Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

สำหรับผู้ที่เริ่มเรียนโหราศาสตร์ใหม่ๆ มักจะค่อนข้างสับสนในเรื่องดาวเคราะห์ใดให้คุณหรือให้โทษ หรือเรียกง่ายๆว่าดาวดีกับดาวร้าย และบ่อยครั้งที่นักพยากรณ์มักจะพบเห็นว่าทำไมดาวเคราะห์ดีๆอย่างดาวพฤหัสมาทับลัคนาแทนที่มีเรื่องดีๆเกิดขึ้นกลับกลายเป็นเรื่องร้ายไป หรือดาวร้ายๆอย่างเสาร์อังคารมาทับลัคน์ก็กลับกลายเป็นเรื่องดีไปก็มีให้เห็นเสมอๆ  ดังนั้นในการดูว่าดาวใดดีหรือดาวใดร้ายนั้นสำคัญมากที่สุดในโหราศาสตร์ภาคพยากรณ์ ซึ่งหากวิเคราะห์ผิดการทำนายดวงชาตาก็ผิดไปด้วย

 

 

โดยการศึกษาโหราศาสตร์ในเบื้องต้นเรามักจะรู้แต่เพียงว่า ดาวดี หรือที่เรียกกันว่าดาวศุภเคราะห์นั้น มีเพียงดาวจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์และดาวพฤหัส ส่วนดาวร้าย หรือ เรียกว่าดาวปาปเคราะห์นั้น มีดาวอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวเสาร์ และราหู ทั้งหมดนี้เป็นหลักค่อนข้างที่จะตายตัว ดิ้นไม่ได้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

เรื่องการวินิจฉัยว่าดาวใดให้คุณ(ศุภผล)หรือให้โทษ(ปาปผล)นั้น มีวิธีการพิจารณาค่อนข้างที่จะซับซ้อนสักเล็กน้อยแต่หากเราพยายามเข้าใจในหลักการที่ค่อนข้างจะเป็นระบบจากหลักวิชาของโหราศาสตร์ภารตะ ก็จะทำให้เข้าใจถึงคุณลักษณะที่แท้จริงของดาวเคราะห์นั้นๆ

ในการวิเคราะห์พื้นดวงและบุคลิกลักษณะของเจ้าชาตา ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจลักษณะของดาวเคราะห์อย่างละเอียด โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องตามของธรรมชาติของดาวเคราะห์นั้นๆ เพื่อที่จะสามารถทำนายที่ผลดีและร้ายของดาวเคราะห์นั้นๆได้อย่างถูกต้อง  และก่อนที่เราจะก้าวเข้าไปสู่โลกแห่งโหราศาสตร์ในภาคพยากรณ์ เราจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจในหลักการและคุณลักษณะที่เป็นคุณหรือเป็นโทษของแต่ละดาวเคราะห์ให้ดีเสียก่อน โดยหลักการต่อไปนี้เป็นการรวบรวมทฤษฎีที่ว่าด้วย คุณลักษณะของดาวเคราะห์ จากคัมภีร์โหราศาสตร์ภารตะหลายๆคัมภีร์

โดยมีหลักว่า ดาวเคราะห์จะเป็นดาวศุภเคราะห์ หรือดาวปาปเคราะห์ ก็จากธรรมชาติของดาวเคราะห์นั้นเอง และดาวเคราะห์นั้นๆก็อาจจะเปลี่ยนแปลงกลายเป็น ดาวศุภเคราะห์ หรือดาวปาปเคราะห์ เพราะอิทธิพลของลัคนาในดวงชาตาก็ได้   และดาวเคราะห์เหล่านั้นจะแสดงให้เห็นปาปผล(ผลร้าย)หรือศุภผล(ผลดี)ในช่วงเวลาของดาวนั้นๆเสวยอายุในระบบทศา ซึ่งทศาระบบจะช่วยให้เราพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนธรรมชาติของดาวเคราะห์ต่างๆ ได้ถูกกำหนดจากหลักโหราศาสตร์มาตรฐานทั่วไป โดยมหาฤาษีประราสาระ ซึ่งมีหลักการพิจารณาดังนี้

1.ดาวปาปเคราะห์ และ ศุภเคราะห์ โดยธรรมชาติ

“ดาวเคราะห์จะเป็นปาปเคราะห์หรือ ศุภเคราะห์ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะโดยธรรมชาติของดาวเคราะห์เหล่านั้น โดยมี ดาวพฤหัสบดีดาวศุกร์, ดาวจันทร์ที่มีกำลัง(ข้างขึ้น 7 ค่ำ-ข้างแรม 7ค่ำ)และดาวพุธที่มีการสัมพันธ์กับดาวข้างต้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นดาวศุภเคราะห์ ธรรมชาติ

ในทำนองเดียวกันดวงอาทิตย์ดาวอังคารดาวเสาร์ราหูและเกตุ,  จันทร์ที่ไม่มีกำลัง (แรม 8ค่ำ-ขึ้น 6 ค่ำ) และดาวพุธที่มีการสัมพันธ์กับดาวข้างต้น ทั้งหมดนี้ถือเป็น ดาวปาปเคราะห์ธรรมชาติ”

อธิบาย.-ดังจะเห็นได้ว่า เงื่อนไขการเป็นดาวปาปเคราะห์และศุภเคราะห์อาจจะแตกต่างจากพื้นฐานที่เราเคยเรียนรู้มา เช่นดาวพุธ หากสัมพันธ์กับดาวปาปเคราะห์(กุม,โยค,เล็ง)ก็ถือว่าดาวพุธนั้นกลายเป็นปาปเคราะห์ไปด้วย ต่างจากที่เราเคยรู้มาว่าดาวพุธเป็นศุภเคราะห์เท่านั้น นอกจากนี้ดาวจันทร์ก็มีเงื่อนไขคล้ายกับดาวพุธข้างต้น คือ จันทร์แรม ถือว่ามีอิทธิพลหนักไปทางปาปเคราะห์ ส่วนจันทร์ข้างขึ้น ก็ถือว่าจันทร์นั้นเป็นศุภเคราะห์ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าจันทร์แรมในที่นี้หมายถึงจันอับแสงไม่มีกำลัง โดยคิดจากแรม 8 ค่ำ ถึงขึ้น 6 ค่ำ นอกนั้นถือว่าจันทร์มีกำลัง อาจจะเป็นเพราะว่าจันทร์เป็นดาวเคราะห์อ่อนแอและแสดงถึงความมีเมตตา และจันทร์จะแสดงผลเป็นปาปเคราะห์มากที่สุดเมื่อสถิตย์อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากเกินไป (จันทร์ดับ)

ส่วนดาวพุธ เป็นดาวเคราะห์อ่อนไหว และตกอยู่ใต้อิทธิพลของดาวอื่นๆได้ง่าย ดาวพุธจะแสดงผลเป็น ศุภเคราะห์ ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้อิทธิพลของดาวศุภเคราะห์ และแสดงผลเป็นปาปเคราะห์เมื่ออยู่ภายใต้อิทธิพลปาปเคราะห์ โดยหมายถึงการสถิตย์ร่วม หรือการได้รับโยคเกณฑ์จากศุภหรือปาปเคราะห์

นอกจากนี้ ราหูและเกตุก็สามารถแสดงผลเป็นดาวศุภเคราะห์ได้เช่นกัน เมื่อราหูและเกตุสถิตย์อยู่ในราศีของดาวพฤหัสบดีหรือดาวพุธ

2.ดาวศุภเคราะห์ และ ดาวปาปเคราะห์ จากราศีลัคน์

จากทฤษฏีของมหาฤาษีประราสาระ

ดาวเคราะห์จะแสดงผลเป็นดาวศุภเคราะห์ หรือ ดาวปาปเคราะห์ ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นเจ้าเรือนของดาวเคราะห์นั้นๆ ในแต่ละลัคนา  (ซึ่งดาวเจ้าเรือนของแต่ละลัคนาจะแตกต่างกัน) โดยบางลัคนาดาวเคราะห์อาจจะแสดงผลได้ถึงสามลักษณะคือ เป็นปาปเคราะห์ ศุภเคราะห์ และเป็นกลาง  ซึ่งหลักทฤษฎีนี้ถือเอาเรือนชาตาเป็นหลักในการวินิจฉัย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ดาวศุภเคราะห์ธรรมชาติอาจแสดงบทบาทเป็นดาวบาปเคราะห์ในดวงชาตา และในขณะที่ดาวปาปเคราะห์ธ​​รรมชาติอาจแสดงบทบาทเป็นดาวศุภเคราะห์(ในดวงชาตา)  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ดาวปาปเคราะห์ก็อาจจะให้ผลดีได้ (ศุภผล) และดาวศุภเคราะห์ก็อาจจะให้ผลร้าย(ปาปผล)ก็ได้เช่นเดียวกัน ในกรณีนี้มีหลักการอ้างอิงดังนี้

หลักการที่ 1

(ก) ดาวศุภเคราะห์ธรรมชาติที่เป็นเจ้าเรือนเกณฑ์ (เรือน 1,4, 7 และ 10) ถือว่าเป็นดาวศุภเคราะห์ (แต่ไม่ให้ผลดี)

(ข) ดาวปาปเคราะห์ธรรมชาติที่เป็นเจ้าเรือนเกณฑ์ (เรือน 1,4, 7 และ 10) ถือว่าเป็นดาวปาปเคราะห์ (แต่ไม่ให้ผลร้าย)

อธิบาย:

-ดาวศุภเคราะห์ธรรมชาติ คือดาวจันทร์ ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์ และดาวปาปเคราะห์ธรรมชาติ คือดาวอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ราหูและเกตุ (พิจารณาข้อ 1ประกอบ)

-การเป็นเจ้าเรือนเกณฑ์ของดาวเคราะห์ใด ดาวเคราะห์นั้นก็จะถูกทำให้เป็นกลาง  เช่นดาวศุภเคราะห์ธรรมชาติจะสูญเสียความสามารถที่จะให้ผลดี(ศุภผล) ในขณะที่ ดาวปาปเคราะห์ธรรมชาติก็สูญเสียความสามารถที่จะสร้างผลร้าย  ดาวเสาร์เป็นเจ้าเรือนที่ 10 ในลัคน์ราศีเมษ(เรือนเกณฑ์) อิทธิพลของเรือนเกณฑ์จะทอนกำลังการให้ผลร้ายจากดาวเสาร์ ในทางกลับกับในลัคน์ราศีมิถุน ดาวพฤหัสเป็นเจ้าเรือนที่ 10 (เรือนเกณฑ์) ก็จะบั่นทอนกำลังการให้ผลดีของดาวพฤหัสในลัคนาราศีมิถุน ส่วนดาวเคราะห์อื่นๆก็พิจารณาโดยนัยเดียวกัน

-จากหลักการที่ 1 แสดงให้เห็นว่าดาวเจ้าเรือนเกณฑ์จะไม่แปลงเป็นดาวศุภเคราะห์ หรือเป็นดาวปาปเคราะห์ แต่ในทางกลับกัน ดาวเจ้าเรือนอื่นๆนอกจากเรือนเกณฑ์นี้สามารถเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นดาวศุภเคราะห์หรือเป็นดาวปาปเคราะห์ได้เสมอ (ตามเงื่อนไขที่จะอธิบายต่อไป)

-ดาวเจ้าเรือนตรีโกณ (เรือน 1, 5 และ 9) จะให้ศุภผล(ผลดี) ตลอดไปเสมอ โดยไม่ต้องคำนึงว่าธรรมชาติของดาวเหล่านั้นจะเป็น ศุภเคราะห์ และปาปเคราะห์ หรือไม่

-ส่วนลัคนาใดก็ตาม ที่มีเจ้าเรือนเกณฑ์กับเจ้าเรือนตรีโกณเป็นดาวเคราะห์เดียวกัน ดาวเคราะห์นั้นจะให้ผลดีหรือศุภผลเสมอ  โดยไม่คำนึงถึงว่าดาวเคราะห์นั้นโดยธรรมชาติเป็นอย่างไร

-ดาวเจ้าเรือนที่สาม เรือนที่หก และเรือนที่สิบเอ็ด จะกลายเป็นดาวปาปเคราะห์เสมอ

- ดาวเจ้าเรือนที่2 เจ้าเรือนที่8 และเจ้าเรือนที่12 จะกลายเป็นดาวเคราะห์เป็นกลาง และดาวเคราะห์เป็นกลางเหล่านี้จะให้ผลดี-ร้าย ก็จะขึ้นอยู่กับว่าได้ร่วมกับดาวเคราะห์ใด หากร่วมกับดาวดีก็จะให้ผลดีด้วย หากร่วมกับดาวร้ายก็จะให้ผลร้ายด้วยเช่นกัน หลักโหราศาสตร์อธิบายว่า  เรือนที่ 2, เรือนที่ 8 และ  เรือนที่ 12 มีลักษณะอ่อนแอจากเรือน จนทำให้ดาวเจ้าเรือนกลายเป็นมีสถานะเป็นกลาง

หลักการที่ 2

เรือนทั้งสิบสองเรือนในดวงชะตาได้รับการแบ่งประเภทออกเป็นสี่กลุ่ม (ก) กลุ่มเรือนเกณฑ์ หรือ 1,4,7,10 (ข) กลุ่มเรือนตรีโกณ หรือ  5,9 (ค) กลุ่มเรือนที่ 3, 6, 11  และ (ง) กลุ่มเรือนที่ 2, 8,12  ในแต่ละกลุ่มความเข้มแข็งของเจ้าเรือนต่างๆกัน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

(ก)  กลุ่มเรือนเกณฑ์, โดยเจ้าเรือนที่ 4 มีกำลังมากกว่าเจ้าเรือนลัคน์;  และเจ้าเรือนที่ 7 มีกำลังมากกว่าเจ้าเรือน 4; และเจ้าเรือนที่ 10 มีกำลังมากกว่าเจ้าเรือนที่ 7

(ข) กลุ่มเรือนตรีโกณ, เจ้าเรือนที่ 5 มีกำลังมากกว่าเจ้าเรือนลัคนา ในขณะที่เจ้าเรือน 9 มีกำลังมากกว่าเจ้าเรือนที่ 5

(ค) กลุ่มของเรือนที่ 3, 6, 11 โดยเจ้าเรือนที่ 6 มีกำลังมากกว่าเจ้าเรือนที่ 3 ขณะที่เจ้าเรือนที่ 11 มีกำลังมากกว่ากว่าเจ้าเรือนที่ 6

(ง) กลุ่มของเรือนที่ 2, 8, 12  โดยเรือนที่ 12 มีกำลังมากกว่าเจ้าเรือนที่ 2 ขณะที่เจ้าเรือนที่ 8 มีกำลังมากกว่าเจ้าเรือนที่ 12

หลักการที่ 3

เจ้าเรือนที่ 8  โดยปกติถือว่าเป็นกลางแต่มีแนวโน้มค่อนข้างไปทางปาปเคราะห์ เพราะเรือนที่แปดแสดงให้เห็นถึงการกีดขวาง อุปสรรค ความล้มเหลว ความตายและการจบสิ้นของสื่งต่างๆ จุดวิเคราะห์ต่อไปนี้ต้องจำเป็นต้องรู้และศึกษาให้เข้าใจเพื่อการพิจารณาเรือนที่ 8 โดยเฉพาะ

(ก) เพราะเรือนที่แปดเป็นเรือนที่ 12 จากเรือนที่ 9 (แสดงให้เห็นการสูญเสียของ ภาคยะ หรือ โชค) ด้วยเหตุนี้เจ้าเรือนที่ 8 กลายเป็นปาปเคราะห์ที่มีกำลังมากที่สุด

อธิบาย:

- โดยเรือนที่ 12 (เรือนวินาศ)จากลัคนาแสดงให้เห็นการสูญเสีย ซึ่งเรือนที่ 12 จากเรือนใดๆก็ตามแสดงให้เห็นการสูญเสียและการทำลายความหมายของเรือนนั้นๆ โดยที่เรือนที่ 9 (เรือนศุภะ) หมายถึงภาคยะ(โชค), คุณธรรม, การประพฤติธรรมในศาสนา และหมายถึงบิดา ครู ฯลฯ และเรือนที่ 12 ของเรือนนี้ (คือเรือนที่ 8 มรณะ) ก็จะแสดงถึงการสูญเสียและการทำลายในความหมายเหล่านี้ ซึ่งการสูญเสียของโชคลาภหรือโชคถือว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต (อับโชค)

-และหากเจ้าเรือนที่ 8 นั้นเป็นเจ้าเรือนลัคนาด้วย(เช่น ราศีเมษ ราศีตุลย์)  ธรรมชาติของศุภผลจากลัคนา จะมีชัยเหนือเจ้าเรือนที่ 8  โดยเจ้าเรือนที่ 8 จะมีแนวโน้มให้ศุภผลตามศุภลักษณะของลัคนา เว้นแต่เจ้าเรือนที่ 8 นั้นสถิตในตำแหน่งที่เสีย หรือเป็นอัสตะ(ดับ) หรือมีข้อบ่งชี้ในทางร้ายจากเงื่อนไขอื่นๆ

- เจ้าเรือนที่ 8 นั้นจะกลายเป็นปาปเคราะห์ที่มีกำลังมากขึ้นเมื่อเจ้าเรือนที่ 8นั้น เป็นเจ้าเรือนที่ 3 หรือเรือนที่ 11 ด้วย เช่น  สำหรับลัคน์ในราศีมีน ดาวศุกร์จะกลายเป็นปาปเคราะห์ที่มีกำลังเพราะเป็นทั้งเจ้าเรือนที่ 3 และเจ้าเรือนที่ 8   สำหรับลัคน์ในราศีกันย์ ดาวอังคารจะกลายเป็นปาปเคราะห์ที่มีกำลังเพราะเป็นทั้งเจ้าเรือนที่ 3 และเจ้าเรือนที่ 8   สำหรับลัคน์ในราศีพฤษภ ดาวพฤหัสบดีจะกลายเป็นปาปเคราะห์ที่มีกำลังเพราะเป็นเจ้าเรือนที่ 8 และเจ้าเรือนเรือนที่ 11  สำหรับลัคน์ในราศีพิจิก ดาวพุธจะกลายเป็นปาปเคราะห์ที่มีกำลังเพราะเป็นเจ้าเรือนที่ 8 และเจ้าเรือนเรือนที่ 11

(ค) เจ้าเรือนที่แปดจะให้ศุภผล เมื่อเจ้าเรือนที่ 8 นั้นเป็นเจ้าเรือนตรีโกณด้วย  เช่น ราศีสิงห์ มีดาวพฤหัส เป็นทั้งเจ้าเรือนที่ 8 และที่ 5  ,ราศีกุมภ์ ดาวพุธเป็นทั้งเจ้าเรือนที่ 8และที่ 5  ยกเว้นราศีมิถุน ถึงแม้ว่าดาวเสาร์เป็นทั้งเจ้าเรือนที่ 8 และเจ้าเรือนที่ 9 (ตรีโกณ) แต่จะไม่ได้ให้ศุภผลตามความหมายนี้ แต่จะให้เป็นผลรวม แสดงผลเป็นทั้งปาปผลและศุภผล (อ้างจากคัมภีร์ ภวรัตถ รัตนากร)

อธิบาย:

ตามกฎของมหาฤาษีประราสาระ กล่าวว่าปาปผลของดาวเคราะห์เจ้าเรือนที่ 8 จะไม่สามารถใช้กฏนี้กับดาวอาทิตย์หรือจันทร์ (ลัคน์ธนูและมังกร) ซึ่งอาทิตย์และจันทร์จะไม่แสดงผลร้ายตามความหมายของเจ้าเรือนที่ 8  เว้นเฉพาะในโหราศาสตร์การแพทย์ ซึ่งอาทิตย์และจันทร์สามารถแสดงผลของเรือนที่ 8 ในความหมายของโรคภัยและการตายได้

หลักการที่ 4

(ก) เมื่อดาวเคราะห์ใดที่เป็นเจ้าเรือนทั้งเรือนเกณฑ์และ ตรีโกณ ดาวเคราะห์นั้นจะกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ให้คุณสูงยิ่ง ซึ่งเราเรียกว่า “ราชาโยคการก” (ผู้สร้างผลแห่งราชาโยค) และจะให้คุณเพิ่มขึ้นอีกเมื่อดาวเคราะห์นั้น สถิตย์ในราศีที่เป็นเกณฑ์ หรือ ตรีโกณ

อธิบาย:

- ดาวอังคารในราศีกรกฏและราศีสิงห์  ดาวศุกร์ในราศีมังกรและกุมภ์ และดาวเสาร์ ในราศีพฤษภและราศีตุลย์ ดาวเคราะห์ดังกล่าวนี้จะกลายเป็น ราชาโยคการก เพราะความเป็นเจ้าเรือนทั้งเกณฑ์และตรีโกณ

- บางคนสงสัยว่า ดาวเสาร์เป็นศุภเคราะห์ในลัคนาราศีพฤษภหรือไม่ เพราะราศีพฤษภมีดาวเสาร์เป็นเจ้าเรือนที่ 9 และเรือน 10 (เรือนตรีโกณ และเกณฑ์ตามลำดับ) โดยในจุดนี้มีข้อยกเว้นพิเศษในเรื่อง “พันธกะ” (ผู้ขัดขวาง)เพราะเจ้าเรือน 9 จะเป็นพันธกะในสถิระราศี เช่น  ราศีพฤษภ

(ข) ดาวเคราะห์ที่เป็นเจ้าเรือนเกณฑร์จะไม่เปลี่ยนตัวเองจากปาปเคราะห์กลายเป็นศุภเคราะห์ เพราะมีเงื่อนไขว่าดาวปาปเคราะห์จะต้องเป็นเจ้าเรือนตรีโกณด้วย จึงจะสามารถจำกัดอิทธิพลร้ายในตัวปาปเคราะห์นั้นได้

อธิบาย:

เช่นดาวเสาร์ เป็นเจ้าเรือนที่ 10 (เกณฑ์)และเรือนที่ 11 ในลัคนาราศีเมษ และเป็นเจ้าเรือนที่ 3 และที่ 4 (เกณฑ์)สำหรับลัคนาราศีพิจิก และเป็นเจ้าเรือนที่ 6 และที่ 7 (เกณฑ์)สำหรับลัคนาราศีสิงห์ ดาวเสาร์ยังคงเป็นปาปเคราะห์อยู่อย่างนั้นเพราะไม่มีสถานะเป็นเจ้าเรือนตรีโกณร่วมด้วย

(ค) ศุภเคราะห์ใดก็ตามที่เป็นเจ้าเรือนเกณฑ์จะให้ศุภผลตามลำดับดังนี้ (จากน้อยไปมาก)  จันทร์ พุธ พฤหัสบดี และศุกร์

(ง) จันทร์เพ็ญ , ดาวพุธ, ดาวพฤหัสบดีและดาวศุกร์ ให้ศุภผลตามลำดับ (จากน้อยไปมาก)

(จ) จันทร์ดับ ,อาทิตย์,ดาวเสาร์และดาวอังคาร ให้ปาปผลตามลำดับ (จากน้อยไปมาก)

หลักการที่ 5  (ราชา โยค)

เมื่อใดที่เจ้าเรือนเกณฑ์ร่วมกับเจ้าเรือนตรีโกณ ก็จะเกิดเป็น”ราชาโยค” ซึ่งหมายถึงความเป็นมหาศุภผลในดวงชาตา และจะมีศุภอิทธิพลทำลายความทุกข์ยากในดวงชะตา ถอนพิษร้ายจากดาวปาปเคราะห์และเจ้าชาตาจะปลอดจากโรคภัย อันตรายทั้งปวง โดยความสัมพันธ์ระหว่างดาวเจ้าเรือนสองเรือนที่เป็น ราชาโยค(เกณฑ์+ตรีโกณ)มีดังต่อไปนี้

(ก) โดยการสถิตย์ในเรือนเดียวกัน (ร่วมกัน)

(ข) จากมุมสัมพันธ์ร่วมกัน

(ค) การสลับเรือนกัน (ปริวรรตนโยค)

(ง) เมื่อหนึ่งในสองของดาวเคราะห์(ที่เป็นโยคนั้น) โดยดาวเคราะห์ที่ 1อยู่ในเรือนของดาวเคราะห์ที่ 2 และในเรือนๆนั้นได้รับมุมสัมพันธ์จากดาวเคราะห์ที่ 2

(จ) โดยสลับฤกษ์ (นักษัตร) ของกันและกัน

อธิบาย:

เมื่อเจ้าเรือนเกณฑ์และเจ้าเรือนตรีโกณ มีความสัมพันธ์กันตามที่ระบุไว้ข้างต้น แต่จะยังไม่เกิดเป็นราชาโยค ถ้าหากดาวเคราะห์นั้นเป็นทั้งเจ้าเรือน “ปาปะสถานะ”ด้วย (เรือนปาป คือเรือน 3, 6 และ 11)

หลักการที่ 6 (ราหูและเกตุ)

(ก) ราหูและเกตุจะให้ผลตามลักษณะของเรือนและเจ้าเรือนที่ตนเองสถิต และราหูมีอิทธิพลคล้ายกับดาวเสาร์และดาวเกตุคล้ายกับดาวอังคาร

(ข) ราหูและเกตุจะกลายเป็น โยคการก ( ของราชาโยค) ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

- เมื่อราหูหรือเกตุอยู่ในเรือนเกณฑร์และร่วมกับเจ้าเรือนตรีโกณ

- เมื่อราหูหรือเกตุอยู่ในเรือนตรีโกณ และร่วมกับเจ้าเรือนเกณฑ์

เจ้าเรือน“ตรีกะภวะ”

เรือนที่ 6, 8 และ 12 เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเรือน”ตรีกะ” หรือทุสถานะภพ   โดยเจ้าเรือนเหล่านี้จะแสดงผลเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ใดที่สัมพันธ์กับเรือนเหล่านี้  และเจ้าเรือนทุสถานะภพเหล่านี้จะส่งผลร้ายที่ไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสุขภาพ โดยเรือนหกและเจ้าเรือนที่หกบ่งบอกถึงการเกิดโรคและการเกิดอุบัติเหตุ เรือนแปดและเจ้าเรือนแปดบ่งบอกถึงโรคเรื้อรังโรคที่รักษาไม่หายหรือเสียชีวิต เรือนที่สิบสองและเจ้าเรือนที่12แสดงความทุกข์ทรมานและการป่วยในโรงพยาบาล ระยะเวลาทศาของดาวเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับเรือนเหล่านี้และเจ้าเรือนเหล่านี้  จะช่วยในการพิจารณาเรื่องความเจ็บป่วย