ตำราฮวงจุ้ยเฮี้ยงคงของตระกูลเสิ่น《沈氏玄空學》(เสิ่นซื่อเสวียนคงเสวีย-ซิ่มสีเฮี้ยงคงฮัก) แต่งในสมัยราชวงศ์ชิงโดยโดยท่านเสิ่นจู๋เหริง 沈竹礽ปราชญ์ฮวงจุ้ยสำนักเสวียนคง แต่ท่านแต่งตำรายังไม่สำเร็จก็ได้สิ้นชีวิตลงไปก่อน ต่อมารุ่นลูกของท่านคือ เสิ่นจู่เหมียน 沈祖绵พร้อมทั้งลูกศิษย์ท่านก็ได้ทำการรวบรวมขึ้นมาใหม่ โดยคัดจากเอกสารต่างๆที่ท่านเสิ่นจู๋เหริงได้เคยบันทึกเอาไว้ แล้วนำรวบรวมเป็นเล่ม รวมทั้งหมดได้ 4 เล่ม
สำหรับกฎบ้านคน 30 ข้อ(ตำราตระกูลเสิ่น) 沈氏陽宅三十則 ก็เป็นหนึ่งในผลงานการรวมรวมวิชาของท่านในยุคนั้น ซึ่งเป็นการอธิบายหลักการการเลือกที่อยู่อาศัยหรือที่เรียกว่า陽宅 (หยางไจ่-เอี๊ยงแทะ) และหลักทฤษฎีนี้ยังได้รับการยอมรับจากฮวงจุ้ยทุกสำนักว่าถูกต้องแม่นยำและควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาสายเสวียนคงมาก็ยิ่งจำเป็นต้องศึกษา และถ้าได้ทำการศึกษาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ อีกทั้งได้นำไปฝึกฝนปฏิบัติจนช่ำชองแล้ว ก็สามารถนำไปปรับใช้กับฮวงจุ้ยในสายวิชาของตนให้เกิดประโยชน์ได้
ส่วนวิชาฮวงจุ้ยสำนักเสวียนคง 玄空 (เฮี้ยงคง) นั้นก็ยังมีการแบ่งออกเป็นสองสาขาคือ "สาขาเสวียนคงใหญ่"「大玄空」 กับ วิชาฮวงจุ้ยซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันดีและแพร่หลายมากที่สุดก็คือ "สาขาเสวียนคงเล็ก"「小玄空」 เช่น ฮวงจุ้ยบ้านอยู่อาศัย ฮวงจุ้ยการตกแต่งบ้าน เครื่องเรือน สำนักงาน ฯลฯ รวมไปถึงตำราฮวงจุ้ยเฮี้ยงคงของตระกูลเสิ่น《沈氏玄空學》ก็นับเนื่องอยู่ใน สาขาวิชาเสวียนคงเล็ก นี้เช่นกัน
สาขาวิชาเสวียนคงใหญ่「大玄空」นั้นเป็นฮวงจุ้ยระดับมหภาค ใช้ดูความรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของพื้นแผ่นดินในแต่ละส่วน และลักษณะภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographical Land Scape) เช่น ฮวงจุ้ยดวงโลก ดวงเมือง ดวงประเทศ ดวงตำบล ดวงหมู่บ้าน ล้วนจำเป็นต้องใช้หลักวิชาเสวียนคงใหญ่ เช่น ในการพยากรณ์ดวงเมือง การวางผังเมือง การเลือกทำเลตั้งเมือง ตั้งหมู่บ้าน ฯลฯ เป็นต้น
กฎข้อที่ 1 城鄉取裁不同 การเลือกทำเลบ้านในเมืองกับชนบท
(一)城鄉取裁不同
鄉村氣渙,立宅取裁之法,以山水兼得為佳。城市氣聚,雖無水可收,而有鄰屋之凹凸高低,街道之闊狹曲直。凹者、低者、闊者、曲動者為水。直者、凸者、狹者、持高者為山。
คำแปล--พลังชี่ในชนบทมีความเฉื่อยและกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ดังนั้นในการเลือกทำเลที่อยู่อาศัย ภูมิทัศน์โดยรอบจำเป็นจะต้องมีขุนเขาและสายน้ำจึงจะดีที่สุด ส่วนในตัวเมืองพลังชี่หนาแน่น ถึงแม้ว่าจะไม่มีสายน้ำ แต่มีความสูงตำของบ้านเรือนลดหลั่นกันไป อีกทั้งถนนหนทางก็มีความกว้างความแคบ และเลี้ยวลดคดเคี้ยว (เหมือนสายน้ำ) พื้นที่มีลักษณะเว้าลงไป ต่ำ กว้าง และมีความโค้ง นั้นหมายถึงน้ำ ส่วนพื้นที่ที่มีลักษณะ ตรง นูนสูง แคบ และสูง นั้นหมายถึงภูเขา
คำอธิบาย—การดูฮวงจุ้ยเลือกทำเล ในพื้นที่ชนบท เป็นพื้นที่โล่งกว้างทำให้พลังชี่กระจัดกระจาย หากจะเลือกทำเลตั้งบ้านเรือน การกำหนดทิศหน้าบ้านหลังบ้านก็จะต้องมีภูมิทัศน์ที่เป็นขุนเขาเรียงตัวเป็นระเบียบและสายน้ำต้องเลี้ยวลดงดงามใสสะอาดตามธรรมชาติจึงจะเป็นมงคล (實山實水)
สำหรับในตัวเมืองใหญ่มีผู้คนมากมายและมีพลังชี่ที่หนาแน่น ในตัวเมืองถึงว่าแม้จะไม่มีน้ำจริงๆ แต่หลักฮวงจุ้ยกล่าวไว้ว่า “高一寸兮即為山,低一寸兮即為水” (สูงหนึ่งนิ้วก็คือเป็นภูเขา ต่ำลงไปหนึ่งนิ้วคือน้ำ) ดังนั้นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่เปิดโล่ง ทางสี่แยก และถนน และการเคลื่อนไหว ก็อนุมานได้ว่าเป็นน้ำ(เทียม) 虚水
ส่วนอาคารสูง อาคารที่ยื่นออกมา รูปลักษณ์ของอาคาร และอาคารที่สูงลดหลั่นกันไปเป็นชั้นๆ ก็อนุมานได้ว่าเป็นขุนเขา(เทียม) 虚山 โดยทั่วไปแล้วบ้านที่อยู่ในเมืองจะได้รับพลังชี่ที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มากกว่าบ้านในชนบท
นอกจากนี้ในการดูฮวงจุ้ยยังต้องพิจารณาไปถึงตำแหน่งตัวบ้าน ปากซอยทางเข้าบ้าน อีกทั้งประตูใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ตรงกลาง ซ้าย ขวาหรือจะเปิดเข้าไปด้านข้าง รวมไปถึงการจัดแบ่งตำแหน่งห้องหับต่างๆภายในบ้าน เช่น ตำแหน่งเตียงนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ฯลฯ รวมไปถึงการดูดวงชะตาของเจ้าของบ้าน ฤกษ์ยามในการเข้าบ้านใหม่ ฤกษ์ยามในการเปิดกิจการ ร้านค้า ฯลฯ ล้วนต้องนำมาร่วมพิจารณาด้วย