Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

ความแตกต่างของฤกษ์ จาก"วิชาโหร"กับ"วิชาหมอดู"

วิชาในการพยากรณ์มีหลายแขนงหลายวิชาแต่นั่นเป็นเพียงวิชาพยากรณ์ศาสตร์ หรือวิชาหมอดูทั่วไป ซึ่งผู้ให้คำพยากรณ์เรียกว่า"หมอดู"
แต่มีเพียงศาสตร์ๆเดียวที่นับว่าเป็นศาสตร์ของโหรจริง และผู้ให้คำพยากรณ์ เรียกว่า "โหร" หรือ"โหราจารย์" ซึ่งศาสตร์นั้นก็คือ วิชา"โหราศาสตร์"ที่ใช้ระบบการคำนวนดวงชาตา ฤกษ์ นักษัตรฯลฯ โดยใช้ระบบดาราศาสตร์และดวงดาวที่ถูกต้องและเกิดขึ้นจริงบนท้องฟ้าเท่านั้น วิชาที่นับเข้าระดับนี้มีเพียงอยู่มากมายหลายประเทศ
และหลายแขนง โดยแบบเป็น 2 ระบบใหญ่ๆคือ
1.ระบบสายนะ
ระบบสายนะ คือระบบจักรราศีเคลื่อนที่ นิยมแพร่หลายทางประเทศทางตะวันตก เช่น โหราศาสตร์สากล รวมถึงการแตกแขนงมาเป็น ยูเรเนียน ฯลฯเป็นต้น
2.ระบบนิรายณะ คือระบบจักราศีคงที่ นิยมแพร่หลายทางแถบประเทศตะวันออก โดยมีโหราศาสตร์ภารตะอินเดียเป็นแม่บท มีประวัติการพัฒนามานานกว่า 6000 ปี และแตกแขนงไปเป็นหลายสายตามประเทศต่างๆ ซึ่ง

 

โหราศาสตร์ระบบนี้มีดังนี้
1.โหราศาสตร์ภารตะ(อินเดีย) ซึ่งเป็นแม่แบบ
1.2โหราศาสตร์ไทย(ที่ใช้โหราศาตร์ภารตะเป็นแม่บท) และโหราศาสตร์ที่แตกแขนงมาจากโหราศาสตร์ไทย เช่น สิบลัคนา ฯลฯ
1.3โหราศาสตร์จีน(ที่ใช้โหราศาตร์ภารตะเป็นแม่บท) ซึ่งมีระบบการคำนวนดวงดาวจริงบนท้องฟ้าโดยใช้ปฎิทินดาราศาสตร์โบราณของจีน-อินเดีย เรียกว่า "วิชาชีเจิ้ง ซื่ออวี๋ "
1.4โหราศาตร์ธิเบต(ที่ใช้โหราศาตร์ภารตะเป็นแม่บท)
นอกจากวิชาที่กล่าวมานี้เป็นเพียงศาสตร์การพยากรณ์ หรือวิชาหมอดูพื้นบ้านเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าศาสตร์หมอดูเหล่านี้จะมีการอ้างอิงชื่อดาว นักษัตร ฯลฯและอะไรต่างๆที่คล้ายกัน แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นการคำนวนและอนุมานจาก"ดาวบนกระดาษ" ที่ไม่ได้อ้างอิงผลการโคจรที่เป็นจริงบนท้องฟ้า หรือใช้เพียงปฎิทินข้างขึ้น-แรมเดือนและปีนำมาคำนวนเท่านั้น
จริงอยู่แม้ว่าศาสตร์"หมอดู"จะพยากรณ์แม่นยำสักเพียงใด แต่จะไม่สามารถคำนวนปฎิกิริยาทางรังษีของดาวเคราะห์และนักษัตรต่างๆบนท้องฟ้าที่มีความสัมพันธ์ต่อดวงชาตาได้เลย ทำให้วิชา"หมอดู"จะไม่สามารถกำหนดฤกษ์ยามที่เป็นมงคลและการวินิฉัยดวงชาตาในระยะยาวได้ถูกต้องตามที่เป็นจริง
วิธีง่ายๆในการพิจารณาได้ว่าวิชาไหนเป็นวิชาหมอดู วิชาไหนเป็นวิชาโหราศาสตร์ เพียงรูปแบบภายนอกเราอาจจะไม่สามารถแบ่งแยกได้ชัดเจน แต่หากใช้การคำนวนการเกิด"คราส"มาทดสอบก็จะรู้ได้ว่าวิชาไหนเป็นโหราศาสตร์แท้ๆ  หากวิชาไหนไม่สามารถคำนวนการเกิดอุปราคา เช่น สุริยุปราคา (Solar Elipes) จันทรุปราคา (Lunar Elipes)ได้วิชานั้นเป็นเพียงพยากรณ์ศาสตร์(หมอดู) มิใช่วิชาโหราศาสตร์
วิชาโหราศาสตร์ที่แท้จริงนั้น จะต้องคำนวนได้ว่า วันนี้ เวลาเท่านี้ ดาวอาทิตย์และจันทร์และดวงดาวอื่นๆเช่น ดาวอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ราหู(North Node) และเกตุ(South Node) โคจรอยู่ในตำแหน่งใดบนท้องฟ้า ทิศอะไร มีองศา ลิปดาเท่าใด ราศีใด นักษัตรใด(Fixed Star) และดวงดาวเหล่านั้นมีลักษณะการโครจรเป็นแบบไหนในขณะนั้น เช่น วิกลคติ พักร(Retrogade) มนฑ์(Stationary) เสริด(Direct)  และเมื่อใดจะเกิดจันทรุปราคา สุริยุปราคา เวลาเท่าใด และจะสิ้นสุดในเวลาเท่าใด
ความจริงของโหราศาสตร์ก็คือ วิชาดาราศาสตร์โบราณ หรือเรียกว่า วิชาโชยติษะศาสตร์ ที่กษัตริย์ นักรบ นักปกครองทุกคนต้องเรียน แต่วิชาโหราศาสตร์ต่างกับดาราศาสตร์ที่ว่า โหราศาสตร์เน้นว่าปรากฏการณ์ของดวงดาวต่างๆล้วนแล้วมีอิทธิพลในเชิงชีวะวิทยาและฟิสิกส์ต่อชีวิตจิตใจและวิญญาณของมนุษย์ สัตว์ สิ่งของ ตลอดจนทุกสรรพสิ่งรวมถึงปรากฏการณ์ที่สืบต่อเนื่องกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเนื่องมาจากอดีต-ปัจจุบัน-ตลอดจนถึงอนาคต
แต่วิชาดาศาสตร์(ปัจจุบัน)เห็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าว่ามีอิทธิพลทางฟิสิกส์เพียงอย่างเดียว เช่นการเกิดน้ำขึ้นลง ภูมิอากาศ การเกิดฤดูกาลต่างๆ ฯลฯเท่านั้น

 

ความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับเรื่องฤกษ์ยาม

ปัจจุบันนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป การเคร่งครับในขนบประเพณีโบราณที่เกี่ยวข้องกับฤกษ์ยามเริ่มที่จะสูญหายไป เรื่อยๆ อีกทั้งผู้คนทั้งหลายขาดความเชื่อถือในเรื่องฤกษ์ยามว่าเป็นเรื่องมงาย ไร้สาระและเหลวไหล ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และไม่เกิดผลดีตามที่กล่าวอ้าง ฯลฯ ก็เลยไปใช้ฤกษ์สะดวกกันเอาเอง  ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุดังนี้

1.คนทั่วไปมักเข้าใจสับสนว่าฤกษ์ยามของหมดดูต่างๆนั้นเป็นสิ่งเดียวกันหรือระบบเดียวกันทั้งหมด ไปหาหมอดูที่ไหนก็ได้ฤกษ์เหมือนกัน

2.ไม่เข้าใจว่าฤกษ์ยามมีการแบ่งสายวิชา คือ

2.1ฤกษ์ยามของชาวบ้าน เช่น อาจารย์ แต่ละท้องถิ่น แต่ละหมู่บ้านรับสืบทอดวิชากันมาตามสายบรรพบุรุษ หรือใช้ตำราพรหมชาติเป็นหลักในการให้ฤกษ์  ซึ่งไม่น่าเชื่อมากนัก

2.2ฤกษ์ยามของหมอดู เป็นหลักวิชาของครูอาจารย์แต่ละสำนัก เช่นวิชาเลข 7ตัว 9 ฐาน วิชาดวงพม่า ดวงมอญ หรือวิชาหมอดูสายอื่นๆ แบบที่ 2.1 และ 2.2  ส่วนมากจะอาศัยการคำนวณจากเดือน อ้าย ยี่ สาม สี่ หรือ วันขึ้นแรม เช่น ขึ้น 1 ค่ำแรม 2 ค่ำ ปีเกิด เช่น ชวดฉลูขาล ฯลฯ ชง ฮะ  วันเกิด  เช่น วันอาทิตย์ จันทร์ เป็นหลักในการคำนวณ ซึ่งได้ผลดีบ้างไม่ได้ผลดีบ้าง  เพราะหลักวิชายังค่อนข้างหยาบ จึงต้องขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของครูอาจารย์ท่านนั้นๆ จึงจะสามารถให้ฤกษ์ยามที่ดีและถูกต้องได้  ไม่ใช่ว่าใครใช้วิชาเดียวกันและจะสามารถให้ฤกษ์ยามได้เหมือนกัน

2.3และฤกษ์ยามของโหรฯ เป็นวิชาที่ได้รับการสืบทอดมาจากวิชาโหราศาสตร์อินเดียโบราณมานับพันๆปี แม้ทุกวันนี้ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมาพัฒนาเป็นวิชาโหราศาสตร์ไทย สิบลัคนา โหราศาสตร์อื่นๆที่ใช้หลักการคำนวณทางดาราศาสตร์ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้อาศัยหลักปรัชญา หลักศาสนาและดาราศาสตร์ผสมผสานกันอย่างลงตัว โดยได้รับการยอมรับจากราชสำนักและบุคคลชั้นสูง มีหลักการที่เป็นหนึ่งเดียวกันแทบจะทั้งหมด มีการคำนวณด้วยหลักวิชาทางคณิตศาสตร์ชั้นสูง ใช้ ตรีโกณมิติ Sin Cos tanมาตั้งแต่ 5000 ปีที่แล้ว การคำนวณการโคจรของโลกและดาวเคราะห์(Planet) ที่ถูกต้องใกล้เคียงกับการคำนวณทางดาราศาสตร์ปัจจุบันมาตั้งแต่โบราณมาจน ปัจจุบัน และพลังงานรังสีต่างๆที่ส่งอิทธิพลมายังโลก  มีการคำนวณพลังงานของดาวฤกษ์ต่างๆทั้ง 27 กลุ่ม(Fixed Star)ที่อยู่รายล้อมสุริยะจักรวาล  ว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตและโชคชะตาของมนุษย์อย่างไร  มีการคำนวณการเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เช่นการเกิดคราส ได้ถูกต้องแม่ยำมาตั้งแต่ 5000 ปีที่แล้ว แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ยังทรงใช้หลักวิชาทางโหราศาสตร์ และดาราศาสตร์สมัยใหม่มาคำนวณปรากฎการณ์การเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ  เป็นหลักวิชาที่ได้ผลดีที่สุดและละเอียดที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าช่วงนั้น มีฤกษ์ดีที่ให้ผลดีได้กี่เปอร์เซ็นต์ และสมพงษ์เจ้าชะตากี่เปอร์เซ็นต์ แต่จะให้ได้ดี 100 เปอร์เซ็นต์ตามหลักวิชานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยได้ 50 เปอร์เซ็นต์ตามหลักวิชาก็ถือว่าได้ผลดีมากมายมหาศาลแล้ว  บางครั้งต้องหาฤกษ์ล่วงหน้านานนับเดือนนับปี เช่นการวางฤกษ์ดวงเมืองกรุงเทพฯ ใช้พราหมณ์ ที่เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์ 8 ท่านช่วยกันคำนวณผูกดวงฤกษ์ไว้ล่วงหน้าก่อนถึง 3 ปี ถึงทำให้ประเทศรอดจากการครอบครองของมหาอำนาจมาได้และรักษาอธิปไตยมาได้เพียง ประเทศเดียวในเอเชีย แม้กระนั้นก็ยังต้องเสียดินแดนบางส่วนไป ส่วนวิชานี้ใช้หลักการเดียวกันเกือบจะทั้งหมด และไม่ว่าใครหากได้เรียนทฤษฎีและมีประสบการณ์มากเพียงพอแล้วก็จะสามารถให้ ฤกษ์ยามได้ ถูกต้องใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งทางผมได้ใช้หลักวิชานี้ในการให้ฤกษ์ยาม

2.4ฤกษ์ยามที่เป็นเพียงความเชื่อของชาวบ้านทั่ว ไปที่สืบต่อกันมาตามแต่ละท้องถิ่นโดยไม่มีหลักวิชาใดใดมาอ้างอิง เช่น ทำการมงคลต้องทำข้างขึ้นเท่านั้น ข้างแรมไม่ได้  จะต้องวันที่ 9 เท่านั้น วันที่ 4 ไม่ได้ เพราะเลขไม่ดี หรือต้อง 9 โมง 9นาที หรือเกิดวันอังคารก็ต้องทำการมงคลในศุกร์วันเป็นต้น  ซึ่งหลักนี้นับว่าไม่น่าเชื่อถือมากที่สุด เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักวิชาใดใดมารองรับ

3.ไม่เข้าใจว่าวิชาการพยากรณ์ ยังแบ่งเป็น

3.1 ภาคคำนวณ สำหรับคำนวณดวงชาตาตามหลักวิชา  การทำปฎิทินต่างๆ การคำนวณวันขึ้นแรม วันเถลิงศก   ฯลฯ

3.2 ภาคพยากรณ์ สำหรับการพยากรณ์ดวงชาตาว่าดีร้ายๆต่างๆ

3.3 ภาคการให้ฤกษ์ สำหรับการให้ฤกษ์ยามมงคลแก้ไขดวงชาตา และความเจริญรุ่งเรืองไปในภายภาคหน้า ใช้สำหรับกิจการสำคัญๆ เช่นการสร้างบ้าน สร้างเมือง การแต่งงาน ฯลฯ

ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้เป็นคนละอย่างกัน และภาคการให้ฤกษ์ยากและละเอียดที่สุด  แต่มักมีเข้าใจผิดว่าหมอดูคนไหนทายแม่น การให้ฤกษ์ยามก็จะถูกต้องแม่นยำไปด้วย สรุปว่าฤกษ์ยามที่คนทั่วไปทุกวันนี้ยังเข้าใจสับสนและใช้กันไม่ถูกต้อง  เมื่อมีการเข้าใจผิดอย่างนี้ การใช้ฤกษ์ก็มีความผิดพลาดอย่างมากมายมหาศาล ก่อให้เกิดผลร้ายและวิบัติตามติดกันมา จนผู้คนหมดความเชื่อถือในเรื่องของฤกษ์ยามว่าไม่เป็นความจริง

 

คำถามเกี่ยวกับฤกษ์ยาม

1.ถาม การจัดงานมงคล เช่น สมรส ขึ้นบ้านใหม่ ยกเสาเอก ฯลฯ ห้ามจัดในช่วงเข้าพรรษา ต้องออกพรรษาก่อน ใช่หรือไม่

ตอบ อันนี้เป็นธรรมเนียมชาวบ้านในสมัยก่อนครับไม่เกี่ยวกับฤกษ์ยาม การคมนาคมไม่สะดวกเพราะพระสงฆ์จะเดินทางไปประกอบศาสนกิจ หรือไปสวดมนต์ขึ้นบ้าน งานแต่ง ฯลฯ ในระยะทางไกลๆ  ต้องข้ามวันข้ามคืน หรือไปแล้วกลับวัดไม่ทัน ในช่วงเข้าพรรษานั้น ผิดวินัยสงฆ์ครับ ก็เลยห้ามจัดงานในช่วงเข้าพรรษา ส่วนชาวบ้านเองก็จะได้ทำทำงานปลูกข้าว ทำไร่ไถนากันได้เต็มที่ และก็ไม่ต้องเดินทางไปช่วยงานมงคลของญาติพี่น้องที่อยู่ไกลๆ หากไปเสียหลายๆวัน ข้าวกล้าในนาก็จะเสียหาย

2.เวลาฤกษ์จะต้องตกเลข 9 จึงจะเป็นมงคล ใช่หรือไม่

ตอบ ไม่เกี่ยวกับฤกษ์ยามครับ เป็นเพียงความเชื่อ

3.วันทำการมงคลต้องเป็นวันพฤหัสบดีเท่านั้น ใช่หรือไม่

ตอบ  ไม่จำเป็น เพราะบางปีวันพฤหัสกลายเป็นวันโลกาวินาศก็ทำการมงคลใดใดไม่ได้ ต้องดูอย่างอื่นประกอบอีกมาก

4.เกิดวันจันทร์ห้ามทำการวันอาทิตย์ เพราะเป็นกาลกิณีวันเกิด ใช่หรือไม่

ตอบ อันนี้เป็นทักษาที่หมอดูชอบใช้กัน โหราศาสตร์ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง นัยว่าใช้ประกอบการพิจารณาเล็กๆน้อย ไม่สำคัญ ซึ่งหลักวิชาโหรมีกลวิธีวางฤกษ์ในการสลายผลร้ายต่างๆของทักษาได้อยู่แล้ว

5. เกิดวันอังคารต้องทำการมงคลวันศุกร์ที่เป็นคู่มิตรกันเท่านั้น ใช่หรือไม่

ตอบ เป็นหลัก ดาวคู่มิตร-ศัตรูของวิชาหมอดูครับ วิชาโหรไม่เน้นหลักนี้เลย

6.ห้ามทำการมงคลวันดาวร้าย เช่า เสาร์ อังคาร ใช่หรือไม่

ตอบ เป็นหลักทั่วไปของโหรและหมอดู แต่วิชาโหรสามารถใช้ฤกษ์ของจันทร์ในการสลายผลร้ายของวันเสาร์-อังคารได้

7.ทำการมงคลต้องใช้ข้างขึ้นเท่านั้น ห้ามใช้ข้างแรม ใช่หรือไม่

ตอบ เป็นเพียงความเชื่อของชาวบ้าน เพราะข้างขึ้น-ข้างแรม ล้วนมีวันดีและไม่ดีสลับกันไป

8.ทำการมงคลต้องทำก่อนเที่ยงเท่านั้น ใช่หรือไม่

ตอบ เป็นเพียงความเชื่อของชาวบ้าน ต้องต้องทำก่อนพระฉันเพล เพื่อที่จะได้ถวายเพลพระไปด้วยจะได้เป็นกุศล ไม่เกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์

9.ปีชง ห้ามทำการมงคลในปีนี้ ใช่หรือไม่

ตอบ เป็นวิชาหมอดูแบบจีนซึ่งการดูแค่ปีชงหยาบเกินไป เพราะยังมีวัน ชง เวลา ชง เดือนชงอีก ฉะนั้นปีชงสามารถทำการมงคลได้ เพียงต้องตรวจดู เดือน วัน เวลา ประกอบด้วย  อีกทั้งการนับปีนักษัตร เช่น ปีชวด ฉลูของไทย กับจีน นับต่างกัน  ของไทยเริ่มนับใหม่ในช่วง สงกรานต์ และ/หรือ วันเถลิงศก และ/หรือ เดือน 1 ไทย  และ/หรือ เดือน 5 แล้วแต่ครูอาจารย์บางสำนัก ส่วนของจีนนับจากสารทลิบชุน (ใกล้ๆตรุษจีน)

10.วันสำคัญๆเป็นวันดีวันมงคลด้วยหรือไม่ เช่นวันสงกรานต์ วันเกิดตัวเอง วันขึ้นปีใหม่ วันวาเลนไทน์ ใช่หรือไม่

ตอบ เป็นเพียงความเชื่อ ไม่เกี่ยวกับวิชาโหรฯใดใดๆ อีกทั้งวันเหล่านั้นบางบีก็มีดีและไม่ดี

11.การออกรถใหม่ต้องดูสีรถ เลขทะเบียนที่ถูกโฉลกหรือไม่

ตอบ ตามหลักวิชาโหร เรื่องสี และเรื่องตัวเลข มีผลน้อยมาก ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ การให้ผลดีร้ายนั้นมากจากดวงฤกษ์ 99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสีและอื่นๆมีผลน้อยมาก แต่วิชาหมอดูมักจะถือว่าเรื่อสีและตัวเลขเป็นเรื่องใหญ่ เพราะวิชาหมอดูคำนวนฤกษ์โดยใช้หลักดาราศาสตร์ไม่ได้ วางลัคนาไม่ได้ หากเราจะดูว่าสีไหนถูกโฉลก ก็คือสีที่เราชอบนั่นเอง เช่นคุณชอบสีขาวแต่เกลียดสีดำ ผมบอกว่าคุณต้องใช้รถสีดำเท่านั้นจึงจะถูกโฉลกห้ามใช้สีขาว  คุณก็ขับไปทุกข์ไป อย่างนี้จะเรียกว่าถูกโฉลกได้อย่างไร

12.ผมได้ฤกษ์เป็นวันอุบาทว์ โลกาวินาศ มีฤกษ์อื่นหรือไม่ครับ ที่ไม่ใช่วันอุบาทว์และโลกาวินาศประจำปี ผมรู้สึกไม่ดีครับ

ทางอาศรมใช้วิชาฤกษ์ยามของโหรฮินดู หรือโหราศาสตร์ภารตะ เป็นหลัก ซึ่งมีการคำนวนอย่างละเอียด และไม่มีการใช้กาลโยคประจำปีหรือหลักวิชาอื่นๆมาผสมในการคำนวนเพราะจะทำให้ผิดหลักวิชา ซึ่งกาลโยคประจำปีนี้แม้โหรไทยเองก็ไม่นิยมใช้กัน เพราะไม่ใช่หลักสำคัญในการคำนวนฤกษ์ใน ระบบโหราศาสตร์  แต่เป็นฤกษ์ยามของชาวบ้าน กรุณาอ่านหนังสืออีบุ๊คแจกฟรี และปฏิทินโหราศาสตร์ของอาศรม เรื่องวิธีการคำนวนฤกษ์ที่นี่ http://www.astroneemo.net/index.php?option=com_content&view=category&id=159&Itemid=50&lang=th

ในการให้ฤกษ์ที่มีหลักการแตกต่างกัน คติความเชื่อต่างกัน ผลของฤกษ์ก็ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลื่อกใช้แบบไหน

13. เพื่อความสบายใจ คือฤกษ์ล่าง ครับ ดูในเว็ปอื่น แล้ววันที่ผมได้ฤกษ์มาจากอาจารย์ ฤกษ์ตกในช่วงมรณะ ครับอันนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

เรื่องมรณะ อันนี้เป็นสัปตฤกษ์ ไม่มีใครใช้กันหรอกครับ ไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่ เดิมเป็นหลักของหมอดูพม่า แล้วผสมกับฤกษ์เข้าไปให้ดูน่าเชื่อถือ ไม่ใช่หลักวิชาโหราศาสตร์ดั้งเดิมครับ

14.วันนั้นดิถีร้ายเช่น วันทรทึก วันทินสูร วันกาลทัณฑ์ วันมฤต อันนี้ไม่ต้องดูใช่ไหมครับฤกษ์ล่างร้าย เนื่องจากอ.ผูกดวงให้เฉพาะคนรึเปล่าครับ โดยใช้ฤกษ์ล่างเป็นชะตากำเนิด เฉพาะบุคคล

ฤกษ์มีหลายระดับ หลายชั้น เหมือน ป1. ป.2 ไปจนถึงมัธยม -อุดมศึกษา
ในปฏิทินโหราศาสตร์ส่วนมากก็จะระบุฤกษ์เอาไว้หลายระดับ หลายระบบ ในหน้า/เล่มเดียวกัน ดังนั้นคนที่อ่านปฏิทินโหราศาสตร์ได้จะต้องศึกษามาก่อน ไม่ใช่อ่านเอาความหมายแล้วนึกเองว่าดีหรือร้าย ฤกษ์ทุกชนิดมีกฏเกณฑ์เฉพาะตัวของมัน โดยห้ามนำมาปนกัน มิฉะนั้นจะกลายเป็นหังมังกุท้ายมังกร  ตัวอย่าง
เช่นเรื่องฤกษ์ล่าง เช่นวันทินสูร กาลทัณฑ์ เป็นฤกษ์ล่างคำนวนตามดิถีแบบไทย สำหรับชาวบ้านใช้ทั่วไป โดยชาวบ้านคำนวนดวงชาตากำเนิดเองไม่ได้ หรือไม่ได้ศึกษาวิชาโหรมาก่อนก็ต้องใช้ฤกษ์ชนิดนี้  ซึ่งมีข้อผิดพลาดสูงเพราะดิถีไม่ตรงกันกับดิถีเพียรทางโหราศาสตร์  และบางวันมีทั้งดีและร้ายผสมกันไป เป็นการคำนวนอย่างง่ายอีกแบบหนึ่ง  ถือว่าฤกษ์ชนิดนี้เป็นฤกษ์แบบชาวบ้าน ระดับพื้นๆ ให้ผลน้อยเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับฤกษ์ของวิชาหมอดูแบบอื่นๆ ซึ่งก็เพียงพอสำหรับวิถีชีวิตของชาวบ้านในสมัยก่อน ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อนเหมือนคนสมัยนี้

ส่วนฤกษ์ที่คำนวนทั้งฤกษ์บนจากนักษัตร+ฤกษ์ล่างจากดิถี+ฤกษ์ล่างจากดวงชาตานั้นให้ผล มากถึง 80-100 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในการคำนวนฤกษ์ชั้นสูง สำหรับคำนวนดวงเมือง คำนวนดวงกษัตริย์ และพิธีกรรมเกี่ยวกับชนชั้นสูง มาแต่โบราณ ซึ่งจะผิดพลาดไม่ได้เลย การคำนวนฤกษ์แบบนี้ไม่สามารถหาได้จากปฏิทินโหราศาสตร์ ต้องคำนวนเองเฉพาะบุคคล โดยใช้ปฏิทินโหราศาสตร์มาประกอบเฉพาะการคำนวนดวงดาว/นักษัตร/ฤกษ์ ในแต่ละวันเท่านั้น

 

 

 

 

**การนับวันในสัปดาห์ในทาง โหราศาสตร์แบบโบราณนั้นแตกต่างจากการนับของทางราชการ ของทางราชการจะเปลี่ยนวันใหม่ในเวลา 24.00 น.ของทุกคืน แต่ทางโหราศาสตร์จะเปลี่ยนวันใหม่ในเวลาเช้าที่พระอาทิตย์ขึ้น ประมาณ 6.00 น.  เช่นเกิดวันที่  23 มีนาคม 2553 เป็นวันอังคาร หากท่านเกิดในเวลากลางวันจะไม่เป็นปัญหา หากเกิดในเวลากลางคืน เช่น 01.00 น. ของคืนวันจันทร์(คืน 22 มีนาคม) เช้ามาเป็นวันอังคารที่ 23 มีนาคม ทางราชการจะระบุว่า ท่านเกิดวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2553 เวลา 01.00 น. แต่ทางโหราศาสตร์จะถือว่า ท่านเกิดคืนวันจันทร์  เพราะโหราศาสตร์จะเปลี่ยนเป็นวันอังคารก้ต่อเมื่อพระอาทิตย์ของวันอังคาร ได้ขึ้นที่ขอบฟ้าแล้ว ซึ่งในวันนี้พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.20 น.ดังนั้นแม้ว่าท่านจะเกิดวันนี้แต่เป็นเวลา 06.15 น.ของวันที่ 23 มีนาคมก็ตาม แต่พระอาทิตย์ของวันอังคารยังไม่ขึ้น ท้องฟ้ายังมืดอยู่ ก้ยังถือว่าท่านเป็นคนเกิดวันจันทร์