นทิ เป็นหนึ่งในกูฏะสำคัญในการทำการคำนวณหาดวงคู่สมพงษ์สำหรับการแต่งงาน (มหากูฏะ 8 ประการ) ของคู่บ่าวสาว ในโหราศาสตร์พระเวทหรือโหราศาสตร์ภารตะ “นทิ”จะเป็นตัวสำคัญในการบ่งบอกถึง ความเข้ากันได้ระหว่างเชื้อสาย พันธุกรรม กรรมพันธ์และสุขภาพของดวงชาตาของคู่ชายหญิงที่จะแต่งงานกัน
ในการคำนวนหาดวงคู่สมพงษ์ระหว่างชาย-หญิงในการสมรส ในระบบมหากูฎะนี้มีทั้งหมด 36 คะแนน ซึ่ง”นทิกูฎะ”มีคะแนนถึง 8 คะแนนจาก 36 ซึ่งถือว่ามีผลมากเกือบ 1 ใน 4 ของผลรวมคะแนนสำหรับหาดวงคู่สมพงษ์ “นทิ”จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการคำนวนตามหลักโหราศาสตร์ ในระบบมหากูฏะนี้ ความขัดแย้ง ระหว่างสอง”นทิ”ของ ชาย-หญิง เรียกว่าเป็น “นทิโทษ” และ โดยหลักทั่วไปถือว่าเป็นโทษที่รุนแรงสำหรับการแต่งงาน
“นทิโทษ” กฎทั่วไปกล่าวว่า นทิโทษจะเกิดขึ้นได้ถ้าชนมราศี(จันทร์กำเนิด)ของชายและหญิงสถิตย์ภายในราศี,นักษัตร,นวางศ์ เดียวกันถือว่าเป็น นทิโทษ
สำหรับนักษัตรกำเนิด หรือจันทร์กำเนิดเสวยนักษัตรใดใด ซึ่งการคำนวณหา นทิโทษ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนเริ่มต้น(อัทธะ) กลาง(มัธยะ) และส่วนปลาย (อันตระ) โดยคำนวณมากจากหลักของอายุรเวท ที่แบ่งอารมณ์สมุฐานของมนุษย์ออกเป็นสามส่วน คือ
(1) วาตะ หมายถึงอารมณ์ที่ไม่เป็นแก่นสาร คือส่วน อัทธะ
(2) ปิตะ อารมณ์ร้อนแรงฉุนเฉียว คือส่วน มัธยะ
(3) เศลษม อารมณ์เฉื่อยชาเฉยเมย คือส่วน อันตระ
ซึ่งชายและหญิงนักษัตรกำเนิดตกในอารมณ์สมุฏฐานเดียวกันจะสมรสกันไม่ได้ เช่น ชายตกปิตะและหญิงตกปิตะเช่นเดียวกันจะไม่เป็นมงคลแก่การสมรส หาความราบรื่นในชีวิตสมรสได้ยาก และควรจะตกอารมณ์สมุฏฐานต่างกันจึงจะถือว่าไม่เป็นนทิโทษ และชีวิตสมรสจะราบรื่นไปด้วยดี
การจัดหมวดหมู่ของนทิทั้ง 3 ส่วนตามนักษัตร มีดังนี้ –
(1) ส่วนเริ่มต้น(อัทธะ) วาตะ หมายถึงอารมณ์ที่ไม่เป็นแก่นสาร มีนักษัตรดังนี้ – อัศวินี,อารทรา,ปุนรวสุ,อุตรผลคุนี,หัสตะ,เชษฐะ,มูลละ,ศตภิษก,ปูรพภัทร
(2) กลาง(มัธยะ) ปิตะ อารมณ์ร้อนแรงฉุนเฉียว มีนักษัตรดังนี้ –ภรณี,มฤคศิระ,ปุษยะ,ปูรพผลคุนี,จิตตะ,อนุราธะ,ปูรพาษาฒ,ธนิษฐะ,อุตรภัทร
(3) ส่วนปลาย (อันตระ) เศลษม อารมณ์เฉื่อยชาเฉยเมย มีนักษัตรดังนี้ –กฤติกา,โรหินี,อาศเลษะ,มาฆะ,สวาติ,วิศาขะ,อุตราษาฒ,ศรวณะ,เรวดี
ตัวอย่าง เช่น จันทร์ของฝ่ายชายสถิตในภรณีนักษัตร (ปิตะ) ส่วนจันทร์ของฝ่ายหญิงสถิตในอนุราธะนักษัตร(ปิตะ) ซึ่งถือว่านักษัตรกำเนิดของชายและหญิงตกในอารมณ์สมฐานเดียวกัน คือ “ปิตะ” ย่อมทำให้เกิด “นทิโทษ
ผลร้ายของนทิโทษ
ผลร้ายของ”นทิโทษ” ทางโหราศาสตร์ภารตะเชื่อว่าจะทำให้โทษร้ายต่อชีวิตคู่ และโทษร้ายอื่นๆ เช่น
(1)เกิดบุตรหลานที่พิการหรือไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อย
(2)บุตรหลานเป็นโรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรม
(3)มีความสัมพันธ์ที่เปราะบาง
(4)มีทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอ
(5)มีการแท้งบุตรบ่อยครั้งและการทำแท้ง
(6)ขาดความทุ่มเทต่อครอบครัว
(7)คู่ครองมีใจแปรปรวนรวนเร ไม่แน่นอน
(8)ขาดความหลงใหลซึ่งกันและกัน
(9)ขาดประสาทสัมผัสอันอบอุ่น
(10)ขาดความร่วมมือร่วมใจกัน
(11)ขาดความสามัคคีในชีวิตแต่งงาน
(12)เกิดความเข้าใจผิดบ่อยครั้ง
ข้อยกเว้นนทิโทษ
แต่อย่างไรก็ตามโหราจารย์ชาวอินเดียบางท่านมีมติและสรุปข้อยกเว้นสำหรับนทิโทษดังนี้
- หากดวงชาตาชายหญิง มีดาวจันทร์สถิตย์ราศีเดียวกันแต่ต่างนักษัตรกัน จะไม่เป็น นทิโทษ
- และในทางกลับกัน หากชายหญิงเกิดภายใต้นักษัตรเดียวกันแต่ต่างราศีกัน ก็จะไม่เป็น นทิโทษ เช่นกัน
- และหากชายหญิงเกิดภายใต้นักษัตรเดียวกัน ราศีเดียวกัน แต่นวาศ์ต่างกัน ก็จะไม่เป็น นทิโทษเช่นกัน
- สำหรับดวงชาตาชายหรือหญิงที่มีนทิโทษ โหราจารย์ควรตรวจสอบเรือนที่ 5 (ภพปุตตะ) ของทั้งสองเพราะเป็นเรือนที่เกี่ยวกับบุตรว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่
- นอกจากนี้ควรตรวจสอบตำแหน่งดาวพฤหัสของทั้งสองคนว่ามีตำแหน่งเสียหรือไม่ เพราะดาวพฤหัสคือ ปุตตะ การกะ (ดาวที่มีความหมายถึงการมีบุตร)
- นทิโทษ ยังบ่งบอกถึงความตายของคู่สามี-ภรรยา หากคนใดคนหนึ่งมีนทิโทษ ที่ตกลงในส่วนกลาง(มัธยะ)และส่วนปลาย (อันตระ)
- หากคู่สมรสชาย-หญิงได้ศุภผลจากราศีกูฏะ ผลร้ายของนทิโทษจะหมดสิ้นไป
- หากดาวเคราะห์เจ้าเรือนชนมราศี(เจ้าเรือนลัคน์)ของคู่สมรสชาย-หญิงเป็นดาวเคราะห์เดียวกัน ผลร้ายของนทิโทษจะหมดสิ้นไป
- หากดาวเคราะห์เจ้าเรือนชนมราศี(เจ้าเรือนลัคน์)ของคู่สมรสชาย-หญิงเป็นมิตรกัน ผลร้ายของนทิโทษจะหมดสิ้นไป
ผลกระทบที่เลวร้ายจาก “โทษ” ต่างๆในดวงชาตาสามารถลดลงได้ ด้วยวิธีการทางโหราศาสตร์ของฮินดู เช่น พิธีบูชาเคราะห์ , การใช้ยันต์ต่างๆในการแก้ดวงชาตา , การใช้อัญมณีมาเป็นเครื่องประดับ ,การสวดมนต์ และ การทำการกุศลเป็นต้น