โศลกที่ ๗๒
ท่านผู้รู้ให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไม่มีลูกหรือการเป็นหมันไว้ดังนี้ อาทิตย์ร่วมกับจันทร์คือเกิดในวันแรม ๑๕ ค่ำพอดี พุธอยู่ในภพที่ ๔ จากลัคนา พฤหัสบดีอยู่ในภพที่ ๕ จากลัคนา อังคารอยู่ในภพที่ ๒ จากลัคนา ศุกร์อยู่ในภพที่ ๖ จากลัคนา ฯ
หมายเหตุ
กฎหรือโยคแห่งการเป็นหมันที่ให้ไว้ในโศลกนี้คล้ายคลึงกับโยคในโศลกที่ ๕๒ ซึ่งในโยคนั้นเข้าใจว่าเป็นโยคแห่งการไม่มีบุตรเหมือนกัน เพราะทางธรรมเนียมแขกถือว่าการไม่มีบุตรเป็นเรื่องที่เคราะห์ร้ายที่สุด ตามกฎเกณฑ์ในโศลกนี้จะเห็นได้ว่าโยคที่กล่าวไว้เป็นไปได้ทุกอย่าง ในชะตาดวงเดียวกัน คือสามารถมีตำแหน่งพระเคราะห์ตามที่ให้ไว้ครบบริบูรณ์ มีข้อที่น่าสังเกตคือตำแหน่งของอาทิตย์ที่ร่วมกับจันทร์นั้นไม่ได้บังคับว่าอยู่ในภพใดจากลัคนา ตามกฎของดาราศาสตร์เมื่อพุธอยู่ในภพที่ ๔ และศุกร์ในภพ ๖ จากลัคนา อาทิตย์จะอยู่ได้เพียง ๒ ภพเท่านั้น คือภพ ๔ ร่วมกับพุธหรือที่ภพ ๕ ร่วมพฤหัสบดี เพราะฉะนั้นจันทร์ก็ต้องอยู่ร่วมราศีกับอาทิตย์ตลอดเวลาด้วย
โศลกที่ ๗๓-๗๔
เมื่อพระเคราะห์ต่างๆร่วมราศีเดียวกัน และอยู่ในวรรคที่มีกำลังเข้มแข็งด้วยกันทั้งคู่ ท่านให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแพ้ชนะของพระเคราะห์ดังนี้ พุธเข้มแข็งชนะราหู เสาร์เข้มแข็งชนะราหูและพุธ อังคารเข้มแข็งชนะราหู พุธและเสาร์ ศุกร์เข้มแข็งชนะราหู พุธ เสาร์และอังคาร พฤหัสบดีเข้มแข็งชนะราหู พุธ อังคารและศุกร์ จันทร์เข้มแข็งชนะราหู พุธ เสาร์ อังคาร ศุกร์และพฤหัสบดี สำหรับอาทิตย์ถ้าเข้มแข็งชนะพระเคราะห์อื่นๆทุกดวง ฯ
โศลกที่ ๗๕
พระอาทิตย์ถ้าเป็นดาวให้โทษ จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับสมอง หรือได้รับความกระทบกระเทือนที่สมองเนื่องจากถูกทำร้ายโดยบริวารของผู้ยิ่งใหญ่เช่นพระราชา พระเจ้า พวกพราหมณ์ มีโรคปวดศรีษะเป็นประจำ เป็นไข้มีความร้อนสูง เพ้อคลั่งรุนแรง เป็นโรคเกี่ยวกับปอดเรื้อรัง และมักเป็นบิดหรือลำไส้อักเสบ ฯ
โศลกที่ ๗๖
พระจันทร์ถ้าเป็นดาวให้โทษ จะทำให้เกิดกามโรค โลหิตจาง โรคหวัด โรคดีซ่าน โรคตับอักเสบ โรคโพรงจมูกอักเสบ และโรคร้ายต่างๆจากสตรีเพศ หรือภูติผีปีศาจตัวเมีย ฯ
โศลกที่ ๗๗
พระอังคารเป็นดาวให้โทษทำให้เกิดโรคอัณฑะบวมอย่างรวดเร็ว เป็นโรคไออย่างกระทันหัน มีเสมหะมากเช่นปอดบวม อันตรายเนื่องมาจากคมอาวุธต่างๆ ไฟไหม้ โรคเนื้องอก แผลพุพอง หรือโรคลมพิษ อีสุกอีใส เจ้าชะตาจะได้รับภัยจากอาวุธของพระศิวะหรือได้รับความเดือดร้อนจากนิกายนี้ ฯ
โศลกที่ ๗๘
พระพุธถ้าเป็นดาวให้โทษ จะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและโรคในบริเวณที่ลับ ทำให้เจ้าชะตามีความทุกข์ใจมาก ทำให้เป็นโรคผิวหนังหรือโรคเรื้อน โรคทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องร่วง อหิวาตกโรค จะได้รับภัยจากพระวิษณุหรือได้รับความเดือดร้อนจากนิกายนี้ โศลกที่ ๗๙
พฤหัสบดีถ้าเป็นดาวให้โทษ จะทำให้เกิดความทุกข์ หรือได้รับความเดือดร้อนจากผู้ใหญ่ บรรพบุรุษ พ่อแม่ และพวกพราหมณ์ และมักเป็นโรคเกี่ยวกับม้าม พระศุกร์ถ้าเป็นดาวให้โทษ ทำให้โรคเบาหวาน เบาจืด โรคเกี่ยวกับไต โรคพิษสุราเรื้อรัง กามโรคอันตรายจากเพศตรงข้าม ฯ
โศลกที่ ๘๐
พระเสาร์ถ้าเป็นดาวให้โทษ ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับข้ออักเสบ ลำบากยากจน ทำให้วิถีชีวิตต้องพัวพันกับพวกเหล่าร้าย มิจฉาชีพต่างๆ เร่ร่อนพเนจร พระเกตุถ้าเป็นดาวให้โทษทำให้เป็นโรคผื่นคันตามผิวหนัง โรคฝีดาษ อันตรายจากอาวุธของศัตรูและชนชั้นต่ำ ฯ
โศลกที่ ๘๑
พระราหูถ้าเป็นดาวที่ให้โทษ ทำให้เกิดความกลัว มีวิกลจริตมาก ทำให้เกิดโรคชัก เช่นลมบ้าหมู บาดทะยัก โรคจากพิษของแมลงตัวหนอน และภัยจากปีศาจต่างๆทำให้เป็นโรคเรื้อนและสามารถทำให้เจ้าชะตาฆ่าตัวตายได้ง่ายๆ ฯ
โศลกที่ ๘๒
ในการโคจรของพระเคราะห์ต่างๆตามราศีย่อมให้คุณหรือโทษในส่วนต่างๆของราศีไม่เหมือนกัน ท่านให้ความเห็นว่าอาทิตย์และอังคารแสดงผลในตรียางค์ที่ ๑ ของราศีต่างๆ จันทร์และเสาร์แสดงผลในตรียางค์ที่ ๒ ของราศีต่างๆ พฤหัสบดีและศุกร์แสดงผลในตรียางค์ที่ ๓ ของราศีต่างๆ ส่วนพุธแสดงผลตลอดทั้งราศีเท่ากันหมด ฯ
โศลกที่ ๘๓
เมื่อผู้ใดเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นโดยเนื่องจากกรณีใดๆก็ตาม เป็นหน้าที่ของโหรที่จะต้องค้นคว้าหาเหตุผลว่าโรคนั้นมีสาเหตุมาจากพระเคราะห์ใด เมื่อรู้ว่าพระเคราะห์ใดทำให้เกิดโรคโดยชัดแจ้งแล้วเป็นหน้าที่ ที่จะแนะนำให้ผู้เจ็บป่วยหายจากโรคโดยวิธีการต่างๆเช่นการขอพรจากพระเจ้า การอาบน้ำล้างบาป การทำพิธีบูชายัญ หรือในสมัยนี้เรามักใช้คำว่าสเดาะเคราะห์ ทางโหราศาสตร์ถือว่าเมื่อได้ทำการสเดาะเคราะห์แล้วจะทำให้คนเจ็บมีกำลังใจดีขึ้นและเป็นเหตุที่จะให้เราพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บหรือความระทมทุกข์ได้ ฯ
โศลกที่ ๘๔
ในเรื่องกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดอาวุโสหรืออายุของพระเคราะห์ต่างๆโดยใช้ราศีเป็นหลัก ท่านได้ให้ความเห็นไว้ว่าทุกๆราศีแบ่งออกเป็น ๕ ส่วนเท่าๆกันและแยกประเภทราศีทั้ง ๑๒ ราศีออกเป็น ๒ ประเภท คือ ราศีคี่ได้แก่เมษ เมถุน สิงห์ ฯลฯ ราศีคู่ได้แก่พฤษภ กรกฏ กันย์ ฯลฯ ในประเภทราศีคี่พระเคราะห์ต่างๆที่โคจรเข้าผ่านราศีนี้ ลำดับอาวุโสตั้งแต่ ๐ ถึง ๓๐องศาดังนี้คือพาละหรือทารกะเป็นส่วนที่ ๑ กุมารหรือมรณะเป็นส่วนสุดท้าย สำหรับในราศีคู่
นับกลับกันคือขึ้นส่วนที่ ๑ ด้วยมฤตะหรือต่อไปเป็นวฤทธะ สุวะ กุมารและพาละตามลำดับ ฯ
โศลกที่ ๘๕
พระเคราะห์ทั้งหลายมีอริยาบทแบ่งได้ ๓ ประการ ประการที่ ๑ หมายถึงมีลักษณะตื่นอยู่ ได้แก่ดาวที่เป็นอุจจ์และอยู่ในนวางค์ที่ครองด้วยดาวดวงเดียวกัน ประการที่ ๒ หมายถึงกำลังฝันอยู่ได้แก่ดาวที่อยู่ในนวางค์ซึ่งครองด้วยคู่มิตร ประการที่ ๓ หมายถึงกำลังหลับอยู่ ได้แก่ดาวที่อยู่ในนวางค์ที่ครองด้วยศัตรูหรือดาวที่ได้ตำแหน่งนิจ ฯ
หมายเหตุ
การขับพระเคราะห์มีหลายวิธีและหลายระบบด้วยกัน สำหรับการขับพระเคราะห์เพื่อรู้อริยาบทต่างๆของพระเคราะห์เรียกว่าการหา อะวาสถา ของพระเคราะห์ซึ่งมีอยู่หลายระบบและหลายวิธีด้วยกัน ข้าพเจ้าจะขอพูดถึงวิธีที่ใช้กันมากที่สุด
คำว่า อะวาสถาหรืออะวาสถะ แปลว่า หมู่บ้าน หรือ โรงเรียนในทางโหราศาสตร์หมายถึงคุณภาพของพระเคราะห์ว่าจะให้คุณหรือโทษแก่เจ้าชะตา บางท่านให้ความเห็นว่าเป็นอาการต่างๆของพระเคราะห์ ซึ่งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับการพิจารณาประกอบดวงชะตา ซึ่งจะเท็จจริงอย่างไร ขอให้ท่านช่วยกันพิสูจน์หาความจริงด้วยตัวของท่านเอง
ในการหาอะวาสถาง่ายๆมีอยู่ ๖ ประการด้วยกันคือ
๑.ละชิตตะ หมายความว่า พระเคราะห์ขี้อาย ได้แก่พระเคราะห์ซึ่งอยู่ในภพที่ ๕ จากลัคนา และในเวลาเดียวกันร่วมกับราหู เกตุ อาทิตย์ อังคาร หรือเสาร์
๒.ครรวิตะ หมายความว่า การถือตัว เบ่ง จองหอง อวดดี ได้แก่พระเคราะห์ที่อยู่ในราศีอุจจ์หรือได้ตำแหน่งมูละตรีโกณ
๓.กะษุธิตะ หมายถึงการอดอาหาร ความหิว ได้แก่พระเคราะห์ที่อยู่ในเรือนของศัตรูหรือร่วมกับดาวที่เป็นศัตรูหรือเสาร์หรือได้รับแสงเต็มที่จากดาวพวกนี้
๔.คฤษิตะ หมายถึง ความกระหาย ตะกละ โลภ ได้แก่พระเคราะห์ที่อยู่ในราศีน้ำและรับแสงจากดาวที่เป็นศัตรู แต่ไม่ได้รับแสงจากศุภเคราะห์ใดๆ
๕.มุฑิตะ หมายถึง ความผาสุข ความสำราญ ได้แก่พระเคราะห์ที่อยู่ในเรือนมิตร หรือร่วมกับพฤหัสบดี หรือดาวที่เป็นมิตร หรือรับแสงจากดาวพวกนี้
๖.กโษภิตะ หมายถึง ความสะดุ้ง หวาดกลัว ตื่นเต้น ตกใจ ขี้ขลาด ได้แก่พระเคราะห์ที่อยู่ใกล้กับอาทิตย์ และรับแสงจากดาวที่เป็นศัตรู
อีกระบบหนึ่งที่นิยมใช้กันอยู่มากโดยจำแนกอะวาสถาออกเป็น ๑๒ ประการคือ
๑.คะยะนะ หมายความว่านอนหรือกำลังนอนอยู่
๒.อุปเวศะ หมายความว่านั่งหรือกำลังนั่งอยู่
๓.เนตระปาณิ หมายความว่าเอามือปิดตาหรือกำลังปิดตาอยู่
๔.ประกาศะนะ กำลังสุกใสสว่าง การแผ่รังสี มีรัศมี
๕.คะมะเนจฉะ กำลังเดินไป การจากไป ต้องการไป
๖.อะคะมะนะ กำลังหยุดอยู่ ไม่ไป
๗.สภายำวะสติ กำลังประชุมอยู่
๘.อาตะมะ กำลังเดินอยู่ กำลังกลับมา
๙.โภชนะ กำลังบริโภคอาหาร
๑๐.นฤตยะลิปสา ต้องการฟ้อนรำ ต้องการความสำราญ
๑๑.เกาตุถะ กำลังมีความผาสุข
๑๒.นิทรา กำลังนอนหลับอยู่
การจะหาดูว่าพระเคราะห์ต่างๆในดวงชะตามีอิริยาบทอันใดใน ๑๒ ประการนี้ เป็นเรื่องค่อนข้างจะสลับซับซ้อนอยู่สักหน่อย ซึ่งจะขอกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้
๑.นับดูว่าดาวเคราะห์ที่จะหาอะวาสถานั้น อยู่ราศีที่เท่าใดโดยนับราศีที่ ๑ จากอาทิตย์หรือพูดง่ายๆว่าอยู่ห่างจากอาทิตย์กี่ราศี สมมุติว่าได้จำนวนเท่ากับ A ซึ่งค่าของ A จะเกิน ๑๒ ไม่ได้เพราะมีอยู่ ๑๒ ราศีเท่านั้น
๒.นับดูว่าดาวที่ต้องการหาอะวาสถานั้นอยู่ในนักษัตรที่เท่าใด โดยใช้นับนักษัตรอัศวินเป็นนักษัตรที่ ๑ สมมุติว่าได้จำนวนเท่ากับ B ซึ่งค่าของ B จะเกิน ๒๗ ไม่ได้
๓.พิจารณาว่าดาวที่ต้องการหานั้นอยู่องศาที่เท่าใด ในราศีที่ดาวนั้นสถิต สมมุติว่าได้จำนวนเท่ากับ C ซึ่งค่าของ C จะเกิน ๓๐ ไม่ได้
๔.ให้หาผลรวมของจำนวนต่อไปนี้
ก.จำนวนนักษัตรของจันทร์ในชะตาคิดจากอัศวิน(อัศวินีนักษัตร)
ข.จำนวนราศีของลัคนาที่สถิตคิดจากเมษ
ค.จำนวนมหานาที คิดจากอาทิตย์อุทัยในวันนั้นถึงเวลาเกิดเมื่อได้ผลรวมของ ก. ข. ค. แล้วสมมุติเท่ากับ D ซึ่ง D เป็นค่าคงที่ของดวงชะตาแต่ละบุคคล
๕.เมื่อได้จำนวนค่าของ A B C และ D แล้วค่าของอะวาสถาของดาวดวงนั้นจะหาได้ตามสมการนี้
อะวาสถา =ABC+D = ผลคูณของ A B C บวกด้วย D
12 12
ในการคิดผลลัพธ์คิดจากเศษของ ๑๒ เพราะฉะนั้นผลลัพธ์จะเกิน ๑๒ ไปไม่ได้ ถ้าหารลงตัวหมายความว่าได้ผลลัพธ์เท่ากับ ๑๒ เมื่อได้ผลลัพธ์เท่าใดแล้ว เอาไปดูตามกฎของอะวาสถา ๑๒ ประการนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดก็ตรงกับอะวาสถาลำดับนั้นพอดี
โศลกที่ ๘๖
ดาวพระเคราะห์ที่สถิตอยู่ในศิระโษทัยราศี แสดงผลดี หรือ ร้าย แก่เจ้าชะตา เมื่อเริ่มแรกที่ดาวนั้นมีอิทธิพล เช่น ถ้าเข้าเสวยอายุหรือแทรกก็มักมีเหตุการณ์เกิดขึ้นทันที ดาวพระเคราะห์ที่สถิตในปฤษโฐทัยราศี แสดงผลดี หรือ ร้าย แก่เจ้าชะตาในระยะสุดท้ายของเวลาที่ดาวนั้นมีอิทธิพล ดาวพระเคราะห์ที่สถิตอยู่ในอุภโยทัยราศี ย่อมแสดงผลดีหรือร้ายอยู่ตลอดเวลาที่ดาวนั้นมีอิทธิพล ฯ
โศลกที่ ๘๗
ในการศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์ คัมภีร์ปาริชาตชาดกนี้เป็นคัมภีร์ที่ได้รวบรวมคุณลักษณะต่างๆของพระเคราะห์ไว้อย่างพอเพียง เหมาะแก่การศึกษาในเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่ง และส่วนมากถือว่าเป็นคัมภีร์หลักที่สำคัญคัมภีร์หนึ่ง ภายใต้อิทธิพลของนพเคราะห์ต่างๆทุกดวง ไวทยะนาถะผู้ประพันธ์คัมภีร์ปาริชาตชาดก ก็ได้จบบทความในเรื่องธรรมชาติและความหมายของนพเคราะห์แค่เพียงเท่านี้ ฯ