ตรียางค์ ในโหราศาสตร์พระเวท คืออะไร ใช้อย่างไร ตอนที่ 1
ในโหราศาสตร์ไทย เรามักจะพบเห็นบ่อยๆ เวลาผูกดวงชะตา ก็มักจะต้องมีราศีจักร นวางศ์จักร และตรียางค์จักร 3 ดวงนี้ประกอบกันเสมอ แต่กลับมีคนใช้น้อยกว่าดวงราศีจักรและนวางค์จักร หรือไม่เคยใช้เลยก็มี หรือเพราะไม่รู้จักวิธีใช้
เวลาเราศึกษาโหราศาสตร์ไทยตรงไหนที่เราไม่เข้าใจ หรือไม่มีคำอธิบายให้กับเรา ก็ให้กลับไปศึกษาต้นตำหรับหรือครูของโหราศาสตร์ไทย ซึ่งก็คือโหราศาสตร์ภารตะ หรือ โหราศาสตร์พระเวท ก็จะทำให้เราเข้าใจโหราศาสตร์ไทยได้มากและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
คำว่า”ตรียางค์” ในโหราศาสตร์ไทยมาจากคำว่า ตรี+อังคะ หรือ 3 ส่วน หรือ D3 ซึ่งนำมาจาก 1 ใน16 วรรคในโหราศาสตร์พระเวท (षोडसवर्ग โษฑสวรรค-โษทศวรรค) คำว่า “ตรียางค์” ในโหราศาสตร์พระเวท เรียกว่า เทรษกาณะ द्रेष्काण หรือ เทรกกาณะ द्रेक्काण
ตรียางค์ หรือ เทรษกาณะ ( D3 Chart) มีความกว้าง 10 องศา ราศีละ 3 ตรียางค์ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 36 ตรียางค์ในจักรราศี หรือเรียว่า แผนภูมิเทรษกาณะ หรือ"เดกันเต"
ดวงตรียางค์ มีไว้สำหรับใช้ในการพยากรณ์ดวงชะตาเกี่ยวกับญาติและพี่น้องของเจ้าชะตาโดยเฉพาะ ซึ่งรวมไปถึง ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว การตัดสินใจความไม่ย่อท้อ เพื่อนฝูง สังคม ฯลฯ ซึ่งเป็นการขยายความของเรือนชะตาที่ 3 หรือเรือนสหัสชะอย่างละเอียด
ดวงตรียางค์จักร หรือแผนภูมิเทรษกาณะ หรือ"เดกันเต" นี้ยังสามารถอธิบาย แนวคิด การไตร่ตรอง หรือพฤติกรรม และลักษณะนิสัยที่ซ่อนเร้นอยู่ของเจ้าชะตาได้อย่างละเอียดและลึกซึ้งที่สุด
ดวงตรียางค์จักร หรือแผนภูมิเทรษกาณะ( D3 ) นี้ มีแนวคิดที่แตกต่างกันอยู่ 4 รูปแบบ ซึ่งนักโหราศาสตร์พระเวทในประเทศอินเดียที่มักใช้กันโดยทั่วไป มีดังนี้
1 ปะราศะระ เทรษกาณะ पराशर द्रेष्काण เป็นทฤษฎีของมหาฤษีประราสาระที่ใช้บ่อยที่สุดในโหราศาสตร์พระเวท ซึ่งรวมถึงโหราศาสตร์ไทยด้วย ซึ่งมหาฤษีประราสาระได้สรุปสมการเหล่านี้ไว้ในคัมภีร์ประราสาระ โหราศาสตรา ใช้เพื่อบ่อบอกรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับพี่น้อง ความสามารถ ความกล้าหาญ ความกล้า สีผิว บุคลิกภาพ และลักษณะอุปนิสัยของเจ้าชะตา และวิเคราะห์เรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและปัญหาที่เกี่ยวญาติพี่น้อง
2.ชะคันนาถะ เทรษกาณะ जगन्नाथ द्रेष्काण ซึ่งให้ข้อมูลที่ลึกซึ้งและการการอธิบายผลกรรมในปัจจุบันชาติและในอดีตชาติของเจ้าชะตา ซึ่งจะต้องวิเคราะห์แผนภูมินี้ร่วมกับษัษฏิอางศะวรรคหรือ D-60 ในโษฑวรรค https://bit.ly/2ItNi8T
3.โสมะนาถะ เทรษกาณะ सोमनाथ द्रेष्काण เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งซึ่งใช้ในการวิเคราะห์ดวงปรัศนศาสตร์ (กาลชาตา) เพื่อการตรวจสอบความเสน่หา แรงผลักดัน และรสนิยมทางเพศ อีกทั้งเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้สึกที่ซ่อนเร้นอยู่เกี่ยวกับแรงขับทางเพศของเจ้าชะตา และยังใช้ในการวิเคราะห์ทัศนคติของเจ้าชะตาต่อเรื่องทางเพศและความต้องการทางเพศเจ้าชะตา
4.ปะริวฤตติ เทรษกาณะ परिवृत्ति द्रेष्काण เป็นหนึ่งในสาขาของ ปรัศนศาสตร์ กาลชะตา เพื่อสะท้อนให้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแรงขับของเจ้าชะตาซึ่งมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายทางจิตวิญญาณ และใช้เพื่อทำความเข้าใจความคิดริเริ่มและความพยายามของบุคคลในการบรรลุเป้าหมายและแรงจูงใจ
ในบรรดาตรียางค์ทั้งหมดทั้งหมด ชะคันนาถะ เทรษกาณะ (D3) เป็นแผนภูมิที่สำคัญที่สุดที่ต้องรู้เกี่ยวกับ ผลของวิบากกรรม หรือ กรรมโยคะ หรือวิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยการกระทำอันไม่มีความผูกพัน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักธรรมในภควัทคีตา
หรือผลของการกระทำของเราไม่ว่าจะจากชีวิตในอดีตหรือจากการเกิดในปัจจุบัน ผลแห่งการกระทำอาจเกิดขึ้นได้ในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของความสัมพันธ์หรือกิจกรรมใดๆ ที่เราทำในสังคม แต่ก่อนที่จะเจาะลึกถึงความหมายของกรรมและผลแห่งกรรมจาก ชะคันนาถะ เทรษกาณะ เราก็ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่ากรรมคืออะไร กรรมโยคะคืออะไร และผลแห่งกรรม (การกระทำ) ที่เราเคยทำในชาติใดชาติหนึ่ง และมันเชื่อมโยงกับการกระทำในอดีตชาติและผลแห่งกรรมอย่างไร
----------------------------------------------------------------------------------------------