ติดต่อสอบถาม กรุณาแอด Line @astroneemo

  • Slider 1
  • Slider 2
  • Slider 3
  • Slider 4
  • Slider 5
  • Slider 6
  • Slider 7
  • Slider 8

Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

ขั้นตอนการบรรพชา (บวชสามเณร)

เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ์แล้ว  นาควันทาพระประธานอีกครั้งด้วยวิธีอย่างเดียวกันกับวันทาสีมา จากนั้นกลับไปนั่ง ณ สถานที่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับนาค บิดา มารดา (หรือญาติผู้ใหญ่)มอบผ้าไตรให้นาค นาคคุกเข่ากราบ ๓ หน ยื่นแขนประณมมือรับผ้าไตร จากนั้นประณมมือประคองผ้าไตรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์เมื่อถึงแนวพระสงฆ์ให้คุก เข่าลงแล้วคลานเข่าเข้าไปถวายผ้าไตรนั้นแก่ท่าน รับดอกไม้ ธูปเทียนแพเครื่องสักการะ (มีผู้ส่งให้ข้างหลัง) ถวายพระอุปัชฌาย์ กราบลง ๓ หน พระอุปัชฌาย์มอบผ้าไตรคืนให้ ประณมมือประคองผ้าไตร ยืนขึ้นว่า

อุกาสะ  วันทามิ  ภันเต //  สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต  // มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา อนุโมทิตัพพัง  //  สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง  //  สาธุ  /  สาธุ  /  อนุโมทามิฯ

อุกาสะ  การุญญัง   กัตะวา /  ปัพพัชชัง  เทถะ  เม  ภันเตฯ


 

คำแปล

ขอโอกาสขอรับ  กระผมขอกราบไหว้   ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย   ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ  และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย   สาธุ  สาธุ   กระผมขออนุโมทนาฯ

กระผมขอโอกาส   เมื่อท่านมีความกรุณาแล้ว จงบวชให้ผมด้วยขอรับฯ

นั่งคุกเข่า ประณมมือว่า

อะหัง  ภันเต  ปัพพัชชัง  ยาจามิ //  ทุติยัมปิ  อะหัง  ภันเต  ปัพพัชชัง  ยาจามิ  //  ตะติยัมปิ  อะหัง  ภันเต  ปัพพัชชัง  ยาจามิ

คำแปล

ท่านขอรับ  กระผมขอบรรพชา   ท่านขอรับ   แม้ครั้งที่สอง กระผมขอบรรพชา  แม้ครั้งที่สาม   กระผมขอบรรพชา

(ว่าต่อ) สัพพะทุกขะนิสสะระณะ  /  นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ  // อิมัง  กาสาวัง  คะเหตะวา  //  ปัพพาเชถะ   มัง  ภันเต  //  อนุกัมปัง  อุปาทายะ (ว่า ๓ รอบ) ครบ ๓ รอบแล้วแล้วส่งผ้าไตรให้พระอุปัชฌาย์

คำแปล

ท่านขอรับ  ขอท่านจงอนุเคราะห์รับผ้ากาสาวพัสตร์นี้  บวชให้กระผมด้วยเถิด เพื่อให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง  กระทำพระนิพพานให้แจ้ง

(ว่าต่อ) สัพพะทุกขะนิสสะระณะ  /  นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ  // เอตัง  กาสาวัง  ทัตะวา //  ปัพพาเชถะมัง  ภันเต  //  อนุกัมปัง อุปาทายะ (ว่า ๓ รอบ)

คำแปล

ท่านขอรับ  ขอท่านจงอนุเคราะห์คืนผ้ากาสาวพัสตร์นี้  บวชให้กระผมด้วยเถิด เพื่อให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง  กระทำพระนิพพานให้แจ้ง

 

จากนั้น นาคโน้มตัวเข้าไปใกล้ๆ พระอุปัชฌาย์คล้องผ้าอังสะให้ จากนั้นนั่งพับเพียบลงประณมมือ ตั้งใจฟังโอวาทของพระอุปัชฌาย์ ในที่นี้จะขอนำคำกล่าวสอนนาคตามนัยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  วัดสระเกศ  กรุงเทพมหานคร มาเป็นตัวอย่าง  ดังนี้

"ขอให้ตั้งใจให้ดี ต่อไปนี้จะได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา  การบวชเป็นบุญ  เป็นกุศล  เป็นความดี  เมื่อเกิดเป็นบุญ  เป็นกุศล  เป็นความดีแล้ว  นอกจากจะได้ส่วนตัว  ยังจะเป็นบุญ  เป็นกุศล  ไปถึงมารดาบิดาผู้มีพระคุณเป็นต้นอีกด้วย  เมื่อบุญกุศลไปถึงแก่ท่าน ก็ชื่อว่าเป็นการตอบแทนพระคุณของท่าน  โบราณจึงกล่าวว่า  การบวชเป็นการตอบแทนพระคุณของมารดาบิดา  และเมื่อบวชไปแล้วปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ก็ชื่อว่าเป็นการทำชีวิตของผู้บวชนั่นเองให้ดีตามไปด้วย จึงขอให้ตั้งใจให้ดีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

การบวชนั้นต้องทำตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ในเบื้องต้นท่านได้นำผ้ากาสาวพัสเข้ามา กล่าวคำขอบรรพชาว่า อหัง  ภันเต  ปัพพชัง  ยาจามิ"  แปลว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  กระผมขอบรรพชา  หมายถึงการบรรพชาเป็นสามเณร  ก่อนที่จะอุปสมบทบวชเป็นพระ

การบวชเป็นสามเณรจะสำเร็จได้ต้องอาศัยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ มีความเข้าใจในพระรัตนตรัยและมีความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า   เมื่อมีคุณสมบัติ   ๒   ประการนี้แล้ว เปล่งวาจารับไตรสรณคมน์  จบวาระที่  ๓  ก็สำเร็จเป็นสามเณร

เป็นเณรก็ดี เป็นพระก็ดี   จะต้องรักษาข้อปฏิบัติซึ่งมีอยู่มาก  จะรักษาได้ก็ต้องอาศัยใจ   ใจต้องดีใจจะดีได้ต้องอาศัยการฝึกหัด  เพราะฉะนั้น  ผู้บวชใหม่จึงนิยมให้เรียนพระกัมมัฏฐาน มีบทภาวนา ๕ ประการ ขอให้ว่าตามดังต่อไปนี้"

เกสา // โลมา // นะขา // ทันตา //  ตะโจ //  เกสา แปลว่า ผมทั้งหลาย  โลมา แปลว่า ขนทั้งหลาย  นะขา แปลว่า เล็บทั้งหลาย ทันตา แปลว่า ฝันทั้งหลาย  ตะโจ แปลว่า หนัง  เพ่งคือนึกในใจ เพื่อป้องกันความฟุ้งซ่านรำคาญต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  นี้ว่าตามลำดับ หรือจะว่าทวนลำดับก็ได้ว่า ดังนี้  ตะโจ // ทันตา // นะขา // โลมา // เกสา // แต่เวลาปฏิบัตจริงๆ ว่ากันไปพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๒ อย่าง ดังนี้ เกสา //  โลมา  //  นะขา  //  ทันตา  //  ตะโจ  // ตะโจ  //  ทันตา  //  นะขา  //  โลมา  //  เกสา  //

เมื่อสอนกัมมัฎฐานจบแล้วพระอุปัชฌาย์มอบผ้าไตรคืนให้ นาคประณมมือคลานเข่าถอยหลังออกไป พอพ้นแนวพระสงฆ์แล้วยืนขึ้น หันหลังกลับแล้วเดินตามพระพี่เลี้ยงที่คอยช่วยเหลือออกไปครองผ้าในที่ๆ สมควร พระพี่เลี้ยงครองจีวรให้

จากนั้นกลับเข้าไปหาพระคู่สวด รับธูปเทียนแพเครื่องสักการะจากบิดามารดาถวายพระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) กราบ ๓ หน ประณมมือยืนขึ้นเปล่งวาจาว่า

อุกาสะ  วันทามิ  ภันเต //  สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต  //  มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา  อนุโมทิตัพพัง  //  สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง  //  สาธุ  /  สาธุ  /  อนุโมทามิ ฯ

อุกาสะ  การุญญัง  กัตะวา /  ติสะระเณนะ  สะหะ  สีลานิ   เทถะ  เม  ภันเต ฯ

คำแปล

ขอโอกาสขอรับ  กระผมขอกราบไหว้   ท่านขอรับ  ขอท่าน  จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย   ขอท่านพึงอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ  และขอท่านพึงให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย   สาธุ  สาธุ   กระผมขออนุโมทนาฯ

ท่านผู้เจริญ  ขอโอกาส   ขอท่านจงมีความกรุณาให้ศีลพร้อมทั้งสรณะ   แก่กระผมด้วยขอรับฯ

 

 

นั่งคุกเข่า ประณมมือขอสรณะและศีลว่า

อะหัง  ภันเต  สะระณะสีลัง  ยาจามิ //  ทุติยัมปิ  อะหัง  ภันเต  สะระณะสีลัง  ยาจามิ  //  ตะติยัมปิ  อะหัง  ภันเต  สะระณะสีลัง  ยาจามิฯ

คำแปล

ท่านขอรับ  กระผมขอสรณะและศีล   ท่านขอรับ แม้ครั้งที่สอง ฯลฯฯ   แม้ครั้งที่สาม  กระผมขอสรณะและศีลฯ

ต่อจากนั้นให้ตั้งใจว่าตาม โดยพระกรรมวาจาอาจารย์กล่าวนำ นะโม ๓ จบ ดังนี้

นะโม  ตัสสะ //  ภะคะวะโต //  อะระหะโต //  สัมมา //  สัมพุทธัสสะ ( นาคว่าตาม จบ)

คำแปล

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น    ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส  ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

พระอาจารย์กล่าวว่า "ยะมะหัง วะทามิ ตัง วะเทหิ"    คำแปล ขอท่านจงว่าตามที่เราพูด

นาคตอบรับว่า   อุกาสะ  อามะ  ภันเต //       คำแปล ขอโอกาส  ขอรับกระผม

จากนั้น  พระกรรมวาจาจารย์เริ่มให้สรณคมน์   การให้สรณคมน์มี ๒ แบบ  นาคว่าตามทีละวรรคไปจนจบทั้ง ๒ แบบ  ดังนี้

 

แบบที่ ๑ เสียงแบบสันสกฤต

(บางวัดไม่ใช้แบบสันสกฤต)

พุทธัม // สะระณัม// คัจฉามิ // ธัมมัม//  สะระณัม // คัจฉามิ

// สังฆัม//  สะระณัม // คัจฉามิ// ทุติยัมปิ// พุทธัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ทุติยัมปิ// ธัมมัม// สะระณัม// คัจฉามิ // ทุติยัมปิ// สังฆัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ// พุทธัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ// ธัมมัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ//  สังฆัม// สะระณัม// คัจฉามิ

แบบที่ ๒ เสียงแบบบาลี

(แบบที่ใช้ทั่วในปัจจุบัน)

พุทธัง สะระณัง  คัจฉามิ// ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ// สังฆังสะระณัง  คัจฉามิ  ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ// ทุติยัมปิ  ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ//  ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ//  ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ//  ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ//  ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง  คัจฉามิ

คำแปล

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ     ข้าพเจ้าถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ  ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ   แม้ครั้งที่สองฯลฯ  แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ   แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่สาม  ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะฯ

พระอาจารย์กล่าวว่า " ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง"   คำแปล การถึงสรณะ ๓ จบลงแล้ว

นาคตอบรับว่า อามะ  ภันเต //   คำแปล ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ครับผม

พอถึงขั้นตอนนี้ให้ทราบว่า เป็นสามเณรเรียบร้อยแล้วสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว   เนื่องจากความเป็นสามเณรสำเร็จได้ด้วยการเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด   พอพระกรรมวาจาจารย์นำเปล่งวาจาประกาศตนว่าจะอาศัยพระรัตนตรัยเป็นที่พึงจบลง ด้วยคำว่า " ติสะระณะคะมะนัง  นิฏฐิตัง" แปลว่า ไตรสรณคมน์จบลงแล้ว  เราก็กล่าวว่า "อามะ  ภันเต"   เป็นคำรับว่า  ครับผม นั่นเอง

ความเข้าใจเรื่อง ไตรสรณคมน์

พระพุทธศาสนามีที่พึ่งอันสูงสุดเรียกว่า ไตรสรณะ  แปลว่า  ที่พึ่ง  ๓ ประการ หมายเอาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ  พระธรรม พระสงฆ์ ไตรสรณะเป็นที่พึ่งอันสูงสุดเพราะที่พึ่งอื่นไม่สามารถช่วยดับความกระวน กระวายเร่าร้อนด้วยอำนาจกิลเลสได้  แต่ไตรสรณะสามารถดับความกระวนกระวายเร่าร้อน ทำให้พ้นทุกข์ทั้งมวลได้

ความเป็นสามเณรสำเร็จได้ด้วยการเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะจบวาระ ที่ ๓ ก็สำเร็จเป็นสามเณรได้   การให้ไตรสรณะสมัยก่อนนั้นท่านให้ ๒ แบบ  คือ  ทั้งแบบสันษกฤต  และแบบบาลี   เนื่องจากผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรได้ต้องสามารถเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยได้ อย่างถูกต้อง  จึงจะสำเร็จเป็นสามเณรได้อย่างสมบูรณ์    หากไม่สามารถเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยได้  ก็เป็นสามเณรไม่ได้ ผู้ที่จะสามารถเปล่งภาษาได้ถูกต้องและเข้าใจความหมายก็ต้องโตพอที่จะรู้ภาษา แล้ว

การกำหนดอายุของผู้บวชสามเณรจึงกำหนดเอาเด็กสามารถพูดและเข้าใจความหมายของ คำพูดได้ ท่านกล่าวว่าสามารถไล่กาและไก่ได้  คือ ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรต้องรู้และเข้าใจภาษาจนสามารถแยกแยะออกว่าอะไรเป็นกา อะไรเป็นไก่

 

เนื่องจากสมัยก่อนคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แบบ  คือทั้งแบบมหายาน และเถรวาท มหายานใช้ภาษาสันษกฤตบันทึกและเผยแผ่คำสอน  ส่วนเถรวาทใช้ภาษาบาลีบันทึกคำสอน ทั้งสันษกฤตและบาลีมีวิธีออกเสียงที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันการเปล่งวาจาเพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยคลาดเคลื่อน  อันจะเป็นเหตุให้การบวชสามเณรไม่สมบูรณ์ บุรพาจารย์จึงให้สวดไตรสรณคมน์ทั้งสองแบบ  คือ ทั้งแบบสันษกฤษและแบบบาลีควบคู่กันไป

ในกรณีการเปล่งเสียงไม่ถูกตามหลักภาษาเพราะสำเนียงของชนชาติตน  ไม่ได้หมายความว่าผู้บวชจะไม่เป็นพระเป็นเณร

ความเป็นจริงแล้ว  แม้จะเปล่งวาจาไม่ตรงตามหลักภาษา การบวชก็เป็นอันสมบูรณ์เพราะเจตนาต้องการกล่าวอย่างนั้น และหมู่สงฆ์ก็เข้าใจความมุ่งหมาย แต่สำเนียงผิดเพี้ยนไปบ้างตามสำเนียงของชนชาตินั้นๆ     การที่สำเนียงผิดเพี้ยนไปไม่ได้หมายความว่าผู้บวชจะไม่ได้เป็นพระเป็นสามเณร

เนื่องจากสำเนียงของชนชาติใดก็เป็นที่เข้าใจของชนชาตินั้น  การเปล่งคำขอบวชก็เปล่งตามสำเนียงชนชาติของตน ๆ

ถ้าความคิดที่ว่าผู้ขอบวชเปล่งสำเนียงไตรสรณคมน์หรือคำขานนาคไม่ถูกต้องตาม หลักภาษา จะทำให้ผู้บวชไม่เป็นพระเป็นสามเณร ชาวฝรั่ง เขมร พม่า ลาว หรือแม้กระทั่งไทยเองบวชพระก็ไม่เป็นพระ เพราะทุกชนชาติที่กล่าวมานี้อ่านภาษาบาลีผิดเพี้ยนไม่เหมือนกัน ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ เสียงภาษาบาลีเป็นอย่างไร ต่างก็ออกสำเนียงตามภาษาของชนชาติตน ถึงอย่างนั้น ก็เป็นที่เข้าใจความหมายของคำนั้นๆ ได้

ในปัจจุบันได้ตัดการให้สรณคมน์แบบสันษกฤตออก  เพราะเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  นอกจากนั้น การให้สรณคมน์ทั้ง ๒ แบบยาวเกินความจำเป็น   จึงยังคงไว้แต่การให้สรณคมน์แบบบาลีอย่างเดียว    เราจะพบเห็นในการบำเพ็ญบุญในโอกาสต่างๆ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม  ยังมีวัดบางแห่งที่ยังคงใช้วิธีบรรพชาอุปสมบทแบบโบราณอยู่ตราบปัจจุบัน การให้ไตรสรณคมน์ก็ยังให้ทั้งแบบสันษกฤตและบาลี   มิใช่เพราะกลัวว่าผู้บวชจะไม่เป็นพระเป็นสาเณร แต่เพื่อเป็นการรักษาตันติประเพณีแบบแผนการอุปสมบทแบบเดิมเอาไว้

เนื่องจากหากต่างคนต่างคิดที่จะตัดออกตามมติของตน  ในอนาคตอาจไม่หลงเหลือร่องรอยการอุปสมบทแบบดั้งเดิมให้เห็นเลย

สามเณรสมาทานศีล  ๑๐  ข้อ

ต่อจากการให้ไตรสรณคมน์แล้ว พระกรรมวาจาจารย์กล่าวนำให้สามเณรสมาทานสิกขาบท  คือ ข้อปฏิบัติสำหรับสามเณร ๑๐ ประการ ว่าตามทีละข้อ  ดังนี้

ข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ข้อที่ ๒ อะทินนาทานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการลักทรัพย์

ข้อที่ ๓ อะพรัหมะจะริยา เวระมณี  สิกขาปะทังสะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์

ข้อที่ ๔  มุสาวาทา เวระมณี  สิกขาปะทัง สะมาทิยามฯ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการ

พูดเท็จ

ข้อที่ ๕  สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา เวระมณี  สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย

ข้อที่ ๖ วิกาละโภชะนา เวระมณี  สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้วจนถึงรุ่งอรุณขึ้นมาใหม่

ข้อที่ ๗ นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมณี  สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการร้องรำขับร้องประโคมดนตรีและดูและละเล่น

ข้อที่ ๘ มาลาคันธะวิเลปะนะทาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฎฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการลูบไล้ทาด้วยของหอม  ประดับประดาเครื่องแต่งกาย

ข้อที่ ๙ อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่

ข้อที่ ๑๐ ชาตะรูปะระชะตะปะฎิคคะหะณา  เวระมณี // สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการรับเงินและทอง

พระอาจารย์นำสามเณรกล่าวคำยืนยันความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามสิกขาบทตามที่สมาทานว่า

"อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ"

สามเณรกล่าวคำยืนยันที่จะปฏิบัติตาม ดังนี้

อิมานิ   ทะสะ   สิกขาปะทานิ   สะมาทิยามิ //

อิมานิ   ทะสะ   สิกขาปะทานิ   สะมาทิยามิ //

อิมานิ   ทะสะ   สิกขาปะทานิ   สะมาทิยามิ //

 

คำแปล

ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ๑๐ ประการนี้ฯลฯ

เมื่อกล่าวคำยืนยันความตั้งใจ   เป็นการปฏิญาณที่จะรักษาศีล ๑๐ ประการอันจะทรงภาวะความเป็นสามเณรไว้จบ ๓ วาระแล้ว กราบ ๑ หนยืนขึ้นว่า

วันทามิ  ภันเต // สัพพัง  อะปะราธัง ขะมะถะ  เม  ภันเต  //  มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา อนุโมทิตัพพัง//สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง //สาธุ/สาธุ / อนุโมทามิ ฯ

คำแปล

กระผมขอกราบไหว้   ท่านขอรับ  ขอท่าน  จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย   ขอท่านพึงอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ  และขอท่านพึงให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย   สาธุ  สาธุ   กระผมขออนุโมทนาฯ

สามเณรนั่งคุกเข่า กราบ ๓ หน จบพิธีการบวชเป็นสามเณรแต่เพียงเท่านี้   สำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ก็เริ่มขั้นตอนการอุปสมบทต่อไป

จบพิธีบวชสามเณร

 



ที่มาจากหนังสือ ลูกผู้ชายต้องบวช ผู้แต่งญาณวชิระ