Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

Vedic verse

ผู้เขียนอยากจะอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการศึกษาโหราศาสตร์ หลายท่านเมื่ออ่านโศลกโบราณเกี่ยวกับ การวินิจฉัยดวงชาตา แล้วนำไปเปรียบเทียบดู ก็พบกับความไม่แม่นยำ หรือไม่ถูกต้องกับดวงชาตาในปัจจุบัน หรือไม่ก็พบว่า ในโศลกแต่ละแห่งให้ข้อความขัดแย้งกัน จนทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจเองว่า เป็น ความผิดพลาดของผู้รจนาคัมภีร์ หรือไม่ก็ยุคสมัยแตกต่างกันจนนำมาใช้ไม่ได้ เช่น ว่าตามคัมภีร์บอกว่าดวงนี้จะรวยเป็นเศรษฐี แต่ทำไม่ยังยากจนข้นแค้นอยู่ เป็นต้น

แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่เพราะโหราศาสตร์คือ ศิลปะ ไม่ใช่ ตรรกะ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบของทฤษฎีต่างๆ ตามบริบทแห่งดวงชาตานั้นๆ เพราะคนรวยเป็นเศรษฐีเมื่อ 3000 ปีก่อน กับเศรษฐีในปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกัน และโจรเมื่อ 3000 ปีก่อน กับโจรในปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างกันแม้แต่น้อย ปัญหาก็คือการตีความหมายในโศลกต่างหากที่เราเข้าใจผิดพลาด

 

1.คำนิยามศัพท์

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ความหมายและผลแห่งดวงชาตาจากโศลกต่างๆในคัมภีร์โบราณ ท่านจะให้เฉพาะ”คำจำกัดความ” หรือ นิยาม หรือที่เราเรียกว่า”นิยามความหมาย และนิยามปฏิบัติการ”เท่านั้น  และคำจำกัดความนั้นๆท่านจะอธิบายในความหมายเชิง “อุกฤษฏ์” เพียงอย่างเดียว  หมายความว่า ท่านจะอธิบายในจุดหรือผลที่ส่งมากที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้จะต้องประกอบกับบริบทอื่นๆในดวงชาตา และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาวินิจฉัยผลอีกที

ซึ่งถ้าหากการอธิบายผลต่างๆในคัมภีร์ เป็นไปอย่างที่เขียนเอาไว้แล้ว ก็เท่ากับว่าคัมภีร์นั้นขัดแย้งตัวเอง  และไร้ซึ่งเหตุผล และวิธีการเขียนและอธิบายในเชิง  “อุกฤษฏ์” ในลักษณะนี้ก็เป็นไปตามความนิยมและความเข้าใจของคนในสมัยนั้นๆ แม้แต่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ฯลฯในพุทธศาสนาเองก็มีการอธิบายในลักษณะเช่นนี้ให้พบเห็นบ่อยๆ

ตัวอย่างจากโศลก เช่น (*)เกิดในนวางศ์เมษ เจ้าชาตาจะกลายเป็น โจร หมายความว่า ท่านใช้คำว่า “โจร” เป็น นิยามเชิงอุกฤษฏ์ ของดวงชาตานี้ ซึ่งคำว่าโจร มีความหมายตั้งแต่น้อยไปหามาก เช่น คนที่ชอบเอาของคนอื่นโดยไม่บอกกล่าว หรือแอบใช้ของคนอื่น ชอบของคนอื่น อิจฉาริษยาในของคนอื่น ชอบลักเล็กขโมยน้อย  ล่อลวง คดโกง ทุจริต ฉกชิง ปล้นสะดม เพื่อทรัพย์สินและผลประโยชน์ ดังนั้นความหมายจะเป็นจริงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับบริบทอื่นๆของดวงชาตา และกฏเกณฑ์การวินิจฉัยดวงชาตานำมาประกอบและวินิจฉัยผล

และเช่น  (*)เกิดในนวางศ์ธนู เจ้าชาตาจะกลายเป็นคนรับใช้ หมายความว่า ท่านใช้คำว่า “คนรับใช้” เป็น นิยามเชิงอุกฤษฏ์ ของดวงชาตานี้  ความหมายก็มีตั้งแต่ การชอบรับใช้ผู้อื่น ชอบอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น การสงเคราะห์ผู้อื่น หรืออย่างเลวร้ายที่สุดก็กลายเป็น คนรับใช้ ตามความหมายเชิงอุกฤษฏ์นั้นๆ

หรือในเรื่องโยคเกณฑ์ต่างๆในวิชาโหรไทยหรือภารตะ เช่น ดวงนี้ได้ราชาโยค ก็ได้แปลว่าผู้นั้นได้เป็นพระราชา มหากษัตริย์ แต่ความหมายของ”ราชา” ณ ที่นี้หมายถึงบุคคลชั้นสูง หรือผู้มีอำนาจ มีเกียรติ และมีอาณาเขตปกครอง ซึ่งก็หมายถึง ที่ดิน หรือกิจการต่างๆที่เราเป็นเจ้าของ ในขอบเขตอำนาจของเรา หรือไม่ก็เป็น การรับราชการปกครองอาณาเขตน้อยใหญ่ ไล่ไปตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่า ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็อยู่คำจำกัดความของคำว่า "ราชา" นี้ในโศลกโบราณ

ดังนั้นการการศึกษาโศลกจากคัมภีร์โบราณ เราต้องรู้ถึงวิธีการศึกษาและประเพณีนิยมของคนในสมัยนั้น โดยการศึกษาในสมัยโบราณ จะใช้การท่องจำเป็นหลัก ซึ่งจะต้องมี  ” key word “ต่างๆมาเพื่อช่วยในการจดจำ

ดังนั้นต้องดูดวงชะตาประกอบในทุกๆแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นโจรแบบขโมยเล็กขโมยน้อย หรือเป็นมหาโจร ส่วนราชาโยค จะได้เป็นราชาครองอาณาจักรใหญ่น้อย เป็นเจ้าของกิจการใหญ่โต หรือเป็นแค่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องดูจากความเข้มแข็งในดวงชาตา ดูดาวให้คุณให้โทษ ดูโยคเกณฑ์ดี ร้าย รวมไปถึงการส่งเสริมและหักล้างกัน ในพื้นดวงชะตา จึงจะสามารถตัดสินได้

 

2.การเข้ารหัสข้อความในโศลก

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า วิชาโหราศาสตร์พระเวทนั้นก็คือส่วนหนึ่งของคัมภีร์พระเวท และถูกยกย่องเป็น ว่าจักษุของคัมภีร์พระเวท (คัมภีร์พระเวทแบ่งออกเป็นส่วนๆเรียกว่า-อังคะ) ดังนั้นผู้ที่เรียนและศึกษาแบบครบองค์ได้ ก็ต้องเป็นวรรณะพราหมณ์  

ส่วนโหราศาสตร์พระเวทนั้นแต่เดิมไม่มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ตำราหรือคัมภีร์ออกไปสู่บุคคลภายนอกเพราะถือว่าสงวนวิชาไว้สำหรับลูกหลานหรือศิษย์เท่านั้น ดั้งนั้นเพื่อป้องกันการดัดแปลงหรือการเผยแพร่ออกไปสู่ภายนอก ผู้รจนาคัมภีร์ก็มักจะใส่โค๊ดหรือรหัสเอาไว้ในคัมภีร์รูปแบบต่างๆ เพื่อป้องกันบุคคลภายนอกเอาไปศึกษา ดังนั้นในโศลกต่างๆจึงมีการเข้ารหัสเอาไว้ หากแปลออกมาตรงๆก็จะผิดความหมาย หรือไม่ก็แต่งเป็นนิทานเพื่อแฝงนัยสำคัญเอาไว้ ซึ่งช่วยในการจดจำด้วย

ตัวอย่างเช่น นิทานเล่าว่าพระจันทร์นั้นมีภรรยาถึง 27 คน แต่พระจันทร์นั้นรักนางโรหิณีมากที่สุด ความหมายก็คือในทั้ง 27 นักษัตรนั้น เมื่อพระจันทร์โคจรเสวยโรหิณีนักษัตร  พระจันทร์ก็จะได้ตำแหน่ง”มหาอุจน์ดังนี้เป็นต้น  และนิทานชาติเวร “ดาวคู่มิตร-คู่ศัตรู” ของโหราศาสตร์ไทยก็เช่นเดียวกัน

ส่วนในการเข้ารหัสในโศลก ให้ดูตัวอย่างในคัมภีร์ไชมิณีสูตร มีการเข้ารหัสโดยการแปลงจากตัวอักษรเป็นตัวเลข เช่น

1.การแสดงราศีและเรือน ท่านใช้วรรณะ(แบ่งตามฐานในการออกเสียง) หรือเสียงสระเป็นเครื่องหมายแทนราศีและเรือน

2.สำหรับชื่อดาวเคราะห์ท่านไม่ใช้อักษรแต่ใช้ “วิสามานยนาม”เป็นเครื่องแสดงความหมาย (วิสามานยนาม คือ คํานามที่เป็นชื่อเฉพาะ ตั้งขึ้นสําหรับเรียกคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ เพื่อให้รู้ชัดว่าเป็นใครหรืออะไร) เช่น คำว่า”อาระตะ” หมายถึงดาวอังคาร ดังนี้เป็นต้น

แต่สำหรับคัมภีร์นี้มักจะไม่ใช้ชื่อซ้ำกัน ส่วนมากจะใช้เป็น”คำไวพจน์” เช่น ดาวอาทิตย์ อาจจะมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น ทยุมณี ทินกร ทิพากร ทิวากร ประภากร พรมัน ภาณุ ภาณุมาศ ภาสกร รพิ รวิ รวี สุริยง สุริยน สุริยะ สุริยัน สุริยา อหัสกร อังศุมาลี อาคิรา อาภากร อุษณรศมัย ฯลฯ  

3.ใช้อักษรแทนตัวเลข ซึ่งเลขทุกตัวสำหรับการคำนวณสูตรทางคณิตศาสตร์ เมื่อถอดรหัสออกมาแล้วยังจะต้องอ่านกลับด้านคือจากขวาไปซ้าย เช่น อักษร(ร) แทนค่าเลข 2 และอักษร(ม)แทนค่าเลข 5 ได้ค่าเท่ากับ 25 แล้วก็ต้องอ่านกลับ ดังนั้นความหมายจริงก็คือจำนวน 52

ตัวอย่างเช่น ในโศลกที่ 5 มีคำว่า “ทาระ”มีอยู่ 2 ตัวอักษร อักษร (ท) แทนค่าเลข 8 อักษร(ร) แทนค่าเลข 2 เรียงกันเป็น 82 แล้วอ่านกลับได้จำนวน 28 นี่คือตัวเลขที่แท้จริงในโศลก

ดังนั้นในการศึกษาศาสตร์นี้จำเป็นจะต้องมีครูอาจารย์คอยชี้แนะ และได้รับการสืบสายวิชามาอย่างถูกต้อง อีกทั้งต้องมีพื้นฐานเป็นอย่างดีมาก่อนจึงจะสามารถเข้าใจข้อความในโศลกโบราณต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง

หาไม่แล้วการอ่านและศึกษาข้อความจากโศลกในคัมภีร์แต่เพียงอย่างเดียว และขาดพื้นฐานความรู้ที่ดีก็จะทำให้เราอ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดพลาด ตลอดจนถึงเข้าใจผิดไปว่าหลักวิชาผิดพลาด ตำราไม่ถูกต้องไม่แม่นยำ  

**********************************