ตามธรรมเนียมจีนโบราณ สาแหรกแต่ละแซ่สกุลวงศ์ ต่างก็มีการจัดลำดับรุ่นของลูกหลานที่จะสืบทอดต่อไปในอนาคต โดยได้เอาตัวอักษรเรียงร้อยเป็นคำกลอนมงคล ไว้สำหรับตั้งชื่อลูกหลาน เพื่อให้รู้ว่าเป็นรุ่นไหน ใครอาวุโสกว่าใคร ในการนับญาติและการเรียกขานเพื่อแสดงความเคารพ สำหรับคณะสงฆ์มหายานฝ่ายจีนก็ได้มีการจัดเรียงฉายารุ่น โดยมีลำดับสืบมาโดยไม่ขาดสาย หากเรียงตามบูรพาจารย์ที่สืบสายมา จัดอยู่ในนิกายฌาน ( เซ็น ) สาขา 臨濟宗 หรือหลินจี้ ญี่ปุ่นเรียก "รินชาย"
โดยธรรมเนียมปฏิบัติในประเทศจีน บูรพาจารย์มักจัดลำดับศิษย์ในแต่ละสาย โดยประพันธ์คำกลอนไว้ให้ศิษย์รุ่นหลัง จะได้ใช้อักษรในคำกลอน เป็นชื่อลำดับรุ่น 輩分 สืบต่อมาโดยลำดับ
คณะสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทย นับแต่พระอาจารย์สกเห็ง ใช้ลำดับอาจาริยวงศ์ในนิกายฌาน หรือเซ็น ในสาขาหลินจี้ โดยมีบรูพาจารย์ในอารามโพวจี้ ภูเขาโพวท้อ ,ภูเขาง่อไบ๊ ,ภูเขาโหงวไท้ ร่วมประพันธ์เป็นตัวอักษรจีน ๓๒ ตัว ดังนี้
1.心(ซิม) 2.源(ง้วง) 3.廣(ก้วง) 4.續(สก) 5.本(ปึง) 6.覺(กัก) 7.昌(เชียง) 8.隆(ล้ง)
9.能(เล่ง) 10.仁(ยิ้ง) 11.聖(เสี่ย) 12.果(ก้วย) 13.常(เซี่ยง) 14. 演(อิ้ง) 15.寬(ควน) 16. 宏(ฮ้ง)
17.惟(ยุ่ย) 18.傳(ท้วง) 19.法(หวบ) 20.印(อิ่ง) 21.正(เจ่ง)22.悟(หงอ) 23.會(หวย) 24.融(ย้ง)
25.堅(เกียง) 26.持(ชี้ ) 27.戒(ไก่) 28.定(เตี่ย) 29.永(ย่ง) 30.繼(กี้) 31.祖(โจ้ว) 32.宗(จง)
ดังนั้นพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ฯโพธิ์แจ้งมหาเถระ อดีตเจ้าคณะใหญ่ สงฆ์จีนนิกาย รูปที่ 6 ท่านจะอยู่ในลำดับ “เล่ง” ฉายา “เล่งที้” ปัจจุบันพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เย็นเต็กมหาเถระ อยู่ในลำดับ “ยิ้ง” ,การขึ้นต้นด้วยคำว่า 仁(ยิ้ง) คือเป็นฉายารุ่น 仁(ยิ้ง)ภาษาไทยใช้ว่า “เย็น” ส่วนฉายานามของท่านคือ “เต็ก” ( 德 ) และในปัจจุบันสืบทอดถึงลำดับ 聖(เสี่ย) ต่อไปหากรุ่นเสี่ย สามารถเจริญทางธรรมจนเป็นพระอุปัฌาจารย์ได้ แล้วมีลูกศิษย์ลูกหาขออุปสมบทจากรุ่น聖(เสี่ย) ลูกศิษย์รุ่นต่อไปก็จะมีฉายานาม ว่า 果(ก้วย) ต่อไป
Cr.คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย