ข้อควรระวัง-การขอฤกษ์กับพระสงฆ์
การไปขอฤกษ์จากพระสงฆ์ จริงๆแล้วพระสงฆ์ท่านต้องเรียนศึกษาพระธรรมวินัย ท่านมีเวลาน้อยมากที่จะมาศึกษาเรื่องฤกษ์ยาม ถึงแม้ว่าจะมีพุทธานุญาตให้ภิกษุเรียนเรื่องฤกษ์ นักขัตฤกษ์ก็ตาม แต่ก็ไม่มีพุทธานุญาตให้ภิกษุเป็นหมอดูให้ฤกษ์ยามแต่อย่างใด หากภิกษุทำแล้วก็ย่อมเป็นอาบัติ ผิดพระวินัยสิกขาบท นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้เอาไว้ เมื่อเราไปขอฤกษ์จากพระสงฆ์ก็ย่อมทำให้ท่านต้องอาบัติ อันนี้เป็นปาปกรรมของผู้ที่ไปขอฤกษ์จากพระ ส่วนพระสงฆ์ท่านเองก็ต้องมีเมตตาจิตต่อผู้คนเสมอๆ ใครมาขอท่านก็ไม่อยากจะขัด บางครั้งท่านก็จำเป็นต้องให้เพราะญาติโยมรบเร้าเสียเหลือเกิน อันนี้ต้องเข้าใจท่านด้วย อย่าไปรบกวนท่านเหล่านั้นเลย เพราะจะทำให้เป็นปาปกรรมทั้งสองฝ่ายทั้งพระและโยม หากพระสงฆ์ท่านใดอุตตริไปให้ฤกษ์ยามกันเป็นล่ำเป็นสัน เห็นกันอย่างดาษดื่นทั่วไป นั่นก็ผิดวินัยอย่างชัดเจนหรือบางคนเชื่อว่าได้ฤกษ์พระผู้ทรงศีลแล้วก็จะ เป็นมงคลกับตัวเพราะท่านเป็นผู้ทรงศีล ฤกษที่ได้มาจะต้องเป็นฤกษ์ดีเท่านั้น ความเข้าใจอันนี้ผิดพลาดอย่างมหันต์ ผลจะกลับเป็นตรงกันข้ามจากที่เคยเข้าใจมาแต่ก่อน ลองอ่านพระวินัยข้อนี้ดูนะครับแล้วจะเข้าใจ .............
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
๒. สามัญญผลสูตร เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู
[๑๑๙] ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหมร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
**อธิบายคำว่าติรัจฉานวิชา อีก นิดหนึ่งนะครับคำๆนี้ไม่ใช่เป็นด่านะครับ ตามรูปศัพท์แปลว่าวิชาอันเป็นไปในแนวขวาง ก็คือการขัดขวางในการปฎิบัติธรรม และการบรรลุธรรม คำๆนี้ใช้สำหรับนักบวชเท่านั้น เพราะเป็นปกติอยู่เองที่นักบวชจะต้องปฎิบัติตนในการละกิเลสเพื่อมุ่งสูความ หลุดพ้นอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีหน้าที่หรือกิจอย่างอื่นที่จะต้องทำเหมือนชาวบ้าน หากนักบวชไปเรียนวิชาทางโลกเช่น จัดดอกไม้ ทำกับข้าว ทำเสริมสวย ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง ฯลฯ นี่ก็เป็น ติรัจฉานวิชา สำหรับนักบวช แต่สำหรับผู้ครองเรือน ท่านเรียกว่า "สัมมาอาชีพ" นะครับ โปรดเข้าใจว่าวิชาโหรไม่ใช่ ติรัจฉานวิชา นะครับ แต่เป็น"สัมมาชีพ" อย่างหนึ่งของผู้ครองเรือน
ทุกวันนี้ หรือแม้แต่ในอดีตมักมีคนชอบไปขอฤกษ์กับพระสงฆ์องค์เจ้า เพราะเชื่อว่าท่านต้องรู้ฤกษ์ยาม และให้ฤกษ์ยามที่ดีได้ แต่ความเป็นจริงพระสงฆ์ที่รอบรู้ฤกษ์ยามจริง ๆนั้นมีน้อยมาก ส่วนมากก็ซื้อปฏิทินไปอ่านดูแล้วก็ให้ฤกษ์ ส่วนมากก็เป็นฤกษ์ชั้นสองหรือชั้นสาม และก็ไม่ดูดวงชาตาเจ้าการประกอบเลย ซึ่งผิดกฎเกณฑ์การให้ฤกษ์อย่างชัดแจ้ง
หลายคนคนเข้าใจว่าการขอฤกษ์ไม่น่า จะยาก เพราะเคยเห็นพระหรือหมอดูบางท่านเปิดปฎิทินพลิกไปพลิกมาก็ให้ฤกษ์ได้แล้ว อันนั้นไม่ใช่ฤกษ์ของระบบโหรฯ เป็นฤกษ์ของระบบหมอดูซึ่งให้ผลแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงอยากจะฝากไว้ให้รับรู้กันด้วยนะครับ
และในพระวินัยก็บัญญัติห้ามพระสงฆ์ดูดวง ทายนิมิต หรือให้ฤกษ์ยาม หรือการเป็นสื่อชักนำให้ชายหญิงเป็นผัว-เมียกัน หากทำไปก็เป็นอาบัติหนัก ตั้งแต่ อาบัติสังฆาทิเสส ไปจนถึงอาบัติเบา เช่น อาบัติทุกกฎ เป็นต้น หรือแม้แต่ทำพิธีกรรมต่าง ๆ พระวินัยก็ห้าม เช่น ตั้งศาล ยกเสาเอก ฯลฯ หากทำไปก็ต้องอาบัติ
เมื่อเราไปขอฤกษ์กับพระสงฆ์ก็เท่ากับว่าทำให้ท่านอาบัติ ผิดวินัย กลายเป็นโทษ เป็นบาปกรรมติดตัวเราไปตลอด หากเราเข้าใจในเหตุผลอันสำคัญข้อนี้ เท่ากับว่าได้ช่วยกันจรรโลงพระศาสนาให้ได้อยู่นานและมั่นคงไปตลอดอายุพระศาสนา 5000 ปี