าคนผู้ใหญ่เต็มที่แล้วคืออายุ ๕๐ ปี จันทร์แสดงว่าคนแก่แล้วคืออายุ ๗๐ ปี เสาร์ ราหูและเกตุ แสดงความชราภาพมากคืออายุตั้งแต่ ๘๐ ปีขึ้นไป ฯ
โศลกที่ ๑๕
พฤหัสบดี ศุกร์ อังคารและพุธเป็นดาวประจำพระเวททั้ง ๔ ตามลำดับคือ ฤคเวท อชุรเวท สามนะเวท และอาถรรวะนะเวท นอกจากนี้อังคารและอาทิตย์ยังมีความหมายเกี่ยวกับแร่ธาตุต่างๆ จันทร์และเสาร์หมายถึงรากไม้และหัวเผือกมันหัวว่านต่างๆ ศุกร์และพฤหัสบดีหมายถึงสัตว์น้ำและสัตว์บกทุกชนิด ส่วนพุธหมายถึงทั้งสัตว์และต้นไม้ ฯ
โศลกที่ ๑๖-๑๗-๑๘
ความเข้มแข็งหรือการให้คุณของดาวพระเคราะห์ต่างๆท่านจัดไว้ ๑๐ ประการดังนี้คือทีปตะคือดาวที่ได้ตำแหน่งอุจจ์หรือมูละตรีโกณยังผลให้เจ้าชะตาเด่น มีชื่อเสียงโด่งดัง มีอำนาจวาสนา สวะสถะคือดาวที่ได้ตำแหน่งสวะเกษตร์ ยังผลให้เจ้าชะตามั่งคั่ง สมบูรณทรัพย์ มีหลักฐานดี ปรมุฑิตะคือดาวอยู่ในเรือนมิตร ยังผลให้เจ้าชะตามีเพื่อนฝูง มีบริวารมาก มีความผาสุขรื่นรมย์ ศามตะคือดาวอยู่ในเรือนของวักระต่างๆที่ครองด้วยศุภเคราะห์ ยังผลให้เจ้าชะตามีความสงบ ไม่มีเรื่องเดือดร้อนใจ ศักตะคือดาวอยู่ห่างจากอาทิตย์มากมีแสงสุกใสสว่างมาก ยังผลให้เจ้าชะตามีความสง่างาม มีศักดิ์ศรี มีโชคดี ปรบีฑิอตะคือดาวอยู่ร่วมกับบาปเคราะห์ ซึ่งบาปเคราะห์มีกำลังเข้มแข็งหรือการที่ดาวถูกกระหนาบหน้าหลังด้วยบาปเคราะห์ ยังผลให้เจ้าชะตาถูกทรมานทางจิตใจถูกกลั่นแกล้งถูกใส่ความ ทีนะคือดาวอยู่ในเรือนหรือวักระต่างๆที่ครองด้วยดาวที่เป็นศัตรู ยังผลให้เจ้าชะตาเห็นผิดเป็นชอบ วิกะละคือดาวที่ไม่มีแสงเช่นอยู่ใกล้อาทิตย์จนเกินไปเป็นต้น ยังผลให้เจ้าชะตาเป็นคนอาภัพ ทำคุณบูชาโทษ ปิดทองหลังพระ ภีตะคือดาวที่ได้ตำแหน่งนิจยังผลให้เจ้าชะตาเป็นคนขี้ขลาด ตื่นเต้นตกใจง่าย ไม่เชื่อตัวเอง เป็นผู้นำไม่ได้ ฯ
โศลกที่ ๑๙
ในการเทียบสีต่างๆ เกี่ยวกับพระเคราะห์ทั้งในการทายเกี่ยวกับชะตาเดิมหรือดาวจร ท่านวางหลักไว้ดังนี้ สีต่างๆของดาวนับแต่อาทิตย์ถึงเสาร์เรียงลำดับกันไปคือสีแดง สีขาว สีชมพู สีเขียวใบไม้ สีเหลือง สีหลายสีหรือด่าง และสีดำ ฯ
โศลกที่ ๒๐
แร่ธาตุต่างๆที่มีความหมายเกี่ยวกับดาวพระเคราะห์ ตั้งแต่อาทิตย์ถึงเสาร์เรียงลำดับกันดังนี้คือทองแดง แก้วมณีต่างๆ ทองคำ ธาตุผสมด่างๆ ธาตุเงิน ไข่มุก และเหล็ก สำหรับความหมายเกี่ยวกับเทวดาหรือธาตุที่สำคัญต่างๆท่านจัดเรียงลำดับแต่อาทิตย์เป็นต้นไปคือไฟ น้ำ กุมาร วิษณุ อินทระ อินทรานี คือมเหสีของพระอินทร์และพระพรหม ฯ
โศลกที่ ๒๑
การจัดนพเคราะห์เทียบกับนวรัตน์ ท่านกำหนดไว้ดังนี้ คือ มานิกยำ ได้แก่ มณีกัยหรือทับทิมเป็นรัตนของพระอาทิตย์ มุกดาผะลำคือไข่มุกที่ขาวบริสุทธิ์ปราศจากตำหนิเป็นรัตนของจันทร์ วิทรุมำหรือวิทรุมได้แก่พวกหินปะการัง แก้วประวาล เป็นรัตนของอังคาร มาระกะตำ หรือมรกตเป็นรัตนของพุธ ปุษปะราคะมะหรือปุษราคัม เป็นรัตนของพฤหัสบดี วัชรำหรือวัชระได้แก่เพชรเป็นรัตนของศุกร์ นิรลำหรือนิลเป็นรัตนของเสาร์ โคเมทะหรือโกเมนเป็นรัตนของราหู ไวฑูรยะหรือไพฑูรย์ได้แก่เพชรตาแมวเป็นรัตนของเกตุ ฯ