โศลกที่ ๔, ๕, ๖
- ในการเรียนโหราศาสตร์ท่านผู้รู้ในสมัยโบราณได้แบ่งจักรราศีออกเป็น๑๒ส่วนเท่า ๆ กัน แต่ละส่วนของจักรราศีเรียกว่า ราศี ซึ่งมีชื่อตามลำดับดังต่อไปนี้
ราศีที่ ๑ มีชื่อว่า เมษะหรือเมษ แปลว่า แกะตัวผู้ อะชะหรืออัช แปลว่า จ่าฝูงหรือผู้นำฝูง วิศวะ หมายถึง เทวดาองค์หนึ่ง กริยะหรือกริยา แปลว่า การตั้งต้น ตุมพุระ แปลว่า คนธรรพ์ อาทยะ แปลว่า อันแรก
ราศีที่ ๒ มีชื่อว่า วฤศะภะหรือวฤษะ เรามักเรียกว่า พฤษภ แปลว่า วัวตัวผู้ อุกัษน์ แปลว่า วัวผู้ โค แปลว่า วัวผู้ ตาวุรุ แปลว่า ราศีพฤษภ โคกุละ แปลว่า ฝูงวัว
ราศีที่ ๓ มีชื่อว่า ทวำทวะหรือทวันทวะ แปลว่า สัตว์คู่หนึ่ง คือตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัว นฤยุคคม แปลว่า คู่ที่เป็นเด่นนำหน้าคู่อื่น ๆ ชุตุมมะหรือชิตุมะ แปลว่า ความผาสุขเสมือนอยู่ในสวรรค์ ยะมะหรือยม แปลว่า คู่หนึ่งหรือลูกแฝด มิถุนะหรือเมถุน แปลว่า การสังวาส
ราศีที่ ๔ มีชื่อว่า กุลีระ แปลว่า ปู กะรกาฏะกะ กะระกะฏะกะหรือกรกฏ แปลว่า ปูน้ำเต้าวงช้างหรือบวบ
ราศีที่ ๕ มีชื่อว่า กัณฐีระวะหรือเกสาริน แปลว่า สิงห์โต สิมหะหรือสิงห์ แปลว่า สัตว์ที่มีแผงคอคือสิงโต มฤเคนทระ แปลว่า สิงห์โต เลยะ แปลว่า ราศีสิงห์
ราศีที่ ๖ มีชื่อว่า ปาโถนะหรือปาเถยะ แปลว่า สะเบียงสำหรับการเดินทาง กันยา แปลว่า หญิงพรหมจารี ระมะณิหรือรมณี แปลว่า สตรีที่มีความงามเป็นที่ต้องอารมณ์ของบุรุษเพศ ตะรุณีหรือดรุณี แปลว่า นางสาวอายุระหว่าง ๑๖ ถึง ๓๐ ปี
ราศีที่ ๗ มีชื่อว่า เตาลี แปลว่า ช่างเขียนช่างเสริมสวย วะนิก์ แปลว่า ยาจกหรือผู้ขอ ชูกะ แปลว่า ความว่องไวกระฉับกระเฉง ตุลาหรือตุลย แปลว่า ตราชู หรือความเสมอภาค ธะตะ แปลว่า ตราชูหรือเครื่องชั่งน้ำหนัก
ราศีที่ ๘ มีชื่อว่า อะลิ แปลว่าแมลงป่องหรือผึ้งดำใหญ่ วฤศจิกะหรือพิจิก แปลว่า แมงป่อง บุ้ง ปู หรือตะขาบ เการปิหรือเการปัย แปลว่า ราศีพิจิก กีฏะ แปลว่า หนอนหรือแมลง
ราศีที่ ๙ มีชื่อว่า ธะนูส์หรือธนู แปลว่า คันศร จาปะ แปลว่า คันศร ศะราสะนะ แปลว่า การแผลงศร
ราศีที่ ๑๐ มีชื่อว่า มฤคะหรือมฤคาสัย แปลว่า กวางหรือเนื้อ มะกะระหรือมังกร แปลว่า สัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง นะกระ แปลว่า จรเข้
ราศีที่ ๑๑ มีชื่อว่า กุมภะ แปลว่า หม้อน้ำหรือชู้รักของหญิงแพศยา ฆะฏะ แปลว่า โอ่งน้ำ โตยะธะระแปลว่า สระน้ำ
ราศีที่ ๑๒ มีชื่อว่า มินะหรือมิน แปลว่า ปลา อันตยะ แปลว่า ที่สุดท้ายหรือที่สิ้นสุด มัตสยะ แปลว่า ปลา ปฤถุโรมะ แปลว่า น้ำฝิ่นหรือสัตว์น้ำที่มีความฉลาด ณะษะ แปลว่า ปลา ฯ
หมายเหตุ
การแบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ส่วนเท่า ๆ กันนี้ เป็นระบบของโหราศาสตร์ทั่วไปและดูเหมือนจะแบ่งเป็นทำนองเดียวกันหมดไม่ว่าจะเป็นของโหราศาสตร์ของชาติใด ส่วนชื่อของราศีต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ตามคัมภีร์อื่น ๆ ยังมีอีกมากมายแต่ก็มีความหมายคล้ายคลึงกันแทบทั้งสิ้น การที่แบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ส่วนเท่า ๆ กันนี้ คงจะเนื่องมาจากการแบ่งเวลาในหนึ่งปีออกเป็น ๑๒ เดือน ในทางสุริยะคติ
โศลกที่ ๗
- ในราศีเมษหรือกริยา และราศีอื่น ๆ ทุกราศีจะแบ่งได้อย่างหยาบ ๆ ออกเป็นราศีละ ๙ ส่วนย่อย ๆ ลงไปอีก ทั้งนี้โดยนับจากนักษัตรอัศวินในราศีเมษเป็นที่ตั้ง และมีชื่อพิเศษเรียกว่า นักษัตรบท เกษตร ฤกษ์ ราศี และภาวะหรือภพเป็นต้น ฯ
หมายเหตุ
การนับราศีนับตั้งต้นจากราศีเมษ และการนับนักษัตรก็นับตั้งต้นจากนักษัตรอัศวินซึ่งอยู่เป็นนักษัตรที่ ๑ ราศีเมษ ใน ๑ ราศีมีการแบ่งออกเป็น ๙ ส่วนเท่า ๆ กันเรียกว่า นะวาศะหรือนวางศ์ ใน ๑ นักษัตรแบ่งออกเป็น ๔ ส่วนเท่า ๆ กัน เรียกว่า นักษัตรบท โดยทั่วไปถือกันว่ามีอยู่ ๒๗ นักษัตรหรือมี ๑๐๘ นักษัตรบท และทุก ๆ ราศีรวมกันก็มี ๑๐๘ นะวำศะ เช่นกัน เพราะฉะนั้นคำว่านักษัตรบทกับนะวำศะก็เป็นอันเดียวกัน ผิดแต่ความหมายที่เอาไปใช้เท่านั้น คือถ้าใช้เกี่ยวกับราศีก็เรียกว่านะวำศะ ถ้าเอาไปใช้เกี่ยวกับนักษัตรก็เรียกว่านักษัตรบท ส่วนคำว่าราศีนั้นบางทีใช้คำว่า ภาวะหรือภพ หรือเกษตร์ เรียกแทนแล้วแต่กรณี ส่วนคำว่านักษัตรนั้นบางทีใช้คำว่า ฤกษ์ เรียกแทนในบางแห่ง
เมื่อแบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ส่วนโดยมีขื่อต่าง ๆ กันและถือว่าราศีเมษเป็นราศีที่ ๑ และเรียงลำดับกันไปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อท่านผู้อ่านไปจับคัมภีร์ภารตะเข้าจริง ๆ สิ่งที่สดุดตานอกจากรูปร่างของดวงชะตาก็คือ ส่วนมากเขานับไปตามเข็มนาฬิกา หรือเวียนขวาที่เรียกกันว่าทักษินาวัฏ ส่วนของเราใช้นับทวนเข็มนาฬิกา หรือเวียนซ้ายที่เรียกกันว่า อุตราวัฏในกรณีเช่นนี้ สำหรับความเห็นของข้าพเจ้าว่าถูกทั้งสองประการ กล่าวคือพระอาทิตย์โคจรจากราศีเมษไปตามลำดับจนถึงราศีมีนเมื่อได้ครบรอบก็เรียกว่า ๑ ปี เมื่อความจริงเป็นอยู่เช่นนี้ถ้าเราหันหน้าไปสู่ทางทิศใต้การโคจรของพระอาทิตย์ และจันทร์รวมทั้งดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ในเวลาปกติจะโคจรอยู่ในท้องฟ้าผ่านราศีต่าง ๆ ทวนเข็มนาฬิกาหรือเวียนซ้ายแบบการนับลำดับราศีในดวงชาตาแบบของเรา และในเวลาเดียวกันถ้าท่านหันหน้าสู่ทิศเหนือการโคจรของพระเคราะห์ต่าง ๆ ในยามปกติซึ่งผ่านราศีต่าง ๆ ในท้องฟ้าก็จะตามเข็มนาฬิกาหรือเวียนขวาทันที เมื่อต่างคนก็ต่างถูกด้วยกันดังนี้ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์อันหนึ่งว่าโหรแบบของเราเวลาดูดาวเขาหันหน้าสู่ทิศใต้ ส่วนโหรภารตะมักจะหันหน้าดูดาวสู่ทิศเหนือ
โศลกที่ ๘
- ในการจัดอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้เข้ากับราศีต่าง ๆ ทั้ง ๑๒ ราศี โดยนับตั้งแต่ต้นราศีเมษเรียงลำดับกันไปจะได้ดังนี้ ศีรษะ ปาก อก หัวใจ ท้อง สะโพก เอว บริเวณที่ลับ ขาอ่อน หัวเข่า น่อง เท้า ฯ
หมายเหตุ
การเอาราศีต่าง ๆ มาเทียบเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายดังได้กล่าวมานี้ โดยมากไม่ค่อยจะตรงกันทุกคัมภีร์ การที่แบ่งดังกล่าวมานั้นเป็นราศีของสวรรค์ในท้องฟ้า ถ้าเป็นในดวงชาตาของแต่ละบุคคลท่านแนะนำให้ใช้ราศีลัคนาสถิตย์นับเป็นราศีที่ ๑ ได้แก่ ศีรษะ และในราศีต่อ ๆ ไป เป็นลำดับได้แก่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายดังที่กล่าวไว้ในโศลกนี้ ท่านว่าในราศีใดมีบาปเคราะห์อยู่มาก จะมีตำหนิหรือพิการในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามที่ได้กำหนดไว้