เรื่องนี้อาจจะเป็นคำตอบสำหรับนักโหราศาสตร์หลายๆท่าน เพราะในโหราศาสตร์ไทยของเราไม่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้มาก่อน นอกจาก ทุสถานะภพ (เรือนที่ 6 ที่ 8 ที่ 12) บางครั้งทำไมเราพิจารณาถึงเรือนลาภะ(เรือนที่ 11) ว่าจะต้องให้คุณเสมอ แต่ปรากฏว่ากลับกลายเป็นให้โทษไป ซึ่งเรื่องตรีษะฑายะภพนี้ คือคำอธิบายผลของเรือนที่ 3,6,11 ในแง่ทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณ นอกเหนือไปจากทุสถานะภพเรือนที่ 6,8,12 ซึ่งเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว
เรือน (ตริษะฑายะ ภาวะ त्रिषडाय भाव) หรือ ตรีษะฑายะ สถาน
คัมภีร์ พฤหัต ปะราศะระ โหรา ศาสตรา बृहत् पराशर होरा शास्त्र (BPHS) อัธยายะ 34 โศลกที่ 3-4 กล่าวว่า "ดาวเคราะห์ดวงใดที่เป็นเจ้าเรือนตรีษะฑายะ คือเรือนที่ 3, 6 หรือ 11 จะส่งผลร้าย"
ซึ่งผลร้ายของเรือนที่ 11 จะมีพลังให้ผลร้ายได้มากที่สุด เพราะเป็นเรือนแห่งความโลภเพราะเป็นหนึ่งใน"ตรีกาม"หรือเรือนแห่งความปรารถนา
คัมภีร์ภควัทคีตากล่าวว่า:
“ตัณหา ความโกรธ ความโลภ คือประตูนรกทั้งสามขุม และทำลายจิตวิญญาณ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงทั้งสามสิ่งนี้" อัธยายะ 16 โศลกที่ 21
เจ้าเรือนของ ตรีษะฑายะ จะบ่งบอกถึงความยากลำบากและหรือโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหาก เรือนตรีษะฑายะเป็นภพที่อ่อนแอหรือดาวเคราะห์ที่ไม่มีกำลังสถิตย์ในเรือน ตรีษะฑายะ
กลุ่มเรือนที่ 3 ที่ 6 และ ที่ 11 เป็นตัวแทนของความชั่วร้ายสามประการ ได้แก่ ตัณหา ความโกรธ และความโลภตามลำดับ เรือนทั้งสามนี้ในกลุ่มเรือนตรีษะฑายะ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเรือนที่สำคัญที่สุดเพื่อความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ กล่าวคือ เรือนที่ 9 เรือนที่ 12 และเรือนที่ 5 ตามลำดับ และเรือนที่ 11 จะทรงอิทธิพลที่สุดของกลุ่มเรือนตรีษะฑายะ
***ในคติการบำเพ็ญตนในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ต้องปฏิบัติตามหลัก “อาศรม ๔” อีกทั้งต้องลดละและควบคุม ตัณหา ความโกรธ ความโลภ ดังนั้นความชั่วร้ายในที่นี้ หมายถึง อุปสรรคในการพัฒนาทางจิตวิญาณ “ไม่ใช่ทางวัตถุ”
-เจ้าชะตาจะสามารถบรรลุความสำเร็จทางวัตถุและสร้างรายได้มากมายเฉพาะในช่วงมหาทศาของเจ้าเรือน"ตรีษะฑายะ"เท่านั้น
-แต่หากบุคคลใดไม่ได้รับการเสวยอายุจากเจ้าเรือน"ตรีษะฑายะ"ในดวงชะตา เจ้าชะตาก็ไม่สามารถบรรลุความสำเร็จทางวัตถุในโลกสมัยใหม่ได้
-และหากเจ้าเจ้าเรือน"ตรีษะฑายะ" เป็นดาวบาปเคราะห์ธรรมชาติ เช่น ดาวเสาร์ ดาวอังคาร หรือดาวอาทิตย์ และดาวบาปเคราะห์ธรรมชาติก็อยู่ในเรือนของตัวเองด้วย ก็จะได้ผลลัพธ์ดีที่น่าอัศจจรย์ในช่วงมหาทศา
การแบ่งประเภทของเรือนต่างๆในโหราศาสตร์พระเวท
ในโหราศาสตร์ภารตะมีการแบ่งประเภทเรือนออกเป็นหลากหลายประเภท ตามคุณลักษณะของการให้ผลดี หรือผลร้าย การส่งเสริมและหักล้างกำลังต่างๆในดวงชาตาแต่ละชาตา โยดมีการแบ่งประเภทออกเป็นกลุ่มๆดังนี้
1.กลุ่มที่ส่งเสริมและให้คุณแก่ดวงชาตา คือ
1.1 เรือนเกณฑ์ อันได้แก่ ภพเกณฑ์ที่ 1(ตนุ) ที่ 4(พันธุ) ที่ 7 (ปัตนิ)และที่ 10 (กรรมะ)ในดวงชาตา
1.2 เรือนตรีโกณ อันได้แก่ เรือนที่ 1 (ตนุ) เรือนที่ 5 (ปุตตะ) และที่ 9 (ศุภะ) ในดวงชาตา
1.3 เรือนปะนะผะระ อันได้แก่ เรือนที่ 2(กดุมภะ) ที่ 5 (ปุตตะ)ที่ 8 (มรณะ)และที่ 11 (ลาภะ)ในดวงชาตา
1.4 เรือนอโปกลิมะ อันได้แก่เรือนที่ 3 (สหัสชะ) เรือนที่ 6(อริ) เรือนที่ 9 (ศุภะ) และเรือนที่ 12 (วินาศ) ในดวงชาตา
1.5 เรือนอุปปัจจัย อันได้แก่เรือนที่ 3 (สหัสชะ) เรือนที่ 6(อริ) เรือนที่ 10 (กรรมะ) และเรือนที่ 11 (ลาภะ) ในดวงชาตา
2.กลุ่มที่หักล้างและให้โทษแก่ดวงชาตา คือ
2.1 เรือนตรีกะสถาน (ทุสถานะภพ) อันได้แก่ ภพเกณฑ์ที่ 6(อริ) ที่ 8(มรณะ) ที่ 12 (วินาศ) ในดวงชาตา
2.2 เรือนตรีษะฑายะ อันได้แก่เรือนที่ 3 (สหัสชะ) เรือนที่ 6(อริ) และเรือนที่ 11 (ลาภะ) ในดวงชาตา
ความหมายของเรือนตรีษัฑทายะ
มาจาก ตรี+ษัฑ+อายะ คำว่าตรี คือ สาม อันได้แก่เรือนที่ 3 (สหัสชะ) และ ษัฑะ คือหก เรือนที่ 6(อริ) และ อายะ คือเรือนที่ 11 (ลาภะ) ในดวงชาตา ซึ่งมาจากความหมายในทางลบของภพต่างๆ คือ ภพที่ 3 หมายถึงตัณหา –ราคะ ความทะยานอยาก ภพที่ 6 หมายถึง โกรธะ หรือโทสะ คือความโกรธ และภพที่ 11 คือโลภะ ความโลภ ความปรารถนาอยากได้ ซึ่งเป็นความหมายในทางตรงข้ามกับภพของการพัฒนาทางจิตและความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต กล่าวคือ ภพที่ 3 ตรงข้ามกับภพที่ 9 (ความรุ่งเรือง) ภพที่ 6 ตรงข้ามกับภพที่ 12 (การหลุดพ้น) และภพที่ 11 ตรงข้ามกับภพที่ 5 (ความก้าวหน้า)
และภพที่ 3 ก็คือภพ ที่ 8 ของที่ 8 (มรณะของมรณะ) ,ภพที่ 6 ก็คือ ภพที่ 7 ของภพที่ 12 (เป็นปัตนิของวินาส) และภพที่ 11 คือ ภพที่ 12 ของภพที่ 12 (วินาสของวินาส) และภพที่ 6 ของภพที่ 6 (อริของอริ) ซึ่งทำให้ภพที่ 11 (ลาภะ)เป็นภพเรือนที่ให้โทษมากที่สุดในความหมายนี้
เรือนที่ 3 (สหัสชะ) มีความหมายดังนี้ ความปรารถนา ราคะ ตัณหา,สิ่งแวดล้อม,เพื่อนสนิท,น้องชายหญิง,การกระทำแบบลับๆ, การแสดงความกล้าหาญ,อวัยวะส่วนลำคอ,หู,การตายของบิดาของเจ้าชาตา
เรือนที่ 6 (อริ) มีความหมายดังนี้ การเกิดโรคภัย,อุบัติเหตุ,ความโกรธ,ศัตรู,การเจ็บป่วยทางจิตใจ,ความเศร้า,ความผิดหวัง,ข้าวของสูญหาย
เรือนที่ 11 (ลาภะ) มีความหมายดังนี้ การได้มา,ลาภผล,ผลประโยชน์,ความโลภ,พี่ชายหญิง,เป็นอิสระจากความทุกข์ยาก
สำหรับทุกๆลัคนา จะมีดาวเคราะห์ที่แสดงผลดี-ร้ายเฉพาะแต่ละลัคนาแตกต่างกัน ซึ่งคิดคำนวณมาจากความสัมพันธ์ของเจ้าเรือนต่างๆ อย่างไรก็ตาม ดาวอาทิตย์ อังคาร เสาร์ ราหูและเกตุ เป็นดาวบาปเคราะห์ธรรมชาติ ส่วนดาวจันทร์และพุธเป็นได้ทั้งศุภเคราะห์และบาปเคราะห์ธรรมชาติ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข) และดาวพฤหัส ศุกร์ เป็นศุภเคราะห์บริสุทธิ์โดยธรรมชาติ ส่วนเจ้าเรือนที่เป็นตรีกะสถาน (ทุสถานะถพ) คือเรือนที่ 6 ที่ 8 ที่ 12 ให้บาปผล และเจ้าเรือน ตรีษัฑทายะ (ที่ 3 ที่ 6 ที่ 11) ก็ให้บาปผลเช่นกัน ดังนั้นหากดาวเคราะห์ใดเป็นทั้งเจ้าเรือน ตรีกะสถานะและ ตรีษัฑทายะ พร้อมกันก็จะให้โทษรุนแรงมากที่สุด
อย่างไรก็ตามก็มีกฎเพิ่มเติมอีกว่า
ก. หากดาวศุภเคราะห์ธรรมชาติเป็นเจ้าเรือนเกณฑ์ ดาวเคราะห์นั้นก็จะสูญเสียการให้ผลดีไปทั้งหมด เช่นเป็น เกณฑราธิปติโทษ กรุณาอ่าน เกณฑราธิปติโทษ ดาวศุภเคราะห์ให้โทษในดวงชาตา
ข. แต่ในทางกลับกันหากดาวบาปเคราะห์ เป็นเจ้าเรือนเกณฑ์ ก็กลับกลายเป็นการให้คุณ
ค. และหากดาวศุภเคราะห์สถิตในเรือนเกณฑ์โดยไม่มีความสัมพันธ์จากเจ้าเรือน ตรีกะสถานหรือทุสถานะภพ (ที่ 6 ที่ 8 ที่ 12) ก็จะให้คุณด้วยเช่นกัน
ง. และหากดาวศุภเคราะห์ เป็นเจ้าเรือนตรีกะสถาน(ทุสถานะภพ 3,6,12) หรือ เป็นเจ้าเรือน ตรีษัฑทายะ(ภพ 3,6,11) ด้วย ไปสถิตอยู่ในภพเกณฑ์ ดาวเคราะห์เหล่านั้นก็จะหมดกำลังให้การให้ศุภผล
จ. หรือในทำนองเดียวกันกับดาวบาปเคราะห์ เป็นเจ้าเรือนตรีกะสถาน(ทุสถานะภพ 3,6,12) หรือ เป็นเจ้าเรือน ตรีษัฑทายะ ด้วย(ภพ 3,6,11) ไปสถิตอยู่ในภพเกณฑ์ ดาวเคราะห์เหล่านั้นก็จะหมดกำลังในการให้ผลร้าย และจะกลายเป็นผลดีต่อดวงชาตา
ฉ.อย่างไรก็ตามภพเรือนที่ 11 ก็เป็นเรือนหนึ่งในเรือนอุปปัจจัย (เรือนที่ 3 ที่ 6 ที่ 10 และที่11) ซึ่งหมายถึงการได้มา การบรรลุถึงจุดประสงค์ และความสำเร็จ ดังนั้นหากดาวเคราะห์ใดใดไปสถิตย์ในเรือนอุปปัจจัยย่อมให้ผลดี โดยเฉพาะดาวบาปเคราะห์ที่ไปสถิตย์ในเรือนอุปัจจัยก็จะให้ผลดีที่สุด แต่เจ้าเรือนอุปจัยที่ 11 ย่อมให้โทษเสมอ ตามทฤษฎีที่กล่าวมาแล้ว
เรือนตรีษะฑายะลบล้างผลของราชาโยค
ในคัมภีร์อุตตรกาลมฤตได้กล่าวถึงราชาโยคเอาไว้ว่า ถ้าหากเจ้าเรือนเกณฑ์กับเจ้าเรือนตรีโกณเป็นเกณฑ์ต่อกัน หรือสถิตย์ร่วมเรือนเดียวกัน ก็จะก่อให้เกิดราชาโยคขึ้นในดวงชะตา ยกเว้นเจ้าเรือนเหล่านั้นเป็นเจ้าเรือนที่ 11 ด้วย ตัวอย่างเช่น ลัคนาราศีเมษ มีดาวเสาร์เป็นเจ้าเรียนเกณฑ์ มีดาวพฤหัสเป็นเจ้าเรือนตรีโกณ หากดาวสองดวงนี้ร่วมกันย่อมทำให้เกิดราชาโยค แต่ดาวเสาร์เป็นเจ้าเรือนที่ 11 ของราศีเมษซึ่งเป็นเรือนตรีษะฑายะที่ให้ผลรุนแรงด้วย ดังนั้นผลของราชาโยคจึงถูกลบล้างไป