หนึ่งในหลักสำคัญของโหราศาสตร์ภารตะ นั่นก็คือ นิจจะภังคะราชาโยค หรือ นิจจะภังคะราชาโชค ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์สำคัญการพิจารณากำลังของดาวเคราะห์และล้วงโทษของดาวเคราะห์ที่เป็นนิจในดวงชาตา ซึ่งโดยหลักทั่วไปถือว่าใครก็ตามที่มีดาวเคราะห์ได้ตำแหน่งนิจ หรือ ตำแหน่งตกต่ำ ในดวงชาตา ถือว่าดาวดวงนั้นให้โทษ ซึ่งผลร้ายจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าชาตามีอายุ 36 ปีล่วงไปแล้ว ผลร้ายของดาวเคราะห์นิจก็จะปรากฏเด่นชัดขึ้น แต่หากในดวงชาตามีกฎล้างโทษดาวเคราะห์นิจ ดาวเคราะห์นั้นก็จะกลับกลายเป็นการให้ผลดีเป็นพิเศษ(ราชาโยค) และผลดีก็จะเกิดขึ้นในทศาของดาวเคราะห์นั้นเสวยอายุ
ดาวเคราะห์ที่เป็นนิจ
โหราศาสตร์ภารตะ ท่านกล่าวว่า ดาวเคราะห์จะเป็นนิจในราศีตรงข้ามกับราศีอุจน์ของดาวเคราะห์นั้น คือ(1) ดาวอาทิตย์ เป็นนิจในราศีตุลย์ (2)ดาวจันทร์เป็นนิจในราศีพิจิก(3) ดาวอังคารเป็นนิจในราศีกรกฎ(4) ดาวพุธเป็นนิจในราศีมีน (5)ดาวพฤหัส เป็นนิจในราศีมังกร (6) ดาวศุกร์เป็นนิจในราศี กันย์ (7) ดาวเสาร์ เป็นนิจในราศีเมษ (8)ดาวราหูเป็นนิจในราศีพิจิก(9) ดาวเกตุ เป็นนิจในราศีพฤษภ
ท่านถือว่าดาวเคราะห์ที่เป็นนิจนั้นอ่อนแอและไร้กำลังที่จะแสดงผลดีของดาวเคราะห์นั้นออกมาได้ และดาวเคราะห์นิจนั้นย่อมแสดงแต่ผลร้ายออกมาในมหาทศาและอนุทศาของดาวเคราะห์ที่เป็นนิจนั้น เว้นแต่จะได้กฏเกณฑ์พิเศษจาก นิจจะภังคะทำให้ดาวเคราะห์นิจนั้นก็จะกลายเป็นดาวให้ผลดี
แต่สำหรับการร่วมหรือได้ศุภโยคใดใดจากดาวเคราะห์ที่เป็นนิจ ก็จะเป็นการทำลายผลของโยคโดยดาวเคราะห์(นิจ)นั้น ด้วยเหตุนี้ถ้าหากเจ้าเรือนที่ 9และที่ 10 จากลัคน์ร่วมด้วยดาวเคราะห์ที่ได้ตำแหน่งนิจในราศี หรือสัมพันธ์กับดาวเคราะห์ที่สถิตในราศีนิจของตัวเอง หรือร่วมกับเจ้าเรือนที่ 8 ซึ่งก็จะกลายเป็น “ราชาโยค ภังคะ”หรือการทำลายผลของราชาโยค ซึ่งหมายความว่า จะให้ผลของราชาโยคในช่วงต้นและจะถูกทำลายไปในภายหลัง
กฏเกณฑ์ของนิจจะภังคะ
กฎของนิจจะภังคะ ก็คือการล้างโทษหรือการเป็นโมฆะของเคราะห์นิจในดวงชาตา คำๆนี้มากจากภาษาสันสกฤตว่า “นิจจะ-ตกต่ำ” และ”ภังคะ-เป็นโมฆะ”
การมีฐานะนิจของดาวเคราะห์นั้นจะเป็นโมฆะ(ล้างโทษนิจ) ด้วยกฏดังนี้
(1)ถ้าหากดาวเกษตรของราศีที่ดาวเคราะห์เป็นนิจนั้นสถิตในเรือนเกณฑ์ต่อลัคนา หรือ ชนมจันทร์ (ราศีที่จันทร์สถิต-จันทรลัคน์) ตัวอย่างเช่น ในชาตาหนึ่ง มีลัคนาอยู่ กรกฏ ดาวจันทร์อยู่ราศีสิงห์ มีดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ ในกรณีนี้เจ้าเรือนของราศีนิจคือดาวอังคาร (เกษตรราศีเมษ) และหากดาวอังคาร ไปสถิตราศีตุลย์ ราศีมังกร ราศีเมษ(เกษตร) หรือราศีกรกฏ(เป็นนิจ) ซึ่งเป็นภพเกณฑ์กับลัคนาราศีกรกฏ ก็จะทำให้ดาวเสาร์ที่เป็นนิจในราศีเมษเป็นโมฆะไป และหากดาวอังคารไปเป็นเกณฑ์กับชนมจันทร์ของชาตานี้ คือ ราศีสิงห์ พิจิก กุมภ์ พฤษภ ก็จะทำให้ดาวเสาร์ที่เป็นนิจเป็นโมฆะเช่นกัน
(2)หรือดาวอุจน์ของราศีที่ดาวเคราะห์ที่เป็นนิจนั้นสถิตย์อยู่สถิตในเรือนเกณฑ์ต่อลัคนา หรือ ชนมจันทร์ ตามชาตาตัวอย่างข้างต้น ดาวอุจน์ของราศีเมษคือดาวอาทิตย์ และหากดาวอาทิตย์ ไปสถิตราศีตุลย์ ราศีมังกร ราศีเมษ(อุจน์) หรือราศีกรกฏ ซึ่งเป็นภพเกณฑ์กับลัคนาราศีกรกฏ ก็จะทำให้ดาวเสาร์ที่เป็นนิจในราศีเมษเป็นโมฆะไป และหากดาวอาทิตย์ไปเป็นเกณฑ์กับชนมจันทร์ของชาตานี้ คือ ราศีสิงห์(เกษตร) พิจิก กุมภ์ พฤษภ ก็จะทำให้ดาวเสาร์ที่เป็นนิจในราศีเมษเป็นโมฆะเช่นกัน
(3)หรือดาวเคราะห์ที่เป็นนิจนั้นได้รับโยคจากเจ้าเรือนเกษตรของราศีนั้น ตามชาตาตัวอย่างข้างต้น ดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ หากได้รับโยคสัมพันธ์จากเกษตรราศีเมษ(อังคาร) เช่น อังคารอยู่ราศีกันย์ (เกณฑ์ 8) อังคารอยู่ราศีตุลย์ (เกณฑ์ 7) อังคารอยู่ราศีมังกร (เกณฑ์ 4) ก็จะทำให้ดาวเสาร์ที่เป็นนิจในราศีเมษเป็นโมฆะเช่นกัน (โดยอังคารมีโยคพิเศษ เรียกว่า วิเศษทฤษฎี ส่งกำลังเต็มที่ไปที่เรือนที่ 4 ที่ 7 และ ที่ 8 ของตำแหน่งที่ตนเองสถิต)
(4)หรือดาวเคราะห์ที่เป็นนิจนั้นได้รับโยคจากดาวอุจน์ของราศีนั้น ตามชาตาตัวอย่างข้างต้น ดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ หากได้รับโยคสัมพันธ์จากดาวอาทิตย์ซึ่งเป็นอุจน์ในราศีเมษ(กุมกัน)ก็จะทำให้ดาวเสาร์ที่เป็นนิจในราศีเมษเป็นโมฆะเช่นกัน
(5)หรือดาวเคราะห์ที่เป็นนิจนั้นสลับเรือนกับเจ้าเรือนเกษตรราศีอื่น(ปริวรรตนเกษตร) ตามชาตาตัวอย่างข้างต้น ดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ หากเจ้าเรือนเกษตรราศีเมษ คืออังคาร ไปสถิตในราศีมังกร หรือ กุมภ์ เรือนของดาวเสาร์ ก็จะทำให้ดาวเสาร์ที่เป็นนิจในราศีเมษเป็นโมฆะเช่นกัน
(6)หรือดาวเคราะห์ที่เป็นนิจได้โยคสัมพันธ์กับดาวนิจในราศีอื่น ตามชาตาตัวอย่างข้างต้น ดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ หาก(1)ดาวอาทิตย์ไปสถิตในราศีตุลย์ เป็น นิจ เล็งกันกับดาวเสาร์ เป็นนิจในราศีเมษ (2) ดาวพฤหัส อยู่ในราศีมังกร เป็น นิจ เป็นเกณฑ์กับ เสาร์ ในราศีเมษ (3) ดาวอังคาร เป็น นิจในราศีกรกฏ เป็นเกณฑ์กับ เสาร์ ในราศีเมษ ก็จะทำให้ดาวเสาร์ที่เป็นนิจในราศีเมษเป็นโมฆะเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีปริศนาที่ลึกลับจากคัมภีร์ปาริชาติชาดก ซึ่งรจนาโดยโหราจารย์ วิทยานารถ ทิคสิทฐะ กล่าวว่าดาวเคราะห์ที่เป็นนิจจะเป็นโมฆะเมื่อสถิตย์ในเวลาเกิด
(7)ดาวเคราะห์เป็นนิจในราศีแต่เป็นอุจน์ในนวางศ์จักร ตามชาตาตัวอย่างข้างต้น ดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ หากดาวเสาร์เสวยนวางศ์ราศีตุลย์ซึ่งเป็นอุจน์ในนวางศ์
(8)ดาวเคราะห์เป็นนิจในราศีแต่ได้กำลังจากอัษฏกวรรค (อัษฏกะวีระค์) เช่น การได้กำลัง”พินทุ”จากระบบฐานกำลังของอัษฏกวรรค
(9) ดาวเจ้านวางศ์ของดาวเคราะห์ที่เป็นนิจอยู่ในภพเกณฑ์หรือตรีโกณแก่ลัคน์ในจรราศี ตามชาตาตัวอย่างข้างต้น ดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ สถิตในนวางศ์ราศีกรกฏ (นวางศ์ที่ 4) ผลจะเป็นการล้างโทษของดาวนิจ คือ เมื่อ(1) ดาวจันทร์เจ้าราศีกรกฏสถิตย์อยู่ในเรือนเกณฑ์หรือตรีโกณกับลัคนา (ซึ่งลัคนาต้องเป็นจรราศีเท่านั้น) หรือ(2)เจ้าเรือนลัคนา ต้องสถิตในจรราศี เท่านั้น หมายความความ ลัคนาอาจะเป็นได้ทั้ง สถิรราศี หรือ อุภัยราศี(ทวิภาวะ) แต่เจ้าเรือนลัคน์นั้นต้องสถิตย์อยู่ในจรราศี จึงจะเข้ากับกฏเกณฑ์นี้
(10) ผลของเจ้าราศีอุจน์ที่สัมพันธ์กับเจ้าราศีนิจตรีโกณต่อกัน ท่านกล่าวว่าหากดาวเจ้าราศีอุจน์ของราศีที่ดาวเคราะห์นิจสถิตอยู่ ทำมุมตรีโกณกับเจ้าราศีอุจน์ของดาวเคราะห์นิจดวงนั้น ตามชาตาตัวอย่างข้างต้น ดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ เจ้าราศีอุจน์ของเมษคือ อาทิตย์ และดาวเสาร์ที่เป็นนิจจะเป็นอุจน์ในราศีตุลย์เรือนของศุกร์ ดังนั้นเมื่อ อาทิตย์และศุกร์ทำมุมตรีโกณต่อกัน ย่อมเป็น นิจจภังคะ สลายโทษของการเป็นนิจ
(11) ผลของเจ้าราศีอุจน์ที่สัมพันธ์กับเจ้าราศีนิจเป็นเกณฑ์ต่อลัคนาและชนมจันทร์ ท่านกล่าวว่าหากดาวเจ้าราศีอุจน์และเจ้าราศีนิจของดาวเคราะห์นิจ ทั้งสองดวงเป็นเกณฑ์กับลัคนาหรือชนมจันทร์ หรือทั้งสองดวงกับตรีโกณกับลัคนาหรือชนมจันทร์ ท่านว่า ราชาโยคจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเงื่อนไขร่วมกัน 3 ข้อดังนี้
(1) ดาวที่เป็นนิจนั้นต้องเป็นเจ้าเรือนศุภผล คือต้องไม่เป็นเจ้าเรือนทุสถานะ(6,8,12) หรือเจ้าเรือนตรีษัฑทายะ(3,6,11)หรือเจ้าเรือนมารกะสถานะ(2,7) และ
(2)ต้องสถิตในภพเกณฑ์โดยให้ศุภผล คือไม่มีเกณฑราธิปติโทษ(โทษจากศุภเคราะห์ที่เป็นเจ้าเรือนเกณฑ์) หรือ เป็นดาวศุภเคราะห์ (เพราะดาวศุภเคราะห์สิถตย์ในภพเกณฑ์ย่อมไม่ให้คุณ)
(3)ต้องสถิตในเรือนมิตร ซึ่งจะเป็นผลให้ดาวเคราะห์นิจฟื้น กลับกลายเป็นให้คุณ
อธิบายตามตัวอย่าง ดาวเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ ดาวเจ้าราศีอุจน์ คือศุกร์ และเจ้าราศีนิจของดาวเคราะห์นิจ คืออังคาร ทั้งสองดวง เสาร์-อังคาร เป็นเกณฑ์/ตรีโกณ กับลัคนาหรือชนมจันทร์
(1) ดาวที่เป็นนิจนั้นต้องเป็นเจ้าเรือนศุภผล คือไม่เป็นเจ้าเรือนทุสถานะ(6,8,12) หรือเจ้าเรือนตรีษัฑทายะ(3,6,11)หรือเจ้าเรือนมารกะสถานะ ในกรณีนี้ดาวเสาร์เป็นเจ้าเรือนที่ 11 (ตรีษัฑทายะ) จากลัคนาราศีเมษ จึงไม่เข้ากฏเกณฑ์
(2)ต้องสถิตในภพเกณฑ์โดยให้ศุภผล คือไม่มีเกณฑราธิปติโทษ(โทษจากศุภเคราะห์ที่เป็นเจ้าเรือนเกณฑ์) หรือ เป็นดาวศุภเคราะห์ (เพราะดาวศุภเคราะห์สิถตย์ในภพเกณฑ์ย่อมไม่ให้คุณ)
ในกรณีนี้ดาวเสาร์อยู่ราศีเมษ หากสถิตย์ในภพเกณฑ์กับลัคนา ดังนั้นลัคนาเจ้าชาตาจะต้องเป็นราศีเมษ กรกฏ ตุลย์ และ มังกร
ก. หากลัคนาเป็นราศีเมษ (เสาร์ไม่เข้ากฎที่1)
ข. หากลัคนาเป็นราศีกรกฏ เข้าเงื่อนไขบางข้อคือ เสาร์ไม่เป็นศุภเคราะห์ และไม่มีเกณฑราธิปติโทษ แต่เสาร์เป็นเจ้าเรือนที่ 7 (มารกะสถาน)และที่8 (ทุสถานะ)
ค. หากลัคนาเป็นราศีตุลย์ เข้าเงื่อนไข ข้อ 1และข้อ 2 คือ เสาร์ไม่เป็นศุภเคราะห์ และไม่มีเกณฑราธิปติโทษ และเสาร์ไม่เป็นมารกะสถาน ตรีษัฑทายะ และ ทุสถานะ
ง. หากลัคนาเป็นราศีมังกร เสาร์เป็นเจ้าเรือนที่ 2 มารกะสถานะ ดังนั้นจึงไม่เข้ากฏเกณฑ์
ดังนั้นในกฎนี้จากชาตาตัวอย่าง เสาร์จะเข้ากฎข้อ1, 2 ได้คือลัคนาราศีตุลย์ มีเสาร์เป็นนิจในราศีเมษ แต่สำหรับข้อ 3เงื่อนไขคือต้องเป็นเรือนคู่มิตร ซึ่งดาวเสาร์เป็นศัตรูกับอังคารโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่เข้ากฎข้อ 3
****************************************************************************************