ความแตกต่างระหว่างโหราศาสตร์ตะวันตกกับโหราศาสตร์ฮินดู(ภารตะ)
วิชาโหราศาสตร์ในปัจจุบันมีระบบในการคำนวนและทำนายดวงชาตาหลากหลายทฤษฎีและหลากหลายศาสตร์วิชาในการพยากรณ์ ทุกวันนี้วิชาโหราศาสตร์แพร่หลายกันมากขึ้นทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก โดยเฉพาะการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการโคจรของดวงดาวและจักรราศีถือว่าเป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งตอนนี้ถือว่ามีสองค่ายใหญ่ๆ ก็คือ โหราศาสตร์ตะวันตก และโหราศาสตร์ฮินดู-ภารตะ หรือโหราศาสตร์พระเวท ทั้งสองค่ายต่างก็มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับพันๆปี นัยว่าในอดีตอาจจะพัฒนามาจากแหล่งที่มาเดียวกันก็เป็นได้ หลักๆของโหราศาสตร์ตะวันตกนั้นมีการพัฒนามาจากระบบจักรราศีเคลื่อนที่(ระบบสายนะ) ส่วนโหราศาสตร์ฮินดูนั้นพัฒนามาจากระบบจักรราศีคงที่ (ระบบนิรายนะ) แต่สิ่งที่แตกต่างกันในสองค่ายหรือสองระบบนี้ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆอีกมากมาย โดยมีรายละเอียดที่กล่าวดังต่อไปนี้
1.ระบบจักรราศี
ในระบบสายนะ หรือระบบโหรตะวันตกนั้นการกำหนดจุดเริ่มต้นและการแบ่งจักรราศีออกเป็น 12 ราศี ถือเอาระบบที่เรียกว่า Tropical Zodiac ซึ่งคิดคำนวณจากวงโคจรของดวงอาทิตย์ที่โคจรไปจุดต่างๆรอบโลก ผ่านจุดแบ่งฤดูกาลทั้ง 4 และเมื่อหากพระอาทิตย์โคจรผ่านจุดเส้นศูนย์สูตรปัดไปทางเหนือก็เป็นจุดเริ่มต้นของราศีเมษ และหากปัดใต้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของราศีตุลย์ในระบบนี้เช่นกัน
ส่วนระบบนิรายนะหรือโหรฮินดูนั้นใช้ระบบจักราศีคงที่เรียกว่าSidereal Zodiac ซึ่งอ้างอิงจุดต่างๆในจักรราศีจากกลุ่มดาวฤกษ์บนท้องฟ้า โดยจุดเริ่มต้นของราศีเมษคำนวณมาจากจุดเล็ง 180 องศาจากกลุ่มดาวฤกษ์Spica และเพิ่มมุมต่างๆไปอีกมุมละ 30 องศา จนครบ 12 ราศีดังนั้นเมื่อดาวเคราะห์โคจรบนท้องฟ้าเมื่อปรากฏในโหราศาสตร์สองระบบนี้อาจจะอยู่ในราศีแตกต่างกัน
2.เรือนชาตา
โหรตะวันตกมักจะมีการใช้ระบบเรือนชาตาแบบหลากหลาย แต่ส่วนมากจะใช้จุดเริ่มต้นของเรือนที่1 จากองศาของลัคนาและหรือใช้องศาของลัคนาเป็นจุดศูนย์กลางของเรือนที่ 1(โดยไม่คำนึงถึงราศี) ส่วนโหรฮินดูนั้นส่วนมากจะใช้ราศีของลัคนานั้นเองเป็นเรือนที่ 1(โดยไม่คำนึงถึงองศาที่ลัคนาเกาะ) ซึ่งความหมายและอาณาเขตของเรือนต่างๆในระบบโหรฮินดูนั้นก็คืออาณาเขตของราศีนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามโหรฮินดูบางระบบก็ใช้องศาของลัคนาเป็นตัวกำหนดของเขตของเรือนชาตาเหมือนโหรตะวันตก ซึ่งในกรณีนี้เรือนชาตากับราศีจะมีขอบเขตแตกต่างกัน
3.ดาวเคราะห์และดาวเจ้าราศี
โหรตะวันตกมักจะใช้ดาวเคราะห์ทั้งหมดในระบบสุริยะทั้งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและมองไม่เห็นเช่น ยูเรนัส (มฤตยู) เนปจูนและพลูโต ยูเรนัส (มฤตยู) เป็นดาวเจ้าราศีในราศีกุมภ์ เนปจูนเป็นดาวเจ้าราศีในราศีมีน และพลูโตเป็นดาวเจ้าราศีพิจิก ส่วนโหรฮินดูใช้เฉพาะดาวเคราะห์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น ตั้งแต่ ดาวอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ และเสาร์ ซึ่งเสาร์เป็นดาวเคราะห์ครองทั้งราศีมังกรและกุมภ์ โดยดาวเกษตรของโหรทั้งสองระบบที่เหมือนกันก็คือราศีเมษครองด้วยดาวอังคาร ราศีพฤษภ-ดาวศุกร์ ราศีมิถุน-ดาวพุธ ราศีกรกฏ-ดาวจันทร์ ราศีสิงห์-ดาวอาทิตย์ ราศีกันย์-ดาวพุธ ราศีตุลย์-ดาวศุกร์
4.ระยะเชิงมุมสัมพันธ์
โหรตะวันตกมักนิยมใช้ระยะเชิงมุมหลากหลายชนิดในการหาความสัมพันธ์ของดาวดาวต่างๆเพื่อนำไปใช้ในการพยากรณ์ ซึ่งเรียกว่า ระบบเชิงมุมของปโตเลมี เช่นการกุมกันหรือ 0 องศา โยคหรือ60องศา เกณฑ์หรือ 90 องศา ตรีโกณหรือ 120องศา และมุมเล็ง 180 องศา (conjunction , sextile, square, trine, and opposition) และมุมเอื้อมหรือ orbs ซึ่งอยู่ในระยะ 10 องศาหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับประเภทของเชิงมุมนั้นๆ การคำนวณระยะเชิงมุมนี้ไม่ได้ทำเฉพาะแต่ดาวเคราะห์ต่างๆเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจุดของลัคนาและจุดจอมฟ้า( Midheaven )ในดวงชาตาอีกด้วย
สำหรับโหรฮินดูใช้ระยะเชิงมุมหรือองศาสัมพันธ์จากราศีต่างๆ ซึ่งรวมถึงเชิงมุมสัมพันธ์ที่ละเอียดลึกลงไปในวรรคต่างๆ เชิงมุมมีตั้งแต่ระยะ 10 องศา 3.20 องศา และละเอียดไปถึงระยะ 30 ลิปดา เช่นตรียางค์ นวางศ์ สัปตางศะ ในวรรคทั้ง 16 วรรค (โษทสวรรค) นอกจากนี้ดาวเคราะห์บางชนิดก็มีเชิงมุมพิเศษ เรียกว่า”วิเศษทฤษฏี” เช่น ดาวเสาร์มีระยะเชิงมุมส่งกำลัง 100 เปอร์เซ็นต์ไปยังเรือนที่ 3 และที่ 10 จากเรือนที่ตนเองสถิต หรือดาวอังคารมีระยะเชิงมุมไปยังเรือนที่ 4 และที่ 8 จากเรือนที่ตนเองสถิต ดาวพฤหัสมีระยะเชิงมุมไปยังเรือนที่ 5และ 9 จากเรือนที่ตนเองสถิต นอกจากนี้ยังมีเชิงมุมพิเศษที่สัมพันธ์กันระหว่างดาวเคราะห์ต่างๆ เรียกว่า โยค หรือ โชค ส่งผลพิเศษในเฉพาะเรื่อง เช่น ดาวจันทร์สัมพันธ์เชิงมุม 90 องศากับดาวพฤหัส ทำให้เกิดโยคพิเศษ เรียกว่า คชเกษริโยค ให้ผลดีในเรื่องชื่อเสียงและทรัพย์สิน เป็นต้น
5 กำลังของดาวเคราะห์
ในการวินิฉัยว่าดาวเคราห์ดวงใดที่มีพลัง(เข็มแข็ง)และหมดพลัง(อ่อนแอ)ในดวงชาตา โหราศาสตร์ทั้งสองระบบนี้มีการวินิจฉัยแตกต่างกัน โดยในโหรตะวันตกถือว่า ดาวดวงใดที่อยู่ในอาการวิกลคติพักรหรือถอยหลัง retrograde planets ถือว่าเป็นดาวที่อ่อนแอหมดพลัง ส่วนโหรฮินดูนั้นเน้นไปที่การวินิจฉัยลักษณะอาการของดาวเคราะห์ที่ปรากฏและสามารถมองเห็นได้ โดยลักษณะวิกลคติพักรเดียวกันนี้โหรฮินดูถือว่าเป็นดาวเคราะห์ที่ทรงพลัง มีกำลังมาก(ในการวินิจฉัยกรุณาศึกษาในบทความเรื่อง”ษัฑพละ กำลังของดาว” เพิ่มเติม) เพราะถือว่าเมื่อดาวเคราะห์กำลังเกิดอาการวิกลคติพักรนั้น คือการโคจรเข้าใกล้โลกมาที่สุด และมีแสงสว่างและขนาดใหญ่กว่าปกติเมื่อมองเห็นด้วยตาเปล่า
ตำแหน่งอุจและนิจ-ส่วนโหรตะวันตกเมื่อเห็นดาวเคราะห์สถิตตรงข้ามกับเรือนเกษตรของตน(โหรไทยเรียกว่าประ) ก็ถือว่าดาวเคราะห์นั้นอ่อนกำลัง แต่สำหรับโหรฮินดูถือเอาเฉพาะดาวเคราะห์ที่สถิตตรงข้ามกับเรือนอุจน์ของดาวเคราะห์นั้น ว่าเป็นดาวอ่อนกำลัง(ดาวเป็นนิจ)
ดาวดับ- สำหรับเรื่องดาวเคราะห์ดับ หรือเป็นอัสตะ(ถูกเผาไหม้เพราะอยู่ใกล้กับดาวอาทิตย์) โหรตะวันตกมักไม่ค่อยได้ใช้ ส่วนโหรฮินดูกลับถือว่าเป็นหลักสำคัญในการวินิจฉัยดวงชาตา โดยถือว่าดาวเคราะห์จะดับได้ต่อเมื่ออยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ตั้งแต่ 3-6 องศา ซึ่งดาวดับนี้ถือว่าเป็นดาวที่อ่อนกำลังมาก
ดิถี -ของดวงจันทร์ก็เป็นส่วนสำคัญ โหรตะวันตกแบ่งดิถีออกเป็น 8 ดิถี ในรอบเดือนจันทรคติ และไม่ได้นำไปวินิจฉัยในเรื่องกำลังของดิถีเหมือนโหรฮินดู ซึ่งให้ความสำคัญมากในเรื่องกำลังของดวงจันทร์จากดิถี โดยแบ่งออกเป็น 30 ดิถีในรอบเดือนจันทรคติ โดยถือว่าดาวจันทร์จะอ่อนกำลังในระหว่าง 72 องศาจากดาวอาทิตย์หรือดิถีขึ้น 7 ค่ำถึงแรม 8 ค่ำเป็นดิถีที่ส่งกำลังให้กับดาวจันทร์ นอกจากนี้ถือว่าอ่อนกำลัง
ดาวเคราะห์ยุทธ-โหรฮินดูถือว่าดาวเคราะห์ 2ดวงขึ้นไปกุมกันภายในองศาเดียวกัน ถือว่าเป็นดาวเคราะห์ยุทธ หรือดาวเคราะห์กำลังต่อสู้กัน ดาวเคราะห์ที่ชนะเคราะห์ยุทธถือว่าได้กำลังจากดาวเคราะห์ดวงที่แพ้เคราะห์ยุทธ (การวินิจฉัยการต่อสู้กันระหว่างสองดาวเคราะห์ต้องใช้การคำนวนด้วยวิธีพิเศษ) ส่วนโหรตะวันตกไม่มีการวินิจฉัยในเรื่องนี้
กำลังจากนวางศ์จักร- กำลังที่ได้จากดวงนวางศ์ที่เจ้าราศีและเจ้านวางศ์เป็นดาวเคราะห์เดียวกันเรียกว่า”วรโคตรมนวางศ์” ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่ให้คุณพิเศษ แต่โหรตะวันตกไม่ได้ใช้ส่วนนี้
กำลังจากทิศ-โหรฮินดูมีระบบการคำนวนกำลังดาวเคราะห์พิเศษ 6 อย่าง เรียกว่า ษัฑพละ โดยหนึ่งในระบบษัฑพละ เรียกว่า “ทิคะพละ” ก็คือการได้กำลังจากทิศที่ดาวเคราะห์นั้นสถิตย์ ซึ่งดาวเคราะห์ใดจะได้กำลังจากทิศมีกฏเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้แน่นอน เช่น ดาวพฤหัสกับดาวพุธจะได้กำลังจากทิศก็ต่อเมื่อสถิตย์ในเรือนที่ 1ดาวจันทร์และดาวศุกร์ได้กำลังจากทิศเมื่อสถิตในเรือนที่ 4 อาทิตย์และอังคารในเรือนที่10และดาวเสาร์ได้กำลังในเรือนที่ 7ส่วนโหรตะวันตกไม่ได้ใช้ในส่วนนี้
สรุปว่าในการวินิจฉันเรื่องกำลังของดาวเคราะห์ในโหราศาสตร์ทั้งสองระบบนั้นมีข้อปลีกย่อยแตกต่างกันเป็นอย่างมาก จนบางครั้งดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่านักโหราศาสตร์ใช้ระบบใดเป็นหลัก และเกณฑ์การวินิจอื่นๆประกอบร่วมด้วย
6 ดาวเคราะห์ให้ผลดี-ร้าย(ศุภเคราะห์-ปาปเคราะห์)
สำหรับโหรฮินดูมักจะโดดเด่นในเรื่องการวินิจฉัยดาวเคราะห์ในแบบต่างๆกันโดยเฉพาะในเรื่องการให้คุณและโทษของดาวเคราะห์ ซึ่งเรียกว่าศุภเคราะห์และปาปเคราะห์ เช่น ดาวพุธเป็นดาวศุภเคราะห์ ยกเว้นดาวพุธได้รับอิทธิพลจากดาวบาปเคราะห์ ดาวพุธก็จะได้อิทธิพลจนกลายเป็นดาวบาปเคราะห์ ดาวจันทร์เป็นดาวศุภเคราะห์ ยกเว้นอยู่ในระยะ 72 องศาจากดาวอาทิตย์ ดาวจันทร์ก็จะกลายเป็นปาปเคราะห์ และจะให้ผลร้าย ส่วนดาวพฤหัสและดาวศุกร์เป็นดาวศุภเคราะห์ให้คุณ ดาวอาทิตย์ อังคารเสาร์ ราหู เกตุ ล้สนเป็นดาวปปาเคราะห์ให้โทษ ส่วนโหรตะวันตกในเรื่องดาวดี-ร้ายนี้มีการอธิบายไม่ค่อยชัดเจนนัก
7.เรือนชาตา
ในโหรตะวันตกเรือนชาตามักจะใช้ความหายค่อนข้างแคบ และเน้นหนักในเรื่องระยะเชิงมุมสัมพันธ์ระหว่างดาวเคราะห์ ส่วนโหรฮินดูเรือนชาตาหรือภพจะมีความหมายหลากหลายมากกว่า และมีการแบ่งเรือนชาตาที่ดี-ชั่ว (ทุสถานะภพ) มีการแบ่งเป็นเรือนที่ส่งเสริมสนับสนุน (เรือนอุปปัจัย) และเรือนขัดขวางทำลาย (รือนอปัจจัย) เรือนที่มีพลังมาก (เกณฑร์) เรือนที่เกื้อหนุน (ตรีโกณ) ฯลฯ
8.ทศา-หรือการทำนายช่วงเวลาของเหตุการณ์ ในโหรตะวันตกมักจะคำนวณมากในรูปแบบของเชิงมุมสัมพันธ์ระหว่างดาวเคราะห์ต่างๆ และทำนายผลที่เกิดขึ้นในอดีตและอนาคตจากเชิงมุมเหล่านี้ ส่วนโหรฮินดูมักจะใช้ระบบทศา(ทักษา) หีชือดาวเสวยอายุเป็นตัวบ่งชี้ปรากฏกาณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต
9.กลุ่มดาวนักษัตร-ในโหรตะวันตกบางสำนักอาจจะมีการใช้อิทธิพลของกลุ่มดาวนักษัตรเข้ามาช่วยในการทำนายปรากกการณ์ต่างๆ แต่ในโหรฮินดูกลับใช้กลุ่มดาวนักษัตรเป็นแม่บทหลักในการทำนายและบ่งชี้ปรากฏการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในการใช้คำนวณทศาทุกระบบและการ
10.ส่วนย่อยของจักราศี – ในโหรฮินดูเรียกว่า”วรรค” หรือการแบ่งจักราศีออกเป็นส่วนต่างๆกันโดยแบ่งออกเป็นส่วนละ 30 องศาเรียกว่า ราศี และ 10 องศาเรียกว่าตรียางค์ และ 3องศา 20 ลิปดาเรียกว่านวางศ์ และย่อยออกเป็นอย่างละเอียดถึง ส่วนละ 30 ลิปดา ซึ่งวรรคทั้งหมดมีถึง 16 วรรค หรือ 16 ส่วน (โษทศวรรค) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยดวงชาตาในเรื่องต่างๆกัน โดยโหรตะวันตกไม่มีในส่วนนี้
สรุปในการวิเคราะห์และวินิจฉัยดวงชาตาของโหราศาสตร์ทั้งสองระบบ มีความแตกต่างอย่างชัดเจนทั้งวิธีการและทฤษฏี ซึ่งต่างก็ได้รับการพัฒนามาหลายพันปี และผลลัพธ์ในการทำนายก็มีความแม่นยำแตกต่างกัน ความสำคัญและประโยชน์ของโหราศาสตร์ทั้งสองระบบนี้ก็ขึ้นกับบริบทของแต่ละสังคมที่จะนำไปไปใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดผลได้โดยสมบูรณ์