Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

Navamasa wedding2

วิธีการพยากรณ์คู่ครองจากนวางศ์จักร

จากการอธิบายไว้แล้วในบทก่อนๆ ดวงนวางศ์จักรเป็นแผนภูมิหลักสำหรับการตรวจสอบโอกาสในการแต่งงาน ลักษณะของคู่ครอง และลักษณะนิสัยของคู่ครองเป็นต้น

ผังดวงชาตาในราศีจักร มีหน้าที่แสดงหรือให้ข้อบ่งชี้เกี่ยวกับทุกแง่มุมของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเงิน การอาชีพ การแต่งงาน ฯลฯ ซึ่งจะมีคำอธิบายโดยละเอียดในเรื่องภพหรือเรือนชาตา(ในราศีจักร)

แต่เพื่อให้ได้ความละเอียดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องต่างในเรือนชาตาทั้ง 12 เรือน ในโหราศาสตร์พระเวท จึงได้แบ่งภพหรือเรือนย่อยออกไปอีก หรือที่เราเรียกว่า "วรรค" ในโษทศวรรค หรือ วรรค ทั้ง 16 ซึ่งจะบ่งบอกรายละเอียดเฉพาะเรื่องเป็นเรื่องๆไป เช่น การแต่งงาน เราก็ต้องในวรรคที่ 9 หรือ ดวงนวางศ์จักร หรือสำหรับรายละเอียดในเรื่องอาชีพ หรือภพที่ 10 เราก็ต้องดูวรรคที่ 10 หรือ ทศางศะวรรค เป็นต้น

ณ ที่นี่เราจะพูดถึงวิธีการทำนายคู่ครองจากนวางศ์จักร บางครั้ง นวางศ์ ก็ เรียกอีกอย่างว่า ทาระมางศะ (ทาระ หมายถึง คู่ครอง ) และนับเป็นวรรคที่มีความสำคัญสูงสุดรองจาก ราศีจักร

เหตุผลในการใช้นวางศ์จักรในการทำนายดวงคู่ครอง

สำหรับการพยากรณ์ดวงคู่ครองและการแต่งงาน วรรคที่ 9 หรือ ดวงนวางศ์จักร เป็นวรรคที่สำคัญที่สุดในการตัดสินชี้ขาด หากราศีจักรเปรียบได้ดั่งต้นไม้ นวางศ์จักร คือผลไม้ของต้นไม้นั้น นอกจากนี้เราสามารถตัดสินเรื่องราวอื่นๆในทุกๆเรื่องได้จากดวงนวางศ์ (นวางศะ กุณฑลิ)ด้วยเช่นกัน

ความจริงแล้วดวงนวางศ์นั้นบ่งชี้ไปถึงเรือนที่ 9 ในราศีจักร  ซึ่งเรือนที่ 9 คือเรือนแห่งธรรมะ หรือเรือนแห่งคุณธรรม ซึ่งมาจากคติเรื่อง จุดมุ่งหมายของชีวิต (ปุรุษารถะ पुरुषार्थ  ) หรือประโยชน์สูงสุดของชีวิต ตามแนวทางของศาสนาฮินดูมี ๔ ประการ (จตุรวรรค) คือ

 1. อรรถะ (अर्थ -Wealth) การแสวงหาทรัพย์ หรือสร้างฐานะในทางเศรษฐกิจตามคำสอนในคัมภีร์อรรถศาสตร์ แต่งโดยท่านเกาฑัญญะ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยการปกครอง การจัดระบบเศรษฐกิจ ระเบียบในการสงคราม

 2. กามะ (काम -Pleasure) เป็นการให้ความสำคัญต่อชีวิตครอบครัว การแสวงหาความสุขนั้น ตามหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะต้องดำเนินไปตามแบบแผนหรือระเบียบแห่งความประพฤติของสังคม

 3. ธรรมะ (धर्म -Norm) หมายถึง หลักศีลธรรมของสังคมฮินดู โดยทั่วไป ธรรมะ หมายถึง หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นการบังคับให้ทำตามหลักของศาสนา

 4. โมกษะ (मोक्ष -Liberation) คืออิสรภาพของวิญญาณ อันเป็นอุดมคติและคุณค่าสูงสุดในชีวิต เป็นชีวิตที่ข้ามพ้นจากสังสารวัฏเข้าสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์

ในศาสนาฮินดู การแต่งงาน ถือเป็นธรรมะ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่สูงสุดในข้อนี้ และถือว่าเป็นการรวมตัวกันของ อาตมัน หรือ จิตวิญญาณซึ่งกันและกัน และนี่ก็คือเหตุผลที่เราพยากรณ์การแต่งงานได้จากนวางศ์จักร

ก่อนที่เราจะไปกล่าวถึงลักษณะและนิสัยของคู่สมรสจากนวางศ์จักร   เราจะต้องรู้จักเกี่ยวกับประเภทของการแต่งงานของชาวฮินดูที่อธิบายไว้ในคัมภีร์พระเวทก่อนเป็นอันดับแรก :

ซึ่งการแต่งงานของชาวฮินดูจะมีอยู่ 8 ประเภท ซึ่งมีการกล่าวไว้ใน คัมภีร์มนูสมฤติ ดังต่อไปนี้


1-พรหมะ วิวาวาหะ ब्रह्मविवाह: เป็นการแต่งงานที่เจ้าบ่าวแสวงหาเจ้าสาวตามทักษะและความสามารถของเจ้าสาว ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์เจ้าการสำหรับการแต่งงานประเภทนี้  ในสมัยปัจจุบันเราสามารถเปรียบเทียบได้กับการแต่งงานแบบคลุมถุงชนหลังจากที่ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงได้สำเร็จการศึกษาขั้นต้นแล้ว และ พิจารณาตามฐานะของครอบครัวและปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้เด็กทั้งสองได้แต่งงานกัน 

บางมติกล่าวว่าเป็นการแต่งงานที่ชาวฮินดูยกย่องว่าประเสริฐที่สุด โดยบิดาได้ยกลูกสาวของตนให้แก่ชายผู้มีความประพฤติและการศึกษาดี มีความเสมอกันทั้งชาติ วัย วรรณะ ตระกูล และสมบัติเหมาะสมกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายชายเองก็ยอมรับหญิงเป็นภรรยาอย่างเต็มใจโดยไม่เรียกสินสอดใดๆทั้งสิ้น

2-ไทวา วิวาหะ देवविवाह: การแต่งงานแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถหาเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวที่เหมาะสมกันได้ ในงานแต่งงานประเภทนี้ไม่มีงานเลี้ยงหรืองานเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นเฉพาะเจาะจงสำหรับงานแต่งงาน

ซึ่งเป็นการแต่งงานที่ครอบครัวของฝ่ายหญิงที่ยากจนได้แต่งตัวบุตรสาวให้สวยงาม แล้วพาไปในสถานที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อให้เจ้าบ่าวเลือก  โดยมีเจ้าภาพที่ร่ำรวยไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี พระราชา หรือพราหมณ์มหาศาล ผู้ออกค่าใช้จ่ายในการแต่งงานให้ ถือว่าเป็นการสร้างกุศลแบบหนึ่ง

แต่สมัยโบราณเป็นการมอบลูกสาวที่กลัวว่าจะเป็นโสดไม่มีคนขอ จึงยัดเยียดให้พราหมณ์ที่แกล้งจ้างมาให้ประกอบพิธีที่ฝ่ายเจ้าสาวไม่มีเงินจ่าย ซึ่งถือว่าเป็นการยกลูกสาวให้แก่พราหมณ์ผู้กระทำพิธีบูชายัญ เป็นค่าจ้างในการกระทำพิธีนั้น  ซึ่งดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์เจ้าการสำหรับการแต่งงานประเภทนี้

3-อารศะวิวาหะ आर्शविवाह: ในการแต่งงานประเภทนี้ คือครอบครัวของฝ่ายหญิงไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการแต่งงานได้ โดยครอบครัวของฝ่ายชายจะจ่ายค่าสินสอดเล็กๆน้อยๆให้แก่ครอบครัวเจ้าสาว จากนั้นก็นำเจ้าสาวกลับไปอยู่บ้านฝ่ายชาย ปัจจุบันการแต่งงานแบบนี้อาจจะไม่ได้รับการยอมรับในสังคมสมัยใหม่มากนัก

ส่วนในสมัยโบราณ คือการแต่งงานโดยที่ฝ่ายชายมอบโคมีลูกอ่อนหรือกระบือมีลูกอ่อนหรือทั้งสองอย่างแก่บิดาฝ่ายเจ้าสาว และดาวจันทร์เป็นดาวเคราะห์เจ้าการหลักสำหรับการแต่งงานประเภทนี้

4-ประชาปัตยะ วิวาวาหะ प्रजापत्यविवाह: การแต่งงานแบบนี้เหมือนกับ พรหมวิวาหะ ทุกประการ แต่การแต่งงานประเภทนี้จะเกิดขึ้นในขณะที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวทั้งสองยังอายุน้อยมาก ซึ่งการแต่งงานประเภทนี้ยังไม่สมบูรณ์ จนเวลาผ่านไปหลายปีจนกว่าเจ้าสาวและเจ้าบ่าวจะโตพอที่จะครองเรือนร่วมกันได้ โดยมากมักเป็นวรรณะพราหมณ์ที่นิยมการแต่งงานด้วยวิธีนี้ และดาวอาทิตย์เป็นดาวเคราะห์เจ้าการสำหรับการแต่งงานประเภทนี้

5-อสุระ วิวาวาหะ असुरविवाह: การแต่งงานประเภทนี้คล้ายกับ “อารศะวิวาหะ” มาก แต่กลับกลายเป็นว่าครอบครัวเจ้าบ่าวจ่ายต้องเงินจำนวนมากให้กับครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาวเป็นค่าสินสอดแล้วจึงพาเจ้าสาวกลับบ้านฝ่ายชาย ข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือใน อารศะวิวาหะ ค่าสินสอดเป็นราคาเล็กน้อยหรือตามธรรมเนียม แต่ในกรณี อสุระ วิวาวาหะ นี้จะมีการเรียกค่าสินสอดมากมาย

บางแห่งอธิบายว่า เมื่อชายได้ให้ทรัพย์แก่ญาติแห่งหญิงจนเต็มที่ซึ่งจะให้ได้แล้ว   บิดามารดาหญิงจึงยอมยกบุตรีให้เป็นภรรยา ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์เจ้าการสำหรับการแต่งงานประเภทนี้

6-คันธรรวะ วิวาหะ गंधर्वविवाह: วิวาหะโดยลักษณะคนธรรพ์ คือ  เมื่อหญิงกับชายได้กันเองโดยความเต็มใจทั้งสองฝ่าย โดยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับรู้ ซึ่งการแต่งงานประเภทนี้พบเห็นได้มากในสมัยปัจจุบันนี้  ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์เจ้าการของการแต่งงานประเภทนี้

7-รากษะสะ วิวาหะ राक्षसविवाह; เมื่อหญิงสาวบางคนถูกลักพาตัวหรือถูกบังคับให้แต่งงานเนื่องจากเหตุผลบางประการเรียกว่า รากษส วิวาหะ  หรือการแต่งงานที่เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือการขยายธุรกิจเป็นต้น ในสมัยโบราณพระราชาใช้การแต่งงานแบบนี้เพื่อขยายอาณาจักรของตน ดาวเสาร์คือดาวเจ้าการสำหรับการแต่งงานประเภทนี้

8- ไปศาจะ วิวาวาหะ पैशाचविवाह: หรือ ปิศาจ วิวาหะ ในการแต่งงานประเภทนี้เจ้าสาวจะมึนเมาหรือถูกมอมเมา มีสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมในระหว่างการแต่งงาน เช่น การถูกข่มขืน ไม่มีสติ เมา ถูกมอมยา  ถูกล่อลวง เป็นต้น  ดาวราหู - เกตุเป็นดาวเคราะห์เจ้าการสำหรับการแต่งงานประเภทนี้

 

เรือนชาตาที่สำคัญสำหรับการทำนายคู่ครองจากนวางศ์จักร

เรือนหลักสำหรับการทำนายคู่ครองคือเรือนที่ 7 และเจ้าเรือนที่ 7 ดังนั้นเราต้องตรวจสอบทั้งเรือนที่ 7 ของดวงราศีจักรและเรือนที่ 7 ของดวงนวางศ์จักร 

ให้จำไว้ว่าเรือนที่ 7 ในราศีจักรจะแสดงสิ่งที่เราต้องการหรือปรารถนาของเรานั้นคืออะไร ส่วนเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักรจะแสดงสิ่งที่เราจะได้รับจริงๆ

เรือนที่ 7 ไม่เพียงบ่งบอกถึงการแต่งงาน แต่ยังบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางกายภาพทุกประเภท นั่นคือเหตุผลที่ "อรุธบาท" ของเรือนที่ 7 (ทาระบาท)ต้องได้รับการตรวจสอบความสัมพันธ์ทางกายภาพทั้งหมดในพื้นดวงชาตา

นอกจากนี้ "ทาระบาท" ยังแสดงประเภทของผู้คนที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจ"บาท"เหล่านี้เมื่อทำนายคู่สมรสจากดวงนวางศ์จักร

อรุธบาท

คำว่า“อรุธบาท” กฏเกณฑ์นี้เรียกว่าเรียกว่า “อรุธจักร หรือ บาทจักร” ซึ่งเป็นวิธีคำนวณหาจุดสะท้อนของเรือนต่างๆ ทั้ง 12 เรือนชาตา ซึ่งบาทแรกจะเรียกว่า “อรุธลัคน์” และบาทที่ 12 ของเรือนใดใดเรียกว่า “อุปบาท” และบาทของเรือนที่ 7 เรียกว่า “ทาระบาท”

คำว่า ทาระ แปลว่าคู่ครอง ส่วนคำว่า บาท ก็คือ ส่วน หรือ เท้า ดังนั้น ทาระบาท คือตำแหน่งคู่ครองโดยเป็นตำแหน่งสะท้อนของเรือนที่ 7  (ภพปัตนิ) ซึ่งมีผลและอิทธิพลเหมือนภพปัตนิทุกประการ ดังนั้น “ทาระบาท” คือวิธีการคำนวณตำแหน่งของคู่ครองจาก”บาท”ของเรือนที่ 7   (การคำนวณเรื่องนี้ให้ศึกษาเพิ่มเติมจากคัมภีร์ พฤหัต ปะราสาระ โหราศาสตรา และ คัมภีร์ ไชยมิณีสูตร)

วิธีคำนวณหา ทาระบาท

คัมภีร์อุตรกาละมฤต โศลกที่ 34 กล่าวไว้ว่า “เจ้าเรือนอยู่ห่างจากเรือนตนเองไปเท่าใด ให้นับจากเจ้าเรือนไปเท่านั้น  ตกราศีใดราศีนั้นเป็นบาทของเรือนนั้น  เพื่อพยากรณ์ความรุ่งเรืองหรือความเสื่อมโทรมของเรือนนั้นๆ........และให้คำนวณหาบาทของทั้ง 12 เรือน.....”

ตัวอย่าง เจ้าชาตาลัคนาเมษ ,เรือนที่ 7 คือราศีตุลย์ ,เจ้าเรือนที่ 7 (ราศีตุลย์) คือดาวศุกร์ ในดวงชาตานี้ดาวศุกร์สถิตย์ราศีมิถุน ดังนั้นหา”ทาระบาท” ได้ดังนี้คือ นับจากเรือนที่ 7 ราศีตุลย์ไปยังราศีมิถุนที่เจ้าเรือนคือดาวศุกร์สถิตย์อยู่ได้จำนวน 9 (ราศี)และเอาจำนวน 9 นี้ใช้นับจากราศีมิถุนไป 9 (ราศี)ตกราศีกุมภ์ ดังนั้นราศีกุมภ์ก็คือ “ทาระบาท” หรือ บาทของเรือนที่ 7 ของดวงชาตานี้และหมายความว่าภพปัตนิได้ย้ายจากราศีตุลย์ไปอยู่ราศีกุมภ์แทน

-ดาวเสาร์อยู่ในเรือนที่ 7 หรือสัมพันธ์กับ "ทาระบาท" เจ้าชาตามักจะมีความสัมพันธ์กับผู้อาวุโสหรือผู้สูงวัย และเจ้าชาตาต้องการให้คู่ครองของตนปฏิบัติตนอยู่ในครรลองคลองธรรม มีวุฒิภาวะและมีความซื่อสัตย์

-เมื่อดาวจันทร์อยู่ในเรือนที่ 7 หรือร่วมกับ  "ทาระบาท" เจ้าชาตาต้องการคู่ครองที่เอาใจใส่และมีอารมณ์อ่อนไหว

-ถ้าดาวศุกร์อยู่ในเรือนที่ 7 หรือสัมพันธ์กับ "ทาระบาท"  แสดงว่าเจ้าชาตาต้องการคู่ครองที่ดูดีและสวยงาม

-เมื่อดาวพฤหัสบดีหรือดาวพุธอยู่ในเรือนที่ 7 หรือมีโยคสัมพันธ์กับ"ทาระบาท"เจ้าชาตาจะแสวงหาคนที่ฉลาด มีการศึกษาดี เคร่งศาสนาและซื่อสัตย์ในฐานะสามีหรือภรรยา

-เมื่อดาวอังคารอยู่ในเรือนที่  7 หรือร่วมกับ"ทาระบาท" แสดงว่าเจ้าชาตาต้องการคู่ครองที่รักการกีฬา  มีจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ มีความกล้าหาญและใจถึง

-แต่สิ่งที่เจ้าชาตาจะได้รับดังกล่าวข้างต้นจะขึ้นอยู่กับเรือนที่  7 ของนวางศ์จักรและในนวางศ์ราศีของเจ้าเรือนที่ 7

 

การทำนายลักษณะคู่ครองจากนวางศ์จักร

ดังที่เราได้กล่าวไว้แล้วว่าดาวเคราะห์ในเรือนที่ 7 ของนวางศ์จักรจะแสดงลักษณะและนิสัยของคู่ครองของแต่ละบุคคล และ "ทาระบาท" ใน นวางศ์จักร ก็จะแสดงผลเช่นเดียวกัน

การทำนายคู่ครองในนวางศ์จักรตามตำแหน่งที่สถิตย์ของดาวเคราะห์

1. อาทิตย์สถิตย์เรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร: ถ้าอาทิตย์สถิตย์ในเรือนที่ 7 คู่ครองมักเป็นชอบคนอ่านหนังสือ หรือชอบดนตรี หรือเล่นเครื่องดนตรี อาจเป็นคนเห็นแก่ตัวและเอาแต่ใจตัวเอง รูปร่างสันทัด หรือ ค่อนข้างเตี้ย ตัวเล็ก ศีรษะใหญ่ ผมเหยียดตรง เป็นต้น หากดาวอาทิตย์มีความเข้มแข็งในนวางศ์ คู่ครองอาจมาจากครอบครัวที่มีเกียรติ และมีฐานะดี

2. ดาวจันทร์สถิตย์ในเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร: จะได้มีคู่ครองที่หน้าตาดี หมดจด งาม ผิวพรรณดี จิตใจอ่อนไหวและมีความต้องการทางเพศสูงมาก

3. ดาวอังคารสถิตย์ในเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร:  จะได้คู่ครองอารมณ์ร้อนแรง ฉุนเฉียว ขี้โมโห  หากดาวอังคารเข้มแข็งในนวางศ์ จะได้คู่ครองที่มีรูปร่างแข็งแรงและมีรูปร่างที่สมส่วนและเป็นนักกีฬา แต่มักชอบโต้เถียง

4. ดาวพุธสถิตย์ในเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร:  คู่ครองจะเป็นคนร่าเริงและเป็นมิตร ชื่นชอบงานวรรณกรรม หรืองานเขียน ฯลฯ แต่ก็มีข้อเสียก็คือไม่สามารถให้ความสุขทางกายแก่คู่ครองได้เต็มที่ เนื่องจากดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ไร้เพศ และคู่ครองหน้าตาจะดูเด็กกว่าอายุจริง

5. ดาวพฤหัสสถิตย์ในเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร: คู่ครองจะมีการศึกษาดี ชอบศึกษาเรียนรู้ หน้าตาดีสวยงาม เป็นคนดวงดีมีและโชคดีเสมอและมีจิตใจที่สูงส่ง มีรูปร่างที่ได้สัดส่วนงดงาม และอาจทำให้ได้คู่ครองที่เคร่งศาสนาได้เช่นกัน

6. ดาวศุกร์สถิตย์ในเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร:  คู่ครองจะเป็นคนดี หน้าตาดี ชอบความหรูหราและความสะดวกสบาย ชอบดนตรี และวิจิตรศิลป์ ฯลฯ  และจะมีชีวิตแต่งงานที่มีแต่ความสุข

7. ดาวเสาร์สถิตย์ในเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร:  จะได้คู่ครองที่เป็นผู้ใหญ่ สูงวัย และชอบทำงานอยู่เสมอ เป็นคนเย็นชาและไม่สนใจเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ แต่มีความซื่อสัตย์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังหมายถึงว่าภรรยาหรือสามีจะทำงานหนักมาก และสามีหรือภรรยาอาจมีอายุที่ต่างกันมาก

8. ดาวราหูสถิตย์ในเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร: จะได้คู่ครองที่เป็นคนคิดมากและมีความคิดสับสน เข้าใจได้ยาก เก่งคณิตศาสตร์และโหราศาสตร์ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังบ่งบอกถึงการแต่งงานนอกประเทศหรือคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติหรือการแต่งงานของคนที่มีวรรณะต่างกัน

9. ดาวเกตุ(สากล)สถิตย์ในเรือนที่ 7 ในนวางศ์จักร: คู่ครองจะเก่งคณิตศาสตร์และเรื่องตัวเลข เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และเชี่ยวชาญทางด้านจิตวิญญาณ ฯลฯ

 

ข้อสำคัญบางประการสำหรับการพยากรณ์ชีวิตสมรสจากนวางศ์จักร

สำหรับชีวิตสมรสที่ดีและมีความสุขเราต้องดูเงื่อนไขของของเจ้าเรือนที่ 7(ปัตนิ)ของราศีจักรที่สถิตย์ในนวางศ์จักรก่อนเป็นอันดับแรก ดาวเคราะห์ที่เป็นเจ้าเรือนนั้นไม่ควรอ่อนแอหรือถูกเบียนจากบาปเคราะห์ในนวางศ์จักร หลังจากนั้นเราต้องดูเรือนที่ 7 และเจ้าเรือนที่ 7 ของนวางศ์จักร  หากทุกอย่างอยู่ในตำแหน่งที่ดีเราสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะมีชีวิตสมรสที่มีความสุขและจีรังยั่งยืนตลอดไป