หน้า 1
ตอนที่ 1
ภูมิหลังเมืองสุรินทร์
หนังสือ :สุรินทร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย
แต่งโดย: อาจารย์ศิริ ผาสุก,อาจารย์อัจฉรา ภาณุรัตน์,อาจารย์เครือจิต ศรีบุญนาค
ผู้จัดพิมพ์ :ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ชมรมหัตถกรรมพื้นบ้านไทย พศ.2536
ที่ตั้ง
สุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ มีเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถไฟ 420 กม. โดยทางรถยนต์ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทาง 457 กม. อยู่กึ่งกลางระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดอุบลราชธานี คือห่างจากทั้ง 2 จังหวัด ระยะทางเท่ากันคือ 155 กม.
ทิศเหนือจรดจังหวัดร้อยเอ็ดที่อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอโพนทราย ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จรดอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยมีลำพลับพลา ซึ่งไหลผ่านกลางทุ่งกุลาร้องไห้เป็นเส้นกั้นเขตแดน ทิศตะวันออก จรดจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีห้วยทัพทันเป็นเส้นกั้นเขตแดน ทิศตะวันตกจรดจังหวัดบุรีรัมย์ ที่อำเภอประโคนชัย อำเภอกระสังและอำเภอสตึก โดยมีลำชีน้อยเป็นเส้นกั้นเขตแดน ทิศใต้จรดประเทศกัมพูชา โดยมีเทือกเขาพนมดงรักเป็นเส้นกั้นเขตแดน
เนื้อที่จังหวัดสุรินทร์ ประมาณ 8,783,92 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5.49 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่นาประมาณร้อยละ 74 เป็นที่ไร่ที่สวนประมาณร้อยละ 15.39 ป่าไม้ประมาณร้อยละ 10.70 พลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไทย เชื้อสายเขมร รองลงไปเป็นชาวส่วย(กูย) และลาว
ประวัติความเป็นมา
ถ้าหากจะศึกษาตามพงศาวดารแล้ว จะเห็นว่าจังหวัดสุรินทร์ เริ่มตั้งขึ้นในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คือในระหว่างปี พ.ศ. 2329 – 2450 สุรินทร์จัดการปกครองกันเองแบบเจ้าเมืองและคณะกรรมการเมือง ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองดูแลกันเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451 เป็นต้นมา จึงมีประมุขที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง คือตำแหน่งปลัดมณฑลหรือข้าหลวงขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยตรง
แต่ถ้าหากเราได้ศึกษาทางโบราณคดีแล้ว เราจะพบว่า พื้นที่ซึ่งตั้งเมืองสุรินทร์ขณะนี้เป็นเมืองมาแล้วเกินกว่า 1,500 ปี หลักฐานที่พอเชื่อได้มีอยู่หลายประการ ซึ่งจะได้กล่าวตอนต่อไปนี้
ประการแรก คูเมือง ก่อนที่เชียงปุม (พระยาสุรินทร์ภักดี) จะมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่เป็นเมืองสุรินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2320 นั้น แต่เดิมเรียกที่ตรงนั้นว่า ประเตียลชมัรซึ่งคนไทยพูดเพี้ยนไปเป็นประทายสมันต์ (คำว่า ประเตียล แปลว่า ว่าน ชมัร แปลว่า จัด หรือเข้ม ซึ่งสมัยก่อนท้องที่จังหวัดสุรินทร์เป็นดินแดนที่น่ากลัวสำหรับคนแปลกหน้า ที่จะเข้าไปคบหาสมาคมด้วย เพราะถ้าหากเกิดผิดใจกับคนท้องถิ่นแล้ว จะถูกยาสั่งให้ตายภายใน 3 วัน หรือ 7 วัน ยาสั่งนี้เองที่เรียกว่า ประเตียล หรือว่าน)
เมืองประทายสมันต์นี้ มีลักษณะเป็นกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น กำแพงชั้นใน ห่างจากกำแพงชั้นนอกประมาณ 300 – 400 เมตร คูเมืองที่ติดกำแพงชั้นในจะกว้างประมาณ 100 เมตร คูเมืองที่ติดกำแพงชั้นในจะกว้างประมาณ 100 เมตรเศษ ลักษณะกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดของกำแพงชั้นในเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร โดยมีคูเมืองล้อมรอบกำแพงชั้นนอก และชั้นในอีกชั้นหนึ่ง
จากการสอบถามผู้รู้ทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่าลักษณะกำแพงเมืองและคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมนี้ เป็นเมืองโบราณซึ่งคงจะสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับ เมืองศรีมโหสถ ที่พบในเขต อ.โคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี และเมืองเศรษฐปุระ ใกล้วัดภูเก้า เมืองปากเซ แขวงจำปาสักในประเทศลาวในปัจจุบัน ซึ่งพอประมาณอายุการก่อสร้างไว้คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 จึงทำให้เชื่อว่า เมืองสุรินทร์เกิดเป็นบ้านเป็นเมืองมาแล้วกว่า 1,500 ปี
หน้า 2
ภาพแสดงกำแพงเมือง และคูเมืองสุรินทร์
1. สระน้ำวัดพรหมสุรินทร์ ซึ่งเป็นคูเมืองเก่า ด้านหลังเป็นกำแพงเมืองชั้นใน ความจริงแล้วกำแพงเมืองโบราณสูงกว่าที่เห็นนี้มาก แต่ถูกทำลายทิ้งไปมาก บางแห่งถูกนำไปสร้างเป็นสถานที่ราชการ คือ สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การประปาสุรินทร์ สวนสุขภาพ หอประชุมจังหวัดสุรินทร์ ที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ฯลฯ
- กำแพงเมืองชั้นนอกด้านทิศใต้วัดพรหมสุรินทร์
3. สระน้ำวัดจุมพลสุทธาวาส คูเมืองชั้นใน ต้นไม้ที่เห็นเป็นสวนสุขภาพของเทศบาลเมืองสุรินทร์ ซึ่งทลายกำแพงเมืองชั้นในออกแล้วสร้างสวนสุขภาพ
- กำแพงชั้นนอกด้านทิศตะวันออกของวัดจุมพลสุทธาวาส ถึงทิศใต้วัดประทุมเมฆ ปัจจุบันมีผู้คนปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่เต็มหมดแล้ว
5. สระน้ำทิศใต้วัดจุมพลสุทธาวาส เป็นคูเมืองชั้นนอก
6. คูเมืองชั้นนอกของกำแพงเมืองสุรินทร์ที่เหลืออยู่ หลังโรงไฟฟ้าจังหวัดสุรินทร์ นอกนั้นถูกทำลาย สร้างสถานที่ราชการ เช่น การไฟฟ้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ฯลฯ ส่วนคูเมืองชั้นนอกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จะเห็นเหลืออยู่ทางทิศตะวันตกของโรงเรียนสุรวิทยาคาร ช่วงทางเข้าโรงเรียนกับการไฟฟ้าสุรินทร์ แต่ปัจจุบันถูกถมก่อสร้างบ้านพักข้าราชการไปหมดแล้ว
- กำแพงเมืองชั้นนอก มองจากวัดโคกบัวรายไปทางทิศตะวันออกถึงโทรคมนาคม จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นแนวทางกำแพงชั้นนอกไปจนถึงโรงไฟฟ้าจังหวัดสุรินทร์ ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร นับว่าเป็นกำแพงเมืองที่มีความยาวที่สุด ที่พบในประเทศไทย
หน้า 4-5
ขนาดของกำแพงเมืองชั้นในทางทิศเหนือกับทางทิศตะวันออก มีความยาวด้านหนึ่งประมาณ 1,200 เมตร (1.2 กิโลเมตร) ส่วนทางด้านใต้จากมุมสระวัดจุมพลสุทธาวาส ถึงมุมวัดพรหมสุรินทร์ ประมาณ 1,000 เมตร และทางทิศตะวันตกจากมุมวัดพรหมสุรินทร์ถึงที่ทำการสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ยาวประมาณ 800 เมตร
ส่วนกำแพงเมืองชั้นนอกด้านทิศเหนือจากการไฟฟ้าจังหวัดสุรินทร์ ตามถนนกรุงศรีนอกถึงวัดโคกบัวราย ยาวประมาณ 2,250 เมตร ทางทิศใต้จากมุมทิศใต้ของวัดจุมพลสุทธาวาสถึงทิศตะวันตกเฉียงใต้ วัดพรหมสุรินทร์มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนทางทิศตะวันออกและตะวันตก มีความยาวใกล้เคียงกันคือประมาณ 1,500 เมตร
นอกจากมีกำแพงเมือง และคูเมือง 2 ชั้น ตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีชุมชนโบราณรอบ ๆ ที่เป็นที่น่าสังเกตอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนโบราณบ้านแกใหญ่ ซึ่งอยู่ทิศเหนือของกำแพงเมือง ชุมชนบ้านสลักได ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของกำแพงเมือง ชุมชนทั้ง 2 แห่งนี้ห่างจากตัวกำแพงเมืองประมาณ 4 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน
คำว่า “สลักได” เป็นภาษาเขมรแปลว่า สักข้อมือ จึงทำให้สันนิษฐานว่า ชุมชนโบราณทั้ง 2 แห่งนี้จะต้องเป็นสถานที่ซึ่งทหารรักษาการเมืองไปตั้งขึ้นเพื่อสอดส่องความปลอดภัย (ทหารเหล่านี้ต้องสักข้อมือ)
ประการที่สอง ศิลปหัตถกรรม เมืองสุรินทร์มีศิลปหัตถกรรมที่เด่นอยู่ 2 ชนิด ซึ่งไม่สามารถสืบหาประวัติความเป็นมาได้ แต่เชื่อว่าเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีอายุยืนนานมากทีเดียว นั่นคือ
การทอผ้าไหม โดยที่จังหวัดสุรินทร์ มีความเหมาะสมในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรมีศิลปะการทอผ้าไหมประณีตกว่าที่อื่น แม้กระทั่งเส้นไหมที่สาวโดยชาวสุรินทร์ก็สามารถขายได้แพงกว่าเส้นไหมจากจังหวัดอื่น
หน้า 6-7
เนื่องจากเป็นเส้นไหมที่เล็กกว่าและเรียบกว่า ความจริงแล้วการเตรียมเส้นไหมก่อนที่จะถึงการทอผ้าไหมนั้น มีกรรมวิธีที่ยาวมาก แต่เป็นเรื่องทางเทคนิคที่เราไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าวไว้ในที่นี้
ส่วนการทอผ้าไหมแบบต่าง ๆ ก็มีมากมาย เช่น การทอผ้าโสร่ง ผ้ายกดอก ผ้าจก และผ้าไหมมัดหมี่ เป็นการทอที่มีศิลปะแตกต่างจากจังหวัดอื่นโดยทั่วไป เช่น ศิลปะลายต้นไม้ ลายรูปสัตว์ ลายดอกไม้ ผ้าปูมชนิดต่าง ๆ ที่จังหวัดอื่นทอไม่ได้
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ การทอผ้าไหมมัดหมี่ของประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ ส่วนมากจะมัดเส้นพุ่งอย่างเดียว ส่วนที่มีมัดทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งนั้น มีเฉพาะประเทศอินเดียตอนเหนือ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จีน และญี่ปุ่น 4 ประเทศเท่านั้น แต่ในเมืองไทย จังหวัดสุรินทร์เท่านั้นที่มีการทอผ้ามัดหมี่ทั้งเส้นยืน และเส้นพุ่งด้วย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ผ้าอัมปรม
เครื่องประดับเงิน ตามปกติ การทำเครื่องประดับเงิน ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล ต่างหู เข็มขัด ฯลฯ มักมีอยู่โดยทั่วไป แต่สิ่งที่แปลกจากที่อื่นที่มีในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ ก็คือ การทำลูกประคำเงิน ประคำทอง (ประเกือม) ซึ่งเป็นลูกกลม ๆ แต่แกะเป็นลวดลายชนิดต่าง ๆ เช่น ลายดอกไม้ ลายพระอาทิตย์ ลายใบไม้ ฯลฯ
จากการศึกษาลักษณะของลูกประคำที่ทำในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ มีลักษณะใกล้เคียงกับของที่ทำจากประเทศเนปาล แต่มีความแตกต่างตรงที่ประคำของเนปาลนั้นไม่มีลวดลายที่แสดงถึงศิลปะมากนัก แต่ของสุรินทร์มีลักษณะเป็นลวดลายมากกว่า อีกประการหนึ่ง ของสุรินทร์เป็นเงินหุ้มครั่ง โดยอัดครั่งข้างใน ส่วนของเนปาลไม่มี
จากศิลปะการทำเครื่องประดับชนิดนี้ ทำให้เกิดความเชื่อว่า คงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมของอินเดีย เมื่อประมาณ 2,000 ปีเศษมาแล้ว แต่สาเหตุที่ลูกประเกือมของสุรินทร์มีศิลปะและลวดลายที่สวยงามกว่าก็เพราะเป็นสิ่งที่เกิดภายหลัง จึงทำให้มีการดัดแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า
8. การเตรียมเส้นไหมก่อนทอผ้าไหม
9. เครื่องประดับเงินสุรินทร์
10. เครื่องเกี่ยวข้าวโบราณ
11. ขอสับช้าง ด้ามไม้ปลายเหล็ก ที่ชาวกูยตีเหล็กเอง
- หม้อหุงข้าวโบราณ เรียกว่า “ชนังควัน” ทำด้วยโลหะสำริด มีฝาปิดและมีมือถือ ชาวสุรินทร์นิยมใช้หุงข้างอยู่เป็นประจำจนถึงทุกวันนี้ ทำให้มีกลิ่นหอมอร่อย
หน้า 8
ประการที่สาม วัฒนธรรมประเพณี นอกจากกำแพงเมืองและศิลปหัตถกรรมที่กล่าวมาแล้ว วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ที่แตกต่างจากประเพณีของจังหวัดอื่นทั้งหมดในประเทศไทย เช่น ประเพณีรำตรุษ (ตร๊ด) กันตรึม ลูดอันเร โจลมะม๊วด (การรักษาคนป่วย) การแห่นาค ฯลฯ ประเพณีเหล่านี้มีแตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์ปลอดจากการรุกรานของต่างชาติเป็นเวลานาน จึงไม่ถูกทำลายทางวัฒนธรรมเหมือนกับแผ่นดินในประเทศเขมรปัจจุบัน ดังนั้นวัฒนธรรมเหล่านี้จึงยังหลงเหลือให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาอยู่อีก และถ้าจะพิจารณาจากเนื้อหาแล้ว เราจะเห็นได้ว่า เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์อย่างลึกซึ้ง
นอกจากนี้มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือว่า ในช่วงที่ชาวส่วยอพยพมาปกครองเมืองสุรินทร์ เมื่อประมาณ 200 ปีมานี้ ถ้าหากดินแดนที่เป็นเมืองสุรินทร์ขณะนี้ เป็นป่าดงเหมือนเขตจังหวัดอุบลราชธานีตอนใต้ หรือเขตจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่แล้วดินแดนที่เป็นจังหวัดสุรินทร์ขณะนี้ น่าจะเป็นชาวส่วยมากกว่าชาวเขมร แต่ในปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของคนไทยเชื้อสายเขมรมากที่สุด ตั้งแต่ติดชายแดนเขมรจนถึงสุดเหนือกลางทุ่งกุลาร้องไห้ และบางหมู่บ้านของจังหวัดร้อยเอ็ดอีกด้วย
จากแผนที่อาณาจักรในประวัติศาสตร์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ดำทึบเป็นเขตแดนของอาณาจักรฟูนัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ขอบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงตอนเหนือ เหนือท่าที่ออกแก้วขึ้นมาไม่ไกลนัก ศิลปกรรมที่แสดงให้เห็นเป็นสัญลักษณ์อยู่ในขณะนี้คืออังกอร์บอราย (Angor Borei) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรฟูนัน ต่อมาศูนย์กลางของอาณาจักรได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ที่กัมปงทม (Kampong Thom) มีปราสาทสัมโบร์ไพรกุก (Sambor PraiKuk) เป็นสัญลักษณ์ เรียกเมืองนี้ว่า อีศานปุระ
ส่วนอาณาจักรที่ขึ้นต่อฟูนันในสมัยนั้นได้แก่ อาณาจักรเจนละ ซึ่งมีพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยทั้งหมดด้วย อาณาจักรทวาราวดี ซึ่งกินพื้นที่ภาคกลางถึงจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี ไปทางเหนือถึงสุโขทัย
หน้า 9
ส่วนจังหวัดสุรินทร์ในขณะนั้น เป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรเจนละ โดยที่อาณาจักรเจนละ เป็นอาณาจักรที่ขึ้นต่อฟูนัน และเมืองสุรินทร์เป็นที่อยู่ใกล้ชายแดนของอาณาจักรฟูนันเช่นเดียวกับเมืองศรีมโหสถ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรีในปัจจุบัน
สุรินทร์ คือ อีศานปุระจริงหรือ?
แต่ถ้าหากเราจะพิจารณาในอีกด้านหนึ่ง ถึงฐานะของเมืองสุรินทร์ ในขณะที่สร้างขึ้นมานั้นว่า เป็นเมืองระดับใด เราก็สามารถมองได้หลายแง่ เช่น
ปีแอร์ ดูปอง (Pierre Dupont) เสนอว่า “เจละบก เป็นเขตอำนาจของกษัตริย์ ภววรรมันที่ 1 และที่ที่เป็นภูมิลำเนาของพวกคะแมร์ ซึ่งควรจะอยู่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ประมาณบริเวณจำปาสัก ปากเซ”
นอกจากนี้ยังมีเอกสารหลายชิ้นที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ศูนย์กลางแห่งอำนาจสมัยอาณาจักรเจนละ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดก่อนเมืองพระนครนั้นอยู่ท่างลุ่มแม่น้ำมูลตอนล่าง แล้วก็พยายามจะดึงดินแดนนี้ไปอยู่ที่บริเวณปากเซ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำโขง
แต่จากการศึกษาชุมชนโบราณทั่วบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และยโสธรแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีชุมชนเมืองที่มีลักษณะเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเลย นอกจากเมืองสุรินทร์เท่านั้น
จึงได้แต่สันนิษฐานว่า ภายหลังจากพระเจ้าจิตรเสน (มเหนทรวรมัน) ลงไปปราบปรามฟูนานสำเร็จแล้ว ได้เกิดการแบ่งแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย คือ เจนละบก (อาณาจักรเจนละเดิม) ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบันทั้งหมด กับเจนละน้ำ ซึ่งเป็นประเทศกัมพูชาปัจจุบัน ซึ่งก่อนนั้นอยู่ในปกครองของฟูนาน
ในช่วงที่เจนละบกปกครองอาณาจักรเจนละ ทั้งหมดนั้น มีการรบพุ่งกันตลอดเวลา ดังนั้น ถึงแม้ว่าในระยะแรกในสมัยของพระเจ้าจิตรเสน จะสร้างศูนย์กลางแห่งอาณาจักรบริเวณกำปงธมก็ตาม แต่เมื่ออีศานวรรมันขึ้นเป็นกษัตริย์ (โอรสพระเจ้าจิตรเสน) จากการที่เกิดการรบพุ่งไม่หยุดหย่อนนี้ ทำให้เห็นว่า ถ้าขืนตั้งศูนย์กลาง ของอาณาจักรอยู่ในเขตของเจนละน้ำ ขณะที่ตนเองเป็นเจนละบกนั้น ย่อมหาความมั่นคงปลอดภัยไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงย้ายราชธานีมาอยู่ในบริเวณเมืองสุรินทร์ปัจจุบัน
ถ้าหากเราจะพิจารณาในด้านภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ในขณะที่อาณาจักรเจนละเจริญรุ่งเรืองสุดขีด โดยครอบครองอินโดจีนแทบทั้งหมด จะเห็นได้ว่า สุรินทร์เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ถ้าเอาจังหวัดสุรินทร์เป็นจุดเดินทางไปทางทิศตะวันออก ถึงชายฝั่งทะเลประเทศเวียดนาม ตั้งแต่เหนือเมืองเว้ จดใต้ไซ่ง่อน จะเท่ากับไปประเทศลาวถึงหลวงพระบาง ภาคเหนือของไทยถึงสุโขทัย และภาคกลางของไทยถึงเพชรบุรี
ในการศึกษาด้านศิลปะขอมโบราณที่พบในประเทศไทย โดยการเปรียบเทียบลักษณะลวดลายภาพสลักต่าง ๆ เปรียบเทียบลักษณะศิลปะเขมร ซึ่งมีการศึกษาวิวัฒนาการและกำหนดอายุของศิลปะไว้แล้ว ได้กำหนดเรียกชื่อแบบศิลปะตามสถานที่ หรือปราสาทที่เรียกกันในปัจจุบัน ดังนี้
หน้า 11
จากการศึกษาโบราณวัตถุที่ปรากฏอยู่ในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ จะเห็นได้ว่า ปราสาท ภูมิโปน เป็นปราสาทแบบสัมโบร์ไพรกุก ปราสาทสังข์ศิลปชัย ต.บ้านจารย์ อ.สังขะ เป็นปราสาทศิลปะแบบไพรกะเม็ง ซึ่งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นสมัยของอาณาจักรเจนละ นอกจากนี้ยังมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุอีกหลายแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยเจนละนี้
เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วยพลเมือง 2 เชื้อชาติ คือ คนไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ กับไทยกูย ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า ส่วย นั่นเอง
ขณะที่เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายเขมรนั้น เราก็หลีกเลี่ยงการรับรู้วัฒนธรรมของชาวไทยกูยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับธรรมชาติอันสัมพันธ์กับสัตว์ป่า เช่น ตะกวด เต่า ช้าง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความเก่าแก่ของชนชาติกูยว่า น่าจะเป็นชนชาติโบราณเจ้าของถิ่นเดิมในดินแดนแถบนี้
ส่วนชาวไทยกูย ก็ได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ในวิถีชีวิตของเขากับสัตว์ป่า เช่น ตะกวด เต่า ช้าง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งพวกเขามีประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในเอเซียทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ประกาศลัทธิเทวราชา และสถาปนาอาณาจักรอังกอร์ขึ้นแล้ว สุรินทร์จึงกลายเป็นเมืองอันดับรองลงไป แต่ระยะเวลานับพันปี แห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรเจนละและขอมโบราณนั้น มนุษย์ได้สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมไว้มากมาย ซึ่งนอกจากด้านสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกของโลกแล้ว ในด้านศิลปหัตถกรรม เช่น เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง การทอผ้าไหม ฯลฯ ก็มีอยู่มากมายทีเดียว แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เมื่อที่ใดมีความเจริญรุ่งเรืองถึงที่สุดก็มักจะถึงจุดเสื่อมเสมอ ในที่สุด ศิลปวัฒนธรรมของขอมโบราณก็ได้ถูกทำลายลงด้วยสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ที่สำคัญยิ่งก็ดูเหมือนจะมีอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ
ครั้งแรก คือ การบุกเข้าปราบปรามของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 1975 ซึ่งขณะนั้นเป็นการเผาทำลายคล้ายพม่าเผากรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2310 นั่นเอง นอกจากนั้นก็ยังมีการขนเครื่องเงิน เครื่องทอง เพชรนิลจินดา สิ่งของมีค่าทั้งหลายอันเป็นศิลปหัตถกรรมของชาวเขมรมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมากมายมหาศาลทีเดียว สมบัติที่กษัตริย์ได้ขนมา จากประเทศเขมรสมัยนั้น ส่วนหนึ่งถูกบรรจุไว้ในกรุใต้ปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ก็ถูกขโมยเอาออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นเวลานับร้อยปี ที่มีเหลืออยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศิลปหัตถกรรมที่นำมาจากประเทศเขมรเท่านั้น จนมีคนกล่าวไว้ว่า “กรุสมบัติที่วัดราชบูรณะนั้น ถ้าหากไม่มีการขโมยออกมาเป็นเวลานับร้อยปี สมบัติดังกล่าวนี้อาจจะมากกว่า กรุสมบัติของตุตัน คาเมลแห่งอียิปต์โบราณก็ได้”
การเผาเมืองพระนครครั้งนั้น จึงเป็นเหตุให้ถึงวาระสุดท้ายของอาณาจักรขอมโบราณ และหลังจากนั้น เมืองหลวงก็ถูกย้ายออกไปอยู่ที่อื่น และในที่สุดก็ถึงกรุงพนมเปญในปัจจุบัน ส่วนจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรขอมโบราณ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่ออาณาจักรขอมโบราณสิ้นสุดลง มีผลทำให้เมืองสุรินทร์หมดเจ้าเมือทำการปกครองไปด้วย และเป็นเมืองร้าง ไม่มีอำนาจรัฐจากภายนอกอยู่เป็นเวลาประมาณ 350 ปี แต่ประชาชนก็ยังใช้ภาษาและสืบทอด
หน้า 12
ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีของบรรพบุรุษของเขามาโดยตลอดอย่างไม่ขาดสาย จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2320 เมื่อเชียงปุม ( พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์) เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองตี (คือที่ตำบลเมืองทีในปัจจุบัน) ย้ายมาตั้งเมืองขึ้นที่เมืองสุรินทร์ในปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งที่สอง การทำสงครามต่อเนื่องยาวนาน ระหว่างเขมรกับจักรวรรดิ์นิยมฝรั่งเศส อเมริกา ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึง พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ต่อด้วยสงครามล้างเผ่าพันธุ์ เป็นระยะเวลานับครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ ทำให้ศิลปหัตถกรรมของเขมรถูกทำลายลงอีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ ศิลปหัตถกรรม รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีของเขมรโบราณแทบจะหาดูไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ที่พอจะหาดูได้ก็มีเฉพาะ ในท้องที่อันเป็นที่อยู่ของคนไทย เชื่อสายเขมรและไทยกูยในจังหวัดสุรินทร์เท่านั้น
(ด้านล่างใต้ภาพหน้า 12) 14. เครื่องทองคำประดับอัญมณี พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หน้า 13 แผนที่ แผนที่จังหวัดสุรินทร์แสดงที่ตั้งชุมชนโบราณ
หน้า 15 ปราสาทสัมโบร์ไพรกุก จุดเริ่มต้นของสมัยอาณาจักรเจนละ ภายหลังปราบฟูนานแล้ว
และรวมเจนละบก เจนละน้ำ เป็นอาณาจักรเดียวกัน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 12