Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

 

Wan Pra

เรื่องนี้มักจะมีคนถามเข้ามาบ่อยๆ ซึ่งมีที่มาจากคติความเชื่อโบราณ ว่าวันพฤหัส(วันครู) วันพระ และวันในช่วงเข้าพรรษาไม่ควรทำการมงคลต่างๆ   ซึ่งคติความเชื่อนี้ได้เสื่อมความนิยมลงไปมากแล้ว อันเนื่องมาจากการพัฒนาทางสังคม และการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยใหม่ แต่คนรุ่นเก่าๆก็ยังมีความเชื่อนี้อยู่ จริงๆที่มาที่ไป ก็ไม่เคยมีใครอธิบายเหตุผลจริงๆเอาไว้

(1)วันครู ซึ่งหมายถึงวันพฤหัสบดี  จริงๆแล้วเป็นวันดีในทางโหราศาสตร์ เพราะวันพฤหัสมีดาวพฤหัสเป็นเจ้าการ ซึ่งเรียกว่าดาวครู เป็นประธานแห่งดาวศุภเคราะห์ ซึ่งให้คุณสูงสุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งมวล อีกทั้งให้โชคลาภ และคุ้มครองภัยได้ทั้งหมด ดังนั้นโหรจึงให้ฤกษ์ยามวันพฤหัสบดี  ทำการมงคลได้   

ส่วนเหตุผลของคนโบราณก็มาจากการที่ บุคคลซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ หมอดู หมอโหรา หมอทำขวัญ หมอยา ครูเพลง ครูนาฏศิลป์ต่างๆ ครูไสยศาสตร์ และผู้ศึกษาวิชาอาคมทั้งหลายฯลฯ ก็ต้องทำการไหว้ครูในวันพฤหัสบดี  เพื่อความเป็นศิริมงคล อีกทั้งต้องทบทวนวิชาและเพิ่มพูนวิชาให้แก่กล้า  รวมไปถึงการรับศิษย์ หรือศิษย์มาต่อวิชาก็ต้องใช้วันครู(วันพฤหัสบดี) เท่านั้น  

ดังนั้นหากพิธีกรรมใด ที่ได้ฤกษ์วันพฤหัสและต้องเชิญครูอาจารย์เหล่านี้มาทำพิธี  เช่น การทำขวัญ ยกเสาเอก ตั้งศาล แต่งงาน เข้าบ้านใหม่ พิธีกรรมบวงสรวงต่างๆ อีกทั้งมีนาฏศิลป์ ฟ้อนรำ ดนตรีไทย ฯลฯ ก็ควรจะต้องสอบถามครูอาจารย์ก่อนว่าท่านสะดวกมาทำพิธีให้หรือไม่ หากท่านสะดวกมาทำให้ก็ไม่มีปัญหาอะไร กับวันครู

(2)วันพระ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าวันพระนั้นเป็นวันที่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายไปทำบุญฟังธรรมที่วัด ซึ่งวันนี้พระท่านก็จะต้องอยู่วัดเพื่อสนองศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย  

วันพระหรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ" หรือ วันอุโบสถ อันได้แก่วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)

นอกจากนี้ยังมีกิจของสงฆ์ที่สำคัญยิ่งก็คือ การลงอุโบสถ หรือ วันสวดปาฏิโมกข์ ทุกๆกึ่งเดือน ซึ่งวันลงอุโบสถจะตรงกับ วัน 8 ค่ำ หรือ  วัน 14 หรือ 15 ค่ำ แล้วแต่กรณี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวันพระ พระท่านจะมีกิจที่จะต้องทำในวัดมาก หากงานมงคลใดที่ต้องนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์หรือถวายภัตตาหารที่บ้าน โดยเฉพาะต้องใช้พระมากถึง 9 รูป หากตรงกับวันพระท่านก็ย่อมไม่สะดวก บางทีก็ต้องนิมนต์หลายวัดกว่าจะครบ 9 รูป

ในสมัยโบราณวัดไม่ได้มีมากมายเหมือนสมัยนี้ บางตำบลมีวัดอยู่พียงวัดเดียว หรือ มีพระจำวัดอยู่ไม่มากนัก อีกทั้งการคมนาคมก็ไม่สะดวก ไม่มีรถยนต์ พระก็จะต้องเดินด้วยเท้า (เพราะมีวินัยบัญญัติไม่ให้พระนั่งเวียน ขี่ม้า ฯลฯ) และกว่าเดินทางจะไปถึงงานพิธีก็ใช้ไปเวลาไปกลับเป็นวันๆ 

แต่ในสมัยนี้ข้อจำกัดด้านการเดินทางไม่มีแล้ว ในการเจริญพุทธมนต์ในงานมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ก็สามารถทำได้ อีกทั้งการนิมนต์พระมาได้โดยใช้รถรับส่ง ก็สะดวกรวดเร็ว  แม้ในวันอุโบสถท่านก็กลับไปลงอุโบสถได้ทันเวลา ไม่มีข้อขัดข้องอันใด สรุปว่าวันพระสามารถทำการมงคลได้

(3)วันในช่วงเข้าพรรษา คือเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  เป็นวันออกพรรษา

ซึ่งอันนี้มีอยู่ 2 เหตุผลหลัก  เหตุผลแรก คือในช่วงเข้าพรรษาจะตรงกับฤดูฝน สมัยก่อนบ้านเราเป็นสังคมเกษตรกรรม ดังนั้นทุกคนก็ต้องเริ่มลงมือทำนาปลูกข้าว ไถหว่าน ดูแลเรื่องน้ำในนาข้าวทำให้ทุกคนไม่มีเวลาว่าง อีกทั้งเราเองก็ต้องดำนาไถหว่านเช่นเดียวกัน  หากเราจัดงานมงคลใดใดในช่วงนี้ ก็จะไม่ใครว่างมางานช่วยงานมงคลของเราเลย

เหตุผลข้อที่สอง ก็คือ การนิมนต์พระสงฆ์ ซึ่งท่านอยู่ในช่วงอธิษฐานเข้าพรรษา จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือภาษาปากว่า จำพรรษา

และพระสงฆ์ที่อธิษฐานรับคำเข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น"ขาดพรรษา" และต้องอาบัติทุกกฎเพราะรับคำนั้น รวมทั้งพระสงฆ์รูปนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา ไม่ได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย และทั้งยังห้ามไม่ให้นับพรรษาที่ขาดนั้นอีกด้วย

อีกทั้งปัญหาการเดินทางในสมัยก่อน ที่พระต้องเดินเท้าเท่านั้น ที่ได้อ้างแล้วในเรื่องของ”วันพระ”  การเดินทางอาจจะต้องใช้เวลาเป็นวันหรือหลายวัน หรือต้องค้างแรม ทำให้พระท่านต้องขาดพรรษา ดังนั้นในสมัยก่อนจึงไม่นิยมทำการมงคลในช่วงนี้

แต่ในสมัยนี้ข้อจำกัดด้านการเดินทางไม่มีแล้ว ในการเจริญพุทธมนต์ในงานมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ก็สามารถทำได้ อีกทั้งการนิมนต์พระมาได้โดยใช้รถรับส่ง ก็สะดวกรวดเร็ว  แม้ในช่วงเข้าพรรษา ท่านก็กลับวัดได้ทันเวลา ไม่มีข้อขัดข้องอันใด สรุปว่าวันในพรรษาก็สามารถทำการมงคลได้เช่นเดียวกัน

**********************************************