“รถ เทียมม้าอัสดรแสนคัน หญิงสาวผู้ประดับด้วยเครื่องประดับล้ำค่ามีตุ้มหูเพชรเป็นต้น จำนวนแสนคน ทั้งหมดนี้ถึงจะมีค่ามากมายมหาศาลสักปานใด แต่ก็ไม่สามารถเทียบเท่าครึ่งเสี้ยวที่ ๑๖ ของท่านผู้ที่กำลังก้าวไปเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าได้เลย” (สัง.ส. ๑๕/๒๔๒/๒๕๔)
โสดาปัตติผลกับการพิจารณามหาปัจจเวขณะ ๗
สำหรับผู้ที่ปฎิบัติธรรมทั้งหลายต้องการที่จะรู้ภูมิธรรมของตนว่าได้ อริยะมรรค อริยะผลแล้วหรือยัง ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะองค์คุณแห่งโสดาปัตติผล สำหรับพิจารณามรรคผลในเบื้องต้น ซึ่งได้อ้างอิงจากพระบาลีมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โกสัมพิยสูตร ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ญาณใดซึ่งเป็นญาณที่ปราศจากโทษ (ในที่นี้คือโสดาปัตติมรรค) เป็นญาณที่นำออก(จากทุกข์) และญาณที่ว่านี้สามารถนำบุคคลผู้นั้นเจริญมรรคนั้นให้หมดสิ้นความทุกข์โดย ชอบได้อย่างไร”
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ(อริยะบุคคล)ในพระธรรมวินัยนี้ก็ดี อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนต้นไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนที่เงียบสงัดก็ดี ย่อมพิจารณาว่า “ปริยุฏฐานกิเลสอันเป็นเหตุทำให้จิตกระสันขึ้นมาจนทำให้ไม่รู้ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริง ที่เรายังไม่สามารถละได้นั้น ยังมีอยู่ในสันดานเราบ้างหรือไม่หนอ”
ข้อความต่อไปนี้ เป็นเพียงการแจกแจงปริยฏฐานกิเลสโดยละเอียดเท่านั้น มิได้หมายความว่า ปริยุฏฐานกิเลสทั้งหมดเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นแก่พระเสกขบุคคลคนเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย…. ถ้าภิกษุถูกปริยุฏฐานกิเลสคือกามราคะครอบงำ เธอก็จะยังมีจิตกระสันอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ…
ภิกษุทั้งหลาย….. ถ้าภิกษุถูกปริยุฏฐานกิเลสคือถีนมีนทะครอบงำ เธอก็จะยังมีจิตกระสันอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ…
ภิกษุทั้งหลาย….. ถ้าภิกษุถูกปริยุฏฐานกิเลสคืออุทธัจจกุกุจจะครอบงำ เธอก็จะยังมีจิตกระสันอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ…
ภิกษุทั้งหลาย….. ถ้าภิกษุเป็นผู้สนใจในการคิดในเรื่องโลกปัจจุบันแล้วละก็ เธอก็จะยังมีจิตกระสันอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ…
ภิกษุทั้งหลาย….. ถ้าภิกษุเป็นผู้สนใจในการคิดในเรื่องโลกหน้าแล้วละก็ เธอก็จะยังมีจิตกระสันอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ…
ภิกษุทั้งหลาย….. ถ้าภิกษุเกิดการทะเลาะวิวาท พูดเสียดแทงด้วยคารมอันแหลมคมเพียงดังหอกแล้วละก็ เธอก็จะยังมีจิตกระสันอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ…
และภิกษุนั้นย่อมกำหนดรู้ทันอย่างนี้ว่า “ปริยุฏฐานกิเลส อันเป็นเหตุให้จิตกระสัน จนทำให้ไม่รู้ มองไม่เห็นตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งเป็นกิเลสที่เรา(คิดว่า)ยังละไม่ได้นั้น ไม่มีอยู่ในจิตสันดานของเรา จิตนั้นเราได้ตั้งไว้ตรงแล้วเพื่อการบรรลุอริยสัจจ ดังนี้” (หมายความว่าท่านได้กำหนดรู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ อย่างไม่มีความหลง)
เป็นอันว่า ปัจจเจกขณญาณที่ ๑ ที่อาศัยโลกุตร อันเป็นสมบัติของพระอริยะ ไม่ใช่ของสาธารณะแก่ปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสดวงนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุผูเป็นโสดาบัน ฉะนี้แลฯ