ปกิณกะโหราศาสตร์ไทย ภาคตำราดาวพรหมปโรหิตา พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหางของไทย รวบรวมโดย พระครูสมุห์ อภิสิทธิ์ อภิญาโณ วัดยานนาวา หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานฌาปนกิจศพ อาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร ณ เมรุวัดสุทธาราม ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553 และนำมาเผยแพร่ในเว็บพยากรณ์.คอม โดยคุณสายน้ำ ด้วยเห็นว่าเป็นตำราหายากและจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและวงการโหราศาสตร์สืบไป
ผู้ก่อตั้งสมาคมและอดีตนายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ
คำรำลึกคุณครู อาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร
เนื่องในโอกาส งานฌาปนกิจศพ อาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร อดีตนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ในวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน 2553 นี้
ท่านอาจารย์ บุญเรือน วรรณวิจิตร นี้นับว่า ท่านเป็นอาจารย์ทางโหราศาสตร์คนสุดท้ายที่อาตมภาพ ได้กราบไหว้ครูและเจิมมือ ท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร ได้มีเรื่องเล่าคุยกับอาตมาทั้งในเรื่องของโหราศาสตร์และเรื่องราวทั่วๆไป มากมายหลายอย่าง บางวิชาก็เป็นเรื่องราวของเก่าที่ไม่ปรากฏในที่อื่น อย่างเช่นดาวพรหมปโรหิตา พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหางของไทย ที่ท่านอาจารย์ บุญเรือนได้แนะนำและให้อาตมภาพรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน อาตมภาพจึงเห็นควรนำเอาตำรานี้มาจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ ถึงความรู้ความดีงาม และคุณค่าในเชิงโหราศาสตร์ของผู้วายชนม์ อันเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของท่านให้ประดับไว้ในโลกา
ตำราเล่มนี้ มีการจัดพิมพ์เพียงแค่ 2 ครั้งในจำนวนไม่กี่ร้อยเล่ม อาตมภาพได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อมอบให้ท่านอาจารย์จำหน่ายและใช้เป็นคู่มือสอน โดยพิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2539 และหลังจากนั้น ก็ได้ทำการตรวจชำระและจัดพิมพ์ตำรานี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม 2540 เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งทั้งสองครั้งนั้น ท่านอาจารย์ บุญเรือน ได้ใช้ปรากฏการณ์ดาวหางในการพยากรณ์ ครั้งแรก คือ ชื่อเสียงของประเทศจากเหรียญทองโอลิมปิค คราวดาวหางไฮอะกุตาเกะ และพยากรณ์ครั้งที่สอง คือ วิกฤติต้มยำกุ้งจากดาวหาง เฮลบอปพ์ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพยากรณ์ในส่วนที่เรียกว่า Mundane Horology
ด้วยคุณูปการที่ท่านอาจารย์ บุญเรือน วรรณวิจิตร ได้มีต่อวงการโหราศาสตร์ และผลกุศลบุญราศีที่ท่านได้บำเพ็ญมา อาตมภาพขอตั้งจิตอธิษฐาน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ท่านอาจารย์ บุญเรือน วรรณวิจิตร จงไปสู่สุคติภพชั้นช่อฟ้ากามาพวจรเสวยผลบุญอันเป็นสุข ณ สถานทิพยวิมานเบื้องบนนั้น ตลอดกาลอันสมควรเทอญ
จากศิษย์
พระครูสมุห์ อภิสิทธิ์ อภิญาโณ
ที่ปรึกษาสมาคมโหรแก่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
วัดยานนาวา สาทร กรุงเทพมหานคร
คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๑
พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหาง
พระคัมภีร์ว่าด้วยดาวหางนี้เป็นบันทึกแต่โบราณของไทย ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “ตำราดาวพรหมปหิตา” โดยในตำราโหรของไทยได้เรียกดาวหางว่า “ดาวธุมเกตุ” อันมีหลักฐานปรากฎในจดหมายเหตุปูมโหร และบันทึกพงศาวดารหลายฉบับ ดังนั้นตำราฉบับนี้จึงมีชื่ออื่นเรียกว่า “คัมภีร์ว่าด้วยพระเกตุ หรือธุมเกตุ” อีกชื่อหนึ่ง
ในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องดาวหางนั้น ข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอนมาโดยตรงว่า ให้พิจารณาจากท้องฟ้าและดาราศาสตร์ คือการดูดาวนั่นเอง จากบันทึกตำราต่างๆที่ข้าพเจ้ามีอยู่นั้น เท่าที่ข้าพเจ้าได้เคยตรวจพบซึ่งข้อความบันทึกเกี่ยวกับดาวหางนั้นมีอยู่ หลายฉบับ แต่ละฉบับก็มีอยู่อย่างบกพร่องไม่สมบูรณ์ คงมีแต่บางส่วนในตำราอธิไทโพธิบาทว์และคำกล่าวที่ว่า “บาดสี่ธุมสอง” และคำพยากรณ์เพียงบางตอนสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแปรผลไปในทางร้ายๆทั้งสิ้น และข้อความต่างๆมิได้ต่อเนื่องกันและมิได้อ้างถึงเค้ามูลของตำราเดิมแต่ อย่างใด ทำให้ยากแก่การศึกษา จนกระทั่งนักโหราศาสตร์ไทยปัจจุบันหลายๆท่านถึงกับกล่าวว่า ในตำราโหราศาสตร์ของไทยไม่มีเรื่องดาวหางกล่าวถึงไว้แต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากวิทยาการทางด้านนี้จะถูกลบเลือนไป เพราะขาดการศึกษาที่ต่อเนื่อง และการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
ท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร (บ.ร. วรรณวิจิตร) อดีตนายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ได้กรุณานำบันทึกของโหรฝ่ายวังหน้า และตำราเก่าจากปักษ์ใต้และบันทึกของท่าน “จันทรพิมพ์” หรือ “คุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์” มาให้ข้าพเจ้าได้คัดลอกไว้ พร้อมทั้งได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดาวหาง เพื่อจะได้ใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ต่อไป
อนึ่ง ข้อความที่ปรากฏนี้อาจผิดเพี้ยนไปจากของเดิมบ้างเพื่อขัดเกลาสำนวนและอักขระ ให้เป็นไปตามความหมายในปัจจุบัน และคำว่า “พระเกตุ” หรือ “ธูมเกตฺ” หรือ “ธุมเกตุ” ในที่นี้ ให้หมายความถึง ดาวหางทั้งสิ้น และขอให้บุญกุศลคุณความดีอันเป็นคุณานุปการในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์นี้ จงอำนวยผลบุญเป็นของท่านอาจารย์ บุญเรือน วรรณวิจิตร และ “ครูโหร” ทุกท่านที่ได้กรุณาบันทึก และให้คำอธิบายอันเป็นประโยชน์แก่วงการโหราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง หากมีสิ่งใดผิดพลาด ข้าพเจ้าขอน้อมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว
อภิสิทธิ์ เอกแสงสี
12 มิถุนายน 2539
คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๒
เมื่อปี พ.ศ. 2539 ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องของดาวหาง ไฮอะกุตาเกะ ซึ่งได้พบนักโหราศาสตร์ไทยหลายคนกล่าวว่า ไม่มีตำราดาวหางในวิชาโหราศาสตร์ไทย จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า น่าจะรวบรวมข้อมูลเรื่องดาวหางชุดที่เคยมอบให้แก่อาจารย์ภิญโญ พงศ์เจริญ ไป ขึ้นรวมเล่มเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่ง ประกอบกับต่อมา ผู้เขียนได้รับความกรุณจากท่านอาจารย์บุญเรือน วรรณวิจิตร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ได้กรุณาชี้แนะและมอบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดาวหางและเรื่องอื่นๆให้แก่ผู้ เขียนเพิ่มเติม โดยท่าน อาจารย์บุญเรือน ได้ปรารภกับผู้เขียนและอาจารย์ภิญโญ พงศ์เจริญว่า น่าจะทำการเรียบเรียงสรรพตำราโหราศาสตร์ที่สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ที่ได้เคยจัดพิมพ์ขึ้นมาในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2520 ขึ้นมาใหม่เพราะของเดิมได้หมดไปแล้ว โดยได้มอบเรื่องทักษาให้ข้าพเจ้า และเรื่องทักษายุคให้อาจารย์ภิญโญ พงศ์เจริญ นำไปจัดพิมพ์ พร้อมทั้งได้ปรารภพิ่มเติมว่า จะให้พิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เรื่องดาวหาง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นักศึกษาวิชาโหราศาสตร์ของสมาคมฯ รุ่นปี 2539 ซึ่งผู้เขียนก็ยินดีสนองคุณท่านอาจารย์จัดทำให้ด้วยความเต็มใจ
ในการพิมพ์ครั้งที่ 1 นั้น ผู้เขียนได้จัดพิมพ์ตำราดาวหางนี้ขึ้นมาโดยมีเวลาน้อย จึงได้แต่เพียงรวบรวมปกรณ์โหรไว้เป็นหัวข้อใหญ่ๆเท่านั้น เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาไปพร้อมกับคำสอนมุขบาฐของท่านอาจารย์บุญเรือน แต่ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ผู้เขียนได้เรียบเรียงย่อคำอธิบายของท่านอาจารย์ บุญเรือน พร้อมทั้งเพิ่มเติมประวัติข้อมูลเรื่องดาวหางในทางโหราศาสตร์ ปูมโหร และปกรณ์โหรในเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อท่านที่สนใจในการศึกษา โหราศาสตร์เกี่ยวกับดาวหาง จะได้เข้าใจ “ ConCept ” แนวทางโหราศาสตร์ไทยเรื่องดาวหางได้เช่นเดียวกับโหรโบราณ
อภิสิทธิ์ เอกแสงศรี
20 มีนาคม 2540