จตุรยุค-กลียุค นับถอยหลังจนถึงวันสิ้นโลก
การแบ่งช่วงเวลาต่างๆของโลกตามระบบจักรวาลวิทยาในคติพราหมณ์นั้นได้แบ่งยุคของโลกออกแบ่ง 4 ยุคตั้งแต่กำเนิดโลกจนถึงเวลาโลกพินาศ เรียกว่า “จตุรยุค” คือ กฤดายุค(สัตยายุค,จัตยายุค) ไตรดายุค ทวาปรยุค และกลียุค ในทรรศนะของฮินดูเชื่อว่า จักรวาลเกิดและแตกดับเป็นรอบๆในทุกๆ 4.1 ถึง 8.2 พันล้านปีหรือเท่ากับ 1 วันกับ 1คืนของอายุพระพรหม ซึ่งพระพรหมตามคติพราหมณ์จะมีอายุยืนถึง 311 ล้านล้านกับอีก 40 พันล้านปีมนุษย์ ซึ่งยุคต่างๆแสดงถึงความเจริญและความเสื่อมของอายุขัยและจิตใจของมนุษย์ จากสูงสุดไปหาต่ำสุด การคำนวณมาจากวิธีการโหรา-ดาราศาสตร์โบราณที่คำนวนจากตำแหน่งของโลกที่เคลื่อนเข้าหาดวงอาทิตย์เข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโลกในปัจจุบันอยู่ในกลียุคหรือยุคสุดท้ายของโลก
วิษณุอวตารกับกลียุค
ตามปรากฏในคัมภีร์ปุราณะ กล่าวถึงอวตารของพระวิษณุ(นารายณ์) ปางต่างๆเอาไว้มากถึง 10 ปางเพื่อมาปราบยุคเข็ญและคุ้มครองโลกในยุคต่างๆ และอวตารมาครบแล้ว 9 ปาง เหลือเพียงอวตารปางที่ 10 หรือที่เรียกว่า กัลกยาวตาร
อวตารปางที่ 10 กัลกยาวตาร หรือ กัลกิยาวตาร อวตารเป็นมนุษย์ผู้ขี่ม้าขาว หรือ กัลกี เป็นอวตารที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ในยามที่เป็นปลายแห่งกลียุค อธรรมอยู่เหนือธรรมะ ในยามที่ผู้คนไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี โลกทั้งโลกต้องเผชิญกับยุคเข็ญไปทุกหย่อมหญ้า จะมีบุรุษขี่ม้าขาวปรากฏตัวขึ้นเพื่อปัดเป่าความทุกข์ยาก และนำธรรมะกลับมาสู่มวลมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง
ยุคต่างๆในจตุรยุค
1.กฤดายุค (สัตยา) เป็นยุคแห่งธรรมะ บุญกุศลและคุณงามความดี มนุษย์มีรูปร่างสูงใหญ่ถึง 21 ศอก อายุขัยมนุษย์ยาวนานถึง 100,000 ปี
2.ไตรดายุค เป็นยุคที่มนุษย์เสวยบุญกุศล 3 ส่วน เสวยวิบาก(บาป) 1ส่วน รูปร่างลดลงเหลือ 14 ศอก อายุขัยเหลือ 10,000 ปี
3.ทวาปรยุค เป็นยุคที่มนุษย์เสวยบุญกุศล ครึ่งหนึ่ง และเสวยบาปครึ่งหนึ่ง มนุษย์ในยุคนี้รูปร่าง 7ศอก อายุขัย 1,000 ปี
4.กลียุค ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน และเป็นยุคสุดท้ายของโลก มนุษย์เสวยบุญกุศลเพียง 1 ส่วน เสวยบาป 3 ส่วน รูปร่างเหลือ 3.5 ศอก อายุขัยเหลือ 100 ปี และเมื่อใกล้จะสินสุดยุค อายุขัยมนุษย์จะเหลือเพียง 20 ปี
การคำนวนระยะปีของยุคต่างๆ
จากคัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ได้อธิบายเรื่องราวของยุคต่างเอาไว้โดยละเอียด และกำหนดวงรอบของจุดทางดาราศาสตร์เพื่อคำนวนปีของมหายุค และยุคต่างๆดังนี้ คือ ระยะเวลา 4800 ปี(สัตยา) + 3600 ปี (ไตรดา)+2400 ปี(ทวาปร) +1200 ปี (กลี)เท่ากับ 12,000 ปี หรือครึ่งหนึ่งของวงรอบจุดวิษุวัต หรือ 24,000 ปี ก็จะเต็มรอบของจุดวิษุวัต (วันที่มีกลางวัน-กลางคืนเท่ากัน) และคำนวณเปรียบเทียบกับปีสวรรค์ ซึ่ง 1 ปีสวรรค์เท่ากับ 360 ปีมนุษย์ ดังนั้นช่วงเวลาของยุคต่างๆก็จะเป็นดังนี้ สัตยายุค 4,800 x 360 = 1,728,000 ปี ไตรดายุค 3,600 x 360 = 1,296,000 ปี ทวาปรยุค 2,400 x 360 = 864,000 ปี และกลียุค 1,200 x 360 = 432,000 ปี
การคำนวณยุคต่างๆในทรรศนะโหราศาสตร์
การคำนวนยุคต่างๆ จากหนังสือเคล็ดลับการพยากรณ์ของอ.บรรเทา จันทรศร ท่านได้อธิบายดังนี้ “ศักราชกลียุค...เพื่อสำหรับการคำนวณปฏิทินของโหราศาสตร์โดยยึดถือเอาวิถีการโคจรของโลก ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ เกิดขึ้นโดยการสังเกตเห็นว่า โลกโคจรเข้าหาดวงอาทิตย์ที่ละน้อยๆในสิบรอบแห่งปีนักษัตร คือ ในระยะเวลา 120 ปีต่อ 1ลิปดา หรือ 7,200 ปี ต่อ 1องศา การที่ทราบได้ว่าโลกโคจรเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ ก็อาศัยฉายาหรือเงาในวันที่ดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษนั้นจะครับ 3 บาท (ฝ่าเท้า) เร็วขึ้นๆทุกปี หือระยะเวลาที่มีกลางคืนและกาลวันเท่ากัน ในระหว่างที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าราศีเมษนั้นเร็วขึ้นทุกๆปี
ความคลาดเคลื่อนหรือความเร็วของระยะเวลาที่มีกลางวันกลางคืนเท่ากันในจำนวน 7,200 ปีต่อหนึ่งองศานั้นเริ่มมีตั้งแต่องศาที่ 90 ถึงองศาที่ 360 ของจักรวาลหรือโลก จึงแบ่งระยะ 90 ถึง 360 องศานี้เป็น 4 ส่วน ส่วนหนึ่งท่านเรียกว่ายุคหนึ่ง ดังนั้นท่านจึงจัดแบ่งออกเป็น 4 ยุค นับตั้งแต่ยุคที่ 4เป็นต้นมา ยุคที่ 1คือ 4,3,2,1 แต่ละยุคมีชื่อตามลำดับว่า จัตยายุค ไตรดายุค ทวาปรยุค และกลียุค แต่ทางฝรั่งเรียก 4 ยุคนี้ว่า ยุคทอง ยุคเงิน ยุคโลหะ และยุคดิน
วิธีคำนวณ ถ้าหากอยากทราบว่า กลียุคมีจำนวนกี่ปี ท่านให้ตั้งระนะเวลาที่โลกโคจรไปใกล้ดวงอาทิตย์ 1องศาลงคือ 7,200 ปี เอา 60 คูณ ได้ 432,000 ปี เป็นจำนวนปีของกลียุค ถ้าเอา 360 หารก็จะได้ 1,200 ปีแบ่ง ในกลียุคนี้ดวงอาทิตย์โคจรอยู่ตรงองศาที่ 9 ของจักรวาลหรือโลก หากอยากทราบว่า ทวาปรยุคมีจำนวนกี่ปี ให้เอา 2 คูณจำนวนปีของกลียุค เป็นจำนวนปีของทวาปรยุคได้ 864,000 ปี ถ้าเอา 360หารก็จะได้ 2,400 ปีแบ่ง ในยุคนี้วิถีการโคจรของดวงอาทิตย์อยู่ตรงองศาที่ 18 ถ้าหากอยากทราบว่าจำนวนปีของไตรดายุคมีจำนวนเท่าใด ให้เอา 3คูณ จำนวนปีกลียุค เป็นจำนวนปีของไตรดายุค ได้ 1,296,000 ปี ถ้าเอา 360 หารก็จะได้ 3,600 ปีแบ่ง ในยุคนี้วิถีการโคจรของดวงอาทิตย์อยู่ในองศาที่ 27 ถ้าหากอยากทาบว่าจำนวนปีของจัตยายุคมีจำนวนเท่าใด ให้เอา 4คูณจำนวนปีกลียุคเป็นจำนวนปีของจัตยายุค เป็น 1728000 ปี หากเอา 360 หารก็จะเป็น 4800 ปีแบ่ง ในยุคนี้วิถีการโคจรของดวงอาทิตย์อยู่ตรงองศาที่ 36 เคลือนไปยุคละ 9องศา”
นอกจากนี้การนับปีย่อยลงไปอีกก็จะมีวิธีการคำนวณวงรอบของปีโดยคำนวณจากวงโคจรของดาวพฤหัส 5 รอบจักราศี หรือ จำนวน 60 ปี เรียกว่า “พฤหัสจักร” ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆดังนี้
1.ปรภวะ 2.วิภวะ 3.สุกละ 4. พรหมทัต 5.ปชาปติ 6.อังคีระ 7.สริมุกขะ 8.ภวะ 9.ยุพะ 10.ธัตตริ 11.อิศวระ 12.พหูธัญญะ 13.พรหมธิ 14.วิกรมะ 15.พฤษละ 16.จิตรภาณ 17.สุภาณ 18.ทโรนะ 19.ปทีปะ 20. พยายะ 21.สุรชิตะ 22.สวัทริ 23.วิรุทธิ 24.วิกิตตะ 25.โขระ 26.นวโทนะ 27.วิชายะ 28.ชายะ 29.มนมุสสสะ 30.ทุมุกขะ 31.หินลัมภะ 32.วิลัมภะ 33.วิการี 34.สรบารี 35.พลวะ 36.สุภะกริตะ 37.สุภณะ 38.กรุทธิ 39.พิศวพสุ 40.โขรภวะ 41.พลพังคะ 42.กิโลละ 43.สมยะ 44.ลัทธโรนะ 45.วิรุทธิกิตะ 46.ปริทรวิ 47.พรหมหรสิ 48.อนังคทะ 49.รักขะโยสะ 50.นละ 51.พิงคละ 52. กลยุกตะ 53.สิทธรสิ 54.รุทธระ 55.ทรโมติ 56.ทุวทุวพิ 57.รุทธิรุทกรี 58.รกตักขะ 59.ครุธนะ 60.อักขยายะ
การสิ้นสุดของกลียุคหรือวันสิ้นโลก
ในคัมภีร์พระมนู กล่าวว่า เมื่อใดที่ดอกไม้งอกในดอกไม้ ผลไม้งอกอยู่ในผลไม้ เกิดมฆทมึนพายุฝนเทกระหน่ำเกิดขึ้นแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นั้นแสดงถึงกาลจบสิ้นแห่งกลียุค และโลกก็จะพินาศ และเมื่อนั้นพระวิษณุก็จะอวตารลงมาบนโลก ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกก็จะได้รับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยอวตารเป็นกัลกีถือดาบขี่ม้าขาว เพื่อมาทำลายความชั่วร้ายบนโลกให้สูญสิ้นไปและจักรวาลก็จะกลับไปเริ่มต้นกฤดายุคใหม่อีกครั้งหนึ่ง