เกี่ยวกับวันกินเจ ๖ วัน ผู้คนในปัจจุบันส่วนมากมักจะยังไม่เข้าใจหรือรู้จักกันดีนัก แต่คนเฒ่าคนแก่หรือคนในสมัยก่อนได้ประพฤติปฏิบัติตามกันมาอย่างเคร่งครัดและอย่างต่อเนื่องยาวนานนับพันปี โดยมีการถืออุโบสถศีล(ศีล๘) ในวันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ค่ำ แรม ๑๔ ค่ำและแรม ๑๕ ค่ำ ตามปฏิทินจันทรคติจีน โดยการถือตลอด ๑คืน ๑ วัน เพื่อให้ท้าจตุโลกบาลและเทพยดาทั้งหลายร่วมยินดีอนุโมทนาและช่วยปกป้องคุ้มครองไม่ให้ถูกเบียนเบียนจากภูติผีปิศาจร้าย และเอื้อประโยชน์ตนในการบำเพ็ญมรรคผล
ในคัมภีรมหาปรัชญาปารามิตาสูตร 《大智度論》อธิบายเอาไว้ว่า ในช่วงทุกๆวันกินเจ ๖วันในแต่ละเดือน พวกเหล่าภูติผีปิศาจร้ายทั้งหลายต่างจ้องคอยโอกาสที่จะเบียนเบียนทำร้ายผู้คนอยู่เสมอๆ บางพวกก็หมายจ้องจะเอาชีวิต หรือบางพวกก็จะให้เจ็บป่วยจากโรคร้าย หรือบางทีก็ให้ต้องเผชิญกับโชคร้ายและความเดือดร้อนต่างๆ ทำให้ผู้คนทั้งหลายอยู่ไม่เป็นสุข
ดังนั้นเมื่อในอดีตกาลแสนนานมาแล้ว ก็ได้มีผู้รู้ได้มีจิตเมตตามาสั่งสอนวิธีการให้กับผู้คน เพื่อหลีกเลี่ยงผลร้ายในวันทั้ง ๖ โดยการถือพรตอดอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว เรียกว่า”อุโบสถ” 「齋」 และให้ทำความดีละเว้นความชั่วในวันทั้ง ๖ นี้ ซึ่งในสมัยนั้นมีเพียงแต่การถือพรตอดอาหารหลังเที่ยงเท่านั้นก็เรียกเป็น”อุโบสถ”
แต่พอมาถึงในสมัยที่พระพุทธได้อุบัติขึ้นมาในโลก พระพุทธองค์ก็ทรงสั่งสอนให้สาวกถือ ศีล และ อุโบสถ เพิ่มเติม โดยการสมาทานศีล ๘ ซึ่งเป็นการถือตามวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต เพื่อสั่งสมกุศลมาทานและเพื่อหลุดพ้นจากภัยในสังสารวัฏในอนาคตกาลข้างหน้า
อ้างอิงจาก อุบาสกศีลสูตร 《優婆塞戒經》ได้กล่าวไว้ว่า “หากผู้ใดได้ทำการบริจาคทานด้วยทรัพย์และรัตนะทั้ง ๗ ที่มีอยู่ทั้งชมพูทวีป กุศลนั้นย่อมไม่อาจเทียบได้กับการสมาทานศีลอุโบสถตลอด ๑ คืน และ ๑ วัน และกุศลแห่งการสมาทานอุโบสถศีลนั้น ย่อมขจัดอกุศลกรรมทั้งหลาย และย่อมได้รับผลบุญอันไม่มีประมาณตลอดจนกระทั่งได้เข้าสู่ดินแดนอันเกษม ได้เสวยวิมุติสุข หลุนพ้นจากวัฏสงสาร
มหาปริวาณสูตร 《涅槃經》ได้กล่าวว่ากาลครั้งหนึ่งในแคว้นกาสี มีชายผู้หนึ่งชื่อว่า “กวงเอ๋อ” เป็นคนรับจ้างฆ่าแพะเป็นอาชีพ โดยได้ทำการฆ่าแพะทุกๆวันอย่างนับไม่ถ้วนตลอดชีวิต มีวันหนึ่งได้บังเอิญพบกับพระสารีบุตรเถระขณะออกบิณฑบาตรก็รู้สึกเกิดศรัทธา ก็ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงแสดงธรรมโปรดและให้สมาทานศีล ๘ ตลอด ๑ วัน ๑ คืน และจากนั้นไม่นาน กวงเอ๋อ ก็ถึงแก่กรรมก็ได้ไปบังเกิดเป็นโอรสของท้าวเวสสุวรรณ หนึ่งในท้าวจตุมหาราช ผู้ครองทิศเหนือ ด้วยเหตุแห่งการสมาทานอุโบสถศีลนั้นเอง
ใน มหาจตุราชิกาสูตร《四天王經》ได้กล่าวเอาไว้ดังนี้ว่า
(1) ในวันขึ้น ๘ ค่ำและแรม ๘ ค่ำ ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ จะให้ไพร่พลออกตระเวนตรวจตรายังมนุษย์โลก ตรวจดูว่าพวกมนุษย์ยังได้ทำการกตัญญูกตเวทีต่อบิดา-มารดา เคารพต่อสมณะชีพราหมณ์ ถือศีลบำเพ็ญทาน ช่วยเหลืออนุเคราะห์คนยากไร้และตกทุกข์ได้ยากอยู่หรือไม่ และให้นำความประพฤติของมนุษย์ขึ้นไปรายงานต่อท้าวจตุมหาราช
(2) ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำโอรสของท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ จะเป็นผู้ออกตรวจโลกมนุษย์
(3) ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ จะเป็นผู้ออกตรวจโลกมนุษย์ด้วยพระองค์เอง โดยตรวจดูความประพฤติดี-ชั่วทั้งกาย วาจา ใจ ของมนุษย์นับตั้งแต่เจ้าพระยามหากษัตริย์ ผู้ปกครอง ตลอดจนถึงชาวบ้านและภูตผี ปิศาจ และสรรพสัตว์น้อยใหญ่