รามา นวมี राम नवमी
รามา นวมี राम नवमी หรือ ศรีราม นวมี เป็นเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู เป็นวันเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติพระราม(อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์) ในวันขึ้น 9 ค่ำเดือนจิตตราตามปฏิทินฮินดู (จิตตรามาสะ ศุกลปักษานวมี) และเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลจิตตรานวราตรี
พระรามซึ่งเป็นราชโอรสของท้าวทศรถ และพระนางเกาศัลยา แห่งอาณาจักรอโยธยาตามตำนานในเรื่องรามายณะ แต่งโดยมหาฤาษี วาลมิกิ (ไทยเรียก-รามเกียรติ์) ซึ่งต่อมาพระรามได้อภิเษกสมรสกับพระนางสีดา ในวันวิวาหะ ปัญจมี ซึ่งก็เป็นเทศกาลสำคัญอีกวันหนึ่งของพระรามเช่นกัน
ในบางท้องถิ่นของอินเดียเทศกาลนี้จะเฉลิมฉลองต่อเนื่องยาวนานถึง 9 วัน 9คืน เรียกว่า “ศรีรามา นวราตรา” มีการร้องเพลงสวดแบบต่อเนื่องไม่หยุดพักตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน เรียกว่า “อขัณฑะ ปาฐะ” अखंड पाठ แต่สำหรับบางท้องที่ที่มีอิทธิพลจาก รามายณะ ฉบับ ของ ตุลสีทาส (รามเกียรติ์มีผู้แต่ง 2 คน ต่างกัน 2 ฉบับคือฉบับของ วาลมิกิ เรียกว่า “รามายณะ” กับของ ตุลสีทาส เรียกว่า “รามจริตมานัส”) จะมีการเฉลิมฉลองวันนวราตรานี้ก่อนล่วงหน้านานนับสัปดาห์ มีการเล่นเพลงสวด บาจัน และ กรีตัน มีพิธีอารตี และถวายของบูชาต่างๆมากมาย นอกจากนี้ก็มีขบวนแห่รูปปั้นพระรามในวัยทารก โดยวางนอนบนเปลเด็กแล้วแห่แหนไปรอบๆเมือง
ตามตำนาน วิษณุอวตาร หรือ นารายณ์อวตาร พระรามเป็นอวตารปางที่ 7 ซึ่งประสูติในตอนเที่ยงวัน ซึ่งในวันนี้วัดต่างๆและบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปก็ประดับประดาตกแต่งแท่นบูชาพระรามและนางสีดาด้วยความปราณีตและงดงาม และในตอนเช้าคนในครอบครัวก็จะร่วมกันสวดมนต์ตรงหน้าแท่นบูชาเพื่อขอพร ส่วนในวัดฮินดูก็จะมีพิธีโฮมมัน (วาหนะ) ซึ่งก็คือการทำพิธีบูชาไฟ พร้อมๆกับถวายผลไม้ ดอกไม้และการสาธยายมนต์จากคัมภีร์พระเวท นอกจากนี้ผู้ที่ศรัทธาบางคนก็จะทำการถือพรตอาหาร(วะรัต)ตลอดทั้งวันและคืน
สำหรับในอินเดียภาคใต้ วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันเฉลิมฉลองวันราชาภิเษกสมรสของพระรามและนางสีดา เรียกว่า “สีดารามา กัลยานามะ” และมีการสวดสรรเสริญพระนามของพระราม “รามา นามะ สวารานามะ” แต่สำหรับรามายณะฉบับ วาลมิกิ การเฉลิมฉลองวันอภิเษกสมรสจะกระทำในวันขึ้น 5 ค่ำในเดือน มฤคศิระ ต่างหาก
งานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจัดขึ้นที่ เมืองอโยธยา รัฐอุตรประเทศ และเมืองสีดา รัฐพิหาร และรัฐอื่นๆในตำนานอีกคือ อันตรประเทศ ทมิฬนาดู มีคนร่วมงานเฉลิมฉลองเป็นจำนวนมาก มีการแห่ราชรถ(ราชยานตรา)อัญเชิญรูปของพระราม นางสีดา พระลักษม์และหนุมาน”ไปรอบๆเมือง นอกจากนี้ยังมีพิธีอาบแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่แม่น้ำสรายุ
กำเนิดพระราม
ในมหากาพย์รามายณะเรื่องเกิดขึ้นสมัย ไตรดายุค มีท้าวทศรถซึ่งเป็นกษัตริย์ครองเมืองอโยธยา มีพระมเหสี สามพระองค์นามว่า พระนางเกาศัลยา(เกาสุริยา) พระนางสุมิตรา(สมุทรเทวี) และพระนางไกยเกษี
ท้าวทศรถทรงมีพระปริวิตกเนื่องจากทรงยังไม่มีพระโอรสและธิดาและไม่มีผู้จะสืบทอดราชบัลลังก์ พระฤาษีวสิษฐะได้แนะนำให้พระองค์ทำยัญพิธีเพื่อขอพระโอรสก็จะได้พระโอรสตามความปรารถนา และให้เชิญ พระมหาฤาษีกไลโกฏ แล้วถวายยัญพิธีแด่พระมหาฤาษี ท้าวทศรถก็เห็นด้วยแล้วจึงเสด็จไปอัญเชิญพระมหาฤาษีถึงที่อาศรม มหาฤาษีเมื่อทราบเรื่องแล้วก็รับปากว่าจะช่วยเหลือ แล้วพระมหาฤาษีก็เดินทางกลับเมืองอโยธยาพร้อมกับพระท้าวทศรถเพื่อมาทำพิธี เมื่อประกอบพิธีนี้เสร็จสิ้นลงก็ปรากฏขนมวิเศษขึ้นมาในถ้วย(ไทย-เป็นพิธีกวนข้าวทิพย์) ท้าวทศรถจึงแบ่งขนมครึ่งหนึ่งให้กับมเหสีองค์ใหญ่คือพระนางเกาสุริยา และอีกครึ่งหนึ่งให้พระมเหสีรองพระนางไกเกษี ทั้งสองพระนางจึงแบ่งส่วนของตนเองอีกครึ่งหนึ่งให้กับพระนางสุมิตรา มเหสีองค์ที่สาม จากนั้นไม่กี่วันพระมเหสีทั้งสามก็ทรงพระครรภ์ เมื่อถึงวันขึ้น 9 ค่ำเดือนจิตรามาสพระนางเกาสุริยาทรงประสูติพระราม พระนางไกยเกษีประสูติพระพรต(ภรต) และพระนางสุมิตราประสูติพระโอรสแฝดสองพระองค์คือ พระลักษณ์ ( ลักษมณะ) และพระสัตรุด (ศัตรุฆน์)
พระรามซึ่งเป็นองค์อวตารปางที่ 7ของพระวิษณุ ซึ่งพระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จลงมาโปรดชาวโลกเพื่อปราบยุคเข็ญ เพราะอธรรมอยู่เหนือธรรมะ และพระองค์ทรงมีชัยชนะเหนืออสูรร้ายและกำจัดสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายให้หมดสิ้น และได้รับการขนานพระนามว่า “ราวาณะ”