บทปกรณ์ว่าด้วยดาวขึ้นกลางวัน
โดย บ.ร.วรรณวิจิตร ท่านได้จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี 2516 ในนาม มีนา ปาละมุล
1-2 แม้นดารินถิ่นทิศขึ้นอิสาน เร็วสี่วารช้าสี่เดือนข่าวเยือนแน่
บูรพาหนึ่งเดือนไม่เปื้อนแปร ศึกจะแผ่อำนาจดาษผ่านเรา
3 ถ้าขึ้นทิศอาคเนย์มิเสแสร้ง เขียนคำแต่งตำราพาท่านเขลา
ในเก้าเดือนศึกจะเยือนมาเมืองเรา บ่มิเศร้าจลาจลให้วนเวียน
4 ถ้าเห็นพบทักษิณนรินทร จะเร่าร้อนซึ่งศึกกับศึกเสี้ยน
มันรอบรายหมายมาดรุกฆาตเจียน ให้แนบเนียนนาครอย่าร้อนใจ
0 จงหลบอยู่ดูท่าอย่าคิดสู้ มันตราตรูล้อมเราเอาไฉน
อันศึกเรือเสือน้ำอย่าย่ามใจ หนีไปไกลก่อนสู้ดูเชิงเอย
7 ถ้าดาวขึ้นหรดีจะชี้ชัด ศึกชงัดแรงร้ายอ้ายหนูเหวย
มันมาเงียบเชียบชาอย่าช้าเลย เตรียมเข้าเฮ้ยเข้าของกองเสบียง
5 ขึ้นประจิมริมทิศสถิตสถาน หมู่พราหมณ์ท่านผ่านมาแน่เป็นแท้เที่ยง
ราชครูสู่นิเวศน์เขตวังเวียง จงเผดียงไว้ผดุงในกรุงเรา
8 ถ้าเห็นเย็นตาอยู่พายัพ นักบวชนับต่างภาษาจะมาเฝ้า
พวกบัณฑิตจะคิดมาสู่เรา ให้โอบเอาอ่อนโยนโอนไมตรี
6 อุดรประเทศเขตร้ายมีไข้หนัก เกิดหาญหักชีพวายตายเป็นผี
ข้าราชการผ่านเกล้าพระเมาลี จะเกิดมีล้มตายไม่เป็นการ ฯ.
บทปกรณ์ว่าด้วยการโคจรแห่งดาวหาง
ถ้าพระเกตุจับในวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ถ้าสีขาว สีเหลืองก็ดี ประเทศตะวันตก ตะวันออก จะเข้ามาสู่โพธิสมภาร ถ้าจับสีแดง สีเขียวร้ายนัก จะเสียเมืองในประเทศตะวันตกและทักษิณ ถ้าสีขาว สีเหลือง ข้าวปลาจะบริบูรณ์ ผลาหารมัจฉมังษาหารจะบริบูรณ์ยิ่งนัก ฯ
อธิบาย - ในปกรณ์นี้ ให้พิจารณาถึงแสงประกายของดาวหางที่เกิดขึ้น เมื่อโคจรเข้าวงในแล้วยังเกิดแสงของพระอาทิตย์และพระจันทร์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประกายประกายสีของดาวหาง
บทปกรณ์ว่าด้วยดาวกับดาวหาง
ถ้าดาวหางเข้าในวงพระจันทร์ จะแพ้เจ้าเมืองในปีนั้น
ถ้าดาวการพฤกษ์ (ดาวศุกร์) รูปไม่เป็นดาว จะแพ้สมณพราหมณาจารย์ ฯ
ถ้าดาวพระเสาร์ไม่มีดวง จะแพ้ขุนนางท้าวพระยาในปีนั้น ฯ
ถ้าพระเกตุตกในดวงอาทิตย์แต่เช้าถึงเที่ยง จะเกิดศึกที่เมืองอื่น ฯ
ถ้าพระเกตุตกในดวงพระจันทร์แต่เที่ยงไปถึงค่ำ จะเกิดศึกในเมืองนั้นแล ฯ
ถ้าพระเกตุตกในพระจันทร์แต่ค่ำไปถึงสองยาม น้ำฝนจะดี ฯ
ถ้าพระเกตุตกตั้งแต่สองยามไปถึงรุ่ง ฝนนั้นจะน้อยจะแล้ง แล ฯ
อธิบาย - ครูโหรท่านให้พิจารณาเรื่องมุมทรรศนสัมพันธ์ระหว่างเชิงมุมการปรากฏของดาว หางกับทิศทางวงโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และวงโคจรของดาวอื่นๆด้วย ส่วนสีแห่งดาวนั้นให้พิจารณาตามนิมิตและทิศแห่งทักษา
บทปกรณ์ว่าด้วยดาวหางกับเดือนเกิด
ถ้าพระเกตุตกอากาศ เป็นหมอกในเดือน 5 , 6 , 7 จะเกิดความไข้ ชนจะตายเป็นอันมาก ถ้าตกเป็นสีแดงในเดือน 8 , 9 , 10 จะเกิดไข้พิษ ถ้าเกิดในเดือน 11 , 12 , 1 จะเกิดโจรฉกชิงวิ่งราวเป็นอันมาก ถ้าตกในเดือน 2 , 3 , 4 สมณพราหมณาจารย์จะวิบัติ ฯ
อธิบาย - ว่าด้วยฤดูกาลและพิจารณาประกอบกับดาว 3 , 6 , 9 และเนปจูน
บทปกรณ์ว่าด้วยทิศแห่งดาวหาง
ผิวเห็นข้างทิศบูรพา จะมีพระยาสามองค์รบกันในปีนั้น
ถ้าเห็นทิศอาคเนย์ ชนในประเทศบ้านนอกจะได้ความยากสามเดือน
ผิวเห็นทิศทักษิณ จะเกิดพยาธิเบียดเบียน และเกิดทุกข์ต่างๆ แก่อำมาตย์ราชบัณฑิต สมณพราหมณาจารย์และพวกชาวบ้านชนบทใน 8 เดือน
ถ้าเห็นทิศหรดี จะเกิดข้าวเหลือเกลือถูกใน 3 เดือน
ถ้าเห็นหนประจิม จะมีอำมาตย์ 4 คน ประเสริฐกว่ากว่าคนทั้งหลาย ชายหญิง ท้าวพระยา จะลำบาก ช้าวจะแพง จะเกิดพยาธิทุกข์ทั้งปีแล ฯ
ถ้าเห็นทิศพายัพ จะเกิดความไข้ทั่วทั้งแผ่นดินใน 3 เดือนแล ฯ
ถ้าเห็นในทิศอุดร จะมีพระยากับลูกชายชวนกันยกทำไปตีเมืองอื่นใน 8 เดือนแล ฯ
ถ้าเห็นทิศอิสาน ท้าวพระยาและราษฏรจะเป็นสุข จะกว้างขวางน้ำใจในปีนั้นแล ฯ
อธิบาย - สำหรับปกรณ์นี้ เข้าใจว่า น่าจะพิจารณาถึงทิศแห่งดาวหาง มากกว่าทิศที่ดาวหางเกิดขึ้น (- ผู้เขียน)