“ชนมราศี”หรือราศีที่ดาวจันทร์สถิตในพื้นดวงเดิม ซึ่งโหราศาสตร์พระเวทให้ความสำคัญเทียบเท่ากับลัคนา(ชนมลัคน์) เนื่องเพราะในอดีตคนเราไม่มีเครื่องมือวัดเวลาอย่างแม่นยำเหมือนนาฬิกาในสมัยปัจจุบัน ซึ่งนาฬีกาเริ่มแพร่หลายมาเมื่อร้อยกว่าปีเท่านั้นเอง ดังนั้นในการหาลัคนาซึ่งจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือวัดเวลาซึ่งสมัยโบราณก็มีเครื่องมือวัดเวลาคล้ายกับนาฬิกาทุกวันนี้ แต่ก็จำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงหรือนักบวชพราหมณ์ต่างๆ และไม่ได้มีแพร่หลายในทุกครัวเรือนเหมือนปัจจุบัน
ในอดีตเมื่อคนเราถือกำเนิดเกิดมา ก็ได้แต่จดบันทึกวันเดือนปีเกิดในรูปแบบของวันเดือนปีทางจันทรคติ เช่น เดือนอ้าย ขึ้น 4 ค่ำ วันอังคาร เป็นต้น ส่วนเวลานั้นก็กะเวลาเอาคร่าวๆ เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น แค่นั้น หรือก็มีวิธีจำเวลาเกิดแบบโบราณ เช่น เกิดเวลาต้อนวัวเข้าคอก เกิดในเวลาพระตีกลองเพล หรือเวลาพระออกบิณฑบาต ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้จะไม่สามารถกำหนดลัคนาให้แน่ชัดลงไปได้ เพราะใน 1วันลัคนาจะเปลี่ยนไปทุกๆ 2 ชั่วโมงโดยประมาณ (เวลานักษัตร)
สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาเกิดแน่นอน การนำดาวจันทร์มาใช้แทนลัคนา ก็สามารถที่จะทำให้บุคคลเหล่านี้ ซึ่งในอดีตเป็นบุคคลส่วนใหญ่ มารับการพยากรณ์ดวงชาตาได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์มหาศาลต่อชนหมู่มาก
ดังนั้นในการดูดวงชาตาจึงใช้แต่ตำแหน่งของดาวจันทร์ในพื้นดวงว่าสถิตราศีไหน และนำราศีที่จันทร์สถิตย์นั้นนำมากำหนดขึ้นแทนลัคนาเรียกว่า “ชนมราศี หรือ “ชนมจันทร์” “จันทรลัคน์”เพราะจันทร์โคจร 1 ราศีใช้เวลาประมาณ 2.5 วัน และเมื่อเราทราบวันเดือนปีเกิดและเวลาเกิดคร่าวๆแล้ว เราก็จะสามารถจำเพาะเจาะจงลงไปได้ว่าดาวจันทร์จะเสวยฤกษ์อะไรและจะสถิตย์ในราศีใดในดวงชาตา แล้วจึงนำไปพยากรณ์ดวงชาตาได้ดุจลัคนา(ชนมลัคน์)
ในทรรศนะโหราศาสตร์ ลัคนาแทนร่างกาย ส่วนดาวจันทร์นั้นแสดงถึงจิตใจ เมื่อหากเราพยากรณ์ดวงชาตา จากดาวจันทร์นั้น ก็จำต้องเข้าใจในหลักการนี้เสียก่อน ถึงแม้ว่าสองสิ่งนี้นำมาทดแทนกันได้ แต่รายละเอียดในการพยากรณ์ก็อาจจะต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับว่านักพยากรณ์มีความเข้าใจความแตกต่างของลัคนาทั้งสองแบบนี้ได้ดีเพียงใด
ตั้งแต่จวบจนปัจจุบันชาวอินเดียมักให้ความสำคัญกับชนมราศีนี้มาก โดยเฉพาะการตั้งชื่อลูกมักจะใช้ชนมนักษัตร หรือ นักษัตรที่ดาวจันทร์เสวยในแต่ละบาท มักจะใช้เสียงหรืออักษรนำจากนักษัตรบาทนำมาตั้งชื่อให้ลูก ถือว่าเป็นศิริมงคลสมพงศ์กับดวงชาตากำเนิดของลูกน้อย