ตอนที่ 7
กูย (ส่วย)
หนังสือ :สุรินทร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย
แต่งโดย: อาจารย์ศิริ ผาสุก,อาจารย์อัจฉรา ภาณุรัตน์,อาจารย์เครือจิต ศรีบุญนาค
ผู้จัดพิมพ์ :ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ชมรมหัตถกรรมพื้นบ้านไทย พศ.2536
ชนชาติโบราณและการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า
จังหวัดสุรินทร์ ถ้าจะแบ่งคนไทยตามเชื้อสายแล้ว พอจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ คนไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งมีประมาณร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมด คนไทยเชื้อสายกูย (ส่วย) ประมาณร้อยละ 30 คนไทยเชื้อสายลาวประมาณร้อยละ 12 คนไทยเชื้อสายจีนและอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 8
โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายกูยนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 360 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอชุมพลบุรี 2 หมู่บ้าน อำเภอท่าตูม 14 หมู่บ้าน อำเภอรัตนบุรี 17 หมู่บ้าน อำเภอจอมพระ 35 หมู่บ้าน อำเภอสนม 29 หมู่บ้าน อำเภอ เมือง 17 หมู่บ้าน อำเภอสำโรงทาบ 65 หมู่บ้าน อำเภอปราสาท 4 หมู่บ้าน อำเภอกาบเชิง 50 หมู่บ้าน อำเภอสังขะ 70 หมู่บ้าน อำเภอศรีขรภูมิ 72 หมู่บ้าน
ลักษณะของชาวไทยกูยนั้น เป็นชนชาติที่มีความรักสงบ และรักธรรมชาติมาก ทำให้เขาขาดความสนใจสังคมภายนอก แต่มีความรักในธรรมชาติ เช่นป่าไม้ และสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น กบ เต่า ตะกวด ช้าง ฯลฯ เป็นต้น ทำให้เป็นผลดีทางนิเวศวิทยา
ลักษณะบ้านเรือน ชาวไทยกูยอยู่ตามหมู่บ้านเก่าแก่มากมาย เช่น ตรึม แตล ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประชากรใช้ภาษาดั้งเดิม อันแสดงว่าสืบเชื้อสายจากชนพื้นเมืองเดิมคือไทยกูย พูดภาษาไทยกูย พูดภาษากูย นับเนื่องอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับพวกคนป่าที่อาศัยอยู่ในบริวเวณแถบเขาพนมดงรัก มีความชำนาญในการจับช้างส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งทำการเกษตรเป็นหลักซึ่งถูกเรียกว่า “กูยเป๊าะ” กูยเดินหรือกูยเร่ร่อนปรากฏหลักฐานจารึกในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ประมาณศตวรรษที่ 9 อย่างน้อยพอประมาณได้ว่าต้นสมัยประวัติศาสตร์อาณาจักรเจนละ คงมีคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่แล้ว ตอนหลังผสมผสานแต่งงานร่วมวัฒนธรรมกับพวกขอมจากเมืองพระนคร จนกลายเป็นชนชาติผสมเป็นส่วนใหญ่
หน้า 159
ตำบลตรึม และตำบลแตล อำเภอศรีขรภูมิ มีหมู่บ้านในสังกัดหลายหมู่บ้านที่พูดภาษาไทยกูย ในตำบลตรึมเป็นหมู่บ้านเก่า ปรากฏร่องรอยวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยกูยหลายประการ เช่น ผ้าไหมที่ใช้แตกต่างจากชาวสุรินทร์ในตำบลอื่น ๆ เพราะชาวไทยกูยนิยมนุ่งผ้าที่มีหัวซิ่นสีแดงลายเชิด และมีตีนซิ่นสีดำริ้วขาวเหลืองแดง ถือเป็นศิลปะเฉพาะที่ให้ความงดงามแปลกตา ตำบลแตลก็เช่นกัน ใต้ถุนเรือนแทบทุกหลังคาทอผ้าใช้หูกประเภทพันเก็บได้ เพราะใต้ถุนเรือนจะถูกแบ่งเนื้อที่อย่างน้อย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 วางกี่หรือหูกทอผ้าซึ่งมีความยาวมาก ส่วนที่ 2 เป็นคอกวัวควาย ด้านหนึ่งของคอกใช้พาดหูกทอผ้า ส่วนที่ 3 เป็นร้านเก็บเครื่องจักสานต่าง ๆ และชั้นล่างเลี้ยงเป็ด ไก่ และวางเชิงกรานหุงต้มหรือย้อมไหม
ส่วนใต้ถุนเรือนของชาวไทยกูย แถวบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ซึ่งเลี้ยงช้างค่อนข้างจะแปลกมาจากถิ่นอื่น กล่าวคือพยายามใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด โดยแบ่งพื้นที่ใต้ถุนเรือนเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกใต้ถุนสูงผูกช้างได้ ทำหมอนคันดินแทนให้หนุน ส่วนกลางจะตั้งหูกทอผ้า ซึ่งมีเส้นยืนยาวมากพาดผูกไว้กับคอกวัว/ควาย ส่วนที่ 3 เป็นคอกวัวควาย ส่วนสุดท้ายไว้เก็บอุปกรณ์หาปลา หรือสำหรับก่อไฟหุงต้มสีย้อมผ้าไหม
การแต่งกาย
ผ้าลายขิต เป็นจุดเด่นของชนไทยกูย อันแสดงศิลปะการแต่งตัวที่น่าทึ่ง กล่าวคือหัวซิ่นใช้ประโยชน์ในการพับเป็นถุงเงินสีแดงลายขิต ที่ตัดกับสีผ้าถุง มีผ้าโพกหัวลายขิต เรียกว่า สไบเจียดตรุย มีชายครุยห้อยลูกปัด สำหรับหนุ่มสาวโพกศรีษะในขบวนแห่บั้งไฟขอฝน และที่การทำแซวบนเนื้อที่ลวดลายคล้ายหางตะกวดสวยงามเช่นกัน
หน้า 160
มเปิ้น เป็นหัวซิ่นของชาวไทยกูย นิยมใช้พื้นแดง มีลายขิตสวยงามแปลกตา ประโยชน์ของหัวซิ่นนั้น ช่วยทำให้ผ้านุ่งทนทานและเวลานุ่งจะถลกออกมาพับเป็นรูปสามเหลี่ยมเป็นถุง สำหรับใส่ของมีค่าหรือเงินต่าง ๆ นอกจากนี้ มเปิ้นผืนใหญ่กว่าหัวซิ่น 2 เท่า จะทำเป็นผ้าคาดเอวของชาวไทยกูย เวลาจะออกไปคล้องช้าง ผ้าคาดเอวอันนี้ต้องซับในด้วยผ้าขาวใช้ห่อเครื่องรางของขลังให้ได้มากที่สุด แล้วมัดเป็นเปลาะห่างกันเป็นระยะสั้นบ้างยาวบ้าง แลดูสวยงามดี ตรงเปลาะที่มัดจะใช้เขาสัตว์ที่มีลักษณะวงกลม (ห่วง) หรือเถาวัลย์ห่วงกลมมามัดแลดูสวยงามมาก แสดงความอัจฉริยะของชนชาติพันธุ์กลุ่มนี้ เพราะเขามีความเชื่อว่าเขาวง หรือเถาวง เป็นสิ่งหายาก เป็นสัญญลักษณ์ชี้ว่าช้างที่เราหมายปองในป่านั้น จะต้องหวนกลับวนเวียนมาให้เราจับได้อีกไม่วันใดก็วันหนึ่ง
หน้า 161
ผ้าที่สตรีชาวไทยกูยทอนั้น นิยมทอผ้าไหมผืนใหญ่เป็นไหมควบ ให้ควานช้างนุ่งโจงกระเบนไปจับช้าง มักจะใช้สีทองหรือเขียวอมน้ำตาล ทอสไบลายผ้าขาวม้าคล้ายกลุ่มไทยเขมร 2 ผืน ผ้านุ่งสตรีมักจะนิยมใช้สีน้ำตาลอมดำ เป็นหมี่คั่นเรียกว่า จิกอันลูยน์ อาจมีเส้นไหมควบสลับแลดูเลื่อมสวยงามขับกับส่วนของมเปิ้น สีแดงลายขิตและมีตีนซิ่นเป็นผ้าฝ้ายพื้นสีดำ ขิตด้วยไหมสีขาวแดงเหลือง ที่เรียกว่า ยืงเก็บ
ผ้าสไบของชาวไทยกูย โดยเฉพาะสตรีนิยมใช้ผ้ายกดอกสีดำ เวลาแต่งงานจะนำผ้ายกดอกสีดำมาตัดเสื้อแขนกระบอก แล้วเย็บต้นแขนทำคล้ายจกสีแดงเป็นรูปตีนมดแดงหรือหางตะกวดดังที่กล่าวมาแล้ว
หน้า 162
กูยกับช้าง
ในประวัติศาสตร์นั้น เรามักจะได้ยินเสมอว่า ส่วย (กูย) หรือข่า เป็นชาตินักรบผู้สามารถ แต่ความสามารถของไทยกูย ที่ชนชาติอื่นไม่สามารถทำได้ก็คือ การจับช้างป่ามาเลี้ยงซึ่งเราเรียกว่า การคล้องช้าง เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์มีชาวไทยกูยมากที่สุดในประเทศ ดังนั้น อาชีพเลี้ยงช้างจึงมีมากในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ และเนื่องจากความสามารถพิเศษในการจับช้างนี้เอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้จัดให้มีประเพณีคล้องช้างขึ้นทุกปี ในราวกลางเดือนพฤศจิกายน ชนไทยกูยกลุ่มที่มิได้เลี้ยงช้างจะเชื่อว่า ตะกวดคือผีปู่ตา จะมีการเซ่นไหว้ศาลที่ตั้งใกล้ที่อยู่ของตะกวด ขณะที่ชนไทยกูยกลุ่มเลี้ยงช้างเชื่อว่า เชือกปะกำ คือผีปู่ตา หรือเรียกว่า ผีปะกำ ศาลปะกำของชนไทยกูยจะตั้งอยู่ทางด้านเหนือของบ้านเรือน การเซ่นผีปะกำจะมีหลายกรณีอันได้แก่ การจะคล้องช้าง การแต่งงาน การบวช การจะจากไปแดนไกลเพื่อแสวงโชค ฯลฯ
การคล้องช้างโดยไม่ต้องอาศัยเพนียด ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชนกลุ่มนี้สืบสานกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ความมีอารยธรรมสูงส่งยังคงเหลือร่องรอยไว้ ที่น่าสนใจกล่าวคือ ตำแหน่งของหมอช้าง ได้แก่ระดับจ่า เสดียง สดัม และคูบาใหญ่ มีการใช้ห่วงสัมริดเป็นสัญญลักษณ์สำหรับตำแหน่งชั้นสูง การใช้เขาสัตว์ เช่น ควายป่า มาเป่าเป็นเสียงเพลงประโคมในระหว่างเซ่นผีปะกำ และใช้เป่าเป็นสัญญาณว่าจะไปจับช้าง หรือได้ช้างกลับมาแล้ว เรียกว่า สไนแกล
การลาปะกำ เป็นพิธีกรรมอันหนึ่งที่สำคัญอันน่าจะสันนิษฐานว่า ชนไทยกูยอาศัยอยู่ในดินแดนเมืองสุรินทร์มานาน ครั้นออกไปจับช้างต้องข้ามภูเขาพนมดงรักไปอีกด้านหนึ่ง (คือประเทศกัมพูชา) การลาปะกำจะเกิดขึ้นหลังจากจับช้างได้แล้วออกนอกเขตป่าช้าง คือประเทศกัมพูชา โดยหมอช้างจะเป่าสไนแกลเป็นสัญญาณว่าอิสระแล้ว สำหรับข้อห้ามต่าง ๆ ที่ทุกคนยึดถือในช่วงเข้าป่าเขตช้างนั่นเอง
หน้า 165
คำว่า “ปะกำ” เป็นเชือกหนังที่ทำจากหนังควาย 3 เส้นมาบิดเป็นเกลียวคล้องขาช้าง โดยมีห่วงเหล็ก (หรือหวาย) อยู่ที่ปลายทั้งสองข้าง ใช้หัวหมูเป็นหลักในการเซ่นผีปะกำ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเหล้า นอกจากนั้นยังมีการเรียกขวัญช้างโดยนำช้างมายืนข้างบ้าน มีคนนั่นบนหัวช้าง 1 คน และท้ายช้างอีก 1 คน ต่างก็ถือบายศรีปากชามให้พราหมณ์ทำพิธีเรียกขวัญ โดยใช้ด้ายสายสิญจ์พันของเซ่นจากบนบ้านโยงไปสู่ตัวช้าง เพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัวช้าง
หน้า 166
การเลี้ยงช้างที่ยกย่องเสมือนสมาชิกหนึ่งของครอบครัว โดยกำหนดให้ผีปู่ตาที่เกี่ยวกับช้าง (ผีปะกำ) เป็นผีที่ใหญ่ที่สุด รองลงไปคือผีบ้านผีเรือน (ยุจุ๊,ยะจั๊ว) เหล่านี้เป็นพิธีกรรมที่ดั้งเดิม สมัยก่อนอาณาจักรเจนละจะรุ่งเรืองเสียอีก ศิลปะการเลี้ยงช้างซึ่งเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกของชาวไทยกูยแถบ จ.สุรินทร์ นี้ เป็นศิลปะชั้นสูงอันแสดงภูมิปัญญาซึ่งคนแถบนี้จะต้องมีอารยธรรมสูงส่งมาก่อน ชาวไทยกูยมีอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ ผ้าไหมเป็นศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทอขึ้นใช้เองในครอบครัวยามว่างจากการทำนา แม่จะสอนให้ลูกสาวทอผ้าไหมเมื่อย่างเข้าวัยสาว เนื่องจากออกเรือนพ่อแม่ก็จะแบ่งผ้านุ่งไหม ผ้าโสร่ง ผ้าสไบ เพื่อเป็นมรดกตกทอดอีกอย่างหนึ่ง รองจากมรดกประเภทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ
ผู้มีอารยธรรมเก่าแก่ในอดีดกับการขอฝน
ความต้องการฝนอันเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ นับเนื่องเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชัดเจน เพราะเป็นภูมิภาคที่มีลมมรสุมพัดผ่าน และนำฝนมาตกตามฤดูกาล น้ำที่มาจากฝนจึงมีความหมายอย่างมากในการปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของภูมิภาค ถ้าหากขาดน้ำ ฝนตกไม่ตามฤดูกาล ก็จะมีผลไปถึงการปลูกข้าวอย่างแน่นอน ดังนั้นเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล จึงต้องมีประเพณีพิธีกรรมเพื่อการของฝนตามความเชื่อถือของพวกเขา
พิธีขอฝน เป็นพิธีกรรมของคนในสังคมเกษตรกรรม แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยแท้ เป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่มีความหมายเชิงบูรณาการเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่นำผู้คนที่มีความหลากหลาตามท้องถิ่นต่าง ๆ มาพบปะสังสรรค์กัน เกิดจิตสำนึกในการเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งในจุดนี้การใช้สัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสัญญลักษณ์ที่เกี่ยวกับน้ำและฝนซึ่งเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ปรากฏมาแล้วแต่อดีตกาลของผู้มีอารยธรรมเก่าแก่กว่า 2,000 ปี
หน้า 167
ตะกวด (หรือ ตะก๊อด)
เป็นสัตว์ที่ชาวไทยกูย เชื่อถือว่าเป็นตัวแทนของผีปู่ตา ห้ามทำร้าย การกล่าวถึงตะกวดจะต้องกล่าวในลักษณะยกย่อง ที่บ้านตรึม ตำบลตรึม อำเภอศรีขรภูมิ จะมีต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีหลายต้นสำหรับเป็นโพรงให้ตะกวดอาศัยอยู่ ตะกวดจะเดินอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน ขึ้นบนบ้าน เล่นกับเด็ก ๆ มีข้อยืนยันว่า มีมากกว่า 24 หมู่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ที่นับถือตะกวดว่าเป็นเสมือนผีปู่ตา หากฝนฟ้าไม่อำนวยในบางปี หรือชาวบ้านทะเลาะเบาะแว้งกัน หรือข้าวราคาตกต่ำ ชาวบ้านจะเชื่อว่าเป็นเพราะตะกวด หรือปู่ตาไม่พอใจ ต้องทำพิธีบวงสรวงเสี่ยงทายและเซ่นไหว้ โดยเฉพาะเดือน 2 และเดือน 6 ทุกคนต้องทำบุญประจำปีให้ตะกวด โดยมีศาลปู่ตาตะกวดที่ป่าช้าเป็นหลัก รองลงมาคือที่ต้นมะขามขนาดใหญ่และที่วัด โดยเฉพาะที่วัดจะมีสุสานตะกวดสำหรับเก็บกระดูกตะกวดที่ตายแล้ว หลังจากทำพิธีศพเรียบร้อยแล้ว
ชาวไทยกูยในแถบบ้านตรึม บ้านแตล และบ้านอื่นอีกไม่ต่ำกว่า 24 หมู่บ้าน ถือว่าตะกวดเป็นสัญญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำและฝน อันเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับชาวไตในแผ่นดินใหญ่จีน ซึ่งเชื่อถือว่า กบเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ จึงใช้กบเป็นตัวเสี่ยงทาย การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเด็กรุ่นใหม่แถบบ้านตรึม บ้านแตล และอีกไม่น้อยกว่า 24 หมู่บ้าน มีความภูมิใจที่ตะกวดเป็นที่รวมความศรัทธาของชาวบ้าน ดังนั้น อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของตะกวด ชาวบ้านจะช่วยกันรักษาโดยมีกำนันเป็นผู้นำทางพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับตะกวด “แนกะเตาะ กะมอแลว แซนเปาะโจม” เป็นประโยคที่พ่อกำนันแห่งบ้านตรึมมักใช้ในการเซ่นผีปู่ตา
การแต่งงานก็ต้องบอกตะกวดด้วย การเซ่นเหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 คำ บุหรี่ 2 มวน ผ้า 1 ผืน กล่าวว่า “วันนี้แต่งงานขอให้ปู่ตา ช่วยกันดูแลอย่าให้มีอะไรรบกวน” ในงานบวชก็เช่นกัน ถ้าบวช 10 คน ก็เตรียมเครื่องเซ่นโดยเฉพาะเหล้าคนละขวด เป็น 10 ขวด เป็นการบอกกล่าวผีปู่ตา ณ ศาลใกล้โพรงตะกวด
หน้า 168
มีครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2535 จัดการเล่น แกลมอ-ออ ปรากฏว่าผีเข้าทรงแล้วไม่ยอมออก ครั้งเสี่ยงทายดูก็ได้คำตอบว่า การแต่งเครื่องเซ่นและลำดับการเซ่นไม่ถูกต้องตามพิธีโบราณ ต้องทำการเซ่นปู่ตาตะกวดใหม่จึงจะออกจากร่างทรง แม้แต่การสร้างบ้าน การจะออกจากหมู่บ้านไปรับราชการทหาร การสอบบรรจุราชการของลูกหลานในหมู่บ้านก็จะมาเซ่นบอกกล่าวปู่ตาที่ศาลข้างโพรงตะกวด ตะกวดแทนเจ้าที่ ดังนั้นศาลปู่ตาตั้งอยู่บริเวณที่ตะกวดอยู่ มีการจัดลำดับความเชื่อถือ เช่นบ้านตรึมนั้น ตะกวดบริเวณป่าช้าหนาทึบเป็นพัน ๆ ตัว เป็นปู่ตาอาวุโส ต้องทำพิธีเซ่นที่นั่นก่อน แล้วจึงแบ่งเครื่องเซ่นนำมาเซ่นที่ศาลยะจั๊วะตะกวดอีก 2 แห่ง คือต้นมะขามใหญ่และที่วัด
เต่า
เต่า เป็นสัญลักษณ์แทนน้ำและฝน จะเป็นสัตว์เฉพาะที่ชาวบ้านกำหนดเป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องเซ่นผีปู่ตา (ตะกวด) ซึ่งชาวบ้านจะต้องสรรหามาอย่างน้อย ในการเซ่นประจำปีจะต้องให้มีเต่า 1 ขีด 2 ตัว มาเป็นเครื่องเซ่น ร่วมกับไก่ต้ม หลวงพ่อทอง คือ ชื่อหนึ่งของผีปู่ตาที่แทนในตะกวดกลุ่มนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าใจใหญ่ ชอบเล่นการพนันโดยเฉพาะโบก ในการเซ่นผีปู่ตาหรือแซนยะจั๊วะเพรียม ก็มักจะเอ่ยชื่อเหล่านี้ด้วย
บ้านสำโรงทาบ และหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ไม่มีตะกวด ชาวไทยกูยจะมีศาลยะจั๊วะเพรียมประจำหมู่บ้านแล้วทำพิธีเซ่นในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เช่นกัน เพื่อเป็นการขอบคุณ “ ยะจั๊วะ ” ที่ช่วยให้ผลผลิตจากการทำนาอุดมสมบูรณ์ ช่วยดูแลขับไล่ศัตรูที่จะรังควานผลผลิต จนทำให้ลูกหลาน ( ชาวบ้าน ) มีข้าวขึ้นยุ้งเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี การเซ่นนี้เรียกว่าฤดูปี ในเดือน 8 เป็นการเซ่นเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ ขอความพอดีพอเหมาะของอำนาจในการดลบันดาลให้ฝนฟ้าเป็นไปตามปกติ ถูกต้องตามฤดูกาล อย่าให้ฝนแล้ง หรือเกิดอุทกภัย ซึ่งจะทำให้เสียหายแก่ข้าวปลาอาหาร การเซ่นนี้เรียกว่า “กะโยงเก็ล”
ผีปู่ตา : ยะจั๊วะ
ชาวไทยกูย เป็นชนพื้นเมืองเดิมอันมีเลือดผสมระหว่างเวดดิก ( Veddic ) และเมลานีเซียน ( Melanesian ) นับเนื่องอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับพวกข่า เดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณแถบเขาพนมดงรัก มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ เรียกว่ายะจั๊วะ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ
- 1. ยะจั๊วะเพรียม ( ผีปู่ตา )
- 2. ยะจี๊วะ ( ผีบรรพบุรุษในสายตระกูล )
ยะจั๊วะเพรียมหรือยะจั๊วะปืด
ชาวไทยกูยหมายถึง ผีอารักษ์ประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะปลูกศาลไว้ เช่น ที่บ้านตรึม ปลูกศาลไม้ไว้ข้างๆ โพรงตะกวด โดยให้เหตุผลว่าตะกวด ซึ่งแทนผีปู่ตาเหล่านี้ไม่ชอบศาลปูนซีเมนต์ ศาลดังกล่าวซึ่งอยู่มุมหนึ่งของหมู่บ้าน กรณีที่บ้านสำโรงทาบซึ่งไม่มีตะกวด แต่ก็มีศาลยะจั๊วะประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีการเซ่นสรวง เรียกว่า แซนยะจั๊วะ เพื่อขอบคุณ ที่ได้ให้ผลผลิตจากการทำนาทำไร่และให้ข้าวแก่ยุ้งฉาง
ณ บ้านตรึม บ้านแตล และอื่นๆ บางหมู่บ้านในเขตอำเภอศีขรภูมิ จะมีต้นไม้ใหญ่เป็นโพรงสำหรับตะกวดอาศัยอยู่ อย่างเช่น บ้านตรึม มีต้นมะขามใหญ่ มีศาลยะจั๊วะอยู่ใต้ต้นนี้ ชาวบ้านถือว่าตะกวดมีอิทธิพลมาก บาวทีก็ทำให้ฝนไม่ตก หากชาวบ้านประพฤติตนไม่ดีงาม หรือมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ตอนเช้าตะกวดจะออกจากโพรงเดินเพ่นพ่านหากินกบ เขียด คางคก ลูกไก่ หรือ ไข่ไก่ ตามหมู่บ้าน บางทีก็ขึ้นบนบ้าน ช่วงเที่ยงก็กลับมานอน ครั้นบ่ายก็ออกไปอีก ตกกลางคืนจะนอนนิ่งเงียบภายในโพรงไม้ ต้นไม้ที่มีตะกวดอาศัยอยู่จะมีนกกระสาฝูงใหญ่มาอยู่พึ่งพากัน และต้นไม้อื่นๆ ก็ปรากฏมีกระรอกกระแตมาอาศัยอยู่ในต้นไม้ภายในหมู่บ้าน ชาวบ้านรักสัตว์เหล่านี้ จะไม่แตะต้องสัตว์ที่เป็นเพื่อนของปู่ตา (ตะกวด) สรรพนามที่เรียกตะกวด คือ “เขา” หรือพ่อ “พ่อเฒ่า” แม้เวลาที่เห็นและจับได้ว่าตะกวดกินลูกไก่ ก็จะไม่ตี จะไล่ให้ไปที่อื่นและไม่กล่าวคำหยาบต่อตะกวดเหล่านั้น
การทำนายฝนฟ้า
ทั้งเดือน 3 เดือน 6 และเดือน 8 จะมีการเซ่นยะจั๊วะเพรียม โดยที่จุดหมายอยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากฝนฟ้าช่วยเสริมการเกษตร สำหรับชาวไทยกูยที่มิได้เลี้ยงช้างแต่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก
การประกอบพิธีจะกระทำในเวลาเช้ามืด ณ บริเวณยะจั๊วะตั้งอยู่ เครื่องเซ่นประกอบด้วยข้าว 1 จาน ไก่ต้ม 1 ตัว น้ำ 1 แก้ว เหล้า 1 ขวด หมาก-พลู 2 คำ บุหรี่ 2 มวน ข้าวเปลือก 1 ถ้วย และเงิน 12 บาท ในตอนเช้ามืดของวันที่จะประกอบพิธี ชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นดังกล่าวออกไปที่ยะจั๊วะเพรียม ซึ่งอยู่นอกหมู่บ้าน (มักใช้บริเวณสถานที่ตั้งหมู่บ้านนั้น ๆ ครั้งแรก) ผู้ทำพิธีเรียกว่า “เฒ่าจำ” หลังจากบนบานบอกกล่าวแล้ว ก็จะวางเครื่องเซ่นไว้ที่ศาล แล้วทำพิธีเสี่ยงทายโดยถอดกระดูกคางไก่ตัวที่เป็นเครื่องเซ่นออกมาดู เพื่อทำนายฝนฟ้าและน้ำท่าในปีนั้น ถ้าคางไก่เหยียดตรง ทำนายว่าปีนั้นฝนจะตกน้อย น้ำน้อยคือฝนแล้ง แห้งแล้งมาก เนื่องจากไก่แหงนคอดูฟ้า คอยดูว่าเมื่อใดฝนจะตก จึงทำให้กระดูกคางไก่ตั้งตรง ถ้าคางไก่โค้งลง ทำนายว่าฝนจะตกอุดมสมบูรณ์ เพราะไก่ก้มลงกินน้ำและหากินตามปกติ จึงทำให้กระดูกไก่โค้งงอลง เมื่อการทำนายเสร็จสิ้นชาวบ้านจะยึดถือเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปรับปรุงการทำนาเก็บสะสมพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ต่อไป ซึ่งพบว่าในอดีตหมู่บ้านเหล่านี้เคยใช้เต่าไปเซ่นแทนไก่ ในเดือน 3 เช่นเดียวกับแถบหมู่บ้านที่นับถือตะกวด เพราะเต่าคือสัญลักษณ์ของน้ำและฝนนั่นเอง
ยะจั๊วดุง เป็นผีบรรพบุรุษในสายตระกูลชาวไทยกูยแถวหมู่บ้านที่ไม่มีตะกวด เช่น สำโรงทาบ และบ้านอื่น ๆ ใน อ.สำโรงทาบ บ้านหนองสมบูรณ์ และบ้านอื่น ๆ ใน อ.กาบเชิงหรือสังขะ จะเน้นและให้ความสำคัญยะจั๊วะดุงมากกว่ายะจั๊วะเพรียม เพราะถือว่ายะจั๊วะดุงเป็นผู้คอยดูแลความเป็นไปในครอบครัว และเครือญาติในสายตระกูลให้อยู่อย่างปกติสุข ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทยกูยเหล่านี้บอกว่า “เกิดมาก็เห็นหมอนใบหนึ่งวางอยู่ตรงมุมหนึ่งของห้องที่เป็นบ้านยะจั๊วะ (โคตรใหญ่) แล้วเมื่อพ่อแม่ปฏิบัติอย่างไรรุ่นลูกรุ่นหลานก็ปฏิบัติอย่างนั้นเป็นธรรมเนียมมาจนปัจจุบัน “แต่ที่หมู่บ้าน ตรึม แตล หัวแรด อ.ศรีขรภูมิ ที่มีตะกวดแทนผีปู่ตานั้น ให้ความสำคัญแก่ยะจั๊วะดุงค่อนข้างน้อย
ชาวไทยกูยจะผูกพันกับยะจั๊วะ ไม่ว่าการเกิด การตาย การแต่งงาน การบวช หรือแม้แต่การทะเลาะเบาะแว้งกันในวงศ์เครือญาติ หรือการประพฤติผิดศีลของคนในตระกูล จะมีการเสี่ยงทายหาสาเหตุ หากพบว่าเป็นการกระทำของยะจั๊วะ ทุกคนก็จะยอมรับว่ามีผู้กระทำผิดจารีตบ้านยะจั๊วะ ยะจั๊วะจะหายโกรธและยอมให้อภัย
โดยเฉพาะการแต่งงาน เมื่อสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้าน จำต้องทำพิธีเซาะดุง (ขึ้นบ้าน) ที่บ้านยะจั๊วะก่อน จึงจะถือว่าเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวโดยสมบูรณ์ หากยังไม่ได้ทำพิธีเซาะดุง สะใภ้คนนั้นก็ไม่มีสิทธิ์จะขึ้นบ้านยะจั๊วะ แต่ถ้าหากปีใดมีการแต่งสะใภ้เข้ามาในสายตระกูลเกิน 2 คน ก็จะทำพิธีเซาะดุงได้ เพียงสะใภ้คนเดียว ส่วนคนต่อไปก็จะมาทำพิธีในปีถัดไป เพราะหากทำในปีเดียวกัน จะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เป็นสะใภ้มีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง
การใช้สัตว์หรือชื่อสัตว์เป็นสัญลักษณ์แทนผีปู่ตา
แม้ชาวไทยกูยในจังหวัดสุรินทร์จะไม่รู้ว่ายะจั๊วะอยู่ที่ใด มีตัวตนหรือไม่ แต่เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นในครอบครัวเครือญาติในสายตระกูล ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะดีหรือร้ายประการใด ทุกคนก็ให้ความสำคัญ และเคารพยำเกรงยะจั๊วะเสมอ โดยผ่านทางญาติผู้ใหญ่ที่เรียกว่าโคตรปืด หรือสมมุติสัตว์หรือชื่อสัตว์ เช่น ตะกวดที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้ หรือป่าทึบ เต่าที่อาศัยในน้ำหรือด้านถักใยแมงมุมที่แขวนอยู่รอบศาลที่ประทับของยะจั๊วะดุง หรือผีบรรพบุรุษในบ้านของโคตรใหญ่ในสายตระกูล ก็เพื่อเป็นการสื่อระหว่างบุคคลในสายตระกูลกับผีบรรพบุรุษ หรือบุคคลในหมู่บ้านกับผีบรรพบุรุษ เพราะจะพบว่า การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ (ยะจั๊วะ) หรือผีปู่ตา โดยโคตรใหญ่ในสายตระกูลหรือเต่าประจำหมู่บ้าน สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า มนุษย์สามารถติดต่อกับผีบรรพบุรุษตลอดจนสิ่งเหนือธรรมชาติที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ และสถานที่หวงห้ามซึ่งให้คุณและให้โทษแก่คนในชุมชน
กูยช้าง-กูยตะกวด เป็นแบบอย่าง ที่น่าศึกษาด้านการรักษาระบบนิเวศวิทยาและการปลูกฝังความเชื่อ-ค่านิยมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่น่าทึ่งและเหมาะสมในสภาวการณ์โลกในปัจจุบัน
มะม๊วด มอ – ออ เป็นพิธีกรรมสำคัญของคนไทยเขมร และไทยกูยในจังหวัดสุรินทร์ แทบทุกตำบล จะมีแม่ครูมะม๊วดหรือแม่มอ – ออ อันเป็นตัวเอกในพิธีกรรมแกลมอ – ออ ตามกาละและเทศะ 2 – 3 แบบ กล่าวคือ แบบที่หนึ่ง เป็นการเข้าทรงเพื่อรักษาผู้ป่วยเรียกขวัญผู้ป่วย ถือเป็นการรักษาทางจิตที่ใช้เสียงเพลงกล่อมบรรเลง แบบที่สองเข้าทรงเพื่อการเสี่ยงทาย อย่างน้อยเป็นการปลอบขวัญ ให้ความทุกข์คลี่คลายลง แบบที่สามเข้าทรงเพื่อการบูชาครูกำเนิดเพื่อให้เกิดความสนุกสนานอันอาจจัดไว้เป็นการละเล่นประเภทหนึงที่มักเล่นในช่วงเดือน 2-3 มักเล่นเป็นหมู่ สำหรับมะม๊วดหาดูได้ทั่วไปแทบทุกอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอที่มีชาวไทยเขมรอาศัยอยู่ เช่น อ.เมือง อ.ท่าตูม อ.จอมพระ อ.สังขะ และที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง ส่วนแกลมอ – ออ หาดูได้ที่บ้านแตล อ.ศรีขรภูมิ บ้านสำโรงทาบ อ.สำโรงทาบ บ้านหนองสมบูรณ์ อ.กาบเชิง บ้านตระมูง อ.ท่าตูม เป็นต้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------