สำหรับผู้ที่ศึกษาสายภารตะวิทยา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักมหาคุรุแห่งดินแดนภารตะ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากชาวอินเดียทั้งมวลในฐานะที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่วัฒนธรรมฮินดูในทุกๆแขนง ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม ศาสนา และโหราศาสตร์ จนท่านได้รับเกียรติในฐานะปฐมคุรุ และได้รับการบูชาจากชาวฮินดูทั่วโลกในเทศกาลคุรุปูรณิมา ส่วนคนทั่วไปรู้จักท่านในฐานะที่เป็นทั้งผู้แต่งและเป็นตัวละครในมหากาพย์อันเลื่องชื่อของฮินดู "มหาภารตะยุทธ" คล้ายกับมหาฤาษีวาลมิกิ ที่ได้รจนา มหากาพย์รามายณะ
ฤษีวยาสะ (व्यास) ถือได้ว่าท่านเป็นตัวแทนแห่งความรู้และวัฒนธรรมของฮินดู บางครั้งชาวฮินดูจะเรียกท่านว่า พระเวทฤษีวยาสะ (वेदव्यास) ซึ่งหมายถึงผู้ที่จัดสรรคัมภีร์พระเวทออกเป็นเป็นสี่ส่วน หรือบางทีก็เรียกเป็น “กฤษณะ ไทวปยาณะ" ซึ่งหมายถึงผิวพรรณและถิ่นกำเนิดของท่าน โดยท่านเกิด ณ เกาะแห่งยมุนา ในเมือง กาลปิยะ นาครี ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นที่รู้จักในชื่อเมือง กาลปี เชื่อกันว่าท่านแต่งมหาภารตะ ณ สถานที่แห่งนี้ นอกจากนี้ท่านได้เป็นผู้แต่งคัมภีร์พระเวททั้งสอง คือ พระเวท และ ปูราณะ
ตามความเชื่อของชาวฮินดู ฤษีวยาสะเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ และฤษีวยาสะที่ถือว่ายังเป็นหนึ่งในเจ็ด จีรณชีวิน (อยู่นานหรือเป็นอมตะ) ที่ยังคงมีอยู่ตามความเชื่อของชาวฮินดูทั่วไป และท่านมีชีวิตอยู่ประมาณ 3000 ปีก่อน ค.ศ.
เทศกาลคุรุปูรณิมา
เทศกาล คุรุ ปูรณิมา ชาวฮินดูทั้งมวลจะทำการบูชาอุทิศเพื่อท่านมหาฤาษี หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อเทศกาล วยาสะ ปูรณิมา คุรุ ปูรณิมา วันนี้ถือเป็นวันครบรอบวันสมภพและการอวตารของพระเวทฤษีวยาส หรือ ฤๅษีกฤษณะ ไทวปายนะ วยาส ผู้แต่งมหากาพย์มหาภารตะ นอกจากนี้ก็จะเป็นการบูชาคุรุองค์สำคัญต่างๆในศาสนาฮินดู เช่น อาทิ สังกราจารย์ , ศรีมัทวาจารย์ ,ศรีรามานุจะ อาจารยะ เป็นต้น
เป็นคืนวันพระจันทร์เต็มดวงในช่วงเดือนอาสาฬหมาส เป็นที่รู้จักกันในอินเดียว่าเป็นวันไหว้ครู ประเพณีวันนี้จะสงวนไว้สำหรับการไหว้คุรุหรือ ปราชญ์ หรือการบูชาครู ในวันนี้สานุศิษย์ทำการเคารพครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ คุรุ หมายถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู ผู้รู้ที่ทำการสั่งสอนสาวกให้มีความรู้ตาม
สำหรับชาวพุทธ วันคุรุ ปูรณิมา ชาวพุทธจะทำการบูชาเพื่อรำลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกที่เมืองสารนาถ, รัฐอุตตรประเทศ
ปฐมเทศนา เป็นคำเรียกเทศน์กัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อวันเพ็ญกลางเดือน 8 หรือที่เรียกว่า วันอาสาฬหบูชา โดยตามคติชองชาวพุทธจะถือว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นครูแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และในวันนี้พระองค์ก็ได้กระทำการสั่งสอนศิษย์เป็นครั้งแรก
ฤษีวยาสะกับ มหาภารตะยุทธ
ฤษีวยาสะ(ฤาษีวยาส)ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในฐานะเป็นผู้เล่าเรื่องและเป็นตัวละครสำคัญในมหาภารตะ ว่ากันว่า ท่านเป็นการแบ่งภาคของพระวิษณุ(นารายณ์)ทรงที่มาใน ทวาบรยุค เพื่อให้ ความรู้ของพระเวทให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรแทนการท่องจำในเวลานั้น ซึ่งทวาบรยุคนี้ เป็นชื่อยุคที่ ๓ ของจตุรยุคตามคติของพราหมณ์ ในยุคนี้ธรรมะและอายุของมนุษย์ลดลงเหลือเพียง ๒ ใน ๔ ส่วนเมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค
ท่านเป็นบุตรของ นางสัตยาวดี ซึ่งลูกสาวของชาวประมง ชื่อ ทุสราช กับมหาปราชญ์ฤาษีปราสาระ (ประราสาระ,ปราสาระ,ฤาษีปราศร -ผู้ที่ได้แต่งปุราณะเป็นคนแรกคือ วิษณุปุราณะ) ท่านเกิด ณ สถานที่บรรจบกันของแม่น้ำทั้งสอง คือ แม่น้ำเสติ และ แม่น้ำมาธิ จนสถานที่นี้ได้ตั้งชื่อตามชื่อของท่านเป็น "เวทวยาสะ" ปัจจุบันกลายเป็นเมืองสมัยใหม่ชื่อเมือง ทามาอุลิ (ตำบล ทานาหุ)ในประเทศเนปาล
เนื่องจากท่านเป็นคนที่มีผิวเข้ม ด้วยเหตุนี้ จึงได้ชื่อว่า กฤษณะ (สีดำ) และตามด้วยชื่อ ไทวปายาณะ ตามความหมายของเกาะที่ถือกำเนิด
โดยในเนื้อเรื่องในมหาภารตะ เล่าว่านางสัตยวดี มีลูกชาย 3 คน เกิดกับฤาษี ปราศร (ประราสาระ) มีชื่อว่า วยาส ส่วนเกิดกับท้าวศานตนุ มีชื่อว่า จิตรางคทะ และ วิจิตรวีรยะส่วนท้าวศานตนุ มีลูกชาย 3 คน เกิดกับเจ้าแม่คงคา 1 คน ชื่อว่า ศาตนพ ภายหลังเรียกกันว่า "ภีษมะ" และเกิดกับนางสัตยาวดี 2 คน
และฤษีวยาสะเป็นปู่และบรรพบุรุษของทั้งสองสายคือ เการพ และ ปาณฑพ โดยเป็นบิดา(โดยการทำนิโยค)โดยคนแรกคือ ท้าวธฤตราษฎร์ผู้ซึ่งตาบอดสนิท และคนที่สองคือ ท้าวปาณฑุ ผู้เป็นโรคเลือด ผิวพรรณซีดขาวซึ่งได้ครองราชสมบัติแห่งนครหัสตินาปุระของราชวงศ์วิจิตรวีรยะ และลูกชายคนที่สามคือ ท้าววิฑูร ซึ่งเกิดจากสาวใช้นามว่า ปริษรามิ
ฤษีวยาสะกับ การถือกำเนิด
ขอเล่าเรื่องแทรกเกี่ยวกับการถือกำเนิดของท่านในแง่มุมทางโหราศาสตร์ โดยมีตำนานมาว่า คืนหนึ่งขณะที่ฤาษีประราสาระกำลังนั่นเรือข้ามฟากอยู่นั้นท่านได้คำนวน "อาธานะกุณฑลิ" หรือเรียกอีกอย่างว่า "อาธานะจักร" ดวงกาลชาตาพิเศษ สำหรับหาเวลาที่ดีในการร่วมกามารมณ์ของบุรุษ-สตรี เพื่อการปฏิสนธิของทารก
ซึ่งหากบิดามารดาได้ร่วมกามพฤติ (การร่วมกามรมณ์) หรือ ทำการ"นิเษกะ" (การร่วมกามารมณ์ครั้งแรกของสตรี) ในช่วงเวลานี้แล้ว ทารกเมื่อเกิดมาจะได้เป็นคนดีมีความสามารถสูง รูปร่างงดงาม เฉลียวฉลาดและไม่ทุพลภาพซึ่งในขณะนั่งเรือข้ามฟากอยู่นั้น อาธานะกุณฑลิจักร ก็ได้แสดงให้ว่าจะผู้มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่จะมาถือกำเนิด ถ้าหากมีหญิงชายใดร่วมสังวาสกันในเวลานั้น บุตรที่อกมาจะเป็นชาย มีบุญญาธิการเป็นอันมาก ท่านมหาฤาษีก็ได้แจ้งแก่นางสัตยาวดีผู้ซึ่งนั่งเรือข้ามฟากมาด้วยกัน และท่านก็ขอทำการ"นิเษกะ" กับนาง ซึ่งนางก็ตอบตกลง ผลก็คือการให้กำเนิดมหาปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่คือพระมหาฤาษีวยาสะในกาลต่อมา
ในการคำนวน อาธานะกุณฑลิจักร นี้ จะช่วยในการเลือกเพศทารก การกำหนดเวลาคลอด สติปัญญา ผิวพรรณ บุคคลิก และความเจริญรุ่งเรืองในภายภาคหน้าของทารก โดยโหราจารย์ฮินดูก็ได้มีการสืบทอดวิชากันมาจนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับแง่มุมทางโหราศาสตร์ อาธานะกุณฑลิจักร ก็น่าจะเป็นคำตอบสำหรับปัญหาการคำนวนดวงชาตาในปัจจุบัน ซึ่งโหรมักจะรู้แต่เวลาคลอด แต่ไม่รู้เวลาปฏิสนธิ ดังนั้นผู้ที่คลอดในเวลาเดียวกัน(ดวงชาตาจะเหมือนกัน)แต่เวลาปฏิสนธิอาจจะต่างกัน และผู้ที่ปฏิสนธิพร้อมกันแต่เวลาคลอดก็จะต่างกัน (ฝาแฝด)
ส่วนบิดาของท่านคือมหาฤาษีประราสาระ(ปราศร) ผู้ที่รจนาคัมภีร์ทางโหราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ คัมภีร์พฤหัต ประราสาระ โหราศาสตรา และถือเป็นคัมภีร์ชั้นเอกของโหราศาสตร์ภารตะ ส่วนบิดาของมหาฤาษีประราสาระก็คือ มหาฤาษีวาสิฐะ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดมหาฤาษี (สัปตฤาษี) ผู้ยิ่งใหญ่และท่านทั้งหลายล้วนเป็นครูของพระราม(ศรีราม)
ฤษีวยาสะกับการ"นิโยค"
สำหรับพิธีกรรมการนิโยค( नियोग) ที่ได้กล่าวเอาไว้ใน มหากาพย์ภารตะยุทธนั้น เป็นพิธีกรรมพิเศษสำหรับการมีบุตรของชาวฮินดูซึ่งประเพณีนี้มีมาแต่โบราณ โดยที่สตรีที่มีสามีแล้วแต่ไม่มีบุตรสืบสกุล หรือสามีแต่ไร้ความสามารถในการเป็นพ่อ เป็นหมัน ป่วยหรือได้เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้มีบุตร ซึ่งเธอหรือครอบครัวจะร้องขอหรือให้ทำการแต่งตั้งบุคคลเพื่อช่วยให้เธอมีบุตรตามหลักประเพณีนิโยคของฮินดูนี้ได้ โดยคนที่ได้รับการแต่งตั้งจะมาทำนิโยคนี้จะต้องเป็นคนที่ดีมีศีลธรรมหรือเป็นคนที่ได้รับการเคารพนับถือจากสังคม โดยจะมีข้อห้ามต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนิโยคนี้มีดังต่อไปนี้
(1) หญิงนั้นตกลงใจที่จะทำนิโยคเพียงแค่เพื่อประโยชน์ในการมีบุตรอย่างถูกต้องเท่านั้นและไม่ได้ทำเพื่อความสุข
(2) ชายผู้ที่ด้รับการแต่งตั้ง นั้นจะทำนิโยคโดยธรรม และพิจารณาว่ามันเป็นเพียงหน้าที่ที่จะช่วยให้หญิงนั้นมีบุตรและไม่ได้เพื่อความสุข
(3)เด็กที่เกิดมาจากการนิโยคนั้นจะถือว่าเป็นบุตรโดยชอบของสามี-ภรรยาเดิม ไม่ถือว่าเป็นบุตรของคนที่ได้รับการแต่งตั้งมาทำนิโยค
(4)คนได้รับการแต่งตั้งทำการนิโยค จะไม่แสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ใด ๆกับเด็กที่เกิดมาจากการนิโยคนี้ ในอนาคต
(5)เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ได้รับการแต่งตั้งทำการนิโยคนี้ สามารถกระทำได้สูงสุดของเพียง สามครั้ง ในชีวิต
(6)การกระทำจะทำเสมือนการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการมีบุตรโดย "ธรรม" ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรัก หรือ ความต้องการทางเพศ คนที่จะกระทำนิโยค จะถือว่าเป็นการอนุเคราะห์ให้กับผู้หญิงคนหนึ่งในนามของพระเจ้า ในขณะที่หญิงนั้นจะยอมรับมัน เพื่อการที่จะมีบุตรสืบสกุล สำหรับตัวเองและ สามีของเธอเท่านั้น โดยวัฒนธรรมของฮินดูนั้นการไม่มีบุตรสืบสกุลถือเป็นปาปกรรมอันหนักหนาที่สุด
(7)ในการทำนิโยคจะไม่มีการสัมผัสหน้า ปาก หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ยกเว้น การมีเพศสัมพันธ์ตามช่องทางปกติเท่านั้น
(8)จะมีผ้ากึ่งโปร่งใสคลุมส่วนบนของหญิงเอาไว้ และมีเพียงส่วนล่างเท่านั้นที่เปิดออกสำหรับการทำนิโยค
(9)และในการนิโยคร่างกายทั้งสองฝ่ายจะถูกทาด้วยเนยที่เรียกว่า "กรี" เพื่อลดความต้องการทางเพศของทั้งสองฝ่าย
สำหรับการนิโยคในมหาภารตะยุทธนั้น เล่าว่า เมื่อเจ้าชายวิจิตรวีรยะได้ครองราชย์ และได้นางอัมพิกา และนางอัมพาลิกาเป็นชายา ก็หมกมุ่นกับกามคุณจนตายเสียก่อนที่จะมีผู้สืบราชบัลลังค์ มารดาท่านจึงได้ขอร้องให้พระฤาษีวยาสะมาช่วยทำนิโยคให้ ขณะที่กำลังทำพิธี “นิโยค” กับฤาษี วยาส อยู่นั้นนางเกิดความรังเกียจในเพศฤาษีที่ดูสกปรกและน่ากลัวจึงหลับตา ฤาษีจึงเตือนว่าจะทำให้เกิดบุตรชายตาบอดสนิททั้งสองข้าง ต่อมาก็เป็นเช่นนั้นจริง และ มีชื่อว่า ท้าวธฤตราษฎร์
ส่วนนางอัมพาลิกาขณะปฏิบัติการนิโยคกับฤาษีวยาส นางก็เกิดความกลัวจนหน้าตาและร่างกายซีดขาว ฤาษีเตือนเธออีกครั้งว่าอย่ากลัว ไม่อย่างนั้นบุตรออกมาบุตรจึงมีผิวพรรณซีดขาวและเป็นโรคโลหิตจาง ต่อมาก็เป็นเช่นนั้นจริง มีชื่อว่า ท้าวปาณฑุ
เมื่อนางสัตยวดีเห็นว่ามีหลานเกิดออกมาตาบอดอย่างนั้น จึงขอให้นางอัมพิกาไปทำนิโยคกับฤาษีวยาสอีกครั้ง นางไม่อยากทำอีกจึงออกอุบายส่งสาวใช้หรือนางทาสีนามว่าปริษรามิไปทำนิโยคแทน ด้วยอุปนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตนและสงบเสงี่ยมเจียมตัวของสาวใช้ บุตรที่เกิดจากการนิโยคครั้งที่สามเกิดออกมามีสติปัญญาล้ำเลิศ และเปี่ยมไปด้วยความเที่ยงธรรม ได้ชื่อว่าท้าววิฑูร
ท้าวภีษมะก็ได้เป็นผู้เลี้ยงดูกุมารทั้งสามประดุจบุตรของตัวเอง ท้าวปาณฑุเก่งเรื่องการยิงธนู ท้าวธฤตราษฎร์ มีพละกำลังมากดั่งช้างสาร ส่วนท้าววิฑูร ก็มีสติปัญญาและความเที่ยงธรรม ฉลาดหลักแหลม แต่เนื่องจากธฤตราษฎร์ ตาบอด ท้าววิฑูร มีชาติกำเนิดต่ำต้อย ท้าวปาณฑุจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติแห่งนครหัสตินาปุระแทนพี่ชาย
ฤษีวยาสะกับคัมภีร์พระเวท
ชาวฮินดูถือว่าพระเวทเป็น ศรุติ หรือคัมภีร์ที่เกิดจากการรับฟังมาจากพระเจ้า และท่านฤษีวยาสะแบ่งพระเวทออกเป็นสามส่วน ตามที่ที่รู้จักกันคือคัมภีร์ไตรเภท หรือ ไตรเวท ซึ่งก็คือฤคเวท ยชุรเวท สามเวท (และต่อมาปรากฏคัมภีร์ที่ สี่ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ อาถรรพ์เวท )
ตามที่ท่านถูกเรียกขานว่าเป็น พระเวทฤษีวยาสะหรือ "ผู้จำแนกพระเวท" โดยการจำแนกแยกแยะพระเวทต่างๆออกมาเป็นส่วนและการอธิบายขยายความตามนัยแห่งพระเวทนั้นๆ เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้เข้าใจในอรรถและความลึกล้ำแห่งพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้รับประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้า เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้รู้ว่า มณฑละ(บท)แรกแห่งคัมภีร์ฤคเวทนั้นแต่งโดยมหาฤาษีประราสาระ ซึ่งได้ถ่ายทอดผ่านลงมาสู่ฤาษีวยาสะอีกทีหนึ่ง
สำหรับพระเวททั้งสี่นั้น ท่านมหาฤาษีได้แบ่งแต่ละพระเวทออกเป็นสี่ส่วนย่อย เป็น 1.สังหิตาหรือบทสวดที่เรียกว่ามันตรา, 2.พราหมณะ หรือการประกอบพิธีกรรม, 3.อารัณยกะ หรือการขอพรจากพระเจ้า และ 4.อุปนิษัท (เวทานตะ)เป็นหลักธรรมคำสอนอันลึกซึ้ง และท่านได้รจนาคัมภีร์พรหมสูตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นแก่นของคัมภีร์อุปนิษัททั้งหมด
นอกจากนี้ท่านได้เรียบเรียงคัมภีร์ปุราณะทั้ง 18 เล่ม เรียกว่า มหาปุราณะ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 429,000 โศลก โดยมหาปุราณะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะของมหาเทพ คือการสร้าง การรักษา และการทำลายเรียกว่า ตรีมูรติ คือ 1.ไวษณวะ ปุราณะ 2. พรหมะ ปุราณะ 3.ศิวะ ปุราณะ และยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตาม "คุณะ" หรือคุณลักษณะ คือ 1.สัตยะ (ความบริสุทธิ) 2.ระชัส (ความหม่นหมองจากกิเลส)3.ตมัส (ความมืดบอดแห่งอวิชา) ซึ่งมหาปุราณะ ทั้งหมดมีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานความเป็นมาของมนุษย์ เทพ อสูร สัตว์ต่างๆตลอดจนการกำเนิดและพินาศของโลกและจักรวาล โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้
1. พรหมปุราณะ เป็นเล่มแรกสุด จึงมีอีกชื่อว่า อาทิปุราณะ หรือปุราณะ เล่มแรกมีความยาว 25,000 โศลก กล่าวถึงพระพรหม แสดงคำสอนแก่พระทักษประชาบดี มีเนื้อเรื่องตอนหนึ่งแสดงเทวประวัติ
2. พรหมาณฑปุราณะ มีความยาว 12,000 โศลก กล่าวถึงความเป็นมาของจักรวาล ตามคำบอกเล่าของพระพรหม
3. พรหมไววรรตปุราณะ มีความยาว 18,000 โศลก บรรยายคำสอนของพระนารทฤาษี ซึ่งแสดงแก่สาวรรณิกปุราณะ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสร้างจักรวาล
4. มารกัณฑยปุราณะ มีความยาว 9,000 โศลก มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอินทร์ พระสูรย และพระอัคคี อย่างละเอียด
5. ภุริษยปุราณะ มีความยาว 14,000 โศลก กล่าวถึงเรื่องอันจะเกิดมีในอนาคต เป็นคำกล่าวของพระสูรยะต่อพระมนูผู้เป็นมนุษย์ และกษัตริย์องค์แรกของโลก
6. วามนปุราณะ มีความยาว 10,000 โศลก มีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับวราหปุราณะมากที่สุด กล่าวถึงอวตารปางต่าง ๆ ของพระวิษณุ ตั้งแต่ปางเป็นวามนะเรื่อยมาถึงอวตารปางสุดท้าย
7. วิษณุปุราณะ มีความยาว 23,000 โศลก จัดว่าเป็นปุราณะที่สำคัญเล่มหนึ่ง เนื้อเรื่องส่วนใหญ่พรรณาถึงอวตารทั้งสิบสมัย (ปาง) ของวิษณุ โดยเหตุที่เล่มนี้เป็นคัมภีร์เก่าแก่ และมีค่าสูงสุดจึงได้ชื่อว่าเป็น ปุราณรัตนะ
8. ภาควตปุราณะ มีความยาว 18,000 โศลก เป็นปุราณะที่มีความแพร่หลายมากที่สุด และเป็นที่จับจิตใจของบรรดาไวษณพ (ผู้นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด) มากที่สุด คัมภีร์เล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ของอินเดียวแทบทุกภาษา
9. นารทียปุราณะ มีความยาว 25,000 โศลก เป็นเรื่องที่พระนารทฤาษี เล่าแก่สนัตกุมาร เกี่ยวกับธรรมทั้งหลายในพฤหัตกัป
10. ครุฑปุราณะ มีความยาว 8,000 โศลก เป็นเรื่องราวที่พระวิษณุทรงสั่งสอนแก่ครุฑ มีเรื่องดาราศาสตร์ อายุรศาสตร์ ไวยากรณ์ และเรื่องกำเนิดของเพชร รวมฟังคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ครึ่งหลังแสดงความคิดทางปรัชญาว่า ชีวิตหลังความตาย
11. ปัทมปุราณะ มีความยาว 25,000 โศลก เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นหกตอน นอกจากเนื้อเรื่องจะบรรยายถึงความสำคัญของเดือนต่าง ๆ แล้ว ยังมีเรื่องแทรกที่สำคัญคือ เรื่องศกุนตลา กับเรื่องพระราม
12. วราหะปุราณะ มีความยาว 14,000 โศลก กล่าวถึงพระวิษณุอวตารปางที่สาม เป็นวราหะ (หมู) เพื่อปราบอสูรร้าย และบรรยายเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อันมีชื่อเสียง
13. วายุปุราณะ มีความยาว 14,000 โศลก พระวายุ เป็นผู้เล่ามีข้อความสดุดีพระเกียรติคุณ ของพระศิวะเป็นส่วนใหญ่
14. ลิงคปุราณะ มีความยาว 12,000 โศลก บรรยายถึงคำสอนของพระศิวะผู้สถิตอยู่ในรูปของลิงคะ (เครื่องหมายเพศชาย) และยังกล่าวถึง พระศิวะในรูปแบบอื่น ๆ อีก 28 รูป
15. สกันทปุราณะ มีความยาว 84,000 โศลก พระสกันทะ (โอรสพระศิวะ) เป็นผู้เล่ามีเนื้อหาว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง พระสกันทะกุมาร กับ ตารกาสูร
16. อัคนิปุราณะ มีความยาว 12,000 โศลก เป็นเรื่องราวอันทรงคุณค่าทางศิลปวิทยาการสาขาต่าง ๆ ที่เทพเจ้าอัคคี เล่าแก่พระวสิษพรหมฤาษี เช่นดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ รัตนศาสตร์ กาพยะลังการนาฎกะ (วิชาการละคร การตกแต่งคำ และกาพย์กลอน) และอื่น ๆ มีกล่าวถึง อวตารสองปางของพระวิษณุคือ รามจันทราวตาร และกฤษณาวตาร
17. มัตยปุราณะ มีความยาว 13,000 โศลก เป็นเรื่องที่มตสยะ (ปลา) หรือพระวิษณุ อวตารปางที่หนึ่ง เล่าให้พระมนูปฐมกษัตริย์ของมนุษย์ฟังและยังมีเรื่องอื่น ๆ ประกอบอีกมาก เช่น เรื่องของพระไชนมตะ (ศาสนาเชน) พุทธมตะ (ศาสนาพุทธ) นาฎยศาสตร์ และอานธรราชวงศ์ (เรื่องราวของกษัตริย์ ในแคว้นอานธระทางภาคใต้ของอินเดีย) ฯลฯ
18. กูรมปุราณะ มีความยาว 8,000 โศลก เป็นเรื่องราวของพระวิษณุ สมัยอวตารเป็นกูรมะ (เต่า) เป็นผู้เล่าที่บาดาลเกี่ยวกับอินทรยุมน์ และกล่าวถึงภูมิศาสตร์ของโลกโบราณว่า ประกอบด้วยทวีปทั้งเจ็ด มหาสมุทรทั้งเจ็ด และดินแดนภารตะ (อินเดีย) ตั้งอยู่ท่ามกลางทวีปทั้งหลาย มีชื่อว่าชมพูทวีป
ในวิษณุปุราณะมีทฤษฎีเกี่ยวกับโลกและยุคต่างๆในจักรวาลตามแนวคิดของฤษีวยาสะ. โดยชาวฮินดูมองจักรวาลเป็นปรากฏการณ์ของวงจรการเกิด-ดับ ที่มีการเกิดขึ้น การดำรงอยู่และพินาศซ้ำ ๆ กันเป็นวัฎจักร โดยในแต่ละรอบมีช่วงระยะเวลาจากจำนวนของพระมนู โดยพระมนูองค์หนึ่งมีอายุเท่ากับหนึ่ง มาวันตระ และในหนึ่งมาวันตระจะมีสี่ยุค (มหายุค) และมนุษย์จะมีคุณธรรมลดลงตามส่วน และขณะที่ท่านได้เขียนคัมภีร์วิษณุปุราณะนี้โลกได้อยู่ใน ทวาปรยุค ซึ่งเป็นยุคที่สามในมหายุค
อธิบายเรื่องยุคตามคัมภีร์พระเวท
ตามพระคัมภีร์แห่งพระเวทโบราณของพราหมณ์ พระพรหม พระผู้สร้าง และทำลาย จักรวาลเป็นรอบๆเกิดเป็นวัฏจักรไม่มีจบสิ้น ชีวิตของพระพรหมคือ 120 ปีทิพย์ เป็นเวลาเท่ากับ 1 มหากัลป์ และในทุกวัน(ทิพย์) พระพรหมจะทรงสร้างพระมนู อีก 14 องค์ในทุกๆวันของพระพรหม เพื่อให้พระมนูทำการควบคุม และพิทักษ์โลก ใน 1 วันทิพย์ ที่พระพรหมทรงสร้างพระมนูนั้นเรียกว่า 1 กัลป์และเวลาในช่วงชีวิตหนึ่งๆของพระมนูแต่ละองค์นั้นเรียกว่า “มันวันตระหรือมนูวันตระ” และใน 1 มันวันตระจะมี 71 มหายุคใหญ่ ซึ่งเรารู้จักกันดีคือ “จตุรยุค” คือ กฤดายุค(สัตยายุค,จัตยายุค) ไตรดายุค ทวาปรยุค และกลียุค
ซึ่งแต่ละยุคจะมีระยะเวลาแตกต่างกัน จากมากไปหาน้อยสุดและคุณธรรมและอายุขัยของมนุษย์ก็จะลดลงไปเรื่อยๆตามสัดส่วน และจนถึงยุคในปัจจุบันก็คือ “กลียุค”ซึ่งนักคำนวนชาวอินเดียปัจจุบันได้คำนวนแล้วว่าโลกได้เข้าสู่ กาลียุค มาแล้ว 5114 ปี (นับถึงปี คศ2013) โดยเริ่มต้นของกาลียุคตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ เดือนภัทรปท ในเวลาเที่ยงคืนตรงกับ วยาฑิปัฏฏะโยค พระจันทร์เสวยอาศเลษะนักษัตรที่ 9 เมื่อ 5114 ปีมาแล้ว
โลกในยุคที่สามนี้ (ทวาปรยุค) พระวิษณุอวตารเป็นพระฤษีวยาสะ, เกิดมาเพื่อประทานสิ่งวิเศษให้กับมนุษย์โลก และทำการชำระพระเวทให้ถูกต้องโดยจากหนึ่งคัมภีร์ได้จำแนกและจัดหมวดหมู่ออกเป็นหลายๆส่วน เนื่องจากมนุษย์ในยุคนี้มีข้อจำกัดในเรื่อง ความเพียร กำลังและความสามรถในการท่องจำพระเวท อีกทั้งอายุขัยอันจำกัด และการชำระพระเวทออกเป็นสี่ส่วนนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของมนุษย์ตามยุคสมัย ซึ่งการจัดสรรคพระเวทออกเป็นสี่คัมภีร์นี้เรียกกันว่า “พระเวทแห่งวยาสะ”
โดยในการจัดสรรชำระคัมภีร์พระเวทนี้ ได้ผ่านการชำระมาแล้วถึง 28 ครั้ง โดยในทุกๆ"ทวาปรยุค"ในหนึ่ง"มันวันตระ" พระวิษณุจะอวตารมาเป็นพระฤาษีวยาสะ 1ครั้ง และวยาสะก็คือ พระเวทฤาษีอวตารเป็นครั้งที่ 28 ใน"มันวันตระ"นี้ ซึ่งครั้งนี้นับจากต้นกัลป์จะเป็นช่วงเวลา"มันวันตระ"ของพระมนูองค์ที่ 7 พระนามว่า"ไววะสตวะมนู"
โดยเริ่มแรกในทุกๆต้นยุค ในยุคแรก เริ่มจากพระพรหม(สยัมภู)ทรงประทานพระเวทลงมา ยุคต่อจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่เผยแพร่ของพระนางประชาบดี และยุคต่อมาก็จะเป็นการจัดหมวดหมู่ของพระเวทฤาษี ฯลฯหมุนเวียนกันไปไม่จบสิ้น
การเทียบยุคต่างๆในคัมภีร์พระเวท
1 ปีของมนุษย์ = 1 เทวะอโหราตระ หรือ เทวะอโหราตรี (1 วันและ 1 คืนของเทพ)
360 เทวะอโหราตระ = 1 เทวะวัฏฏสาระ
12,000 เทวะวัฏฏสาระ = 1 จตุรยุค
(12,000 เทวะวัฏฏสาระ มีการแบ่งเป็น กฤดายุค มีระยะเวลา 4,800 เทวะวัฏฏสาระ ,ไตรดายุค มีระยะเวลา 3,600 เทวะวัฏฏสาระ ทวาปรยุคมีระยะเวลา 2,400 เทวะวัฏฏสาระ และ ของกาลียุค 1,200 เทวะวัฏฏสาระ ซึ่งรวมเป็น 1,200 * 360 = 4,32,000 ปีของมนุษย์)
71 จตุรยุค = 1 มันวันตระ(ช่วงชีวิตของมนุ 1องค์)
14 มาวันตระ = 1 กัลป์ (1 วันของพระพรหม) 2 กัลป์ = 1 วัน + 1 พรหมาราตระ (ราตรี)
360 วันของพระพรหม = 1 พรหมาวรรษา(ปี)
พระคเณศกับมหาภารตะยุทธ
มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการเขียนมหาภารตะลงเป็นอักษร ในการบอกเล่าเรื่องราวของมหาภารตะยุทธออกไป ฤษีวยาสะ ต้องการมีสมาธิในการเล่าเรื่องและต้องการใครสักคนที่จะช่วยเขียนเรื่องราวนี้ลงไปพร้อมๆกับที่ท่านกำลังท่องโศลกต่างๆออกมาตามนิมิตรจากพระพรหม, พระคเณศวรรับอาสาที่จะช่วยเหลือฤาษีวยาสะในการบันทึกเรื่องราวของมหาภารตะ แต่มีเงื่อนไขว่า การบรรยายจะต้องรวดเร็วและต่อเนื่องไม่ขาดตอนหรือหยุดลงกลางคัน เพื่อท่านจะต้องไม่มีการหยุดพักการเขียน ซึ่งฤษีวยาสะก็ตอบตกลงตามที่พระคเณศขอ แต่ก็มีเงื่อนกลับไปเช่นกันว่าพระเคณศเองก็จะต้องเข้าใจความหมายของทุกๆโศลกก่อนที่จะเขียนมันลงไป
ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ฤษีวยาสะต้องใช้เวลาในการเขียนบทต่อๆไป ท่านจะท่องโศลกที่เข้าใจยากและซับซ้อนขึ้นมาก่อนเพื่อที่จะให้พระคเณศจะต้องใช้เวลาขบคิดในความหมายที่พระฤาษีหมายถึง
เรื่องนี้ก็ได้ช่วยทำให้ฤษีวยาสะมีเวลาหยุดพักตามที่ต้องการ และขณะที่พระคเณศกำลังเขียนอยู่นั้น ปากกาก็เกิดแตกขึ้นมาในขณะที่กำลังเขียน จากนั้นท่านก็หักงาข้างหนึ่งของท่านและนำไปเขียนต่อแทนปากกา นี่คือเหตุผลว่าทำไมพระคเณศมีงาข้าง เดียว และได้นามว่า "เอกาทันตะ"
จากประวัติเบื้องต้นโดยคร่าวๆนี้ จะถือได้ว่าพระมหาฤาษีองค์นี้เป็นมหาอัจฉริยะโดยแท้ ทั้งประวัติความเป็นมา ทั้งนับจากโคตรตระกูลก็นับว่าเป็นผู้สืบสายธารแห่งนักปราชญ์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมอินเดียมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อีกทั้งท่านก็มีทายาทผู้ปราดเปรื่องอีกหลายท่าน เช่น สุขะมหาฤาษี กับอีกสามพี่น้องในเรื่องมหาภารตะ
ชาวฮินดูบางกลุ่มเชื่อกันว่าท่านมีความเกี่ยวข้องบางอย่างกับพุทธศาสนา โดยปรากฏเรื่องราวบางคล้ายกันบางอย่างใน นิทานชาดกของพุทธศาสนากับเรื่องราวในมหาภารตะยุทธ โดยอ้างว่าพระมหาฤษีเคยเกิดเป็น กัณหทีปายนดาบส ใน นิทานชาดกของพุทธศาสนา คือใน สังกิจจชาดก และ กัณหทีปายนชาดก (บาลี เป็น มัณฑัพยชาดก)
ผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่านนอกจากมหากาพย์ ภารตะยุทธที่เรารู้จักแล้ว ก็คือการชำระพระเวทออกเป็นสี่ส่วนและได้แต่งเพิ่มเติมจบครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งหากจะนับเป็นงานเขียน คงจะมีความยาวหลายล้านโศลก ซึ่งทุกๆตัวอักษรทุกๆโศลกได้แฝงภูมิปัญญาอันลึกล้ำอยู่อย่างมากมายมหาศาล