การศึกษาวิชาฮวงจุ้ย (9)
ต้นกำเนิดวิชาฮวงจุ้ย
ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ในตอนที่แล้ว ว่าฮวงจุ้ยเป็นหนึ่ง 1 ใน 5ศิลปะวิทยาการอันลึกลับของจีน ซึ่งเป็นแขงหนึ่งของวิชา เซี่ยงซู่ หรือ 相術(รูปลักษณ์) และเป็นวิธีการจำแนกรูปลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเรียกว่า ตี้เซี่ยง地相
สมัยโบราณเรียกวิชาฮวงจุ้ยนี้ว่า วิชาขั่นอี๋ 勘舆術 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายใช้สำหรับในการเลือกสรรทำเลก่อสร้างพระราชวัง คัดสรรทำเลที่ตั้ง เพื่อสร้างเมือง หรือหมู่บ้าน ตลอดจนกระทั้งหาชัยภูมิที่เป็นมงคลสำหรับสร้างฮวงซุ้ย(หลุมฝังศพ) โดยมีพื้นฐานทางหลักวิชาการและทฤษฎีของวิชานี้รองรับ
นอกจากนี้วิชาฮวงจุ้ยนี้ยังมีฉายาเรียกอีกว่า วิชา 青囊 อ่าน “แชลั้ง” หรือวิชาย่ามเขียว หมายถึงสมัยโบราณซินแสมักใช้ย่ามสีเขียวในการใส่อุปกรณ์สำหรับเดินทางเพื่อดูฮวงจุ้ย
โดยเฉพาะในเมืองไทย สำนักแชลั้งซึ่งก่อตั้งโดย อาจารย์ สินศักดิ์ วิศิษฐ์สกุล ในฐานะที่ท่านเป็นครูคนแรกของผมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผมเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ตั้งแต่ผมมีอายุ 15 ปี ท่านได้มอบตำราไว้ให้ศึกษาหลายเล่ม ท่านมีชื่อเล่นว่าเขียว ผมเรียกท่านว่า อาเจ็กเขียว แล้วชื่อสำนักแชลั้งที่แปลว่าฮวงจุ้ยก็พ้องกับชื่อของท่านพอดี
อาจารย์ สินศักดิ์ วิศิษฐ์สกุล ถือว่ามีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อวิชาฮวงจุ้ยในเมืองไทย และเป็นผู้นำวิชาชั้นสูงนี้มาแพร่หลายเป็นคนแรก และในสมัย 40 กว่าปีก่อน ตอนนั้นคนไทยไม่มีใครรู้จักวิชาฮวงจุ้ย ท่านจึงได้เขียนตำราเอาไว้หลายเล่ม จนเผยแพร่ไปทั่ว ปัจจุบันมีจัดพิมพ์จำหน่ายเผยแพร่อยู่ สนใจติดต่อที่นี่ http://www.sumnakcharang.com/aboutus.php
และอีกฉายาหนึ่งที่นิยมเรียกก็คือวิชา 青烏 อ่านว่า แชโอว หรือ แชอู แปลว่าเขียวเข้ม ซึ่งเป็นชื่อของซินแสชื่อดังในสมัยโบราณ
ต้นกำเนิดของวิชานี้มีตำนานเล่ากันว่า พระแม่จิ่วเทียนเสวียนหนี่ 九天玄女 หรือ 九天玄姆 คือพระแม่ผู้วิเศษแห่งสวรรค์ทั้ง ๙ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือศีรษะเป็นคนร่างกายเป็นนก และเป็นผู้ที่ประทานวิชานี้ลงมายังโลกมนุษย์ และวิชานี้มีความสมบูรณ์และรุ่งเรืองทั้งทางด้านวิชาการและทฤษฎีมาตั้งแต่ยุคจั้นกว๋อ 战国时代 หรือประมาณ 2000 ปีมาแล้ว