ในระบบโหราศาสตร์ของภารตะซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับหลายพันนี้ เป็นศาสตร์หนึ่งในคัมภีร์พระเวทและเวทางคะ เรียกว่า โชยติษศาสตร์ ซึ่งมหาฤษีในสมัยโบราณท่านได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน เรียกว่า "สกัณทะ" และแบ่งย่อยอีกเป็น 6 องค์ (อังคะ) มีรายละเอียดดังนี้ (1.)กนิฐตา สกัณทะ ( 2.)สัมหิตา สกัณทะ (3.)โหรา สกัณทะ และได้แบ่งย่อยออกเป็นอีก 6 สาขาวิชา (องค์) มีดังนี้
1.ชาตากะ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการพยากรณ์ดวงชาตาของบุคคล ตามระบบราศีจักร และลัคนา(กุณฑลิ) ผลของดาวเคราะห์ในดวงชาตากำเนิดและดวงจร ผลของดาวเคราะห์เสวยอายุในทศาระบบ นอกจากนี้ระบบของโหราศาสตร์ภารตะยังมีสาขาแยกย่อยออกเป็นหลายสาขา หรือ ระบบ เป็นต้นว่า ระบบของประราสาระมหาฤษี ซึ่งเป็นแม่แบบของโหราศาสตร์ภารตะทั้งหมด และ ระบบโหราศาสตร์ของมหาฤษีไชมินิ นอกจากนี้ก็ยังมีระบบโหราศาสตร์ของแคว้นต่างๆในภารตะ เช่น ระบบของแคว้นเกราล่า ,แคว้นทมิฬนาฑู เป็นต้น
2.โกละ เป็นวิชาที่ว่าด้วยดาราศาสตร์ เช่น ลักษณะของดาวเคราะห์ ระบบจักรวาล คุณสมบัติของพลังงาน รังสีและอิทธิพลของดาวเคราะห์ อิทธิพลของกลุ่มดาวนักษัตรฤกษ์ อิทธิพลของดาวอุปเคราะห์ต่างๆที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ราหูเกตุ มันถิ คุลิกา ยมคัณฑะ ฯลฯ
3.นิมิตตะ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการพยากรณ์จากทำนายนิมิต หรือลางสังหรณ์ต่างๆ โดยใช้โหราปรัศนศาสตร์ มาประกอบการทำนาย เรื่องนิมิตนี้ หรือเคล็ดลาง เป็นเรื่องที่ชาวบ้านทั่วไปคุ้นเคยเป็นอย่างดี และมีประสบการณ์พบเห็นและสามารถทำนายได้ด้วยตนเอง แต่นิมิตตะ ของโหราศาสตร์นั้น มีหลักเกณฑ์ที่พิสูจน์ผลได้แน่นอนกว่า ด้วยมีหลักการคำนวนที่ชัดเจนแม่นยำและอ้างอิงกับหลักวิชาทางการคำนวนทางโหรา-ดาราศาสตร์ และมีคัมภีร์รองรับผสมผสานกับโหราปรัศนศาสตร์
4.ปรัศนะ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการพยากรณ์จากเวลาที่ถาม หรือ เรียกว่า จับยาม กาลชาตา (โหราปรัศนศาสตร์) ซึ่งวิชากาลชาตานี้มีแพร่หลายอยู่ในโหราศาสตร์ทุกๆระบบในภูมิภาคนี้ แต่ของภารตะมีความลุ่มลึกและชัดเจนในการพยากรณ์ผล มีหลักเกณฑ์และวิธีการพยากรณ์อย่างเป็นระบบ การที่จะสามารถนำวิชาปรัศนะศาสตร์มาใช้ได้ ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญในวิชาชาตากะให้ช่ำชองก่อน จึงจะสามารถใช้วิชาปรัศนะได้ดี
5.มุหูรตะ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการคำนวณฤกษ์ยามมงคล หรือการหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำพิธีกรรมหรือกิจกรรมต่าง เพื่อให้กิจกรรมนั้นได้ผลสำเร็จ หรือ คำนวณช่วงเวลาดี-ร้ายต่างๆ ที่มีผลต่อดวงชาตาของบุคคล วิชามุหูรตะ หรือ การให้ฤกษ์นี้นี้ถือเป็นปกรณ์ชั้นสูงของวิชาโหราศาสตร์ภารตะ เพราะถือว่าต้องช่ำชองในสาขาวิชาต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น และวิชานี้ถือว่าสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขผลร้ายที่ปรากฏในพื้นดวงชาตาเดิมได้บางส่วน โดยใช้ฤกษ์ยามที่เป็นศุภผลในการเริ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น พื้นดวงระบุว่าจะมีการอย่าร้าง ก็ต้องหาฤกษ์แต่งงานที่เป็นฤกษ์มงคลตามหลักมุหูรตะเข้าไปช่วยแก้ไข
6.กนิฐตะ เป็นวิชาที่ว่า โหราศาสตร์ภาคคำนวณ โหราคณิตศาสตร์ วิชาตรีโกณมิติ เพื่อคำนวณการโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ ดาวเคราะห์เป็นอัสตะ(ดับ) เพราะรัสมีอาทิตย์ ดาวโคจรไปยังนักษัตรต่างๆ มีหลักคำนวนอยู่ 10 ข้อดังนี้ 1.คำนวนหาวันกาลียุค 2.คำนวณองศาเฉลี่ยของดาวเคราะห์ต่างๆ 3.คำนวนองศาจริงของดาวเคราะห์ต่างๆ 4. การคำนวนสุริยุปราคา 5.จันทรุปราคา 6.ดาวเคราะห์ครหะยุทธ 7.การโคจรของดาวจันทร์ (ดิถี) 8.การคำนวนอาทิตย์อุทัย 9.การคำนวนดาวอาทิตย์สถิตย์ในราศีต่างๆ 10.การคำนวนดาวเคราะห์โคจรและสถิตย์ในนักษัตรฤกษ์
ปราชญ์โบราณท่านอธิบายความสัมพันธ์ของสาขาวิชาต่างๆดังนี้
(1)กนิฐตา สกัณทะ นั้นเป็นภาควิชาที่ต้องเกี่ยวข้องกับวิชาโกละและวิชากนิฐตะ หรือรวมรียกว่า โหราศาสตร์ภาคคำนวณ โดยภาควิชานั้นต้องศึกษา คัมภีร์คำนวณทางโหรา-ดาราศาสตร์ ต่างๆ เช่น คัมภีร์ ปัญจะสิทธานตะ
คัมภีร์ ปัญจะสิทธานตะ ทั้ง 5 คัมภีร์
คัมภีร์ที่นิยมทั่วไปและได้รับแนะนำให้ศึกษาจาก โหราจารย์วราหะมิหิรา ดังนี้ คือ 1.พราหมณะ สิทธานตะ 2.สุริยะ สิทธานตะ 3.วาสิษฐะ สิทธานตะ 4.โรมาษะ สิทธานตะ 5.เปารษะ สิทธานตะ แต่อย่างไรก็ตามก็มีทรรศนะจากคัมภีร์ปรัศนะ มรรคา ได้กล่าวว่า คัมภีร์พราหมณะ สิทธานตะมีความถูกต้อง คัมภีร์โรมาสะมีความถูกต้องกว่าคัมภีร์พราหมณะ และคัมภีร์สุริยะสิทธานตะ มีความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด ส่วนคัมภีร์โรมาษะ และเปารษะ สิทธานตะ กฏเกณฑ์การคำนวนนั้นล้าสมัยไปแล้วและผลการคำนวนนั้นก็ไม่ถูกต้อง
(2)โหรา สกัณทะ เป็นภาควิชาที่ต้องเกี่ยวข้องกับวิชาชาตากะ,ปรัศนะ,มุหูรตะและส่วนหนึ่งของวิชานิมิตตะ ซึ่งอาจจะรวมเรียกว่า โหราศาสตร์ภาคพยากรณ์ ซึ่งมีคัมภีร์ให้ศึกษาเป็นจำนวนมาก เช่น คัมภีร์ประราสาระโหราศาสตรา เป็นต้น
(3)สัมหิตา สกัณทะ เป็นภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชานิมิตาที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก และมีอิทธิพลต่อสภาพดินฟ้าอากาศ พื้นที่ หรือส่งผลต่อบุคคลเป็นจำนวนมาก การเจริญและความเสื่อมของอาณาจักรต่างๆ ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ อื่นๆ เช่น อุตกาบาต หรือ ดาวหาง ปรากฏ ภัยพิบัติ โรคระบาด ฯลฯ ซึ่งเรามักเรียกว่า โหราศาสตร์ดวงเมือง มีคัมภีร์หลักๆเช่น คัมภีร์พฤหัตสัมหิตา เป็นต้น
สรุป โหรภารตะสมัยโบราณท่านต้องเรียนสาขาวิชาทุกสาขาให้เชี่ยวชาญ จึงจะถือว่าเป็นโหราจารย์ ที่มีความสามารถพร้อมที่จะให้คำปรึกษาดวงชาตาให้กับผู้อื่นได้ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งต้องอาจะต้องใช้เวลาศึกษานานนับสิบๆปี ซึ่งต่างกับปัจจุบันนี้เป็นอย่างมาก