Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

 

ปฏิทินคลาดเคลื่อน ใครผิด ใครถูก?

 

พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์

 


 

เมื่อ ปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ ได้มีข้อขัดแย้งระหว่างคณะผู้จัดทำปฏิทินจันทรคติซึ่งใช้ปฏิทินของนายทอง เจือ อ่างแก้ว เป็นเอกสารประกอบการคำนวณจัดทำกับผู้จัดทำปฏิทินหลวงซึ่งเป็นปฏิทินที่แจก จ่ายกันทั่วไปและใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในส่วนที่เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาและ วันเข้าพรรษา ซึ่งฝ่ายแรกยืนยันว่า วันอาสาฬหบูชาที่ถูกต้องคือ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม มิใช่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ดังที่แสดงไว้ในปฏิทินหลวง ซึ่งเป็นเหตุให้พระภิกษุสงฆ์เข้าพรรษาช้าไป ๑ วัน เป็นการผิดพุทธบัญญัติ สาเหตุที่ทำให้ปฏิทินหลวงคลาดเคลื่อนนั้น เนื่องจากได้มีการเพิ่มจำนวนวันในเดือนเจ็ดซึ่งเป็นเดือนคี่ หากปีใดเมื่อคำนวณตามคัมภีร์สุริยาตร์แล้วปีนั้นเป็นปีปกติวาร เดือนเจ็ดจะต้องมี ๒๙ วัน คือ มีวันข้างแรมเพียง ๑๔ ค่ำ ถ้าปีใดคำนวณแล้วปีนั้นเป็นปีอธิกวาร เดือนเจ็ดจึงจะมี ๓๐ วัน คือ มีวันข้างแรม ๑๕ ค่ำ

ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งตรงกับจุลศักราช ๑๓๖๗ เมื่อคำนวณแล้ว เป็นปีอธิกวาร ดังนั้นในวันที่ ๕ กรกฎาคม จึงเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเจ็ด และวันที่ ๖ กรกฎาคม เป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนแปด ดังนั้นวันอาสาฬหบูชาจึงตรงกับวันที่ ๒๐ กรกฎาคม แต่ในปฏิทินหลวงได้เพิ่มจำนวนวันในเดือนเจ็ดเป็น ๓๐ วัน ดังนั้นวันที่ ๖ กรกฎาคมจึงตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ด และวันที่ ๗ กรกฎาคมจะตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนแปด และวันอาสาฬหบูชาจึงตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม

เพื่อให้ได้คำตอบว่า ปฏิทินจันทรคติฉบับนายทองเจือ อ่างแก้ว หรือปฏิทินหลวง ฉบับใดถูกต้อง ขอให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาความคิดเห็นของผมดังจะกล่าวต่อไปนี้

ปฏิทินหลวงและปฏิทินที่ได้มีการแจกจ่ายกันแพร่หลายทั่วไปซึ่งใช้ปฏิทินของนายทองเจือ อ่างแก้ว เป็นเอกสารอ้างอิง ได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาหลายปีแล้ว จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๗ และ พ.ศ.๒๕๔๘ ได้ปรากฏให้เห็นความผิดพลาดชัดเจน คือ ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ปฏิทินหลวงฯ ได้ระบุว่า วันวิสาขบูชา ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ก่อนวันที่พระจันทร์จะเต็มดวงตามปฏิทินดาราศาสตร์ซึ่งระบุว่า ตรงกับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ถึง ๒ วัน ดังนั้น ในวันนั้นพระจันทร์จึงไม่เต็มดวงเว้าแหว่งให้เห็นชันเจน (ซึ่งพิสูจน์ได้จากภาพถ่ายของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นผู้หนึ่ง) ต่อจากนั้นได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาโดยตลอดจนถึงวันที่ ๖ กรกฎาคม ซึ่งปฏิทินหลวงฯ ได้ระบุว่า เป็นวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ด เป็นอธิกวาร ทั้งที่ผลการคำนวณอัตตาเถลิงศก ตามคัมภีร์สุริยาตร์ได้แสดงไว้ว่า ปีนี้เป็นปีปกติวารซึ่งเดือนเจ็ดที่เป็นเดือนคี่จะมีจำนวน ๒๙ วัน คือ ไม่มีวันแรม ๑๕ ค่ำ

ผมยังได้ระบุว่า การที่ปฏิทินหลวงได้กำหนดให้เดือนเจ็ดมี ๓๐ วันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดจากหลักวิชาตามคัมภีร์สุริยาตร์ แต่ก็ช่วยให้วันอาสาฬหบูชา ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม และวันเข้าพรรษาตรงกับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ซึ่งถูกต้องตรงกับปฏิทินดาราศาสตร์และปฏิทินจันทรคติฉบับปักขคณาซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงวางรากฐานในการคำนวณไว้เพื่อให้คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้ใช้เป็นคู่มือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงมีพระปรีชาสามารถในวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาดาราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ทรงสามารถคำนวณวันเกิดสุริยคราสเต็มดวงเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างแม่นยำ จึงได้รับการยกย่องว่า เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระองค์ท่านยังสนพระทัยในวิชาการโหราศาสตร์ดวงดาว และได้ทรงใช้วิชาดาราศาสตร์เป็นฐานในการคำนวณหาจุดที่ตั้งของดาวพระเคราะห์ที่แน่นอนในราศีต่างๆ วันเวลาการย้ายเปลี่ยนราศี ทิศทางการโคจรของดวงดาวฯ (ปกติวิกลคติ) วงการโหราศาสตร์ไทยจึงยกย่องให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย” ด้วย

พระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มจัดทำปฏิทินจันทรคติฉบับปักขคณาโดยได้ทรงใช้วิชาการดาราศาสตร์เป็นฐานในการคำนวณปฏิทินนี้ จึงมีความละเอียดแม่นยำใกล้เคียงกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์บนท้องฟ้ามากที่สุด

วันข้างขึ้นข้างแรมในปฏิทินจันทรคติฉบับปักขคณาจะช้ากว่าปฏิทินจันทรคติฉบับนายทองเจือ อ่างแก้ว ซึ่งปฏิทินหลวงใช้เป็นเอกสารอ้างอิงมาโดยตลอด ๑ วัน จึงทำให้คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายรู้สึกอึดอัดใจมาโดยตลอด ผมได้เคยสนทนากับท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านได้เคยหารือกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ แล้ว พระองค์ท่านได้แนะนำให้คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายปฏิบัติตามราชนิยม คือ ปฏิบัติตามปฏิทินหลวงฯ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นรัฐพิธี ส่วนวันอุโบสถอื่นๆ ก็ถือปฏิบัติตามปฏิทินจันทรคติฉบับปักขคณา

ปฏิทิน จันทรคติฉบับปักขคณาจะตรงกับปฏิทินจันทรคติของลาวและพม่า ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ในวันสำคัญวันหนึ่งคือ วันบั้งไฟพระยานาค ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด (วันออกพรรษา) ปฏิทินหลวงฯ จึงเร็วกว่าของเขาหนึ่งวัน ทำให้ประชาชนคนไทยที่ไปเฝ้าคอยชมต้องผิดหวังเนื่องจากวันที่บั้งไฟพระยานาค ปรากฏให้เห็นชัดเจนเป็นจำนวนมากนั้นเกิดขึ้นหลังปฏิทินหลวง ๑ วัน

ข้อขัดแย้งที่ผู้ใช้ปฏิทินจันทรคติของนายทองเจือ อ่างแก้ว ที่สำคัญคือการประกาศว่าปฏิทินหลวง ได้มีความผิดพลาดเนื่องจากได้ให้เดือน ๗ ปีนี้ มีจำนวน ๓๐ วัน ทั้งที่เป็นปีปกติวาร จึงทำให้วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาผิดพลาดไป ๑ วัน ที่ถูกต้องคือ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม เป็นวันอาสาฬหบูชา และวันที่ ๒๑ กรกฎาคม เป็นวันเข้าพรรษา บุคคลเหล่านี้ยังได้กล่าวประนามผู้ที่จัดทำปฏิทินหลวง (ซึ่งได้ใช้ปฏิทินจันทรคติฉบับนายทองเจือ อ่างแก้ว มาโดยตลอด) ค่อนข้างรุนแรงว่า เป็นต้นเหตุทำให้พระภิกษุสงฆ์เข้าพรรษาล่าช้าไป ๑ วัน เป็นการผิดพระพุทธบัญญัติ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ผมสันนิษฐานว่าผู้จัดทำปฏิทินหลวงไม่ได้กระทำโดยพลการ เนื่องจากได้ยึดถือปฏิทินจันทรคติของนายทองเจือ อ่างแก้ว เป็นปทัสถานมาโดยตลอด ผู้ที่จัดการให้มีการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเป็นลูกศิษย์ของนายทองเจือ อ่างแก้ว กลุ่มหนึ่งซึ่งได้พบความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติฉบับนายทองเจือ อ่างแก้ว มาโดยตลอด จึงได้คิดการแก้ไขให้ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตามหลักวิชาตามคัมภีร์สุริยาตร์ก็ตามแต่ผมก็เห็นว่า เป็นการปฏิบัติที่เหมาะสม กล่าวคือ เมื่อทราบว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างแน่ชัดแล้วมีจิตสำนึกรีบจัดการแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนตลอดไป

ผมมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ปฏิทินหลวงฉบับปัจจุบันที่ได้มีการแก้ไขนั้น จะถูกต้องตรงกับปฏิทินจันทรคติฉบับปักขคณา ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงวางรากฐานในการคำนวณไว้ ตั้งแต่วันอาสาฬหบูชา คือ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป และในปีต่อๆ ไป

ผมได้คำนวณและจัดทำปฏิทินจันทรคติฉบับปักขคณาประจำปี พ.ศ.๒๕๔๙ และได้ขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ให้ตรวจสอบความถูกต้อง เสร็จเรียบร้อยและได้จัดส่งให้สำนักพระราชวัง ผู้จัดทำปฏิทินหลวงประจำปีพิจารณาแล้ว จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เนื่องจากปฏิทินหลวงเป็นปฏิทินสำคัญ เป็นปฏิทินพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชนผู้ที่ลงนามถวายพระพร ดังนั้น ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดทำปฏิทินหลวงประจำปี จึงต้องพิจารณาจัดทำโดยรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน

ผมรู้สึกเห็นใจพระภิกษุสงฆ์ระดับต่างๆ จำนวนไม่น้อยที่ใช้ปฏิทินจันทรคติของนายทองเจือ อ่างแก้วอยู่แล้วเป็นประจำเป็นเวลานาน แต่เมื่อปฏิทินหลวงออกมาอย่างไร ท่านก็ต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นราชนิยม ส่วนปฏิทินจันทรคติของนายทองเจือ อ่างแก้ว ที่ท่านมีอยู่ ก็ให้นำมาใช้ในการให้ฤกษ์งามยามดีและใช้ประกอบการพยากรณ์ทำนายทายทักแก่ญาติโยม ซึ่งเป็นสีลัพพตปรามาส สุดแล้วแต่วิจารณญาณของท่าน

อนึ่ง ก่อนจะจบบทความนี้ ผมได้รับ “ไดอารี่โหร พ.ศ.๒๕๔๙ ของนายทองเจือ อ่างแก้ว” ได้เปิดดูหน้าที่ ๒ ซึ่งกล่าวถึง “เถลิงศก พ.ศ.๒๕๔๙” ผมได้ตรวจสอบแล้วถูกต้องตามคัมภีร์สุริยาตร์ซึ่งระบุว่า วันเถลิงศกจะตรงกับวันอาทิตย์แรม ๓ ค่ำ เดือนห้า แต่ในหน้าที่ ๔ ซึ่งกล่าวถึง “วันเถลิงศกเป็นจุลศักราช ๑๓๖๘ ได้ระบุว่า เป็นปีปกติสุรทิน ปกติมาส และอธิกวาร ซึ่งไม่ถูกต้อง ตามคัมภีร์สุริยาตร์ที่ถูกต้องคือเป็นปีปกติสุรทิน ปกติมาส และปกติวาร

ในตอนท้ายของหน้าที่ ๔ ได้ระบุว่า วันเถลิงศกเป็นจุลศักราช ๑๓๖๘ ตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายน ซึ่งจะต้องตรงกับวันอาทิตย์แรม ๓ ค่ำ เดือนห้า ตามที่แสดงผลการคำนวณไว้ในหน้าที่ ๒ แต่เมื่อเปิดไปดูไดอารี่ วันที่ ๑๖ เมษายน ปรากฏว่าเป็นวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ำ เดือนห้า หาใช่วันอาทิตย์แรม ๓ ค่ำ เดือนห้าไม่ เป็นการขัดแย้งกันเอง

กล่าวโดยสรุป ผมขอยืนยันว่า ปฏิทินหลวงและปฏิทินทั่วไปประจำปี พ.ศ.๒๕๔๘ จะถูกต้องตรงกับปฏิทินจันทรคติฉบับปักขคณา ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงวางรากฐานในการคำนวณให้ไว้แน่นอน ตั้งแต่วันอาสาฬหบูชาจนถึงสิ้นปี พ.ศ.๒๕๔๘ ส่วนปฏิทินประจำปี พ.ศ.๒๕๔๙ นั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหา และเหตุผลต่างๆ ที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้นจึงน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า ปฏิทินจันทรคติฉบับใดเป็นฉบับที่ถูกต้อง ซึ่งสมควรใช้เป็นเอกสารอ้างอิงต่อไป