เทศกาล มหาศิวราตรี (महाशिवरात्रि)
Maha Shivaratri คือวันสำคัญทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศิวราตรี แปลว่า ราตรีหรือค่ำคืนแห่ง (การบูชา) พระศิวะเจ้า ศิวราตรีเป็นเทศกาลสำคัญยิ่งวันหนึ่งในรอบปีของชาวฮินดู โดยพิธีศิวราตรีจะจัดขึ้นในช่วงวันแรม(กฤษณปักษ์) แรม 13 ค่ำ(กฤษณไตรโยทศี) หรือ แรม 14 ค่ำ(กฤษณจตุรทศี) ของเดือน มาฆะ หรือเดือน ผลาคุณะ (ตามปฏิทินของฮินดู) หรือตามแบบสากลพิธีนี้จะอยู่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี วันเริ่มต้นของพิธีนี้อาจจะแตกต่างกันในประเทศอินเดีย และเนปาล และการคำนวณวันของเทศกาลนี้อาจจะแตกต่างกันในระบบปฏิทินฮินดูของพระเจ้าสลิวาหนะ และ ปฏิทินของพระเจ้าวิกรมอาทิตย์ ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันหยุดราชการในประเทศอินเดีย พิธีศิวาราตรี เป็นวันสำคัญอันดับที่ 34 ของชาวฮินดู วันนี้ชาวฮินดูจะบูชาพระศิวะตลอด 24 ชั่วโมง ผู้นับถือเคร่งครัดอดอาหารและอดนอนตลอด 24 ชั่วโมง วันนี้เป็นวันปรากฏของพระศิวะ และวันแต่งงานของพระศิวะ เชื่อกันว่าบูชาพระศิวะแล้ว จะได้คู่ชีวิตที่ดีและมีความสุขความเจริญ วันนี้ ประชาชนโดยทั่วไป ตลอดทั้งนักพรต นักบวชในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั่วทุกสารทิศก็จะหลั่งไหลไปทำพิธีลอยบาปกันที่แม่น้ำคงคา ตรงจุฬาตรีคูณ เมืองอันลาฮาบาดทุก ๆ ปีจึงนับได้ว่าพิธีลอยบาปนี้เป็นพิธีที่สำคัญและยิ่งใหญ่อีกพิธีหนึ่งที่ ประชาชนให้ความสนใจและไปร่วมประกอบพิธีนี้ เพราะในแต่ละปีนั้นจะมีประชาชนไปร่วมงานนับล้านคน
สำหรับสถานที่ประกอบพิธีลอยบาปนี้จะกำหนดไว้ที่จุดคงคาจุฬาตรีคูณ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำคงคา ยมุนาและสรัสวตี ณ จุดที่บรรจบกันของแม่น้ำทั้ง 3 สาายนี้เองที่เรียกว่า "จุฬาตรีคูณ" ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของเมืองอัลลาฮาบาด ประเทศอินเดีย และที่บรรจบกันชื่อจุฬาตรีคูณจะมองเห็นเป็นน้ำสองสี สองกระแส กระทบกันได้อย่างชัดเจนและเป็นวังน้ำวน จึงเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์สำหรับผู้พบเห็นด้วยเหตุนี้นั้น ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจึงมีความเชื่อว่าภายใต้แม่น้ำ 5 สายนั้นยังมีแม่น้ำใต้ดินอีกสายหนึ่ง ซึ่งมองไม่เห็นได้ไหลมาบรรจบกัน ณ ตรงจุดนี้เป็นตาน้ำพุ่งขึ้น แม่น้ำสายนั้นก็คือ แม่น้ำสรัสวดี ดังนั้นจุดที่มาบรรจบกันของแม่น้ำสำคัญทั้ง 3 สายนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า "จุฬาตรีคูณ" พิธีนี้โดยปกติจะกระทำเพียงแค่ 1 วันและ 1คืนเท่านั้น ยกเว้นในแคว้นแคชเมียร์จะกระทำพิธีต่อเนื่องยาวนานถึง 15 วัน
พิธีกรรมบูชา
ตามคัมภีร์ศิวะปูราณะ การบูชาจะทำการอาบน้ำศิวลึงค์ด้วยของต่างๆเช่น น้ำผึ้ง นมสด ธูปหอม ผงขี้เถ้า น้ำตาล ใบมะตูม หมายความถึงความบริสุทธิ์แห่งจิตวิญญาณ หลังจากนั้นก็จะแต้มชาดลงบนศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงคุณธรรม จากนั้นก็จะถวายผลไม้เพื่อความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ความพึงพอใจ และการได้สมปรารถนา และถวายธูปหรือกำยานเพื่อความมั่งคั่ง ถวายประทีปหรือไฟ เพื่อปัญญาญาณ และถวายใบพลูเพื่อความสุขในทางโลก ในการทำพิธีผู้บูชาจะทำการสวดพระนาม “โอม นมัส ศิวะ” ตลอดทั้งราตรี การบูชาจะกระทำ 4 ครั้งในตลอดทั้งคืน โดยเวลาบูชาดังกล่าวจะต้องคำนวณฤกษ์บูชาตามระบบปัญจางคะ ตามปฎินฮินดู เพื่อเฟ้นหาฤกษ์ยามที่ดีที่สุดในการบูชา และหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ไม่ดี อันมีผลต่อการสวดอ้อนวอนให้สัมฤทธิ์ผล และเวลาที่สำคัญที่สุดในการบูชาอ้อนวอน เรียกว่า “ฤกษ์-นีศีลถะกาละบูชา” ซึ่งต้องคำนวนฤกษ์ยามโดยวิธีพิเศษ การบูชาในเวลานี้ถือว่าให้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด
ตำนานพิธีมหาศิวราตรี
มีตำนานและเรื่องราวมากมายที่อธิบายถึงที่มาของเทศกาลนี้ เกี่ยวเนื่องกับตำนานการกวนเกษียรสมุทร ที่ทั้งเหล่าทวยเทพและอสูรต่างก็ร่วมมือร่วมใจช่วยกันจนปรากฏหม้อพิษขึ้นมา จากเกษียรสมุทรที่สามารถทำลายทั้งจักรวาลได้
เหล่าเทพและอสูรต่างก็เกรงกลัวพิษภัยนี้ จึงรีบรุดไปกราบทูลพระศิวเทพ ด้วยพระเมตตาของพระองค์ที่จะช่วยเหลือโลกให้อยู่รอด จึงทรงดื่มน้ำพิษนั้นเสีย แต่แทนที่จะทรงกลืนเข้าไป ก็ทรงเก็บพิษนั้นไว้ที่พระศอ ทำให้พระศอเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้รับการขนานพระนามว่า นีลกัณตะ (Neelakanta)
เพื่อรำลึกถึงเหตุการสำคัญในการช่วยเหลือโลกในครั้งนี้ของพระองค์ ชาวฮินดูจึงได้เฉลิมฉลองวันสำคัญ “มหาศิวราตรี”
นี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในวันนี้จะมีการถวายใบมะตูม (Bael / Bilva) เพื่อบูชาพระศิวะ รวมทั้งมีการอดอาหารตลอดทั้งวันและคืน ชาวฮินดูยังนิยมถวายใบกัญชาแด่พระองค์และสาวกของพระองค์ด้วย รวมทั้งการทำทุกรกิริยา โยคะ และทำสมาธิเป็นการบำเพ็ญบุญและเพื่อให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งยังมีนายพรานผู้หนึ่งมีนามว่า สุสวาร ได้พักอาศัยอยู่ใกล้แค้วนพาราณสี มีอาชีพล่าสัตว์และจับสัตว์ไปขายในเมืองใหญ่ จนกระทั่งในวันหนึ่งได้ออกไปล่าสัตว์ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ว่าโชคไม่เข้าข้างกลับไม่พบกับสัตว์ให้ล่าแม้เพียงตัวเดียว นายพรานสุสวารจึงได้เดินท่องเที่ยวหาสัตว์เข้าไปในป่าลึกและลืมเวลาจนพลบค่ำ
วันที่นายพรานสุสวารออกล่าสัตว์นั้นเป็นข้างแรม ท้องฟ้าปราศจากหมู่ดวงดาวและแสงสว่างอื่นใด นายพรานสุสวารได้หลงทางจนไม่ทราบว่าจะสามารถกลับออกมาจากป่าลึกนี้ได้อย่าง ไร และป่าลึกนี้ย่อมมีสัตว์ร้ายเป็นแน่ ด้วยความเกรงกลัวต่อสัตว์ร้ายในตอนกลางคืน นายพรานสุสวารจึงได้คิดปีนต้นไม้ใหญ่เพื่อความปลอดภัย และขึ้นไปนอนหลับรอแสงสว่าง
บังเอิญต้นไม้ใหญ่ที่ว่านี้ คือ ต้นไทรใหญ่และใต้ต้นไทรใหญ่นี้ มีศิวะลึงค์ประดิษฐานอยู่ ป่าลึกใหญ่ที่น่ากลัวแห่งนี้ตกดึกสงัดยิ่งดูน่ากลัวเข้าทุกที ทำให้พรานผู้นี้ได้ท่องบ่งมนตราบูชาต่อพระศิวะเทพ และเมื่อดึกเข้า นายพรานสุสวารเกิดความหิวและกระหายน้ำมากแต่ก็ไม่รู้จะหาน้ำและอาหารจากไหน จึงได้อดทนต่อไป และอีกประการหนึ่งนายพรานนี้มีความวิตกห่วงใยต่อครอบครัว ภรรยา และลูก ๆ ว่าคงรอคอยผู้เป็นบิดา ด้วยความหิวเป็นแน่แท้ และภรรยาต้องรอคอยการกลับของผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ด้วยอาการกระสับกระส่ายของพรานผู้นี้ เขาได้เริ่มร้องให้และดึงใบไม้ออกจากกิ่งปล่อยให้ใบไม้นั้นร่วงลงพื้น ให้บังเอิญตกลงบนศิวะลึงค์ที่อยู่ใต้ต้นไทรใหญ่โดยมิได้ตั้งใจ วันนี้แท้จริงแล้วคือ "วันศิวะราตรี" นายพรานได้กราบไหว้บูชาท่องบ่นมนตราบูชาต่อพระศิวะเจ้า โด ยที่ไม่ได้ตั้งใจ
เรื่องนี้พระศิวะเจ้า ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณ พระองค์ทรงโปรดนายพรานเป็นอันมาก ต่อมาภายหลังที่นายพรานสุสวารได้สิ้นลมหายใจไปแล้ว จึงได้ขึ้นไปอยู่บนศิวะโลก เป็นบริวาลแห่งพระศิวะเจ้า อย่างมีความสุข หลุดพ้นจากบาปทั้งหมดที่ได้เคยกระทำไว้ในชาตินี้
เมื่อถึงระยะเวลาหมดสิ้นในการเสวยผลบุญบนศิวะโลก นายพรานสุสวารท่านนี้ ได้กลับมาเกิดใหม่ในโลกมนุษย์ จากผลบุญที่ได้บูชาและท่องบ่นมนตราต่อพระศิวะเจ้า จึงถือเพศเป็นพระราชามีพระนามว่า "พระไชตรภานุ" พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทต่อการกราบไหว้บูชาต่อพระศิวะเจ้าและบูชามาก ที่สุดในวันศิวะราตรีนี้ และถือได้ว่าเป็นยอดแห่งผู้บูชาในวันนี้
พิธีศิวาราตรี จากพระราชพิธี 12 เดือน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( 2514 : 113 – 116 ) ได้ทรงอธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระราชพิธี 12 เดือน พระองค์ทรงอธิบายถึง “พิธีศิวาราตรี” ซึ่งเป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ โดยมีเรื่องราวที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ ดังต่อไปนี้
ส่วนการพิธีของพราหมณ์ ซึ่งเรียกว่าศิวาราตรี ซึ่งเป็นพิธีมาแต่โบราณ จะขาดสูญเสียแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ ตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ยังไม่เคยทำ พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหมู่กริ้วพระสงฆ์ว่าไม่ทำปวารณา และไม่ทำอุโบสถ เป็นการละเลยข้อสำคัญตามวินัยบัญญัติเสีย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเดือนสิบสอง
ส่วนพิธีศิวาราตรีนี้ เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์คล้าย ๆ มหาปวารณา จึงโปรดให้ทำตามธรรมเนียมเดิม พิธีนี้ทำในวันเดือน 3 ขึ้น 15 ค่ำ คือ เวลาค่ำพระมหาราชครูทำพิธีแต่กระสูทธิ์ตามแบบเหมือนพิธีทั้งปวง แล้วเอาเสาปักสี่เสาเชือกผูกคอหม้อโยงเสาทั้งสี่ ภายใต้หม้อตั้งพระศิวลึงค์ เจาะหม้อให้น้ำหยดลงมาได้ทีละน้อยเอาขลังสอดไว้ในช่องหม้อเจาะนั้นเฉพาะตรง พระศิวลึงค์ ให้น้ำหยดลงถูกพระศิวลึงค์ทีละน้อยแล้วไหลลงตามรางซึ่งรองรับพระศิวลึงค์ ซึ่งพราหมณ์ในประเทศอินเดีย ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปเห็นเรียกว่าโยนิ แล้วมีหม้อรองที่ปากรองนั้น เติมน้ำและเปลี่ยนหม้อไปจนตลอดรุ่งเวลาใกล้รุ่งทำพิธีหุงข้าวหม้อหนึ่งใน เทวสถาน เจือน้ำผึ้งน้ำตาลนมเนย และเครื่องเทศต่าง ๆ สุกแล้วแจกกัน กินคนละเล็กละน้อยทุกคนทั่วกัน พอได้อรุณก็พากันลงอาบน้ำในคลอง สระผมด้วยน้ำที่สรงพระศิวลึงค์ ผมที่ร่วงในสระนั้นเก็บลอยไปตามน้ำ เรียกว่า ลอยบาป เป็นการเสร็จพิธีศิวาราตรีในวันเดียวนั้น แต่การพิธีนี้ไม่มีของหลวงพระราชทานเป็นของพราหมณ์ทำเอง เมื่อพิเคราะห์ดูการที่ทำนี้ เห็นว่าเป็นการย่อมาเสียแต่เดิมแล้ว
ในเมืองเบนนารีส คือ เมืองพาราณสี ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปเห็นเองในที่นั้น เบื้องหน้าแต่เวลาจวนอรุณ พราหมณ์ทั้งปวงนับด้วยพันคน มีหม้อทองเหลืองคนละใบทูนศีรษะเดินไปริมฝั่งแม่น้ำคงคานั้นที่แท่นก่อบ้าง ก้อนศิลาในน้ำบ้าง เอาหม้อทองเหลืองตักน้ำขึ้นมาเสกบ่น แล้วบ้วนปากล้างหน้า เสกอะไรต่ออะไรไปอีกหน่อยหนึ่ง แล้วโดดลงในน้ำดำศีรษะลงในน้ำสามครั้ง แล้วควักดินที่ท่านั้นมาถูกแทนสบู่ เวลาจะถูก็กรรมคาถาอะไรอีกแล้ว อาบน้ำล้างตัวหมดจดนุ่งผ้าห่มผ้า เอาหม้อทองเหลืองตัดน้ำทูนศีรษะลงมาที่วัดพราหมณ์ ในวัดนั้นมีที่ไว้เทวรูปสัณฐานเหมือนปรางค์อย่างโบราณ มีมุขยื่นออกมา ที่มุขนั้นพราหมณ์หรือฤๅษีกลาย ๆ ยืนอยู่ มีพวงมาลัยดอกดาวเรืองร้อยสวมดอกกองอยู่เป็นอันมากที่รอบบริเวณเทวสถานนั้น มีเป็นระเบียงคล้ายพระระเบียงล้อมรอบ ในระเบียบนั้นมีโคสีเทา ๆ คล้ายกับเชระนี เอามาเล่นเซอคัส ล่ามแหล่งไว้หลายตัว ในลานตั้งแต่เทวสถานถึงระเบียงรอบนั้นประมาณสัก 10 วา โดยรอบเต็มไปด้วย ศิวลึงค์ตั้งอยู่บนฐานที่เรียกว่า โยนิ สูงตั้งแต่ 5 นิ้ว 6 นิ้วขึ้นไป จน 2 ศอก เศษ 2 ศอก หลายร้อยจนนับ ไม่ถ้วน ที่อย่างเล็ก ๆ เพียงนิ้วหนึ่งสองนิ้วตั้งไว้บนฐานบัทม์ของเทวสถานก็มีโดยรอบหล่อด้วย ทองเหลืองก็มี ทำด้วยศิลาก็มี เมื่อคนที่เข้าไปในพอถึงประตูเทวสถาน ท่านฤาษีหรือพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่อยู่บนมุขเทวสถานนั้นโยนพวงมาลัยดอกดาวเรือง มา เฉพาะสวมคอทุกครั้ง เมื่อข้าพเจ้าไปนั้นไม่รู้ตัวว่าจะเล่นกันอย่างไร เป็นแต่บอกว่าถ้าจะเข้าไปดูต้องถอดรองเท้า ขุนนางอังกฤษที่เป็นผู้พานั้นก็ต้องยอมถอดรองเท้าเข้าไปเหมือนกัน พอโผล่ประตูเข้าไปรู้สึกว่าอะไรหวิวลงมาที่หัว แลดูเห็นพวงมาลัยดอกดาวเรืองสวมคออยู่แล้ว ยังไม่รู้ว่ามาจากแหล่งใด ต่อคนที่ตามเข้าไปภายหลังได้รับพวงมาลัยนั้นอีก จึงได้เห็นว่าท่านฤๅษีคนนั้นขว้างแม่นอย่างเอกที่เร็วฉับ ๆ ไม่ได้ขาดมือเลย เห็นคนที่เข้าไปก่อน ๆ นั้น เอาน้ำในหม้อทองเหลืองที่ทูนศีรษะไปรดศิวลึงค์ แล้วเอาหม้อใบนั้นเองรองน้ำที่ไหลทางรางแล้วเดินทูนศีรษะกลับออกมาในพื้นลาน เทวสถานนั้นเป็นน้ำนองเปรอะไปทั้งสิ้น บางคนจึงจะไปไหว้วัว แต่ที่เข้าไปรดน้ำแล้วกลับนั้นมีโดยมากถามได้ความว่าศิวลึงค์ที่มากแน่นเต็ม ไปเช่นนี้สุดแต่เกิดมาเป็นพราหมณ์ พวกนั้นแล้วต้องสร้างศิวลึงค์หนึ่ง ๆ ทุกคนที่จะรดน้ำสระหัว วัดหรือเทวสถานเช่นนี้ ในเมืองเบนนารีสมีหลายสิบแห่ง มักจะต้องอยู่ริม ๆ น้ำ กว้างบ้าง แคบบ้าง สูงบ้าง ต่ำบ้าง แต่ทวงทีคล้าย ๆ กันทั้งนั้น ครั้นเมื่อกลับออกมาที่นั้นแล้ว เห็นตามทางกำลังหุงข้าวเกือบจะทุกแห่ง หุงด้วยหม้อทองเหลืองใบนั้นเอง คนหนึ่งก็หุงหม้อหนึ่ง กินคนเดียวไม่ปะปนกับผู้ใด เรื่อที่อาบน้ำในน้ำนี้ ถึงตัวมหารายาเบนนารีสเอง และสนมกำนัลก็ต้องลงอาบเหมือนกัน ตัวท่านมหารายาได้เล่าได้ข้าพเจ้าฟังเองที่จะอาบนั้นใช้เรือขนานศีรษะเป็น รูปสัตว์ คล้ายกับที่รับข้าพเจ้าข้ามฟากไปที่รามนคร ซึ่งเป็นวัง แต่ฟังดูตามที่เล่านั้นจะเป็นการนุ่งกันได้บ้างดังโลเลไม่ทุกวัน หรือจะใช้หนี้คล้ายอัชชะมะยาได้บ้างอย่างไรไม่ทราบเลย พิธีศิวาราตรีนี้คงจะมาจาเรื่องนี้นี่เอง ถึงเรื่องหุงข้าวก็เป็นอาหารอร่อยของชาวอินเดีย ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยไปกินเลี้ยงแล้วนั่นเอง ได้ถามดูรสชาติที่พระมหาราชครูก็บอกว่ากลืนไม่ใคร่ลง เพราะพราหมณ์พวกนี้เป็นไทยเสียแล้ว จึงต้องย่อพิธีด้วยความประพฤติแปลกกันจึงได้กลายเป็นพิธีตามที่คนชั้นใหม่ ๆ เช่นเราเข้าใจว่าเป็นต่างว่าหรือย่อ ๆ ดังนี้