เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าชาวจีนโบราณนั้นได้คิดประดิษฐ์สิ่งแรกของโลก 4 อย่างที่ส่งอิทธิพลให้เกิดการพัฒนาการของโลกไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งก็คือ 1.ดินปืน 2.กระดาษ 3.ระบบการพิมพ์ 4.เข็มทิศ ซึ่งคาร์ล มาคส์ (Karl Heinrich Marx) นักสังคมนิยมปฏิวัติชาวเยอรมันได้กล่าวไว้ในหนังสือ "The Application of Machines, Natural Forces, and Science": "เข็มทิศ ได้เปิดโลกและมหาสมุทรและสร้างนักล่าอาณานิคม
"เข็มทิศ"สิ่งประดิษฐ์ของชาวจีนโบราณนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกเพื่อการนำทางในการเดินเรือพาณิชย์และมีบทบาทในการส่งเสริมการเกิดและการพัฒนาของระบบทุนนิยม เข็มทิศแม่เหล็กที่ใช้สำหรับในการนำทางในการเดินเรือได้เปลี่ยนพื้นที่มหาสมุทรที่ใหญ่เป็นสามในสี่ของโลกให้กลายเป็นทางสัญจร ในศตวรรษที่ 15 โคลัมบัสใช้เข็มทิศล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและค้นพบทวีปอเมริกา และในตอนต้นของศตวรรษที่ 16 กองเรือ”มาเจลแลน”ประสบความสำเร็จในการเดินเรือรอบโลก ฯลฯ ซึ่งความสำเร็จของทั้งสองล้วนมาจากการนำทางโดยใช้เข็มทิศแม่เหล็กซึ่งจีนเป็นผู้คิดค้น
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า”เข็มทิศแม่เหล็ก”ถูกนำเข้ามาในยุโรปตั้งแต่เมื่อใด และใครเป็นผู้นำเข้ามา ซึ่งนักวิชาการระหว่างประเทศได้ถกเถียงเรื่องนนี้กันมาหลายร้อยปีแล้ว แต่แล้ว Engels ได้ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ใน "Dialectics of Nature" ของเขาและอธิบายว่า: "เข็มทิศแม่เหล็ก" ถูกชาวอาหรับลักลอบนำจากจีนไปยังยุโรปใน ราวปี ค.ศ. 1180
เข็มทิศรุ่นแรกๆของจีนถูกเรียกว่า "ซีหนาน" “司南”และบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่ในหนังสือ "หานเฟยจื่อ โหยวตู้เพียน"《韩非子·有度篇》 ราว 300 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งในเวลานั้นเมื่อผู้คนพูดถึงปรากฏการณ์ของดึงดูดกันระหว่างแม่เหล็กกับเหล็กพวกเขาคิดว่ามันหมายถึง "แม่ที่กำลังโอบกอดลูก" ดังนั้นคำว่า ฉือ“磁” หรือ แม่เหล็ก จึงเขียนใหม่เป็นตัว ฉือ 慈 หรือแปลว่า "ความเมตตา"
เข็มทิศยุคแรกที่เรียกว่า"ซีหนาน" เป็นเหมือนช้อนที่ใช้ในครัวเรือนโดยมีก้นเป็นครึ่งวงกลมเพื่อลดแรงเสียดทานและทำให้หมุนได้ง่ายเมื่อวางบนจานที่สลักด้วยองศาและทิศทางในระบบกานจือ “干支” หรือกิ่งฟ้าก้านดิน
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง(คริสต์ศตวรรษที่ 12) จูอวี้ 朱彧 (ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิศาสตร์ )ได้พูดถึงเข็มทิศเดินเรือในตำรา "ผิงโจวเค่อถัน"《萍洲可谈》 และซวี่จิง 徐兢 (ราชฑูตในสมัยซ่ง) เขียนตำรา "หนังสือภาพเกาหลี"《高丽图经》ต่างก็อธิบายถึงวิธีใช้เข็มทิศในการเดินเรือด้วยเช่นกัน แต่บางคนบอกว่าเข็มทิศเดินเรือนั้นได้เกิดขึ้นมาก่อนราชวงศ์ซ่ง (คริสต์ศตวรรษที่ 12) อ้างอิงตามบันทึกของ เหลียงเฉิยเยว่ แห่งราชวงศ์ใต้ปรากฏว่า "เข็มทิศเดินเรือ" ปรากฏว่ามีใช้มาตั้งแต่ในราชวงศ์จินแล้ว (ค.ศ 266 -420) แต่ทางชาติตะวันตกเพิ่งเริ่มจะนำเข็มทิศเดินเรือมาใช้ก็ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 ไปแล้ว
ก่อนการประดิษฐ์เข็มทิศคนสมัยโบราณก็ได้ใช้ดวงดาวบนฟ้าเพื่อกำหนดตำแหน่งในเวลากลางคืนโดยการสังเกตดาวเหนือ และในตอนกลางวันก็สังเกตุดูเงาของพระอาทิตย์เพื่อกำหนดทิศทาง ต่อมาชาวจีนเมื่อค้นพบเข็มทิศได้แล้วก็ได้ประดิษฐ์"รถเข็มทิศ"ขึ้นสำหรับใช้ในการเดินทางโดยทางบก
ก่อนที่เข็มทิศจะถูกประดิษฐ์ขึ้นตำแหน่งพื้นที่ไม่สามารถแบ่งได้ละเอียดมากนัก ส่วนทิศทางและตำแหน่งสามารถกำหนดได้เพียง 8 ทิศทางหลักเท่านั้น: คือ(1)ทิศเหนือ, (2)ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, (3)ทิศตะวันออก, (4)ทิศตะวันออกเฉียงใต้, (5)ทิศใต้, (6)ทิศตะวันตกเฉียงใต้, (7)ทิศตะวันตกและ(8)ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ส่วนในวิชาดูฮวงจุ้ยจะใช้ระบบ"ปากว้า"(八卦โป๊ยข่วย)จำนวนแปดตัวอักษรเพื่อใช้กำหนดทิศดังนี้:
1. 坎卦(ข่านกว้า-คั่มข่วย) หมายถึงทิศเหนือ
2. 艮卦(เกิ่นกว้า-กึ่งข่วย) หมายถึงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
3. 震卦(เจิ้นกว้า-จิ้งข่วย) หมายถึงทิศตะวันออก
4. 巽卦(ซวิ่นกว้า-สุ่งข่วย) หมายถึงทิศตะวันออกเฉียงใต้
5. 离卦(หลีกว้า-ลี้ข่วย) หมายถึงทิศใต้
6. 坤卦(คุนกว้า-คุงข่วย) หมายถึงทิศตะวันตกเฉียงใต้
7. 兑卦(ตุ้ยกว้า-ต๋วยข่วย) หมายถึงทิศตะวันตก
8. 乾卦(เฉียนกว้า-เคี้ยงข่วย) หมายถึงทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
(***หมายเหตุ คำอ่านอักษรจีนตัวหน้าจะเป็นภาษาจีนกลาง ตัวหลังจะเป็นภาษาแต้จิ๋ว)
"หล่อแก"สำหรับการดูฮวงจุ้ยได้ถูกพัฒนาในกาลต่อมาโดยเปลี่ยนจากรูปช้อนแบบเดิมมาเป็นรูปเข็มและนำเข็มแม่เหล็กลอยน้ำตรึงหมุดที่หมุนได้รอบไว้ตรงกลาง เพื่อให้ความแม่นยำในการวัดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในราชวงศ์ถัง ท่านปรมาจารย์หยางกง (หยางจวินซง 杨筠松) ได้นำผังปากว้า(โป๊ยข่วย)ทั้งแปด และระบบก้านดิน(十二地支) หรือสิบสองนักษัตรรวมเข้าด้วยกันเพื่อการกำหนดตำแหน่งหรือทิศทาง มีดังนี้
1.子(จื่อ-จื้อ-ชวด) 2.丑(โฉ่ว-ทิ่ว-ฉลู) 3.寅(อิ๋น-อิ๊ง-ขาล) 4.卯(โหม่ว-เบ้า-เถาะ)
5.辰(เฉิน-ซิ้ง-มะโรง) 6.巳(ซื่อ-จี๋-มะเส็ง) 7.午(อู่-โง่ว-มะเมีย) 8.未(เว่ย-บี่-มะแม)
9.申(เซิน-ซิง-วอก) 10.酉(โหย่ว-อิ้ว-ระกา) 11.戌(ซวี่-สุก-จอ) 12亥(ไห้-ไห-กุน)
นอกจากนี้ยังนำเอาระบบกิ่งฟ้า (天干)ทั้ง10 คือ
1.甲(เจี่ย-กะ) 2.乙(อี่-อิก) 3.丙(ปิ่ง-เปี้ย) 4.丁(ติง-เต็ง) 5.戊(อู้-โบ่ว)
6.己(จี่-กี้) 7.庚(เกิง-แก) 8.辛(ซิน-ซิง) 9.壬(เริ่น-หยิม) 10癸(กุ่ย-กุ่ย)
เข้ามาผนวกด้วย ซึ่งยกเว้น 戊(อู้-โบ่ว)、己(จี่-กี้) สองตัวซึ่งสถิตย์อยู่ตำแหน่งจุดศูนย์กลาง(中宫)แล้ว ส่วนที่เหลือทั้งหมดก็จะถูกนำเข้าไปในระบบกำหนดตำแหน่งทิศทางทั้งสิ้น
(***หมายเหตุ คำอ่านอักษรจีนตัวหน้าจะเป็นภาษาจีนกลาง ตัวหลังจะเป็นภาษาแต้จิ๋ว)
ดังนั้นหล่อแกสำหรับดูฮวงจุ้ยจึงมีระนาบวงกลมบนพื้นดินโดยรอบมี 360 องศาและได้แบ่งออกเป็น 24 ส่วนเท่า ๆ กัน เรียกว่าขุนเขา(山ซัว)ทั้ง 24 (ยี่จับสี่ซัว 二十四山)ซึ่งขุนเขาแต่ละลูกมีความกว้าง 15 องศา และ 3 ขุนเขารวมกันจะเป็น 1 กว้าหรือ 1 ข่วย (卦) และแต่ละกว้ามีความกว้างกว้าละ 45 องศา เมื่อรวมกันทั้ง 8 กว้า (卦) ก็จะได้ 360 องศาพอดี และนับตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งแผนผังทั้ง 24 ขุนเขาเอาไว้ตั้งแต่ครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง จวบจนปัจจุบันก็ยังคงรักษาแบบแผนนี้เอาไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นขุนเขาทั้ง 24 ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในส่วนที่เป็นขอบเขตของแผ่นดิน หรือ “ตี้ผาน” (地盘)ในแผ่นหล่อแก ตำแหน่ง 24 ขุนเขาจึงเป็นหนึ่งใน”วงกลม”ที่สำคัญของหล่อแกสำหรับดูฮวงจุ้ยที่พัฒนาโดยท่านหยางกง ซึ่งเรียกว่า "หยางผาน” 杨盘" โดยมีแบบแผนดังนี้
1.ทิศเหนือ มี 3 ขุนเขาคือ 壬(เริ่น-หยิม)、子(จื่อ-จื้อ-ชวด)、癸(กุ่ย-กุ่ย) ทั้ง 3 ขุนเขานี้หากเป็นแผนภูมิหลังฟ้า后天จะสถิตอยู่ใน 坎卦(ข่านกว้า-คั่มข่วย) ส่วนแผนภูมิก่อนฟ้า先天จะสถิตอยู่ใน坤卦(คุนกว้า-คุงข่วย)
2.ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มี 3 ขุนเขาคือ丑(โฉ่ว-ทิ่ว-ฉลู)、艮(เกิ่น-กึ่ง)、寅(อิ๋น-อิ๊ง-ขาล) ทั้ง 3 ขุนเขานี้หากเป็นแผนภูมิหลังฟ้า后天จะสถิตอยู่ใน艮卦(เกิ่นกว้า-กึ่งข่วย) ส่วนแผนภูมิก่อนฟ้า先天จะสถิตอยู่ใน震卦(เจิ้นกว้า-จิ้งข่วย)
3.ทิศตะวันออก มี 3 ขุนเขาคือ甲(เจี่ย-กะ)、卯(โหม่ว-เบ้า-เถาะ)、乙(อี่-อิก)ทั้ง 3 ขุนเขานี้หากเป็นแผนภูมิหลังฟ้า后天จะสถิตอยู่ใน震卦(เจิ้นกว้า-จิ้งข่วย) ส่วนแผนภูมิก่อนฟ้า先天จะสถิตอยู่ใน离卦 (หลีกว้า-ลี้ข่วย)
4.ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มี 3 ขุนเขาคือ辰(เฉิน-ซิ้ง-มะโรง)、巽(ซวิ่น-สุ่ง)、巳(ซื่อ-จี๋-มะเส็ง)ทั้ง 3 ขุนเขานี้หากเป็นแผนภูมิหลังฟ้า后天จะสถิตอยู่ใน巽卦(ซวิ่นกว้า-สุ่งข่วย) ส่วนแผนภูมิก่อนฟ้า先天จะสถิตอยู่ใน兑卦(ตุ้ยกว้า-ต๋วยข่วย)
5.ทิศใต้ มี 3 ขุนเขาคือ丙(ปิ่ง-เปี้ย)、午(อู่-โง่ว-มะเมีย)、丁(ติง-เต็ง) ทั้ง 3 ขุนเขานี้หากเป็นแผนภูมิหลังฟ้า后天จะสถิตอยู่ใน离卦 (หลีกว้า-ลี้ข่วย) ส่วนแผนภูมิก่อนฟ้า先天จะสถิตอยู่ใน乾卦(เฉียนกว้า-เคี้ยงข่วย)
6.ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มี 3 ขุนเขาคือ未(เว่ย-บี่-มะแม)、坤(คุน-คุง)、申(เซิน-ซิง-วอก) ทั้ง 3 ขุนเขานี้หากเป็นแผนภูมิหลังฟ้า后天จะสถิตอยู่ใน坤卦(คุนกว้า-คุงข่วย) ส่วนแผนภูมิก่อนฟ้า先天จะสถิตอยู่ใน巽卦(ซวิ่นกว้า-สุ่งข่วย)
7.ทิศตะวันตก มี 3 ขุนเขาคือ庚(เกิง-แก)、酉(โหย่ว-อิ้ว-ระกา)、辛(ซิน-ซิง)ทั้ง 3 ขุนเขานี้หากเป็นแผนภูมิหลังฟ้า后天จะสถิตอยู่ใน兑卦(ตุ้ยกว้า-ต๋วยข่วย) ส่วนแผนภูมิก่อนฟ้า先天จะสถิตอยู่ใน坎卦(ข่านกว้า-คั่มข่วย)
8.ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มี 3 ขุนเขาคือ 戌(ซวี่-สุก-จอ)、乾(เฉียน-เคี้ยง) 、亥(ไห้-ไห-กุน) ทั้ง 3 ขุนเขานี้หากเป็นแผนภูมิหลังฟ้า后天จะสถิตอยู่ใน乾卦(เฉียนกว้า-เคี้ยงข่วย) ส่วนแผนภูมิก่อนฟ้า先天จะสถิตอยู่ใน艮卦(เกิ่นกว้า-กึ่งข่วย)