เรื่องรัตนสูตร (ต่อ)
๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๔
จะแสดงตำนานแห่งรัตนสูตร อันเป็นตำนานที่สองต่อ โดยที่พระสูตรนี้ตามตำนานแสดงว่า ได้เกิดภัยขึ้น ๓ ประการในเมืองเวสาลี ขัตติยะทั้งหลายแห่งกรุงเวสาลีจึงได้เชิญเสด็จพระพุทธเจ้าจากกรุงราชคฤห์มาสู่กรุงเวสาลีเพื่อระงับภัยทั้ง ๓ ประการนั้น คือทุพภิกขภัย ภัยที่เกิดจากข้าวยาก คือหาภิกษาสำหรับบริโภคได้ยากเพราะฝนแล้ง อมนุษยภัย ภัยที่เกิดจากอมนุษย์ และโรคภัย ภัยที่เกิดจากโรค ฉะนั้น จึงจะกล่าวถึงเรืองอมนุษย์อันหมายถึงบรรดาโอปปาติกะ คือจำพวกที่เรียกว่า ลอยเกิดทั้งหลาย ดังที่เราเรียกกันว่าเทพดาบ้าง ผีต่าง ๆ บ้างเป็นต้น ฉะนั้น ก็จะกล่าวถึงโยนิ คือกำเนิดที่แสดงไว้ในพุทธศาสนาว่ามีอยู่ ๔ คือ
หนึ่ง ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ กำเนิดชลาพุชะนั้นได้แก่กำเนิดมนุษย์และกำเนิดเดียรัจฉานที่คลอดออกเป็นตัวและดูดนม เช่น โค กระบือ สุนัข แมว เป็นต้น
สอง อัณฑชะ เกิดในไข่ ได้แก่กำเนิดเดรัจฉานที่เกิดในไข่ก่อนแล้วจึงฟักออกเป็นตัว เช่น ไก่ เป็ด นก เป็นต้น
สาม สังเสทชะ กำเนิดในเถ้าไคล หมายเอากำเนิดเดรัจฉานที่เกิดในของโสมม เช่น หมู่หนอน
สี่ โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นหรือที่เรียกว่าลอยเกิด ได้แก่กำเนิดเทวดาและสัตว์นรกเป็นต้น เทวดาก็ดี สัตว์นรกก็ดี ไม่ได้เกิดด้วยกำเนิด ๓ ข้างต้น เกิดผุดขึ้นในทันใด โตใหญ่เป็นวิญญูชนทีเดียว หาได้เกิดทารกมาก่อนไม่ เมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากไว้
สำหรับ ๓ กำเนิดข้างต้น ถ้าจะแยกให้ชัดจากกำเนิดอัณฑชะเกิดในไข่ ควรแบ่งดังนี้
จำพวกเกิดในไข่ฟักแล้วเป็นตัวเติบขึ้น นับเข้าในจำพวกสัตว์เป็นอัณฑชะ
จำพวกเกิดในไข่หรือไม่ปรากฏว่าเกิดจากอะไร เช่น หนอน และแมลงต่าง ๆ จัดเป็นสังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล
อีกอย่างหนึ่ง น่ากำหนดว่า จำพวกมีเลือดแดงเกิดในอัณฑชะเกิดในไข่ จำพวกมีเลือดเหลือง จัดเป็นสังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล โดยเค้าเงื่อนก็สมกัน
สำหรับจำพวกที่เรียกว่า อมนุษย์ ก็หมายถึงจำพวกที่เป็นโอปปาติกะคือเกิดผุดขึ้น ดังแสดงในโยนิคือกำเนิดทั้ง ๔ นี้ สำหรับในพระสูตรนี้ได้เรียกจำพวกอมนุษย์ว่า ภูตะ ที่ไทยเราก็เรียกเหมือนกันเช่น ภูตผี ภูต ก็มาจาก ภูตะนี้เอง แต่คำว่า ภูตะ ใช้หมายความได้หลายอย่าง ตามศัพท์ ภูตะ แปลว่า ผู้ที่เป็นแล้วหรือสิ่งที่เป็นแล้ว บางแห่งก็หมายถึงขันธ์ ๕ บางแห่งก็หมายถึงธาตุทั้ง ๔ ดังที่เรียกว่ามหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตใหญ่ทั้ง ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุลมบางแห่งก็หมายถึงพระอรหันต์ขีณาสพ เรียกว่าภูตะ บางแห่งก็หมายถึงสรรพสัตว์หรือสัตว์โลกทั้งหมดเรียกว่า ภูตะทั้งนั้น บางแห่งก็หมายถึงถ้อยคำที่เป็นจริงหรือที่มีอยู่ บางแห่งก็หมายถึงภูตคามคือพวกต้นไม้ เพราะฉะนั้น ภูตะจึงมีความหมายหลายอย่าง และที่หมายจำเพาะถึงจำพวกโอปปาติกะที่เป็นชั้นต่ำ ดังที่เราเรียกว่าภูตผี ดั่งนี้ก็มี สำหรับที่หมายถึงสรรพสัตว์นั้นยังมีคำที่คู่กัน คือ สัมภเวสีกับภูตะ สัมภเวสีนั้นแปลว่า สัตว์ผู้แสวงหาสมภพคือแสวงหาที่เกิด สัตว์ผู้ที่ได้เกิดและเกิดแล้วเป็นในชาติภพใดภพหนึ่งก็ตาม เรียกว่าภูตะ สำหรับสัมภเวสีและภูตะนี้ใช้คู่กัน ดังจะมีกล่าวถึงในกรณียเมตตสูตร อันเป็นพระสูตรที่แสดงในตำนานต่อไป จึงจะไว้อธิบายในตอนที่แสดงกรณียเมตตสูตรนั้น แต่สำหรับในรัตนสูตรนี้เมื่อยกตำนานขึ้นมาอ้าง ภูตะที่หมายถึงก็น่าจะหมายถึงพวกภูตผีตามที่เชื่อถือกัน เพราะว่ามาก่อภัยให้แก่หมู่มนุษย์ เป็นภัยอย่างหนึ่งในภัยทั้งสาม คืออมนุษยภัย แต่ว่าในพระสูตร พระอาจารย์ได้อธิบายคลุมหมดว่า ภูตะที่หมายถึงในพระสูตรหมายถึงจำพวกอมนุษย์ทั้งหมด จะเป็นเทพดาก็ได้ ต่ำกว่าก็ได้ เพราะจะเป็นเทพดาหรือจะเป็นจำพวกไหนก็ตาม ก็เป็นอมนุษย์ที่แปลว่าไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าหมายคลุมทั้งหมดและเรื่องกำเนิดโอปปาติกะนี้ ก็ได้เป็นที่เชื่อถือกันมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วทรงแสดงธรรมสั่งสอนก็ได้แสดงถึง และก็ได้มีเรื่องที่เล่าในตำนานพุทธศาสนาว่า มีเทพดามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดา เหล่านี้เป็นต้น ตลอดจนถึงตำนานที่ ๑ ก็มีเล่าว่า เทพดาได้มาเฝ้ากราบทูลถามปัญหาเรื่องมงคลดังที่ได้แสดงแล้ว เพราะฉะนั้น จึงจะได้จับแสดงในตัวพระสูตรต่อไป ซึ่งแสดงในตำนานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงประตูเข้าเมืองเวสาลีก็ได้แสดงพระสูตรนี้แก่พระอานนท์เถระ และโปรดให้พระอานนท์เถระเดินไปตามกำแพงรอบเมืองเวสาลี ซึ่งพระอานนท์เถระท่านก็สาธยายพระสูตรนี้ และท่านก็ประพรมน้ำจากบาตรพระพุทธเจ้าไปทั่วเมืองเวสาลี สำหรับตัวรัตนสูตรได้มีแสดงไว้ดังที่สวดกันว่า ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ ภุมฺมานิ วา ยานิว อนฺตลิกฺเข เป็นต้น ที่แปลความว่า
หมู่ภูตเหล่าใดที่เป็นผู้อาศัยอยู่ตามภาคพื้นแผ่นดินอันเรียกว่า ภุมมะ หรือดังที่ไทยเรียกว่า พระภูมิ หรือว่าเหล่าใดที่อยู่ในอากาศซึ่งมาประชุมกันแล้วในที่นี้ ขอหมู่ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพ
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๑
เพราะเหตุนั้นแล ท่านภูตทั้งปวงจงตั้งใจฟัง
กระทำไมตรีจิตในหมู่มนุษยชาติประชุมชน มนุษย์เหล่าใดย่อมนำไปซึ่งพลี ดังที่เรียกว่าสังเวยทั้งกลางวันกลางคืน
เพราะเหตุนั้นแลท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทรักษาหมู่มนุษย์เหล่านั้น
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๒
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันใดอันหนึ่งในโลกนี้หรือโลกอื่น
หรือรัตนะอันใด อันประณีตในสวรรค์
รัตนะอันนั้น เสมอด้วยพระตถาคตเจ้า ไม่มีเลย
แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๓ เป็นคาถาที่แสดงถึงพระพุทธรัตนะ
พระศากยมุนีเจ้ามีพระหฤทัยดำรงมั่นได้บรรลุธรรมอันใดเป็นที่สิ้นกิเลส
เป็นที่สิ้นราคะ เป็นอมฤตธรรมอันประณีต
สิ่งไร ๆ เสมอด้วยพระธรรม ย่อมไม่มี
แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๔ แสดงถึงธรรมรัตนะ รัตนคือธรรมที่เป็นส่วนอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญแล้วซึ่งสมาธิอันใดว่า เป็นธรรมอันสะอาด
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงสมาธิอันใด ว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่น เสมอด้วยสมาธินั้น ย่อมไม่มี
แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๕ แสดงถึงธรรมรัตนะ รัตนะคือพระธรรมที่เป็นส่วนสังขตธรรม ธรรมที่ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง
วันนี้ยุติตอนนี้เท่านี้.
๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๔
จะแสดงตำนานแห่งรัตนสูตร อันเป็นตำนานที่สองต่อ โดยที่พระสูตรนี้ตามตำนานแสดงว่า ได้เกิดภัยขึ้น ๓ ประการในเมืองเวสาลี ขัตติยะทั้งหลายแห่งกรุงเวสาลีจึงได้เชิญเสด็จพระพุทธเจ้าจากกรุงราชคฤห์มาสู่กรุงเวสาลีเพื่อระงับภัยทั้ง ๓ ประการนั้น คือทุพภิกขภัย ภัยที่เกิดจากข้าวยาก คือหาภิกษาสำหรับบริโภคได้ยากเพราะฝนแล้ง อมนุษยภัย ภัยที่เกิดจากอมนุษย์ และโรคภัย ภัยที่เกิดจากโรค ฉะนั้น จึงจะกล่าวถึงเรืองอมนุษย์อันหมายถึงบรรดาโอปปาติกะ คือจำพวกที่เรียกว่า ลอยเกิดทั้งหลาย ดังที่เราเรียกกันว่าเทพดาบ้าง ผีต่าง ๆ บ้างเป็นต้น ฉะนั้น ก็จะกล่าวถึงโยนิ คือกำเนิดที่แสดงไว้ในพุทธศาสนาว่ามีอยู่ ๔ คือ
หนึ่ง ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ กำเนิดชลาพุชะนั้นได้แก่กำเนิดมนุษย์และกำเนิดเดียรัจฉานที่คลอดออกเป็นตัวและดูดนม เช่น โค กระบือ สุนัข แมว เป็นต้น
สอง อัณฑชะ เกิดในไข่ ได้แก่กำเนิดเดรัจฉานที่เกิดในไข่ก่อนแล้วจึงฟักออกเป็นตัว เช่น ไก่ เป็ด นก เป็นต้น
สาม สังเสทชะ กำเนิดในเถ้าไคล หมายเอากำเนิดเดรัจฉานที่เกิดในของโสมม เช่น หมู่หนอน
สี่ โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นหรือที่เรียกว่าลอยเกิด ได้แก่กำเนิดเทวดาและสัตว์นรกเป็นต้น เทวดาก็ดี สัตว์นรกก็ดี ไม่ได้เกิดด้วยกำเนิด ๓ ข้างต้น เกิดผุดขึ้นในทันใด โตใหญ่เป็นวิญญูชนทีเดียว หาได้เกิดทารกมาก่อนไม่ เมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากไว้
สำหรับ ๓ กำเนิดข้างต้น ถ้าจะแยกให้ชัดจากกำเนิดอัณฑชะเกิดในไข่ ควรแบ่งดังนี้
จำพวกเกิดในไข่ฟักแล้วเป็นตัวเติบขึ้น นับเข้าในจำพวกสัตว์เป็นอัณฑชะ
จำพวกเกิดในไข่หรือไม่ปรากฏว่าเกิดจากอะไร เช่น หนอน และแมลงต่าง ๆ จัดเป็นสังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล
อีกอย่างหนึ่ง น่ากำหนดว่า จำพวกมีเลือดแดงเกิดในอัณฑชะเกิดในไข่ จำพวกมีเลือดเหลือง จัดเป็นสังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล โดยเค้าเงื่อนก็สมกัน
สำหรับจำพวกที่เรียกว่า อมนุษย์ ก็หมายถึงจำพวกที่เป็นโอปปาติกะคือเกิดผุดขึ้น ดังแสดงในโยนิคือกำเนิดทั้ง ๔ นี้ สำหรับในพระสูตรนี้ได้เรียกจำพวกอมนุษย์ว่า ภูตะ ที่ไทยเราก็เรียกเหมือนกันเช่น ภูตผี ภูต ก็มาจาก ภูตะนี้เอง แต่คำว่า ภูตะ ใช้หมายความได้หลายอย่าง ตามศัพท์ ภูตะ แปลว่า ผู้ที่เป็นแล้วหรือสิ่งที่เป็นแล้ว บางแห่งก็หมายถึงขันธ์ ๕ บางแห่งก็หมายถึงธาตุทั้ง ๔ ดังที่เรียกว่ามหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตใหญ่ทั้ง ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุลมบางแห่งก็หมายถึงพระอรหันต์ขีณาสพ เรียกว่าภูตะ บางแห่งก็หมายถึงสรรพสัตว์หรือสัตว์โลกทั้งหมดเรียกว่า ภูตะทั้งนั้น บางแห่งก็หมายถึงถ้อยคำที่เป็นจริงหรือที่มีอยู่ บางแห่งก็หมายถึงภูตคามคือพวกต้นไม้ เพราะฉะนั้น ภูตะจึงมีความหมายหลายอย่าง และที่หมายจำเพาะถึงจำพวกโอปปาติกะที่เป็นชั้นต่ำ ดังที่เราเรียกว่าภูตผี ดั่งนี้ก็มี สำหรับที่หมายถึงสรรพสัตว์นั้นยังมีคำที่คู่กัน คือ สัมภเวสีกับภูตะ สัมภเวสีนั้นแปลว่า สัตว์ผู้แสวงหาสมภพคือแสวงหาที่เกิด สัตว์ผู้ที่ได้เกิดและเกิดแล้วเป็นในชาติภพใดภพหนึ่งก็ตาม เรียกว่าภูตะ สำหรับสัมภเวสีและภูตะนี้ใช้คู่กัน ดังจะมีกล่าวถึงในกรณียเมตตสูตร อันเป็นพระสูตรที่แสดงในตำนานต่อไป จึงจะไว้อธิบายในตอนที่แสดงกรณียเมตตสูตรนั้น แต่สำหรับในรัตนสูตรนี้เมื่อยกตำนานขึ้นมาอ้าง ภูตะที่หมายถึงก็น่าจะหมายถึงพวกภูตผีตามที่เชื่อถือกัน เพราะว่ามาก่อภัยให้แก่หมู่มนุษย์ เป็นภัยอย่างหนึ่งในภัยทั้งสาม คืออมนุษยภัย แต่ว่าในพระสูตร พระอาจารย์ได้อธิบายคลุมหมดว่า ภูตะที่หมายถึงในพระสูตรหมายถึงจำพวกอมนุษย์ทั้งหมด จะเป็นเทพดาก็ได้ ต่ำกว่าก็ได้ เพราะจะเป็นเทพดาหรือจะเป็นจำพวกไหนก็ตาม ก็เป็นอมนุษย์ที่แปลว่าไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าหมายคลุมทั้งหมดและเรื่องกำเนิดโอปปาติกะนี้ ก็ได้เป็นที่เชื่อถือกันมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วทรงแสดงธรรมสั่งสอนก็ได้แสดงถึง และก็ได้มีเรื่องที่เล่าในตำนานพุทธศาสนาว่า มีเทพดามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดา เหล่านี้เป็นต้น ตลอดจนถึงตำนานที่ ๑ ก็มีเล่าว่า เทพดาได้มาเฝ้ากราบทูลถามปัญหาเรื่องมงคลดังที่ได้แสดงแล้ว เพราะฉะนั้น จึงจะได้จับแสดงในตัวพระสูตรต่อไป ซึ่งแสดงในตำนานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงประตูเข้าเมืองเวสาลีก็ได้แสดงพระสูตรนี้แก่พระอานนท์เถระ และโปรดให้พระอานนท์เถระเดินไปตามกำแพงรอบเมืองเวสาลี ซึ่งพระอานนท์เถระท่านก็สาธยายพระสูตรนี้ และท่านก็ประพรมน้ำจากบาตรพระพุทธเจ้าไปทั่วเมืองเวสาลี สำหรับตัวรัตนสูตรได้มีแสดงไว้ดังที่สวดกันว่า ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ ภุมฺมานิ วา ยานิว อนฺตลิกฺเข เป็นต้น ที่แปลความว่า
หมู่ภูตเหล่าใดที่เป็นผู้อาศัยอยู่ตามภาคพื้นแผ่นดินอันเรียกว่า ภุมมะ หรือดังที่ไทยเรียกว่า พระภูมิ หรือว่าเหล่าใดที่อยู่ในอากาศซึ่งมาประชุมกันแล้วในที่นี้ ขอหมู่ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพ
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๑
เพราะเหตุนั้นแล ท่านภูตทั้งปวงจงตั้งใจฟัง
กระทำไมตรีจิตในหมู่มนุษยชาติประชุมชน มนุษย์เหล่าใดย่อมนำไปซึ่งพลี ดังที่เรียกว่าสังเวยทั้งกลางวันกลางคืน
เพราะเหตุนั้นแลท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทรักษาหมู่มนุษย์เหล่านั้น
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๒
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันใดอันหนึ่งในโลกนี้หรือโลกอื่น
หรือรัตนะอันใด อันประณีตในสวรรค์
รัตนะอันนั้น เสมอด้วยพระตถาคตเจ้า ไม่มีเลย
แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๓ เป็นคาถาที่แสดงถึงพระพุทธรัตนะ
พระศากยมุนีเจ้ามีพระหฤทัยดำรงมั่นได้บรรลุธรรมอันใดเป็นที่สิ้นกิเลส
เป็นที่สิ้นราคะ เป็นอมฤตธรรมอันประณีต
สิ่งไร ๆ เสมอด้วยพระธรรม ย่อมไม่มี
แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๔ แสดงถึงธรรมรัตนะ รัตนคือธรรมที่เป็นส่วนอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญแล้วซึ่งสมาธิอันใดว่า เป็นธรรมอันสะอาด
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงสมาธิอันใด ว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่น เสมอด้วยสมาธินั้น ย่อมไม่มี
แม้อันนี้ เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี
นี้เป็นคำแปลของคาถาที่ ๕ แสดงถึงธรรมรัตนะ รัตนะคือพระธรรมที่เป็นส่วนสังขตธรรม ธรรมที่ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง
วันนี้ยุติตอนนี้เท่านี้.