ติดต่อสอบถาม กรุณาแอด Line @astroneemo

  • Slider 1
  • Slider 2
  • Slider 3
  • Slider 4
  • Slider 5
  • Slider 6
  • Slider 7
  • Slider 8

Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

ganesh chaturthi

 

เทศกาล คเณศ จตุรฺถี गणेश चतुर्थी  ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564

ฤกษ์บูชาพระคเณศ -มัธยาหนะ  คณปติ ปูชา มุหูรตะ मध्याह्न  गणपति पूजा मुहूर्त ปฐมฤกษ์เวลา11:01 น. ถึง 13:28 น. เป็นปัจฉิมฤกษ์ (ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย) ระยะเวลาของฤกษ์ 02 ชั่วโมง 27 นาที เนื่องจากเชื่อกันว่า พระศรีคเณศทรงประสูติในวันนี้เวลาเที่ยงวัน จึงต้องทำการบูชาตามเวลาของ มัธยาหนะ  คณปติ ปูชา มุหูรตะ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละปีและแต่พื้นที่ เพราะต้องทำการคำนวณฤกษ์จากเวลาท้องถิ่นของสถานที่นั้นๆ  

วันคณปติ วิสรฺชน गणपति विसर्जन ในวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564

ฤกษ์ร้าย-ห้ามมองดูดวงจันทร์ มิถยา กะลังกะ โทษ मिथ्या  कलंक ตั้งแต่เวลา  08:55 - 21:01 น. ระยะเวลา- 12 ชั่วโมง 06 นาที

จตุรถีดิถี เริ่มเวลา 01:48 น. ของวันที่ 10 ก.ย. 2564  จนถึงเวลา 23:27 น. ของวันที่ 10 ก.ย. 2564

เทศกาล คเณศ จตุรฺถี गणेश चतुर्थी 

หรือวันคเณศโษตสาวะ  หรือ คเณศ-อุตสาวะ หรือเทศกาลแห่งการบูชาพระคเณศวร หรือวันเกิดพระคเณศ ซึ่งจะกระทำในทุกๆปี ในวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 10 หรือเดือนภัทรปท  ประมาณ10 วัน จากวันขึ้น 4ค่ำ-วันขึ้น 14 ค่ำ เรียกว่า “อนันต จตุรทัสสี  ศุกลปักษ์” ซึ่งในการบูชาเฉลิมฉลองนี้จะทำกันในประเทศอินเดียและทั่วโลกที่มีชาวฮินดูอาศัยอยู่ วันสุดท้ายของการเฉลิมฉลองในเทศกาลนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ เทศกาลคณปติ วิสารชัน

พิธีกรรมในการบูชา

พิธีบูชาสถาปนาองค์พระพระคเณศจะเริ่มกระทำเป็นพิธีแรก เริ่มจากการสถาปนาหม้อกลัศ ที่ใส่พวกของมีค่าศักดิ์สิทธิ์, เพชรนิลจินดา, หินมงคล, ทราย, ดินแม่น้ำ, ทองคำ, ทองเหลือง, ทองแดง, โลหะต่างๆ, เหรียญ, น้ำมนต์ โดยมีพราหมณ์คอยกำกับเพื่ออัญเชิญเทวานุภาพแห่งองค์พระพระคเณศมาสถิต จากนั้นทำการสวดสรวโตภัทรปีฐ เป็นการสร้างอาสนะเพื่อต้อนรับเทพเจ้าที่สร้างขึ้นจากอักษัต หรือเมล็ดข้าวสารย้อมสีเรียงเป็นตาราง โดยจะสวดมนตรากำกับเมล็ดต่อเมล็ด และวางดอกไม้และขนมในช่องของภัทรปีฐเพื่อถวายแด่เทวดา

จากนั้นจะบูชาพระพระคเณศด้วยพิธีอุปจาระทั้ง 16 ขั้นตอน षोडशोपचार पूजा   (คณปติ โษฑโศปจาร ลฆฺปูชาวิถี) ได้แก่ การถวายอาสนะ, การล้างพระบาท, การล้างพระหัตถ์, การบ้วนพระโอษฐ์, การสรงสนาน, การสรงเครื่องหอม, การอภิเษก, การถวายเครื่องทรง, การถวายสายยัชโญปวีต, การจุลเจิม, การถวายดอกไม้มาลัย, การถวายธูปและประทีป, การถวายอาหาร หมากพลู และการทำอารตี ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการถวายแสงประทีปแด่องค์เทวรูป แสงไฟที่ลุกขึ้นในถาดจะเผาผลาญสิ่งอัปมงคลให้มลายหายสิ้น พระองค์จะประทานแสงสว่างทางปัญญาให้เกิดแก่ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา โดยผู้บูชาจะเอาฝ่ามืออังเปลวไฟที่เสร็จพิธีมาแตะหน้าผาก ถือเป็นการรับเอาสิ่งอันเป็นมงคลสู่ตัวเสมือนได้รับพรจากเทพโดยตรง

อุปกรณ์ที่ใช้การบูชาพระพระคเณศ ได้แก่ ธูป 16 ดอก, ดอกดาวเรือง (ความเจริญรุ่งเรือง), น้ำสะอาด, นมสดรสจืด, ผลไม้ เช่น กล้วย (ทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จโดยง่ายดาย) อ้อย (ความหวาน สดชื่น) มะพร้าว (ความเจริญรุ่งเรือง ความบริสุทธิ์), ขนมหวาน (ต้องไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์)

เมื่อเตรียมของเสร็จแล้วให้ทำจิตสงบนิ่งและเริ่มสวดบูชา โดยคาถาที่นิยม คือ ‘โอม ศรี คะเนศา ยะนะมะฮา’ ให้ทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ วนไปเรื่อยๆ หรือจะเป็น 108 จบก็ดี หลังจากนั้นทำ อารตี และขอพรตามประสงค์ โดยกล่าว ‘โอม ศานติ...ศานติ...ศานติ’ เพื่อขอความสันติให้บังเกิดเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี*

ในพิธีบูชาจตุรถีนั้น มักบูชาด้วยใบไม้ต่างๆ ก่อนหน้า 21 วัน โดยวันแรกจะมีการปั้นองค์พระคเณศจำลองจากแป้งมงคลผสมผงจันทน์และน้ำหอม หากต้องการได้กุศลมากให้ปั้นเอง แต่ส่วนใหญ่จะหาซื้อได้ทั่วไปเช่นเดียวกับเทศกาลต่างๆ ในบ้านเรา มีทั้งที่ทำจากดินเหนียวหรือพืชสมุนไพรแล้ววาดลวดลายสีสันสวยสดงดงามโดยช่างฝีมืออาชีพ นำมาบูชาไว้ในบ้านโดยจัดตั้งในที่อันสมควร มีบายศรี ถวายขนมโมทกะ หรือขนมรันดู อ้อย กล้วย หญ้าแพรก พร้อมสรรเสริญพระนามทั้ง 108 พระนามของพระองค์ หากให้พราหมณ์เป็นผู้จัดจะถูกต้องและเหมาะสมกว่า ตามฐานะหรือวรรณะของเจ้าบ้าน จะบูชาตลอด 21 วัน ด้วยใบไม้ต่างๆ 21 วัน ดังต่อไปนี้

  1. 1.ใบมาจี เป็นพวกหญ้าคาชนิดหนึ่ง
    2.ใบพฤหตี ชื่อไทยคือ หนามแดง เป็นพวกมะเขือพวง หรือ มะแว้ง
    3.ใบพิลว หรือใบมะตูม
    4.ใบทูรวา เป็นพวกหญ้าแพรก
    5.ใบทุตูระ เป็นพวกไม้ลำโพงหรือชุมเห็ดเทศ
    6.ใบพทรี คือใบพุทรา
    7.ใบอปามารุค ไทยเรียกว่าพันธุ์งู
    8.ใบตุลสี คือใบกะเพราแดง
    9.ใบจูตะ คือใบมะม่วง
    10.ใบกรวีระ คือรำเพยหรือยี่โถฝรั่ง
    11.ใบวิษณุกรานตะ ไม้ป่ามีดอกเล็กสีน้ำเงิน
    12.ใบทาฑิมิ คือใบทับทิม
    13.ใบเทวทารุ ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cedrus Deodora
    14.ใบมรุวกะ หรือมทนา
    15.ใบสินธุวาร ไทยเรียก คนทีเขมา
    16.ใบชาชี ไทยเรียก จันทน์เทศ
    17.ใบคัณฑาลิ มีดอกสีขาวคล้ายมะลิป่า
    18.ใบสมี
    19.ใบอัศวัตถา คือไม้โพ
    20.ใบอรชุน ไทยเรียก สลักหลวง
    21.ใบอรก อาจตรงกับต้นรักของไทย**

บทสวดอารตีถวายพระคเณศ श्री गणेश की आरती

जय गणेश जय गणेश, जय गणेश देवा।

ชะยะ คะเณศะ ชะยะ คะเณศะ, ชะยะ คะเณศะ เทวาฯ

माता जाकी पार्वती, पिता महादेवा॥

มาตา ชากี ปารวะตี, ปิตา มะหาเทวา๚

एक दंत दयावंत, चार भुजा धारी।

เอกะ ทันตะ ทะยาวันตะ, จาระ ภุชา ธารีฯ

माथे सिंदूर सोहे,मूसे की सवारी॥

มาเถ สินทูระ โสเห,มูเส กี สะวารี๚

जय गणेश जय गणेश, जय गणेश देवा।

ชะยะ คะเณศะ ชะยะ คะเณศะ, ชะยะ คะเณศะ เทวาฯ

माता जाकी पार्वती, पिता महादेवा॥

มาตา ชากี ปารวะตี, ปิตา มะหาเทวา๚

पान चढ़े फल चढ़े, और चढ़े मेवा।

ปานะ จะฒะเอ ผะละ จะฒะ़เอ, เอาระ จะฒะ़เอ เมวาฯ

लड्डुअन का भोग लगे, संत करें सेवा॥

ลัฑฑุอะนะ กา โภคะ ละเค, สันตะ กะเรม เสวา๚

जय गणेश जय गणेश, जय गणेश देवा।

ชะยะ คะเณศะ ชะยะ คะเณศะ, ชะยะ คะเณศะ เทวาฯ

माता जाकी पार्वती, पिता महादेवा॥

มาตา ชากี ปารวะตี, ปิตา มะหาเทวา๚

  

ตำนานการห้ามมองพระจันทร์

ในวันคเณศ จตุรฺถี ตามตำนานเล่าว่าพระพระคเณศรู้สึกไม่พอพระทัยที่ถูกพระจันทร์หัวเราะเยาะ หลังจากที่พระองค์เสวยขนมโมทกะจนอิ่มหนำ แล้วทรงประทับบนหลังหนู ระหว่างนั้นบังเอิญมีงูตัวหนึ่งเลื้อยผ่านหน้ามา ทำให้หนูตกใจ หยุดกระทันหันทำให้ท่านตกจากหลังหนูหกล้มจนท้องแตก ขนมทั้งหมดทะลักออกมาจากท้อง พระพระคเณศก็รีบยัดขนมกลับไปในพุงดังเดิมแล้วเอางูตัวนั้นมารัดเป็นเข็มขัด พระจันทร์เห็นเข้าจึงรู้สึกขบขันและหัวเราะเยาะพระองค์  ทำให้พระคเณศรู้สึกอับอายและพิโรธ จึงหักงาข้างหนึ่งขว้างไปโดนพระจันทร์จนเว้าแหว่ง เป็นเหตุให้พระจันทร์ปรากฏเหลือเพียงแค่เสี้ยวเดียว แล้วสาปพระจันทร์อีกว่า ให้พระจันทร์หมดรัศมีกลายเป็นจันทร์ดับ และเป็นสิ่งอัปมงคลต่อผู้ที่มองพระจันทร์ พระจันทร์ตกใจกลัวคำสาปของพระคเณศ จึงอ้อนวอนขอให้พระคเณศก็ทรงอภัยให้ พระคเณศสงสาร จึงให้พรกลับไปว่า ให้พระจันทร์นั้นมีรัศมีค่อยๆสว่าง จนเต็มดวง และค่อยๆมืดลงจนไม่เห็นพระจันทร์และให้ เป็นเช่นนี้ตลอดไป จึงเป็นที่มาของการเกิดข้างขึ้น-ข้างแรม

และหากใครมองพระจันทร์ในวันบูชาของพระองค์ ผู้นั้นจะต้องคำสาปของพระองค์ให้ทำให้คนๆนั้นบังเกิดแต่อุปสรรค ไม่สำเร็จในสิ่งที่หวัง และสุดท้ายจะกลายเป็นจัณฑาล และหากถ้าผู้ใดได้มองพระเห็นจันทร์ โดยพลาดพลั้งไม่ตั้งใจ  ก็จะทำการแก้คำสาป ด้วยการให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้าน ช่วยกันแช่งด่าผู้นั้นทันที เพราะเชื่อกันว่า การแช่งด่านั้นจะเป็นการแก้เคล็ดและทำให้คนๆนั้นพ้นจากคำสาปของวันคเณศ จตุรฺถี ไปได้

วิธีแก้เคล็ดการดูดวงจันทร์ในวันคเณศจตุรถี

เชื่อกันว่าไม่ควรเห็นดวงจันทร์ในวันคเณศจตุรถี การมองเห็นดวงจันทร์ในวันคเณศจตุรถีจะทำให้เกิดโทษซึ่งเรียกว่า มิถยา ตรรกะ मिथ्या तर्क หรือ มิถยา กะลังกะ मिथ्या  कलंक ซึ่งหมายถึงการเข้าใจผิดหรือถูกกล่าวหาในการขโมยบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งไม่เป็นจริง

ตามตำนานในคัมภีร์ปุราณะ พระกฤษณะถูกกล่าวหาว่าขโมยอัญมณีล้ำค่าชื่อ"สิมันตากะ" เมื่อพระนารทฤาษีเห็นความทุกข์ทรมานจากการถูกกล่าวหาของพระกฤษณะ จึงบอกพระกฤษณะว่ามาจากการที่ท่านมองดูดวงจันทร์ในวันคเณศจตุรถี  ซึ่งตรงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือนภัทรปทมาส  และด้วยเหตุนี้ท่านจึงถูกสาปด้วย มิถยา โทษ

พระนารทฤาษีจึงบอกพระกฤษณะต่อไปอีกว่า พระจันทร์นั้น ถูกสาปโดยพระคเณศว่าทุกคนที่มองเห็นดวงจันทร์ในวันคเณศจตุรถี วันขึ้น 4 ค่ำ เดือนภัทรปทมาส จะถูกสาปด้วย  มิถยา ตรรกะ मिथ्या तर्क หรือ มิถยา กะลังกะ मिथ्या  कलंक และจะเสียและเสียชื่อเสียงในสังคม ตามคำแนะนำของปราชญ์พระนารทฤาษี ให้พระกฤษณะถือศีลอดในวันนั้นเพื่อกำจัด มิถยา โทษ

“มนตรา”ป้องกันมิถยา โทษ

ขึ้นอยู่กับเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของจตุรถีดิถี (ตามดิถีเพียรทางโหราศาสตร์)การดูดวงจันทร์ในบางปีอาจห้ามไว้สองวันติดต่อกัน  ถ้าใครเห็นพระจันทร์ในวันคเณศจตุรถี โดยพลาดพลั้งไปก็ควรสวดมนตราบทนี้เพื่อกำจัดคำสาป –

सिंहः प्रसेनमवधीत्सिंहो जाम्बवता हतः।
सुकुमारक मारोदीस्तव ह्येष स्यमन्तकः॥

สิมหะห์ ประเสนะมะวะธีตสิมโห ชามพะวะตา หะตะห์ฯ

สุกุมาระกะ มาโรทีสตะวะ หเยษะ สยะมันตะกะห์๚

 

การทำพิธีบูชาที่บ้าน

ครอบครัวชาวฮินดูจะตั้งรูปปั้นพระคเณศหรือมูรตี ซึ่งทำจากดินเผาขนาดเล็กสำหรับบูชาในช่วงเทศกาลมีการบูชารูปปั้นมูรตีในตอนเช้าและเย็นด้วยดอกไม้ ทุรวา (หญ้าอ่อน) คะรันจิ และขนมโมทกะการนมัสการจบลงด้วยการทำอารตีเพื่อบูชาพระคเณศ และเทพเจ้าองค์อื่นๆ ซึ่งประเพณีของแต่ละครอบครัวก็จะแตกต่างกันไป

เมื่อสิ้นสุดการเฉลิมฉลอง หรือในวันที่ 11 วัน รูปปั้นพระคเณศหรือมูรตี ถูกอัญเชิญจุ่มลงไปในน้ำ  เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ หรือทะเล นอกจากนี้บางครอบครัวก็จะมีการถือศีลอดอีกด้วย

เทศกาลแห่งการบูชาพระคเณศนี้เริ่มมาแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เชื่อว่าได้มีการกระทำกันต่อเนื่องยาวนานมานับพันปี แต่ได้รับความนิยมในช่วงระหว่างการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ ที่ปกครองอินเดีย ซึ่งชาวอินเดียได้ใช้กุศโลบายในการเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมของอินเดียมาช่วยเผยแพร่สร้างความสามานฉันท์ระหว่างคนในชาติโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรรณะ โดยเฉพาะคนในวรรณะพรามณ์และไม่ใช่พราหมณ์ เพื่อสร้างความสามัคคี และเชื่อว่าพระคเณศคือเทพเจ้าสำหรับคนทุกชั้นวรรรณะ   และมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษในสมัยนั้น จนเกิดเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่และสร้างความนิยมมาจนกระทั่งบัดนี้

การใช้ฤกษ์ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศ (มูรตี สถาปนา)
ในทางโหราศาสตร์การประดิษฐานรูปองค์ของพระพิฆเนศควรกระทำในวัน จตุรถี(4ค่ำ) หรือ จตุรทศี (14 ค่ำ) และถ้าตรงกับวันอาทิตย์ก็จะยิ่งเป็นมงคล หรือหากลัคนาสถิตราศีสิงห์ในโหราอาทิตย์ และเสวยนวางศ์อาทิตย์ ส่วนจันทร์เสวยจิตรานักษัตร หรือ เชษฐะนักษัตร ก็จะยิ่งเป็นมงคล และรูปเคารพขององค์พระพิฆเนศควรหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก

 

 

วันคณปติ วิสรฺชน गणपति विसर्जन

ในวันที่สิบเอ็ดหรือวันสิ้นสุดของเทศกาลคเณศ จตุรฺถี มีการพิธีบูชาพระคเณศด้วยขนม ผลไม้ มะพร้าว ดอกไม้ ฯลฯ ก็มีขวนแห่งรูปปั้นพระคเณศไปตามถนนหนทางต่างๆ มีการสวดมนต์ “คณปติ ปาปะ โมรยา “ หรือ “คเณศ มหาราช กี,ไจ” อย่างกึกก้องตลอดทั้งขบวนแห่ หลังจากนั้นรูปปั้นของพระพิฆเณศจะถูกนำไปลอยน้ำโดยเฉพาะอย่างในแม่น้ำ ทะเลสาบหรือในทะเล

แต่สำหรับเมืองไทยก็มีพิธีกรรมบูชาในเทศกาลนี้ซึ่งได้มีการจัดขึ้นมาหลายๆแห่ง ไม่ว่าที่เชียงใหม่ หรือพัทยา หรือ กทม. แต่ที่น่าสนใจก็ต้องที่วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า กรุงเทพฯ

*ขอบพระคุณข้อมูลจาก “กรุงเทพธุรกิจ”  และ**ขอบพระคุณข้อมูลจาก “คมชัดลึก”