วิธีอ่านปฏิทินฤกษ์ยาม ๓ ระบบ ไทย จีน ฮินดู(ภารตะ)
โหราศาสตร์ฮินดูเป็นวิชาดาราศาสตร์-โหราศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดวิชาหนึ่งของโลกมีประวัติย้อนหลังไปถึง 8,300-3,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 10,000 ปี มาแล้ว (8300 B.C.- 3000 B.C.) โดยในระยะเวลาดังกล่าว วิชานี้ได้รับการค้นคว้าและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องมาพร้อมๆกับคัมภีร์พระเวท ของพราหมณ์ โดยมหาฤาษีหรือมหามุนีที่เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ในยุคบรรพกาล ที่รจนาคัมภีร์พระเวท (สัปตยุคฤาษี)จำนวน 18 องค์คือ มหาฤาษีสูรยา มหาฤาษีปิตมาส มหาฤาษีวยาสะ มหาฤาษีวสิษฐะ มหาฤาษีอตรี มหาฤาษีปราสาระ มหาฤาษีกาษยาปะ มหาฤาษีลิษะ มหาฤาษีชาวาล มหาฤาษียาวนะ มหาฤาษีภฤคุ มหาฤาษีสูรยา มหาฤาษีศอุนาคาเป็นต้น
วิชาโหรฯแห่งดินแดนภารตะ(อินเดีย) ตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบันมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเช่นโหราศาสตร์ฮินดู (Hindu Astrology)โหราศาสตร์พระเวท(Vedic Astrology) โชฺยติษ ศาสตร์ (Jyotish shastra)เป็นวิชาที่ว่าด้วย กาลเวลา การโคจรของดาวเคราะห์ และปรากฏกาณ์ทางดาราศาสตร์ ที่ส่งพลังรังสีที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ ทั้งในด้านชาตาชีวิต สุขภาพ ความสามารถ ความนึกคิด อารมณ์ต่างๆ ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากพลังรังสีดี-ร้ายของจักรวาลและเป็นวิชาหนึ่งในวิชาหลักสมัยโบราณที่นักบริหาร นักการทหาร และนักปกครอง จะต้องเรียนรู้และเป็นแม่แบบของวิชาโหราศาสตร์ระบบนิรายนะในวัฒนธรรมอื่นๆทั่วโลกและเป็นบรมครูของโหราศาสตร์ไทย โหราศาสตร์ลังกา พม่า ลาว เขมร มอญ อินโด ธิเบต ฯลฯและแม้แต่โหราศาสตร์จีนก็ได้รับอิทธิพลจากโหราศาสตร์ภารตะเป็นอย่างมากผ่านทางพุทธศาสนามหายานที่แพร่เข้าไปในประเทศจีนเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ซึ่งศาสตร์เหล่านี้ เป็นศาสตร์ชั้นสูงที่มีการคำนวณ ยุ่งยากสลับซับซ้อนและละเอียดเป็นอย่างมากเพื่อใช้สำหรับทำนายเหตุการณ์บ้านเมือง ทำนายฝนฟ้า ฤดูกาล ทำนายชาตาชีวิต ของกษัตริย์ และบุคคลชั้นสูง ส่วนสามัญชนcm[จะไม่มีโอกาสได้ใช้เลย ปัจจุบันในประเทศอินเดีย ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา มีการเปิดเผยความลี้ลับของวิชาโหราสาตร์และคัมภีร์เก่าแก่ที่ปิดบังซ่อนเร้นมานานนับพันปี นำมาเผยแพร่ให้ความรู้ต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์
เท่าเทียมกันแก่บุคคลทุกชั้นวรรณะ ที่จะได้มีโอกาสใช้และได้รับผลดีจากภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนโบราณ
วิชาฤกษ์ยาม เป็นวิชาเดียวเท่านั้นที่สามารถขจัดปัดเป่าอุปสรรคและแก้ไขผลร้ายจากดวงชาตาเดิมได้จริง ซึ่งหลักการนี้ได้รับการยอมรับจากโหราจารย์ทุกระบบทุกแขนงทั่วโลกมาตั้งแต่โบราณ แต่เนื่องจากฤกษ์ยามเป็นนามธรรมเป็นกาละแห่งเวลาที่จับต้องไม่ได้โบราณท่านจึงคิดค้นวิธีการแสดงรูปลักษณ์ของ“ฤกษ์ยาม”ออกมาด้วยรูปแบบของ”พิธีกรรม”ซึ่งพิธีกรรมทั้งหลายก็ต้องอาศัยฤกษ์ยามที่ถูกต้องเท่านั้น จึงจะมีพลังและสามารถส่งผลดีตามที่ต้องการได้ และหากมีการใช้ฤกษ์ยามที่ผิด การประกอบพิธีกรรมต่างๆแม้ว่าจะทำให้ดูเข้มขลังอลังการหรือยิ่งใหญ่สักเพียงใดก็ตามก็เท่ากับสูญเปล่า ไม่เพียงแต่ไม่ประสบผลดีเท่านั้นแต่ก็ยังอาจจะกลับประสบผลร้ายได้อีกด้วย ซึ่งโหราจารย์ทั้งหลายย่อมรู้ดีแต่สามัญชนทั่วไปไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลยว่าฤกษ์ยามมีอิทธิพลเหนือพิธีกรรมต่างๆในทุกรูปแบบ
ปฏิทินฮินดู หรือ ปํญจางคนัม หรือปฏิทินโหราศาสตร์ เป็นปฏิทินที่คำนวนพลังรังสีดี-ร้ายของดาวเคราะห์ ดาวนักษัตร ดิถี ดี-ร้ายในแต่ละวัน เพื่อจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรืองในกิจการที่จะกระทำและหลีกเลี่ยงผลร้ายที่เกิดตามมา ซึ่งในการคำนวณหาพลังรังสีดี-ร้ายในแต่ละวันนั้นจะต้องมีองค์ประกอบผสมผสานสัมพันธ์กันอยู่ 5 ประการคือ (1.) ดิถีหรือดิถีขึ้นแรมของจันทร์ ตามหลักดิถีเพียร(2.) วาร หรือวันในสัปดาห์ เช่น จันทร์ อังคาร พุธ ฯลฯ (3.)นักษัตรหรือกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 กลุ่มในจักราศีนับตั้งอัศวินีนักษัตรเป็นต้นจนถึงเราวดีนักษัตรหมุนเวียนกันไปจนครบ 1 รอบเดือนทางจันทรคติ (4.)โยค หรือ นักษัตรโยคทั้ง 27 โยคหมุนเวียนกันไปจนครบใน 1 รอบเดือนทางจันทรคติ (5.) กรณะ หรือนักษัตรกาล คือเวลาครึ่งหนึ่งของวันทางจันทรคติมีระยะ 6 องศาทวีคูณระหว่างพระอาทิตย์กับจันทร์ซึ่งมีทั้งหมด 11 กรณะ ซึ่งทั้งหมดทั้ง 5 ประการนี้จะต้องเป็นศุภผล(ผลดี)เท่านั้นจึงจะเป็นฤกษ์ยามที่เป็นมงคล เหมาะสำหรับเริ่มกิจการต่างๆและจะให้ผลดีประสบความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรือง
1.วันพระไทย-จีน วันพระไทยเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น
15 ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ) ส่วนวันพระจีนจะเป็น
วันขึ้น 1 ค่ำและ 15 ค่ำจีน ( ชิวอิก จับโหงว 初一 十五)
2.ดิถีจันทรคติไทย ใช้แบบดิถีตลาด ดิถีมี 2แบบคือ 1 ดิถีตลาด 2 ดิถีเพียร 1.ดิถีตลาดคือการคำนวณดิถีตามปฏิทิน
ทั่วไป โดยอนุโลมนับตามวันทางสุริยคติ บางครั้งจะไม่ตรงกับความเป็นจริงในท้องฟ้า เช่น บอกวันขึ้น 15 ค่ำแต่พระจันทร์ บน
ฟ้ายังไม่เต็มดวงจริงๆ 2.ดิถีเพียร คือดิถีที่ใช้ในโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ คำนวนจากองศาสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์ที่
ปรากฏจริง ใช้ในการวางฤกษ์ยามและการคำนวณทางดาราศาสตร์
3.ปีนักษัตรไทย การเปลี่ยนปีนักษัตรแบบไทย ซึ่งก็มีหลายมติและหลายอาจารย์ดังนี้
1.ปฏิทินโหราศาสตร์ของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว จะเปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้นปีใหม่สากลหรือทุกๆวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี
2.ปฏิทินโหราศาสตร์ของ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร จะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกๆวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี
3.ปฏิทินโหราศาสตร์ของ อาจารย์พันเอกสุชาติ ศุภประเสริฐ จะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี
4.ปฏิทินโหรหลวงของหมวดโหรพรามณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังจะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้ายของทุกปี
ส่วนการคำนวณปฏิทินฉบับนี้จะใช้หลักตามข้อ 3 เพราะมาจากพระราชวินิจฉัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 และยึดตามการบันทึก
ของพงศาวดารของไทยมาแต่โบราณ
4.ปีนักษัตรจีน การเปลี่ยนปีนักษัตรแบบจีน จะเปลี่ยนตามปฎิทินจีน โดยคำนวณจากวันสารท”ลิบชุน” 立春 โดยจะ
ซึ่งอยู่ราวๆวันที่ 3 4 5 ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งหลายๆคนสับสนกับปีนักษัตรไทย แต่บางคติิจะเปลี่ยนในวันตรุษจีน
5.ดิถีเดือนปีจันทรคติจีน แสดงดิถี เดือน ปีแบบจันทรคติจีน สำหรับใช้ผูกดวงจีน
6.ฤดูสารท 24 ฤดูของจีนแสดง 24 ฤดูสารท คือ (1) 小寒 สารทเสี่ยวหาน จะเปลี่ยนประมาณวันที่ 4 5 6 ม.ค.
(2) 大寒 สารทต้าหาน (19 20 21 ม.ค.) (3) 立春 สารทลี่ชุน ( 3 4 5 ก.พ.) (4) 雨水 สารทอวี๋สุ่ย (18 19 20 ก.พ.)
(5) 驚蟄 สารทจิงเจ๋อ ( 5 6 7 มี.ค.) (6) 春分 สารทชุนเฟิ่น ( 20 21 22 มี.ค.) (7) 清明 สารทชิงหมิง ( 4 5 6 เม.ษ.)
(8) 穀雨 สารทกู่อวี้ (19 20 21 เม.ษ.) (9) 立夏 สารทลี่เซี่ย ( 5 6 7 พ.ค.) (10) 小滿 สารทเสี๋ยวหมั่น ( 20 21 22 พ.ค.)
(11) 芒種 สารทหมังจ่ง ( 5 6 7 มิ.ย.) (12)夏至 สารทเซี่ยจื้อ ( 20 21 22 มิ.ย.) (13) 小暑 สารทเสี๋ยวสู่ ( 6 7 8 ก.ค.)
(14) 大暑 สารทต้าสู่ (22 23 24 ก.ค.) (15) 立秋 สารทลี่ชิว (7 8 9 ก.ย.) (16) 處暑 สารทชู่สู่ (22 23 24 ส.ค.)
(17) 白露 สารทไป๋ลู่ (7 8 9 ก.ย.) (18) 秋分สารทชุ่นเฟิ่น (22 23 24 ก.ย.) (19) 寒露 สารทหานลู่ (7 8 9 ต.ค.)
(20 ) 霜降 สารทซวงเจี้ยง (23 24 ต.ค.) (21) 立冬 สารทลี่ตง (7 8 พ.ย.) (22) 小雪 สารทเสี๋ยวเสวี่ย(21 22 23 พ.ย.)
(23) 大雪สารทต้าเสวี่ย (6 7 8 ธ.ค.) (24) 冬至สารทตงจื้อ(21 22 23 ธ.ค.)
7.เดือนจันทรคติจีน เดือนเล็กจะมี 29 วัน 月小 และเดือนใหญ่จะมี 30 วัน 月大
8.วันชง แสดงวันชงตามนักษัตรแบบจีน เช่น วันมะโรงไม่ถูกกับจอ หมายความว่า วันนี้เป็นวันของมะโรงซึ่งพิฆาตกับ
คนเกิดปีจอตามหลักธาตุพิฆาต ดังนั้น คนปีจอไม่ควรทำงานมงคลหรือริเริ่มกิจการใหม่ในวันนี้
9.กาลพิเศษ แสดงกาลพิเศษหรือวันสำคัญของไทยและสากล
10.ฤกษ์ล่าง คือการคำนวณจากดิถีขึ้นแรมผสมกับวัน(วาร) และเดือนทางจันทรคติเพ่ือหาผลดีร้ายสำหรับการวางฤกษ์
11.ฤกษ์บน คือฤกษ์ที่ดาวจันทร์เสวยกลุ่มดาวนักษัตร (Fixed Stars) ทั้ง 27 นักษัตรในรอบ 1 เดือนทางจันทรคติโดยเสวยฤกษ์ละประมาณ 24 ชั่วโมง ใช้สำหรับคำนวนเดือนทางจันทรคติและคำนวณฤกษ์ยามมงคลต่างๆ นักษัตรทั้ง 27ตามคติอินเดียและจีนโบราณมีถึง 28 นักษัตร (เพิ่มนักษัตรอภิชิต) ซึ่งมีรายละเอียดตาม ภาคผนวก ค
12.หลักการคำนวนปฏิทินโหราศาสตร์ฉบับนี้ ใช้สมผุสนิรายนะ ปฏิทินดาราศาสตร์ อายนางศะลาหิรี ณ. กรุงเทพมหานคร เวลา ๐๗.๐๐ น. Latitude 13.45 North, Longitude 100.32 East ซึ่งต่างจากโหราศาสตร์ไทยในระบบสุริยาตร์
13.ดวงจักราศี วงกลมด้านในแสดงดาวเคราะห์ในราศีจักร (ตัวเลขไทย) ตัวเลขไทยสีแดงหมายถึงดาวกำลังจะย้ายราศีและวงกลมรอบนอกดาวเคราะห์ในดวงนวางศ์จักร (ตัวเลขอารบิก)
14.องศาดาว แสดงองศาดาวเคราะห์ทุกดวง และอาการวิกลคติต่างๆของดาวเคราะห์ เช่น
(1) ดับ คือ แสดงองศาของดาวเคราะห์ที่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากเกินไปจนเกิดเป็นอัสตะ(ดับ) Combustion เพราะรัศมีอาทิตย์
(2) พักร คือ อาการเดินถอยหลังของดาวเคราะห์ ทางดาราศาสตร์เรียกว่า Retrograde Motion ใช้อักษรย่อ (พ)
(3) มนฑ์ คือ อาการหยุดนิ่งของดาวเคราะห์ ก่อนการพักรหรือเสริด ทางดาราศาสตร์เรียกว่า Stationary ใช้อักษรย่อ (ม)
(4) เสริด คือ อาการโคจรพุ่งไปข้างหน้าของดาวเคราะห์ด้วยความเร็วมากว่าปกติ เรียกว่า Direct Motion ใช้อักษรย่อ (ส)
15.ดาวย้ายราศี / ลัคนาจร แสดงการย้ายราศีและการเสวยนักษัตรต่างๆของดาวเคราะห์ทุกดวง และลัคนาจรในแต่ละวัน ซึ่งคำนวนลัคนาจากเวลานักษัตร ดังนั้นเวลาลัคนาในแต่ละจังหวัดจะไม่ตรงกัน กรุณาอ่านตารางเทียบเวลาท้องถิ่นและเวลาอาทิตย์อุทัยทุกจังหวัดในท้ายเล่ม เพื่อทดเวลาให้ถูกต้องตามเวลาท้องถิ่นจังหวัดของท่าน
16.รัตนโกสินทร์ศก แสดงร.ศ.ตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาโดยจะเปลี่ยนศักราชทุกวันที่ 1เม.ย.ของทุกปี
17.มหาศักราช แสดงมหาศักราชที่ใช้กันในประเทศไทยมาแต่โบราณและปฏิทินแห่งชาติของสาธารณ รัฐอินเดีย (Shalivahana era, Saka era) เปลี่ยนศักราชใหม่ในขึ้น ๑ ค่ำเดือน จิตรา หรือ เดือน ๕
18.กาลโยค เป็นการคำนวณวันที่เป็นฤกษ์ดี-ร้าย เช่นวันอุบาทว์์ วันอธิบดี วันโลกาวินาส วันธงชัย ตามหลักวิชาการคำนวนของคัมภีร์สุริยาตร์ การเปลี่ยนกาลโยคจะเปลี่ยนในวันเถลิงศกในแต่ละปี ซึ่งจะตกประมาณวันที่ 15-16 เมษายน
19.จุลศักราช เป็นศักราชที่ใช้ในมาแต่โบราณ และใช้ในการคำนวณทางโหราศาสตร์
20.ปีสุริยจันทรคติ การนับปีในระบบสุริยคติและจันทรคติแตกต่างกันและแต่ละระบบจำนวนปีก็ยังคลาดเลื่อนไปทุกปีเพื่อให้ปฏิทินไม่เกิดการคลาดเคลื่อน ในหนึ่งปีมี 365.2564 วันไม่ใช่ 365 วัน ดังนั้นจึงต้องทดวันมาเพิ่มในวันที่ขาดไป คือ
(1)ปีในระบบสุริยคติ โดยมี 2 แบบดังนี้
(1.1) ปกติสุรทินคือ 1 ปี มี 365 วัน
(1.2) และปีอธิกสุรทิน 1 ปีมี 366 วัน (เพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์) โดย 4 ปีมีครั้งหนึ่ง
(2) ปีทางจันทรคติ โดยมี 3 แบบดังนี้
(2.1) ปกติมาส-ปกติวาร มีเดือนคู่ ข้างขึ้น 15 วัน ข้างแรม 15 วันและมีเดือนคี่ ข้างขึ้น 15 วัน ข้างแรม 14 วัน
(2.2) ปกติมาส-อธิกวาร เหมือนข้างต้นแต่ในเดือน 7 จะมีข้างแรม 15 วัน (เพิ่มแรม15 ค่ำเดือน 7)
(2.3) อธิกมาส-ปกติวาร คือ ปีที่มีเดือนแปดเพิ่มอีก 1 เดือน (เดือนแปดสองหน)
21.ศก เป็นการคำนวณรอบปีจำนวน 60 ปีโดยอ้างอิงจากเลขท้ายของปีจุลศักราชและปี 12นักษัตรผสมกันคล้ายกับระบบหลักจับกะจื้อ
ของจีน โดยมีชื่อเรียกดังนี้
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 1 เรียก "เอกศก"
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 2 เรียก "โทศก"
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 3 เรียก "ตรีศก"
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 4 เรียก "จัตวาศก"
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 5 เรียก "เบญจศก"
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 6 เรียก "ฉศก" หรือ “ฉอศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 7 เรียก "สัปตศก"
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 8 เรียก "อัฐศก"
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 9 เรียก "นพศก"
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 0 เรียก "สัมฤทธิศก"
ตัวอย่างเช่น ปีมะโรงในปี จ.ศ. 1374 ก็จะเรียกว่า ปีมะโรงจัตวาศก
22.ปัญจางค ดิถีเพียร เป็นการคำนวณปฏิทินตามแบบฮินดูซึ่งละเอียดแม่นยำมาก ใช้กันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ราย
ละเอียดอยู่ใน ภาคผนวก
23.แสดงวันบูชาเทพเจ้าและเทศกาลสำคัญต่างๆของฮินดู โดยพิธีบูชาต่างๆของฮินดูมีการกำหนดเวลาจากฤกษ์ยามในระบบโหราศาสตร์ซึ่งจะต้องคำนวณจากปฏิทินโหราศาสตร์อย่างละเอียดเท่านั้นและจะต้องคำนวณจากดิถีเพียรและโซนเวลาของแต่ละประเทศแต่ละท้องถิ่นด้วย ในปฏิทินฉบับนี้ได้คำนวณเวลาฤกษ์สำหรับพิธีบูชาต่างๆตามเวลาท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร
24.แสดงวันไหว้เจ้าต่างๆของจีน ซึ่งวันไหว้พระหรือวันเกิดพระต่างๆของจีนมักจะมีซ้ำกันได้หลายวันใน 1 ปี เนื่องจากตามคติความเชื่อและประเพณีในแต่ละท้องถิ่นของจีน และเทพเจ้าบางค์ก็มีหลายปาง มีหลายคติทั้งพุทธและเต๋า
25.แสดงชั่วโมงยามอัฐกาล และชั่วโมงยามต่างๆตามแบบโหราศาสตร์ไทยซึ่งจะมีการแบ่งยามกลางวันกลางคืนอย่างละ 8 ชั่วโมงและเปลี่ยนยามในแต่ละวันตามวารทั้ง 7
26.ยามอัฐกาลและกาลโยคประจำปี ซึ่งจะเปลี่ยนทุกปีในวันเถลิงศกประจำปี
27.ทิศมงคลตามหลักมหาทักษา ซึ่งจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปทุกวันตามวันทั้ง 7
28.สีและอัญมณีมงคลตามหลักมหาทักษา ตามหลักโหราศาสตร์ไทยที่ใช้กันมาแต่โบราณ
29.ฤกษ์วันนี้ เป็นการคำนวณฤกษ์ยามมงคลตามแบบคัมภีร์มุหูรตะ ที่ได้คำนวณเวลาที่เป็นมงคลจากระบบปัญจางค คือ นักษัตร วาร ดิถี โยคและกรณะ อีกทั้งได้คำนวณร่วมกับฤกษ์บนและโยคดิถี(ฤกษ์ล่าง) พร้อมทั้งคำนวณโยคเกณฑ์พิเศษ ที่เป็นดิถีของภารตะหรือโยคมุหูรตะและแสดงกิจการที่สมพงษ์กับฤกษ์นั้นๆ ซึ่งท่านจะต้องเลือกช่วงเวลาที่ต้องการทำการมงคลจาก“ปัญจางคะ ”
โดย (1)ยกเว้นเวลาของโยคไม่ดี คือ วิษฏัมภะ อติคัณฑะ ศูละ คัณฑะ วยาฆาตะ วัชร วยาฑิปัฏฏ ปริฆะ วยธรูติ(2)ยกเว้นเวลาของกรณะที่ไม่ดี คือ วิษฏิกรณะ (3) ยกเว้นเวลาของราหูกาล คุลิกากาล ยมกาล วารชยะ และทุรมหูรตะ (4) วางลัคนาของช่วงเวลาให้เหมาะสมกับกิจการที่ทำ (5) หากเป็นกิจการที่สำคัญมากเช่น งานมงคลสมรส เข้าอยู่บ้านใหม่ ยกเสาเอกสร้างอาคาร ควรตัดฤกษ์และวางลัคนาให้สมพงศ์กับดวงชาตาเจ้าการจึงจะเป็นมงคลสูงสุด และได้รับผลดีจากฤกษ์ได้เต็มสมบูรณ์
หมายเหตุ-การคำนวนฤกษ์ดิถีมหาสูญ (ฤกษ์ร้ายห้ามทำการมงคล)ในปฏิทินฉบับนี้ คำนวนตามดิถีเพียรซึ่งมีความละเอียดแม่นยำ และถูกต้องตามแบบโบราณเพราะการคำนวนดิถีแบบโบราณนั้นท่านคำนวนตามองศาอาทิตย์-จันทร์ซึ่งเป็นดิถีเพียรไม่ใช่ดิถีตลาดโดยจะเห็นได้จากการคำนวนดิถีของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกาย ซึ่งเป็นดิถีเพียร หรือที่เรียกว่า “ปฏิทินจันทรคติปักขคณนา”
.................................................................................
ตารางเทียบเวลามาตรฐานประเทศไทยและเวลาอาทิตย์อุทัยเป็นเวลาท้องถิ่นทุกจังหวัด
เวลาเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดในหลักของโหราศาสตร์ ดังนั้นในการคำนวนดวงชาตาหรือฤกษ์ยามใดใดก็ตามก็ล้วนจะต้องอ้างอิงเวลาเป็นหลักในการคำนวน ซึ่งเวลาก็จะต้องถูกต้องแม่นยำและเที่ยงตรง ผลของการคำนวนจึงจะถูกต้อง ในการใช้เวลาตามหลักโหราศาสตร์นั้นจะต้องคำนวนหาจาก"เวลาท้องถิ่น" (Local Mean Time) ซึ่งก็คือเวลาจริงในขณะใดขณะหนึ่งตรงจุดกำเนิด ณ พื้นที่หรือสถานที่ตำบลนั้นๆ จะเรียกว่า เวลาท้องถิ่น ซึ่งเวลาท้องถิ่นในแต่ละประเทศ หรือเมืองหรือจังหวัดต่างๆก็ย่อมที่จะไม่ตรงกัน แต่ก็จะมีการอนุโลมใช้เวลาแบบเดียวกันทั้งประเทศ หรือที่เรียกว่า "เวลามาตรฐาน" (Standard time)ซึ่งประเทศไทยของเรานั้น ได้กำหนดให้เส้นแบ่งเขตเวลามาตรฐานไว้ที่ เส้นลองติจูด ๑๐๕ องศา ตะวันออก ณ. จังหวัดอุบลราชธานี หรือเขตเวลา+ 7 หมายความว่าเวลามาตรฐานนาฬิกาของประเทศไทยนั้นต่างจากเวลามาตรฐานนาฬิกาที่เมืองกรีนิชประเทศอังกฤษ ๗ ชั่วโมง และเวลานาฬิกาที่ใช้กันอยู่ทั่วประเทศจริงๆแล้วก็คือเวลาท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้นเมื่อเราอยู่ที่กรุงเทพฯและนาฬิกาบอกเวลาเป็นเวลาเที่ยงตรงหรือ 12.00 น.ก็คือเวลาของจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนเวลาท้องถิ่นจริงๆของกรุงเทพนั้นจะต้องคำนวนหาดังนี้ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ เส้นลองติจูด 100.5 องศาตะวันออก ซึ่งต่างจากเส้นเวลามาตรฐานนาฬิกาของประเทศไทย(จ.อุบลฯ )ที่ 105.00 องศาตะวันออก ก็คือ 105.00-100.5 เท่ากับ 4.5 องศา โดยทุกๆ 1 องศาเวลาจะต่างกัน 4 นาที ดังนั้น 4.5 องศาก็จะต่างกัน 18 นาที ดังนั้นเมื่อเวลา 12.00 น. เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร ก็จะเป็นเวลา11.42 น. ส่วนจังหวัดอื่นๆก็จะมีเวลาท้องถิ่นแตกต่างกัน ตามตารางด้านบนนี้