ปรัชญาปารมิตาหทัยสูตร 心经 (ฉบับแปลเอง)
"รูปทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา ไร้ซึ่งแก่นสาร ไร้ซึ่งอัตตา ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า“รูป” และแม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ล้วนเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า “นาม”เฉกเช่นเดียวกัน" จริงๆต้นฉบับใช้ภาษาจีนว่า “空” อ่านว่า “คง”ที่แปลว่า “ว่างเปล่า โดยแปลมาจากศัพท์สันสกฤตจากคำว่า “ศูนยตา” แต่ไม่ได้แปลว่า “ความว่าง” ดังที่แปลๆกัน เพราะภาษาจีนใช้เป็นศัพท์เฉพาะทางศาสนาแปลว่า “ศูนยตา”
และศูนยตาในภาษาสันสกฤต หลังพุทธกาลกับ อนัตตาในภาษาบาลี ในยุคพุทธกาล ก็คือความหมายเดียวกัน เป็นคำไวพจน์ซึ่งกันและกัน แต่แตกต่างที่ภาษา บริบททางสังคม และยุคสมัยที่ต่างกัน
พุทธศาสนายุคแรกใช้ภาษามคธ(บาลี)เป็นหลัก และพระพุทธองค์ทรงสอนพราหมณ์เป็นหลัก ซึ่งพราหมณ์ยุคนั้นยังมีการประพฤติธรรมสละ กิเลส ประพฤติพรรมจรรย์ เพื่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน เพียงแต่จุดมุ่งหมายก็คือ บรรลุโมกษะ ไปรวมกับ พรมมัน อาตมัน หรือ ปรมาตมัน อันเที่ยงแท้และนิรันดร
ดังนั้นพราหมณ์ในยุคนั้นจึงมีความพร้อมที่สุดที่จะได้บรรลุธรรม พระพุทธองค์จึงไปสั่งสอนโดยการปฏิเสธการมีอยู่ของอาตมัน หรือ อัตตา ดังนั้นจึงเกิดคำว่า ”อนัตตา“
แต่ในพุทธศาสนายุคหลัง เป็นยุคที่เฟื่องฟูสุดขีดในชมพูทวีป มหายานเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น และภาษาสันสกฤตก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น จนเป็นภาษากลางในการสื่อสารของแคว้นต่างๆ
มหายานจึงได้แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีขึ้นสู่พากย์สันสกฤต รวมทั้งอรรกถา ฏีกา อนุฏีกา ทั้งหมด และยังรวมมติ คำสอนและคัมภีร์ของพระอาจารย์ต่างๆสอดแทรกเข้าไปอีกมากมาย จนเรียกได้ว่าเป็นพวก “อาจาริยวาท”
ส่วนความเชื่อเรื่อง “พรมมัน หรือ อาตมัน”ของศาสนาพราหมณ์โบราณถูกลดคุณค่าลงไปจนหมด เมื่อแปลคำว่า “อนัตตา” จากภาษาบาลีโบราณไปสู่ภาษาสันสฤกตยุคกลาง ก็เลยต้องใช้คำว่า “ศูนยตา”แทน
อย่างไรก็ตามในคัมภีร์สันสฤตมหายานก็ยังใช้คำว่า“อนัตตา” อยู่บ้างในหลายๆแห่ง ก็คือคำว่า “อนาตมัน” (अनात्मन् อนาตฺมนฺ) ส่วนในพระไตรปิฎกพากย์จีนท่านใช้คำว่า 《無我》 ซึ่งก็แปลได้ตรงตัว
ส่วนลัทธิพรามหณ์ที่เคยเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว หรือพระผู้สร้างคือ “พระพรหม” ต่างก็แยกแตกเป็นนิกายทั้งไศวะนิกาย และ ไวษณพนิกาย จนกลายเป็นศาสนาฮินดูในเวลาต่อมา
พระพรหมจึงหมดความหมาย เป็นเพียงพระผู้สร้างอย่างเดียว สร้างโลกเสร็จก็บรรทมหลับ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวหลับนานเป็นกัลป์ๆ ไม่มีสิทธิดลบัลดาลอะไรให้ได้ แถมพระพรหมไปเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอีก ชาวฮินดูก็เลยเลิกนับถือพระพรหมมาตั้งแต่นั้นมา จวบจนปัจจุบันในประเทศอินเดีย เทวสถานของพระพรหมจึงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศ
หลัก“อนัตตา” หรือ“ศูนยตา”นี่แหละคือแก่นแท้ของพุทธศาสนา เพราะได้เห็นแจ้งในรูปว่าไม่ใช่ตัวตนย่อมเกิดมหาปัญญา เห็นแจ้งในความไม่ใช่ตัวตนว่า สักแต่ว่าเป็นรูป ย่อมเกิดมหากรุณา เมื่อเห็นแจ้งในรูปเป็นความว่างเปล่าไร้ซึ่งตัวตน บุคคล เรา เขา ความยึดมั่นในอัตตาย่อมไม่มี ดังนี้แลฯ